ThaiPublica > คนในข่าว > “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” แจงขึ้นค่าไฟทุกข้อกล่าวหา

27 ธันวาคม 2022


หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลัง (กกพ.) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ตามแนวทางที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ผ่านความเห็นชอบ โดยให้เรียกเก็บค่า Ft กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยในอัตราเดิมที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ให้เรียกเก็บที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลทำให้ผู้ใช้ไฟบ้านจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในอัตราเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่ภาคธุรกิจ SMEs ค้าปลีก-ค้าส่ง บริการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมการผลิต ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ เพื่อนำเงินไปทยอยจ่ายคืนหนี้ กฟผ. ที่แบกรับภาระค่า Ft ก่อนหน้านี้เป็นเวลา 2 ปี

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งภาคประชาชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานอย่างหนัก และทำเรื่องร้องเรียนถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่มีกำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จนนายกรัฐมนตรีต้องมีข้อสั่งการให้กระทรวงพลังงาน กกพ. และ กฟผ. กลับไปทบทวนค่า Ft ใหม่ โดยให้คำนึงถึงต้นทุนการผลิต และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

  • นายกฯ ห่วงอุตสาหกรรมสั่ง กกพ. ทบทวนค่า Ft-มติ ครม. จัดงบฯ 6,693 ล้าน ให้ กฟน.-กฟภ. ลดค่าไฟบ้าน
  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี นำทีมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานปี 2565 และแผนงานในปี 2566 โดยมีผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาร่วมเวทีแถลงข่าวด้วย ช่วงท้ายของงานแถลง นายสุพัฒนพงษ์ได้ใช้จังหวะนี้ชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ โดยเปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถามในประเด็นข้อเรียกร้องของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เสนอให้กระทรวงพลังงานชะลอการปรับขึ้นค่าไฟงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 2566) ซึ่งจะผลกระทบต่อ กฟผ. ที่ไปแบกรับภาระหนี้แทนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างไร

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “ถามเรื่องนี้ก็ต้องเล่ากันยาว เป็นเรื่องที่เรารับรู้และเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเรานั่งเฉยๆ นอนอยู่ที่บ้าน อย่างปลัดกระทรวงพลังงานก็ประชุมเรื่องนี้มาทุกสัปดาห์ รวมแล้วประมาณ 20 ครั้ง ซึ่งผมเองก็ประชุมเรื่องนี้ทุกสัปดาห์รวมแล้ว 20 ครั้ง เช่นเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งผมและปลัดกระทรวงพลังงานประชุมเรื่องนี้ไป 40 ครั้ง”

    เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นทุกข์ของประชาชนแล้วพวกเราไม่สนใจ ก็เป็นทุกข์ของพวกเราเหมือนกัน ทุกคนก็นั่งทำงานกันอยู่ ผมก็อยากให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเรื่องนี้ด้วยว่า รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจกับปัญหาเหล่านี้

    “แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นปัญหาวิกฤติพลังงานจริงๆ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่ก็อยากจะกำไรเหมือนเดิมอยู่แบบเดิม แต่ท่านไม่ประหยัดการใช้พลังงานกันเลย เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ถ้าประหยัดมันก็ทำได้ มันช่วยได้ ต้องช่วยกัน ถึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ลงไปได้”

    ผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการ ไม่ใช่นโยบายรัฐบาลชุดนี้

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า ประเด็นแรกที่ผมอยากจะชี้แจง คือ เรื่องที่มีการพูดถึงปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ผมยืนยันว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่อนุมัติโดยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลยุคไหนก็แล้วแต่ที่ทำไปแล้วมีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินแค่ 500 เมกกะวัตต์เท่านั้นเอง คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนน้ำเทิน

    ส่วนปริมาณการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือเกินความต้องการเกิดขึ้นในยุคไหน ผมไม่ทราบ ท่านไปดูกันเอาเอง แต่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ไม่ได้อนุมัติ และที่มีอยู่ในปัจจุบันก็อนุมัติไปตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว เราจึงต้องมาแก้ปัญหา คนสร้างปัญหาเป็นใครก็ไม่รู้ ย้อนหลังกลับไปดูกันเอง แต่คนแก้ปัญหาคือรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเราพยายามแก้ปัญหานี้

    ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “บวกกันกี่ครั้งก็ไม่ได้ตัวเลขปริมาณการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ 60 -70% สักที เดี๋ยวผมจะให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณใหม่ สมมติว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ผลิตจริงได้แค่วันละ 4 ชั่วโมง แต่ถ้าไปนับว่าเขาผลิตได้ 24 ชั่วโมง บวกกันเข้าไป อย่างนี้ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจผิด คิดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้มีปริมาณที่เยอะมาก ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด รัฐบาลยุคเก่าหรือใครก็ไม่รู้ไปออกแบบนโยบายผิดพลาด แต่ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้นะครับ และผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเป็นคนละยุค คนละสมัย ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าเขาผิดนะครับ ผมก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อย ผู้ที่กล่าวหากระทรวงพลังงาน บวกตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินผิดแน่นอน ตรงนี้จึงต้องเคลียร์

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า “เรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินจริงๆ มีอยู่ประมาณ 30% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดนั่นเอง ทำให้ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าลดลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้ายังไม่กลับไปเท่าเดิม เหตุผลประการที่ 2 คือ การที่กระทรวงพลังงานแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไปผลิตไฟฟ้าใช้กันเอง หรือที่เรียกว่า “independent power supply (IPS)” ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้อนุมัติกันในสมัยไหนผมก็ไม่รู้ ผมไม่แน่ใจ ดังนั้น เมื่อให้เอกชนไปผลิตไฟฟ้าใช้กันเอง ก็ยิ่งไม่ใช้ไฟฟ้าในระบบ กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินก็จะเหลือมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรจะเหลือมากถึง 35-36% แต่ ควรจะต่ำกว่านี้อยู่ที่ประมาณ 30% เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องไปถามภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก็ทำกันทั้งนั้น และท่านก็รู้กันอยู่แล้ว เรื่องนี้ผมอยากให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่าทิศทางของกำลังการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ มันไม่ได้เหลือเกินความต้องการใช้ อย่างที่ทุกท่านเป็นห่วง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด วิธีการคำนวนที่ถูกต้องก็มีวิธีอยู่แล้ว ตัวเลขไม่ได้สูงขนาดนั้น ประกอบกับมีการผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เองเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีข้อมูลในส่วนนี้ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้มีทางเลือก สามารถใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นเข้ามาเสริมได้”

    ประเด็นที่ 2 ที่อยากทำความเข้าใจ คือ “ตอนนี้เกิดวิกฤติพลังงานจริงๆ การนำเข้าพลังงานที่เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติหรือ “LNG” มีราคาแพง ซึ่งไม่เคยมีราคาแพงอย่างนี้มาก่อน หาก LNG ราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ก็ไม่มีเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้ หากเราคิดว่ามันแพงไปตลอด ก็จะเป็นทุกข์ แต่เราก็ต้องปรับตัวกัน อย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัท ปตท.สผ. ก็พยายามจะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรมชาติในอ่าวไทย คาดว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 มีการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

    “หากการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกลับมาอยู่ในระดับเท่าเดิม ก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าไม่มีปัญหาอะไร สามารถใช้ได้ต่อเนื่อง มันก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขึ้นได้ก็ลงได้ แต่ในวันนี้เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคา 29.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู นำมาผลิตไฟฟ้า ต้นทุนจะอยู่ที่ 6.50 บาทต่อหน่วย ทั้งยังไม่นับรวมค่าสายส่งกว่า 1 บาท ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 7-8 บาทต่อหน่วยแล้ว”

    นี่คือสาเหตุที่ทำให้ปลัดกระทรวงพลังงาน ต้องประชุม และมารายงานผมทุกวันทุกสัปดาห์ว่าจะหาทางลดการนำเข้า LNG ได้อย่างไร ทำทุกวิถีทาง โดยให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปขอแล้วขออีกจากทุกแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งทางประเทศมาเลเซียก็ถามเหมือนกัน แต่ก็ขอก๊าซธรรมชาติมาได้ส่วนหนึ่ง และสุดท้ายก็นำน้ำมันดีเซลมาใช้ผลิตไฟฟ้า เพราะราคาถูกกว่า 5 บาท ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยคิดจะใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้าเลย เพราะว่ามันแพงมาก แต่วันนี้ราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้า มันแพงกว่าน้ำมันดีเซลแล้ว ก็พยายามทุกโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลเท่าที่จะทำได้

    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี

    รวมทั้งโรงไฟฟ้าที่เป็นประเด็นเรื่องค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ซึ่งโรงงานใหม่ๆ กลุ่มนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ก็ให้ความร่วมมือเปลี่ยนมาใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็พยายามเต็มที่ในการที่จะใช้น้ำมันดีเซลมาทดแทนก๊าซธรรมชาติกว่า 400 ล้านลิตรต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อน แต่ก็ต้องทำ ทั้งนี้ยังไม่นับนำมันดีเซลที่ใช้ในภาคขนส่ง ทำให้ทั้ง ปตท. และ กฟผ. มีภาระในการขนส่งน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการขนส่งน้ำมันต้องขนโดยรถบรรทุกน้ำมัน ต้องคำนวณเรื่องโลจิสติกส์ รถบรรทุนน้ำมันแต่ละคันขนน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 30,000 ลิตร ต้องบรรทุกน้ำมันไปส่งโรงไฟฟ้าเดือนละ 4 ล้านลิตร ลองคิดดูต้องใช้รถบรรทุกน้ำมันกี่คัน วิ่งกันกี่เที่ยว และก็ต้องขนน้ำมันดีเซลไปส่งให้ภาคขนส่งด้วย มันเป็นภารกิจที่เขาต้องทำงานกันทุกวัน พลาดไม่ได้ และต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงมาให้ได้ด้วย

    ทำไมต้องตรึงค่าไฟครัวเรือน ผลักภาระให้ภาคธุรกิจจ่าย

    ประเด็นที่ 3 “ที่ผ่านมา กฟผ. รับหน้าเสื่ออยู่คนเดียว วันนี้เค้าแบกหนี้อยู่กว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งแบกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยฟื้นตัวช้า เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เริ่มกระเตื้องขึ้นมาเรื่อยๆ ขณะที่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น จึงมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำเข้า LNG ราคาแพงมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนติดลบ เขาประหยัดหรือทำอะไรได้ เขาก็ทำ นี่ยังไม่นับที่รัฐบาลไปช่วยกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟต่ำกว่า 150 หน่วย ซึ่งใช้งบประมาณไปกว่า 10,000 ล้านบาท ที่ตอนนี้กำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะช่วยกลุ่มเปราะบางต่อไปอย่างไร”

    “ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ต้องผลักภาระให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อมาช่วยครัวเรือน ก็เพราะภาคครัวเรือนประหยัด และใช้ไฟฟ้าลดลง เพราะเป็นต้นทุนชีวิตของเขา แต่คนที่เติบโตดี คือ ภาคอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบกิจการ ขยายตัวดีที่สุด ทำมาหากินได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องตรึงราคาค่าไฟที่ครัวเรือน ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก ภาคครัวเรือนใช้ไฟฟ้าโดยรวม 17% ของประมาณการใช้พลังงานทั้งหมด” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามันเพิ่มขึ้นมามาก ก่อนที่ผมจะเดินทางไปราชการ ก็ไม่ได้หารือเรื่องอัตราค่า Ft ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และระหว่างที่เดินทางสถานการณ์ก็เปลี่ยน มีความผันผวนทั้งเรื่องค่าเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้ง ปตท. และ กฟผ. ก็เข้าใจความเดือดร้อนของภาคอุตสาหกรรม และเราจึงมีความเห็นตรงกันว่า จะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องมองถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ เราตระหนักและเข้าใจดี

    ชง กกพ. เคาะลดค่า Ft – ใช้หนี้ กฟผ. 28 ธ.ค. นี้

    “วิกฤติพลังงานครั้งนี้เราต้องช่วยกัน จึงมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และ กกพ. ไปดูว่าส่วนไหนที่จะต้องปรับปรุงลดลงมาได้ ก็ให้เสนอเข้าที่ประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกมิติ ประชุมกันตลอด ล่าสุดทาง กฟผ. ก็ได้ส่งข้อมูลต่างๆ ไปที่ กกพ. แล้ว ทาง กกพ. ก็น่าจะพิจารณากันในวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ทุกฝ่ายก็พยายามเต็มที่ แต่ส่วนหนึ่งก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน หรือสร้างเสถียรภาพให้กับ กฟผ. จะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยคืน กฟผ. บางส่วนด้วย โดย กฟผ. ก็ได้พิจารณาในอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะรักษาเสถียรภาพของ กฟผ. ให้เดินหน้าผลิตไฟฟ้าต่อไปได้”

    “หาก กฟผ. ไม่แข็งแรง ไฟฟ้าก็จะไม่เสถียรภาพ มันก็หมุนกลับไปกลับมา ดังนั้น จึงต้องช่วยกัน ผมเชื่อว่าค่า Ft สามารถปรับลดลงมาได้ แต่ถ้าจะไม่ให้คืนหนี้ กฟผ. เลย ผมคิดว่าตรงนี้คงทำได้ยาก ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ตอนนี้ตัวเลขทั้งหมดส่งไปให้ กกพ. แล้ว”

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า ผมอยากให้สื่อมวลชนเข้าใจและเห็นว่า “ภาคอุตสาหกรรมก็มีทั้งส่วนที่ก่อและส่วนที่แก้ได้ด้วย ผมอยากให้เราช่วยกันเหมือนกับช่วงที่เราร่วมกันแก้ปัญหาโควิด-19 อยากให้ทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยกัน ไม่ใช่มาบอกว่า นัดมาแล้ว ไม่ให้เจอ จึงต้องยกขบวนไปพบนายกรัฐมนตรี แต่ดูเหมือนว่าพวกท่านจะขอกันอย่างเดียว อยากให้กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน เราเห็นอะไรที่ปรับลดลงได้ เราก็ปรับลดลง ทั้ง กฟผ. และ ปตท. ตามที่กล่าวไปแล้ว แต่จะปรับลดลงไปได้เท่าไหร่ ต้องคอยติดตามต่อไป”

    เอกชนที่ซื้อก๊าซราคาถูกจาก “Pool Gas” ให้เปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่น

    รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ในส่วนของภาคเอกชน ทั้ง กกร. หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ช่วยเราหน่อยเถอะ พวกท่านเป็นสภา เป็นสมาคม เป็นผู้ที่มีอำนาจ ภาคพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ไม่ได้มีแค่ 3 การไฟฟ้าเพียงเท่านั้นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาเฉลี่ยที่เรียกว่า “pool gas” หรือ “energy pool price” ที่ผ่านมาทั้ง ปตท. และ กฟผ. ก็มีความพยายามที่จะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงด้วยการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น อย่างเช่น น้ำมันดีเซลมีการนำมาใช้แทนก๊าซธรรมชาติถึง 15% ของพลังงานทั้งหมด และบางส่วนก็ต้องยอมแลกกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการขยายระยะเวลาโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมเชื้อเพลิงทั้ง 2 ประเภท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ทำให้การนำเข้า LNG ลดลง”

    “ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน เป็นใครไม่ทราบ ต้องไปขอข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ ทางกระทรวงพลังงานไม่ทราบ แต่ ปตท. อาจจะมีข้อมูล ยังไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือเชื้อเพลิงประเภทตัวอื่นแทนก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนลดลงน้อยมาก ซึ่งข้อมูลผมอาจจะผิดก็ได้ หากสามารถลดลงได้อีก ก็จะช่วยให้ค่า Ft ปรับลดลงไปได้อีก แต่เราไปสั่งภาคเอกชนไม่ได้ เพราะเป็นตลาดเสรี ตรงนี้ก็มีข้อเสนอให้ไปตรวจสอบดูว่ามีใครใช้เชื้อเพลิงตัวอื่นทดแทนก๊าซธรรมชาติแล้วหรือยัง ลองไปสำรวจดูว่าทดแทนได้เท่าไหร่”

    ประเด็นที่ 4 เรื่องการรับซื้อพลังงานทดแทนรุ่นเก่าๆ บางคนเรียกว่า “ค่าโง่” อย่าไปเรียกอย่างนั้นเลย ยืนยันไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นรัฐบาลชุดไหนก็อย่าไปกล่าวหาเขาเลย เขาอาจมีเหตุผล ในยุคโน้นมันไม่แพง แต่ในยุคนี้มันแพง อย่างเช่น ค่า adder ภาคประชาชนร้องเรียนมาเหมือนกัน ไม่ใช่เขาไม่ร้องเรียนมา กรณีอย่างนี้ก็อยู่ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ สามารถพูดคุยกันได้ไหม หรือลดลงไปได้หรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นกำลังการผลิตส่วนที่เกิน

    “ตรงนี้ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ทำไม กฟผ.ไม่กลับไปเจรจาขยายสัญญา หรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าให้หมดเลย ซึ่งทางผู้ว่า กฟผ. ยืนยันว่าสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา ซึ่งเราดูแล้วไม่มีช่องทางให้ทำได้ ทั้งลดการรับซื้อไฟฟ้า หรือเลื่อนไม่จ่ายเงินเขา เขาก็ต้องปรับหรือคิดดอกเบี้ย ถามว่าผู้ประกอบการเหล่านี้คือใคร ก็คือคนที่อยู่ใน กกร. หรือสภาอุตฯ ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นใครเลย ลองไปคุยกันเอง ผมพร้อมที่จะเข้าไปช่วย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ เหมือนในช่วงที่เราร่วมกันแก้ปัญหาโควิดฯ”

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อไปว่า “อย่างค่าพร้อมจ่าย (AP) ที่บอกว่าสูงมาก ถ้าอยากจะเลื่อนจ่ายหรือลด ก็ทำไม่ได้ยากอะไร ผมคิดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็พร้อมที่จะหารือนะ แต่ว่าผู้ประกอบการอาจจะไม่พร้อมที่จะเลื่อน เพราะเขาขาดรายได้”

    “อย่างใน กกร. ก็มีสมาคมธนาคารไทย ลองไปคุยกันว่าไม่ต้องจ่ายดอกจ่ายเงินต้นคืนสัก 1 ปีได้หรือไม่ ส่วนที่เลื่อนการผ่อนชำระหนี้ออกไป ก็อย่าไปคิดดอกเบี้ยเขาแพง กำไรของธนาคารแต่ละปีก็เป็น 100,000 ล้านบาท เอามาช่วยกัน”

    “วันนี้ประชาชน 25 ล้านครัวเรือน เขาจ่ายค่า Ft ไปแล้วก่อนหน้าที่ที่ 93 สตางค์ต่อหน่วย ท่านจะให้เขาโดนอีกหรือ ผมคิดว่ารัฐบาลก็ควรจะเลือกประชาชนที่เขาช่วยกันประหยัด โดยดูจากดีมานด์ของภาคครัวเรือนแล้ว ไม่ได้โตขึ้นเลยไม่ได้เป็นภาระให้ต้องนำเข้า LNG ราคาแพงเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องตรึงราคาค่าไฟฟ้าของภาคครัวเรือนเอาไว้”

    “แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าค่า Ft ของภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่ง กฟผ. กำลังทบทวน แต่อาจจะไม่ถูกใจ ค่า Ft ที่เหลือถ้าคุณอยากจะให้ถูกใจ ต้องมานั่งคุยกัน ทั้งผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในสภาอุตสาหกรรมฯ ช่วยไปใช้เชื้อเพลิงตัวอื่นบ้างเถอะถูกกว่าด้วย อย่ามาเอาค่าเฉลี่ยใน “pool gas” เลย น้ำมันเตาก็ใช้แทนก๊าซธรรมชาติได้ ใช้เป็นการชั่วคราว ถ่านหินก็เช่นเดียวกัน”

    ผมอยากเห็นคนรักโลก สมัครใจเข้ามาเลย ฉันยินดีซื้อก๊าซ LNG ในราคา 1,200 บาทต่อล้านบีทียู แทนที่จะซื้อก๊าซจาก “pool gas” ในราคาเฉลี่ย 400 บาทต่อล้านบีทียู ถ้าอย่างนี้ ปตท .ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งผมเองก็พูดไปทั้งหมดแล้ว ไม่อยากให้ไปโทษกันไป โทษกันมา มันเป็นวิกฤติพลังงาน ก็ต้องช่วยกันได้

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่า Ft ระหว่างภาคครัวเรือนกับภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสเท่ากันได้หรือไม่

    นายสุพัฒนพงษ์ตอบว่า “ตัวเลขของ กฟผ. ส่งไปให้ กกพ. แล้ว ซึ่งคงไม่เท่ากัน แต่จะเท่ากันได้ก็ต้องร่วมมือกัน กกร. อยู่ทั้งคน หากธนาคารพาณิชย์บอกว่าเลื่อนจ่ายต้นจ่ายดอกออกไปได้ แล้วดอกเบี้ยคิดไม่แพง ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ถึงจะไม่เอาด้วย เขาก็ยินดี เพื่อประชาชนเพื่ออุตสาหกรรมจะได้แข่งขันได้”

    “ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตา หรือ น้ำมันตัวอื่นแทนบ้าง ทำให้กระทรวงพลังงานไม่ต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาก ก็เป็นเรื่องที่ดี ผู้ประกอบการที่ทำพลังงานทดแทนที่เคยคิดค่า adder หน่วยละ 8 บาท ก็อยู่ในสภาอุตสาหกรรมฯ นั่นแหละครับ จะเลื่อนหรือจะลดอย่างไรก็ได้มาพูดคุยกัน ยังไงก็ลงได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยกันประหยัดการใช้พลังงาน ตอนนี้มันเป็นวิกฤติพลังงาน ถ้าเอาทุกอย่างมาโยนไว้ให้ กฟผ. ถ้าหากเขาไม่แข็งแรงแล้ว ไฟฟ้าดับจะทำอย่างไร โยนให้ ปตท. ก็ถูกผู้ถือหุ้นวิพากษ์วิจารณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ปตท. ก็มีภารกิจที่จะต้องดูแลประชาชนเหมือนกัน จะไปทางซ้ายก็โดน ทางขวาก็โดน ดีที่สุดก็คือต้องมาร่วมมือกัน”

    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า การที่ไปเอาราคาค่าไฟฟ้าประเทศอื่นมาเปรียบเทียบ อ้างว่าบางประเทศคิดค่าไฟฟ้าแค่ 2 บาทต่อหน่วย ผมเองก็ให้คนคำนวณ 2 บาทกว่ามาอย่างไร หาอยู่ต้องนาน ผมไม่ได้ตัวเลขนั้น เดี๋ยวมาดูมานั่งทำด้วยกัน (สื่อมวลชน) จะได้เข้าใจร่วมกันมันเป็นราคาบนกระดาษหรือเปล่า ก็อยากจะรู้เหมือนกัน เพราะว่าผู้ประกอบการไทยก็ไปลงทุนประเทศเหล่านั้นหลายราย

    ถามว่าจะเชิญผู้ประกอบการมาหารือหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ตอบว่าไม่เชิญหรอก เขาต้องพร้อมที่จะมา ไม่ใช่เพียงแค่ขอ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ผมมาลดราคาค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระให้กับผู้ประกอบการ แต่ผมก็พร้อมที่จะคุยอยู่แล้ว

    ถามว่าทางภาคเอกชนนัดมาหลายรอบแล้ว นายสุพัฒนพงษ์ตอบว่าใช่ แต่วันนี้อยากให้มาคุยแบบมีทางออก และเป็นทางออกที่จะต้องร่วมมือกัน

    ถามว่า กกพ. จะลดค่าไฟฟ้าให้ภาคอุตสาหกรรมได้กี่เปอร์เซ็นต์ นายสุพัฒน์พงษ์ตอบว่า ลดให้เกลี้ยงเลยก็ได้นะ ถ้ายอม ถ้าธนาคารพาณิชย์ช่วยด้วย และสภาอุตสาหกรรมฯก็ช่วยด้วย ส่วนจะลดลงได้เท่าไหร่ ก็รออีก 1-2 วัน