ThaiPublica > เกาะกระแส > 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน1) : ความภาคภูมิใจของรัฐบนความ “Ship-หาย”ของบ้านเมือง

6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน1) : ความภาคภูมิใจของรัฐบนความ “Ship-หาย”ของบ้านเมือง

8 มกราคม 2022


รายงาน “6 ปี ของการแก้ปัญหา IUU Fishing เมื่อนับหนึ่งผิด (กลัดกระดุมผิดเม็ด) “ความ Ship-หาย” ก็ไร้จุดจบ” ได้ประเมินผลการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทย ในรอบ 6 ปี ในประเด็นของที่มา การดำเนินการ ผลกระทบ ผลเสียหาย และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผน ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ในการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ถูกทาง และเกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เขียนโดย วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (2539-2541), อดีตนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย (2528-2532), อดีตสมาชิกวุฒิสภา และประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา (2551-2557) โดย “ไทยพับลิก้า” สรุปเสนอเป็นตอนๆ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) สหภาพยุโรป (Europe Union) ได้มีคำประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (ด้วยการให้ใบเหลือง) เพื่อให้รับทราบถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุว่าเป็น “ประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)” พร้อมทั้งแนะนำให้ประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการจัดการด้านการประมงของไทยให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ที่ (EC) No.1005/2008 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตลอดจนสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และจรรยาบรรณในการทำประมงอย่างรับผิดชอบ มาตรการอนุรักษ์และการจัดการด้านการประมงที่ประเทศไทยมีพันธกรณี โดยกำหนดเวลาให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการเสนอแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใน 6 เดือน (พฤษภาคม–ตุลาคม 2558) จากนั้นคณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรป จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะยกเลิกคำประกาศแจ้งเตือนดังกล่าว หรือจะระงับการนำสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ต่อไป

นับจากวันที่ 21 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2564 เป็นเวลา 6 ปีเต็มที่รัฐบาลไทยภายใต้รัฏฐาธิปัตย์ที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี และต่อด้วยรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง แต่ยังคงอยู่ภายใต้นายรัฐมนตรีคนเดิม ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งรีบโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในกิจการประมงทะเล และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหาดังกล่าวของรัฐ ทั้งยังเข้าใจว่า หากสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว (ภายในเวลา 6 เดือน) จะทำให้สหภาพยุโรปพึงพอใจ ซึ่งนอกจากจะปลด “ใบเหลือง” ให้แล้ว ยังจะทำให้สหภาพยุโรปยอมรับสถานะของรัฐบาลของตนที่มาจากการรัฐประหารอีกด้วย

ทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ไม่รอบคอบและปราศจากความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่นับสิบฉบับ (และกฎหมายรองอีกนับร้อยฉบับ) การตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ และการเร่งบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ให้โอกาสผู้ได้รับผลกระทบในการปรับตัว ฯลฯ ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศถึง 1,121,552.75 ล้านบาท ในเวลาเพียง 6 ปี

อีกทั้งยังกระทบต่อสภาพทรัพยากรของชาติ สังคม ชุมชน และวิถีชีวิตของชาวประมง จนสุดจะพรรณานับแต่วันแรกมาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญ การแก้ปัญหาด้วยมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าว หาได้ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากพันธนาการ “ใบเหลือง” ได้ตามที่คาดหวัง แม้ว่าจะมีการประเมินมาแล้วถึง 6 ครั้งในรอบเวลา 3 ปีแรกก็ตาม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 สหภาพยุโรปจึงได้ปลด “ใบเหลือง” ให้กับประเทศไทย รวมเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปถึง 4 ปีเศษ เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ “ทำตามความต้องการของสหภาพยุโรปทุกข้อโดยปราศจากการโต้แย้งและขัดขืน” แม้ว่าการดำเนินการต่างๆ ตามที่สหภาพยุโรปต้องการจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการประมงทะเลและผู้ประกอบการของไทยอย่างกว้างขวางในเกือบจะทุกมิติก็ตาม แต่มิใช่การแก้ไขปัญหา “การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)” ตามที่สังคมไทยและสหภาพยุโรปได้ยกมาเป็นข้ออ้างเลย ซึ่งจะเห็นได้จากการล่มสลายของอุตสาหกรรมประมงของประเทศที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทรัพยากรสัตว์น้ำที่คาดว่าจะได้รับการฟื้นฟู แต่กลับมิได้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างที่คาดหวัง

อย่างไรก็ตาม การที่สหภาพยุโรปปลด “ใบเหลือง” ให้กับประเทศไทยนั้น นับถึงวันนี้ (8 มกราคม 2565) เป็นเวลา 3 ปีพอดี หากพิจารณาในมุมมองด้านผลการดำเนินงานของรัฐบาลและภาพลักษณ์ของประเทศ ก็อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยบรรลุเป้าหมาย สามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกระงับการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของไทยว่าเป็นประเทศที่มีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ และจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้

แต่หากจะพิจารณาถึงผลกระทบและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อภาคการประมงของประเทศไทยในทุกมิติแล้ว ความสำเร็จดังกล่าวก็เป็นเพียง “หลุมพราง” หรือกับดักการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืนของไทย สิ่งที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเป็น “มาตรการที่ถูกต้อง” นั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับแสดงให้เห็นว่าเป็น “มาตรการที่สร้างความเสียหาย” ต่อภาคการประมงและ “ทำลาย” ผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงของไทยทุกระดับ

การกำหนดมาตรการต่างๆ ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรป และการเร่งรัดบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด โดยขาดองค์ความรู้ที่รอบคอบ รอบด้าน ไม่คำนึงถึงบริบทด้านการประมงของไทยที่ต่างจากสหภาพยุโรป และสภาพปัญหาประมงไทยที่สั่งสมมายาวนานกว่า 50 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเลยการมีส่วนร่วมและไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคการประมงของไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างมหาศาล

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย คำสั่ง และ ระเบียบต่างๆ ได้นำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมประมงและธุรกิจต่อเนื่องของประเทศอย่างใหญ่หลวงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในเวทีโลกตกมาอยู่อันดับ 14 และได้เปลี่ยนสถานะของประเทศไทยจาก “ผู้ส่งออกสินค้าประมงสุทธิ” ให้กลับกลายมาเป็นผู้นำเข้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคของประชาชนภายในประเทศในรอบระยะเวลากว่า 50 ปี

หากรัฐบาลไทยยังหลงติดอยู่ในหลุมพราง “ความสำเร็จในการปลดใบเหลือง” และยังคงดำเนินมาตรการที่รัฐเชื่อมั่นว่า “เป็นมาตรการที่ถูกต้อง” ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปต่อไป โดยไม่คำนึงถึงปากท้องความอยู่รอดของประชาชนในภาคการประมงซึ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจการค้าการส่งออกของไทยมาอย่างยาวนาน “ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อลูกหลานในอนาคต” อาจ “ตั้งอยู่บนความล่มสลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมการทำประมงของไทยในวันนี้”

เป้าหมายในการแก้ปัญหาประมงของไทยมิใช่เพียงแค่การ “ปลดใบเหลือง” จากคณะกรรมาธิการยุโรป แต่อยู่ที่ “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ในทุกมิติทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างหาก

ผลการประเมินฉบับนี้ เป็นการจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของการเฝ้าติดตามการดำเนินการต่างๆ ของรัฐอย่างใกล้ชิดในฐานะของผู้มีประสบการประมงทะเลมาตลอดชีวิต และได้พยายามให้ข้อคิด ข้อท้วงติง และข้อเสนอแนะต่อผู้มีอำนาจรัฐทั้งระดับนโยบาย ระดังบริหาร และระดับปฏิบัติการ โดยปราศจากอคติมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับความสนใจหรือรับฟังแต่ประการใดจากบุคคลดังกล่าว

ดังนั้น จึงจัดทำบันทึกฉบับนี้ไว้ โดยการรวบรวมบทความ/ข้อเขียนเกี่ยวกับการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการประมงทะเล ปัญหา อุปสรรค และทางออกสำหรับอนาคตของการประมงทะเลของไทยในอนาคต

ความคาดหวังของชาวประมงไทยต่อการแก้ไขปัญหา IUU Fishing

หากจะถามว่า ความคาดหวังในการแก้ปัญหา “การประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing)” ในครั้งนี้ คืออะไร คงต้องตั้งโจทย์เสียก่อนว่า “ใคร” คือผู้คาดหวังในการแก้ปัญหานี้ เพราะผู้เขียนเข้าใจว่า มีบุคคล (อย่างน้อย) 2 กลุ่ม ที่มีความคาดหวังที่ต่างกัน กล่าวคือ

กลุ่มแรก คือ รัฐบาลไทย ในฐานะของผู้บริหารประเทศทีมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการให้ปัญหานี้หมดสิ้นไป และอยากเห็นความสำเร็จ รวมทั้งการได้รับการยอมรับทั้งจากประชาชน ชาวประมง และสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป เพราะมีความรู้สึกว่า การได้รับ “ใบเหลือง” ในครั้งนี้นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก “สถานะของรัฐบาลไทย” ชุดนั้น มีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคมโลก

ดังนั้น หากจะกล่าวโดยรวม ความคาดหวังของรัฐบาลไทย คือ การได้รับการยอมรับของสหภาพยุโรป ด้วยการได้รับการปลดใบเหลืองโดยเร็ว และรักษาตลาดส่งออกสัตว์น้ำของประเทศ (ที่คิดว่ามีมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นถึงปีละ 200,000 ล้านบาท) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหภาพยุโรปไว้ได้

ส่วนกลุ่มที่สอง ที่น่าจะมีความคาดหวังจากการแก้ไข ปัญหา “การประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing)” ในครั้งนี้ ด้วย ก็คือ “ชาวประมง” เนื่องจากเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” โดยตรง ที่เป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบในเวลาเดียวกัน และในมุมมองของคนกลุ่มนี้ ย่อมมีความคาดหวังที่สดใส เพราะเห็นเป็นโอกาสดีที่จะแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานและยากในการแก้ไข จะสามารถดำเนินการได้ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

ความคาดหวังของ “ชาวประมง” โดยรวม น่าจะเป็นดังนี้

    1. อยากเห็นทรัพยากรสัตว์น้ำได้รับการฟื้นฟูให้เกิดความสมบูรณ์ มีสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เอื้อต่อการเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำ
    2. อยากให้มีการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยที่ยั่งยืน ด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและสมดุลกับการผลิตทดแทนของสัตว์น้ำ
    3. อยากเห็นชาวประมงได้รับการส่งเสริมจากรัฐในการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียม มีอาชีพที่มั่นคง มีความมั่งคั่ง และยั่งยืน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (ทั้งกลุ่มที่มีเครื่องมือต่างชนิดหรือต่างขนาด)
    4. อยากเห็นการมีกฎหมายที่ดี เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย มีบทลงโทษที่เหมาะสมกับสัดส่วนของความผิด และได้รับการบังคับใช้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
    5. อยากเห็นชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ได้รับการดูแล แก้ไข และเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
    6. อยากให้มีการจัดสรรและจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวประมงในกรณีจำเป็น

เมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังในการแก้ปัญหา “การประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing)” ในครั้งนี้ ของคนทั้งสองกลุ่ม จะพบว่า แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้สอดรับกับความต้องการทั้งหมดได้ หากผู้แก้มีข้อมูล องค์ความรู้ ความเข้าใจ ความตั้งใจ และการระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและเอกชนในการ “ร่วมกัน” แก้ไขปัญหาเพื่อไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จได้โดยไม่ยาก

อ่านต่อตอนที่ 2: ปลดใบเหลืองแล้วไง… ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่