ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (20)… ภาพวาดแนวใหม่
ของ matisse และ miro

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (20)… ภาพวาดแนวใหม่
ของ matisse และ miro

5 พฤศจิกายน 2023


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ช่วงปีคศ. 1860-1880 ถือเป็นยุคทองของภาพวาดแนว impressionism ซึ่งเน้นการใช้สีนุ่มนวลดูสบายตา ใช้แสงและบรรยากาศตามธรรมชาติและนำเสนอผู้คนในอารมณ์เบิกบาน (ลุงหมีได้นำเสนอผลงานimpressionism ของ renoir และ monet ไว้แล้วในเรื่องเล่าตอนที่ 45 และ 78) แต่หลังจากนั้นก็มีศิลปินมีชื่อเสียงหลายคนนำเสนอผลงานศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป จนเรียกกันว่าเป็นแนว post-impressionism ( ยุคต่อจากimpressionism)

เรื่องเล่าครั้งนี้ลุงหมีขอเล่าถึงภาพวาดซึ่งใช้สี ลายเส้นและรูปทรงที่แปลกใหม่เมื่อต้นศตวรรษที่20 โดยฝีมือของศิลปิน 2 คน คือ matisse และ miro

henri matisse ( 1869-1954) ศิลปินชาวฝรั่งเศส ได้นำเสนอผลงานภาพวาดแนวใหม่โดยใช้สีเข้มจัดเพื่อเร้าอารมณ์ เน้นการใช้ลายเส้นและรูปทรงที่ไม่เหมือนจริง แต่กระตุ้นให้คนดูมองลึกลงไปว่าเป็นรูปอะไร ดังเช่นในรูปชื่อ red room เขาใช้สีแดงสดเป็นพื้นผนังห้อง ตัดกับสีเขียวของวิวนอกหน้าต่าง ตัวรูปแม่บ้านและข้าวของในบ้านเป็นรูปทรงคร่าวๆไม่เน้นความเหมือนจริง

ภาพวาดเมื่อปี 1909 ชื่อ the dance เป็นภาพมีชื่อเสียงมากของ matisse ในรูปนี้กลุ่มนักเต้นรำในรูปทรงคร่าวๆจับมือกันเคลื่อนตัวเป็นวง อันแสดงออกถึงความมีชีวิตจิตใจและจังหวะของการเต้นรำ โดยใช้สีแดงเข้มตัดกับสีเขียวและน้ำเงินเร้าอารมณ์ผู้ดู

ในภาพชุด blue nude สร้างสรรค์เมื่อปี 1952 matisse ดัดแปลงภาพเหมือนของหญิงสาวให้กลายเป็นเพียงภาพลายเส้นสรีระและสีเดี่ยวเท่านั้น รูปนี้เริ่มแสดงออกถึงการสร้างภาพในแนวนามธรรม ( abstact)

juan miro ( 1893- 1983) เป็นศิลปินชาวสเปน ที่มีผลงานเป็นที่นิยมมากคนหนึ่ง ภาพวาดของ miro มีลักษณะศิลปะยุคดังเดิมของมนุษย์ถ้ำคือ ไม่เน้นรูปทรงที่เหมือนจริง แต่เน้นการนำเสนอลายเส้น ลายจุด รูปทรงที่ใช้เส้นโค้งและเส้นตรง เพื่อกระตุ้นให้คนดูเพ่งมองลายละเอียดว่าเป็นรูปสื่อถึงอะไร อันเป็นแนวทางสร้างผลงานนามธรรมอีกรูปหนึ่ง

รูปแรกเป็นผลงานที่แสดงถึงตัวคน หมาและดวงอาทิตย์ (the figure dog in front of the sun) สร้างขึ้นเมื่อปี1949

ในรูปที่สองชื่อ the garden นอกจากรูปทรงลายเส้นตรงลายโค้งแล้ว miro เล่นกับการใช้สีสดใส และนำสีดำมาตัดเส้นให้ดูเด่นตาด้วย

รูปสุดท้ายเป็นอีกรูปหนึ่งซึ่ง miro ออกแบบรูปทรงสัญญลักษณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด เชิญชวนให้คนดูค้นหาความหมายเอาเอง

หนังสืออ้างอิง
1. A to Z of art
2. Paintings in the Musee d’Orsay
3. the story of art