ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > หมดยุคค่าไฟถูก (ตอนที่ 1) : ก๊าซอ่าวไทยกำลังจะหมด

หมดยุคค่าไฟถูก (ตอนที่ 1) : ก๊าซอ่าวไทยกำลังจะหมด

2 มิถุนายน 2022


เลขาธิการ กกพ. กางต้นทุนราคาพลังงาน แจงเหตุค่าไฟแพง วอนประชาชนทำใจ-ราคาพลังงานขึ้นยกแผง-ก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยกำลังจะหมด-ต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาใช้ปั่นไฟแทน-ส่งสัญญาณเดือน ก.ค. นี้ เตรียมปรับค่าไฟขึ้นอีกยูนิตละ 40 สตางค์ หลังสัดส่วนการใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 40% ใกล้เคียงก๊าซอ่าวไทย

หลายคนอาจเกิดคำถามคาใจ ทำไมช่วงนี้ค่าไฟฟ้าแพง ทั้งกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บริหารจัดการกันอย่างไร ทำไมปล่อยให้ค่าไฟฟ้าลอยตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2565 จากราคาหน่วยละ 3.78 บาท ปรับเป็น 4 บาทต่อหน่วยในรอบเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และล่าสุดก็มีข่าวว่าคณะกรรมการ กพพ. กำลังจะอนุมัติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.40 บาทต่อหน่วยในรอบเดือนกรกฎาคมนี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงเอาประเด็นนี้ไปถามนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ.

ก่อนเข้าสู่ประเด็นที่ถาม เลขาธิการ กกพ. ได้อธิบายให้เห็นถึงภาพรวมของการใช้พลังงาน หรือเชื้อเพลิงจากแหล่งต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ข้อมูลของปี 2563 มาใช้ประกอบการบรรยาย แหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หลักๆ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก ก๊าซธรรมชาติใช้ผลิตไฟฟ้าประมาณ 56.2% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน โดยก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (100%) ได้มาจากอ่าวไทย 65.7% จากเมียนมา 16.2% และก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 18.1%

กลุ่มที่ 2 พลังงานหรือเชื้อเพลิงรูปแบบอื่น ประมาณ 43.8% ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วย พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์, ลม, ขยะ, Biogas รวมกันประมาณ 10.1% ส่วนที่เหลือเป็นไฟฟ้าที่ไปซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน 13.94%, ถ่านหิน 9.24%, ลิกไนต์ 8.23%, พลังงานน้ำ 2.2% และ น้ำมันเตา ดีเซล 0.05% เป็นต้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

รวมแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เราเรียกว่า “generation mix” โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปขายส่งให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และภาคเอกชน

ข้อดีของระบบ generation mix คือ “หากราคาก๊าซธรรมชาติผันผวน หรือราคาแพงขึ้น เราก็เปลี่ยนไปใช้พลังงานรูปแบบอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าของเอกชนที่ขายไฟฟ้าให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ถ้าก๊าซราคาถูกก็กำไร แต่ถ้าก๊าซราคาแพงก็ขาดทุน แต่ก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากนโยบายตรึงราคาค่า FT ทำให้ไม่สามารถปรับราคาค่าไฟฟ้าให้ขึ้น-ลงตามต้นทุนของเชื้อเพลิงได้”

ปี 2563 ก็ยังไม่มีประเด็นอะไร เพียงแต่ต้องการปูพื้นฐานให้เห็นภาพรวมของการบริหารจัดการพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้า กลุ่มแรก ก๊าซธรรมชาติใช้ 56.2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมา ส่วนก๊าซ LNG จากต่างประเทศใช้อยู่ประมาณ 18% กับกลุ่มที่ 2 พลังงานรูปแบบอื่นๆ ใช้อยู่ประมาณ 43.8%

จนกระทั่งมาถึงปี 2564 ประเด็นก็เริ่มเกิด ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง จากปี 2563 มีสัดส่วน 65.7% ปี 2564 ลดลงเหลือ 63.3% ก๊าซจากเมียนมาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จากสัดส่วนเดิม 16.2% ลดลงเหลือ 16% ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่ม จากเดิมมีสัดส่วน 18% เพิ่มเป็น 20.6%

“เปรียบเทียบข้อมูลการใช้ก๊าซธรรมชาติ 2 ปี เราเริ่มรับรู้แล้วว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เพราะก๊าซ LNG ที่นำมาใช้ทดแทนก๊าซในอ่าวไทยมีราคาแพงกว่า ปรากฏว่ามาเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้นอีก ทำให้ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เกิดสงคราม ต้นทุนพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าก็ต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว เพราะก๊าซอ่าวไทยราคาถูกกำลังจะหมดลง ต้องไปนำก๊าซ LNG ราคาแพงมาปั่นไฟแทน ตรงนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง” นายคมกฤชกล่าว

ถ้าไปดูปริมาณความต้องการใช้ และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2561-2580 หรือ “Gas Plan” จะได้เห็นว่า กราฟแท่งสีแดงซึ่งเป็นก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กราฟแท่งสีเหลือง เป็นก๊าซ LNG ที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน กรณีแบบนี้ ถ้าไม่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ก็ต้องแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะทรัพยากรราคาถูกในอ่าวไทยทยอยลดลง จึงจำเป็นต้องสั่งซื้อก๊าซ LNG ราคาแพงจากต่างประเทศเข้ามาแทนที่

ส่วนความต้องการใช้ก๊าซโดยภาพรวมที่กำหนดไว้ใน Gas Plan เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี คาดการณ์ว่าในปี 2580 จะมีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซอยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) หากแยกเป็นรายภาคอุตสาหกรรม พบว่าภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมยังต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซต่อไปอีก 20 ปี ส่วนโรงแยกก๊าซ กับภาคการขนส่งปรับตัวลดลง ยิ่งราคาก๊าซแพงขึ้นไปเรื่อยๆ นำมาใช้ในภาคขนส่งก็ไม่คุ้ม

“ประเด็นก็คือก๊าซอ่าวไทยราคาถูกกำลังลดลง ก็ต้องไปซื้อ LNG ราคาแพงมาใช้แทน ยิ่งใช้ LNG มากเท่าไหร่ ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าก็จะยิ่งแพงขึ้น ถามว่าถ้าไม่ใช้ LNG แล้วเราจะไปใช้อะไร มันก็ไม่มี มีแต่ LNG ถามว่าในอนาคต ถ้าเรายังต้องพึ่งพาก๊าซต่อไป ต้องมาวางแผนบริหารจัดการก๊าซกันใหม่หรือไม่”

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีแอลเอ็นจีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรก ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีถังที่ใช้กักเก็บก๊าซ 4 ใบ ส่วนแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง กำลังเร่งก่อสร้างใกล้จะเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้

เรือบรรทุกก๊าซ LNG ลำหนึ่ง เติมก๊าซลงในถังกักเก็บได้ 1 ใบ ใช้ได้ 2 วันก็หมด ทำให้มีการสั่งซื้อ LNG ทั้ง spot และ long term เข้ามาเติมในถังอยู่ตลอดเวลา อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีถังเก็บ LNG เป็นจำนวนมาก ส่วนประเทศสิงค์โปร์มีถังเก็บ LNG ไม่มาก แต่ระบบเครือข่ายดี สามารถสำรองก๊าซไว้ใช้ได้นานถึง 15 วัน หากเรายังต้องพึ่งพาก๊าซ LNG ต่อไป ควรลงทุนสร้างถังเก็บ LNG เพิ่มหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการวางแผนในระยาวกันใหม่ กกพ. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลคงจะเข้าไปแก้ปัญหาอะไรได้ไม่มากนัก แต่ให้ความคิดเห็นได้ ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นหน้าที่ของ กกพ. ที่ต้องเข้าไปแก้ไข

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงไปเร็วกว่าที่กำหนดใน Gas Plan โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของระบบสัมปทานกับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ถ้าจะให้พูดตรงๆ คือ ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนประกาศหรือทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเลยว่าก๊าซในอ่าวไทยมันหายไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ หรือเหลือก๊าซในอ่าวเท่าไหร่ มีแต่ออกมาให้ข่าวว่าผู้กำกับดูแลไม่ยอมอนุมัติให้สั่งซื้อก๊าซ LNG ผมจะไปอนุมัติให้ได้อย่างไร ในเมื่อข้อมูลของทางการระบุว่าก๊าซในอ่าวไทยยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก หากอนุญาตให้นำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาแล้วไม่มีที่เก็บจะเอาไปทิ้งที่ไหน อาจจะถูกตั้งกรรมการสอบสวนได้ ดังนั้น การบริหารจัดการก๊าซจึงต้องบาลานซ์ให้ดี และที่สำคัญข้อมูลที่ใช้ในการบริหารก็ต้องชัดเจนด้วย ” นายคมกฤชกล่าว

ส่วนภาพนี้ก็เป็นข้อมูลการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2562-2565 กราฟแท่งสีน้ำเงิน คือ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย กราฟแท่งสีเขียวเป็นก๊าซจากพม่า กราฟแท่งสีเหลืองเป็นก๊าซ LNG ที่นำเข้าโดย ปตท. และสีม่วงนำเข้าโดย กฟผ. ซึ่งในบางช่วงก็มีการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าด้วย ถ้ารวมทั้งแท่งก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น ซึ่ง กกพ. ก็ต้องบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าโดยภาพรวมให้ได้ราคาถูกที่สุด เช่น ถ้า LNG แพง เราไม่นำเข้ามา เปลี่ยนไปใช้น้ำมันแทน เป็นต้น

ที่ผ่านมา กกพ. ได้มีทำกราฟเส้นขึ้นมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ระหว่างราคา LNG spot กับราคาน้ำมันดีเซล เชื้อเพลิงประเภทไหนถูกกว่า ก็ใช้เชื้อเพลิงประเภทนั้นผลิตไฟฟ้า ยกตัวอย่าง ราคา LNG spot อยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU ราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตร แต่ตอนนี้ราคา LNG spot อยู่ที่ 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 32-33 บาท ตอนนี้เราจึงหันไปใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพราะราคาถูกกว่า เป็นต้น

ถัดมาเป็นเรื่องราคาซื้อ-ขายก๊าซ LNG spot ที่ตลาดเกาหลีและญี่ปุ่น ในปี 2015 ราคา LNG เริ่มต้นที่ประมาณ 16 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU จากนั้นในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ราคา LNG ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU ช่วงโควิดฯ ระบาดไม่มีประเทศไหนลงทุนสร้างถังเก็บก๊าซเพิ่มเติม เพราะลงทุนไปแล้วไม่รู้ว่าจะขายก๊าซได้หรือไม่ แต่พอมาถึงช่วงปลายปี 2564 สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว ทุกประเทศทั่วโลกต้องการพลังงาน จึงวิ่งเข้ามาหาซื้อก๊าซ LNG ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคา LNG Spot ขึ้นไปสูงผิดปกติ เป็นจังหวะที่ก๊าซในอ่าวไทยลดลง จึงจำเป็นต้องไปซื้อ LNG ราคาแพงเข้ามาเสริม ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

ช่วงที่ LNG ราคาแพง กระทรวงพลังงาน และ กกพ. ก็ไปหารือกับกรมสรรพสามิตเพื่อขอยกเว้นภาษีน้ำมันดีเซลกับน้ำมันเตา เพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ LNG ซึ่งมีราคาแพงกว่า โดยปกติกรมสรรพสามิตก็ไม่ได้เก็บภาษีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว เพราะใช้ก๊าซ LNG ผลิตไฟฟ้า แต่พอก๊าซราคาแพง ขอกลับไปใช้น้ำมันจะมาเก็บภาษีเราทำไม ยกเว้นภาษีให้ก็ไม่กระทบกับประมาณการรายได้ เพราะไม่เคยจัดเก็บ ตอนแรกกรมสรรพสามิตไม่ยอม แต่สุดท้ายก็ยอมให้กระทรวงการคลังเสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติยกเว้นภาษีดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว

หลังจากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย ผลปรากฏว่าในการปฏิบัติกรมสรรพสามิตไม่สามารถยกเว้นภาษีน้ำมันให้ได้ โดยโรงไฟฟ้าที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีน้ำมันดีเซลต้องไปซื้อน้ำมันดีเซลมาจากโรงกลั่นน้ำมันโดยตรงเท่านั้น แต่ถ้าไปซื้อมาจากผู้ประกอบการคลังน้ำมัน กรณีนี้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซลมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ก็ต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันกับประชาชนที่ใช้รถกระบะ คือได้ลดอัตราภาษีลง 50%

ส่วนภาพนี้ก็จะเป็น LNG ที่ประเทศไทยต้องจัดหาเพิ่มในช่วงปี 2565-2580 คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ก๊าซในอ่าวไทยก็คงจะหมด หรืออาจจะเร็วกว่านี้ จากเดิมที่เคยพึ่งพาก๊าซจากอ่าวไทยมาใช้ผลิตไฟฟ้า 60% ก็จะเปลี่ยนมาเป็นก๊าซ LNG แทน ระหว่างนี้เราก็จะต้องลงทุนสร้างสถานี LNG เพื่อขยายถังกักเก็บก๊าซ LNG เพิ่มเติม ยกเว้นจะค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ อย่างในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

หากพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ที่มีปริมาณมากเทียบเท่าอ่าวไทย ข้อมูลและภาพที่บรรยายมาทั้งหมดก็จะเปลี่ยนไป ถังบรรจุก๊าซ LNG ที่ลงทุนก่อสร้าง และสัญญา LNG ที่สั่งซื้อไปแล้วจะทำอย่างไร เป็นประเด็นที่จะต้องบริหารจัดการกันต่อไปในอนาคต แต่ที่สำคัญ เรื่องข้อมูลการจัดหาก๊าซธรรมชาติมีความสำคัญมาก และจะต้องมีความชัดเจนด้วย

สุดท้ายเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศไทยในช่วงปี 2544 ถึง 2565 จะเห็นว่าราคาค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดย กกพ. ได้ทำการวิเคราะห์ต้นทุน และจัดทำประมาณการค่าไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าในปี 2557 ค่าไฟฟ้าขึ้นไปสูงถึงยูนิตละ 3.962 บาท ช่วงนี้เราใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด, ก๊าซจากเมียนมาร์เกือบ 26% และก๊าซจากอ่าวไทยอีก 66% รวมราคาต้นทุนก๊าซที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า (pool gas) อยู่ที่ 321 บาทต่อล้าน BTU

จากนั้น ค่าไฟฟ้าลดลงมาตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ไวรัส โควิดฯระบาด ช่วงนี้รัฐบาลประกาศตรึงราคาค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ยูนิตละ 3.78 บาท ช่วงนี้สัดส่วนการใช้ LNG ในการผลิตไฟฟ้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จากสัดส่วน 8% เพิ่มเป็น 21% ช่วงนี้ก็ยังไม่รู้สึกอะไร เพราะ LNG ราคาถูกมาก แค่ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน BTU ตามที่กล่าวข้างต้น

แต่พอมาถึงช่วงปลายปี 2564 เราใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 33% ตรงกับจังหวะที่ LNG ในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเพิ่มเป็น 376 บาทต่อล้าน BTU ราคาค่าไฟฟ้าจึงขยับขึ้นไปเป็น 4 บาทต่อยูนิต และสุดท้าย กกพ. ได้ทำประมาณการค่าไฟฟ้างวดถัดไปเอาไว้ คือ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 คาดว่าสัดส่วนการใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 40% ใกล้เคียงกับปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 41% และเมื่อนำเข้ามารวมใน pool gas ราคาต้นทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 422 บาทต่อล้าน BTU คาดว่าค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกรกฎาคมนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.40 บาทต่อยูนิต ซึ่งจะมีการนำเสนอที่ประชุมบอร์ด กกพ. พิจารณาในเร็วๆ นี้

เลขาธิการ กพพ. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากบรรยายสถานการณ์ราคาพลังงาน และการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เจตนาคือ ต้องให้คนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องการใช้พลังงาน ควรใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่า เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเหลือน้อยลงไปทุกวัน ของถูกกำลังจะหมดไป ของแพงเข้ามาแทนที่ จากนี้ไปคนไทยก็คงไม่ได้กลับไปใช้ไฟฟ้าราคาถูกเหมือนในอดีตอีกต่อไป ส่วนในอนาคตจะบริหารจัดการอย่างไร อ่านตอนต่อไป

หมดยุคค่าไฟราคาถูก ตอนที่ 2: กพพ. เร่งเปิดเสรี รองรับก๊าซอ่าวไทยหมด