ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ดึง 8 Shipper เข้า “Pool Gas” ใครได้ประโยชน์ – ตั้ง “พัฒน์ ศิริโมชดารา” ผอ.จัดหา – กำหนดราคา

ดึง 8 Shipper เข้า “Pool Gas” ใครได้ประโยชน์ – ตั้ง “พัฒน์ ศิริโมชดารา” ผอ.จัดหา – กำหนดราคา

20 กุมภาพันธ์ 2023


ที่มาภาพ : www.egat.co.th/egattoday/

กพช. ทบทวนแผนเปิดเสรีซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติ เฟส 2 ดึง 8 Shipper นำ LNG เข้ามาเฉลี่ยใน “Pool Gas” ใครได้-ใครเสียประโยชน์? ด้าน กกพ.ขานรับนโยบาย ประกาศผลคัดเลือก “พัฒน์ ศิริโมชดารา” นั่ง ผอ. ฝ่ายกำกับการจัดหา – กำหนดราคา – ควบคุมระบบรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติ

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนกว่า 53% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ที่เหลือเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตา ดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ ลม ขยะ และไฟฟ้าที่ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรมมีที่มาจาก 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย, ก๊าซจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง 2 แหล่งแรกมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ จึงต้องนำเข้า LNG มาช่วยเสริม เพื่อให้ supply เพียงพอกับ demand

กระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดที่จะเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2557 โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานทยอยออกประกาศข้อกำหนดเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีแอลเอ็นจี (third party access code — TPA Code) เพื่อส่งเสริมให้การแข่งขันประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม รวมทั้งได้มีการเคลียร์เรื่องค่าผ่านท่อทั้งบนบกและในทะเลให้เกิดความเป็นธรรม

จากนั้น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 1 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นรายที่ 2 จากเดิมมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพียงเจ้าเดียวที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ “PTT Shipper” มาตั้งแต่ปี 2552 และให้ ปตท. ทำหน้าที่บริหารจัดการ “pool gas” โดยมอบหมายให้ กฟผ. ทดลองนำเข้า LNG แบบ spot เป็นโครงการนำร่อง เพื่อทดสอบปัญหาอุปสรรค และระบบเชื่อมต่อเข้าท่อส่งก๊าซ ก่อนเข้าสู่แนวทางการส่งเสริมกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2

ในช่วงปี 2563 กกพ. ได้ให้ใบอนุญาตจัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มอีก 3 ราย คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF), บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH), และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BGRIM”

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ประชุม กพช. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยแบ่งการกำกับดูแลกิจการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. (regulated market) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจาก old supply และ shipper ที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ เช่น กฟผ., บริษัท หินกองฯ กับกลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ, ภาคอุตสาหกรรม และกิจการของตนเอง (partially regulated market) เช่น GULF, BGRIM โดยในปี 2564 กกพ. ให้ใบอนุญาต shipper เพิ่มอีก 3 ราย คือ บริษัท PTT Global LNG Company Limited (PTTGL), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) สรุป กกพ. ได้ให้ใบอนุญาต shipper ไปทั้งหมด 8 ราย

ปรากฏว่า แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 มีปัญหาเรื่องการแข่งขันด้านราคา ระหว่าง shipper รายเก่าที่อยู่ใน pool gas กับ shipper รายใหม่ที่อยู่นอก pool gas เกิดความเหลื่อมล้ำในการคิดราคาก๊าซ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อ shipper รายใหม่ไปนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าก๊าซอ่าวไทย มาใช้ผลิตไฟฟ้าโดยตรง (regulated market) ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้น้ำมันเตา และดีเซล ที่นำมาใช้ปั่นไฟแทน LNG ที่มีราคาแพง ก็ถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าโดยตรง ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแทนผู้ใช้ก๊าซในภาคธุรกิจอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคขนส่ง

ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จึงทำข้อเสนอถึง กพช. ขอให้ทบทวนกลไกการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติในกลุ่มที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยตรงกันใหม่ โดยให้คำนึงถึงต้นทุนด้านพลังงานของประเทศในภาพรวม และไม่สร้างภาระให้ผู้ใช้พลังงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปในรูปแบบของ “energy pool price”

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุม กพช. จึงมีมติทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ใหม่ โดยแบ่งโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ ปตท. หรือ “PTT Shipper” บริหารการจัดหาก๊าซธรรมชาติตามสัญญาเก่าที่ลงนามผูกพันแล้ว หรือ “old supply” เพื่อจำหน่ายเข้า pool gas ต่อไป รวมทั้งบริหารจัดการ shipper ที่ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ โดยให้ กกพ. กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ take or pay

2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ shipper ทุกราย ในกลุ่ม regulated market ขาย LNG ที่จัดหาได้ให้กับ pool manager เพื่อนำไปรวมเป็น pool gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก pool gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า pool gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ pool gas ของประเทศ (pool manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง shipper กับ pool manager รวมทั้ง ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการขนส่ง (transmission system operator — TSO) เป็นนิติบุคคลใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ shipper ในกลุ่ม regulated market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก pool manager ในราคา pool gas ตามปริมาณ LNG ที่ shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ shipper ในกลุ่ม partially regulated market ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง

ถามว่าการให้ shipper ทุกรายในกลุ่ม regulated market ไปจัดหา LNG นำมาขายเข้า Pool gas จะได้ประโยชน์อย่างไรนั้น

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจ ความหมายของคำว่า “pool gas” ในที่นี้ หมายถึง ก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ., ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP), ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ซึ่งภายใน pool gas จะประกอบไปด้วยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มาจากโรงแยกก๊าซของ ปตท., ก๊าซจากเมียนมาร์ และ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมี ปตท.เป็นผู้บริหารจัดการ และมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่คำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (energy pool price — EPP) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.นำข้อมูลราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติจาก pool gas, LNG, LPG, น้ำมันเตา, ดีเซล และเชื้อเพลิงอื่นมาคำนวณหาราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก เมื่อกำหนดราคาเสร็จเรียบร้อย ก็ส่งให้ PTT shipper นำไปกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ ขายให้ลูกค้าผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทุกราย ทั้งโรงไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ที่ใช้ในภาคขนส่ง

และเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ จึงขอนำข้อมูลสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มาเป็นตัวอย่าง จะเห็นว่า ในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังผ่านโรงแยกก๊าซแล้วจะมีราคาถูกที่สุด โดยเดือนพฤศจิกายน 2565 จะมีราคาอยู่ที่ 243 บาท/ล้านบีทียู เดือนธันวาคม 2565 ราคาลดลงมาอยู่ที่ 238 บาท/ล้านบีทียู ลำดับถัดมาก็จะเป็นก๊าซจากเมียนมา เดือนพฤศจิกายน 2565 ราคาอยู่ที่ 393 บาท/ล้านบีทียู เดือนธันวาคม 2565 ราคาลดลงมาอยู่ที่ 375 บาท/ล้านบีทียู และที่แพงที่สุดคือก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2565 ราคาอยู่ที่ 717 บาท/ล้านบีทียู เดือนธันวาคม 2565 ราคาลดลงมาอยู่ที่ 599 บาท/ล้านบีทียู

แต่เมื่อนำราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 3 แหล่งเข้ามาอยู่ใน pool gas คำนวณหาราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ราคา pool gas เดือนพฤศจิกายน 2565 จะมีราคาอยู่ที่ 441 บาท/ล้านบีทียู เดือนธันวาคม 2565 ราคาลดลงเหลือ 376 บาท/ล้านบีทียู

ดังนั้น การที่ กพช. มีมติให้ shipper ทุกราย ในกลุ่ม regulated market ขาย LNG ที่จัดหาได้ขายเข้า pool gas ก็จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติของ shipper ลดลง shipper รายใหม่สามารถแข่งขันราคากับ shipper รายเก่าอย่าง กฟผ. หรือบริษัท หินกองฯได้ สมมติ shipper รายใหม่ นำเข้า LNG มา 2 แสนตัน ขายเข้า pool gas สามารถซื้อออกจาก pool gas ไปขายให้กับลูกค้าในปริมาณที่จัดหาได้ แต่ราคาถูกลง เพราะมีก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยและเมียนมาร์ใน pool gas มาช่วยหารเฉลี่ย

ในทางกลับกัน หาก LNG ในตลาดโลกราคาถูกลง shipper สามารถนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมของตนเองได้โดยไม่ผ่าน pool gas ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ส่วนกลุ่มลูกค้าเก่าที่เคยใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทยมานาน อย่างเช่น อุตสาหกรรมแก้ว กระจก ขวดแก้ว เหล็ก NGV จากนี้ไปราคาคงจะไม่เหมือนเดิม เพราะมี LNG ราคาแพงเข้ามาถัวเฉลี่ยใน pool gas ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

หลังจากที่ กพช. มีมติทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไป ทาง กกพ. ก็จะต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ ปริมาณการจัดหา LNG ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ เสนอ กพช. เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนที่จะเปิดให้ shipper รายใหม่ นำเข้าก๊าซธรรมชาติภายในปีนี้

ที่มาภาพ : Facebook กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ได้ลงนามประกาศผลการคัดเลือกนายพัฒน์ ศิริโมชดารา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการจัดหา และการควบคุมระบบก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ทำหน้าที่กำกับในเรื่องของราคา และปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสมเพียงพอกับต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้ Shipper เอกชนจัดหาก๊าซมาผ่านท่อและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติ ตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2