ThaiPublica > เกาะกระแส > ThaiPublica Survey : เอาคนขึ้นจากคลอง ‘เปรมประชากร’ คืนสภาพ floodway เป้าหมายที่ยังไม่มีคำตอบ

ThaiPublica Survey : เอาคนขึ้นจากคลอง ‘เปรมประชากร’ คืนสภาพ floodway เป้าหมายที่ยังไม่มีคำตอบ

12 มีนาคม 2023


คลองเปรมประชากร

หนึ่งในถนนสำคัญสายหนึ่งของกรุงเทพฯ คือถนนสายวิภาวดี-รังสิต เป็นทั้งเส้นทางคมนาคม จุดเชื่อมต่อ บ้านเรือน แหล่งเศรษฐกิจ และสถานที่สำคัญต่างๆ

ทว่าถนนวิภาวดี-รังสิต ไม่ได้มีแค่ความสำคัญข้างต้นเท่านั้น เพราะตลอดระยะทางกว่า 22 กิโลเมตร ตั้งแต่วัดเสมียณนารี ถึงสำนักงานเขตดอนเมือง ยังมีทรัพยากรที่สำคัญอย่าง ‘คลองเปรมประชากร’ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 คลองสายหลักของเมืองหลวงแห่งนี้

แต่ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา คลองเปรมประชากรประสบปัญหา บ้านรุกล้ำ ผลคือทางน้ำแคบลง คลองจุน้ำได้น้อยลง สุดท้ายเกิดน้ำท่วม และท่วมหนักกว่าที่อื่น นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น น้ำเน่า น้ำเสีย ขยะชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ รวมถึงสิ่งกีดขวางทางสัญจรระบายน้ำ

‘ไทยพับลิก้า’ ได้ลงพื้นที่กับที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. นำโดยนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ในการตรวจติดตามโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรและนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

จุดเริ่มต้นคือท่าน้ำบริเวณวัดเสมียนนารี สิ้นสุดที่สำนักงานเขตดอนเมือง ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร กับเวลากว่า 1 ชั่วโมง พบแนวบ้านรุกล้ำริมคลองตลอดเส้นทาง อีกทั้งบางจุดยังมีน้ำเน่าเสียมีกลิ่นเหม็น จากสาเหตุหลักคือขยะและสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน

ขณะเดียวกันต้นเหตุของน้ำเน่าเสียยังมาจาก ความกว้างของคลองที่ลดน้อยลงเหลือ 8-10 เมตร จนไม่สามารถขุดลอกคลอง หรือพัฒนาเขื่อนคลองหรือสิ่งก่อสร้างได้ ซึ่งตามหลักการแล้วคลองเปรมประชากรควรจะมีความกว้างอย่างน้อย 30 เมตร

เมื่อเรือใกล้ถึงสำนักงานเขตดอนเมือง เลน-ดินโคลนยังทำให้เรือไม่สามารถสัญจรต่อไปได้ ไม่เฉพาะเรือเก็บขยะขนาดใหญ่ของกทม.เท่านั้น แต่รวมถึงเรือขนาดเล็กที่ใช้สำหรับตรวจงานด้วย

เลนและดินโคลนที่สูงขึ้นยังเป็นผลมาจากบ้านรุกล้ำริมคลอง เพราะความกว้างคลองที่แคบลง ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเวียนหรือเข้ามาบริหารจัดการได้ ยิ่งเวลาผ่านไปเลนและโคลนยิ่งทับถมกันเรื่อยๆ ยิ่งทำให้คลองเปรมประชากรที่เคยเป็นคลองลึก (ท้องคลอง) กลับ ‘ตื้นเขิน’ บางจุดมีความลึกไม่ถึง 1 เมตร

คลองเปรมประชากรควรจะมีฟังก์ชันรับน้ำ เพื่อเป็นทางผ่านน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกว่า Floodway แต่กลับกลายเป็นว่า ปัจจัยต่างๆ ทั้งบ้านรุกล้ำ ความกว้าง และความลึก รวมถึงสิ่งกีดขวาง-ขยะ ทำให้คลองเปรมประชากรไม่สามารถเป็น Floodway ที่มีประสิทธิภาพได้

บ้านรุกล้ำเกือบ 6,000 ครัวเรือน ตลอดเส้นคลองเปรมประชากร

ข้อมูลจาก กทม. ระบุว่า ตลอดเส้นทางคลองเปรมประชากรในจุดที่มีบ้านรุกล้ำ มีทั้งหมด 4,398 หลังคาเรือน และ 5,876 ครัวเรือน โดยผู้อยู่อาศัยเหล่านี้ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ภาครัฐไม่สามารถใช้ ‘ไม้แข็ง’ ได้ เนื่องจากผู้อยู่อาศัยอยู่มานานหลายสิบปี แม้ว่าจะใช้ไม้อ่อนก็ยังถูกต่อต้านเป็นระยะ ทั้งจากคนในพื้นที่ เอ็นจีโอ รวมถึงกลุ่มคนที่ 3 ที่ต่อต้านการพัฒนาของรัฐ

นายอรรถเศรษฐ์ บอกว่า การแก้ปัญหาบ้านรุกล้ำ ไม่ได้มองแค่หลักนิติศาสตร์อย่างเดียว แต่วิธีการสำคัญคือหลักรัฐศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐและประชาชน สามารถหาจุดร่วมกันตรงกลางได้

หลายสิบปีก่อน บ้านรุกล้ำริมคลองแทบไม่เคยประสบปัญหาหนัก นอกเสียจากคุณภาพน้ำที่เน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง ในระยะหลังปัญหาหนักที่สุดคือน้ำท่วม เมื่อฝนตกปริมาณมากๆ หรือมีการปล่อยน้ำจากฝั่งปทุมธานี ทำให้น้ำเอ่อล้นขึ้นมาบนชายฝั่ง แต่น้ำท่วมลักษณะนี้ก็แทบไม่มีผลต่อการย้ายถิ่นฐานของบ้านรุกล้ำ

คลองเปรมประชากรที่เคยเป็นคลองลึก (ท้องคลอง) กลับ ‘ตื้นเขิน’ บางจุดมีความลึกไม่ถึง 1 เมตร ขณะที่ความกว้างของคลองก็แคบลง ตามหลักการต้องกว้าง 30 เมตร
บ้านเรือนที่รุกล้ำคลองเปรมประชากร

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ปี 2554 เมื่อประเทศไทยเผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่ คลองเปรมประชากรซึ่งรับน้ำจากทางตอนเหนือ เส้นปทุมธานี-หลักหก ต้องรับน้ำปริมาณมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งที่ในสถานการณ์ปกติที่ฝนตกหนัก น้ำก็ล้นคลองท่วมบ้านเรือนอยู่แล้ว เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ พื้นที่บริเวณริมคลองไล่มาจนถึงถนนวิภาวดี-รังสิต จึงกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำโดยปริยาย

ที่สำคัญหากคลองเปรมประชากรเป็น Floodway รับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2554 กรุงเทพมหานคร จะไม่ประสบปัญหาอุทกภัยและเสียหายหนัก

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบาย” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ: 1 เดือนกับการซ่อมสร้าง แก้น้ำรอระบายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม “ขุดลอกท่อ-ซ่อมสถานีสูบ”
  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” สรุปบทเรียน “จัดการน้ำรอระบาย” ใช้นวัตกรรมคันกั้นน้ำ เร่งดันน้ำเข้าอุโมงค์ยักษ์
  • ย้อนสมัย คสช. ประกาศคำสั่งพัฒนาคุณภาพคลอง แต่สะดุดเพราะ ‘บ้านรุกล้ำ’

    ปี 2554 เป็นบทเรียนทำให้รัฐบาลรับรู้ว่า ‘คลอง’ หรือที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. คนปัจจุบัน เรียกว่า ‘เส้นเลือดหลัก’ และ ‘เส้นเลือดฝอย’ คือหัวใจสำคัญของเมือง ถ้าคลองดี คุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ก็จะถูกยกระดับขึ้นมา ไม่ใช่แค่ความสวยงามหรือทัศนียภาพ แต่รวมถึงการสัญจร การใช้ประโยชน์จากคลอง ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารความเสี่ยงเวลาฝนตก-น้ำท่วม

    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 และครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา และออกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 เรื่อง “แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร” โดยแผนดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาไว้ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2570

    หัวใจของแผนแม่บทดังกล่าว คือ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา – กทม. (2) พัฒนาชุมชนริมคลอง รวมถึงแก้ไขปัญหาบ้านรุกล้ำ ด้วยวิธีการพัฒนาที่อยู่อาศัย และจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง (3) พัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ล้อ–ราง–เรือ–ทางจักรยาน และแผนพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน

    แผนงานระยะเร่งด่วน ได้กำหนดไว้ในช่วง 4 ปีแรก คือปี 2562 – 2565 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,448 ล้านบาท โดยพุ่งเป้าไปที่วัตถุประสงค์แรกคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน ดังนี้

    • กทม. ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนจากถนนเทศบาลสงเคราะห์ – สุดเขต กทม. วงเงิน 3,443 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินอุดหนุนรัฐบาลในสัดส่วนร้อยละ 50 เป็นเงิน 1,721.50 ล้านบาท และใช้เงินรายได้ของ กทม. สมทบร้อยละ 50 เป็นเงิน 1,721.50 ล้านบาท
    • กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ – คลองรังสิตประยูรศักดิ์ วงเงิน 980 ล้านบาท
    • กรมชลประทาน ดำเนินการขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร วงเงิน 16 ล้านบาท และขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร วงเงิน 9 ล้านบาท

    แม้จะมีแผนพัฒนาสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเขื่อนริมคลอง อุโมงค์ระบายน้ำระบบรวบรวมน้ำเสีย หรือโรงบำบัดน้ำเสีย แต่การพัฒนาบางพื้นที่ต้องสะดุดลง เพราะปัญหาเรื้อรังอย่าง ‘บ้านรุกล้ำ’

    เรือเก็บขยะกทม.

    แม้ในยุคสมัย คสช. จะมีความพยายามแก้ปัญหาบ้านุรกล้ำมาแล้ว เห็นได้จาก คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ ยิ่งกว่านั้น ปัญหาบ้านรุกล้ำยังถูกแก้แบบทางลัดให้ได้มากที่สุด โดยให้สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

    แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก เหตุผลหลักๆ คือความร่วมมือและความเข้าใจที่มักจะมองว่า รัฐมาไล่ที่อยู่อาศัยของประชาชน

    นโยบายเอาคนขึ้นจากคลอง คืนสภาพสู่ floodway

    ดังนั้น ในแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองฯ ที่กำหนดระยะเวลาดำเนินการถึง 9 ปี จึงกำหนดให้ ระยะที่ 2 ของการพัฒนามุ่งไปที่การรื้อย้ายบ้านรุกล้ำเดิม และวางผังจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ด้วยการก่อสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ พร้อมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์การเรียนรู้ ลานกีฬา ฯลฯ

    นายอรรถเศรษฐ์ ให้ข้อมูลว่า คลองเปรมประชากรอยู่ในพื้นที่การดูแลของ กทม. ต้องวางแผนแก้ปัญหาบ้านรุกล้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบทเรียนสำคัญจากในอดีตว่า การรับรู้และการสร้างความเข้าใจคือเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าประชาชนไม่เข้าใจว่าภาครัฐจะพัฒนาอะไร การพัฒนาก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้

    โดย 9 ขั้นตอนที่กทม. ได้นำไปแก้ปัญหาบ้านรุกล้ำริมคลอง ตามลำดับ ดังนี้ (1) สร้างการรับรู้และความเข้าใจ (2) ทบทวนข้อมูลชุมชน (3) จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์ (4) รังวัด เช่าที่ดิน ออกแบบวางผังชุมชน (5) อนุมัติโครงการและงบประมาณ (6) ขออนุญาตก่อสร้าง รื้อบ้าน รื้อระบบไฟฟ้าและประปา (7) เบิกจ่ายงบประมาณ (8) ก่อสร้างบ้านมั่นคงและระบบสาธารณูปโภค ขณะเดียวกัน กทม.ก็ต้องก่อสร้างเขื่อนคลอง และ (9) พัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนาอาชีพ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์สุขภาพชุมชน ฯลฯ

    ‘พูดง่ายๆ คือถ้าจะพัฒนาคลองเปรมประชากรให้มีประสิทธิภาพ ต้องค่อยๆ แก้ทีละปมปัญหา โดยเริ่มจากการคืนสภาพคลองให้เป็นคลอง เอาคนขึ้นจากคลองก่อนพัฒนาคุณภาพคลองด้านอื่นๆ’

    แต่จากสภาพที่เห็นจริง ยังมีบ้านเรือนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ย้ายออก ตัวอย่างเช่น บ้านในชุมชนหลังแฟลตร่วมพัฒนา ชุมชนเปรมสุขสันต์ ชุมชนพรหมสัมฤทธิ์ และชุมชมร่วมใจรักคลองเปรมประชากร

    แต่หลายพื้นที่ได้คืนสภาพคลองแล้ว บ้านที่เคยรุกล้ำถูกรื้อถอนออกไปและคืนสภาพคลองให้เป็น floodway ส่วนคนที่เคยรุกล้ำก็เข้าโครงการบ้านมั่นคง หรือศัพท์ใหม่ในชื่อ ‘บ้านริมคลอง’ โดยเป็นบ้านที่รัฐสร้างให้และคิดค่าเช่า-ซื้อราคาถูก

    ชุมชนเปรมสุขสันต์ ติดป้ายต่อต้านโครงการบ้านมั่นคง

    ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า บ้านมั่นคงมีหลายขนาดตามความต้องการ ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว เช่น บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 4×7 ตารางเมตร ราคา 290,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท, บ้านแถวสองชั้น ขนาด 4×7 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท, บ้านแถวสองชั้น ขนาด 5×6 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี

    ข้อโต้แย้ง ‘บ้านมั่นคง’ ทางออก ‘บ้านรุกล้ำ’ ควรเป็นอย่างไร

    นายอรรถเศรษฐ กล่าวต่อว่า โดยปกติแล้วเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ และต้องเวนคืนที่-ไล่คนออกจากพื้นที่จะมี 2 มาตรฐาน คือ หนึ่ง รัฐจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ และสองให้เงินก้อนแล้วย้ายไปที่อื่น แต่สำหรับบ้านรุกล้ำริมคลองเปรมประชากรไม่สามารถให้ทางเลือกได้ เพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาคลองเพื่อคืนสภาพสู่ floodway

    นายอรรถเศรษฐ บอกอีกว่า มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือแกนนำที่พยายามต่อต้านโครงการบ้านมั่นคงด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้การดำเนินงานของภาครัฐไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด

    บ้านมั่นคง คลองเปรมประชากร

    จากการสืบค้นข้อมูลและพบเอกสารถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอให้ล้มเลิกโครงการบ้านมั่นคง คลองเปรมประชากร” โดยเอกสารดังกล่าวให้เหตุผลหลักๆ 3 ข้อ คือ

    1. นำงบประมาณแผ่นดินไปให้ผู้บุกรุกที่ผิดกฎหมายมานานเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่
    2. นำที่ดินที่เป็นสมบัติของแผ่นดินและประชาชน มาให้กับกลุ่มผู้บุกรุกที่กระทำผิดกฎหมาย
    3. การสร้างบ้านมั่นคงเป็นการทำลายคลองเปรมประชากร แทนที่จะรื้อบ้านที่บุกรุกริมคลองและทำลายสิ่งแวดล้อม กลับสร้างเขื่อนล้ำเข้าไปในแนวคลอง ทำให้คลองมีขนาดเล็กลง การระบายน้ำก็จะมีประสิทธิภาพต่ำลง

    ขณะเดียวกัน เอกสารดังกล่าวยังเสนอทางเลือกในการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น รัฐบาลจัดหาหอพัก-อะพาร์ตเมนต์ในราคาถูกๆเดือนละ 2,500-3,000 บาท ส่วนผู้สูงวัยหรือไม่สามารถช่วยตนเองได้ ก็อาจจัดหาสถานสงเคราะห์เพื่อดูแลเป็นพิเศษ หรือให้การเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดซื้อหรือเช่าที่ดินในบริเวณใกล้เคียง หรือนำที่ดินที่สร้างบ้านมั่นคงไปสร้างแฟลตเพื่อให้ใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    คลองเปรมประชากรจะเป็น floodway ระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นคลองสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนริมคลอง แต่กลับกลายเป็นว่า คลองเปรมประชากรถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะบ้านรุกล้ำริมน้ำ เกิดเป็นคำถามตามมาว่า ท่ามกลางปัญหาบ้านรุกล้ำคลองที่คาราคาซังมานานหลายสิบปี น้ำคลองเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น แล้วกทม.จะคืนสภาพคลองอย่างไรให้ความขัดแย้งไม่บานปลาย

    ตราบใดที่ยังมีปัญหาบ้านรุกล้ำเกิดขึ้น การพัฒนาคลองเปรมประชากรเป็น floodway ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาบ้านรุกล้ำจะต้องแก้ไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองทุกมิติไปพร้อมกัน ตั้งแต่ ที่อยู่อาศัย ชุมชน การเดินทาง สาธารณสุข และความพึงพอใจในการใช้ชีวิต