ThaiPublica > เกาะกระแส > กกพ.เปิด 3 ทางเลือก ใช้หนี้คืน กฟผ. 1.5 แสนล้าน ดันค่าไฟฟ้างวดหน้า เพิ่มสูงสุดเป็น 6.72 บาท/หน่วย

กกพ.เปิด 3 ทางเลือก ใช้หนี้คืน กฟผ. 1.5 แสนล้าน ดันค่าไฟฟ้างวดหน้า เพิ่มสูงสุดเป็น 6.72 บาท/หน่วย

10 มีนาคม 2023


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

กกพ.ถามความเห็น ปชช. – เสนอ 3 ทางเลือก คืนหนี้ กฟผ. 150,268 ล้านบาท ดันค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 2566 พุ่ง – ใช้หนี้คืนงวดเดียวจบ ค่าไฟเพิ่มจากหน่วยละ 4.72 บาท เป็น 6.72 บาท – ผ่อน 5 งวด ค่าไฟเพิ่มเป็นหน่วยละ 4.84 บาท – ชำระหนี้คืน 6 งวด ค่าไฟเพิ่มเป็น 4.77 บาท เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ กกพ. ตั้งแต่ 10 – 20 มี.ค.นี้

จากสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทยทยอยปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่แกว่งตัวในระดับต่ำ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไม่มีนโยบายขยายเวลาการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้ประชาชนก่อน ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและประชาชน ต้องจ่ายค่าเอฟที (Ft) ในอัตราเดียวกันที่สะท้อนสมมุติฐานที่ทำให้ค่าใช้จ่ายประมาณการเอฟทีในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 อยู่ในระดับที่ดี ดังนั้น กกพ. จึงเปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือกในการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) ให้กับ กฟผ.ในอัตรา 293.60 สตางค์ต่อหน่วย , 105.25 สตางค์ต่อหน่วย และ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก (กกพ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ประชุม กกพ.ครั้งที่ 12/2566 ได้มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบ กันยายน – ธันวาคม 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ดังนี้

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้งหมด หรือ เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน กันยายน 2564 – ธันวาคม 2565 จำนวน 150,268 ล้านบาท คิดเป็น 230.23 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน มกราคม – เมษายน2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน (เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 หักภาระต้นทุนคงค้างที่ กกพ. เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บบางส่วนเดือน มกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 22.22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเงินประมาณ 13,584 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆละ 27,337 ล้านบาทหรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธันวาคม 2567 โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามข้อเสนอของ กฟผ.

กรณีที่ 3 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน มกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน โดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละ 22,781 ล้านบาทหรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นายคมกฤช กล่าวว่า การประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ และขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ตามการประมาณราคาก๊าซจาก ปตท. และผลการคำนวณค่าเอฟทีของ กฟผ. โดยมีปัจจัยที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

    (1) การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เท่ากับประมาณ 72,220 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4,387 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน มกราคม – เมษายน 2566) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,833 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.47

    (2) สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 57.80 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 17.34 ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 7.89 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 7.13 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.74 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.84 น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.03 และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.23 ทั้งนี้ ประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.75 จากรอบเดือน มกราคม – เมษายน2566 เพื่อรองรับการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มราคา LNG ในตลาดโลกที่มีราคาลดเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคา LNG

    (3) ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟที ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน มกราคม – เมษายน 2566 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะราคา LNG ในตลาดจร ที่ลดลงจาก 29.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและราคาถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายต้นทุนทำเหมืองลิกไนต์ของ กฟผ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาปรับตัวลดลงเล็กน้อยในรอบเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566

    (4) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1 – 31 มกราคม 2566) เท่ากับ 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งแข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2566 ที่ประมาณการไว้ที่ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งลดลง 2.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่าเอฟทีในรอบคำนวณเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พฤษภาคม – สิงหาคม 2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน มกราคม – เมษายน 2566 แสดงในตารางดังนี้

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน มกราคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ กกพ. จะรับฟังความเห็นการทยอยคืนภาระค่าต้นทุนคงค้างให้กับ กฟผ. โดยยังคงสามารถรักษาระดับค่าไฟฟ้าในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นพร้อมรองรับสถานการณ์พลังงานโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากสถานการณ์รัสเซียยูเครน จากสถานการณ์การกดดันจากประเทศมหาอำนาจในด้านต่างๆ บนเวทีโลก และจากความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 20 มีนาคม 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

  • นายกฯเคาะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 MW ยันไม่มี “ค่าพร้อมจ่าย” – ดันไฟฟ้าสำรองเพิ่ม
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (2) สัญญาทาส – ค่าพร้อมจ่าย ใครได้บ้าง?
  • ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?
  • ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)
  • ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)
  • กกพ.หั่น “ค่าไฟ” ช่วยภาคธุรกิจลง 35 สตางค์ – เลื่อนใช้หนี้ กฟผ.กว่าแสนล้านบาท เป็น 3 ปี
  • “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา