ThaiPublica > เกาะกระแส > EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 1)

EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 1)

12 ธันวาคม 2020


ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตวุฒิสภา และในฐานะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงมาตลอดชีวิต ได้ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Maritime Studies and Marine Innovation: Towards a Sustainable Ocean” จัดโดยวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (EU-IUU, pitfall for sustainable fisheries development: Thailand case)”ด้วยปาฐกถาพิเศษมีรายละเอียดที่น่าสนใจ “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอโดยแบ่งเป็น 4 ตอน

ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

1.บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับ “ใบเหลือง” (Yellow Card) หรือการประกาศแจ้งเตือนจากคณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ว่า “มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing)” พร้อมทั้งแนะนำให้ประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการจัดการด้านการประมงของไทยให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ตลอดจนสอดคล้องกับกฎหมาย อนุบัญญัติ ตราสารและข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ที่ประเทศไทยมีพันธกรณี เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) จรรยาบรรณการทำการประมงด้วยความรับผิดชอบ (FAOs CCRF) และแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (FAOs IPAO-IUU) ฯลฯ

หากไม่ดำเนินการแก้ไขอาจส่งผลให้ประเทศไทยถูกระงับการส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าไปจำหน่ายในตลาดประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป โดยในครั้งแรกคณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดเวลาให้ประเทศไทยเสนอแผนการดำเนินการแก้ไขภายใน 6 เดือน ต่อมาผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ กับประเทศไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามคำแนะนำ จึงขยายเวลาในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศไทยอีกหลายครั้ง

หลังจากได้รับทราบคำประกาศแจ้งเตือน (ใบเหลือง) รัฐบาลไทย (คสช.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งโดยการใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการประมงเป็นจำนวนมาก การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และคณะกรรมการ อนุกรรมการ ฯลฯ อีกหลายคณะ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดโดยคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหา “ใบเหลือง” และทำให้สหภาพยุโรปพอใจได้โดยเร็ว จนในที่สุด คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ “ปลดใบเหลือง” หรือนำประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกแจ้งเตือน เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.2019 เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหา ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปได้จนเป็นที่ “พึงพอใจ” รวมเวลาที่รัฐบาลไทยใช้ในการแก้ไขปัญหา 3 ปี 8 เดือนเศษ

อย่างไรก็ตาม การที่สหภาพยุโรปปลด “ใบเหลือง” ให้กับประเทศไทยนั้น หากพิจารณาในมุมมองด้านผลการดำเนินงานของรัฐบาลและภาพลักษณ์ของประเทศ ก็อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยบรรลุเป้าหมาย สามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกระงับการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของไทยว่าเป็นประเทศที่มีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ และจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้

แต่หากจะพิจารณาถึงผลกระทบและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อภาคการประมงของประเทศไทยในทุกมิติแล้ว ความสำเร็จดังกล่าวก็เป็นเพียง “หลุมพราง” หรือกับดักการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืนของไทย สิ่งที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเป็น “มาตรการที่ถูกต้อง” นั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับแสดงให้เห็นว่าเป็น “มาตรการที่สร้างความเสียหาย” ต่อภาคการประมงและ “ทำลาย” ผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงของไทยทุกระดับ

การกำหนดมาตรการต่าง ๆ ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรป และการเร่งรัดบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด โดยขาดองค์ความรู้ที่รอบคอบ รอบด้าน ไม่คำนึงถึงบริบทด้านการประมงของไทยที่ต่างจากสหภาพยุโรป และสภาพปัญหาประมงไทยที่สั่งสมมายาวนานกว่า 50 ปี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเลยการมีส่วนร่วมและไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคการประมงของไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างมหาศาล

หากรัฐบาลไทยยังหลงติดอยู่ในหลุมพราง “ความสำเร็จในการปลดใบเหลือง” และยังคงดำเนินมาตรการที่รัฐเชื่อมั่นว่า “เป็นมาตรการที่ถูกต้อง” ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปต่อไป โดยไม่คำนึงถึงปากท้องความอยู่รอดของประชาชนในภาคการประมงซึ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจการค้าการส่งออกของไทยมาอย่างยาวนาน “ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อลูกหลานในอนาคต” อาจ “ตั้งอยู่บนความล่มสลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมการทำประมงของไทยในวันนี้”

เป้าหมายในการแก้ปัญหาประมงของไทยมิใช่เพียงแค่การ “ปลดใบเหลือง”จากคณะกรรมาธิการยุโรป แต่อยู่ที่ “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ในทุกมิติทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

2.เหตุใดการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) จึงเป็นภัยคุกคามต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ

ภายหลังจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) ได้ร่วมกันยกร่างและลงนามรับรองใน “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982: UNCLOS 1982)” ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนหนึ่งว่าด้วยทรัพยากรที่มีชีวิตในทะเล ประกอบด้วย การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมีชีวิตทั้งที่อยู่ในเขตอธิปไตยของรัฐชายฝั่งหรือในเขตทะเลหลวง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization-FAO) ได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารและโปรตีนที่สำคัญของประชากรโลก ว่าหากยังมีการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยการทำประมงมากจนเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน (over fishing) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ห่วงโซ่อาหาร ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร

และที่สำคัญคือ ความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต FAO จึงได้จัดการประชุมขึ้นหลายครั้ง จนพัฒนาไปสู่แนวคิดในการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการระหว่างประเทศ “จรรยาบรรณว่าด้วยการทำการประมงด้วยความรับผิดชอบ (Code of Conduct foe Responsible Fisheries: FAOs CCRF)” ในปี ค.ศ. 1995 เพื่อใช้เป็นกลไกในการกำกับ ดูแล และการจัดการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่มีชีวิตเพื่อความยั่งยืน

ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญในด้านความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยให้ประเทศสมาชิก FAO นำจรรยาบรรณฯ ดังกล่าว ไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านการประมงของตนตามความสมัครใจ

นอกจากนี้ FAO ยังชี้ให้เห็นว่า “การทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “illegal, unreported, and unregulated (IUU) fishing)” ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการจับ การใช้ประโยชน์ และการตลาดของสัตว์น้ำ ทั้งในเขตทะเลหลวงและในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐชายฝั่ง เป็นภัยคุกคามที่สำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเล และส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำหลายชนิดทั่วโลก รวมทั้งสร้างความไม่เป็นธรรมและเป็นการคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการประมงที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่ “ชาวประมงพื้นบ้าน” จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ทำให้เกิดความยากจนรุนแรงขึ้น และบั่นทอนมั่นคงด้านอาหาร โดยมีการคาดการณ์ในภาพรวมว่า ปัจจุบันปริมาณกิจกรรมการประมงแบบ IUU ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 7,042 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี) จึงต้องมีการเร่งให้นานาชาติได้ตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกัน

ในปี ค.ศ. 2001 FAO จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (FAOs International Plan of Action on Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IPOA-IUU) ขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นกรอบในการพัฒนา “แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action: NPOA -IUU)” ของตนที่เหมาะกับบริบทของการทำประมง ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

โดย FAOs IPOA -IUU จะกำหนดมาตรการให้รัฐต่าง ๆ นำไปเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัด IUU fishing ทั้งในฐานะของ “รัฐเจ้าของธง (Flag State)” ที่ต้องมีการจดทะเบียนเรือประมง และควบคุมดูแลเรือที่จดทะเบียนในประเทศของตน ฯลฯ ในฐานะ “รัฐชายฝั่ง (Coastal State)” ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ต้องดำเนินการกำหนดการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ออกใบอนุญาตทำการประมง ฯลฯ ในฐานะ “รัฐเจ้าของท่า (Port State)” ที่ควรมีระบบการตรวจสอบ และเก็บข้อมูลการเข้าเทียบท่าของเรือประมง รวมทั้งการไม่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนเรือประมงที่จัดอยู่ในประเภท “IUU Fishing boat” ในการเทียบท่า และสุดท้ายในฐานะของ “รัฐเจ้าของตลาด (Market State)” ต้องกำหนดมาตรการทางการค้าในการป้องกันไม่ให้มีการค้า “สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing products)

3.เหตุใดสหภาพยุโรปจึงสามารถบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) กับประเทศที่อยู่นอกประชาคมยุโรปได้

หลังจากประเทศสมาชิกในประชาคมยุโรป (EU) ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS ค.ศ.1982) แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำหลักเกณฑ์และมาตรการของ FAOs CCRF และ FAOs IPOA-IUU มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านการประมง โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU) ของสหภาพยุโรป และใช้บังคับกับประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป โดยใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการลดจำนวนเรือประมงที่มีอยู่มากกว่า 190,000 ลำ ให้เหลือประมาณ 80,000-90,000 ลำ ในปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณไปมากกว่า 500,000 ล้านบาท (14.600 ล้านยูโร)

แต่ในขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่า ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศที่ส่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงเข้าไปจำหน่ายในตลาดประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังไม่ได้ให้ความสนใจในการป้องกัน ยังยั้งและขจัดปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ไม่มีมาตรการอนุรักษ์หรือจัดการการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศสมาชิกในประชาคมยุโรปที่ทำประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

คณะกรรมาธิการยุโรป จึงประกาศใช้กฎระเบียบสหภาพยุโรป ที่ (EC) No.1005/2008 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Council Regulation (EC) No 1005/2008 of 29 September 2008 establishing a community system to prevent, deter and eliminate illegal, unreported and unregulated fishing) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า EU-IUU Regulation เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2008 โดยให้มีผลบังคับใช้กับเรือประมงของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปทุกลำที่เข้าจอดเทียบท่า การขนถ่ายสินค้าทางเรือ และเรือประมงของประเทศที่สามที่นำเรือเข้าจอดเทียบท่าของสหภาพยุโรป ตลอดจนการค้าผลิตภัณฑ์ประมง ทั้งการนำเข้ามายังและส่งออกไปจากสหภาพยุโรป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2010 ในฐานะรัฐเจ้าของตลาด (Market State) ภายใต้กรอบกติกาอันเป็นที่ยอมรับขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization-WTO)

มาตรการหลักของ EU-IUU Regulation คือ การกำหนดให้รัฐเจ้าของธงต้องให้การรับรองแหล่งที่มา และวิธีการได้มาซึ่งสินค้าประมงทั้งชนิดที่แปรรูปแล้วและยังไม่แปรรูป (ยกเว้นสัตว์น้ำจืด สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง ปลาสวยงาม และหอยสองฝาบางชนิดตามที่ระบุไว้ในกฎระเบียบฯ) ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศเหล่านั้นได้มีการดำเนินการที่เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์และการจัดการภายในประเทศของตน ตลอดจนสอดคล้องกับกฎระเบียบระหว่างประเทศ

คณะกรรมาธิการฯ จึงใช้วิธีการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ผลิตภัณฑ์ประมงทะเลทั้งที่จะนำเข้ามายังและส่งออกไปจากสหภาพยุโรป หากพบว่า สินค้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์ประมงดังกล่าว มีที่มาหรือเกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU รวมทั้งไม่สามารถดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสากลในอันที่จะป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU คณะกรรมาธิการยุโรปจะออกประกาศแจ้งเตือน (ให้ใบเหลือง) พร้อมทั้งแนะนำให้ประเทศดังกล่าว ดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในระยะเวลาที่กำหนด หากสามารถแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตามที่แนะนำ คณะกรรมาธิการยุโรปจะอนุญาตให้ประเทศดังกล่าวส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้ (ให้ใบเขียว) แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ภายในเวลาที่กำหนด คณะกรรมาธิการฯ จะห้ามประเทศนั้น ๆ ส่งสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป (ให้ใบแดง)

หลังจาก EU-IUU Regulation มีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ที่ส่งสินค้าประมงหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป ดำเนินการให้เป็นไปตาม EU-IUU Regulation และต้องมีการจัดทำ “แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม” (NPOA-IUU) รวมทั้งเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อขจัดการทำประมงในแบบ “IUU Fishing” ในประเทศของตนให้หมดไป มิฉะนั้นจะไม่ยินยอมให้มีการส่งสัตว์น้ำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปต่อไป แต่หากประเทศนั้น ๆ ยังละเลยหรือไม่เร่งดำเนินการ คณะกรรมาธิการยุโรปก็จะเริ่มดำเนินการตามมาตรการของ EU-IUU Regulation ที่กล่าวมา คือมีคำประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ (การให้ใบเหลือง) ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2015

สหภาพยุโรปจึงเป็นกลุ่มประเทศแรกที่นำมาตรการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาใช้เป็นอุปสรรคทางการค้า (Non-Tariff Barrier) ภายใต้กติกาขององค์กรการค้าโลก (WTO) โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมทำประมงอย่างรับผิดชอบ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ตามมาตรการความร่วมมือขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 – ปัจจุบัน (2020) คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการแจ้งเตือนประเทศต่าง ๆ โดยการให้ “ใบเหลือง” ไปแล้วรวม 26 ประเทศ โดยมีประเทศที่ถูกระงับการนำเข้าสินค้าประมง หรือได้ “ใบแดง” 3 ประเทศ ประเทศที่ได้รับการเพิกถอนสถานะการถูกแจ้งเตือน หรือได้ “ใบเขียว” 15 ประเทศ และประเทศที่ยังอยู่ในสถานะถูกแจ้งเตือน (ใบเหลือง) 8 ประเทศ โดยมีบางประเทศสามารถ “ปลดใบเหลือง” ได้แล้ว แต่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ “ให้ใบเหลือง” ประเทศดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเรือประมง

4.เหตุใดคณะกรรมาธิการยุโรปจึงให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย

หลังจาก EU-IUU Regulation มีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เดินทางมายังประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ในปี 2011 เพื่อตรวจเยี่ยมและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ EU-IUU Regulation พร้อมทั้งแนะนำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงเข้าไปจำหน่ายในตลาดประชาคมยุโรปมากเป็นอันดับสาม ดำเนินการตามพันธกรณีในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และการป้องกัน ยับยั้งและต่อต้านการทำประมง IUU ที่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรการระหว่างประเทศ ตลอดจนดำเนินการในเรื่องใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certification) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ EU-IUU Regulation

อย่างไรก็ตาม กรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง มิได้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการดังกล่าว และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะภาพลักษณ์และบทบาทด้านอุตสาหกรรม-การส่งออกสินค้าประมงของไทยในเวทีโลก จึงละเลยการวางแผนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการจัดทำ “แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU)” รวมทั้งมิได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ (ปัญหาด้านการประมงของไทยมีอยู่หลายด้าน และสั่งสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการลดลงของจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำ)

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และความชำนาญด้านประมงทะเล ขาดฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมงที่สมบูรณ์ ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลด้านทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย จำนวนเรือประมง อาชญาบัตร ฯลฯ ตลอดจนขาดความรู้ความเข้าใจถึงพันธกรณีด้านกฎหมายทะเล และการประมงระหว่างประเทศ ส่งผลให้การตรวจเยี่ยมประเทศไทยเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปแนะนำ ทุกปี ระหว่างปี ค.ศ. 2012 – 2014 รวม 3 ครั้ง คณะกรรมาธิการยุโรปมีความเห็นว่าการดำเนินการของประเทศไทยยังไม่มีความก้าวหน้าที่เพียงพอ

วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2015 คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ออกคำประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อให้รับทราบถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ให้ใบเหลือง) หากประเทศไทยไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลา 6 เดือน จะถูกระงับการส่งสินค้าเข้าไปยังตลาดประชาคมยุโรป

อ่านต่อตอนที่ 2 รายละเอียดคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการยุโรป สรุปสาเหตุที่ทำให้ คณะกรรมาธิการยุโรปให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย