ThaiPublica > คอลัมน์ > 2 ปีกับการแก้ไขปัญหา IUU Fishing แบบ “ลิงแก้แห” … คุ้มหรือไม่ “EU อาจพอใจ แต่การประมงทะเลไทยล่มสลาย”

2 ปีกับการแก้ไขปัญหา IUU Fishing แบบ “ลิงแก้แห” … คุ้มหรือไม่ “EU อาจพอใจ แต่การประมงทะเลไทยล่มสลาย”

2 พฤษภาคม 2017


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

1. IUU Fishing หรือมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing Measures) มีที่มาจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) ข้อ 61 ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ และข้อ 62 ที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (FAOs Code of Conduct for Responsible Fisheries: CCRF) ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดขึ้นเนื่องจากพบว่าแหล่งทำการประมงส่วนใหญ่ของโลกกำลังประสบกับปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่องของทรัพยากรสัตว์น้ำ อันมีสาเหตุมาจากการทำประมงกันมากจนเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน (over fishing) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกิดขึ้นทดแทนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ห่วงโซ่อาหาร ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร ซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจรรยาบรรณว่าด้วยการทำการประมงอย่างรับผิดชอบเป็นมาตรการความร่วมมือที่ให้ประเทศสมาชิก FAO นำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านการประมงของตนตามความสมัครใจ ความมุ่งหวังที่ต้องการให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนตามอนุสัญญาฯ จึงไม่เกิดขึ้น FAO เห็นว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่เกิดความยั่งยืน ตามที่มุ่งหวังในอนุสัญญาฯ คือ การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จึงได้พัฒนากติกากลางที่เรียกว่าแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (FAOs International Plan of Action on Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IPOA-IUU) ขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติของตน (National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal Unreported and Unregulated fishing: NPOA-IUU) ในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ตามความสมัครใจ

2. แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) และลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ก็ตาม แต่ก็มิได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในทันที ทำให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมประมงไม่ใส่ใจว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมการเพื่อรองรับอนุสัญญาฯ ดังกล่าวอย่างไร ต้องเสียสิทธิหรือได้รับสิทธิอะไรบ้าง และปล่อยให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิทางทะเลไปมากมาย จนกระทั่งผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงเร่งรัดและชี้แนะช่องทางให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2554 และประเทศไทยมีพันธกรณีทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ หลายประการ

แต่จนกระทั่งถึงวันนี้…ผ่านมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐของไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงนิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการทำประมงทะเลของไทยให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจาก EU

3. ขณะเดียวกัน ในฐานะประเทศสมาชิกของ FAO ประเทศไทยก็มิได้ให้ความสนใจในเรื่องจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (CCRF) และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม แม้ว่า FAO ในภูมิภาคได้ช่วยแปลเอกสารให้ และตัวผมเองยังได้ช่วยออกเงินและชวนพรรคพวกชาวประมงให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เอกสารเพื่อแจกจ่ายด้วยซ้ำ

ผมสงสัยว่า “ที่ผ่านมากรมประมงในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการประมงของไทยมัวทำอะไรอยู่” จึงไม่ยอมดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติของ FAO รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดและลดการประมง IUU ของประเทศไทย (Thailand National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal Unreported and Unregulated fishing: Thailand NPOA-IUU) ต้องรอให้ EU มาประจาน และเข้ามากำหนดมาตรการให้เราเดินตาม หรือท่านเห็นว่าการไม่ดำเนินการตามมาตรการของ FAO นั้น

… เป็นความผิดของชาวประมงหรือครับ

4. สหภาพยุโรป (EU) นั้น เมื่อเขาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ รับจรรยาบรรณฯ และ IPOA-IUU แล้ว เขานำไปพัฒนาเป็น EU NPOA-IUU ของเขา และใช้บังคับอย่างจริงจัง แต่ก็ต้องใช้เกือบ 20 ปีในการลดจำนวนเรือประมงที่มีอยู่มากกว่า 160,000 ลำ ให้เหลือประมาณ 80,000-90,000 ลำในปัจจุบัน โดยใช้เงินงบประมาณไปกว่า 500,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เขาเห็นว่าสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งเข้ามายังตลาดสหภาพยุโรปนั้น ยังได้มาจากการทำประมงแบบ IUU จึงไม่เป็นธรรมสำหรับชาวประมงท้องถิ่นของเขา EU จึงได้นำมาตรการทางด้านการค้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่ได้มาจากการทำประมง IUU จากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยเข้าสู่ตลาดประชาคมยุโรป โดยได้ประกาศใช้กฎระเบียบสหภาพยุโรป ที่ (EC) No.1005/2008 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม [Council Regulation (EC) No 1005/2008 of 29 September 2008 establishing a community system to prevent, deter and eliminate illegal, unreported and unregulated fishing] เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

5. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่กฎระเบียบสหภาพยุโรปดังกล่าวมีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการยุโรป EU ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการของประเทศไทยในการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบดังกล่าว รวมทั้งเชิญชวนและแนะนำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ส่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปมากเป็นอันดับ 3 ดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติฯ และพันธกรณีในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และการป้องกัน ยับยั้ง และต่อต้านการทำประมง IUU ตลอดจนดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎระเบียบสหภาพยุโรป รวม 4 ครั้ง

แต่กรมประมงดูเหมือนจะไม่เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญในเรื่องมาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเจ้าหน้าที่กรมประมงโดยเฉพาะผู้บริหารรู้แต่เรื่องประมงน้ำจืด ฟัง EU แล้วก็ไม่เข้าใจ เขาคุยอย่าง ก็เข้าใจไปอีกอย่าง ทำให้แก้ไขปัญหาแบบผิดๆ ถูกๆ บางเรื่องก็ทำแบบขายผ้าเอาหน้ารอด หรือทำแบบผักชีโรยหน้า พอคุยกับ EU เสร็จก็เอาเรื่องใส่ลิ้นชักบ้าง สุดท้าย EU เห็นว่าการดำเนินการของประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าที่เพียงพอ ก็เลยให้ใบเหลืองมา

… เป็นความผิดของชาวประมงหรือครับ

6. พอได้ใบเหลืองมา รัฐบาลก็ลุกขึ้นมาเต้น ถามว่ามีใครบ้างที่รู้เรื่องประมงทะเล นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมประมง แก้ปัญหากันผิดมาตั้งแต่แรก แค่เข้าใจความต้องการของ EU ก็ผิดแล้ว เข้าประเภทฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ตั้ง ศปมผ. ออก พ.ร.บ.ประมง ออกคำสั่งตามมาตรา 44(คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558) สารพัดโดยคิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ และทำให้ EU ยกเลิกใบเหลือง (อ่านเพิ่มเติม การแก้ปัญหาของรัฐบาล)

ลองครับ … ลองไปอ่านดูด้วยใจที่เป็นกลาง และคิดตามบนความเป็นจริงความเป็นไปได้เถอะครับ จะเห็นว่าคำสั่ง และมาตราที่กำหนดออกมานั้นมีข้อบกพร่องมากมาย บางครั้งออกคำสั่งมาบังคับใช้แล้วทำไม่ได้ ต้องตามมาแก้ไข บางมาตราเจ้าหน้าที่ก็นำไปบังคับใช้แบบไม่เข้าใจ คนไม่ผิดก็ไปกล่าวหาว่าผิด ลองไปอ่านเอกสารคำวินิจฉัยของ EU ที่แจ้งเหตุผลในการให้ใบเหลืองประเทศไทย ข้อ 94 ดูสิครับ กว่าครึ่ง EU ชี้เป้าไปที่กรมประมงว่าไร้ประสิทธิภาพ ขาดความรู้ ความสามารถ และขาดความน่าเชื่อถือในการจัดการทรัพยากรและแก้ปัญหา IUU

…เป็นความผิดของชาวประมงหรือครับ

ผมอยากถามว่า 2 ปีที่ครอบครัวชาวประมงไทยต้องรับกรรมจากการถูกบังคับให้ต้องจอดเรือเกือบ 3,000 ลำ ที่เป็นทั้งเครื่องมือทำมาหากินและเป็นสินทรัพย์ไว้เฉยๆ รอวันผุพัง โดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา นั้นเป็นความถูกต้องแล้วหรือครับ แล้วกรมประมงล่ะครับ… ได้แก้ปัญหาข้อบกพร่องของตนหรือยังครับ

7. เชื่อไหมครับ ประเทศไทยเคยมีเรือประมงไทยที่ทำการประมงนอกน่านน้ำอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหา IUU Fishing มากกว่า 1,000 ลำ แต่วันนี้กลับถูกรัฐบาลไทยบังคับให้จอด หรือไม่ก็เพื่อความอยู่รอดก็ต้องไปชักธงประเทศอื่นกันจนไม่มีเรือประมงที่ชักธงไทยทำการประมงนอกน่านน้ำเหลืออยู่แม้แต่เพียงลำเดียว ท่านทั้งหลายที่กำหนดนโยบาย เขียน และเห็นชอบกฎหมายประมงมาบังคับใช้ ท่านชื่นชมความสามารถหรือภูมิใจผลงานของตัวเองไหมครับ

8. นับถึงวันนี้ (29 เมษายน) ครบรอบ 2 ปี พอดี วันที่รัฐบาลเริ่มต้นแก้ปัญหา IUU Fishing มาอย่างผิดทาง โดยไม่ยอมรับความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายและดำเนินการมาแต่ต้น ปล่อยให้ชาวประมงผู้ประกอบอาชีพสุจริตต้องขาดรายได้ ไม่มีปัจจัยในการเลี้ยงชีพและครอบครัว หลายรายต้องหมดตัว มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่รู้อนาคต ประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องซื้อปลาแพง เพราะประเทศไทยต้องเริ่มนำเข้าสัตว์น้ำมาเพื่อการบริโภค หลังจากที่เราไม่เคยเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ปี 2504 แต่ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกครับ อยากถามว่าใครผิด

Un-Happy Anniversary ครับ …ชาวประมงไทยทุกคน

ที่เขียนมาเสียยาวก็เพื่อจะให้คนภายนอกทราบว่า 2 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับการประมงไทย ชาวประมงถูกป้ายความผิดให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อปัญหา เป็นพวกที่เลวร้าย ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ และอื่นๆ อีกสารพัด มานานครับ ผมฝากท่านรวมทั้งผู้อ่าน Facebook นี้ได้ช่วยบอกต่อไปยังผู้มีอำนาจให้เปิดใจ ยอมรับ และเข้าใจปัญหาที่แท้จริง เพื่อที่จะได้แก้ปัญหากันให้ถูกทางกันเสียทีนะครับ