ThaiPublica > เกาะกระแส > EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 2)

EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 2)

12 ธันวาคม 2020


ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตวุฒิสภา และในฐานะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงมาตลอดชีวิต ได้ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Maritime Studies and Marine Innovation: Towards a Sustainable Ocean” จัดโดยวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (EU-IUU, pitfall for sustainable fisheries development: Thailand case)”ด้วยปาฐกถาพิเศษมีรายละเอียดที่น่าสนใจ “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอโดยแบ่งเป็น 4 ตอน

ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ต่อจากตอนที่ 1

ทั้งนี้ จากรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการยุโรป สรุปสาเหตุที่ทำให้ คณะกรรมาธิการยุโรปให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย ได้ดังนี้

จากการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของประเทศไทยบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับทั้งจากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมระหว่าง ค.ศ. 2011 – 2014 และข้อมูลจากเอกสารที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่าประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีของกฎหมายสากล ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง (flag state) รัฐเจ้าของท่า (port state) รัฐชายฝั่ง (coastal state) และรัฐเจ้าของตลาด (market state) รวมทั้งไม่มีการดำเนินการในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมที่เพียงพอ ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีของกฎหมายสากลได้นั้น เกี่ยวข้องกับการขาดการรับรู้ในหลักการสำคัญของกฎหมายสากลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขาดความร่วมมือกับรัฐเพื่อนบ้าน การขาดแคลนกฎหมายและเครื่องมือทางการบริหารที่จำเป็น และความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ

1)ในฐานะรัฐเจ้าของธง (flag state) ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการป้องกันกองเรือประมงของไทยจากการมีส่วนร่วมในทำกิจกรรมประมง IUU ตามบทบัญญัติของ UNCLOS 1982 เนื่องจาก

  • มีรายงานว่าเรือที่ติดธงไทยมีความตั้งใจที่จะกระทำการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อมาตรการอนุรักษ์และการจัดการในพื้นที่ทำการประมงที่เกี่ยวข้อง โดยทำการจับปลาโดยไม่มีอาชญาบัตรที่ถูกต้อง หรือมีใบอนุญาตหรือเอกสารการอนุญาตที่ออกโดยรัฐเจ้าของธง หรือรัฐชายฝั่งที่เกี่ยวข้อง
  • เรือประมงไทยทำการประมงโดยไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) ไว้บนเรือในเขตทะเลหลวง และในรัฐชายฝั่ง
  • กฎระเบียบการขึ้นทะเบียนเรือและการออกอาชญาบัตรของประเทศไทยไม่มีความชัดเจน รวมทั้งทางการไทยยังไม่มีวิธีการบังคับให้มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามภาระผูกพันในการขึ้นทะเบียนเรือตามกฎหมายไทยอย่างเพียงพอ
  • กรมเจ้าท่าและกรมประมง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนเรือไม่มีความร่วมมือกันในการดำเนินการจดทะเบียนเรือ
  • ประเทศไทยขาดความร่วมมือกับรัฐอื่น ๆ ในการอำนวยความสะดวกในการติดต่อ สื่อสาร โดยไม่มีการแสดงจุดติดต่ออย่างเป็นทางการเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐ และไม่มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงกับรัฐที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าประมงเพื่อการแปรรูป หรือขาดความร่วมมือกับรัฐเจ้าของธงที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบ

2)ในฐานะรัฐชายฝั่ง (coastal state) ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของประเทศไทยตามปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ กฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) และแผนปฏิบัติการสากลฯ (IPOA-IUU) เนื่องจาก

  • บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และไม่เพียงพอต่อความซับซ้อนของการทำกิจกรรมประมงและการค้าผลิตภัณฑ์ประมงที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ขอบเขตของกฎหมายครอบคลุมเพียงการจัดการกิจกรรมการทำประมงเฉพาะในน่านน้ำไทยและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รวมทั้งบทลงโทษที่กำหนดไว้ไม่ครอบคลุมและรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องปรามการทำประมง IUU
  • กองเรือประมงไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่มวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในน่านน้ำไทยมีปริมาณลดลงอันเนื่องมาจากมีการจับสัตว์น้ำกันจนเกินกว่าปริมาณที่พึงจับได้ (over fishing)
  • มีเรือประมงไทยน้อยกว่า 1 ใน 5 จากจำนวนเรือที่มีอยู่ทั้งหมด (ประมาณ 40,000 ลำ) ที่ใช้สมุดบันทึกการทำประมง หรือสมุดปูมเรือ (fishing logbook) แสดงให้เห็นว่าการทำประมงของไทยส่วนใหญ่ขาดการรายงาน
  • การไม่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) เพื่อใช้ในการตรวจสอบแหล่งประมง โดยเฉพาะเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ทำให้เรือประมงส่วนมากของไทยมีจุดอ่อนในการเชื่อมโยงข้อมูลกับรัฐเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลต่อความถูกต้องของกระบวนการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย
เรือประมง จ.สมุทรสาคร

3)ในฐานะรัฐเจ้าของท่า (Port state) ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนในฐานะรัฐเจ้าของท่าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า สัตว์น้ำที่นำเข้ามาสู่ท่าเรือของตนมิได้เป็นสัตว์น้ำที่จับได้จากเรือประมง IUU เนื่องจาก

  • มีสัตว์น้ำบางส่วนซึ่งนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปบางส่วนได้มาจากเรือที่ติดธงของประเทศที่สามที่ได้รับการประกาศแจ้งเตือนจากคณะกรรมาธิการยุโรปว่าเป็นประเทศที่มิได้ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงแบบ IUU และบางส่วนมีที่มาจากประเทศที่สามที่ไม่ได้แจ้งกับคณะกรรมาธิการฯ ตาม EU-IUU Regulation
  • กรมเจ้าท่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ อนุมัติ หรือปฏิเสธการเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าประมงจากเรือของประเทศที่สามขึ้นฝั่งในประเทศไทย

4)ในฐานะรัฐเจ้าของตลาด (market state) ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสากลในการป้องกันมิให้ผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมง IUU เข้าสู่ตลาด เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ประมงที่ส่งเข้ามายังท่าเรือไทย และโรงงานแปรรูป มิได้เกิดจากการทำประมง IUU กล่าวคือ

  • ประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการตามที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (CCRE) และแผนปฏิบัติการสากลฯ (IPOA-IUU) เพื่อปรับปรุงความโปร่งใสของตลาดที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ประมงแบบ IUU ผ่านประเทศไทยได้
  • ประเทศไทยไม่สามารถสร้างความมั่นใจในความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งเข้าสู่ตลาดที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการสากลฯ (IPOA-IUU)

อ่านต่อตอนที่ 3 เรื่องใดบ้างที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข