ThaiPublica > เกาะกระแส > 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน 2) : ปลดใบเหลืองแล้วไง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่!!

6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน 2) : ปลดใบเหลืองแล้วไง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่!!

9 มกราคม 2022


รายงาน “6 ปี ของการแก้ปัญหา IUU Fishing เมื่อนับหนึ่งผิด (กลัดกระดุมผิดเม็ด) “ความ Ship-หาย” ก็ไร้จุดจบ” ได้ประเมินผล การแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทยในรอบ 6 ปี ในประเด็นของที่มา การดำเนินการ ผลกระทบ ผลเสียหาย และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผน ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ในการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ถูกทางและเกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เขียนโดย วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (2539-2541), อดีตนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย (2528-2532), อดีตสมาชิกวุฒิสภา และประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา (2551-2557)โดย “ไทยพับลิก้า” สรุปเสนอเป็นตอนๆ

ต่อจากตอนที่ 1 : 6 ปีกับการแก้ปัญหา IUU Fishing (ตอน1) : ความภาคภูมิใจของรัฐบนความ “Ship-หาย”ของบ้านเมือง

ภายหลังการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทย ด้วยการใช้เวลาไป 44 เดือนเศษ (3 ปี 8 เดือน 9 วัน หรือ 1,359 วัน) สหภาพยุโรปก็ได้พิจารณาปลด “ใบเหลือง” ให้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 ทำให้หลายคนถามว่า เมื่อสหภาพยุโรปปลด “ใบเหลือง” ให้กับประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยได้อะไร ชาวประมงดีใจไหม ทรัพยากรสัตว์น้ำเราจะยั่งยืนหรือยัง ประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่

ในฐานะที่ติดตามและศึกษาการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศไทย มาโดยตลอด ขอเรียนว่า คนที่ดีใจจากการยกเลิก “ใบเหลือง” ของสหภาพยุโรปในครั้งนี้ ก็คือ “รัฐบาล” มิใช่ “ชาวประมง” เนื่องจาก

1. ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เหตุที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทยก็เพราะเห็นว่า หน่วยราชการประมงของไทย “ไม่มีศักยภาพ” ในการจัดการประมงของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ตามหลักการของอนุสัญญากฎหมายทะเลฯ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ตอบสนองต่อการจัดการการประมงแบบ IUU ไม่มีแผนการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการประมง ไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบและควบคุมเรือ ไม่มีระบบการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ ฯลฯ เป็นเหตุให้ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่มีความยั่งยืน และไม่สอดคล้องกับการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงให้ “ใบเหลือง” กับประเทศไทย และต้องการเพียงให้จัดทำ “แผนในการแก้ไขปัญหา” ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ไม่ใช่ต้องการให้ไทย “แก้ไขปัญหาทั้งหมดให้เบ็ดเสร็จ” ภายใน 6 เดือน”

เพราะสหภาพยุโรปรู้ว่า การแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ต้องใช้เวลา ผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ และงบประมาณ ซึ่งสหภาพยุโรปเองได้ใช้เวลาถึงเกือบ 20 ปี หมดงบประมาณไปกว่า 700,000 ล้านบาทในการแก้ปัญหาของตน

2. การดำเนินการที่ผ่านมา รัฐบาลไทยตีโจทย์ผิดมาแต่ต้น โดย “การประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing)” เป็นกฎเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดขึ้น เราจึงเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการทำตามสหภาพยุโรปต้องการทั้งหมด ไม่ว่าสหภาพยุโรปต้องการเราทำอะไร เราก็ดำเนินการตามโดยไม่มีการทักท้วง ต่อรอง หรืองดเว้นการดำเนินการใดๆ เปรียบเสมือนว่า “ให้เราเลี้ยวซ้าย” เราก็เลี้ยวซ้าย “ให้เราเลี้ยวขวา” เราก็เลี้ยวขวา “ให้เราตีลังกา” เราก็ตีลังกา โดยไม่ลังเล

เพราะรัฐบาลไทยหวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สหภาพยุโรปพึงพอใจ โดยไม่มีใครโต้แย้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือที่มาของการ “ยกเลิกใบเหลือง” ให้กับประเทศไทย และรัฐบาลไทยมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในผลงานของตน

3. เหตุที่ “ชาวประมง” ไม่ดีใจก็เพราะในช่วงเวลา 44 เดือนเศษดังกล่าว ชาวประมงต้องทนทุกข์กับสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ ทั้งการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ขัดกับอนุสัญญากฎหมายทะเล ด้วยความอคติ ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ มีการกำหนดโทษที่รุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย มีการออกกฎหมายในระดับรองถึงกว่า 200 ฉบับ ที่ไม่เคยมีอาชีพใดในโลกต้องปฏิบัติตาม มีการบังคับใช้ที่จ้องจับผิดด้วยความอคติ ไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่ยอมรับเหตุผล ไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์ในการดำเนินการ

จนพี่น้องชาวประมงต้องถูกจับดำเนินคดีนับ 10,000 ราย เสียค่าปรับนับพันล้านบาท หลายร้อยรายต้องติดคุกแทนค่าปรับ หลายคนต้องเจ็บป่วยเสียชีวิต หลายคนต้องทำอัตวินิบาตกรรม ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว เรือที่เป็นทรัพย์สินกลายเป็นเศษไม้เศษเหล็ก จอดจมกันหลายร้อยลำและกลายเป็นสิ่งไร้ค่า

ทุกข์เหล่านี้ไม่มีชาวประมงประเทศไหนในโลกเผชิญชะตากรรมเช่นนี้อย่างชาวประมงไทย ชะตากรรมที่เกิดบนความไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่รับฟังข้อโต้แย้งของรัฐบาล แล้วอย่างนี้ “เราจะดีใจได้อย่างไร”

ปัญหาเหล่านี้ เมื่อสหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้ประเทศไทยแล้ว อนาคตของชาวประมงที่สูญเสียจะกลับมาอย่างไร และคนที่ยังอยู่จะมีอนาคตอย่างไร จะต้องทนทุกข์กับสิ่งที่มีอยู่นี้ต่อไปอย่างไร

4. ในส่วนของการส่งออกที่ประเทศไทยเกรงว่าจะกระทบ ทำให้ไทยไม่สามารถส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ประเด็นนี้ เมื่อกลับไปดูข้อมูลจะพบว่า สัตว์น้ำที่ชาวประมงไทยจับได้และเคยส่งออกไปขายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงปีละกว่า 50,000 ล้านบาท วันนี้เหลือมูลค่าเพียงไม่ถึง 20,000 ล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เกิดปัญหาจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในข่ายที่ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) แล้วผู้ซื้อไม่ซื้อสินค้าประมงของเราอย่างที่รัฐบาลกลัว

แต่เป็นเพราะ “ไทยไม่มีสัตว์น้ำจะขายให้กับผู้ซื้อ” เนื่องจากชาวประมงถูกบังคับให้ต้องจอดเรือไม่สามารถออกไปทำการประมงได้นั่นเอง

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับประมงทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำที่ตั้งอยู่เรียงรายในจังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด ที่ต้อง “เลิกกิจการ” และได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทยที่เดินมาผิดทางด้วย

5. ในส่วนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลสั่งให้จอดเรือและเลิกทำการประมงไปกว่า 3,000 ลำแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยกลับฟื้นคืนมาอุดมสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงจากสถิติที่เก็บมาได้นั้น “ไม่ได้บ่งบอกว่าเมื่อรัฐได้ดำเนินการทุกอย่างข้างต้นแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ถูกฟื้นฟูและกลับมามีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลานตามที่มุ่งหวังเลย”

นอกจากนี้ การที่สหภาพยุโรปบังคับให้ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 (ILO C188) ได้ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานของเรือ การจ้างงาน และการจัดหาแรงงานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ประเทศในเครือสมาชิกของสหภาพยุโรปเองยังไม่ยอมให้สัตยาบันก็ตาม

ดังนั้น เมื่อสิ่งต่างๆ ที่เราคาดหวังมิได้เป็นอย่างที่หวัง ชีวิตและอนาคตที่สูญเสียไปไม่สามารถกลับฟื้นคืน หรือได้รับการดูแลแก้ไขให้ถูกทางแล้ว เราจะดีใจไปได้อย่างไรกัน

ปลดใบเหลืองแล้ว ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่

ในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing นั้น ชาวประมงต่างคาดหวังว่า ภายหลังจากการดำเนินการของรัฐไทยแล้ว ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเลจะได้รับการฟื้นฟู ซึ่งจะส่งผลสะท้อนที่ทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น และชาวประมงจะสามารถทำการประมงได้เพิ่มขึ้น มีรายได้ที่สูงขึ้น และในท้ายที่สุดก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยการลดจำนวนเรือประมง และการลงแรงประมงลง ตามนโยบายที่รัฐกำหนด และตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในช่วงเวลา 6 ปีเศษ ที่รัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ได้มีการลดจำนวนเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทยไปกว่า 5,000 ลำ โดยอ้างว่าเป็นเรือประมงที่ผิดกฎหมาย จึงห้ามออกทำการประมงโดยเด็ดขาด จนเป็นเหตุให้มีเรือประมงจำนวนมากถูกจอดทิ้งไว้ตามริมคลอง ริมแม่น้ำ และตามชายฝั่งมากมาย

ในความเห็นของผู้เขียน หากมีการตั้งสมมติฐานด้วยบัญญัติไตรยางศ์แบบง่ายๆว่า เรือประมงพาณิชย์จำนวน 1 ลำ สามารถจับสัตว์น้ำได้เฉลี่ยวันละ 0.5 ตัน หรือ 500 กิโลกรัม (ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากในเชิงพาณิชย์) หากนำมาคูณด้วยเรือจำนวน 5,000 ลำ (ที่ถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ) ที่สามารถทำการประมงได้ปีละ 300 วัน นั่นย่อมหมายถึง “ประเทศไทยได้ลดการใช้ทรัพยากรประมงไปถึงปีละ 0.75 ล้านตัน หรือ 750,000 ตัน เลยทีเดียว ซึ่งน่าจะสะท้อนได้ในรูปของผลการจับสัตว์น้ำที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรือประมงแต่ละลำที่ได้รับใบอนุญาตและยังทำการประมงอยู่นั้น มีศักยภาพที่จะเพิ่มผลการจับได้โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนเรือ

แต่โดยข้อเท็จจริง เมื่อพิจารณาถึงสถิติการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ประเทศไทยจะได้รับใบแจ้งเตือน “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรป จะพบว่า ในปีดังกล่าว ประเทศไทยเคยจับสัตว์น้ำได้ถึง 1,572,561 ตัน และลดลงเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มา และเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่เราได้รับการปลด “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรป (ซึ่งอาจหมายความได้ว่า สหภาพยุโรป เห็นว่าประเทศไทยได้จัดการทรัพยากรประมงดีจนเป็นที่ยอมรับ) แล้ว พบว่าผลการจับสัตว์น้ำของประเทศไทยก็ยังมีปริมาณน้อยกว่าผลการจับในปี พ.ศ. 2557 ถึง 100,461 ตัน หรือลดลงร้อยละ 6.38 (ดูตาราง) ดังนั้น การที่รัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ด้วยวิธีการที่ผ่านมา จึงมิได้ตอบโจทย์ต่อความคาดหวังของชาวประมงและสังคมได้ว่า เมื่อแก้ไขปัญหาและมีการจัดการทรัพยากรตามที่กำหนดไว้แล้ว เราจะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น และในทางกลับกัน ทำให้ผลการจับสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องตามสถิติที่ปรากฏ

ปลดใบเหลืองแล้ว การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่

นอกจากความคาดหวังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของรัฐ ในประเด็นของการเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำที่ไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว ยังมีความคาดหวังที่รัฐได้เฝ้าบอกประชาชนว่า “การแก้ไขปัญหา IUU Fishing” จะทำให้เราสามารถรักษาตลาดส่งออกของสัตว์น้ำไว้ได้ และจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ที่มา: สังเคราะห์จากข้อมูลของกลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ กองประมงต่างประเทศ กรมประมง ที่ประมวลผลข้อมูลจากกรมศุลกากร

แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงจากสถิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ดูตารางด้านบน) จะพบว่าข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงทุกชนิดของประเทศไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ได้ลงลงจากปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ประเทศไทยจะได้รับใบแจ้งเตือน “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรป อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่เราได้รับการปลด “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรปแล้ว พบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าประมงทุกชนิดไปต่างประเทศ ได้ลดลงถึง 146,692.54 ตัน (ลดลงร้อยละ 8.18) โดยในส่วนของมูลค่าการส่งออกได้ลงลงถึง 31,074.88 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 11.18) ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้คาดหวังไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการส่งออกไปยังตลาดร่วมสหภาพยุโรป (ที่เป็นผู้ให้ “ใบเหลือง” กับประเทศไทย) ผลการส่งออกเมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนการให้ “ใบเหลือง” และหลังการปลด “ใบเหลือง” แล้ว (ดูตารางด้านล่าง) พบว่าทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทุกชนิดของประเทศไทยไปยังตลาดร่วมสหภาพยุโรปได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการระงับการนำเข้าจากปลายทาง กรณีได้รับ “ใบแดง” จากสหภาพยุโรป) โดยในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าประมงทุกชนิดไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 167,978.45 ตัน มูลค่า 27,685.97 ล้านบาท ในขณะที่ ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่เราได้รับการปลด “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรปแล้ว จะพบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าประมงทุกชนิดไปยังตลาดร่วมสหภาพยุโรปมีเพียง 91,729.83 ตัน (ลดลงร้อยละ 45.39) มีมูลค่าเพียง 13,245.63 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 52.15) เท่านั้น

ในส่วนของสินค้าประมงในกลุ่มที่ส่วนใหญ่จับได้โดยเรือประมงไทย (ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของรัฐไทย จากการให้ “ใบเหลือง” ของสหภาพยุโรป) ซึ่งได้แก่ ปลา หมึก และสัตว์น้ำอื่น จะพบว่า ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงในกลุ่มนี้ไปยังตลาดร่วมสหภาพยุโรปได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าประมงในกลุ่มนี้ จำนวน 57,009.40 ตัน มูลค่า 7,771.95 ล้านบาท ในขณะที่ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่เราได้รับการปลด “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรปแล้ว จะพบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าประมงในกลุ่มนี้ไปยังตลาดร่วมสหภาพยุโรปมีเพียง 30,002.21 ตัน (ลดลงร้อยละ 47.37) มีมูลค่าเพียง 4,024.47 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ48.21) เท่านั้น (ดูตารางด้านล่าง)

ความภูมิใจของรัฐบาล ต่อการปลดใบเหลือง IUU Fishing ด้วยการนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้แถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีการกล่าวถึงผลงานการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ไว้ ดังนี้

“การปลดใบเหลือง IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย (วันที่ 8 มกราคม 2562) โดยการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมากขึ้น อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ต้องแก้กันไป เราต้องเอาหลักฐาน เราต้องเอาหลักการ เหตุผล กฎหมาย มาดูว่าจะมีผลกระทบกับใครอย่างไร และเราก็แก้ปัญหาไป ถ้าเราไม่มีมาตรฐานกลางออกมา ก็ทำงานกันไม่ได้ ก็ตีกันไปหมดเหมือนเดิม แก้ไขไม่ได้สักอย่างหนึ่ง

เท่าที่ได้รับรายงานมาวันนี้คือ ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอุดมสมบูรณ์ขึ้น โดยปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในปี 2561 มากกว่าปี 2560 ถึง 200,000 ตัน ตลาดส่งออกต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะนี้การส่งออกสินค้าประมงไปกลุ่ม EU ก็สูงขึ้นกว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวประมงไทย วันนี้เราไปปรับระบบของชาวประมงไทย ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงในน่านน้ำต่างๆ ให้ดีขึ้น ดูแลแก้ปัญหาให้เขา แต่ถ้าจะบอกว่าให้แก้กลับไปที่เดิม แก้ไม่ได้หรอกครับ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายในภาพรวม” (ที่มา:https://www.thaigov.go.th)

หากนำถ้อยแถลงที่ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอุดมสมบูรณ์ขึ้น โดยปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในปี 2561 มากกว่าปี 2560 ถึง 200,000 ตัน” ดังกล่าวข้างต้น ไปตรวจสอบกับข้อเท็จจริงในรายงานสถิติของกรมประมง ที่ปรากฏในตารางข้างต้น พบว่า ข้อเท็จจริง คือ ในปี 2560 ประเทศไทยมีผลการจับสัตว์น้ำอยู่ที่ 1,300,421 ตัน ในขณะที่ผลการจับสัตว์น้ำของปี 2561 อยู่ที่ 1,392,930 ตัน โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียง 92,509 ตัน ไม่ใช่ 200,000 ตัน ตามที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวอ้างไว้

ในส่วนของการส่งออกที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวว่า “ตลาดส่งออกต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะนี้การส่งออกสินค้าประมงไปกลุ่ม EU ก็สูงขึ้นกว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา” นั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลมาอย่างไร เพราะจากตารางที่นำเสนอ พบว่าข้อมูลการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำในทุกตลาดล้วนแล้วแต่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหภาพยุโรป ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างข้างต้น ผู้เขียนได้ไปค้นสถิติการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังสหภาพยุโรป (ตารางด้านล่าง) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงปี พ.ศ. 2561 (ที่อ้างถึง 8 ปีก่อน) พบว่า ในปี พ.ศ.2554 มีการส่งออกจากปริมาณ 239,440.81 ตัน มูลค่า 37,586.87 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ. 2561 มีปริมาณการส่งออกเหลือเพียง 106,668.67 ตัน มูลค่า 16,702.88 ล้านบาท หรือลงลดในปริมาณ 132,772.14 ตัน (ลดลงร้อยละ 55.45) มูลค่า 20,883.99 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 55.56)

อ่านต่อตอนที่ 3 :ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัย (ใบเหลือง) ที่รัฐบาลไทยไม่บอกความจริงกับสังคม