ThaiPublica > เกาะกระแส > 6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 3) : คำวินิจฉัยใบเหลืองที่รัฐบาลไทยไม่บอกความจริงกับสังคม

6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 3) : คำวินิจฉัยใบเหลืองที่รัฐบาลไทยไม่บอกความจริงกับสังคม

12 มกราคม 2022


รายงาน “6 ปี ของการแก้ปัญหา IUU Fishing เมื่อนับหนึ่งผิด (กลัดกระดุมผิดเม็ด) “ความ Ship-หาย” ก็ไร้จุดจบ” ได้ประเมินผล การแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทยในรอบ 6 ปี ในประเด็นของที่มา การดำเนินการ ผลกระทบ ผลเสียหาย และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผน ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ในการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ถูกทางและเกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เขียนโดย วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (2539-2541), อดีตนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย (2528-2532), อดีตสมาชิกวุฒิสภา และประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา (2551-2557)โดย “ไทยพับลิก้า” นำมาสรุปเสนอเป็นตอนๆ

ต่อจากตอนที่2 : 6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 2): ปลดใบเหลืองแล้วไง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่!!

ท่ามกลางข่าวโกลาหลเกี่ยวกับการที่สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ได้ให้ “ใบเหลือง” กับประเทศไทย เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้ประเทศไทยเร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่สหภาพยุโรปได้เฝ้าดู และติดตามการทำงานของหน่วยราชการไทยที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งได้แก่ “กรมประมง” มาตั้งแต่ปี 2551 โดยให้เร่งรัดในการดำเนินการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบ IUU ซึ่งกรมประมงก็ไม่ได้ใส่ใจ เร่งรัดดำเนินมาตรการตามที่สหภาพยุโรปต้องการเท่าที่ควร จนในที่สุด เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปจึงส่งคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ (ให้ใบเหลือง) มายังรัฐบาลไทย เพื่อแจ้งเตือนให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการฯ แนะนำ โดยให้เวลารัฐบาลจนถึงกลางเดือนตุลาคม ที่จะถึงนี้ (รวม 6 เดือน) ก่อนที่จะมาตรวจสอบความคืบหน้าอีกครั้ง ซึ่งหากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมงของประเทศไทยจะถูกสั่งห้ามนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป (ให้ใบแดง)

ในช่วงปีแรก นับตั้งแต่ได้รับใบเหลือง (จนถึงปัจจุบัน) รัฐและสื่อทุกประเภทที่มีอยู่ในประเทศไทยได้ประโคมข่าวกันอย่างคึกโครม และต่างชี้เป้ามาที่ชาวประมงว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งจากการเป็นผู้ทำการประมงผิดกฎหมาย ทำประมงไม่มีใบอนุญาต ไม่มีการรายงาน เอารัดเอาเปรียบ ทารุณโหดร้ายกับลูกเรือ และค้ามนุษย์ ฯลฯ สารพัดปัญหาจึงถาโถมใส่ชาวประมงอย่างแสนสาหัส จนกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคมไทย และสังคมโลก

ผู้เขียนไม่ทราบว่าใครจะคิดอย่างไรกับชาวประมง แต่มีเพื่อน ๆ มาเล่าให้ฟังว่าเวลาลูกไปโรงเรียน ลูกไม่กล้าบอกใครว่าพ่อแม่มีอาชีพทำประมง เพราะเป็นกลุ่มที่สังคมรังเกียจไปแล้ว

จะมีใครสักกี่คนที่ทราบว่า เหตุผลที่แท้จริงที่สหภาพยุโรปให้ “ใบเหลือง” แก่ประเทศไทยนั้น “แท้จริงแล้วคืออะไร”

ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลที่แท้จริงมานำเสนอเพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ตรงกัน ดังนี้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการให้ใบเหลืองประเทศไทยในครั้งนี้ ปรากฏอยู่ในเอกสารของคณะกรรมาธิการยุโรป 3 ฉบับ

  • ฉบับแรกคือ “European Commission – Press release ; EU acts on illegal fishing: Yellow card issued to Thailand while South Korea & Philippines are cleared” หรือ “ข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป เรื่อง การดำเนินการของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย : การให้ใบเหลือง (ออกคำประกาศเตือน) ประเทศไทย ในขณะที่ยกเลิกคำประกาศเตือนประเทศเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์”
  • ฉบับที่สองมีชื่อว่า “European Commission – Fact Sheet : Question and Answers on the EU’s fight against illegal, unreported and unregulated (IUU) fishing)” หรือ “เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการยุโรป เรื่อง คำถามและคำตอบเกี่ยวกับการดำเนินการของสหภาพยุโรป ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม”
  • และฉบับสุดท้ายมีชื่อว่า “COMMISSION DECISION of 21 April 2015 on notifying a third country of the possibility of being identified as a non-cooperating third country in fighting illegal, unreported and unregulated fishing” หรือ “คำวินิจฉัยคณะกรรมาธิการยุโรป วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการแจ้งให้ประเทศที่สามรับทราบความเป็นไปได้ที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายประมง ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม”

ฉบับสุดท้ายนี่เป็นฉบับสำคัญ เพราะมีเนื้อหาทั้งหมดถึง 94 ข้อ ว่ากันตั้งแต่ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และเหตุผลที่เขาใช้ในการตัดสินว่า “ทำไมประเทศไทยจึงได้ใบเหลืองจาก EU”

ผู้เขียนคงไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ในเอกสารดังกล่าวมาเขียนได้ทั้งหมด แต่จะนำเสนอเพียงข้อหลัก ๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นมูลเหตุให้คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินใจว่า ทำไมเขาจึงต้องให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ซึ่งขอยกมาแบบที่ไม่บิดเบือนข้อมูลให้เกิดความเข้าใจผิดไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่

  • ข้อความในเอกสารฉบับแรกที่เป็น “ข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป” เขากล่าวไว้ดังนี้

  • “วันนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกคำประกาศเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ต่อกรณีที่ประเทศไทยไม่มีมาตรการอย่างเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ที่เป็นสากล ผลจากการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด และการหารือร่วมกับทางการไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 (ค.ศ. 2011) คณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ว่า

    “ประเทศไทยล้มเหลว และไม่มีมาตรการในการดำเนินการติดตามตรวจสอบ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายที่เพียงพอต่อการทำประมงที่ผิดกฎหมาย”

    คาร์เมนู เวลลา (Karmenu Vella) กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมง ของสหภาพยุโรป กล่าวว่า “ด้วยการนำนโยบายที่เข้มงวดของสหภาพยุโรปต่อการปฏิบัติการที่เป็นอันตราย เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะทำให้ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไข ผมจึงขอเร่งรัดประเทศไทยให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาความล้มเหลวในการทำประมงอย่างยั่งยืน และดำเนินการอย่างจริงจังในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม”

    ผลของการออกคำประกาศเตือนเป็นการเริ่มต้นขั้นตอนการเจรจากับทางการไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ไทยใช้มาตรการที่ถูกต้อง และจำเป็นในการแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ถูกต้องเฉพาะของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน

  • ข้อความในฉบับที่สองที่เป็น “เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการยุโรป” มีใจความสำคัญว่า

  • “เหตุที่คณะกรรมาธิการฯ ตัดสินใจออกคำประกาศเตือนประเทศไทยว่าเสี่ยงที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ คือ การตัดสินใจของคณะกรรมาธิการฯ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด เกี่ยวกับกรอบกฎหมายของประเทศไทย การบังคับใช้ มาตรการและการบริหารจัดการที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถของประเทศไทยในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเผยให้เห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจนของประเทศไทยในการดำเนินการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

    “คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอแผนปฏิบัติการให้กับประเทศไทย รวมทั้งจะมีการเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนของไทยที่ต้องนำไปปฏิบัติ”

    “แม้ว่าคณะกรรมาธิการฯ จะมีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 (ค.ศ.2011) แต่การดำเนินการของประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าที่เพียงพอ จึงนำไปสู่การการประกาศคำแจ้งเตือนเบื้องต้นในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเจรจาและความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างเป็นทางการ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอวิธีดำเนินการที่จะบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการ และความก้าวหน้าที่สามารถวัดผลได้โดยเกณฑ์มาตรฐานและข้อกำหนดที่ชัดเจน คณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการประเมินผลความคืบหน้าในการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยอีกครั้ง ภายหลังจาก 6 เดือนที่ได้มีการประกาศแจ้งเตือนการตัดสินใจเกี่ยวกับใบเหลืองแล้ว

    “เหตุผลสำหรับการประกาศคำแจ้งเตือนเบื้องต้น จะได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและรับผิดชอบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ละเลยการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า และรัฐเจ้าของตลาด ทั้งนี้ เพื่อทำให้การดำเนินการดังกล่าวมีความโปร่งใส ผลการตัดสินใจดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการของสหภาพยุโรป (the Official Journal of the EU) คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอแผนปฏิบัติการให้กับประเทศไทย รวมทั้งจะมีการเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนของไทยที่ต้องนำไปปฏิบัติ”

  • ผลการตัดสินใจที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการของสหภาพยุโรป (the Official Journal of the EU) ดังกล่าวก็คือ เอกสาร “คำวินิจฉัยคณะกรรมาธิการยุโรป” รวม 94 ข้อ ที่สหภาพยุโรปส่งให้กับรัฐบาลไทย อันเป็นเอกสารฉบับที่สามที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้นนั้นมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ข้อเท็จจริงคำวินิจฉัย(ใบเหลือง) ที่รัฐบาลไทยไม่บอกความจริงกับสังคม

    1.รายงานการตรวจเยี่ยมฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ถูกส่งไปยังประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 โดยคณะกรรมาธิการฯ ยอมรับระหว่างการเยือนว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องของไทยนับตั้งแต่ปี 2554 นั้น มีน้อยหรือไม่มีเลย (ข้อ 20)

    2.(การพิจารณาของ) คณะกรรมาธิการฯ ตั้งอยู่บนข้อมูลพื้นฐานที่ได้รับทั้งจากการไปตรวจเยี่ยมในสถานที่จริง และข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า มีเรือประมงอย่างน้อย 11 ลำ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำประมงแบบ IUU ในช่วงปี 2553-2557 (ข้อ 26)

    3.บนพื้นฐานของหลักฐานที่ได้รับ มีรายงานว่า เรือที่ติดธงไทยมีความตั้งใจที่จะกระทำการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการในพื้นที่ทำการประมงที่เกี่ยวข้อง โดยทำการจับปลาโดยไม่มีอาชญาบัตรที่ถูกต้อง ใบอนุญาต หรือเอกสารการอนุญาตที่ออกโดยรัฐเจ้าของธง หรือรัฐชายฝั่งที่เกี่ยวข้อง ทำการประมงโดยไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบการติดตามเรือ (VMS) ไว้บนเรือในเขตทะเลหลวงและในรัฐชายฝั่ง ซึ่งเป็นเขตที่เรือประมงที่ติดธงประเทศอื่น ๆ ทุกลำจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือ นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับพื้นที่ประมงที่ได้รับใบอนุญาตให้จับสัตว์น้ำจากทางการไทย และการนำผลิตภัณฑ์ประมงนั้นเข้ามายังสหภาพยุโรป มีการปลอมแปลงหรือปกปิดเครื่องหมาย สถานะหรือการลงทะเบียน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐชายฝั่งในการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการ นอกจากนี้ เรือประมงเหล่านี้บางลำยังไม่มีการบันทึกและรายงานการเข้า-ออก และให้ข้อมูลการจับสัตว์น้ำแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐชายฝั่งตามที่กำหนด กรมประมงของไทยมีการสอบสวนเพียงกรณีเดียว (จากกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด) (ข้อ 27)

    4.ในเดือนตุลาคมปี 2557 เรือประมงไทย 5 ลำ ถูกจับเนื่องจากทำการประมงผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะปาปัวนิวกินี [Papua New Guinea’ (PNG) Exclusive Economic Zone (EEZ)] การไม่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ (VMS) ไว้ในเรือประมง ทำให้เรือประมงส่วนมากของไทย (ตามที่ได้อธิบายไว้ในข้อ 37) มีจุดอ่อนในการเชื่อมโยงข้อมูลกับรัฐเพื่อนบ้าน (ส่วนที่ 3.2 ของเอกสารฉบับนี้) แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการทำการประมงแบบ IUU ที่จะเกิดขึ้นในกองเรือประมงไทยมีอยู่ในระดับสูง ดังจะเห็นได้จากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของกองเรือประมงไทยในกิจกรรมการทำประมงแบบ IUU ในมหาสมุทรแปซิฟิก และอินเดียตะวันตก ในช่วงปี 2554-2557 (ตามที่ระบุไว้ในข้อ 26) พื้นที่และการแผ่ขยายของอุบัติการณ์การทำประมงแบบ IUU มีความสัมพันธ์กับการกระจายตัวของกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ก่อนปี 2555 (ข้อ 28)

    5.ในอดีต กองเรือประมงไทยจับสัตว์น้ำได้คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการประมงทะเลทั้งหมด ผลผลิตดังกล่าวได้ลดลงอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประมงที่เกินขนาด มีการจับสัตว์น้ำกันจนเกินกว่าปริมาณที่พึงจับได้ในน่านน้ำไทย ทั้งสัตว์น้ำหน้าดินและปลาผิวน้ำ ในปี 2550 มีรายงานว่า กองเรือประมงไทยซึ่งเป็นที่รับทราบกันว่ามากกว่า 460 ลำ เข้าทำการประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย บังคลาเทศ โซมาเลีย มาดากัสการ์ และพม่า วันนี้กองเรือประมงนอกน่านน้ำถูกจำกัดจำนวน มีเรือประมงเพียง 10 ลำ ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำประมงเบ็ดราวในเขตมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) และเรือประมงอวนลากเพียง 52 ลำ ที่ได้รับอาชญาบัตรสำหรับการจับปลาในปาปัวนิวกินี การลดปริมาณลงของมวลสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย ประกอบกับพื้นที่การทำประมงที่ลดลงอันเนื่องมาจากการสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงน่านน้ำประเทศที่สาม ทำให้เชื่อว่ามีเรือประมงจำนวนมากยังคงทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย โดยไม่มีการควบคุม หรือการรายงานผลจับสัตว์น้ำทั้งในเขตทะเลหลวง และในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งต่าง ๆ (ข้อ 29)

    6.นับตั้งแต่ปี 2554 กองเรือประมงไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 ลำ ปัจจุบัน ประมาณการว่ามีเรือประมงอยู่จำนวน 40,000 ลำ โดย 7,000 ลำ เป็นเรือประมงพาณิชย์ (แต่ละลำมีน้ำหนักมวลรวมมากกว่า 20 ตันกรอส) จากจำนวนเรือทั้งหมด มีเรือน้อยกว่า 1 ใน 5 จากทั้งหมดที่ใช้สมุดปูมเรือ (logbooks) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำประมงส่วนใหญ่ขาดการรายงาน ซึ่งในกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนในฐานะรัฐชายฝั่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศตนตามปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 61 และ 62 ของอนุสัญญา UNCLOS นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิด ข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากลในการดำเนินการเพื่อป้องกันยับยั้งและกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU IPOA) ที่กำหนดให้เป็นภาระผูกพันที่จะต้องส่งสมุดปูมเรือที่มีการบันทึกการจับปลาอย่างสม่ำเสมอ (ข้อ 30)

    7.จากข้อ 28-30 แสดงให้เห็นว่า การทำประมงและอุตสาหกรรมการประมงของไทย ตกอยู่ในสภาพของการลดลงของปริมาณมวลรวมของสัตว์ การลดลงของพื้นที่ทำประมง (การปิดพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) และการสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงน่านน้ำของรัฐชายฝั่งของประเทศที่สาม) และการเพิ่มขึ้นของการทำประมง (เรือประมงพาณิชย์ 4,000 ลำในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ลำ ในปี 2557) ข้อเท็จจริงที่อธิบายไว้ในข้อดังกล่าวข้างต้น สนับสนุนข้อสรุปเบื้องต้นว่า กองเรือประมงไทยมีการทำการประมงที่ผิดกฎหมายนอกน่านน้ำไทย โดยสัตว์น้ำที่จับได้ไม่มีการรายงาน หรือรายงานเท็จ (ข้อ 30)

    8.จากข้อมูลที่ปรากฏในข้อ 26 27 28 และ 31 คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนในฐานะรัฐเจ้าของธง ในอันที่จะป้องกันกองเรือประมงของตนจากการมีส่วนร่วมในทำกิจกรรมแบบ IUU ซึ่งในกรณีนี้ มาตรา 94 (2) (b) ของอนุสัญญาฯ UNCLOS บัญญัติให้รัฐเจ้าของธงต้องถืออำนาจในการบังคับใช้กฎหมายแห่งรัฐตน เหนือเรือที่ติดธงของรัฐนั้นๆ รวมทั้งการดำเนินการใด ๆ ของหัวหน้าผู้ควบคุมเรือ (ไต้ก๋ง-ผู้แปล) เจ้าหน้าที่และลูกเรือที่อยู่ในเรือ บทบัญญัติยังกำหนดให้รัฐเจ้าของธงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการหรือให้ความร่วมมือกับรัฐอื่นในการดำเนินการ เช่น มาตรการของชาตินั้น ๆ ที่อาจมีความจำเป็นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในเขตทะเลหลวงด้วย (ข้อ 32)

    9.คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์เอกสาร และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง และควบคุมการทำประมงทะเลของไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้า ผลจากการประเมินคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้ามายังท่าเรือของไทย และโรงงานแปรรูป มิได้เกิดจากการประมงแบบ IUU ทางการไทยไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นว่า ตนมีข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อประกอบการรับรองความถูกต้องตามกฎหมายสำหรับสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปที่ส่งไปยังตลาดสหภาพยุโรป (ข้อ 34)

    ความล้มเหลวของ…กรมเจ้าท่าและกรมประมง

    10.การเดินทางไปเยือน เมื่อปี 2555 พบว่าทั้งสองหน่วยงาน (กรมเจ้าท่าและกรมประมง) ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนไม่มีความร่วมมือกันในการดำเนินการจดทะเบียนเรือจริง ข้อมูลทะเบียนเรือของทั้งสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันจำนวน 2-3 พันลำ การขาดความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่าและกรมประมงทำให้ความสามารถของประเทศไทยในการตรวจสอบขนาด และศักยภาพของกองเรือประมงอ่อนแอลง และช่วยให้ผู้ประกอบการประมงที่ทำผิดกฎหมายดำเนินการจากประเทศไทยได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เรือประมงไทยสามารถทำการประมงได้โดยไม่จดทะเบียน หรือไม่มีอาชญาบัตร และขนถ่ายสินค้าประมงที่ไม่มีการจดแจ้งข้อมูลขึ้นฝั่งเพื่อการแปรรูปจึงยังคงมีอยู่สูง (ข้อ 36)

    11.นอกจากนี้ การขาดการติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ (VMS) เพื่อใช้ในการตรวจสอบแหล่งประมง เป็นการทำลายกระบวนการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย ซึ่งทางการไทยไม่สามารถตรวจสอบ และพิสูจน์ความถูกต้องของแหล่งที่จับสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบและเป็นอิสระตามที่ผู้ประกอบการประมงแจ้งได้ ในกรณีนี้ ประเทศไทยจึงล้มเหลวในการปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ถึงความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ควบคุม และตรวจสอบการประกอบกิจการประมง ตามบทบัญญัติในมาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS และข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU (ข้อ 37)

    12.ประเทศไทยยังแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากประเทศที่สาม ที่ไม่ได้แจ้งกับคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 20 ของกฎระเบียบ IUU ซึ่งรวมถึง วานูอาตู สหพันธรัฐไมโครนีเซีย และหมู่เกาะมาร์แชลล์ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเสี่ยงว่าผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีที่มาจากการทำประมงแบบ IUU (ข้อ 40)

    13.จากข้อมูลที่ได้รับจากทางการไทย ร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้ามายังท่าเทียบเรือในประเทศไทยได้รับการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน (ผู้รับผิดชอบการเทียบท่า-ผู้แปล) ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ การอนุมัติ หรือปฏิเสธการเข้าเทียบท่าในประเทศไทย (เพื่อขนถ่ายสินค้าประมงขึ้นฝั่ง-ผู้แปล) ของเรือจากประเทศที่สาม การนำเข้าทั้งหมดได้รับการอนุญาตให้นำเข้า โดยการเสนอชุดของเอกสาร (เช่น ทะเบียนเรือ อาชญาบัตร ฯลฯ) และใบรับรองการจับสัตว์น้ำในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ประมงนั้นจะส่งไปยังตลาดสหภาพยุโรป การตรวจเยี่ยม ในปี 2555 และ 2557 พบว่า ใบรับรองการจับสัตว์น้ำจะส่งมาถึงหลังจากสินค้าประมงถูกนำเข้ามายังประเทศไทยแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ความเชื่อมโยงกันของจำนวนในใบอนุญาตนำเข้ากับจำนวนในใบรับรองการจับสัตว์น้ำมีความยุ่งยากมากในการสืบค้น การสืบค้นเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับยิ่งทำได้ยากกว่า (ข้อ 42)

    ประเทศไทยล้มเหลวในการใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงความโปร่งใสของตลาดของตน

    14.จากการสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (ตามที่อธิบายไว้ในข้อ (44) ถึง (48)) พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยล้มเหลวในการใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงความโปร่งใสของตลาดของตน ที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ประมงแบบ IUU ที่มีการซื้อขายผ่านประเทศไทย (ข้อ 43)

    15.ในปี 2555 คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินการของผู้ประกอบการ ตัวแทนการค้า และโรงงานแปรรูปปลาทูน่าหลายแห่ง เพื่อประเมินความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนกลับในตลาดผลิตภัณฑ์ประมงของไทย (คณะกรรมาธิการฯ ตรวจ-ผู้แปล) พบข้อบกพร่องจำนวนหนึ่ง (ข้อ 44)

    16.คณะกรรมาธิการฯ พบว่า ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ทางการไทยพัฒนาขึ้น ไม่มีความเชื่อมโยงกับระบบการลงบัญชีของบริษัทเอกชน ดังนั้น จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าข้อมูลจะมีความครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นที่เชื่อถือได้ เนื่องจากไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่บันทึกโดยหน่วยงานของรัฐ กับข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบบัญชีและการผลิตของบริษัท สถานการณ์เช่นนี้ทำลายความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่การตรวจสอบย้อนกลับในระดับบริษัท นอกจากนี้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนระบบการตรวจสอบย้อนกลับของหน่วยงานของรัฐ ยังเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ และเอกสารสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน เช่น เอกสารการนำเข้าไม่มีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญ [เช่น ชื่อของเรือสนับสนุน (เรือแม่ หรือเรือขนส่ง-ผู้แปล) และปริมาณรวมสุทธิที่แท้จริงที่บริษัทแปรรูปรับซื้อมา] สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เน้นให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการตรวจสอบย้อนกลับทั้งระบบ (ข้อ 45)

    17.รูปแบบของเอกสารราชการที่หน่วยงานของรัฐพัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบย้อนกลับ ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องโดยผู้ประกอบการ ที่ถูกตรวจพบว่ามีการบันทึกปริมาณปลานำเข้าไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวนี้หมายความว่าระบบสามารถถูกละเมิดได้โดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถสำแดงปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงตามใบรับรองการจับสัตว์น้ำได้มากกว่าความเป็นจริง และสามารถฟอกปลา (ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำประมงแบบ IUU เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง-ผู้แปล) โดยผ่านการประเมินจากการสำแดงข้อมูลที่มากกว่าความจริง (ข้อ 46)

    18.บริษัท (แปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง-ผู้แปล) จัดทำบัญชีวัตถุดิบคงเหลือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ โดยการกรอกข้อมูลบัญชีด้วยปริมาณเต็มจำนวนตามที่ปรากฏในใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ซึ่งตรงข้ามกับปริมาณที่มีการซื้อ-ขายจริง บัญชีเหล่านี้ถูกบันทึกจากบริษัท โดยปราศจากการเชื่อมโยงกับระบบบัญชีภายใน (ของบริษัทเอง-ผู้แปล) และจัดทำขึ้นภายหลังจากกระบวนการแปรรูปเป็นเวลานาน ทั้งนี้ เพียงเพื่อให้ได้รับใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Annex IV processing statement) จากทางราชการ การดำเนินการดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบการบันทึกข้อมูลที่ถูกตรวจสอบ พบว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจสอบถึงความแตกต่างของอัตราส่วนการแปรรูปกับผลผลิตที่ได้รับ นอกจากนี้ การไม่สามารถเชื่อมโยงปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ กับผลผลิตที่แปรรูปได้โดยการใช้ระบบบัญชีภายใน (ของบริษัท-ผู้แปล) มาแสดง และการเปิดโอกาสให้ระบบสามารถสำแดงเท็จ (ปริมาณสัตว์น้ำ-ผู้แปล) และฟอกผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมงแบบ IUU ได้ ความสัมพันธ์ของการตรวจสอบ (การบันทึกข้อมูลในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ-ผู้แปล) ในจำนวนที่ต่ำของกรมประมง และการขาดการกระทำที่ชัดแจ้งต่อระบบตรวจสอบย้อยกลับที่ล้มเหลวเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจที่จะรับประกัน (ทำให้เกิดความแน่ใจ-ผู้แปล) ในความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน และความล้มเหลวในการนำมาตรการไปใช้กับผู้ประกอบการ ที่สัมพันธ์ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการทำกิจกรรมประมงแบบ IUU ตามที่ระบุไว้ในข้อ 72-74 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU (ข้อ 47)

    19.การตรวจเยี่ยม ในปี 2555 ยังพบว่าปลาทูน่าที่ถูกนำเข้ามายังประเทศไทย จำนวน 40,000 ตัน ไม่ผ่านการควบคุมของเจ้าหน้าที่ศุลกากร แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในความร่วมมือระหว่างกรมประมงกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบความถูกต้องของการนำเข้าวัตถุดิบ (ข้อ 48)

    20.ในการเตรียมการสำหรับการตรวจเยี่ยมในปี 2557 หน่วยงานควบคุมการประมงยุโรป (EFCA) ได้วิเคราะห์ใบรับรองการจับสัตว์น้ำซึ่งส่งมายังเขตพรมแดนของสหภาพยุโรปตามสัญญาจากประเทศไทย จำนวนสองถึงสามร้อยใบ พบว่าใบรับรองเหล่านี้ได้ผ่านการออกโดยกรมประมง บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการไทย (ในการส่งผลิตภัณฑ์ประมงเข้ามายังสหภาพยุโรป-ผู้แปล) ผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการบันทึกข้อมูลตามที่ระบุไว้ข้างต้นสามารถเห็นได้ในความผิดปกติ (ข้อ 49)

    21.การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้จากการจับจากน่านน้ำภายในของไทย แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันดังต่อไปนี้ – ปริมาณที่แตกต่างกันของวัตถุดิบชนิดเดียวกัน ถูกแสดงน้ำหนักที่เท่ากันกับผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นสุดท้าย – ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 2 ใบ ออกให้กับการออกเรือเที่ยวเดียวกัน – ผลิตภัณฑ์ประมงอบแห้งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นซึ่งตรงข้ามกับการคาดการณ์ว่าภายหลังผ่านกระบวนการคายน้ำ (ทำให้แห้ง-ผู้แปล) น้ำหนักผลิตภัณฑ์ควรลดลง – อัตราส่วนในการผลิต (ระหว่างวัตถุดิบกับผลผลิตขั้นสุดท้าย) ของผู้ส่งออกแต่ละรายไม่เท่ากัน – ผลผลิตขั้นสุดท้ายพบว่ามีปริมาณมากกว่าวัตถุดิบถึง 2 เท่า – วันที่ส่งออก เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่จับ และผลิต 3 ถึง 4 ปี – ไม่มีการระบุแหล่งที่จับ – ไม่มีการแสดงมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการ (ทรัพยากรสัตว์น้ำ-ผู้แปล) ทั้งในระดับสากล ระดับภูมิภาค และระดับชาติ (ข้อ 50)

    22. การวิเคราะห์ใบรับรองการจับสัตว์น้ำของประเทศที่สามที่นำมาแปรรูปในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติต่อไปนี้ – ใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นการทำประมงแบบ IUU – ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกันของใบรับรองการจับสัตว์น้ำ เช่น หมายเลข IMO ไม่ถูกต้อง – ความไม่สอดคล้องกันระหว่างน้ำหนักของสัตว์น้ำที่จับ น้ำหนักที่เทียบท่า และน้ำหนักที่ได้จากการแปรรูป – เรือไม่ได้อยู่ในบัญชีเรือที่ได้ลงทะเบียนกับองค์การจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization- RFOM) – เรือขนส่งไม่ได้อยู่ในบัญชีรายการเรือขนส่งของ RFMO – วันที่เทียบท่าเกิดขึ้นก่อนวันที่ทำการขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือ – มีการแก้ไขเพิ่มเติมปริมาณและวันที่ในใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงดังกล่าวนับตั้งแต่การจับสัตว์น้ำที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำประมงแบบ IUU ตลอดไปจนถึงปริมาณสัตว์น้ำที่แตกต่างไปจากใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่สามารถระบุความผิดพลาดได้อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถให้ความร่วมมือกับรัฐอื่นๆ และองค์กรจัดการประมงของในภูมิภาค ในการนำมาตรการการป้องกัน ยับยั้ง หรือขจัดการทำประมงแบบ IUU ไปใช้ในฐานะของรัฐเจ้าของตลาดได้อย่างเหมาะสม ตามที่ระบุไว้ในข้อ 68 และ 72 ของแผนปฏิบัติการสากล NPOA-IUU (ข้อ 51)

    23.ข้อมูลที่ได้บรรยายไว้ในข้อ (50) และ (51) ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ (ประมง) ที่ผ่านกระบวน (ผลิต) จากประเทศไทย บ่อนทำลายกฎการดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืนตามที่ระบุไว้ในข้อ 11 ของจรรยาบรรณขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Code of Conduct) และยังเน้นย้ำให้เห็นถึงการที่ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดกฎระเบียบเพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ามีการร่วมมืออย่างเพียงพอกับประเทศที่สามที่ทำการประมง และมีการใช้มาตรการที่จะสร้างความมั่นใจในความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งเข้าสู่ตลาด ให้สอดคล้องกับข้อ 67 – 69 และ 71-72 ของแผนปฏิบัติการสากล NPOA-IUU เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง หรือผลิตภัณฑ์ประมงได้ (ข้อ 52)

    24.ในมุมมองของสถานการณ์ตามที่ได้กล่าวมาในคำวินิจฉัยนี้ และบนพื้นฐานขององค์ประกอบที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการฯ รวมทั้งหลักฐานการชี้แจงที่ประเทศไทยจัดทำขึ้น แสดงให้เห็นตามข้อ 31 (3) และ 31 (4) (b) ของกฎระเบียบ IUU ว่าประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนตามพันธกรณี ภายใต้กฎหมายสากลในฐานะรัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของตลาด ในการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมงแบบ IUU เข้าสู่ตลาดประเทศไทย (ข้อ 53)

    25.หลังการตรวจเยี่ยม ในปี 2554 คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญชวนประเทศไทยทำงานร่วมกันในประเด็นการจัดการการทำประมงที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยเร่งด่วนในหลายประเด็น ดังต่อไปนี้ กรอบกฎหมายและการบริหารจัดการสำหรับการจัดการประมงที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน โดยการให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประมง ฉบับใหม่ และนำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมมาบรรจุไว้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำบทบัญญัติหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการการประมงระหว่างประเทศและภูมิภาคมาบัญญัติไว้ในกฎหมายของไทยด้วย

    คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญชวนให้ประเทศไทยพัฒนาแผนการลงโทษที่สอดรับและยับยั้งได้ โดยการบันทึกทะเบียนการละเมิดกฎหมายและการลงโทษ คณะกรรมาธิการฯ แนะนำให้มีการปรับปรุงแผนการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง เพื่อความแน่ใจในการควบคุมกองเรือประมงไทย และเรือประมงของประเทศที่สามที่เข้ามา (ขนถ่ายสินค้า-ผู้แปล) ในท่าเทียบเรือไทย การพัฒนาระบบการติดตามเรือประมง รวมทั้งแผนการตรวจสอบด้วย ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและแผนการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อการส่งออก (สินค้าประมง-ผู้แปล) ที่มีปลายทางในตลาดสหภาพยุโรป (ข้อ 56)

    26.การตรวจเยี่ยมประเทศไทย ในปี 2554 แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความก้าวหน้าในประเด็นความกังวลที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำในปี 2554 (ตามที่อธิบายไว้ในการบรรยายข้างต้น) ร่างพระราชบัญญัติกฎหมายการประมง และแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (NPOA-IUU) ยังเป็นเพียงฉบับร่างที่ไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการได้รับความเห็นชอบ (โดยรัฐสภา-ผู้แปล) ไม่มีพัฒนาการของแผนการตรวจสอบ ควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง (MCS) และยกเว้นการเพิ่มเติมการเชื่อมโยงระหว่างเอกสารการนำเข้าและใบรับรองการจับสัตว์น้ำของประเทศที่สามในขอบข่ายงาน ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่นำไปใช้ไม่มีผลความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญให้สังเกตเห็นได้ (ข้อ 57)

    27. คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นสำหรับความร่วมมือ และการดำเนินการให้ถูกต้องตามรายงานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ประเทศไทยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ตอบกลับความคิดเห็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเน้นว่า การกระทำของไทยอ้างถึงการเริ่มดำเนินการในอนาคตโดยปราศจากรายละเอียดของวัตถุประสงค์ หรือระยะเวลาแล้วเสร็จ ไม่มีการดำเนินการหรือการแก้ไขในประเด็นปัญหาสำคัญที่ได้จากการตรวจเยี่ยม ในปี 2554 และ 2555 อย่างเป็นรูปธรรม และยังคงไม่มีคำตอบในประเด็นคำถามเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประมง (โดยรัฐสภา-ผู้แปล) และการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (ข้อ 58)

    เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเรือประมง

    28.การติดต่อกันครั้งต่อไปได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยคณะกรรมาธิการฯ ขอเข้าตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามผล (การดำเนินงานจากการ) ตรวจเยี่ยมในปี 2554 ผลการตรวจเยี่ยมในเดือนตุลาคม 2555 แสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานนับตั้งแต่ปี 2555 ไม่มีความก้าวหน้าในความสำเร็จการจะเร่งนำร่างพระราชบัญญัติการประมงซึ่งจะให้อำนาจในการดำเนินงานและการบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการการประมงและเครื่องมือในการตรวจสอบย้อนกลับไปบังคับใช้ ยังคงเป็นฉบับร่างที่มีกำหนดการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในเวลาใดเวลาหนึ่ง ในปี 2558 การใช้ระบบติดตามเรือ (VMS) ครอบคลุมจำนวนเรือน้อยลงกว่าในปี 2555 และการวิเคราะห์กระบวนการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำในประเทศไทย เน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมงแบบ IUU จะเข้าไปในตลาดสหภาพยุโรปได้

    ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาทั้งหมด ที่ (คณะกรรมาธิการฯ) ระบุไว้ในปี 2555 และไม่สามารถใช้อำนาจในเขตอำนาจตามกฎหมายของตนในการบริหารจัดการ การดำเนินการทางเทคนิคและสังคม เหนือกองเรือประมงของตน ตามมาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS นอกจากนี้ยังไม่สามารถดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ในเรื่องการตรวจสอบ การควบคุมและการเฝ้าระวังกองเรือประมงของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการดำเนินงานในเรื่องระบบติดตามเรือ และการให้เรือประมงจัดทำสมุดปูมเรือ ได้เป็นผลสำเร็จ (ข้อ 60)

    29.โดยรวมทางการไทยให้ความร่วมมือและตอบสนองอย่างรวดเร็ว ต่อการขอข้อมูลหรือการตรวจสอบยืนยันทั้งจากประเทศสมาชิกและคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 17 (6) ของกฎระเบียบ (EC) No 1005/2008 แต่ความถูกต้องของการตอบสนองดังกล่าวถูกทำลายลงโดยความบกพร่องของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 (1) ของคำวินิจฉัยนี้ จุดอ่อนเหล่านี้จะมาจากการขาดความร่วมมือระหว่างทางการไทยกับประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธง ซึ่งประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบ (ข้อ 61)

    30.นับตั้งแต่ปี 2553 ประเทศไทยมีการดำเนินการพิสูจน์ยืนยันใบนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธง เพียง 26 กรณีจากจำนวนหลายพันกรณี และมีเพียง 14 กรณีของการตรวจพิสูจน์ ที่ได้รับการตอบกลับจากประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธง การพิจารณาในประเด็นนี้ เน้นย้ำให้เห็นปัญหาที่ได้กล่าวไว้ในข้อ (51) และ (52) เกี่ยวใบรับรองการจับสัตว์น้ำของประเทศที่สาม คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถให้ความร่วมมือกับรัฐอื่น ๆ ในการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร โดยประการแรก ไม่มีการแสดงจุดติดต่ออย่างเป็นทางการเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐ และประการที่สอง ไม่มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงกับรัฐที่ประเทศไทยที่นำเข้าสินค้าประมงเพื่อการแปรรูป (ข้อ 64)

    31.ในเดือนตุลาคมปี 2557 เรือประมงไทย 5 ลำถูกจับกุมในข้อหาทำการประมงผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะปาปัวนิวกินี กรณีดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 แต่กรมประมงของไทย ชี้แจงว่า ไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เน้นให้เห็นถึงความอ่อนแอในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่สามอื่น ๆ แม้แต่กับประเทศที่มีความตกลงกันในระดับทวิภาคีก็ตาม (ข้อ 66)

    32.กฎระเบียบการขึ้นทะเบียนเรือและการออกอาชญาบัตรไม่มีความชัดเจน และความล้มเหลวในการปฏิบัติให้เป็นไปตามภาระผูกพันในการขึ้นทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย ทางการไทยยังไม่มีวิธีการบังคับอย่างเพียงพอ สถานการณ์นี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการขาดความร่วมมือระหว่างผู้บริหารองค์กร เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเรือและอาชญาบัตร ซึ่งระบบเปิดโอกาสให้มีการทุจริต (ดังที่กล่าวไว้ในข้อ 35 และ 36) มาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS และข้อ 42 และ 43 ของแผนปฏิบัติการสากล NPOA-IUU ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงภาระผูกพันที่รัฐเจ้าของธงจะต้องควบคุมบันทึกการขึ้นทะเบียนเรือประมงของตน ในการนี้ คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำให้แน่ใจได้ว่าเรือที่ติดธงไทยได้รับการขึ้นทะเบียนและมีอาชญาบัตร และประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการบังคับที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์ (ข้อ 68)

    33.การประชุมในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญในประเด็นการกำหนดบทลงโทษในระดับต่ำที่ปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติการประมง ฉบับปรับปรุงใหม่ ค่าปรับที่กำหนดไว้ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะกีดกันเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่จากผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำกิจกรรม (ประมง) ผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น บทลงโทษในรูปแบบปัจจุบันไม่ครอบคลุมและรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการป้องปราม

    นอกจากนี้ กรมประมงไม่มีการจัดเก็บทะเบียนการละเมิดกฎหมาย หรือการลงโทษ ดังนั้นจึงไม่สามารถเชื่อมโยงการการละเมิดเพื่อตรวจจับการกระทำผิดซ้ำได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์ดังกล่าวนี้มีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการขาดความชัดเจนและความโปร่งใสของกฎหมาย และวิธีดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงการลงทะเบียนเรือกับอาชญาบัตร และการตรวจสอบย้อนกลับกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลเกี่ยวกับการขนถ่ายขึ้นกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ ประเทศไทยไม่สามารถยืนหยัดในภาระหน้าที่ของตนในอันที่จะกำหนดให้มีการบังคับใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS และไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่มีระบบการลงโทษที่เพียงพอที่จะต่อสู้กับการทำประมงแบบ IUU ตามที่ระบุไว้ในข้อ 21 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA IUU (ข้อ 69)

    34.ข้อกำหนดในเรื่องระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมายไทย เรือไทยจึงไม่ถูกกฎหมายบังคับให้ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ในน่านน้ำไทย (ข้อ 70)

    35.ในปี 2554 กรมประมง นำเสนอการเปิดตัวโครงการนำร่องการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ที่จะมีเรือประมงเข้าร่วมมากกว่า 300 ลำ ระบบดังกล่าวดำเนินการโดยผู้ให้บริการเอกชน และความถี่ในการรายงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานระบบติดตามเรือสากล เช่น มาตรฐาน RFMOs [องค์การจัดการประมงในระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organisations)] นอกจากนี้แล้ว ความถี่ในการรายงานไม่มีสม่ำเสมอ และกรมประมงไม่มีการติดตามความก้าวหน้าในรายงานการติดตามเรืออย่างเพียงพอ (ข้อ 71)

    36.ในปี 2557 โครงการนำร่องการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) ครอบคลุมเรือ 110 ลำ เรือเหล่านี้ทำการประมงในรัฐชายฝั่งหรือในเขตทะเลหลวงที่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ ตามโครงการจะมีการขยายการติดตั้งระบบฯ ไปยังกองเรือพาณิชย์ทั้งหมด ในปี 2557-2558 อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2557 การติดตั้งระบบติดตามเรือครอบคลุมเรือประมงเพียง 50 ลำ และไม่มีกรอบทางกฎหมายที่บัญญัติให้กองเรือประมงไทยต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (ข้อ 72)

    37.การที่เรือส่วนใหญ่ไม่มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) แสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถในการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมการประมงในทะเล และทำลายความสามารถของกรมประมงในการบังคับใช้กฎระเบียบที่สามารถนำไปปรับใช้บังคับกับพื้นที่ทะเลอื่น (แหล่งประมง -ผู้แปล) ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อประกอบกับการขาดความร่วมมือกับประเทศที่สาม จึงส่งผลให้เรือประมงไทยที่ไม่มีระบบติดตามเรือเข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศปาปัวนิวกีนี (PNG) ที่เป็นซึ่งกฎหมายของปาปัวนิกินีกำหนดให้เรือของประเทศที่สามทุกลำที่เข้าทำการประมงต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ ประเทศไทยมีการจัดทำร่างแผนงานการติดตั้งดาวเทียมระบบติดตามเรือสำหรับกองเรือไทย (เรือทุกลำที่มีขนาด 30 ตันกรอส ขึ้นไป) ความล้มเหลวของประเทศไทยในการใช้ระบบติดตามเรือที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามมาตรา 94 UNCLOS และคำแนะนำในข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงเชื่อว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำให้แน่ใจได้ว่ามีการตรวจสอบ ควบคุมและเฝ้าระวังเรือประมงที่ติดธงไทยได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ (ข้อ 73)

    38.ความสัมพันธ์ของการตรวจพิสูจน์รายงานการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สามมายังประเทศไทยที่ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเจ้าหน้าที่เพียง 2-3 กรณี (ดังที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 64) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความร่วมมือในเชิงรุกกับประเทศที่สามเพื่อให้แน่ใจถึงความถูกต้องตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์ประมง ซึ่งทำให้ความโปร่งใสของห่วงโซ่การตรวจสอบย้อนกลับ และความสามารถของกรมประมงในการตรวจสอบการละเมิดและดำเนินการบังคับใช้ที่เหมาะสม อ่อนแอลง (ข้อ 74)

    39.ในมุมมองของสถานการณ์ที่อธิบายไว้ในมาตรานี้ และบนพื้นฐานของทุกองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่คณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รวบรวม ประกอบกับหลักฐานข้อชี้แจงทั้งหมดที่จัดทำขึ้นโดยราชอาณาจักรไทย อาจยอมรับตามข้อ 31 (3) และ (5) ของกฎระเบียบ IUU ได้ว่า การที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศได้นั้นเกี่ยวข้องกับความร่วมมือ และความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย (ข้อ 77)

    40.ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 31 (6) (b) (ของอนุสัญญา UNCLOS) คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) ประเด็นปัญหาหลัก คือการจับกุมเรือประมงที่ติดธงไทยที่เข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมอริเชียส (Mauritian EEZ) โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือมีอาชญาบัตร ในปี 2554 และเป็นไปได้ว่ามีการทำละเมิดในกรณีวางเบ็ดราวปลาทูน่า ในระหว่างการขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือในทะเล ในปี 2556 ประเทศไทยได้ทำการตรวจสอบ และดำเนินการชี้แจงแสดงหลักฐานเป็นที่น่าพอใจ] ในกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2556 แต่กรณีที่เกิดขึ้นในปี 2554 กลับไม่ได้รับการชี้แจง และไม่มีการรายงานเกี่ยวกับการสอบสวนของเรื่องดังกล่าว การดำเนินการดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา UNCLOS มาตรา 94 ที่รัฐเจ้าของธงจะต้องดำเนินการเพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดของเรือของตน และมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ (ชายฝั่ง) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ตามอนุสัญญา UNCLOS มาตรา 118 ส่วนประเด็นปัญหารองอื่น ๆ กรณีการส่งข้อสังเกต และข้อมูลการจับสัตว์น้ำที่รายงานล่าช้า แต่ข้อมูลทั้งหมดก็ส่งได้ภายเวลากำหนด (ข้อ 79)

    41.บทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อความซับซ้อนของการทำกิจกรรมประมงและการค้าผลิตภัณฑ์ประมงที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน

    • ประการแรก นิยามของคำจำกัดความที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังไม่เพียงพอเนื่องจากไม่มีการให้คำจำกัดความของกิจกรรมที่จัดเป็นการทำประมงแบบ IUU หรือการกระทำที่เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรง
    • ประการที่สอง กรอบของประมงกำหนดไว้แคบเกินไป โดยในพระราชบัญญัติฯ มีการครอบคลุมเพียงการจัดการกิจกรรมการทำประมงเฉพาะในน่านน้ำไทย และพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยเพียง 3 เขต ที่ในปัจจุบันไม่มีข้อตกลงหรือได้รับอนุญาตให้ประเทศไทยทำการประมง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพกรอบของกฎหมายประมงควรมีการปรับให้เหมาะสมกับการปฏิบัติการของเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำไทย
    • ประการที่สาม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จัดทำขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติ UNCLOS ในปี 2554 และเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่มีหลักการสำคัญของอนุรักษ์และการบริหารจัดการสากล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61-64 ของอนุสัญญาฯ UNCLOS

    นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถูกร่างขึ้นก่อนที่จะมีการพัฒนากฎหมายหรือข้อตกลงในการจัดการด้านการประมงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น แผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ในปี 2554 ดังนั้น พระราชบัญญัติฯ จึงไม่ได้รวมหลักการและนิยามที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางดังกล่าวนี้ไว้ ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นข้อความที่ผูกพันในลักษณะบังคับก็ตาม ประการสุดท้าย ไม่ปรากฏแผนการป้องปรามและการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายสากล ซึ่งเป็นการทำลายความสามารถของประเทศไทยในการดำเนินการตามมาตรา ๗๓ ของอนุสัญญา UNCLOS และแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ข้อ 21 ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ (ข้อ 80)

    42.มาตรา 62(1) ของอนุสัญญา UNCLOS บัญญัติให้รัฐชายฝั่งจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในภูมิภาคและในเขตทะเลหลวง เพื่อให้แน่ใจต่อความยั่งยืนในระยะยาวของจำนวนประชากรของการจัดการสัตว์น้ำชนิดสายพันธุ์ที่ย้ายถิ่นอยู่ระหว่างเขตทางทะเลและสัตว์น้ำชนิดสายพันธุ์ที่อพยพย้ายถิ่นไกลอยู่เสมอ และเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรประมงให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่กรอบกฎหมายของไทยกำหนดมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการ ไว้จำกัดแต่เพียงเฉพาะในน่านน้ำไทยเท่านั้น (ข้อ 81)

    43.เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับปลาทูน่า และปลาที่คล้ายกับสายพันธุ์ปลาทูน่าที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่น พบว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการบ่อนทำลายความพยายามในการปฏิบัติตามพันธกรณีในด้านความร่วมมือภายใต้อนุสัญญา UNCLOS (มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 116 มาตรา 117) (ข้อ 82)

    เรือประมง

    44.ข้อบกพร่องในส่วนของการดำเนินงานในด้านระบบติดตามเรือ (VMS) ยังไม่ได้รับการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของแผนปฏิบัติการสากล IPOA IUU ข้อ 24 (3) ที่กำหนดเงื่อนไขให้ รัฐควรมีการตรวจสอบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทำประมง ไปจนถึงจุดที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือ เชื่องโยงไปจนปลายทางสุดท้าย รวมทั้งการใช้ระบบติดตามเรือที่มีมาตรฐานสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือสากล การให้สัตยาบันและอนุวัติมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการให้เป็นไปตามตราสารระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น จะป้องกันกองเรือประมงไทยจากการถูกระบุว่า อาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ข้อ 83)

    45.การขาดการรับรู้ในหลักการสำคัญเหล่านี้ของกรมประมงในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ยืนยันข้อสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับความล้มเหลวของไทยให้แน่ใจว่า มีความชัดเจน (การขาด) กฎระเบียบที่ครอบคลุมและมีความโปร่งใส และวิธีการปฏิบัติ (ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 80)

    นอกจากนี้ ความล้มเหลวในการตรวจสอบย้อนกลับ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 3.1 ของคำวินิจฉัยนี้ สอดคล้องกับหลักการในข้อ 11 (1) (11) ของจรรยาบรรณของ FAO ซึ่งแนะนำให้รัฐดำเนินการให้เกิดความแน่ใจว่าสินค้าประมง และผลิตภัณฑ์ประมงที่มีการซื้อขายกัน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการ โดยผ่านการตรวจสอบใบรับรองแหล่งที่มาของสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมง เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแปรรูปสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุด การประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวจะดูเหมือนว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการสร้างความมั่นใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรที่อยู่อาศัยทั้งในชายฝั่งทะเล และในเขตทะเลหลวงอย่างยั่งยืน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61, 117 และ 119 ของอนุสัญญา UNCLOS (ข้อ 84)

    46.สมรรถนะของประเทศไทยในการดำเนินการตามตราสารระหว่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับคำแนะนำตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ซึ่งแนะนำรัฐในเรื่องลำดับความสำคัญ การให้สัตยาบัน การยอมรับหรือยอมที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยประชากรของสัตว์น้ำ (The United Nations Fish Stocks Agreement : UNFSA) (ข้อ 85)

    47.จากสถานการณ์ที่อธิบายไว้ในส่วนนี้ของคำวินิจฉัย และบนพื้นฐานของทุกองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการฯ ตลอดจนหลักฐานการชี้แจงที่ประเทศไทยจัดทำขึ้น ระบุได้ว่า ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎระเบียบ และมาตรการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 31 (3) และ (6) (ข้อ 86)

    48.ในมุมมองของสถานการณ์ที่อธิบายไว้ในส่วนนี้ และบนพื้นฐานของทุกองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการฯ เช่นเดียวกับหลักฐานข้อชี้แจงทั้งหมดที่จัดทำขึ้นโดยประเทศไทย จึงเห็นควรระบุตามข้อกำหนดของกฎระเบียบ IUU ข้อ 31 (7) ว่า ระดับการพัฒนาประเทศของไทย ไม่มีผลต่อสถานะการพัฒนาและประสิทธิภาพโดยรวมในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการประมงของไทย (ข้อ 91)

    49.ในมุมมองของข้อสรุปในเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลวของประเทศไทยในการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีของกฎหมายสากล ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า รัฐชายฝั่ง หรือรัฐเจ้าของตลาด และการดำเนินการเพื่อป้องกัน ยับยั้งและกำจัดการทำประมงแบบ IUU ประเทศไทยที่ควรจะได้รับการแจ้งให้ทราบ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 32 ของกฎระเบียบ IUU ว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุโดยคณะกรรมาธิการฯ ว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ข้อ 92)

    ทั้งหมดที่นำเสนอมาข้างต้น คงพอจะทำความกระจ่างให้กับสังคมได้ว่า เหตุใดเขาจึงให้ใบเหลืองประเทศไทย แล้วบรรดามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาบังคับใช้กับชาวประมง โดยบอกว่าเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ตรงจุดตรงประเด็นบ้างหรือไม่ อย่างไร

    จากข้อเท็จจริง และเหตุผล 94 ข้อที่สหภาพยุโรปชี้แจงให้รัฐบาลไทยทราบว่าทำไมเขาจึงให้ใบเหลืองเรา ผู้เขียนได้สรุปเฉพาะประเด็นหลัก ๆ มาได้ว่ามี 49 ข้อ ที่ชี้ประเด็นปัญหาของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ชี้พุ่งตรงไปที่ประสิทธิภาพ การทำงาน การดำเนินการต่าง ๆ ที่ล้มเหลวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องของไทยนับตั้งแต่ปี 2554 นั้น มีน้อยหรือไม่มีเลย

    การที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎระเบียบ และมาตรการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ตามกฎระเบียบ IUU และสมรรถนะของประเทศไทยในการดำเนินการตามตราสารระหว่างประเทศไม่สอดคล้องกับคำแนะนำตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ฯลฯ

    ซึ่งทุกประเด็นล้วนชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องในการดำเนินงานของรัฐเป็นหลัก ไม่ใช่ชาวประมง แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จึงมุ่งเน้นไปที่การทำประมง

    จริงอยู่ ที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวประมงนั้นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมการทำประมง ซึ่งก็เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ ที่ครูก็ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา ชาวนาก็ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว แต่เพราะความบกพร่องของรัฐที่ขาดองค์ความรู้ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการทำประมงทะเลอย่างรอบด้าน ทุกมิติ รวมทั้งการขาดองค์ความรู้ในเรื่องกฎหมายสากล และตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดมาตรการและกติกาต่างได้ หรือกำหนดแล้วไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ กำหนดแล้วมีช่องว่าง กำหนดแล้วปฏิบัติไม่ได้

    แทนที่หน่วยงานของรัฐซึ่งใช้เงินทุกบาทที่มาจากภาษีของประชาชนคนไทย จะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น แล้วแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองก่อน และดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาประโยชน์ของคนไทยด้วยกัน กลับไม่พูดถึงข้อบกพร่องของตนเองเลย

    แต่มากล่าวโทษและกำหนดมาตรการที่ทำร้ายอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทย เพื่อเอาใจสหภาพยุโรป หรือ EU จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่วอย่างที่เห็นกัน ไม่เคยมีมีใครเข้าไปจัดการกับกรมประมงที่เป็น “ตัวปัญหาหลัก” เลย ผู้เขียนไม่อยากเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากใครเลย

    เพราะรู้ ๆ กันอยู่ว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอธิบดีและรองอธิบดีกรมประมงสักคนที่รู้เรื่องการประมงทะเลที่แท้จริง เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วจึงไม่รู้จะทำอะไร นอกจากบริหารราชการไปวัน ๆ ตามแต่จะได้รับรายงาน และไล่จับชาวประมง จนกระทั่งเกษียณอายุราชการไป

    หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศว่า จะปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน ผู้เขียนก็อยากเห็นการปฏิรูปด้านการทำประมงของไทย โดยเริ่มที่การปฏิรูประบบราชการใหม่ด้วย อยากเห็น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการประมงทะเล มีฐานข้อมูลความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการตัดสินใจและการบริหารจัดการทรัพยากรการประมง

    และที่สำคัญมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ รวมทั้งมีการสร้างคนรุ่นใหม่ ๆ ที่รู้จักทะเล รักทะเล และแก้ปัญหาร่วมกับคนทะเลอย่างถูกทิศถูกทางเสียที

    อ่านตอตอนที่ 4 : ก่อนที่ EU จะให้ใบเหลืองกับประเทศไทย การประมงในประเทศไทยเป็นการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) จริงหรือ?