ThaiPublica > เกาะกระแส > “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ของว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

“วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ของว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

29 เมษายน 2022


สำรวจความคิดเห็นจาก “กูรู” กทม. ฝากโจทย์ใหญ่ถึงว่าที่ผู้ว่าฯ ปมปัญหาที่ต้องแก้ไขทันที ผังเมืองไร้ระเบียบ, น้ำท่วมรอการระบาย, บริการสาธารณสุขยังไม่ครอบคลุม, เร่งเพิ่มปอดให้คนกรุงฯ, กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไขแบบด่วนๆ ของกรุงเทพมหานคร จากมุมมอง 3 บุคคลผู้เชี่ยวชาญด้านเมือง ที่ต่างประสานเสียงเห็นพ้องต้องกันว่า ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำงานแก้ไขปัญหาหลักๆ ทันทีหลังจากรับตำแหน่ง แทบไม่มีเวลาให้ฮันนีมูนบนเก้าอี้ผู้นำเมืองหลวงได้เลย

ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ต้องการให้ว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครเริ่มทำงานทันทีหลังจากรับตำแหน่ง คือ สร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา ไม่ใช่ให้เมืองมีแต่คอนกรีต ตึกสูง แต่ให้เพิ่มพื้นที่เปิดโล่ง หรือพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะนำเอาพื้นที่รกร้างของเอกชนมาทำสัญญาและจัดเป็นพื้นที่สันทนาการ ลานกีฬา ให้เยาวชนมาแสดงดนตรีเล็กๆ เพื่อลดความเครียดให้กับเมือง หรืออาจใช้เป็นพื้นที่เพื่อแสดงออกทางการเมืองก็ได้

ประเด็นต่อมาคือ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องกล้าหาญแก้ไข “วินัยเมือง”ทั้ง ปัญหาวินัยจราจร ไม่ใช่ ต่างคนต่างจอดรถต่างคนต่างทิ้งขยะ ต้อง จับ ปรับ จริง แต่การสร้างวินัยอาจทำให้คน 4-5 ล้านคนต้องลำบากกันบ้าง แต่ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องกล้าทำ ไม่ต้องกลัวเสียคะแนน อย่างน้อยสุด 4 ปีก็ทำให้ได้ประโยชน์

นอกจากนี้ยังต้องเร่งแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข ที่แม้ว่ากรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาล 11 แห่ง และมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง แต่จำนวนศูนย์บริการสาธารณสุขยังถือว่ามีน้อยไม่ได้ขยายตามประชากร จึงอยากให้เพิ่มคลินิกชุมชน ในตรอกซอกซอย หรือชุมชนที่เดินทางเข้าออกลำบาก มีผู้ดูแลสุขภาพด้านปฐมภูมิ ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 800 แห่งแต่ต้องมีมากขึ้น

เรื่องต่อมาคือ ต้องพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน แบบ “ไม่แจกแต่จะจ้าง” โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครมีงบประมาณในการดูแลอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน กทม. ฟรี เพื่อให้เกิดประโยชน์และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ควรจะจ้างชุมชนเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

นอกจากนี้ อาจจ้างชุมชนในการดูแลลานกีฬาไม่ให้เอายาเสพติดมาขาย หรือจ้างชุมชนชักลากขยะออกมาในพื้นที่ที่รถขยะเข้าไปไม่ถึง

อีกเรื่องสำคัญคือ ต้องการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่แก้ไขงานบริหารบุคคลของเจ้าหน้าที่ กทม. ให้มีธรรมาภิบาล แก้ปัญหาระบบเส้นสายที่ทำให้คนทำงานหมดกำลังใจ เปลี่ยนวัฒนธรรมประจบประแจง แต่เน้นผลงาน และเลิกงานตัดริบบิ้น ไม่ต้องไปงานพิธีกรรมแต่นำงบไปจ้างชุมชน

ดร.พิจิตต เห็นว่า สิ่งที่ขาดหายไปและต้องทำทันที คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะปัจจุบันการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการ กทม. มีน้อยลง ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น จึงควรสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนตัวเอง

“หน่วยงานราชการควรพร้อมจะรับฟังและทำตามความคิดเห็นของประชาชนที่ลงมติร่วมกันแล้ว เช่น การทำข้อตกลงเรื่องการปรับปรุงความสูงของซอยที่มีน้ำท่วมสูง หากชาวบ้านมีข้อตกลงร่วมกัน กทม. ก็ร่วมเข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของชุมชนด้วย”

  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง“อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • คนกรุงต้องมี “ตั๋วใบเดียว-รถไฟฟ้าราคาถูก”

    นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม

    ขณะที่นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ที่ศึกษาเรื่องเมือง เห็นว่า โจทย์ใหญ่ที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ต้องเร่งแก้ไข คือ ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 9 ตารางเมตรต่อคน เพราะหากเทียบกับสิงค์โปร์มีพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่มาเลเซีย 44 ตารางเมตรต่อคน แม้ที่ผ่านมามีผู้ว่าฯ กทม. หลายสมัย แต่ไม่เคยมีใครทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ได้มาตรฐานตามองค์กรอนามัยโลกกำหนด

    ปัญหาทางเท้าสาธารณะก็ต้องปรับ โดยทางเท้ามาตรฐานโลกต้องมากกว่า 2.4 เมตร และต้องเรียบไม่มีสิ่งกีดขวางการจราจร ไม่ใช่บนทางเท้ามีมอเตอร์ไซค์หรือรถวิ่ง รวมไปถึงต้องจัดระเบียบสตรีทฟู้ด หรือนำสายไฟฟ้าต้องลงใต้ดินให้หมด

    ส่วนปัญหาเรื่องการเดินทาง “ล้อ” “เรือ” “ราง” ต้องเชื่อมโยงกันเป็นระบบตั๋วใบเดียว นอกจากนี้ ราคารถไฟฟ้าต้องถูก ทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

    ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่มีอยู่ 638 ชุมชนซึ่งอยู่ริมน้ำไม่ให้ทิ้งขยะ ของเสีย หรือระบายน้ำเสียลงคลอง จนทำให้เกิดปัญหาการระบายน้ำและปัญหาน้ำเน่าเสีย

    รวมถึงต้องเร่งแก้ไขระบบริการสาธารณสุข เพื่อรองรับประชากรสูงอายุ โดยปัจจุบัน กทม. มีศูนย์บริการสุขภาพ 69 แห่ง มีโรงพยาบาล 11 แห่ง โดยทั้งหมดต้องพัฒนาระบบปฐมภูมิ และพัฒนาระบบส่งต่อ โดยส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้าโรงพยาบาลเพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

    นอกจากนี้ ควรจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขเข้าไปดูแล หรือมีระบบ telemedicine เพื่อให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพสำหรับชุมชน

    นายสนธิยังเห็นว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นปัญหาเร่ง ด่วนโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าใช้งกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า หากฝุ่น PM2.5 เกิน 60 มิลลิเมตร ผู้ว่าฯ จะต้องสั่งการได้หมด เช่น การห้ามรถเมลล์ควันดำวิ่งเข้า กทม. การห้ามเผาในพื้นที่โล่ง หรือแม้แต่การเข้าไปควบคุมร้านหมูกระทะที่ปิ้งย่างแล้วเกิดฝุ่นและควันก็ต้องกล้าหาญที่จะดำเนินการ

    เรื่องปัญหาขยะต้องลดการฝั่งกลบและสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดยในปี 2567 กทม. ตั้งเป้าหมายลดการฝังกลบเหลือ 30% ส่วนขยะอีก 70% นำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าขยะถือเป็นเรื่องท้าทายของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่

    ฟื้นฟู “เมืองน่าอยู่-น่าเที่ยว” หลังโควิด-19

    ส่วนนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี อดีตที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. บอกว่า ทุกเรื่องของ กทม. เร่งด่วนทั้งหมด แต่ที่คิดว่าควรจะทำทันทีหลังโควิด-19 คือต้องปรับปรุงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะศูนย์บริการสาธารณสุข สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ ไม่ใช่ให้ทุกคนมุ่งตรงไปยังโรงพยาบาล แต่ต้องสร้างระบบปฐมภูมิให้คนกรุงเทพฯ เข้าไปใช้บริการ

    เรื่องที่สอง คือ สถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานครมีโรงเรียน 437 โรงเรียนแต่ในช่วงโควิด-19 เรียนออนไลน์ แต่หลังจากนี้เมื่อมีการเปิดภาคเรียนแบบออนไซต์ ต้องมีการเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนการสอน และการป้องกันโควิด-19 โดยต้องพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้ทันสมัย มีคุณภาพทัดเทียมเอกชนชื่อดังใน กทม.

    สำหรับเรื่องที่สาม คือ ต้องทำให้กรุงเทพฯ มีเสน่ห์น่าอยู่และน่าเที่ยว โดยต้องแก้ไขปัญหามลพิษ ฝุ่น PM 2.5 และเมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จต้องคืนพื้นที่ผิวจราจรเพื่อพัฒนาทางเท้า และปรับภูมิทัศน์เมือง นำสายสื่อสาร สายไฟฟ้า ลงดินในถนนสายหลักหรือสายสำคัญ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น

    ส่วนเรื่องสุดท้าย ต้องฟื้นเศรษฐกิจของคนกรุงเทพฯ ที่บอบช้ำจากโควิด-19 ทำให้การจัดเก็บรายได้ของ กทม. ไม่ตรงตามเป้าหมาย ดังนั้น ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ฟื้นกลับมา โดยต้องพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการท่องเที่ยววัฒนธรรมและการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าเที่ยวและน่าอยู่ 24 ชั่วโมง