ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องหลัง กกพ. กลับลำ ยกเลิกแถลงข่าวขึ้นค่าไฟ เตรียมหาเงินอุ้มต่อ

เบื้องหลัง กกพ. กลับลำ ยกเลิกแถลงข่าวขึ้นค่าไฟ เตรียมหาเงินอุ้มต่อ

1 สิงหาคม 2022


เบื้องหลัง กกพ. กลับลำ ยกเลิกงานแถลงข่าวปรับขึ้นค่า Ft หลังจากที่ถูกเบื้องบนสั่งเบรก ชี้การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นยูนิตละ 4.72 บาท ถือว่าแพง-ยังไม่ใช่ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม สั่งหารือพลังงานจัดแหล่งเงิน-งบกลาง จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนจากการปรับขึ้นค่าไฟ

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำผลศึกษาเรื่องการปรับขึ้นค่า Ft ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 แนวทาง เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในระหว่างวันที่ 12-25 กรกฎาคม 2565 โดย กฟผ. เสนอแนะให้ กกพ. เลือกแนวทางที่ 3 เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากประชาชนในงวดเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2565 ในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดปัจจุบันที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากประชาชนในอัตรา 4.03 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นแนวทางที่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดย กฟผ. ยังคงแบกรับค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนกว่า 83,000 ล้านบาทต่อไป พร้อมกับเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติขยายวงเงินกู้ระยะสั้นเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการชำระค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน จากนั้นก็ส่งหนังสือเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เตรียมมาอย่างดี ปรากฏว่าช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น สำนักงาน กกพ. ส่งไลน์แจ้งสื่อมวลชน ขอเลื่อนงานแถลงข่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด ถามว่าทำไม กกพ. ต้องเลื่อนแถลงข่าว ก่อนเข้าสู่ประเด็นนี้ ขออธิบายที่มาที่ไปของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้อีกครั้ง

  • หมดยุคค่าไฟถูก (ตอนที่ 1): ก๊าซอ่าวไทยกำลังจะหมด
  • กฟผ. แบกค่าเชื้อเพลิงเกือบ1 แสนล้าน วอนรัฐช่วย แจงกำไรสะสมไม่ใช่เงินสดพยุงค่าไฟฟ้าไม่ได้
  • จากการที่ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 56% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน ในจำนวนนี้ได้มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยประมาณ 65% จากเมียนมา 16% และเป็นก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 18%

    ส่วนที่เหลืออีก 44% เป็นเชื้อเพลิงรูปแบบอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, ลม, ขยะ, ก๊าซชีวภาพ, ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน, ถ่านหิน, พลังงานน้ำ, น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา เป็นต้น

    ปรากฏว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต ก็มาเกิดปัญหาพิพาทกับผู้รับสัมปทานรายเก่าที่แหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลุมใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติขาดหายไปเป็นจำนวนมาก กว่าจะกลับมาเริ่มลงมือผลิตกันใหม่ได้อีกครั้ง อย่างเร็วที่สุดคาดว่าประมาณต้นปี 2566 เป็นต้นไป ประกอบกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่แหล่งเยตากุล ประเทศเมียนมา กำลังจะหมดลง ส่งผลทำให้ก๊าซราคาถูกที่เคยนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าจากทั้ง 2 แหล่งมาอย่างต่อเนื่องลดลงเร็วกว่าที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในรูปแบบสัญญาระยะสั้น หรือที่เรียกว่า “Spot LNG” จากต่างประเทศมาใช้ทดแทน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ราคา Spot LNG ในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 3-4 เท่า ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของค่าไฟฟ้าฐาน และค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า “ค่า Ft” ซึ่งปกติจะมีการปรับปรุงกันทุกๆ 4 เดือน เมื่อต้นทุนค่าเชื้อเพลิง, ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐที่เกิดขึ้นจริง เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน

    จากผลกระทบตามที่กล่าวข้างต้นนี้ ส่งผลทำให้ต้นทุนของ กฟผ. ในส่วนของค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่เกิดขึ้นจริงปรับราคาขึ้นสูงกว่าค่า Ft ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้ กฟผ. เรียกเก็บจากประชาชน ทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนมาตั้งแต่งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 คิดเป็นเงิน 38,943 ล้านบาท และในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 อีก 44,067 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 83,010 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 คาดว่า กฟผ. จะต้องแบกรับต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแทนประชาชนเพิ่มเป็น 109,672 ล้านบาท จนทำให้ กกพ. และกระทรวงพลังงาน ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับ กฟผ. โดยมอบให้ กฟผ. ทำการศึกษาปรับขึ้นค่า Ft ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 และนำร่ายงานผลการศึกษาดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในช่วงวันที่ 12-25 กรกฎาคม 2565 ก่อนเสนอให้บอร์ด กกพ. ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติปรับขึ้นค่า Ft ขายปลีก

    จากการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft โดย กฟผ. ได้กำหนดค่า Ft ขายปลีกในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เอาไว้ที่ 236 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 4.03 บาทต่อหน่วย เพิ่มเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 53% โดย กฟผ. จะได้รับเงินคืนจากการเข้าไปรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนครบ 83,010 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2565 แต่ถ้าไม่เลือกวิธีนี้จะมีทางเลือกทั้งหมด 3 แนวทาง มีรายละเอียดดังนี้

    แนวทางที่ 1 กำหนด ค่า Ft ขายปลีก ให้สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินจากประชาชนในส่วนที่ กฟผ. ได้แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลทำให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบตามจำนวนภายใน 1 ปี แต่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 4.03 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 28% โดย กฟผ. ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนอยู่อีก 56,581 ล้านบาท

    แนวทางที่ 2 กำหนด ค่า Ft ขายปลีก ให้สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยเรียกเก็บเงินจากประชาชนในส่วนที่ กฟผ. ได้รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่ผ่านมาแค่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ค่า Ft รวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ถ้าเลือกวิธีนี้จะทำให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบตามจำนวนภายใน 2 ปี แต่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23% วิธีนี้ กฟผ. ต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชน 69,796 ล้านบาท

    และแนวทางที่ 3 กำหนดค่า Ft ขายปลีก ให้สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 เอาไว้ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย แต่ยังไม่ให้ กฟผ. เรียกเก็บเงินในส่วนที่ กฟผ. ได้รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชน วิธีนี้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% โดย กฟผ. ยังต้องแบกภาระรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท ต่อไป

    สำหรับการปรับค่า Ft ขายปลีกทั้ง 3 แนวทางนี้ นอกจากจะมีผลทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่ารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    กรณี กกพ. เลือกแนวทางที่ 1 ให้ กฟผ. เรียกเก็บค่า Ft ขายปลีกช่วงเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2565 ที่ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย จะทำให้ กฟผ. ต้องบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนต่อไปอีก 56,581 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 100 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย, ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.25 บาทต่อหน่วย และใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.63 บาทต่อหน่วย

    แนวทางที่ 2 อนุมัติให้ กฟผ. เรียกเก็บค่า Ft ขายปลีกช่วงเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2565 ที่ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย กฟผ. ต้องบริหารต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าต่อไปอีก 69,796 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 100 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.57 บาทต่อหน่วย, ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.03 บาทต่อหน่วย และใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.40 บาทต่อหน่วย

    และแนวทางที่ 3 ให้ กฟผ. เรียกเก็บค่า Ft ขายปลีกช่วงเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2565 แค่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย กฟผ. ต้องบริหารต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าต่อไปอีก 83,010 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 100 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.34 บาทต่อหน่วย, ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย และถ้าใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.17 บาทต่อหน่วย

    ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่า Ft ขายปลีกทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้นับรวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่เพิ่มขึ้นในงวดเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม 2565

    ต่อมา ทาง กฟผ. ได้ทำหนังสือแจ้ง กกพ. ว่า “เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า Ft ขายปลีก ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ. เห็นควรปรับให้ปรับค่า Ft ขายปลีกตามแนวทางที่ 3 ในงวดเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2565”

    วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุม ครม. จึงมีมติอนุมัติขยายวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ credit line ให้กับ กฟผ. จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ไปจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2567 ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ เพื่อให้ กฟผ. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหาเชื้อเพลิง รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน งบลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในส่วนของค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 ปรับตัวเพิ่มสูงกว่าประมาณการถึง 23,000 ล้านบาท

    ส่วนภาระที่ กฟผ. ต้องเข้าไปแบกรับค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้า หรือ ค่า Ft ขายปลีกแทนประชาชนในช่วงที่ผ่านมานั้น ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ กฟผ. ไปดำเนินการจัดทำแผนกู้เงินประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลัง ค้ำประกัน เสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบอีกครั้ง คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายเงินกู้ได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565

    หลังจากเตรียมกันกันเป็นที่เรียบร้อย ทางสำนักงาน กกพ. ก็เตรียมทำเรื่องเสนอที่ประชุมบอร์ด พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นค่า Ft ในงวดเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2565 ทั้ง 3 แนวทาง ช่วงบ่ายของวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 จึงออกจดหมายเชิญสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงข่าวในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. โดยมีนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการขึ้นค่า Ft อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าเช้าวันรุ่งขึ้น สำนักงาน กกพ. แจ้งสื่อมวลชน ขอเลื่อนงานแถลงข่าวออกไปก่อน และหากได้กำหนดเวลาที่แน่นอนจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง

    แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกพ. กล่าวถึงสาเหตุของการเลื่อนแถลงข่าวปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ว่า เนื่องจากได้รับแจ้งจากรัฐบาลขอให้สำนักงาน กกพ. และกระทรวงพลังงาน ร่วมกันศึกษาหามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าไฟฟ้า เช่น การจัดแหล่งเงินหรืองบกลางมาอุดหนุนค่าไฟฟ้า หรือแนวทางอื่นๆ มาเสนอต่อที่ประชุม ครม. ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้า แม้บอร์ด กกพ. จะเลือกแนวทางปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดย กฟผ. ยังคงแบกรับภาระต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป โดยให้เรียกเก็บค่าไฟจากผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยประชาชนในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น ถือว่าแพง และยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม จึงขอให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าออกไปก่อน