ThaiPublica > เกาะกระแส > กกพ. ชงรัฐบาลชุดใหม่ ให้โรงแยกก๊าซใช้ราคา “Pool Gas” ลดต้นทุน ‘ผลิตไฟฟ้า’ ดึงค่าไฟลง

กกพ. ชงรัฐบาลชุดใหม่ ให้โรงแยกก๊าซใช้ราคา “Pool Gas” ลดต้นทุน ‘ผลิตไฟฟ้า’ ดึงค่าไฟลง

1 กรกฎาคม 2023


กกพ. เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ให้โรงแยกก๊าซ ใช้ราคา “pool gas” เพื่อความเป็นธรรม ลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ชี้โครงสร้าง “การใช้ก๊าซ” ยังเหมือนเดิม เหลือราคาเดียว

ปัญหาค่าไฟแพง ที่ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ได้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาคธุรกิจรายเล็กรายน้อย ไปจนถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หลายบ้านต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งหลายพรรคการเมืองชูนโยบายแก้ปัญหาค่าไฟแพง แต่ที่พูดถึงกันมากคือ กรณีพรรคก้าวไกลในประเด็นที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน คือ เรื่องการจัดสรรก๊าซธรรมชาติ โดยพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน โดยเฉพาะการเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติ ให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน “Energy Pool Gas” และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือ ขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น ในประเด็นหลังได้ถูกวิพากย์วิจารณ์ว่า ไม่เข้าใจโครงสร้างของธุรกิจก๊าซ ซึ่งเป็นการเอาทรัพยากรดีๆไปใช้ผิดที่ผิดทาง เปรียบเสมือน “การนำไม้สักไปเผา หรือ เอาไปทำฟืน”

ขณะที่แนวคิดในการแก้ปัญหาของกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ได้ไปแตะที่โครงสร้างของการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่เน้นไปเรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศ และให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ก๊าซทุกภาคส่วน ช่วงปลายเดือนพศจิกายนปี 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้มอบหมายให้ กกพ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และบริษัท ปตท.จำกัด ร่วมศึกษาหาทางลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

ล่าสุดในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 กกพ.ได้มีข้อเสนอแนะถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ เสนอให้ปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติไปใช้ราคา “Pool Gas” ซึ่งเป็นราคาที่รวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆด้วย อย่างเช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย,เมียนมาร์ และ LNG นำเข้าด้วย

ทั้งนี้แตกต่างจากโครงสร้างที่ใช้กันมา ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันตรงที่การซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ใช้ราคา “Gulf Gas” ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย บวกค่าจัดหา และค่าผ่านท่อในทะเล ทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติได้สิทธิใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ขณะที่โรงไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ใช้ก๊าซในอีกราคาหนึ่ง คือ ราคา “Pool Gas” ซึ่งมีราคาแพงกว่า Gulf Gas ทั้งนี้ เนื่องจากราคา Pool Gas คำนวณมาจากก๊าซอ่าวไทยที่ออกจากโรงแยกก๊าซ (ใช้ราคา Gulf Gas) นำมารวมกับก๊าซจากเมียนมาร์ และ LNG นำเข้า คิดเป็นราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามปริมาณเนื้อก๊าซ ออกมาเป็นราคา Pool Gas

ประเด็นนี้ที่ถกเถียงกันมานานว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย เป็นของดี ราคาถูก ซึ่งมีปริมาณจำกัด และมีคุณสมบัติเป็น “ก๊าซเปียก” หรือ “Wet Gas” เมื่อผลิตได้ก็ต้องส่งเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติก่อน เพื่อแยกเอา ก๊าซมีเทน (C1), อีเทน (C2), โพรเพน (C3), บิวเทน (C4), เพนเทน (C5), เฮกเซน (C6), เฮปเทน (C7) ไปจนถึงออกเทน (C8) นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างเช่น อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก แก๊สหุงต้มที่ใช้ในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ปุ๋ย ทินเนอร์ แลกเกอร์ สี ถุง ยางสังเคราะห์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้ 10 -25 เท่า นี่คือ “Supply chain” หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องหลังโรงแยกก๊าซ โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติในฐานะผู้บุกเบิก และลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐาน ได้สิทธิพิเศษใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไปใช้ก่อน ในราคา Gulf Gas

จากนั้นโรงแยกก๊าซธรรมชาติก็จะส่งก๊าซที่เหลือ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น “ก๊าซแห้ง” หรือ “Dry Gas” แยกต่อไม่ได้แล้ว เอาไปรวมกับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ และ LNG นำเข้า เพื่อคำนวณเป็นราคา Pool Gas ตามที่กล่าวข้างต้น ขายให้กับโรงไฟฟ้ากฟผ.และโรงไฟฟ้าของเอกชน ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าขายให้กับประชาชน รวมทั้งขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และภาคการขนส่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในราคา Pool Gas

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์พลังงานราคา LNG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมา 40 – 50 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ประกอบกับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณมีปัญหาผลิตไม่ได้จำนวนที่ต้องการ ต้องนำเข้า LNG เพิ่ม เพื่อมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป ส่งผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ปรับตัวสูงขึ้นตามเนื้อก๊าซ LNG ราคาแพงที่เพิ่มเข้ามาในพูล โรงไฟฟ้าไม่เดือดร้อน ต้นทุนมาเท่าไหร่กับบวกเข้าไป (Cost Plus) แต่คนที่เดือดร้อนจริง ๆ คือ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้า และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตสินค้าด้วย เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมกระจก แก้ว เครื่องปั้นดินเอา เซรามิค เหล็ก เป็นต้น

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำประเด็นนี้พูดคุยกับนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยนายคมกฤช กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจโครงสร้างธุรกิจ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทยทุกแหล่ง จะมีวัตถุดิบที่ใช้เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีผสมอยู่ในเนื้อก๊าซด้วย ดังนั้น บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทุกแหล่ง เมื่อผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาได้ ก็ไม่ได้จัดสรรก๊าซให้โรงไฟฟ้าเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าโดยทันที ต้องส่งก๊าซผ่านท่อไปเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติก่อน เพื่อแยกเอาก๊าซเปียกไปใช้ประโยชน์ในอุตสหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนกระทั่งเหลือก๊าซแห้ง (dry gas) หรือ “มีเทน” แยกต่อไม่อีกได้แล้ว จากนั้นก็จะนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ที่จัดหามาได้ เช่น ก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผ่านท่อไปให้โรงไฟฟ้าใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและขนส่งด้วย

แต่เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทยมีไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา และ LNG จากต่างประเทศ มาผสมกับก๊าซจากอ่าวไทย (ส่วนที่เหลือจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 3 แหล่งนั้นมีราคาแตกต่างกัน จึงต้องทำให้เป็นราคาเดียวกัน โดยนำก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่จัดหามาได้ส่งเข้า pool gas คำนวณหาราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ซึ่งแปรผันตามราคาและปริมาณของเนื้อก๊าซแต่ละแหล่งที่นำมารวมกัน

โดยในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ราคาพลังงาน กระทรวงพลังงานได้มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน จึงเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ภายหลังการพิจารณา ที่ประชุม กพช.มีมติมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), กกพ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปร่วมกันศึกษา การปรับโครงสร้างราคาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ปตท. กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย หรือ ที่เรียกว่า “gulf gas” มาโดยตลอด ซึ่ง Gulf Gas นี้ก็คือราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซที่ได้มาจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย บวกค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และบวกค่าบริการส่งผ่านท่อก๊าซ รวมทั้งหมดคือต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติของโรงแยกก๊าซ

ขณะที่โรงไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้ราคาเฉลี่ยจาก pool gas ซึ่งมีราคาแพงกว่า gulf gas โดยหลักการแล้วก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของประเทศ จึงควรจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยไปให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนก่อนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย แต่ก็ไม่ใช่เอาไปให้เผาเป็นเชื้อเพลิงทันที

“ทั้งนี้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีราคาถูกที่สุด เมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาและ LNG นำเข้า และเมื่อนำก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 3 แหล่ง เข้ามาร่วมอยู่ใน pool gas ราคาจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับต้นทุนราคาและปริมาณของเนื้อก๊าซจากแหล่งต่างๆ ที่จัดหามาได้ นำมาคำนวณหาราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก โดยปริมาณและราคาของเนื้อก๊าซมีน้ำหนักไปทางไหน ราคาของ pool gas ก็ไปทางนั้น เช่น ในอดีตมีก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยนำมาคำนวณ เพื่อหาราคาเฉลี่ยในปริมาณที่มาก ทำให้ Pool Gas ก็จะมีราคาถูก แต่ในปัจจุบันก๊าซจากอ่าวไทยมีปริมาณลดลง ต้องไปนำเข้า LNG ราคาแพงมาผสม ทำให้ราคา Pool Gas แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นก๊าซเปียก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่กล่าวข้างต้น ขณะที่ก๊าซจากเมียนมาร์ และLNG เป็นก๊าซแห้ง นำแยกต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเดียว ดังนั้น โดยหลักการแล้วจึงไม่ควรจะนำก๊าซจากอ่าวไทยไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

นายคมกฤชกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ราคาพลังงานของโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานปิโตรเลียม ทำให้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหายไปเป็นจำนวนมาก จึงต้องนำเข้า LNG ราคาแพงจากต่างประเทศมาทดแทน ทำให้ราคา pool gas ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณเนื้อก๊าซ LNG ที่นำมาคำนวณใน pool gas ขณะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติพลังงาน ราคา gulf gas กับราคา pool gas มีส่วนต่าง หรือ “gap” สูงมาก ถามว่าแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ในส่วนของโครงสร้างการใช้ก๊าซธรรมชาติ ก็คงต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ เพราะก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจตามที่กล่าวข้างต้น แต่โครงสร้างของราคาก๊าซธรรมชาตินั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 ที่ประชุมบอร์ด กกพ. จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะ ให้มีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าออกโรงแยกก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ราคา pool gas เหมือนกับโรงไฟฟ้า และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ราคา pool gas โดยภาพรวมลดลง ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงด้วย และทำให้บริษัท ปตท. บริหารจัดการวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีประสิทธิภาพสูงสุด

จากนั้น ทาง กกพ. ได้นำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณา หากกระทรวงพลังงานเห็นชอบกับข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ ทาง กกพ. ก็จะร่วมกับ สนพ. และบริษัท ปตท. ดำเนินการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงการราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าออกโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสม และรายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา ซึ่งเรื่องนี้คงรอเสนอรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นมุมมองหรือความเห็นในฐานะผู้กำกับกิจการพลังงาน การใช้ก๊าซธรรมชาติตามหลักการที่ กกพ. เสนอ ก็ยังคงเหมือนเดิม โรงแยกก๊าซธรรมชาติจะใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเท่าไหร่ก็ใช้ไป แต่มาเซ็ตโครงสร้างราคากันใหม่ เหลือราคาเดียว ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรของประเทศ แต่ถ้าจะเอาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยทั้งหมดไปให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนที่เหลือถึงจะส่งไปให้ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคปิโตรเคมีใช้ ตรงนี้ก็สุดแล้วแต่นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่เลย คนหนึ่งจ่ายถูก อีกคนก็ต้องจ่ายแพง ในส่วนของ กกพ.ในฐานะผู้กำกับกิจการพลังงาน เรามองในแง่ของความเป็นธรรม และการจัดสรรทรัพยากรของประเทศเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องไปฟังความเห็นของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วยว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตแค่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นโจทย์ที่กระทรวงพลังงานจะต้องไปคิดกันต่อ” นายคมกฤชกล่าว

นายคมกฤชให้ความเห็นต่อว่า “หากจะมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าออกโรงแยกก๊าซธรรมชาติกันใหม่ ถ้าจะทำจริงๆ ก็ต้องรีบทำในตอนนี้ เพราะส่วนต่างของราคา pool gas กำลังวิ่งเข้าหาราคา gulf gas แต่ถ้าไปทำตอนที่ส่วนต่างมันกว้าง อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติอาจจะเดือนร้อน”

ผู้สื่อข่าวถามว่าถามว่าทำไมโครงสร้างของราคาและการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศเป็นแบบนี้ นายคมกฤชกล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องมองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ในยุคเริ่มต้นของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ สมัยนั้นมีคนใช้ก๊าซน้อยมาก มีแต่บริษัท ปตท. เท่านั้นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ต่อมารัฐบาลในอดีตต้องการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เข้าใจว่าจะมีการให้แต้มต่อ เพื่อให้บริษัท ปตท. มีกำไรเพียงพอที่จะนำไปลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปิโตรเคมี แก๊สหุงต้มที่ใช้ในภาคครัวเรือน และภาคการขนส่ง แต่ปัจจุบันตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องกลับมาดูเรื่องประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของระบบ หรือทบทวนนโยบายโครงสร้างของราคาก๊าซธรรมชาติกันใหม่

พร้อมยกตัวอย่าง นโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่คนใช้รถ EV บอกว่าไม่สะดวกเวลาขับรถ EV ไปต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ quick charge เพราะไม่มีเวลามานั่งชาร์จไฟกันทั้งคืน จึงต้องมีมาตรการมาส่งเสริมให้มีการลงทุนก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ quick charge แต่ถ้าลงทุนทำสถานีอัดประจุแบบ quick charge ไปแล้ว ปรากฏว่ามีรถ EV มาใช้บริการเดือนละ 1-2 คัน ก็ไม่คุ้ม เพราะผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุต้องเสียค่า demand charge ให้กับการไฟฟ้าอีก ดังนั้น ในช่วงโปรโมตให้ประชาชนหันมาใช้รถ EV ทาง กกพ. ก็มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า แบบ low priority หรือเรียกว่า “EV low priority” ที่อัตรา 2.6369 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ครอบคลุมค่า demand charge และจูงใจให้มีการลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป กกพ. ก็ปรับอัตราค่าไฟฟ้า EV low priority เพิ่มเป็น 2.9162 บาทต่อหน่วย ซึ่งในอนาคตก็จะต้องปรับราคาเข้าสู่อัตราค่าไฟฟ้าปกติต่อไป

“ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ช่วงแรกก็อาจต้องจัดให้มีแรงจูงใจกันบ้าง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี คงไม่มีใครมาอุ้มได้อยู่ตลอดเวลา”นายคมกฤชกล่าว

  • กพช.ยกเลิกเพดานเงินกู้กองทุนน้ำมัน-ปรับสูตร ‘Pool Gas’ ตรึงค่าไฟ
  • ดึง 8 Shipper เข้า “Pool Gas” ใครได้ประโยชน์ – ตั้ง “พัฒน์ ศิริโมชดารา” ผอ.จัดหา – กำหนดราคา
  • ขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่ สาเหตุใหญ่คืออะไร?
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (2) สัญญาทาส – ค่าพร้อมจ่าย ใครได้บ้าง?
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?
  • ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)
  • กกพ.หั่น “ค่าไฟ” ช่วยภาคธุรกิจลง 35 สตางค์ – เลื่อนใช้หนี้ กฟผ.กว่าแสนล้านบาท เป็น 3 ปี
  • “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา
  • เส้นทางปิโตรเลียมไทย ความจริงที่ต้องรู้