กพช.ยกเลิกเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมัน 40,000 ล้าบาท กกพ.ปรับสูตร ‘Pool Gas’ คำนวณราคาดีเซล-LNG เฉลี่ยก๊าซอ่าวไทย ลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า รับมือวิกฤตน้ำมันแพง
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม กพช. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือที่เรียกว่า “Energy Pool Price” มาใช้ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market เข้ามาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า เดิมทีเราใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและพม่ามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และอีกส่วนหนึ่งก็มีการนำเข้า LNG โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้ามาคำนวณรวมอยู่ใน Pool Gas ซึ่งมีราคาถูกกว่าการนำเข้า LNG จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ ระหว่างผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติรายใหม่กับรายเก่า หรือที่เรียกว่า “Shipper” ซึ่งจะสะท้อนให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้น เมื่อ Shipper รายใหม่ ไปนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งปัจจุบันราคา LNG Spot อยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่โรงไฟฟ้าพยายามเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นหรือน้ำมันดีเซล หรือ น้ำมันเตาแทน LNG ราคาแพง ก็จะถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยตรง ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแทนผู้ใช้ก๊าซในภาคธุรกิจอื่นๆ
ดังนั้น ทาง กกพ.จึงเห็นควรให้มีการสร้างกลไกการรวมราคาพลังงานเฉพาะในช่วงวิกฤติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและผู้ชพลังงานทุกกลุ่ม จึงเสนอ กพช.สร้างกลไกการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติของกลุ่ม Regulated Market ใหม่ที่คำนึงถึงต้นทุนด้านพลังงานของประเทศในภาพรวม โดยไม่สร้างภาระให้ผู้ใช้พลังงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินสมควรในลักษณะ “Energy Pool Price” โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นเจ้าภาพร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. และบริษัท ปตท. นำน้ำมัน หรือ เชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เข้ามาเฉลี่ยอยู่ใน Pool Gas เฉพาะในช่วงวิกฤติด้วย
นายกุลิศ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีความผันผวนและมีราคาสูง ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ตลอดจนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการดำรงชีพ และสอดคล้องกับการดำเนินการขยายกรอบวงเงินกู้ยืมเงิน 20,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 วรรคสอง และปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (Exit Strategy) ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ดังนั้น ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อรองรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยยกเลิกเพดานการกู้ยืมเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมกำหนดไว้ให้กู้ยืมเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพ เนื่องจากความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
“การปลดเพดานการกู้ยืมเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่ากองทุนน้ำมันจะสามารถกู้ยืมเงินได้ 60,000 – 70,000 ล้านบาท การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินโดยที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน แบงก์ที่ให้กู้ต้องคำนึงถึงความสามารถการชำระหนี้ด้วย หากกองทุนฯมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ แบงก์ก็ไม่ให้กู้ สำหรับเหตุผลที่เสนอปลดเพดานการกู้ยืมเงินกองทุนฯออก ก็เพื่อความคล่องตัวในการบริหารสถานการณ์ราคาน้ำมันในยามฉุกเฉิน ไม่ใช่จะขอกู้ยืมเงินทีก็ต้องทำเรื่องเสนอ ครม.อนุมัติทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ยกเลิกเพดานการกู้ยืมเงินไปแล้ว กระทรวงพลังงานก็ยังยึดกรอบเป้าหมายในการกู้ยืมเงินไว้ที่ 40,000 ล้านบาท เหมือนเดิม” นายกุลิศ กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง [T-2] ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยที่ประชุมได้ให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
นายกุลิศ กล่าวว่า ที่ประชุม กพช.ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม จากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่นๆ นอกจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุด ไม่เกิน Avoided cost และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า โดยให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บริหารให้เป็นไปตามนโยบายต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่ประชุม กพช. พิจารณาเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาและได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge ของไทยและหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS – PIP) ในอัตราเท่ากับ 3.1584 US Cents/หน่วย ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS – PIP ที่ผ่านการพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หาก อส. และ กพช. มีความเห็นให้แก้ไขร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS – PIP ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาเห็นควรให้ กฟผ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
นายกุลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ดังนี้ 1.โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภท บ้านอยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้มีการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมาย การรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายการรับซื้อ มอบให้ กบง. พิจารณากำหนด เป้าหมายดังกล่าวได้ 2.โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2565 กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 1.00 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี