ThaiPublica > เกาะกระแส > ThaiPublica Survey : ภารกิจแก้ ‘น้ำท่วม’ กทม. ด้วย ‘อุโมงค์ยักษ์’ กลไกเร่งการระบายสูู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ThaiPublica Survey : ภารกิจแก้ ‘น้ำท่วม’ กทม. ด้วย ‘อุโมงค์ยักษ์’ กลไกเร่งการระบายสูู่แม่น้ำเจ้าพระยา

28 มีนาคม 2023


อุโมงค์มักกะสัน ความยาว 5.98 กิโลเมตร

‘อุโมงค์ระบายน้ำ’ หรือที่เรียกว่า ‘อุโมงค์ยักษ์’ คือหนึ่งในเครื่องมือบริหารจัดการน้ำของ กทม. ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำทุกรูปแบบ ตั้งแต่น้ำท่วม น้ำหนุน น้ำเน่า ตลอดจนการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ทว่าอุโมงค์ระบายน้ำกลับกลายเป็นสิ่งตกสำรวจในสายตาของประชาชน เพราะด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในอุโมงค์ที่อยู่ลึกใต้ดินกว่า 30 เมตร ประกอบกับผลงานของอุโมงค์ที่ไม่เห็นเป็นรูปธรรมเมื่อเทียบกับเครื่องมือบริหารจัดการน้ำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่อระบายน้ำ เรือเก็บขยะ หรือสถานีสูบน้ำ

การทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำจะช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ํา เข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงที่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ําเจ้าพระยา ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี

ปริมาณขยะในอุโมงค์มากกว่า 100 ตันต่อปี
ต้องใช้คนเก็บเท่านั้น

ขวดน้ำพลาสติกตัวการปัญหาหลักการระบายน้ำ

เก็บแล้วใส่ big bag นำขึ้นมา

ไทยพับลิก้า สำรวจข้อมูลและการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำของกทม. พบว่า ปัจจุบัน กทม. มีอุโมงค์ระบายน้ําขนาดใหญ่ 4 แห่งที่เปิดใช้งานแล้ว มีความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ํา รวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนี้

  • โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.4 เมตร ความยาว 1.88 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร 3.5 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่และดอนเมือง
  • อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ท่อระบายน้ำใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.6 กิโลเมตร ความยาว 5.98 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมือง 26 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวางและดินแดง
  • อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 5.11 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว
  • อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณ ถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อออกแม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 6.4 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต
  • ทั้งนี้ กทม. แผนสร้างอุโมงค์ระบายน้ำมีทั้งหมด 6 แห่ง (เปิดใช้งานแล้ว 4 แห่ง) ความยาวรวม 39.625 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพระบายน้ำรวม 238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

    “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” สรุปบทเรียน “จัดการน้ำรอระบาย” ใช้นวัตกรรมคันกั้นน้ำ เร่งดันน้ำเข้าอุโมงค์ยักษ์

    “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบาย” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”

    สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน

    ThaiPublica Survey : เอาคนขึ้นจากคลอง ‘เปรมประชากร’ คืนสภาพ floodway เป้าหมายที่ยังไม่มีคำตอบ

    วาระซ่อมกรุงเทพฯ: 1 เดือนกับการซ่อมสร้าง แก้น้ำรอระบายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม “ขุดลอกท่อ-ซ่อมสถานีสูบ”

    กลไกที่มาทำงานควบคู่กับอุโมงค์คือ ท่อระบายน้ำโดยวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) ซึ่งอยู่ชั้นใต้ดินและท่อจะสูบน้ำไปยังอุโมงค์

    ในปี 2566 กรุงเทพมหานครมีท่อระบายน้ำ 10 โครงการตามพื้นที่ต่างๆ โดยส่วนนี้มาจากมติ ครม. ปี 2558 โดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(ขณะนั้น) เสนอให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสร้างให้เสร็จภายในปี 2559-2565 รายละเอียด ดังนี้

    1. ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) งบประมาณ 113 ล้านบาท
    2. ถนนศรีอยุธยาและถนนพระราม 6 งบประมาณ 362.5 ล้านบาท
    3. ถนนพหลโยธินบริเวณแยกเกษตรศาสตร์ งบประมาณ 172.8 ล้านบาท
    4. ซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี งบประมาณ 173.75 ล้านบาท
    5. ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) งบประมาณ 334.5 ล้านบาท
    6. ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง งบประมาณ 101.5 ล้านบาท
    7. ซอยสุขุมวิท 4 (นานาใต้) งบประมาณ 141.4 ล้านบาท
    8. ซอยสุขุมวิท 93 งบประมาณ 218 ล้านบาท
    9. ถนนนราธิวาชราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู 35.6 ล้านบาท
    10. ซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา งบประมาณ 182.9 ล้านบาท
    11. ถนนอู่ทองนอก (ลานพระราชวังดุสิต) งบประมาณ 70 ล้านบาท (งบของกทม.)
    12. ถนนจันทน์ งบประมาณ 207 ล้านบาท (งบกทม.10% และงบอุดหนุน 90%)
    13. ถนนสุวินทวงศ์ งบประมาณ 82.4 ล้านบาท (งบกทม.10% และงบอุดหนุน 90%)
    อาคารรับน้ำบึงมักกะสัน ความลึก 24 เมตร

    นอกจากนี้กทม. ยังมีกลไกอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การจัดหา บึง สระเพื่อเป็นแก้มลิง ปัจจุบันกทม.มีบึงจำนวน 34 แห่ง รองรับน้ำได้ 13.68 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยมีระบบเรดาร์ตรวจอากาศ วัดปริมาณฝน วัดน้ำท่วมถนน วัดรูปแบบน้ำต่างๆ จะอัพเดทข้อมูลทุก 5 นาที

    สรุปแล้ว หลักการของอุโมงค์ระบายน้ำคล้ายการเป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่ววม และเร่งระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สำคัญคือช่วยในการเจือจางน้ำเน่าเสียในคลอง

    ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีคู คลองระบายน้ำ จำนวน 1,980 คลอง ความยาวรวมประมาณ 2,743 กิโลเมตร มีท่อระบายน้ำ ความยาวประมาณ 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 2,050 กิโลเมตร และในตรอก ซอย ประมาณ 4,514 กิโลเมตร มีสถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 316 แห่ง