ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 7 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หวยเกินราคา ยังแก้ไม่ได้

7 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หวยเกินราคา ยังแก้ไม่ได้

21 กุมภาพันธ์ 2022


จากรัฐบาล คสช. ถึงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 7 ปี หวยเกินราคา ยังแก้ไม่ได้

“สลากเกินราคา” เป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมาเป็นเวลานาน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศก็แก้ไม่ได้ แม้กระทั่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจล้นฟ้า จนถึงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลาผ่านมา 7 ปี กับอีก 174 วัน เดินตามท้องตลาดก็ยังขายกันใบ 100-120 บาท

เริ่มจากรัฐบาล คสช. ใช้ ม.44 แต่งตั้งพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ “บอร์ดสลากฯ” เข้ามาแก้ปัญหาสลากเกินราคา ประกาศ “โรดแมป” แก้สลากแพง 3 ระยะ ทยอยออกมาตรการเริ่มจากเบาไปหาหนักตามยุทธวิธีของทหาร

เฟสแรกบังคับใช้ กม.ไม่ได้ผล ‘คนขายจริง’ เดือดร้อน

เฟสแรก สำนักงานสลากฯ ปรับลดรายได้ส่วนที่ต้องนำส่งคลังลง จาก 28% ของรายได้จากยอดขายสลากทั้งหมด ลดเหลือ 20% โดยนำรายได้ของรัฐ 8% ไปเพิ่มเป็นส่วนลด หรือกำไรให้แก่ผู้ค้าสลาก 5% ตามข้อเรียกร้องของผู้ค้าสลากที่ว่าสำนักงานสลากฯ ให้กำไรน้อยเกินไป ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จึงต้องขายเกินราคา รายได้รัฐส่วนที่เหลืออีก 3% เก็บเข้ากองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม พร้อมเพิ่มบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับคนที่ขายสลากเกินราคา จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง บังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ปรากฏว่าคนขายหวยตัวจริงที่ไม่ได้รับจัดสรรโควตาสลาก ถูกตำรวจจับ เพราะไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มาขาย รับมาแพงก็ต้องขายแพง ทำไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องผ่อนคลายความเข้มงวดกวดขันลง เพราะคนขายหวยตัวจริงเดือดร้อน ไม่กล้าไปรับสลากราคาแพงมาขาย เพราะกลัวถูกจับ

ยกเลิกโควตาเอกชน ปิดตำนาน ‘5 เสือ สี่แยกคอวัว’

เฟสที่ 2 พล.อ. อภิรัชต์ เริ่มกระชับพื้นที่ โดยเข้าไปรื้อระบบโควตาสลาก ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาขายสลากเกินราคาที่ไม่มีใครกล้าแตะ โดยทยอยยกเลิก หรือ ไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากประเภทบริษัท ห้างร้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ หรือ “กลุ่ม 5 เสือ สี่แยกคอกวัว” พร้อมกับเปิดช่องทางการจัดสรรสลากรูปแบบใหม่ โดยโอนโควตาสลากส่วนที่ถูกตัดหรือไม่ต่อสัญญามาสมทบกับสลากส่วนที่พิมพ์เพิ่มจาก 37 ล้านใบ ทยอยเพิ่มเป็น 100 ล้านฉบับ นำมาจัดสรรให้ผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไม่เคยได้โควตาสลากเข้ามาลงทะเบียน เพื่อทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากล่วงหน้าผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย ทำให้การจัดสรรสลากที่ผูกขาดกันมายาวนาน เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “ระบบเสรีกึ่งผูกขาด” คือใช้ระบบจัดสรรสลากแบบโควตาในสัดส่วน 29% และระบบเสรีซื้อ-จองสลากผ่านธนาคารกรุงไทย 71%

อ้างกระทบคนพิการ 15% ปิดทาง ‘หวยออนไลน์-ยกเลิกระบบโควตา’

ถามว่าทำไมสำนักงานสลากฯ ไม่กล้ายกเลิกระบบการจัดสรรโควตาสลากทั้งหมด เพราะเกรงว่ากลุ่มคนพิการที่ได้รับจัดสรรโควตาสลากจะขาดรายได้ ตกงาน จากข้อมูลของสำนักงานสลากฯ ที่นำมาแสดงจะเห็นว่ากลุ่มคนพิการได้รับจัดสรรโควตาสลากจากสำนักงานสลากฯ มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 27,936 ราย คิดเป็นสัดส่วน 15.37% ของตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งหมด 181,755 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มคนพิการที่เป็นสมาชิกในสังกัดมูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศล จำนวน 25,858 ราย คิดเป็นสัดส่วน 14.23% ของตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งหมด กลุ่มนี้ได้รับจัดสรรโควตาสลากงวดละ 155,241 เล่ม หรืองวดละ 15.52 ล้านใบ และที่เหลืออีก 2,078 ราย เป็นกลุ่มคนพิการรายย่อย คิดเป็นสัดส่วน 1.14% ของตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด ได้รับจัดสรรโควตาสลากงวดละ 10,406 เล่ม หรือ 1.04 ล้านใบ

ทุกครั้งที่มีข่าวว่าสำนักงานสลากฯ รื้อโควตาสลาก ออกผลิตภัณฑ์ หรือขายหวยออนไลน์ ก็จะมีการหยิบยกผลกระทบกับคนพิการ 15% ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทำให้การแก้ปัญหาสลากเกินราคามีข้อจำกัดและทำได้ยาก ยกตัวอย่าง ในโรดแมปเฟสที่ 3 กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาสลากอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยยกร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดทางให้บอร์ดสลากฯ พัฒนาสลากรูปแบบใหม่ๆ ออกมาขายได้ ผลักดันจากกระทั่ง พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ก็ยังไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ออกมาขายได้

พิมพ์สลากเพิ่ม 100 ล้านใบ ไม่ได้ผล ‘ยี่ปี๊ว’ แก้เกมขาย ‘หวยชุด’

หลังจากที่สำนักงานสลากฯ เปิดช่องทางการจัดสรรสลากให้ผู้ค้ารายย่อยที่ไม่เคยได้รับโควตา ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย พร้อมกับเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากเข้าไปขายในตลาด จากเดิมงวดละ 37 ล้านใบ เพิ่มเป็นงวดละ 100 ล้านใบ ปรากฏว่า บรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปรับกลยุทธ์สู้ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยให้เครือข่ายไปเปิดโต๊ะรับซื้อสลากจากตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อย (ซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านธนาคารกรุงไทย) อยู่ด้านหน้าที่ทำการไปรษณีย์ จากนั้นก็นำสลากได้มาแลกเปลี่ยนกันผ่าน Line ทั้งนี้ เพื่อนำรวมเป็นชุดขายเกินราคา ชุดละ 10-15 ใบ และลดทอนปริมาณสลากที่เพิ่มเข้ามาในตลาดลงมา ทำให้การปัญหาสลากแพงโดยวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลอีก

จัดสรรสลากสลับเลข 4 ตัวหน้า เฉพาะตัวแทนจำหน่ายระบบเสรี-โควตาไม่กล้าแตะ

สำนักงานสลากฯ แก้เกม โดยการปรับสูตรการพิมพ์สลากใหม่ เป็นแบบคละเลขหมายภายใต้สูตร 2-2-1 ก่อนจัดส่งสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อยที่ไปรษณีย์ ส่วนตัวแทนจำหน่ายระบบโควตา ยังคงจัดสรรรูปแบบเดิม (ไม่กล้าแตะ) โดยสำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากระบบซื้อ-จองล่วงหน้าของธนาคารกรุงไทยคนละ 5 เล่ม (1 เล่มมี 100 ใบ) ในจำนวนนี้ตัวแทนจำหน่ายสลากจะได้รับสลากที่มีเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลัก กลุ่มแรก 2 เล่ม และกลุ่มที่ 2 อีก 2 เล่ม แต่เลขสลากของกลุ่มที่ 2 นี้จะไม่ซ้ำ หรือไม่เหมือนกันกับกลุ่มแรก ส่วนที่เหลืออีก 1 เล่ม เลข 4 ตัวหน้าไม่เหมือนกันเลย แต่เลขท้าย 2 ตัวหลังจะเรียงลำดับ ตั้งแต่เลข 00-99 หรือที่เรียกว่า “สลากใบเดี่ยว” เริ่มทดลองขายตั้งงวดวันที่ 1 มีนาคม 2562 ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ปรากฏยังแก้ปัญหารวมชุดขายไม่ได้อีก บอร์ดสลากฯ ก็เลยปรับสูตรการพิมพ์สลากเป็น 2-1-1-1 เหลือเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลักแค่ 2 เล่ม ส่วนที่เหลืออีก 3 เล่ม เป็นสลากใบเดี่ยวเลขไม่ซ้ำกัน เริ่มจัดสรรให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อยซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ทำให้การนำสลากรวมชุด 10-15 ใบ ทำได้ยากขึ้นแต่ก็ยังมีการรวมชุด 5 ใบ วางขายตามท้องตลาดได้อยู่

  • มาตรการแก้สลากฯ รวมชุดยกแรกล้มเหลว ผู้ค้ารายย่อยขาย “หวยชุด 2 ใบ” คู่ละ 200 บาท – ชุด 15 ใบ 1,800 บาท
  • กองสลากฯ ออกหวยชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า ขาย 1 มี.ค.นี้ ดัดหลัง “ยี่ปั๊ว” ตั้งโต๊ะรับซื้อ รวมชุดขายเกินราคา
  • เปิดไอ้โม่ง ต้นเหตุ “สลากเกินราคา” ตะลึง!โควตา 74 ล้านฉบับ “มูลนิธิสำนักงานสลากฯ” กวาด 9.2 ล้านฉบับ/งวด – รายย่อย 37,000 รายได้เฉลี่ย 12 เล่ม/งวด
  • “เสธฯ แดง” เดินหน้าเฟส 2 เปิดเสรีสลาก ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วทยอยบอกเลิกสัญญา คาดสิ้นปี 2558 ไม่ต่อโควตาขายหวย
  • เสธฯ แดงโชว์ผลงาน 1 ปี แก้ขายหวยเกินราคา เตรียมชง ครม. แก้ พ.ร.บ.สลาก เปิดช่องออกหวยออนไลน์
  • “ประยุทธ์” ออกคำสั่ง คสช. ตั้ง “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีสรรพสามิต นั่งประธานบอร์ดสลากกินแบ่งรัฐบาล แทน “อภิรัชต์ คงสมพงษ์”
  • สลากออนไลน์ “12 นักษัตร” ลุ้น 2 รางวัลใหญ่ แปรผันตามจำนวนคนถูกหวย แก้ขายเกินราคา-หวยใต้ดิน
  • ต่อมา ในช่วงหลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2562 ก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2562 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 แต่งตั้งนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมกรมศุลกากร มาเป็นประธานบอร์ดสลากฯ สานต่อโรดแมปเฟสที่ 3 ของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ตามแนวทางการแก้ปัญหาสลากเกินราคาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม วันที่ 26 มิถุนายน 2562 สำนักงานสลากฯ ได้แต่งตั้ง ดร.ธรวรรธน์ พลวิชัย เป็นประธานคณะทำงานศึกษาผลิตภัณฑ์และเกมสลากรูปแบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเสี่ยงโชคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกเหนือจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังสามารถช่วยบรรเทาปัญหาขายสลากเกินราคาและหวยใต้ดินได้ด้วย

    วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ดร.ธนวรรธน์ สรุปผลการศึกษาเบื้องต้นเสนอที่ประชุมบอร์ดสลากฯ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความเหมาะสม 2 ประเภท คือ สลากแบบตัวเลข และสลาก Lotto ซึ่งสามารถจำแนกเกมการเล่นออกเป็น 4 รูปแบบ คือ 1. สลากตัวเลข 3 หลัก 2. สลากตัวเลข 4 หลัก 3. สลากรูปภาพ 12 นักษัตร และ 4. สลาก Lotto 6/43 แต่ที่ประชุมบอร์ดสลากฯ มีมติเห็นชอบ “สลาก 12 นักษัตร” เนื่องจากมีความเหมาะสมและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของสำนักสลากฯ ได้ดีที่สุด และมอบหมายให้สำนักงานสลากฯ ศึกษาในรายละเอียด พร้อมสำรวจความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย

    นายลวรณ แสงสนิท ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (กลาง)

    ประธานบอร์ดสลากฯย้ำยังไม่มีนโยบายผลักดันหวยออนไลน์

    ต่อมา กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นประธานบอร์ดสลากฯ แทนนายพชร อนันตศิลป์ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวจึงไปสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับสลากออนไลน์ ทั้งรูปแบบของสลากแบบตัวเลข, สลาก 12 นักษัตร และสลาก Lotto ตามที่บอร์ดสลากฯ เคยมีมติไว้ นายลวรณให้สัมภาษณ์ว่า “ยังไม่มีนโยบายผลักดันเรื่องสลากออนไลน์ เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน” เรื่องดังกล่าวนี้จึงไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

  • สลากออนไลน์ “12 นักษัตร” ลุ้น 2 รางวัลใหญ่ แปรผันตามจำนวนคนถูกหวย แก้ขายเกินราคา-หวยใต้ดิน
  • พิษโควิดฯ คนตกงานแห่ขายหวยเกินราคา

    และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างรุนแรง บริษัทห้างร้านปิดกิจการมีคนตกงานจำนวนมาก ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร ก็มาเดินขายหวย จนทำให้ปริมาณสลากมีไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ขายที่เพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้จึงไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๊วมาขายเกินราคา ขณะที่สำนักงานสลากฯ เองก็ยังไม่มีนโยบายพิมพ์สลากเพิ่ม เนื่องจากปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายงวดละ 100 ล้านใบในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อแล้ว

    ปัญหาเก่า ยังแก้ไม่ตก ปรากฏว่ามีปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาอีก กล่าวคือมีพ่อค้าหัวใส นำสลากจริงของตัวแทนจำหน่ายสลากมาสแกน และโพสต์รูปสลากขายผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ เกิดขึ้นหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น กองสลากพลัส.com, เสือแดงลอตเตอรี่ออนไลน์.net, มังกรฟ้า และลอตเตอรี่ 80.com เป็นต้น ขายใบละ 80 บาท แต่ขอบวกค่าบริการแฟลตฟอร์ม

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ ลอตเตอรี่80.com

    กองสลากฯออก 3 มาตรการแก้หวยแพงเริ่ม 2 พ.ค.นี้

    วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมบอร์ดสลาก ฯ มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา 3 แนวทาง คือ 1) การขยายจุดจำหน่ายโครงการ “สลาก 80” ทั่วประเทศ 1,000 จุด 2) การเปิดรับสมัครลงทะเบียนในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 200,000 ราย ปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 มีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.03 ล้านราย ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ หลังจากนั้นจะใช้วิธีการสุ่มคัดเลือกจาก 1 ล้านรายคัดเหลือ 2 แสนราย ตามเป้าหมายเริ่มทำรายการซื้อ-ขายสลากได้ตั้งแต่งวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 และ 3) การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่าน แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สำนักงานสลากฯสร้างขึ้น หรือที่เรียกว่า “Digital Lottery” เปิดให้ตัวแทนจำหน่ายสลากนำสลากมาโพสต์ขายผ่าน Digital Lottery ของสำนักงานสลากฯ ในราคา 80 บาท ขายแข่งกับแฟลตฟอร์มออนไลน์ของเอกชนในราคา 80 บาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด

    ถามว่ามาตรการชุดนี้จะช่วยแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้มากน้อยเพียงใด ก็มีคนในวงการสลากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา เพราะถ้านำไปขายให้พ่อค้าสลากที่ตั้งโต๊ะรับซื้อที่หน้าไปรษณีย์ หรือขายตามศูนย์การค้าสลาก แบบเหมายกเล่ม ใบละ 90 บาท ได้กำไรทันที 9,800 บาท ไม่มีความเสี่ยงขายสลากเหลือ หรือขายไม่หมด แต่ถ้านำไปโพสต์ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สำนักงานสลากฯ จะสร้างขึ้นใบละ 80 บาท นอกจากได้กำไรแค่ 4,800 บาท แถมยังมีความเสี่ยงขายไม่หมด ขายเหลือก็ขาดทุน

    ตั้ง‘อนุชา นาคาศัย’คุมทัพแก้สลากเกินราคาไม่คืบ

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 8/2565แต่งตั้ง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล” โดยมีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ ทำงานร่วมกับปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมกองต่างๆ รวมทั้งหมด 21 คน จัดประชุมคณะอนุกรรมการ คณะทำงานกันไปหลายครั้ง จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

    การแก้ปัญหาสลากเกินแพงราคาครั้งนี้จะล้มเหลวเหมือน 7 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป

  • นายกฯตั้ง “อนุชา นาคาศัย” แก้สลากฯเกินราคา
  • บอร์ดสลากฯไฟเขียวขาย ‘หวย’ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • 3 มาตรการ แก้หวยเกินราคา “ของจริง” หรือ “เฟค”?
  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค.ปีหน้า
  • ว่าด้วยทฤษฎีการพนัน (ตอนที่ 1):เข้าคาสิโน-เล่นม้า-แทงหวย-ซื้อลอตเตอรี่-ซื้อประกัน เล่นการพนันอย่างไหนโง่กว่ากัน
  • ว่าด้วยการพนัน…(ตอนที่ 2) เล่นหวย – ซื้อลอตเตอรี่ – ซื้อประกัน การพนันอย่างไหนผู้เล่นเสียเปรียบมากกว่ากัน
  • “หวย” ใครรวย?