ThaiPublica > เกาะกระแส > คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (2) : เมื่อไทยถูกจับโกหก ทำรายงานเท็จ-หมกเม็ด

คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (2) : เมื่อไทยถูกจับโกหก ทำรายงานเท็จ-หมกเม็ด

15 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำวินิจฉัยการดำเนินการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) พร้อมทั้งแจกใบเหลืองให้ไทย ทางสหภาพยุโรปจึงมีหนังสือให้ไทยแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วด้วยการบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากยาแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงพื้นบ้าน แพปลา ตลาดปลา และภาครัฐเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานแก้ปัญหามีความหละหลวม

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 กรมประมงได้นำส่งรายงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะมาตรวจการบ้านว่าประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขตามที่ได้แจ้งมาหรือไม่ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีคำตอบว่าประเทศไทยสอบผ่านหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ปรากฏข้อมูลรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในรายละเอียดว่าประเทศไทยได้ทำและไม่ได้ทำอะไรบ้าง ต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไม่มีการควบคุม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขอนำเสนอรายละเอียดของหนังสือที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งต่อประเทศไทย โดยได้ลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดเป็นข้อๆตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันดังนี้

ในตอนที่ 1 ได้เกริ่นนำคำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (1): รายงานการตรวจเยี่ยมฉบับสมบูรณ์ปี 2557 ระบุการแก้ไขข้อบกพร่องปี 2554 “มีน้อยหรือไม่มีเลย” ในตอนที่ 2 ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือ

……

3. ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือ

(25) ตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 31 (3) คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของประเทศไทยในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า รัฐชายฝั่ง หรือรัฐเจ้าของตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการทบทวนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯ ในการนำรายชื่อ (ประเทศไทย) บรรจุไว้ในบัญชี (รายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงแบบ IUU) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31 (4) (7) ของกฎระเบียบ IUU

3.1. การทำผิดซ้ำของเรือที่ทำการประมงผิดกฎระเบียบ IUU และการค้าผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้จากการทำประมงแบบ IUU (ตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 31 (4))

(26) การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ตั้งอยู่บนข้อมูลพื้นฐานที่ได้รับทั้งจากการไปตรวจเยี่ยมในสถานที่จริงและข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า มีเรือประมงอย่างน้อย 11 ลำ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำประมงแบบ IUU ในช่วงปี 2553–2557

(27) บนพื้นฐานของหลักฐานที่ได้รับ มีรายงานว่า เรือที่ติดธงไทยมีความตั้งใจที่จะกระทำการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการในพื้นที่ทำการประมงที่เกี่ยวข้อง ด้วยทำการจับปลาโดยไม่มีอาชญาบัตรที่ถูกต้อง ใบอนุญาต หรือเอกสารการอนุญาตที่ออกโดยรัฐเจ้าของธง หรือรัฐชายฝั่งที่เกี่ยวข้อง ทำการประมงโดยไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบการติดตามเรือ (VMS) ไว้บนเรือในเขตทะเลหลวงและในรัฐชายฝั่ง ซึ่งเป็นเขตที่เรือประมงที่ติดธงประเทศอื่นๆ ทุกลำจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือ นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับพื้นที่ประมงที่ได้รับใบอนุญาตให้จับสัตว์น้ำจากทางการไทย และการนำผลิตภัณฑ์ประมงนั้นเข้ามายังสหภาพยุโรป มีการปลอมแปลงหรือปกปิดเครื่องหมาย สถานะ หรือการลงทะเบียน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐชายฝั่งในการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการ

นอกจากนี้ เรือประมงเหล่านี้บางลำยังไม่มีการบันทึกและรายงานการเข้า-ออก และให้ข้อมูลการจับสัตว์น้ำแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐชายฝั่งตามที่กำหนด กรมประมงของไทยมีการสอบสวนเพียงกรณีเดียว (จากกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด) ดังรายละเอียดที่ได้อธิบายไว้ในเอกสารการวินิจฉัยนี้ (ข้อ 79) แต่ไม่มีหลักฐานในกรณีอื่นๆ ชี้แจงมายังคณะกรรมาธิการฯ

เรือประมงไทย จ.สมุทรสาคร

(28) ในเดือนตุลาคมปี 2557 เรือประมงไทย 5 ลำ ถูกจับเนื่องจากทำการประมงผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะปาปัวนิวกินี การไม่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ (VMS) ไว้ในเรือประมง ทำให้เรือประมงส่วนมากของไทย (ตามที่ได้อธิบายไว้ในข้อ 37) มีจุดอ่อนในการเชื่อมโยงข้อมูลกับรัฐเพื่อนบ้าน (ส่วนที่ 3.2 ของเอกสารฉบับนี้) แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการทำการประมงแบบ IUU ที่จะเกิดขึ้นในกองเรือประมงไทยมีอยู่ในระดับสูง ดังจะเห็นได้จากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของกองเรือประมงไทยในกิจกรรมการทำประมงแบบ IUU ในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียตะวันตกในช่วงปี 2554–2557 (ตามที่ระบุไว้ในข้อ 26) พื้นที่และการแผ่ขยายของอุบัติการณ์การทำประมงแบบ IUU มีความสัมพันธ์กับการกระจายตัวของกองเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ก่อนปี 2555

(29) ในอดีต กองเรือประมงไทยจับสัตว์น้ำได้คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการประมงทะเลทั้งหมด ผลผลิตดังกล่าวได้ลดลงอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประมงที่เกินขนาด มีการจับสัตว์น้ำกันจนเกินกว่าปริมาณที่พึงจับได้ในน่านน้ำไทย ทั้งสัตว์น้ำหน้าดินและปลาผิวน้ำ ในปี 2550 มีรายงานว่า กองเรือประมงไทยซึ่งเป็นที่รับทราบกันว่ามากกว่า 460 ลำ เข้าทำการประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย บังกลาเทศ โซมาเลีย มาดากัสการ์ และเมียนมา วันนี้กองเรือประมงนอกน่านน้ำถูกจำกัดจำนวน มีเรือประมงเพียง 10 ลำ ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำประมงเบ็ดราวในเขตมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) และเรือประมงอวนลากเพียง 52 ลำ ที่ได้รับอาชญาบัตรสำหรับการจับปลาในปาปัวนิวกินี การลดปริมาณลงของมวลสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย ประกอบกับพื้นที่การทำประมงที่ลดลงอันเนื่องมาจากการสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงน่านน้ำประเทศที่สาม ทำให้เชื่อว่ามีเรือประมงจำนวนมากยังคงทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย โดยไม่มีการควบคุม หรือการรายงานผลจับสัตว์น้ำ ทั้งในเขตทะเลหลวง และในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งต่างๆ

(30) นับตั้งแต่ปี 2554 กองเรือประมงไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 ลำ ปัจจุบัน ประมาณการว่ามีเรือประมงอยู่จำนวน 40,000 ลำ โดย 7,000 ลำ เป็นเรือประมงพาณิชย์ (แต่ละลำมีน้ำหนักมวลรวมมากกว่า 20 ตันกรอส) จากจำนวนเรือทั้งหมด มีเรือน้อยกว่า 1 ใน 5 จากทั้งหมดที่ใช้สมุดปูมเรือ (logbooks) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำประมงส่วนใหญ่ขาดการรายงาน ซึ่งในกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนในฐานะรัฐชายฝั่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศตนตามปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 61 และ 62 ของอนุสัญญา UNCLOS

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิด ข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากลในการดำเนินการเพื่อป้องกันยับยั้งและกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU IPOA) ที่กำหนดให้เป็นภาระผูกพันที่จะต้องส่งสมุดปูมเรือที่มีการบันทึกการจับปลาอย่างสม่ำเสมอ

(31) จากข้อ 28-30 แสดงให้เห็นว่า การทำประมงและอุตสาหกรรมการประมงของไทย ตกอยู่ในสภาพของการลดลงของปริมาณมวลรวมของสัตว์ การลดลงของพื้นที่ทำประมง (การปิดพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) และการสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงน่านน้ำของรัฐชายฝั่งของประเทศที่สาม) และการเพิ่มขึ้นของการทำประมง (เรือประมงพาณิชย์ 4,000 ลำ ในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ลำ ในปี 2557) ข้อเท็จจริงที่อธิบายไว้ในข้อดังกล่าวข้างต้น สนับสนุนข้อสรุปเบื้องต้นว่า กองเรือประมงไทยมีการทำการประมงที่ผิดกฎหมายนอกน่านน้ำไทย โดยสัตว์น้ำที่จับได้ไม่มีการรายงาน หรือรายงานเท็จ

(32) จากข้อมูลที่ปรากฏในข้อ 26 27 28 และ 31 คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนในฐานะรัฐเจ้าของธง ในอันที่จะป้องกันกองเรือประมงของตนจากการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมแบบ IUU ซึ่งในกรณีนี้ มาตรา 94 (2) (b) ของอนุสัญญาฯ UNCLOS บัญญัติให้รัฐเจ้าของธงต้องถืออำนาจในการบังคับใช้กฎหมายแห่งรัฐตนเหนือเรือที่ติดธงของรัฐนั้นๆ รวมทั้งการดำเนินการใดๆ ของหัวหน้าผู้ควบคุมเรือ (ไต้ก๋ง-ผู้แปล) เจ้าหน้าที่ และลูกเรือที่อยู่ในเรือ บทบัญญัติยังกำหนดให้รัฐเจ้าของธงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการหรือให้ความร่วมมือกับรัฐอื่นในการดำเนินการ เช่น มาตรการของชาตินั้นๆ ที่อาจมีความจำเป็นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในเขตทะเลหลวงด้วย

(33) ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 31 (4) (b) คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการของประเทศไทยในกรณีการส่งผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้จากการทำการประมงแบบ IUU เข้าสู่ตลาดอีกด้วย

(34) คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์เอกสารและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและควบคุมการทำประมงทะเลของไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้า ผลจากการประเมิน คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้ามายังท่าเรือของไทย และโรงงานแปรรูป มิได้เกิดจากการประมงแบบ IUU ทางการไทยไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นว่า ตนมีข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อประกอบการรับรองความถูกต้องตามกฎหมายสำหรับสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปที่ส่งไปยังตลาดสหภาพยุโรป องค์ประกอบหลักที่เป็นพื้นฐานของการประเมินของคณะกรรมาธิการฯ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(35) การจดทะเบียนและการออกอาชญาบัตรให้กับเรือประมงไทย ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า และกรมประมง ตามลำดับ ซึ่งต่อมาต่างได้ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2553 จำนวนเรือที่จดทะเบียนมีเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองเท่าในปี 2554 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทางการส่งเสริมสนับสนุนให้เรือที่ไม่ได้จดทะเบียนและไม่มีอาชญาบัตรมาดำเนินการจดทะเบียน

(36) การเดินทางไปเยือนเมื่อปี 2555 พบว่าทั้งสองหน่วยงาน (กรมเจ้าท่าและกรมประมง) ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนไม่มีความร่วมมือกันในการดำเนินการจดทะเบียนเรือจริง ข้อมูลทะเบียนเรือของทั้งสองหน่วยงานมีความแตกต่างกันจำนวน 2-3 พันลำ การขาดความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่าและกรมประมงทำให้ความสามารถของประเทศไทยในการตรวจสอบขนาดและศักยภาพของกองเรือประมงอ่อนแอลง และช่วยให้ผู้ประกอบการประมงที่ทำผิดกฎหมายดำเนินการจากประเทศไทยได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เรือประมงไทยสามารถทำการประมงได้โดยไม่จดทะเบียน หรือไม่มีอาชญาบัตร และขนถ่ายสินค้าประมงที่ไม่มีการจดแจ้งข้อมูลขึ้นฝั่งเพื่อการแปรรูปจึงยังคงมีอยู่สูง

เรือประมง

(37) นอกจากนี้ การขาดการติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ (VMS) เพื่อใช้ในการตรวจสอบแหล่งประมง เป็นการทำลายกระบวนการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย ซึ่งทางการไทยไม่สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ความถูกต้องของแหล่งที่จับสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบและเป็นอิสระตามที่ผู้ประกอบการประมงแจ้งได้ ในกรณีนี้ ประเทศไทยจึงล้มเหลวในการปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ถึงความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ควบคุม และตรวจสอบการประกอบกิจการประมง ตามบทบัญญัติในมาตรา 94 ของอนุสัญญา UNCLOS และข้อ 24 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU

(38) เรือประมงของประเทศที่สามไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย ประเทศไทยมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากประเทศที่สามเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มาจากประเทศที่ได้รับการแจ้งเตือน และประเทศที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน (จากสหภาพยุโรป-ผู้แปล)

(39) ปลาที่มาจากประเทศที่สามบางส่วน มาจากเรือที่ติดธงของประเทศสามที่ได้รับการประกาศแจ้งเตือนจากคณะกรรมาธิการฯ ว่าอาจถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ตามข้อ 32 ของกฎระเบียบ (EC) No 1005/2008 ซึ่งรวมถึงประเทศเกาหลี ปาปัวนิวกินี และประเทศฟิลิปปินส์

(40) ประเทศไทยยังแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากประเทศที่สาม ที่ไม่ได้แจ้งกับคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 20 ของกฎระเบียบ IUU ซึ่งรวมถึง วานูอาตู สหพันธรัฐไมโครนีเซีย และหมู่เกาะมาร์แชลล์ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเสี่ยงว่าผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีที่มาจากการทำประมงแบบ IUU (ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 48-51)

(41) ทางการไทยได้พัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับขึ้นหลายรูปแบบ เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมผลิตภัณฑ์ประมงจากประเทศที่สามที่ส่งเข้ามายังท่าเทียบเรือในประเทศไทยเพื่อการแปรรูปและการส่งต่อออกไปยังต่างประเทศ

(42) จากข้อมูลที่ได้รับจากทางการไทย ร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้ามายังท่าเทียบเรือในประเทศไทยได้รับการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน (ผู้รับผิดชอบการเทียบท่า-ผู้แปล) ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ การอนุมัติ หรือปฏิเสธการเข้าเทียบท่าในประเทศไทย (เพื่อขนถ่ายสินค้าประมงขึ้นฝั่ง-ผู้แปล) ของเรือจากประเทศที่สาม การนำเข้าทั้งหมดได้รับการอนุญาตให้นำเข้าโดยการเสนอชุดของเอกสาร (เช่น ทะเบียนเรือ อาชญาบัตร ฯลฯ) และใบรับรองการจับสัตว์น้ำในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ประมงนั้นจะส่งไปยังตลาดสหภาพยุโรป

การตรวจเยี่ยม ในปี 2555 และ 2557 พบว่า ใบรับรองการจับสัตว์น้ำจะส่งมาถึงหลังจากสินค้าประมงถูกนำเข้ามายังประเทศไทยแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ความเชื่อมโยงกันของจำนวนในใบอนุญาตนำเข้ากับจำนวนในใบรับรองการจับสัตว์น้ำมีความยุ่งยากมากในการสืบค้น การสืบค้นเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับยิ่งทำได้ยากกว่า

(43) วรรคที่ 11 (2) และ 11 (3) ของจรรยาบรรณในเรื่องการทำประมงอย่างรับผิดชอบขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries) ระบุว่า การค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงระหว่างประเทศ ไม่ควรประนีประนอมในเรื่องการพัฒนาการทำประมงที่ยั่งยืน และควรดำเนินการบนพื้นฐานของมาตรการที่โปร่งใส รวมทั้งการมีกฎหมายที่เป็นกฎหมายพื้นฐานและกฎหมายที่ครอบคลุม (มิติต่างๆ-ผู้แปล) กฎระเบียบ และขั้นตอนการบริหารจัดการ แผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ให้คำแนะนำในเรื่องมาตรการการตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับข้องกับการตลาด (ข้อ 65-76) ซึ่งสนับสนุนการลดหรือกำจัดการค้าสินค้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้มาจากการทำประมงแบบ IUU จากการสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าระบบการตรวจสอบย้อนกลับ [ตามที่อธิบายไว้ในข้อ (44) ถึง (48)] พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยล้มเหลวในการใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงความโปร่งใสของตลาดของตน ที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ประมงแบบ IUU ที่มีการซื้อขายผ่านประเทศไทย

(44) ในปี 2555 คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินการของผู้ประกอบการ ตัวแทนการค้า และโรงงานแปรรูปปลาทูน่าหลายแห่ง เพื่อประเมินความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนกลับในตลาดผลิตภัณฑ์ประมงของไทย (คณะกรรมาธิการฯ ตรวจ-ผู้แปล) พบข้อบกพร่องจำนวนหนึ่ง [ตามที่อธิบายไว้ในข้อ (45) ถึง (47)]

(45) ทางการไทยได้ดำเนินการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทุกชนิดได้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ประเมินระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ทั้งจากการดำเนินการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และในกระบวนการผลิตของบริษัทผู้แปรรูป ระหว่างการตรวจเยี่ยมเมื่อเดือนตุลาคม 2555 คณะกรรมาธิการฯ พบว่า ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ทางการไทยพัฒนาขึ้น ไม่มีความเชื่อมโยงกับระบบการลงบัญชีของบริษัทเอกชน ดังนั้น จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าข้อมูลจะมีความครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นที่เชื่อถือได้ เนื่องจากไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่บันทึกโดยหน่วยงานของรัฐกับข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบบัญชีและการผลิตของบริษัท สถานการณ์เช่นนี้ทำลายความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่การตรวจสอบย้อนกลับในระดับบริษัท

ท่าเรือ สมุทรสาคร

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนระบบการตรวจสอบย้อนกลับของหน่วยงานของรัฐ ยังเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ และเอกสารสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน เช่น เอกสารการนำเข้า ไม่มีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญ เช่น ชื่อของเรือสนับสนุน (เรือแม่ หรือเรือขนส่ง-ผู้แปล) และปริมาณรวมสุทธิที่แท้จริงที่บริษัทแปรรูปรับซื้อมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เน้นให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการตรวจสอบย้อนกลับทั้งระบบ

(46) รูปแบบของเอกสารราชการที่หน่วยงานของรัฐพัฒนาขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบย้อนกลับ ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องโดยผู้ประกอบการที่ถูกตรวจพบว่ามีการบันทึกปริมาณปลานำเข้าไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวนี้หมายความว่าระบบสามารถถูกละเมิดได้โดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถสำแดงปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงตามใบรับรองการจับสัตว์น้ำได้มากกว่าความเป็นจริง และสามารถฟอกปลา (ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำประมงแบบ IUU เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง-ผู้แปล) โดยผ่านการประเมินจากการสำแดงข้อมูลที่มากกว่าความจริง

(47) บริษัท (แปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง-ผู้แปล) จัดทำบัญชีวัตถุดิบคงเหลือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ โดยการกรอกข้อมูลบัญชีด้วยปริมาณเต็มจำนวนตามที่ปรากฏในใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ซึ่งตรงข้ามกับปริมาณที่มีการซื้อ-ขายจริง บัญชีเหล่านี้ถูกบันทึกจากบริษัท โดยปราศจากการเชื่อมโยงกับระบบบัญชีภายใน (ของบริษัทเอง-ผู้แปล) และจัดทำขึ้นภายหลังจากกระบวนการแปรรูปเป็นเวลานาน ทั้งนี้ เพียงเพื่อให้ได้รับใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำจากทางราชการ การดำเนินการดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบการบันทึกข้อมูลที่ถูกตรวจสอบ พบว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจสอบถึงความแตกต่างของอัตราส่วนการแปรรูปกับผลผลิตที่ได้รับ

นอกจากนี้ การไม่สามารถเชื่อมโยงปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ กับผลผลิตที่แปรรูปได้โดยการใช้ระบบบัญชีภายใน (ของบริษัท-ผู้แปล) มาแสดง และการเปิดโอกาสให้ระบบสามารถสำแดงเท็จ (ปริมาณสัตว์น้ำ-ผู้แปล) และฟอกผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมงแบบ IUU ได้ ความสัมพันธ์ของการตรวจสอบ (การบันทึกข้อมูลในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ-ผู้แปล) ในจำนวนที่ต่ำของกรมประมง และการขาดการกระทำที่ชัดแจ้งต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ล้มเหลวเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจที่จะรับประกัน (ทำให้เกิดความแน่ใจ-ผู้แปล) ในความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน และความล้มเหลวในการนำมาตรการไปใช้กับผู้ประกอบการ ที่สัมพันธ์ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการทำกิจกรรมประมงแบบ IUU ตามที่ระบุไว้ในข้อ 72–74 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU

(48) การตรวจเยี่ยม ในปี 2555 ยังพบว่าปลาทูน่าที่ถูกนำเข้ามายังประเทศไทย จำนวน 40,000 ตัน ไม่ผ่านการควบคุมของเจ้าหน้าที่ศุลกากร แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในความร่วมมือระหว่างกรมประมงกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบความถูกต้องของการนำเข้าวัตถุดิบ

(49) ในการเตรียมการสำหรับการตรวจเยี่ยมในปี 2557 หน่วยงานควบคุมการประมงยุโรป (EFCA) ได้วิเคราะห์ใบรับรองการจับสัตว์น้ำซึ่งส่งมายังเขตพรมแดนของสหภาพยุโรปตามสัญญาจากประเทศไทย จำนวนสองถึงสามร้อยใบ พบว่าใบรับรองเหล่านี้ได้ผ่านการออกโดยกรมประมงบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการไทย (ในการส่งผลิตภัณฑ์ประมงเข้ามายังสหภาพยุโรป-ผู้แปล) ผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการบันทึกข้อมูลตามที่ระบุไว้ข้างต้น สามารถเห็นได้ในความผิดปกติดังที่แสดงไว้ในข้อต่อไป (ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 50 และ 51)

(50) การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้จากการจับจากน่านน้ำภายในของไทย แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันดังต่อไปนี้

– ปริมาณที่แตกต่างกันของวัตถุดิบชนิดเดียวกัน ถูกแสดงน้ำหนักที่เท่ากันกับผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นสุดท้าย
– ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 2 ใบ ออกให้กับการออกเรือเที่ยวเดียวกัน
– ผลิตภัณฑ์ประมงอบแห้งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการคาดการณ์ว่าภายหลังผ่านกระบวนการคายน้ำ (ทำให้แห้ง-ผู้แปล) น้ำหนักผลิตภัณฑ์ควรลดลง
– อัตราส่วนในการผลิต (ระหว่างวัตถุดิบกับผลผลิตขั้นสุดท้าย) ของผู้ส่งออกแต่ละรายไม่เท่ากัน
– ผลผลิตขั้นสุดท้ายพบว่ามีปริมาณมากกว่าวัตถุดิบถึง 2 เท่า
– วันที่ส่งออก เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่จับและผลิต 3-4 ปี
– ไม่มีการระบุแหล่งที่จับ
– ไม่มีการแสดงมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการ (ทรัพยากรสัตว์น้ำ-ผู้แปล) ทั้งในระดับสากล ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

เรือประมงไทย-1

(51)การวิเคราะห์ใบรับรองการจับสัตว์น้ำของประเทศที่สามที่นำมาแปรรูปในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติต่อไปนี้

– ใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นการทำประมงแบบ IUU
– ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกันของใบรับรองการจับสัตว์น้ำ เช่น หมายเลข IMO ไม่ถูกต้อง
– ความไม่สอดคล้องกันระหว่างน้ำหนักของสัตว์น้ำที่จับ น้ำหนักที่เทียบท่า และน้ำหนักที่ได้จากการแปรรูป
– เรือไม่ได้อยู่ในบัญชีเรือที่ได้ลงทะเบียนกับองค์การจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization- RFOM)
– เรือขนส่งไม่ได้อยู่ในบัญชีรายการเรือขนส่งของ RFMO
– วันที่เทียบท่าเกิดขึ้นก่อนวันที่ทำการขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือ
– มีการแก้ไขเพิ่มเติมปริมาณและวันที่ในใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงดังกล่าวนับตั้งแต่การจับสัตว์น้ำที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำประมงแบบ IUU ตลอดไปจนถึงปริมาณสัตว์น้ำที่แตกต่างไปจากใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่สามารถระบุความผิดพลาดได้อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถให้ความร่วมมือกับรัฐอื่นๆ และองค์กรจัดการประมงของในภูมิภาค ในการนำมาตรการการป้องกัน ยับยั้ง หรือขจัดการทำประมงแบบ IUU ไปใช้ในฐานะของรัฐเจ้าของตลาดได้อย่างเหมาะสม ตามที่ระบุไว้ในข้อ 68 และ 72 ของแผนปฏิบัติการสากล NPOA-IUU

(52) ข้อมูลที่ได้บรรยายไว้ในข้อ (50) และ (51) ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ (ประมง) ที่ผ่านกระบวนการ (ผลิต) จากประเทศไทย บ่อนทำลายกฎการดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืนตามที่ระบุไว้ในข้อ 11 ของจรรยาบรรณขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Code of Conduct) และยังเน้นย้ำให้เห็นถึงการที่ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดกฎระเบียบเพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ามีการร่วมมืออย่างเพียงพอกับประเทศที่สามที่ทำการประมง และมีการใช้มาตรการที่จะสร้างความมั่นใจในความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งเข้าสู่ตลาด ให้สอดคล้องกับข้อ 67-69 และ 71-72 ของแผนปฏิบัติการสากล NPOA-IUU เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงหรือผลิตภัณฑ์ประมงได้

(53) ในมุมมองของสถานการณ์ตามที่ได้กล่าวมาในคำวินิจฉัยนี้ และบนพื้นฐานขององค์ประกอบที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการฯ รวมทั้งหลักฐานการชี้แจงที่ประเทศไทยจัดทำขึ้น แสดงให้เห็นตามข้อ 31 (3) และ 31 (4) (b) ของกฎระเบียบ IUU ว่า ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสากลในฐานะรัฐชายฝั่งและรัฐเจ้าของตลาด ในการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมงแบบ IUU เข้าสู่ตลาดประเทศไทย

หมายเหตุ: แปลโดยนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และทีมงาน(อ่านฉบับแปลอังกฤษ-ไทย)

(อ่านต่อตอนที่ 3: คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (3): ความบกพร่องของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ-ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบ)