ThaiPublica > คนในข่าว > ‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ ประเมิน 9 ปี ‘IUU’…เมื่อจิตวิญญาณประมงไทยถูกทำลาย

‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ ประเมิน 9 ปี ‘IUU’…เมื่อจิตวิญญาณประมงไทยถูกทำลาย

11 ธันวาคม 2023


‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ ประเมิน 9 ปี IUU เปลี่ยนอุตสาหกรรมประมงไทยจากผู้ส่งออกปลาเป็นผู้นำเข้าปลาเพื่อบริโภค เรือกว่า 3,000 ลำยังจอดทิ้งรอวันเยียวยา อดีตที่ปรึกษาสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลเร่งมาตรการแก้ไข ก่อนจิตวิญญาณประมงสูญหายจนยากจะฟื้นฟู

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา

แม้การปลดล็อคใบเหลือง IUU หรือการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (illegal, unreported and unregulated fishing : IUU Fishing) ของไทยทำได้สำเร็จตามแนวทางของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ได้เร่งรีบแก้ปัญหาจนนำมาสู่ความหายนะของอุตสาหกรรมประมงไทยในที่สุด

หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวิสิน ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประมงที่จังหวัดสมุทรสงครามทันที เพื่อเตรียมปลดล็อคความเสียหายที่เกิดขึ้น ลดผลกระทบและฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงไทย นับเป็นนโยบายลำดับต้นๆ ของรัฐบาล ซึ่งหลังการหารือ รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานอีกหลายชุดตามมา เพื่อเร่งรัดการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงไทย

ท่ามกลางความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่ความกังวลของ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นคนประมงโดยสายเลือด อยู่ในอุตสาหกรรมประมงนอกน่านน้ำและเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญธุรกิจประมงมาอย่างยาวนาน บอกว่า 9 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหาของไทยในประเด็น IUU จนยากที่จะฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง ประกอบกับช่วงนี้มีประเด็นการนำเข้าหมูเถื่อน ทำให้ความกังวลว่าปัญหาเดิมจะหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการนำเข้าหมูเถื่อนมีการแจ้งใบนำเข้าสินค้าเป็นหัวปลาแซลมอน แต่สินค้านำเข้าจริงคือ ตับหมูแช่แข็ง ซึ่งเกรงว่าจะกระทบกับอุตสาหกรรมประมงในเรื่องความน่าเชื่อถือของการออกใบรับรองของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและระบบการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า

“การนำเข้าหัวปลาแซลมอนต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่กรมประมงโดยการเปิดตู้รับรองสินค้า แต่มีข่าวออกมาว่าสามารถจ่ายเจ้าหน้าที่ตู้ละ 3 หมื่นบาทไม่ต้องเปิดตู้สินค้าก็ได้ ข่าวแบบนี้มันทำให้ผมกังวลว่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ไทยเหมือนครั้งที่อียูเคยให้ใบเหลืองไอยูยู ซึ่งมีเรื่องของมาตรการการตรวจสอบ และการรับรองอยู่ด้วย”

‘วิชาญ’ อธิบายว่า ตามปกติ ในการนำเข้าสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ส่งออกจากต่างประเทศจะจัดทำใบ invoice มากับสินค้าด้วย โดยในใบ invoice จะมีข้อความสำคัญอยู่ 6 ส่วน ได้แก่ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า วันที่ ประเภทของสินค้า น้ำหนัก และหมายเลขตู้ที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งในกรณีที่เป็นข่าว ขั้นตอนการนำเข้าหมูเถื่อนที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมประมงไทยจากการแจ้งใบ Invoice สินค้าไม่ตรงกับสินค้านำเข้าจริง โดยผู้นำเข้าได้รับใบ Invoice ครั้งแรกจากผู้ส่งออกว่าสินค้าที่ส่งมาในตู้คอนเทนเนอร์ เป็นตับหมูแช่แข็ง แต่ไม่นำใบ invoice นี้ ไปสำแดงในการขอนำเข้าสินค้า โดย Shipping มีการจัดทำ Invoice ขึ้นใหม่ ด้วยการสำแดงว่าเป็นสินค้าอาหารแช่แข็ง และมีข้อมูลนำเข้าอื่นทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้า วันที่ น้ำหนัก และหมายเลขตู้ที่ใช้ในการขนส่งเหมือนเดิมทุกประการ และสุดท้ายมีการจัดทำ Invoice ขึ้นใหม่อีกใบหนึ่ง โดยเปลี่ยนเพียงประเภทสินค้าจากอาหารแช่แข็งเป็นหัวปลาแซลมอนเท่านั้น ส่วนรายการอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสินค้านี้ ได้ผ่านการตรวจรับรองทั้งจากกรมศุลกากรและกรมประมง ทั้งๆที่ เมื่อเป็นหัวปลาแซลมอน ซึ่งถืออว่าเป็นสินค้าประมงที่มีประเด็น IUU ที่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนการออกหนังสือรับรองให้เคลื่อนย้ายได้

ดังนั้นผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นต่อ มาตรการIUU เพราะปลานำเข้าต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังต้นทางได้ แต่เมื่อการแจ้งสินค้าไม่ตรงกับการนำเข้าทำให้การตรวจสอบย้อนกลับมีปัญหาจนนำไปสู่ความเชื่อถือในการออกใบรับรองการตรวจปล่อยสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยได้

‘วิชาญ’ เกรงว่า ความพยามในการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบจาก IUU ที่เดิมแก้ไขยากอยู่แล้วจะยิ่งเพิ่มความยากมากขึ้นไปอีก

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา

  • 2 ปีกับการแก้ไขปัญหา IUU Fishing แบบ “ลิงแก้แห” … คุ้มหรือไม่ “EU อาจพอใจ แต่การประมงทะเลไทยล่มสลาย”
  • 7 ปี ความดีใจกับการแก้ IUU fishing ของ “รัฐบาลประยุทธ์” บนซากศพชาวประมง
  • “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเล กรณี IUU (ตอนที่ 1) : ฟันธงรัฐบาลแก้โจทย์ผิด
  • “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” เล่าวิถีประมงทะเลกรณี IUU (ตอนที่ 2): วิกฤติแรงงานประมงทะเล มีแต่ “ต่างด้าว-ป.4” บริหารเรือ 50 ล้าน
  • EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 1)
  • EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 2)
  • EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 3)
  • EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนจบ)
  • 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน 1): ความภาคภูมิใจของรัฐบนความ “Ship-หาย”ของบ้านเมือง
  • 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน 2): ปลดใบเหลืองแล้วไง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่!!
  • 6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 3): ข้อเท็จจริงคำวินิจฉัย (ใบเหลือง) ที่รัฐบาลไทยไม่บอกความจริงกับสังคม

  • 6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 4): ก่อน EU จะให้ใบเหลือง ประมงไทยไม่ชอบด้วย กม. จริงหรือ!
  • เรือประมงจอดทิ้ง จ.สมุทรสาคร หลังมาตรการ IUU

    แม้รัฐบาลจะมีนโยบายการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมาตรการไอยูยูอย่างเร่งด่วน และมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ทั้งในระดับที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีการจัดตั้งอนุกรรมการอีกถึง 6 ชุด และในระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างกลับดำเนินไปอย่างล่าช้าทั้งในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมและมีบทลงโทษที่รุนแรง

    ‘รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด แต่ไม่แน่ใจว่า มีความเข้าใจวิธีคิดและหลักคิดของ IUU หรือไม่ รวมไปถึงเรื่องของจัดการทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืนด้วย ผมคิดว่าเราต้องเริ่มทำความเข้าใจถึงหลักคิดของ IUU ใหม่’

    ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลผลกระทบจากมาตรการ IUU หลายคณะ โดยคณะกรรมการชุดแรกมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรรมการ 22 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนหน่วยราชการและมีตัวแทนภาคเอกชนอยู่ 3 คน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อีกชุดหนึ่งมีกรรมการ 51 คน ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนชาวประมง

    “ผมคิดว่า เรามีคณะกรรมการหลายชุดที่ดูแลปัญหาแตกต่างกันไป และบางชุดมีกรรมการจำนวนมาก จึงอยากเสนอให้มีหน่วยงานทำหน้าที่เลขานุการกลาง ขึ้นมาดูว่าคณะกรรมการแต่ละชุดทำต้องทำอะไรบ้าง จะเชื่อมประสานกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างคนต่างทำ”

    ‘วิชาญ’ย้ำว่า การแก้ไขปัญหายังล่าช้า ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากว่า 9 ปี อาจจะทำให้อุตสาหกรรมประมงไทยไม่มีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้อีกหรือไม่ ยังรวมไปถึงความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้

    “ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เพราะว่ามันยากมากกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”

    นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา

    9 ปี IUU กับจิตวิญญาณประมงที่ถูกทำลาย

    “เราเคยเป็นประเทศที่ส่งออกปลาเป็นอันดับหนึ่ง แต่วันนี้ เราต้องนำเข้าปลาประมาณ 5-6 แสนตันเพื่อการบริโภค ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ประโยคนี้ของ ‘วิชาญ’สะท้อนผลกระทบจากมาตรการ IUU เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน

    หลังสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองการทำประมง IUU แก่ประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2558 เพื่อเป็นการตักเตือนและกระตุ้นให้ไทยเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและข้อบกพร่องในการควบคุมการทำประมงและต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing) จนถึงวันนี้กว่า 9 ปีที่อุตสาหกรรมประมงไทยสูญเสียไปอย่างมหาศาลจนไม่รู้ว่าจะฟื้นกลับมาได้เมื่อไหร่

    ‘วิชาญ’ บอกว่า IUU ได้เปลี่ยนประเทศไทยจากที่เคยส่งออกปลามาเป็นประเทศนำเข้าปลาไปแล้ว ขณะที่เรือประมงพาณิชย์หายไปจากท้องทะเลกว่าหมื่นลำ เรือประมงที่ออกไปหาปลานอกน่านน้ำซึ่งเคยมีอยู่ประมาณพันลำตอนนี้เหลือแค่ 2 ลำ สิ่งเหล่านี้คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังจากไทยเดินตามมาตรการอียู

    ‘วิชาญ’ บอกว่า รัฐบาล คสช.ในช่วงนั้นเร่งออกมาตรการเพื่อต้องการปลดล็อก IUU โดยขาดความเข้าใจกรอบหลักคิดของมาตรการดังกล่าว ซึ่งเริ่มจากแนวคิดของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ กติกาการใช้ทะเลของสังคมโลกที่ให้ประเทศชายฝั่งสามารถขยายเขตทะเลจาก 12 ไมล์เป็น 200 ไมล์ โดยต้องมีหน้าที่ในความรับผิดชอบด้วย เพราะทรัพยากรประมงเป็นทรัพย์สินของมวลมนุษย์ชาติ จึงต้องจัดการเพื่อความยั่งยืนและใช้ประโยชน์สูงสุด

    องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ซึ่งเป็นกลไกของสหประชาชาติจึงมีการจัดทำกรอบกติกาการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ โดยต้องไม่เป็น IUU หรือมีการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนให้ได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากติกาของ เอฟเอโอ มีเพียงสหภาพยุโรปที่ได้ดำเนินการ โดยเริ่มจากการลดจำนวนเรือจาก 1.9 แสนลำเหลือ 9 หมื่นลำ โดยอียูใช้งบประมาณมากถึง 8-9 แสนล้านบาท เพื่อลดจำนวนเรือลงมา ดังนั้นอียูจึงออกกรอบกติกา IUU ในการกำหนดเงื่อนไขการซื้อปลาจากประเทศอื่นๆ เพื่อให้มีการจัดการทรัพยากรทะเลที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

    “ปัญหาของไทย แทนที่จะเดินตามกรอบของเอฟเอโอ แต่เราเดินตามอียูทุกอย่าง เขาให้เสนอเราจัดทำแผนว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไรให้เสร็จใน 6 เดือน รัฐบาลที่ผ่านกลับเร่งแก้ไขปัญหาให้เสร็จใน 6 เดือน ขณะที่เวียดนาม เขาโดนมาตรการอียูเหมือนกับไทย เขาก็จัดทำแผนเสร็จภายในเวลา 6 เดือนเหมือนกัน แต่ขอเวลาในการแก้ปัญหาถึง 8 ปี จนถึงตอนนี้เวียดนามยังทำไม่เสร็จ แต่เวียดนามส่งออกไปอียู เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ไทยลดลงทุกปี”

    ‘วิชาญ’ บอกว่า ความแตกต่างระหว่างเวียดนาม และไทย คือ ความเข้าใจ เพราะอียูไม่ได้บังคับให้ทำตามแผนใน 6 เดือน แต่ไทยเร่งแก้ปัญหาภายใน 6 เดือน โดยใช้อำนาจออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในทันที ส่วนเวียดนามเขาออกกฎหมายเหมือนกัน แต่ให้มีผลบังคับใช้อีก 1 ปี นับแต่วันออก เพื่อให้คนของเขามีเวลาในการปรับตัว จนวันนี้ผ่านไปแล้วกว่า 6 ปี เขาก็ยังบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทั้งหมด

    นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา

    “ความเข้าใจที่แตกต่างกัน กระบวนการต่อรองที่ต่างกัน เวียดนามขอทุนอียูในการแก้ไขปัญหา แต่ไทยไม่เข้าใจ เพราะว่าเอฟเอโอไม่ได้บังคับ เพราะมาตรการ IUU แต่ละประเทศต้องเอาไปปรับใช้กับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ซึ่งหมายความว่ายืดหยุ่นได้ แต่ ไทยติดกระดุมเม็ดแรกผิด เร่งออกกฎหมาย มีบทลงโทษที่รุนแรง เพราะกลัวว่าจะส่งออกไปอียูไม่ได้ ซึ่งขณะนั้นแม้ไทยส่งออกอาหารทะเลถึงปีละ 2-3 แสนล้านบาท แต่ส่งออกไปอียูเพียงแค่ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น”

    ผลกระทบที่ตามจากความไม่เข้าใจและเร่งในการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่ดูบริบทของประเทศ ส่งผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมประมงไทย โดยเฉพาะปัญหาจิตวิญญาณของชาวประมงที่หายไป ไม่มีใครอยากทำประมงอีกต่อไป

    “วันนี้จิตวิญญาณผู้ประกอบการประมงพาณิชย์หายไปหมดแล้ว ไม่มีจิตวิญญาณอยากออกทะเล เพราะว่ากฎหมายปรับครั้งหนึ่งตั้งแต่ 5 -20 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาท มีเรือประมงพาณิย์เคยโดนมาแล้ว 1,500 ล้านบาท แต่ศาลปราณี ปรับลดครึ่งหนึ่งเหลือ 700 กว่าล้าน แต่เขาสู้คดี 3-5 ปีจนชนะ กลายเป็นว่าอาชีพประมงเป็นยิ่งกว่าโจร กฏหมายที่แก้ไขใหม่หลัง IUU บทลงโทษรุนแรงมากจนไม่รู้ว่าจะเรียก’ประมง’ เป็นอาชีพได้หรือไม่”

    ‘วิชาญ’ บอกว่า จากเดิมที่ชาวประมงมีความสุข ภูมิใจในการเป็นเจ้าของเรือ แต่วันนี้ ไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของเรือ ยกให้ลูก พร้อมเงิน 10 ล้านบาท ลูกขอแค่เงิน 10 ล้านบาท เรือไม่เอานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมประมงไทย

    นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา

    ไต้ก๋งเรือ ลูกเรือ ที่หายไปและจะสร้างคนอย่างไร

    ‘วิชาญ’กล่าวต่อว่าความเสียหายจากมาตรการ IUU ที่รัฐบาลแก้ปัญหาที่ถือว่าหนักที่สุดเพราะไม่สามารถตีมูลค่าได้ นี่ยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง อาทิ บรรดา ‘ไต้ก๋งเรือนอกน่านน้ำ’ วันนี้ได้ที่หายไปแล้ว เขาแยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่น ดังนั้นสร้างคืนกลับมาใหม่ได้ยาก เพราะไม่มีโรงเรียนสอน และไม่สามารถฝึกสะสมประสบการณ์ได้นานขนาดออกทะเลได้โดยเฉพาะการทำประมงนอกน่านน้ำ

    “หนักที่สุดคือ ไต้ก๋งเรือนอกน่านน้ำ ทุกวันนี้เรือจำนวนมากจอดอยู่ตั้ง 8-9 ปี เขาหยุดงาน 8 ปีไปอยู่กับลูกหลาน ช่วงเวลานั้นอายุประมาณ 50-60 ปี แต่ตอนนี้อายุ 60-70 ปี ถามว่า เขาจะกลับมาทำงานใหม่หรือไม่ ถึงเขาอยากกลับมา ลูกหลานก็ไม่ให้มา แล้วจะเอาไต๋ก๋งเรือที่ไหน เพราะเราไม่มีโรงเรียนสอน หากต้องฝึกใหม่ มันไม่ง่ายนะ เพราะว่าคนเหล่านั้นเขาทำมา 20-30 ปี เขาสั่งสมประสบการณ์มาเท่าไหร่”

    ‘วิชาญ’ ยังชี้ถึงความเสียหายอีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘อุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือ’ หายไปเลยเพราะไม่มีเรือมาให้ต่อใหม่ หรือซ่อม แม้ว่าจะมีเรือบางส่วนที่อยู่มาเลเซีย ต้องการกลับมาซ่อมในไทยทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไทยห้าม นอกจากนั้นยังต้องมีใบอนุญาตจากมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียก็คงไม่อยากให้เอาเรือออกมาเช่นกัน เพราะมาเลเซียก็อยากให้สร้างงานในประเทศเขาเหมือนกัน

    ส่วนการต่อเรือใหม่ หยุดไปโดยสิ้นเชิง เพราะการต่อใหม่จะต้องขอใบอนุญาตก่อน และตลอดเวลา 8-9 ปี ที่ผ่านมา ไม่มีเลย องค์ความรู้และความชำนาญของช่างต่อเรือกำลังจะตายไปพร้อมกับช่างที่ชำนาญการที่มีอายุกว่า 60-70 ปี

    “จำนวนเรือพานิชย์ที่จอดไปหมื่นกว่าลำ ขณะนี้เหลือประมาณ 3-4 พันลำ และไม่รู้ว่าใช้ได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเรือเหล่านี้ต้องจอดเพราะกฎหมายบอกว่าผิดกฏหมาย ซึ่งหากเปรียบเทียบผิดแล้วแล้วบางเรื่องไม่ใช่ความผิดร้ายแรง สามารถตักเตือน/ปรับหรือลงโทษที่ไม่รุนแรงได้ แต่นี่ให้จอดรอวันผุพังเท่านั้น ที่ผ่านมาภาครัฐละเลย จากมีนโยบายคุมอวนลาก เนื่องจากมีศักยภาพการทำลายสูง จึงจำกัดจำนวนเรือสามารถทำได้ประมาณ 5-6 พันลำ ส่วนเรือที่มาขออนุญาตในภายหลัง ทางการได้ออกใบอนุญาตอวนลอยให้แทน ซึ่งที่ผ่านมาเขาทำได้ถูกกฎหมายโดยไม่เป็นความผิด แต่พออียูให้ใบเหลือง รัฐบาลที่ผ่านมา บอกว่าเรือเหล่านี้ผิดกฎหมายทำไม่ได้ ก็ต้องจอดทิ้งไว้ ลองนึกดูว่า 8-9 ปีบางลำก็จม บางลำก็ถูกสั่งให้ตัดทำลายเป็นเศษไม้ แทนที่จะมีมาตรการแก้ปัญหานำเรือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นี่คือทรัพยากรของประเทศที่ต้องสูญเสียไป”

    ‘วิชาญ’ ยังบอกอีกว่า นั่นคือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยไม่มีการตรวจสอบความผิด แทนที่จะไปให้โอกาสว่าเขาจะปรับตัวอย่างไร ทำอย่างให้ถูกต้อง แต่บอกว่าผิดหมด ที่ผิดเล็กๆ ก็ผิด ให้เขาจอด เอาสีขาวแดงไปทาว่าเรือผิดกฎหมายแล้วให้เขาจอด พอผิดมากหน่อย ก็ไปบอกกรมเจ้าท่าว่าให้ยกเลิกทะเบียนเรือ ซึ่งทะเบียนเรือมันเป็นหลักฐานการจดทะเบียนของทรัพย์สิน ที่มีสถานะเป็นนิติบุคล ต้องถูกยกเลิกไปเฉยๆ อย่างไร้ค่า ซึ่งมาตรการทั้งหมดส่งผลให้อุตสาหกรรมประมง และชาวประมงหมดกำลังใจที่จะทำประมงต่อไป

    เรือจอดทิ้งที่จ.สมุทรสาคร หลังมาตรการ IUU

    เร่ง”ฟื้นฟู” ประมงไทยกลับมาใหม่ ‘ไม่ง่าย’

    “ผมว่าตอนนี้มีปัญหาหมดทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ การฟื้นฟูกลับมาไม่ง่าย ต้องตั้งสติ มองภาพรวมการใช้ทรัพยากรกันใหม่ หากทุกคนยังไม่เข้าใจภาพรวมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนร่วมกัน และมองแค่ปัญหาเฉพาะหน้า การกลับมาของประมงไทยยากแน่นอน”

    ‘วิชาญ’ เสนอแนวทางฟื้นประมงในอันดับแรกคือ การนำเรือประมงที่จอดอยู่ประมาณ 3,000 ลำที่พอจะทำประมงได้กลับมาให้เขาทำประมงนอกน่านน้ำ และควรตั้ง ‘กองทุน’ เพื่อเป็นทุนให้เขากู้ยืมได้ซ่อมแซมเรือ 2.แก้กฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรงใหม่ 3.การจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนที่เริ่มจากการสำรวจทรัพยากรใหม่ให้รู้ว่าเรามีปลาอะไร จำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน มีการขยายพันธุ์อย่างไร 4. ต้องมีคนที่รู้เรื่องมากับดูแล เช่น การตั้งกรมประมงทะเลขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

    “การฟื้นฟูประมงต้องทำทุกมาตรการไปพร้อมกัน เรือที่จอดต้องนำกลับมาให้เขาได้ออกทะเล ผมเองเมื่อเดือนก่อนไปแม่กลอง เห็นเศษไม้กองเป็นภูเขาแล้วก็รู้สึกถึงความสูญเสีย เพราะก่อนที่จะเป็นกองไม้ ชาวประมงเคยกราบไหว้แผ่นไม้ในเรือ เป็นแม่ย่านาง เพราะเขาฝากชีวิตไว้ แต่ตอนนี้มันเป็นเศษไม้ ซึ่งไม่ได้พังโดยธรรมชาติ แต่ว่ารัฐบาลสั่งให้เอาไปตัดไปทำลาย”

    ‘วิชาญ’ อธิบายถึงการแก้ไขกฎหมายประมง โดยต้องแก้ไขที่หลักคิดว่าอะไรที่ไม่ได้เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากร ให้ถือว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และต้องปรับบทลงโทษลงมา จากเดิมที่ทุกอย่างที่ผิดตามไอยูยู คือความผิดร้ายแรงหมด มีบทลงโทษที่รุนแรงสารพัด

    “บทลงโทษคนอาชีพประมง เป็นบทลงโทษทั้งทางปกครองและอาญาทุกคดี ต้องโดนทั้ง 2 อย่าง และให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก สั่งให้หยุด บังคับให้เรือจอด คือยังไม่รู้ว่าเขาทำผิดจริงหรือไม่ แต่ไปบังคับให้เขาจอด ประกอบอาชีพไม่ได้”

    สิ่งเหล่านี้เราต้องแก้ไข คือต้องพิสูจน์ว่าเขาผิด ถึงลงโทษ ไม่ใช่การลงโทษตั้งแต่ต้น ส่วนโทษปรับ ต้องลดลงตามความเหมาะสมและข้อเท็จจริง

    ‘วิชาญ’ บอกว่า เรือที่จอดอยู่ ทำอย่างไรจะเอาเรือเหล่านี้ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำ ตอนนี้ต่างประเทศอยากให้เรือไทยกลับไปทำประมง แต่รัฐบาลยังไม่เข้าใจ เขียนกติกา จนทำให้ไม่สามารถออกทะเลได้ เช่น…

    เรือลำหนึ่ง ถ้าจะออกไปทำประมงนอกน่านน้ำ ต้องมีธนาคารไปค้ำประกัน 10 ล้านบาทต่อลำ ซึ่งไม่มีอาชีพไหนที่จะทำธุรกิจแล้ว ต้องเอาเงินไปค้ำประกันการทำอาชีพตัวเอง และเขาไม่ได้ขอสัมปทานรัฐบาลไปสร้างถนนหนทาง แต่คือการประกอบอาชีพสุจริต จึงควรแก้ไขเรื่องนี้ด้วย

    เรือประมงจอดทิ้ง จ.สมุทรสาคร หลังมาตรการ IUU

    นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากร ต้องสำรวจทรัพยากรทางทะเลเพื่อให้สามารถมีมาตรการฟื้นฟูที่เหมาะสม เช่น กรณีปิดอ่าวเพื่อให้ปลาทูออกไข่ ปัจจุบันปิดปีละครั้งคือ 15 ก.พ.-15 พ.ค ซึ่งจากเดิมปิดอ่าว 2 เดือนเพิ่มมาเป็น 3 เดือน แต่การปิดอ่าวต่อไปจำเป็นต้องประกอบด้วยข้อมูลทรัพยากรที่เฉพาะมากขึ้น

    “เราจะเสนอให้มีการสำรวจข้อมูลปลาเศรษฐกิจ ประมาณ 10 ชนิด เช่น กรณีปลาทู เดิมเราเคยคิดว่ามาจากอ่าวตังเกี๋ย แต่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าอยู่ที่เกาะอ่างทองและว่ายไปมาในอ่าวไทย รวมไปถึงปลาทูในอ่าวไทยออกไข่ทั้งปี และมันออกไข่ทั่วไปหลายจุด เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาเส้นทางของปลา เราจะปิดอ่าวเฉพาะจุด ในหลายจุดเพื่อให้ปลาออกไข่และโตเต็มวัย ให้ได้ผลมากขึ้น เราอาจะต้องปิดมากกว่า 3 เดือน และย้ายจุดไปตามการเคลื่อนย้ายของปลา”

    “ผมเสนอให้ทำทั้งหมด 10 ชนิด ที่เป็นปลาเศรษฐกิจก่อน โดยในอ่าวไทยมีการกำหนดปลาเศรษฐกิจสัก 10 ชนิด มีอะไรบ้าง ปลาทู ปลากระตัก อินทรีย์ กะพงแดง ปลาเก๋า ฯลฯ ที่ผ่านมาเราไม่มีข้อมูลปลาเหล่านี้เลยว่ามีในอ่าวไทยจำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน ออกลูกออกหลานอย่างไร”

    นอกจากนี้ในเรื่องของ ‘ขนาดปลา’ อาจจะต้องปรับการบังคับใช้ข้อกฎหมายใหม่ให้เหมาะสมกับชนิดของปลา เพราะการประกาศห้ามจับปลาตัวเล็ก โดยกำหนดที่ขนาดตาอวนไม่ให้มีขนาดต่ำกว่า 5 เซนติเมตร อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับปลาทุกชนิด โดยปลาบางชนิดโตเต็มวัยมีขนาดแค่ 4 เซ็นติเมตรแต่ถูกห้ามจับไปด้วย

    “วันนี้เราต้องตั้งหลักใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่อง IUU แต่IUU เป็นแค่กรอบก่อน ที่มีผลบังคับเพราะเกี่ยวกับต่างประเทศ แต่ที่ใหญ่กว่าคือการจัดการทรัพยากรทางทะเลของไทย เราต้องการทั้งองค์ความรู้ ต้องการทั้งงบประมารและการสร้างวินัยชาวประมง การจัดระเบียบประมงใหม่ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์”

    เรือประมงจอดทิ้ง จ.สมุทรสาคร หลังมาตรการ IUU

    จัดระเบียบประมงใหม่ ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

    ‘วิชาญ’ บอกว่า วันนี้ ไทยมีปัญหาทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ที่ต้องมาจัดระเบียบทำความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรกันใหม่ โดยในส่วนของประมงพื้นบ้านเองอาจจะต้องจัดระเบียบเช่นกัน

    “ตอนนี้ประมงพื้นบ้านจับปลาได้มากขึ้น ไม่ได้สะท้อนว่ามีทรัพยากรมากขึ้น แต่เพราะว่ามีการขยายเครื่องมือ จากเดิมที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้เรือขนาดไม่เกิน 5 ตัน ตอนนี้ขยายเป็น 10 ตัน อนุญาตให้ใช้เครื่องมืออวนลอย อวนติดตาเดิมได้จาก 500 เมตร ตอนนี้ยาวได้ 22 กิโลเมตร และสามารถจ้างคนได้ 3-5 คน รวมไปถึงสามารถขยายพื้นที่หาปลาจาก 3 กิโลเมตร เป็น 5.6 กิโลเมตร หากเทียบจังหวัดสมุทรสาคร มีความยาว 53 กิโลเมตร ตามกฏหมายใหม่ ประมงพื้นบ้านใช้เรืออวนลอย 3 ลำ สามารถปิดทะเลสมุทรสาครได้แล้ว

    นอกจากนี้ประมงพื้นบ้านยังมีจำนวนเรือมากขึ้น จากเดิมก่อนปี 2557 มีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 3 หมื่นลำ แต่เมื่อออกกฎหมายใหม่ มีเรือมาขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นเศษ และยังบอกว่าตกค้างอีก 3 หมื่นลำ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว ขณะนี้มีเรือประมงพื้นบ้านจำนวนกว่า 8 หมื่นลำ

    “ตอนนี้ประมงพื้นบ้านขอขยายพื้นที่ออกไปไหลฝั่งมากขึ้น ซึ่งผมเสนอให้แบ่งประมงพื้นบ้านออกเป็นเรือที่มีขนาดไม่เกิน 5 ตันเป็นประมงพื้นบ้าน แต่ถ้าเกิน 5 ตัน ต้องเป็นประมงขนาดเล็ก ซึ่งสามารถออกไปในระยะไกลได้ เพราะต้องมีเรื่องความปลอดภัยที่รัฐต้องดูแล เป็นความปลอดภัยสาธารณะต้องมีกติการ่วมกัน”

    ส่วนประมงพาณิชย์ก็ต้องมีการควบคุมเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือประมง อาจต้องควบคุมการใช้เครื่องปั่นไฟล่อปลา จากเดิมที่ไม่กำหนด อาจจะต้องลดลงทั้งขนาดแรงเทียนและจำนวน เนื่องจากทำให้ปลาทุกชนิดเข้ามาหาไฟ

    นอกจากนี้อาจจะต้องปรับความยาวหรือความลึกของอวน เช่น อ่าวไทยมีความลึกสูงสุด 85 เมตร แต่ขนาดความลึกของอวนล้อมที่เคยจับปลาผิวน้ำที่เคยมีลึกเพียง 40-50 เมตร แต่ปัจจุบันใช้กันถึง 100 เมตร ซึ่งลงไปคลุมดินถึงก้นทะเล ทำให้กวาดปลาหน้าดินขึ้นมาหมด ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่เกิดความยั่งยืน

    ตอนนี้ อาจถือว่าเป็นโชคดีของชาวประมง โชคดีของประเทศ ที่รัฐบาลใหม่นี้ให้ความสนใจในปัญหาประมง เห็นการประมงของประเทศอยูในภาวะวิกฤติ ล่มสลาย และอยากจะแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นตัวจักรหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

    แต่ประเด็นปัญหาคือ ไม่รู้จะแก้อย่างไร เพราะวันนี้มีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้รู้อยู่เยอะ บางคนก็กอดข้อมูลเก่า บางคนก็มองปัญหาเฉพาะส่วน เฉพาะหน้า ต่างคนต่างก็เสนอความเห็นไปคนละทิศละทางตามความเข้าใจของตน โดยไม่ได้มององค์รวม ที่ต้องแก้ไขทั้งระบบ ไม่ใช่แก้ทีละเปราะอย่างที่เขาเข้าใจกัน

    สุดท้าย สิ่งที่ ‘วิชาญ’ อยากเห็นคือการตั้งกรมประมงทะเลขึ้นมาดูแลทะเล โดยเฉพาะเพราะที่ผ่านมา กรมประมง ยังขาดความรู้เรื่องทะเล ทำให้การจัดการปัญหาขาดความเข้าใจ หากมีคนที่รู้เรื่องทะเลโดยเฉพาะจะทำให้เกิดการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมไปพร้อมกับข้อมูลและความรู้ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นด้วย

    ดูเพิ่มเติม เอกสารการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมง