ThaiPublica > Sustainability > Contributor > การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืน

การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืน

22 เมษายน 2023


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ รายงาน

เมื่อไม่นานมานี้ มี NGOs กลุ่มหนึ่งอ้างตัวในนาม “ชาวประมงพื้นบ้าน” ออกมาวิพากย์วิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่กำลังหาเสียงกันอย่างเข้มข้น เพื่อขอรับการสนับสนุนคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึงเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมง โดยกล่าวหาว่า “พรรคการเมือง” ทั้งหมด กำลังเอาใจ “นายทุน” หรือจะพูดตรง ๆ ก็คือ “ชาวประมงพาณิชย์” โดยไม่สนใจที่จะดูแลและจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน และพุ่งเป้าไปที่ “การไม่นำพาต่อการเร่งบังคับใช้มาตรา 57 แห่งพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558” ที่ว่าด้วยการ “กำหนดขนาดของสัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง” รวมทั้งการพยายามเอาใจ “ชาวประมงพาณิชย์” โดยการแก้ไข “พระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ NGOs กลุ่มนี้เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ดีอยู่แล้วให้สำเร็จโดยเร็วด้วย

อันที่จริง ก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะต้องชี้แจง เพราะผมไม่ได้เป็นสมาชิกหรือผู้บริหารพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะของชาวประมง และมั่นใจว่าตนเองมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ติดตาม ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและเสนอแนะพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่สนใจปัญหาของชาวประมงทุกกลุ่ม มิใช่แค่ “ชาวประมงพาณิชย์” หรือ “ชาวประมงพื้นบ้าน” แต่มองปัญหาประมงทั้งระบบ ตั้งแต่ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ การค้า การบริโภค ผู้ประกอบการ และวิถีชีวิตของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศ และกติกาสากล

“ผมจึงคิดว่าสาธารณชนควรได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและครบถ้วน แทนการรับฟังข้อมูลด้านเดียวจาก NGOs ที่อ้างตัวว่าเป็น “ชาวประมงพื้นบ้าน” ที่ “มืดบอด” ทั้ง “ปัญญา” ที่ขาด “องค์ความรู้” ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประมงทะเล และ “จิตใจ” ที่ตั้งอยู่บนความ “อคติ” ต่อ “ชาวประมงพาณิชย์” และ “พรรคการเมืองต่าง ๆ” ก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรเชื่อและสนับสนุนใคร ระหว่าง NGOs ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงกลุ่มนั้น หรือ พรรคการเมืองที่ให้ความสนใจในการดูแลและจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน”

ประเด็นแรก

ผมอยากจะบอกว่า ภายใต้กฎหมายประมง (พระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน นั้น บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน “ไม่ได้มีแต่เฉพาะมาตรา 57” เพียงมาตราเดียว แต่มีอยู่ถึง 18 มาตรา (มาตรา 55 ถึงมาตรา 72) บัญญัติอยู่ในหมวด 5 ที่ว่าด้วย “มาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ” ครับ ซึ่ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….” สภาผู้แทนราษฎร มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียง 5 มาตรา เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของชาวประมงทุกกลุ่ม ดังนี้ คือ

1) มีการปรับแก้มาตรา 57 จากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดว่า “มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” เป็น

“มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ ที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” เหตุผลในการปรับแก้ เนื่องจากเห็นว่าตามบทบัญญัติของมาตร 57 ตามกฎหมายเดิมนั้น “เพียงการนำสัตว์น้ำนั้น ขึ้นเรือประมงมา “คัดแยกขนาด” เพื่อปล่อยสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด “กลับคืนสู่ทะเล” ก็เป็นความผิดแล้ว” จึงตัดความที่หมายถึงการ “ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” ออก

2)มีการเพิ่มความชัดเจนประกอบการดำเนินการตามมาตรา 57 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้เป็นมาตรา 57/1 ดังนี้

“มาตรา 57/1 ก่อนการออกประกาศตามมาตรา 56 และมาตรา 57 ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดหรือรัฐมนตรีดำเนินการ ดังนี้

    (1) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอและเป็นที่ยอมรับของชาวประมงทุกฝ่าย
    (2) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางเป็นการล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 180 วัน
    (3) เมื่อจัดทำร่างประกาศแล้ว ให้ปิดประกาศแจ้งให้สาธารณชนได้รับทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน
    (4) ในกรณีที่มีผู้คัดค้าน ให้มีการพิจารณาคำคัดค้านนั้นโดยเร็ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านสามารถเข้าร่วมประชุมและชี้แจง จนกว่าจะได้ข้อยุติ
    (5) หลังจากมีข้อยุติแล้ว ให้นำประกาศนั้นเสนอรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อบังคับใช้ต่อไป”

เหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดให้มีการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน

3)มีการปรับแก้มาตรา 66 จากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดว่า “มาตรา 66 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น” เป็น

“มาตรา 66 ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือล่าสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิด และเพิ่มความในวรรคสองขึ้นใหม่เป็น “ในกรณีที่มีการติดอวนเครื่องมือประมงขึ้นมาโดยไม่เจตนา ให้รีบปล่อยสัตว์น้ำนั้น คืนสู่ท้องทะเลโดยเร็ว”

เหตุผลในการปรับแก้ก็เพื่อให้บทบัญญัติเกิดความชัดเจน ให้ชาวประมงสามารถปฏิบัติได้ในกรณีที่มีการติดอวน/เครื่องมือขึ้นมาโดยไม่เจตนา

4)มีการปรับแก้มาตรา 67 จากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดว่า

“มาตรา 67 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการ ประมงดังต่อไปนี้

(1)เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มี ลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน
(2)เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ
(3)เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด
(4)เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย

ความในวรรคหนึ่ง (1) และ (3) มิให้ใช้บังคับแก่การศึกษาวิจัยซึ่งกระทำโดย ทางราชการ เพื่อประโยชน์ในการหาขนาดช่องตาอวนที่เหมาะสมที่ประชาชนพึงใช้ได้และได้รับ อนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืดที่ได้รับ อนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

การขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาต ระยะเวลาการผ่อนผันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็น
“มาตรา 67 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง ดังต่อไปนี้

(1)เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน
(2)เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้าง ใช้สำหรับดักสัตว์น้ำที่มีคุณลักษณะและขนาดเกินกว่าที่อธิบดีประกาศกำหนด
(3)เครื่องมือที่มีช่องตาอวนหรือตาอวนเล็กกว่าขนาดที่อธิบดีประกาศกำหนด
การกำหนดขนาดตาอวนนั้นจะต้องได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบ
(4) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ติดกับเรือยนต์ เว้นแต่เป็นอวนรุนเคย

ความในวรรคหนึ่ง (1) และ (3) มิให้ใช้บังคับแก่การศึกษาวิจัยซึ่งกระทำโดยทางราชการเพื่อประโยชน์ในการหาขนาดช่องตาอวนที่เหมาะสมที่ประชาชนพึงใช้ได้และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายแล้ว

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการประมงพื้นบ้านหรือประมง น้ำจืดที่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

การขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาตระยะเวลาการผ่อนผันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
การอนุญาตผ่อนผันตามวรรคสี่ ให้ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีโดยให้นำความเห็นชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมาประกอบการพิจารณาด้วย”

เหตุผลในการปรับแก้ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรม และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนการออกประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดย (1) อนุญาตให้ใช้ “เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่” ได้ แต่ต้องมีคุณลักษณะและขนาดไม่เกินกว่าที่อธิบดีประกาศกำหนด (2) ตัดคำว่า “อวนลาก” ออก เพื่อให้สามารถกำหนดขนาดตาอวนขนาดเล็กในทุกเครื่องมือ แทนการกำหนดเพียงเครื่องมือ “อวนลาก” เพียงเครื่องมือเดียว นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มข้อความใหม่ต่อท้ายอนุมาตราใน (3) ว่า “การกำหนดขนาดตาอวนนั้นจะต้องได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบ” และ (3) มีการเพิ่มข้อความขึ้นใหม่ในวรรคท้าย เพื่อให้อธิบดีต้องรับฟังความเห็นของ “คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด” ก่อนการการอนุญาตผ่อนผันด้วย

5)มีการปรับแก้มาตรา 69 จากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดว่า “มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน” เป็น

“มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน เว้นแต่ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

เหตุผลในการปรับแก้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการประมงที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ “จับปลากะตัก” ในเวลากลางคืนได้ โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) ต้องอยู่นอกเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่ง และ (2) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ดังนั้น จึงขอถามดัง ๆ ไปยัง NGOs ที่อ้างตัวเป็น “ชาวประมงพื้นบ้าน” กลุ่มดังกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ 2558 ดังกล่าวข้างต้น (1) ไม่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรจริงหรือ (2) ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรเพิ่มขึ้นจริงหรือ (3) เป็นการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือแต่เฉพาะ “ชาวประมงพาณิชย์” จริงหรือ และ (4) “ชาวประมงพื้นบ้าน” ไม่ได้ประโยชน์จากการแก้บทบัญญัติดังกล่าวจริงหรือ ครับ

ประเด็นที่สอง

ในส่วนของมาตรา 57 แห่งพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน นั้น ถ้าสาธารณชนยังจำกันได้ เมื่อกลางปีที่แล้ว NGOs ในคราบ “ชาวประมงพื้นบ้าน” กลุ่มนี้ เคยออกมาจัดกิจกรรมการ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” เพื่อผลักดันให้ “กรมประมง” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมาย เร่งออกประกาศมาตรการ “ควบคุมการซื้อ ขาย และจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” โดยอ้างว่า “เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรวัยอ่อน” ซึ่งหากพิจารณาแต่เพียงเป้าหมายในการจัดกิจกรรมแล้วก็ดูจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น

แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปถึงรายละเอียดของข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ NGOs กลุ่มดังกล่าวนำมาใช้กล่าวอ้าง ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า มีเป้าประสงค์แอบแฝงที่ต้องการกีดกัน หรือทำลายล้างเพื่อนร่วมอาชีพ ทั้งกลุ่มที่ทำการประมงพาณิชย์ และการประมงพื้นบ้านที่ไม่เข้าร่วมเป็นภาคี หรือไม่ เพราะ “ชุดข้อมูลที่กิจกรรมดังกล่าวนำมาเสนอต่อสังคมนั้น ไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน รวมทั้งบางส่วนยังเป็นข้อมูลที่ถูกนำมาตัดต่อ บิดเบือน และเป็นเท็จ โดยไม่สนใจว่าจะสร้างเข้าใจที่ผิด ๆ ต่อสังคม จนนำมาซึ่งความแตกแยก ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายต่อเพื่อนร่วมอาชีพ ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมหาศาล”

ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า NGOs กลุ่มดังกล่าว มีความเข้าใจในเรื่องทรัพยากร และการจัดการทรัพยากรที่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองการอนุรักษ์ในมุมแคบ ๆ ตามความเห็นของตัวเอง และคิดว่า “มาตรา 57” จะตอบโจทย์การอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อน โดยไม่มีความรู้ และไม่เข้าใจว่า “สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก” นั้น มิได้มีเพียง “สัตว์น้ำวัยอ่อน (Juvenile fishes)” เท่านั้น แต่ยังมี “สัตว์น้ำขนาดเล็กที่โตเต็มวัยแล้ว (Adult tiny species)” ปะปนอยู่ในแหล่งประมงเดียวกันด้วย ซึ่งหากกำหนดเพียง “ขนาด” ของสัตว์น้ำ ที่ห้ามทำการประมง ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

ผมอยากให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน (Tropical Zone) ซึ่งในภูมิภาคนี้ สัตว์น้ำจะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (highly biodiversity) ทั้งในด้านชนิด (Multi Species) ขนาด (Multi size) และการอยู่ร่วมกัน (Mixed Composition)

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอกสารของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในน่านน้ำไทยมีสัตว์น้ำที่หลากหลายกว่า 2,000 ชนิด ซึ่งมีทั้งปลาที่มีกระดูกแข็ง (Bony-fish) กว่า 1,600 ชนิด กุ้งชนิดต่าง ๆ กว่า 180 ชนิด หอยกว่า 1,500 ชนิด และหมึกกว่า 20 ชนิด ฯลฯ โดยในจำนวนนี้ มีสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Marketable Species) หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “มีการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” เพียงไม่เกิน 100 ชนิด ในจำนวนสัตว์น้ำดังกล่าวนี้มีทั้งสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็กอาศัยอยู่ปะปนกันไปในน่านน้ำไทย สัตว์น้ำบางสายพันธุ์ย่อยบางชนิดที่แม้ว่าจะโตเต็มวัยแล้ว แต่ก็มีขนาดเล็ก (Adult tiny species) และก็อาศัยอยู่ปะปนกับลูกสัตว์น้ำ หรือสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย (Juvenile fishes) ที่มีขนาดเล็กเหมือนกัน

ดังนั้น การจะบังคับใช้ “มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558” นี้ได้นั้น ต้องทำการบ้านกันอีกมากครับ

ผมจะเขียนไว้ในตอนท้ายว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง (ผมเคยเขียนบทความไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ “มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 : หลักการดีที่ปฏิบัติไม่ได้ การกำหนด “ขนาด” ไม่อาจจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน” ถ้าท่านใดสนใจ ลองไปหาอ่านกันดูครับ)

ประเด็นที่สาม การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืน นั้น ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ครับว่า ไม่ใช่เพียงแค่การกำหนดนโยบาย การเขียนกฎหมาย หรือการจัดทำแผน ที่สวยหรู หรือการทำเพื่อตอบโจทย์ EU-IUU อย่างที่รัฐบาลไทยทำในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้อุตสาหกรรมประมงของประเทศ “Ship-หาย” ไปเกือบ 2 ล้านล้านบาทแล้ว ถ้าการดำเนินการนั้นดีจริงอย่างที่รัฐบาลยกมาอ้างเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ผมอยากถามครับว่า ที่ผ่านมา เราลดจำนวนเรือประมงพาณิชย์ไปเกือบ 10,000 ลำ แล้วทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำของเราเพิ่มขึ้นไหมครับ คำตอบคือ “ไม่เพิ่ม ซ้ำร้ายยังลดลง” อีกต่างหาก

ทำไมหรือครับ ก็เพราะเราจัดการทรัพยากรผิดพลาด ขาดองค์ความรู้ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแต่เฉพาะกับ “ชาวประมงพาณิชย์” ด้วยความอคติไงล่ะครับ

  • 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน1) : ความภาคภูมิใจของรัฐบนความ “Ship-หาย”ของบ้านเมือง
  • 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน 2) : ปลดใบเหลืองแล้วไง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่!!
  • 6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 3) : คำวินิจฉัยใบเหลืองที่รัฐบาลไทยไม่บอกความจริงกับสังคม
  • 6 ปีกับการแก้ IUU Fishing จน “Ship-หาย” (ตอน 4): ก่อน EU จะให้ใบเหลือง ประมงไทยไม่ชอบด้วยกม.จริงหรือ
  • การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืน

    วันนี้ จึงอยากนำข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและแนวคิดเรื่อง “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืน” มาฝากครับ เผื่อว่าพรรคการเมืองใดจะสนใจ นำไปต่อยอดกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงกับประชาชน หรือ NGOs ในคราบ “ชาวประมงพื้นบ้าน” จะนำไปใช้ตรวจสอบว่ามีพรรคการเมืองใดสนใจนำไปกำหนดนโยบายหาเสียง หรือปฏิบัติหรือไม่ ผมก็ยินดี ครับ

    1.ประเทศไทยมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการ “ทรัพยากรสัตว์น้ำ (Marine Resources)” ใน “น่านน้ำไทย (Thai waters)” ให้เกิด “ความยั่งยืน (Sustainable)” ในฐานะ “รัฐชายฝั่ง (Coastal State)” ภายใต้ “อำนาจและสิทธิอธิปไตย (Sovereignty and Sovereign Rights)” ของตน ตาม “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law Of the Sea 1982: UNCLOS 1982)” ที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน และ “พันธกรณีระหว่างประเทศ (International Obligations)” ในฐานะสมาชิก FAO

    2.ในการจัดการ “ทรัพยากรสัตว์น้ำ” นั้น รัฐไทยมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่อยู่ในเขตรับผิดชอบให้เกิด “ความยั่งยืน” ด้วย “การอนุรักษ์ (Conservation)” และ “ใช้ประโยชน์สูงสุด (Optimum Utilization)” ภายใต้ “บริบทของท้องถิ่น (Local Context)” และ “กติกาสากล (International Regulations)”

    3.ในการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของรัฐไทย ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ (ที่เป็นวิทยาศาสตร์) และหลักวิชาการ ที่ได้มาจากการสำรวจและวิจัย เพื่อกำหนดปริมาณที่พึงอนุญาตให้ใช้ประโยชน์สูงสุด และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำนั้น (MSY/Maximum Sustainable Yield) ให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้อย่างยั่งยืน โดยรัฐไทยจะต้องออกข้อบังคับ/กฎหมาย และจัดทำแผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย (ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

    4.การอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืนภายใต้บทบัญญัติของพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง การกำหนดนโยบาย การกำกับการบริหารจัดการการประมง (ตามมาตรา 19 และ 21) และการจัดการ (ตามมาตรา 22 และ 23) ของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ การจัดทำแผน (ตามมาตรา 24) การส่งเสริม (ตามมาตรา 25) และการอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ (ตามมาตรา 32 และ 36) ของกรมประมง การใช้อำนาจของคณะกรรมการประมงท้องถิ่น (ตามมาตรา 28) และการอนุรักษ์ (ตามมาตรา 56, 57, 70 และ 71) นั้น มาตรา 12 บัญญัติให้รัฐไทยต้องมีข้อมูลทางวิชาการ “โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด” (ตามมาตรา 12) ซึ่งจะได้มาจากการสำรวจ/วิจัยทางทะเล แต่ข้อมูลทางวิชาการที่หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการประมงทะเลของไทยมีอยู่เป็นข้อมูลเก่า ล้าสมัย และมีจำนวนน้อยมาก ไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจ/วิจัยทางทะเล ที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน และเพียงพอ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็น เพื่อใช้ในการจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

    5.ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ต้องมีการกำหนดชนิดพันธุ์ ขนาด แหล่ง ฤดูกาล ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสัตว์น้ำแต่ละชนิดพันธุ์ที่ต้องการอนุรักษ์นั้นเป็นการเฉพาะเพื่อให้ทำการสำรวจ/วิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำชนิดนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์น้ำที่มีปริมาณมากและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งอนุรักษ์ แต่เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จึงทำให้มีสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การกำหนดชนิดพันธุ์อาจดำเนินการโดยกำหนดชนิดพันธุ์ส่วนหนึ่งก่อน และกำหนดเพิ่มเติมในภายหลังได้ เมื่อมีความพร้อมที่จะดำเนินการสำรวจ/วิจัยต่อไปในอนาคต

    6.ในการใช้ประโยชน์ ต้องกำหนดขนาดเรือ ขนาดเครื่องยนต์ จำนวนลูกเรือ ชนิดเครื่องมือ ขนาดเครื่องมือ/ตาอวน จำนวนเครื่องมือ พื้นที่ และฤดูกาลทำประมง ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เหมาะสม ฯลฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยถึงศักยภาพของเรือ เครื่องยนต์ เครื่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งขนาด/จำนวนเรือ ขนาดเครื่องยนต์ จำนวนลูกเรือ ชนิดเครื่องมือ ขนาดเครื่องมือ/ตาอวน จำนวนเครื่องมือ ฯลฯ ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการจับสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการใช้จับสัตว์น้ำที่ต้องการอนุรักษ์เป็นการเฉพาะ

    7.ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาทู และปลากะตัก โดยมีการกำหนดเขตอนุรักษ์/เขตให้ทำการประมง ฤดูกาล และช่วงเวลาในการทำการประมง ในส่วนของมาตรการที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย (1) การกำหนดปริมาณที่พึงอนุญาตให้ใช้ประโยชน์สูงสุดและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ (MSY) การจำกัดจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่อนุญาต (2) การกำหนดขนาดตาอวนขนาดเล็ก (3) การจำกัดจำนวนวันทำประมง ฯลฯ แต่มาตรการดังกล่าวข้างต้น มิได้กำหนดขึ้นบนพื้นฐานของการ “ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด” (ตามมาตรา 12) เนื่องมาจากประเทศไทยขาดการศึกษาวิจัย และการสำรวจจัดเก็บข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน ข้อมูลที่นำมาใช้ในการตัดสินใจกำหนดนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ จึงล้าสมัย ไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้ง ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประมงทะเล มาตรการการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จึงไม่สามารถทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ในทางตรงข้ามกลับทำให้มีจำนวนลดลง

    8.ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการสำรวจ/ศึกษา/วิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและจำเป็นทั้งหมด (ตามข้อ 6 และ 7 ข้างต้น) โดยเร็ว เพื่อนำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรทั้งเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (รวมทั้งตอบโจทย์ของมาตรา 57 พระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ NGOs เรียกร้องด้วย) ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล นั้น รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ

    (1)จัดตั้งกรมประมงทะเล ขึ้นเป็นหน่วยงานเฉพาะในการกำกับดูแลงานด้านการประมงทะเล ที่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เฉพาะด้าน รวมทั้งเพื่อสร้าง/ผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องการประมงทะเล เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้เกิดความยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
    (2)กำหนดชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำที่ต้องการอนุรักษ์โดยเร่งด่วน
    (3)กำหนดให้มีการจัดทำโครงการ/แผนงานการสำรวจ รวบรวมข้อมูล และศึกษาวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในน่านน้ำไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งสายพันธุ์ ชนิด จำนวน แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ฤดูกาลในการขยายพันธุ์ และช่วงชีวิต ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
    (4)ขยายศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการศึกษาและวิจัยถึงศักยภาพของเรือ เครื่องยนต์ ตลอดจนเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการจับสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการใช้จับสัตว์น้ำที่ต้องการอนุรักษ์เป็นการเฉพาะด้วย
    (5)จัดหาเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณ ที่จำเป็นและเพียงพอ เพื่อสนับสนุนภารกิจที่กำหนดข้างต้นให้สามารถดำเนินการให้บรรลุผลโดยเร็ว
    (6)กำหนดนโยบาย เป้าหมาย แผนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ให้สอดรับกับผลการศึกษา/สำรวจ/วิจัยที่ได้มาข้างต้น
    (7)กำหนดมาตรการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย แผนงาน และกฎหมายที่กำหนดขึ้นใหม่ให้ได้รับความเป็นธรรม
    (8)จัดตั้งกองทุนพัฒนาประมง เพื่อใช้ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการประมงทุกแขนงตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเพื่อการชดเชย/เยียวยาผู้ประกอบการประมงทุกกลุ่มด้วย

    หากทำได้ดังที่กล่าวมา ผมเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี ประเทศไทยจะมีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีการอนุรักษ์และบริหารจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามที่ทุกภาคส่วนมุ่งหวัง โดยเฉพาะกลุ่ม NGOs ในคราบ “ชาวประมงพื้นบ้าน” ที่ออกมาตั้งคำถามข้างต้น ได้อย่างแน่น