ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)

‘ปอกเปลือกหัวหอม’ ความไม่เป็นธรรมที่ซุกในบิลค่าไฟ(แพง)

28 มกราคม 2023


เวทีสาธารณะ “ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก” นักวิชาการปอกเปลือกหัวหอมผ่านบิลค่าไฟฟ้า สะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมสูตรคำนวณราคาค่าไฟแพง ตั้งประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ ส่งผลผู้บริโภคแบกรับต้นทุนราคาสูง

ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงค่าแรงถูกยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันข้ามปี แม้จะเข้าปี 2566 แล้วก็ตาม คำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนคือ โครงสร้างในการคำนวณราคาค่าไฟฟ้า เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคในระดับครัวเรือนแล้วหรือยัง มีอะไรที่เรียกว่า “ความไม่เป็นธรรม” ซุกอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน

ปัญหาเหล่านี้ถูกนำมาคลี่ปม ความไม่เป็นธรรมภายใต้เปลือกหัวหอม ในเวทีสาธารณะ “ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก” ซึ่งจัดโดยโครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แกะเปลือกหัวหอม สะท้อนความไม่เป็นธรรมค่าไฟฟ้า

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด ได้นำเสนอบทความความไม่เป็นธรรมในการคิดราคาค่าไฟฟ้าที่เผยแพร่ในเพจส่วนตัวและสำนักข่าว GREEN NEWS โดยสะท้อนผ่านชั้นหัวหอมจากบิลค่าไฟฟ้าที่แต่ละครัวเรือนได้รับในทุกเดือน

สฤณีบอกว่าความไม่เป็นธรรมของสูตรคำนวณค่าไฟฟ้าสะท้อนผ่านบิลค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีคำถามว่า ราคาค่าไฟฟ้ามันแพงขึ้น แล้วเกิดจากอะไร เพราะค่าไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยขณะนี้ค่าไฟประมาณ 4 บาทกว่าต่อหน่วย

ทำไมถึงค่าไฟฟ้าแพง และจะแพงมากไปถึงเมื่อไหร่ นั่นคือคำถามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลอธิบายว่าไม่มีทางเลือกอื่นเลย ค่าไฟฟ้าต้องแพงแบบนี้แหละ เพราะว่าประเทศไทยต้องใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า จึงไม่มีทางเลือกเนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหรือราคาก๊าซสูง ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต้องแพงตามไปด้วย

“รัฐบาลจะอธิบายว่า ค่าไฟฟ้าต้องมีราคาแพงเพราะว่าต้องนำเข้า LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลว เราไม่มีทางเลือกอื่นเลย ต้องรับสภาพ และปีที่ผ่านมาก็เกิดสงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลต่อราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นเรื่องไม่มีทางเลือกจริงๆ ประชาชนก็อาจจะรับได้เพราะว่าไม่ใช่เรื่องความไม่เป็นธรรม อย่างมากก็บ่นว่ามันแพง”

สฤณีตั้งคำถามและเขียนไปในบทความว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า เราไม่มีทางเลือกในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจนทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแพง เป็นแบบนั้นทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเธอบอกว่า ข้อเท็จจริงเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนเดียว แต่ยังมีข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในการคิดราคาค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลไม่ได้บอก

“ส่วนตัวก็เลยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลมักจะบอกว่าแพงเพราะว่าเชื้อเพลิงแพง เพราะก๊าซแพงเพราะส่วนหนึ่งมาจากราคาตลาดโลกก็ไม่ผิด แต่เป็นการพูดเพียงส่วนเดียว รัฐบาลพูดถูก 1ใน 3 เท่านั้นแต่มีหลายส่วนที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึง แล้วหลายส่วนที่ไม่ได้พูดถึงคิดว่าน่าจะสะท้อนสูตรการคำนวณพลังงานที่เรียกว่า ไม่เป็นธรรมหรือเปล่าสำหรับผู้บริโภค”

ประเด็นที่ถือเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่มาก สะท้อนเป็นความไม่เป็นธรรมในบิลค่าไฟฟ้า โดยฝังวิธีคิดในการคำนวณเอาไว้ในสูตรค่าไฟฟ้า ซึ่งสูตรเหล่านี้คิดคำนวณกันมานานแล้ว ไม่มีการปรับปรุงแก้ไข แม้ที่ผ่านมาจะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนและมากขึ้นก็ตาม

สฤณีบอกว่า หากลอกมาปอกเปลือกหัวหอม จากบิลค่าไฟฟ้าที่ส่งมาในแต่ละเดือน จะจำแนกการคำนวนออกเป็น 3 ชั้น โดยระบุเอาไว้ในบทความ ดังนี้

ชั้นแรก บิลค่าไฟที่เราจ่าย = ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) + ค่าบริการรายเดือน (แตกต่างตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ชั้นที่สอง ค่า Ft = ค่าเชื้อเพลิงฐาน + ประมาณการค่าเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า กฟผ. + ประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. + ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ

ชั้นที่สาม ค่าเชื้อเพลิงฐาน คำนวณจากค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ที่สอดคล้องกับค่า Ft ขายปลีก จำแนกตามประเภทเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า (คิดเป็นสัดส่วน 40-72% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา) โดยราคาก๊าซธรรมชาติ (P) = ราคา gulf gas หรือ pool gas + ค่าบริการสำหรับการจัดหาและค้าส่ง (S) + ค่าบริการส่งก๊าซ (ค่าผ่านท่อ) (T)

ชั้นที่สามเช่นกัน ประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. = ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments: AP) + ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments: EP) + ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense: PE) ในส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชน

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณีอธิบายเพิ่มเติมว่า การคิดค่าไฟฟ้าฐานหลักๆ คิดมาจากต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้า เพราะฉะนั้น ยิ่งรัฐสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ผู้บริโภคก็ต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ การคิดค่าไฟฟ้าฐานไม่ใช่เพียงแค่ต้นทุนจากจากโรงไฟฟ้าที่สร้างมานานแล้วอย่างเดียว แต่รวมไปถึงโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่ต้องสร้างเพิ่มจากประมาณการ หรือการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย

“ประมาณการว่าเราจะใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต ก็จะเป็นสมมติฐานที่เอามารองรับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งจะเห็นว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การประมาณการความต้องการไฟฟ้าเกินความจำเป็นมาตลอด และไม่เคยใกล้เคียง ต่อให้บอกว่าเราต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเอาไว้ตามมาตรฐานคือ 15% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แต่การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินไปจำนวนมาก และห่างจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงมานานตั้งแต่ปี 2556”

ถ้าหากว่า “ความต้องการใช้ไฟฟ้า” ถูกพยากรณ์สูงเกินจริง รัฐก็จะก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ “ค่าการผลิต” สูงขึ้น ค่าไฟของเราก็จะแพงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น

การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงมีช่องว่างห่างกันมากขึ้นตั้งแต่ปี 2556 แม้จะมีหลายคนบอกว่าปี 2563 เกิดโควิด-19 แพร่ระระบาดทำให้เศรษฐกิจหดตัว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้เห็นว่า การประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าต้องปรับหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะพยากรณ์แบบเดิม และอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแบบเดิมคือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ หรือการก่อสร้างโครงการที่สุ่มเสี่ยงว่าจะส่งผลกระทบสูง เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ในลาว ในแม่น้ำโขง

“สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ รัฐยังคงใช้การพยากรณ์แบบเดิม แม้ว่าช่องว่างระหว่างกำลังการผลิตที่วางแผนเอาไว้กับความต้องการใชไฟฟ้าจริงมันห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม และนั่นเป็นที่มาของค่าไฟฟ้าที่ยิ่งแพงขึ้น ผู้บริโภคครัวเรือนต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งในอดีตและในอนาคตจากประมาณการความต้องการไฟฟ้าทั้งหลายเหล่านี้”

ความไม่เป็นธรรมในค่าFt หรือค่าไฟฟ้าผันแปร

นอกจากการแบกรับผลกระทบจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินจริง และมีการอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น จนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินความเป็นจริงแล้ว ยังมีความไม่เป็นธรรมที่อยู่ในค่า Ft ค่าไฟฟ้าผันแปรอย่างน้อย 4 จุดด้วยกัน

จุดแรก ค่าไฟฟ้าแพงมาจากเชื้อเพลิง คือราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้า หรือก๊าซ LNG ก๊าซเหลวจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อบอกแบบนี้หลายคนอาจจะบอกว่าช่วยไม่ได้เพราะราคาก๊าซธรรชาติต่างประเทศสูง แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้ใช้ราคาเนื้อก๊าซเท่ากับราคาในอุตสาหกรรม

“ราคาเนื้อก๊าซที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซธรรมชาติจ่าย (gas separation plant — GSP) หรือโรงแยกก๊าซ ใช้ราคา gulf gas หรือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าราคา pool gas หรือราคาก๊าซเฉลี่ยจากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอนจี ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าส่งผู้บริโภคมากกว่า 2 เท่า หรือ 202 บาทต่อล้านบีทียู เทียบกับ 415 บาทต่อล้านบีทียู

ถ้าถามว่า ทำไมไม่ใช่ก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่ามาผลิตไฟฟ้าในครัวเรือน หากถามผู้ประกอบการก็จะบอกว่า ก๊าซจากอ่าวไทยมีค่าความร้อนสูง สามารถนำมาผลิตเป็นปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่าการผลิตไฟฟ้า

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งที่ว่าคนไทยเป็นเจ้าของทรัพยากร เพราะฉะนั้น ยิ่งวัตถุดิบอะไรที่มีศักยภาพในการสร้างราคาที่แพง ต้นทุนยิ่งต้องสะท้อนว่าเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่า ทำไมเราต้องไปสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยราคาที่มีต้นทุนก๊าซต่ำ ซึ่งอาจจะมีวิธีการเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ทุกคนใช้ราคาก๊าซเฉลี่ยเท่ากันหรือไม่ หรือว่าปิโตรเคมีใช้ราคาก๊าซเท่ากับราคาก๊าซนำเข้า แล้วเอาส่วนต่างมาลดชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นครัวเรือนที่ไม่มีทางเลือกได้หรือไม่

“เราไม่สามารถบอกว่าเราไม่อยากได้ค่าไฟฟ้าที่เป็นราคา pool gas ที่แพงกว่าราคาก๊าซจากอ่าวไทย ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีนานแล้ว แต่เราประชาชนทั่วไปไม่รู้กัน เพราะว่าเป็นหัวหอมที่อยู่ในชั้นลึกๆ”

อีกประเด็นที่สฤณีสะท้อนความไม่เป็นธรรมที่อยู่ในค่า Ft คือท่อส่งก๊าซ คือ ความไม่เป็นธรรมประการที่สองในค่าเชื้อเพลิงฐาน ฝังอยู่ในค่าบริการส่งก๊าซ (T) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ค่าผ่านท่อ” ซึ่งปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน (ปตท.) เพียงรายเดียวที่เก็บค่าให้บริการในส่วนนี้ เนื่องจากระบบท่อส่งก๊าซของประเทศยังเป็นระบบผูกขาด ยังไม่มีการแข่งขัน ถึงแม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลคือ กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณต้นทุนอยู่บ้างก็ตาม

แน่นอนว่ามีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ต้องคิดค่าบริการ แต่ว่าตรงนี้ คำถามคือค่าผ่านท่อ ถ้าลองไปดูไส้ในจะพบว่ามีการรวมผลตอบแทนเอาไว้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง คือ ผลตอบแทนจากการลงทุน อัตราผลตอบแทนภายในหรือ internal rate of return ย่อว่า IRR) ให้ ปตท. สูง ถึง 12.5-18% หรือเรียกง่ายๆ คือ การันตีกำไรเอาไว้สูงมาก

“นี่เป็นอีกจุหนึ่งที่ต้องตั้งคำถาม แน่นอนว่าอะไรก็ตามที่เป็นระบบผูกขาดยิ่งต้องตั้งคำถาม ถ้าจะต้องผูกขาดต้องเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ได้มากที่สุด”

สฤณีบอกว่า ค่าผ่านท่อเป็นอีกเปลือกของชั้นในหัวหอม จริงๆ แล้วจะบอกว่าไม่เป็นธรรมแค่ระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปกับอุตสาหกรรมก็ไม่จริง ระหว่างอุตสาหกรรมก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรมบางอย่างด้วย เช่น ปัจจุบันโรงแยกก๊าซในประเทศไทยมีไม่กี่โรง ซึ่งโรงแยกก๊าซจ่ายค่าผ่านท่อถูกกว่าผู้ใช้ก๊าซรายอื่นๆ รวมถึงโรงไฟฟ้า ซึ่งบิลค่าไฟฟ้าของเรามาจากโรงไฟฟ้า ก็เป็นคำถาม ทำไมต้องต่างกันในส่วนนี้ อะไรคือเหตุผลที่อธิบายได้ ถ้าอธิบายไม่ได้จะเรียกว่าความไม่เป็นธรรมหรือเปล่า

ความไม่เป็นธรรมใน margin แฝงในค่าเชื้อเพลิง

จุดสุดท้ายที่น่าสนใจ คือเรื่องของ margin ที่แฝงอยู่ในค่าเชื้อเพลิง คือ ค่าเชื้อเพลิงส่วนต่างหรือ margin ที่ ปตท. บวกเพิ่มกับราคาเนื้อก๊าซที่ขายให้แก่โรงไฟฟ้า โดย ปตท. เรียกเก็บค่า margin 1.75% กับโรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตอิสระรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP)

ขณะเดียวกัน ปตท. เรียกเก็บค่า margin กับโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็ก (Small Power Producer: SPP) สูงถึง 9.33% โดยในปี 2564 โรงไฟฟ้า SPP ใช้ก๊าซในปริมาณที่มากกว่าก๊าซที่โรงไฟฟ้า กฟผ. และ IPP ใช้รวมกันเสียอีก และในเมื่อ 80% ของไฟฟ้าที่ผลิตโดย SPP เป็นไฟฟ้าที่ขายให้กฟผ. ภาระของการจ่ายค่า margin ก๊าซในอัตราที่แพงกว่าของโรงไฟฟ้า SPP จึงถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคที่ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน

สฤณีทิ้งท้ายว่าทำไม ปตท. เรียกเก็บค่า margin แตกต่างกันขนาดนั้น และทั้งหมดอยู่ในสมการการคิดราคาค่าไฟฟ้า แต่จะแก้ไขอย่างไร ควรจะแก้ไขสมการหรือไม่ ทางออกควรจะเป็นอย่างไร ถอดชั้นต่างๆ ในหัวหอมแล้ว (อ่านเพิ่มเติม บทความ “ความไม่เป็นธรรมของค่าไฟไทย” ในเพจ สฤณี อาชวานันทกุล)

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

โจทย์ค่าไฟแพง ค่าแรงถูกทางออกอยู่ตรงไหน ?

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และความไม่เป็นธรรมในการคิดราคาค่าไฟ มีทางออกอย่างไร รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามว่า ใครรับผิดชอบและกำหนดความเป็นธรรมในโครงสร้างราคาก๊าซ ที่หลายคนสงสัยว่าทำไมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อก๊าซในราคาถูกกว่ารายอื่นคนอื่น ราคาก๊าซอ่าวไทย รวมไปถึงการประมาณการความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง ใครคือผู้ประเมินสิ่งเหล่านั้น แล้วเมื่อประเมินผิดพลาดแล้วเขารับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ แล้วเมื่อทราบว่าเกิดความผิดพลาด ทำไมจึงไม่รีบแก้ไข

นอกจากนี้ รศ. ดร.ชาลี ได้ตั้งคำถามถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP ทำไมถึงออกมาล่าช้าจากเดิมที่ทุก 3 ปีต้องมีการปรับปรุงแผน มีแผน PDP ปี 2012 มีแผน PDP ปี 2015 และแผน PDP ปี 2018 แต่พอมาถึงปี 2021 มันน่าจะแผน PDPใหม่ แต่ปรากฏว่าไม่มี กระทั่งปี 2022 ก็ไม่มี และปี 2023 คาดว่าน่าจะต้องมี แต่ก็ยังไม่ชัดเจน

ทำไมแผน PDP ออกมาล่าช้า เพราะการออกแผน PDP ใหม่อาจะถูกต่อต้านหรือไม่ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น หรือหากออกแผนใหม่มาจะทำให้โรงไฟฟ้าที่อยู่ในปี 2018 ไม่สามารถสร้างได้ใช่หรือไม่ เลยต้องยื้อใช้แผนเดิมไปหรือไม่

“ประเด็นคำถามเหล่านี้ที่น่าสงสัยใต้เบื้องลึกคืออะไร โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้า เหมือนเราอยู่ในบ้านเรามีแอร์ครบทุกห้องแล้ว ติดหมดบ้านเย็นแล้วแต่เรายังซื้อแอร์มาติดเพิ่ม แต่เราไม่ได้ซื้อแอร์เบอร์ 5 แต่เราไปซื้อแอร์เบอร์ 3 คนที่ตัดสินใจในเรื่องนโยบายของเรื่องพลังงานของโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเขาไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ หรือว่าเขาทราบแต่ยังทำแบบเดิม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องค่อยๆ คลี่ออกมาดูกัน”

รัฐตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าสวนทางกับความจริง

รศ. ดร.ชาลีสังเกตว่า ปัญหาค่าไฟแพงมีความท้าทายในเรื่องการแก้ไขปัญหาด้วย เพราะในอนาคตไม่ใช่ค่าไฟฟ้าแพง เพราะทุกประเทศในโลกต้องรวมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วย

หากพิจารณาแผน PDP ในปัจจุบัน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราอยากให้โลกไม่ร้อน เราอาจจะต้องลงไปสายสีเขียว นั่นแปลว่าเราต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงทุกปีกระทั่งปี 2050 แต่หากเราไม่ทำอะไรเลย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราจะพุ่งขึ้นไปด้านบน หรือเพิ่มมากขึ้น

ลดค่าไฟฟ้า พร้อมกับการลดก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่

ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ต้นทุนพลังงานในประเทศไทยนั้น ลดอย่างเดียวในภาคครัวเรือนอาจจะไม่พอ ถ้าเกิดว่าภาคอุตสาหกรรมต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ใครจะมาลงทุนในประเทศไทยถ้าค่าไฟฟ้าบ้านเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด เพราะฉะนั้น ในเรื่องของต้นทุนพลังงาน ก็จะต้องสามารถแข่งขันได้ด้วย

แต่การจะบอกว่าต้นทุนพลังงานแข่งขันได้ไม่ได้หมายความว่าค่าไฟฟ้าถูกอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหากเราต้องการค่าไฟฟ้าราคาถูกโดยการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะปัจจุบันในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรป มีการตั้งกำแพงภาษีกีดกันเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละสินค้าผลิต แม้ว่าเราผลิตไฟฟ้าราคาถูกแต่ว่าไม่ได้เป็นพลังงานที่สะอาด ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ก็ยังไม่สามารถแข่งขันได้อยู่ดี

ส่วนประเด็นเรื่องราคาก๊าซ ซึ่งมีรายค่าก๊าซอ่าวไทย 280 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อนำมาผลิตไฟฟ้าคำนวณง่ายๆ จะได้ค่าไฟฟ้าราคาหน่วยละ 2.80 บาท เพราะฉะนั้น ถ้านำก๊าซเมียนมามาผลิตไฟฟ้าจะได้หน่วยละประมาณ 3 บาทกว่าๆ แต่ถ้าใช้ก๊าซ LNG ราคาหน่วยละ 7-8 บาท นั่นแปลว่ายิ่งใช้ LNG มาผลิตไฟฟ้ามากเท่าไหร่ ต้นทุนโดยรวมของค่าไฟฟ้าของไทยก็จะไม่ลดลง

“ผมสังเกตได้ว่าก๊าซในอ่าวไทยเราใช้ผลิตไฟฟ้าประมาณ 45% ของไฟฟ้าที่เราใช้ แล้วเมียนมาใช้ประมาณ 77% ส่วน LNG ใช้ 38% แสดงว่าเราใช้ LNG ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากลดค่าไฟ แน่นอนว่าประเด็นคือเราต้องลดการใช้ของแพงลงมา เพราะถ้าเกิดยังมี LNG ในระบบผลิตไฟฟ้าแน่นอนค่าไฟฟ้าต้องแพง”

นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าสำรองจำนวนมาก ซึ่งการที่มีมากเกินความจำเป็นในเรื่องความมั่นคงที่จะอยู่ที่ประมาณ 15% หากปัจจุบันเราประมาณการความเหนือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เหนือมั่นคงมากไปถึง 40%, 50%, 60% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อันนี้ถือว่ามั่นคงมากเกินไป จนกลายเป็นว่าผู้บริโภคต้องมาแบกรับค่าไฟฟ้าในส่วนนี้

“เราตัดสินใจทุกอย่างสวนทางไปหมด เราบอกว่าเราไม่มีก๊าซธรรมชาติ เราต้องนำเข้ามา แต่ยังตัดสินใจสวนทางสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมากเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน คดี 50% ให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้า ก็มีมติออกมาเลยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจนาด 700 เมกะวัตต์อีก 2 โรง กลายเป็นที่บอกว่าเรากำลังทำสวนทางกับสิ่งที่บอกไว้คือการลดก๊าซเรือนกระจก และโรงไฟฟ้าเรามีล้นเกินเราก็สร้างเพิ่ม มันดูแปลกๆ ในการตัดสินใจแบบนี้”

รศ. ดร.ชาลีเสนอทางออก โดย 1. ให้หยุดอนุมัติสร้างหรือว่าซื้อไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทุกกรณี นั่นหมายความว่าโรงไฟฟ้าที่พึ่งอนุมัติไป 700 เมกะวัตต์ขอให้หยุดเพราะว่ายังไม่ลงมือสร้าง เพราะยิ่งสร้างไปยิ่งเป็นภาระในอนาคต 2. ชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่บางอันเซ็นสัญญาไปแล้วว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน แต่เอกชนยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง ขอให้ชะลอการก่อสร้างไปก่อน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่มาจากก๊าซธรรมชาติ เพราะว่าเราอยากจะลดก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากเป็นต้นทุนให้เกิดค่าไฟฟ้าแพง

3. เจรจาเอกชนลดค่าความพร้อมจ่าย เรามีโรงไฟฟ้าที่มีจำนวนมาก ประมาณ 55% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หลายโรงไฟฟ้ายังไม่ได้เดินเครื่อง บางโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องมามานานประมาณ 5-8 ปี และปัจจุบันได้ค่าพร้อมจ่ายเกือบจะคืนต้นทุนหมดแล้ว โดยยังไม่ได้เดินเครื่องเลย ควรจะเจรจาขอลดค่าความพร้อมจ่ายได้หรือไม่

4. รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่อกว่า LNG ทุกกรณี เพราะว่าถ้าเราไม่ใช้ก๊าซ LNG ถ้าซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ ลม ไบโอแมส ไบโอแก๊ส จะลดการใช้ LNG ลงไปได้ทันที ขณะที่ราคาไฟฟ้าจาก LNG ราคา 6-8 บาท แต่ถ้าเราใช้พลังงานหมุนเวียนอาจจะ 2-4 บาทเท่านั้น

5. ถือเป็นข้อเสนอที่สำคัญมาก และทุกคนมีส่วนร่วมได้คือให้ เปิดเสรี โซลาร์รูฟทอปแบบ Net Metering หมายความว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดโซลาร์รูฟทอปสามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบและนำมาหักปริมาณการใช้ไฟฟ้าจกบิลค่าไฟฟ้าได้หากผลิตเหลือใช้ ซึ่งขณะนี้ประชาชนมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าเอง รอเพียงนโนยบายเท่านั้น

อาทิตย์ เวชกิจ

ยื้อแผน PDP ส่อเจตนาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เสร็จ

ด้าน ‘อาทิตย์ เวชกิจ’ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นว่า การยื้อแผนิ PDP เพราะว่าเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2021 แล้ว ซึ่งในฐานะตัวแทนสภาอุตสาหกรรม ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงพลังงาน มีการประชุมร่วมกันหลายรอบมาก และทวงถามเรื่องแผนการผลิตพลังงานชาติมาตลอด แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงชัดเจนว่ามีการดึงยื้อกัน เพื่อเร่งสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วหรือไม่

“ผมสอบถามทางเจ้าหน้าที่เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าซอสซิล พบว่าขณะนี้เร่งสร้างจะครบแล้ว 6400 เมกะวัตต์ตั้งแต่ไฟฟ้า จึงมีคำถามว่าแผน PDP ไม่ออกมาในช่วงหลายปีมาจากสาเหตุนี้หรือไม่”

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า แผนผลิตพลังงานชาติมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง ล่าสุดชื่อว่า National Energy Plan และภายใต้แผนดังกล่าวมี PDP Power Development Plan โดยมี 5แผน คือมีแผน lternative Energy Development Plan ซึ่งสอดแทรกความเป็นก๊าซธรรมชาติเข้าไปด้วย

“ประเทศไทยไม่มีแผน Renewable Energy เรามีแต่แผน lternative Energy ซึ่งรวมก๊าซธรรมชาติ ไปด้วย เพราะฉะนั้น เวลามีแผนพลังงานก็จะไม่มีสิทธิหนีก๊าซธรรมชาติเลย ซึ่งเมื่อก่อนนี้กลุ่มสภาอุตสาหกรรมมีกลุ่มพลังงานทดแทน แต่เราตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็นกุ่มกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เพราะต้องการจะบอกราชการว่าต้องแยกแยะ เราต้องพูดถึงพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่ปลดปล่อยคาร์บอน แต่ราชการไม่มีในเรื่องนี้”

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า ในอนาคตค่าไฟฟ้ายังแพงต่อไป เนื่องจากรัฐได้ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานเรื่องท่าเรือขนส่งก๊าซ LNG และกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีโควตารวมประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าอาจจะไม่ลดลง

อาทิตย์ยังเห็นว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้ภาคอุตสาหกรรมอาจจะไม่มีเวลาในการปรับตัวไปถึงปี 2050 เนื่องจากอาจจะมีเวลาเพียง 3-8 ปี ต้องมีกระบวนการในการลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก ในหลายประเทศเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ และหากสินค้าจากไทยยังมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจจะมีปัญหาการส่งออก

หรือกระทั่งหากเราไม่สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ อุตสาหกรรมอาจจะย้ายฐานการผลิตเพื่อหาแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อผลิตสินค้า ขณะที่การท่องเที่ยวของเรา ถ้าเราไม่ลดคาร์บอนอีกประมาณ 2-3 ปี ถ้าปัญหาโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น การค้นหาโรงแรมหากไม่มีกระบวนการลดก๊าซคาร์บอน อาจจะส่งผลต่อการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเช่นกัน

“ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มลดคาร์บอนในส่วนของตัวเองที่ทำได้ และส่วนที่สองคือการลดที่ซัพพลายเชน คือต้นทางที่ผลิตพลังงานให้เราจะมีพลังงานสะอาดใช้เมื่อไหร ซึ่งโรงงานที่จะมาตั้งในประเทศไทย ถ้าเขาไม่เห็นว่ามีความพร้อมในเรื่องพลังงานสะอาด เขาอาจจะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นได้เช่นกัน”

National Energy Plan จึงมีความสำคัญมาก เพราะว่าโรงงานดูแลตัวเองในส่วนการผลิตได้ แต่การใช้พลังงานเราดูแลไม่ได้จึงอยากเห็นการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ปัจจุบันเรามีมากเป็นพันเท่า ทั้งโซลาร์ ลม น้ำขึ้นน้ำลง เรามีพลังงานหมุนเวียนมากเพียงพอที่จะไม่ต้องใช้ฟอสซิลเลย เรามีพลังงานสะอาดใช้ตลอดไม่มีวันหมด

วิญญู วงศ์สุรวัฒน์

ต้องมีประชาธิปไตย ค่าไฟจะถูกลง

ขณะที่ ‘วิญญู วงศ์สุรวัฒน์’ พิธีกรและนักจัดรายการจาก Spoke Dark TV มองว่าปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงมาจากปัญหาใหญ่คือโครงสร้างทางการเมือง ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เพราะว่ารัฐบาลไม่มีประชาธิปไตย ทำให้เสียงที่สะท้อนจากทั้งประชาชนและภาคเอกชนไม่ได้รับการรับฟังเพียงพอ

“ปอกเปลือกหัวหอมพอถึงตรงกลางแล้วอาจะโบ๋ก็ได้ เรากำลังไปสู่ตรงที่เคว้งคว้างว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ ผมพยายามเรียกร้องและผลักดันเสมอมาคือเรื่องของประชาธิปไตยเท่านั้น เอาแค่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ผลักดันกันมานาน ภาคเอกชนเองก็พยายามเสนอไปแล้วแต่เขาไม่ฟัง แล้วยังรวมไปถึงเรื่องของความพยายามฝังค่าจากในสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า หรือพยายามเร่งสร้างโรงไฟฟ้าโดยที่ไม่ฟังเสียงคัดค้านด้วยซ้ำ”

วิญญูบอกว่า อาจจะดูเป็นเรื่องน่าเบื่อเพราะส่วนตัวแล้วพูดเรื่องนี้มานานกว่า 15 ปี ทุกอย่างมันวนกลับมาที่เรื่องการเมืองและประชาธิปไตย หลักๆ คือประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นปัญหาคือประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เขาไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่

สุดท้ายวิญญูเห็นว่าทุกคนในสังคมต้องไม่ปล่อยผ่าน เราทุกคนต้องรับผิดชอบ เราต้องไม่ยอมให้เรื่องเหล่านี้ผ่านไป เราผลิตไฟฟ้าล้นเกินไป 50% ทั้งๆ ที่ 15% ก็บอกถึงความมั่นคงแล้ว แล้วเราปล่อยผ่านไปหลายเรื่องไปอีกหรือไม่ เช่น ที่ผ่านมาเราปล่อยผ่านเรื่องการทำรัฐประหาร ก็นิรโทษกรรมกันไป ดำเนินชีวิตต่อไป ก็ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่จะดูแลรับผิดชอบ ประชาชนต้องส่งเสียง และประชาชนต้องช่วยกันด้วย