กกพ.เปิดรับฟังความเห็นค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 หลังจากราคา LNG ในตลาดโลก แกว่งตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีภาระต้องคืนหนี้ กฟผ. 135,297 ล้านบาท จึงเสนอ 3 แนวเลือก ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น กรณีคืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมดงวดเดียวจบ ค่าไฟเพิ่มเป็น 6.28 บาท/หน่วย – ตรึงค่าไฟเท่างวดก่อน 4.70 บาทต่อหน่วย – ทยอยคืนหนี้ 5 งวด ค่าไฟลดเหลือ 4.45 บาท/หน่วย ตามข้อเสนอ กฟผ. เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 21 ก.ค.2566 ก่อนสรุปและเสนอบอร์ด กกพ.ประกาศใช้จริงต่อไป
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.ครั้งที่ 32/2566 (ครั้งที่ 860) มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟที (Ft) ประจำรอบเดือน มกราคม – เมษายน 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟที สำหรับงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ดังนี้
กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน กันยายน 2564 – เมษายน 2566 คิดเป็นเงินจำนวน 135,297 ล้านบาท (คืนหนี้ กฟผ.ทั้งหมด) เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที
กรณีที่ 2 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มา เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2566 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มา เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2566 โดยแบ่งเป็น 5 งวด งวดละ 23,428 ล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.
นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่าเอฟทีในรอบคำนวณเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 เทียบกับการคำนวณในปีฐานช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ซึ่งมีรายละเอียดตามในตารางดังนี้
นายคมกฤช กล่าวต่อว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่ลดลงในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อค่าประมาณการค่าเอฟที ในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ถึงแม้ว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งให้ภาคไฟฟ้ามีจำนวนจำกัด
นอกจากนี้การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวม ทั้งการเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย สำนักงาน กกพ. ร่วมกับ ปตท. กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การผลิตและใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที (Ft) สำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 7 – 21 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป