ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > กทม. รุกตรวจคัดกรอง-ฉีดวัคซีนชุมชนคลองเตย กลาโหมขอพื้นที่ท่าเรือตั้งรพ.สนาม

กทม. รุกตรวจคัดกรอง-ฉีดวัคซีนชุมชนคลองเตย กลาโหมขอพื้นที่ท่าเรือตั้งรพ.สนาม

3 พฤษภาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/prbangkok

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยวันนี้ (3 พ.ค 64) มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามประกาศของ ศบค. 675 ราย ซึ่งในการระบาดระลอกใหม่วันที่ 1 เม.ย. – 3 พ.ค. 64 กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสะสม 13,958 ราย รวมทั้งยัง มีแผนการดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 ในพื้นที่ กรุงเทพฯ บริเวณที่มีการเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งลักษณะทั่วไปของชุมชนในเขตคลองเตยที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นชุมชนแออัด มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยมีทั้งที่เป็นอาคารที่พักหลายชั้น และเป็นบ้านเรือนที่ติด ๆ กัน มีการใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากผลการเฝ้าระวังเชิงรุกโควิด-19 (Active Surveillance) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 5 เม.ย. – 2 พ.ค. 64 มีผู้เข้ารับการตรวจ จำนวน 36,095 คน พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,509 คน (4.18%) และอยู่ระหว่างรอผล จำนวน 18 คน ในส่วนพื้นที่ชุมชนแออัดเขตคลองเตย กทม. ได้ดำเนินค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยนำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเข้าเก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยง ในวันที่ 27 เม.ย. 64 เก็บตัวอย่างที่ชุมชน 70 ไร่ จำนวน 436 ราย พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย (4.81%) เก็บตัวอย่างที่ชุมชนริมคลองวัดสะพาน จำนวน 489 ราย พบผู้ติดเชื้อ 29 ราย (5.93%) และวันที่ 30 เม.ย. 64 เก็บตัวอย่างที่ชุมชนพัฒนาใหม่จำนวน 411 ราย พบผู้ติดเชื้อ 49 ราย (11.92%) รวมเฝ้าระวังเชิงรุกโควิด-19 ทั้งสิ้น 1,336 ราย พบผู้ติดเชื้อ 99 ราย คิดเป็น 7.41 % ทั้งนี้สรุปข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย ในการระบาดระลอกใหม่ เดือนเม.ย. 64 จำนวนทั้งสิ้น 304 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งชุมชนแออัด จำนวน 193 ราย และผู้พักอาศัยในสถานที่อื่น ๆ เช่น คอนโด หอพัก จำนวน 111 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบในแหล่งชุมชนแออัดในเขตคลองเตย มีอาชีพเป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อที่พบผู้ติดเชื้อและมีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง

ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสะพาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อและดูแลเบื้องต้น ระหว่างรอนำส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล Hospitel หรือ รพ.สนาม ตามระดับความรุนแรงของอาการ และยังได้ดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยส่วนหนึ่งไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ และมีเจ้าหน้าที่ทหารดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ กทม. จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งข้อมูลตามทะเบียนประมาณกว่า 80,000 คน ตั้งแต่วันที่ 4 – 19 พ.ค. 64 ณ บริเวณโรงเรียนวัดคลองเตย และโลตัส พระราม 4 โดยคาดว่าวันแรก (4 พ.ค.64) จะสามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 1,000 คน เนื่องจากเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงบ่าย และวันที่ 5 พ.ค. เป็นต้นไปนั้น จะให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในช่วงเช้าและบ่าย คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 2,500 – 3,000 คน/วัน

อนึ่ง นอกจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชนเขตคลองเตยแล้ว กทม. ยังดำเนินการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่ชุมชนเคหะบ่อนไก่ และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 59 ราย


ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ผู้ป่วยโควิดเขียวตั้งแต่เข้ารพ.สนามวันแรก

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยอีกว่า กรุงเทพมหานครได้จัดตั้ง “โรงพยาบาลเอราวัณ 3” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยใช้พื้นที่ของศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด เปิดให้บริการผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง(โควิดเขียว) และสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย(โควิดเหลือง) เข้าดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ใช้พื้นที่อาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร จัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน โดยยิม1 และยิม2 จะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร ส่วนยิม3 และยิม4 จะเป็นของผู้ป่วยหญิง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 342 เตียง ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (โควิดเขียว) ประกอบด้วยยิม 1 ชาย รองรับได้ 103 เตียง และยิม3 หญิง 75 เตียง รวม 178 เตียง และสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย(โควิดเหลือง) ประกอบด้วยยิม2 ชาย 75 เตียง ยิม4 หญิง 89 เตียง รวม164 เตียง มีเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องทำออกซิเจน และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับดูแลผู้ป่วย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นผู้ดูแล โดยจะเปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าโรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 เตียง มีจำนวนเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ กทม. ได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนต่างๆ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโควิดเหลือง หรือแดง กทม. จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเขียวรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดซื้อมา 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีก 50,000 เม็ด รวม 100,000 เม็ด โดยจะเริ่มแจกผู้ป่วยที่เข้ามา รพ.สนาม คนละ 50 เม็ด ซึ่งใช้เวลารับประทานประมาณ 5 วัน และเชื่อว่าจะหายจากโรคไม่ลุกลาม บานปลาย และระยะต่อไป กทม.จะซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านทางมูลนิธิจุฬาภรณ์ อีก 500,000 เม็ด ซึ่งโดยปกติยาฟาวิพิราเวียร์ทางการแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ(โควิดเหลือง) แต่ กทม. เห็นว่าควรให้ทานตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเพื่อรักษาและป้องกันการลุกลามของโรค โดยกทม.จะนำร่องให้ยาก่อน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เนื่องจากต้องใช้เตียงในโรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลสนามทุกแห่งมีแนวทางการจัดการความปลอดภัย การป้องกันการแพร่เชื้อมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก โดยจะรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อม โรงพยาบาลเอราวัณ 3 ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/prbangkok

ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ต้องอยู่ภายในหอพักผู้ป่วยห้ามออกจากห้องโดยเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ห้ามบ้วนเสมหะหรือน้ำลายในถังขยะ เสื้อผ้าใส่ลงถังผ้าเปื้อน และปิดฝาให้เรียบร้อย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ไม่เดินพลุกพล่าน ไม่จับกลุ่มสนทนา และไม่เข้าไปในเขตปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมทุกกรณี แต่สามารถนำของเยี่ยมฝากไว้ได้ตามเวลาและสถานที่ทางโรงพยาบาลกำหนด ห้ามถ่ายภาพหรือโพสต์ข้อความที่เกี่ยวข้องลงบนสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายขณะรักษาตัว ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามเสพติดของมึนเมา และห้ามการพนัน
สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารักษา ณ โรงพยาบาลสนาม ขอให้เตรียมพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการมาอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ เสื้อผ้า จำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนที่เข้าพัก 14 วัน ของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และของใช้อื่นๆ ที่จำเป็น โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง ยารักษาโรคประจำตัว รวมทั้งข้อมูล ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม(ถ้ามี) โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ ใช้สำหรับดาวน์โหลดแอปลิเคชั่นไลน์ ในการติดต่อหอผู้ป่วยในการสื่อสารขณะรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม และหากจำเป็นต้องใช้น้ำร้อนสามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีบริการในส่วนนี้

สำหรับจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น 1,458 ราย ดังนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 215 เตียง โรงพยาบาลสนาม กทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 2,100 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,053 เตียง ยังว่างอยู่ 1,047 เตียง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 1,000 เตียง ครองเตียง 512 เตียง เตียงว่าง 488 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 149 เตียง เตียงว่าง 51 เตียง รพ.เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 76 เตียง เตียงว่าง 24 เตียง รพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 316 เตียงว่าง 84 เตียง และรพ.เอราวัณ 3 (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด) 400 เตียง เตียงว่าง 400 เตียง (อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติและสอบสวนโรคก่อนนำส่ง) และในส่วนของ Hospitel จำนวน 5 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 584 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 190 เตียง ยังว่างอยู่ 394 เตียง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ รพ.กลาง(อาคารหอพัก) 44 เตียง ครองเตียง 24 เหลือ 20 เตียง โรงแรมเออริเเกนแอพอร์ต 120 เตียง ครองเตียง 62 เหลือ 58 เตียง โรงแรมบ้านไทยบูทีค 300 เตียง ครองเตียง 23 เหลือ 277 เตียง โรงแรมข้าวสาร พาเลส 80 เตียง ครองเตียง 68 เหลือ 12 เตียง และอาคารพัชรกิติยาภา ม.นวมินทราชูทิศ 40 เตียง ครองเตียง 13 เหลือ 27 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 64)

กลาโหมขอพื้นที่ท่าเรือทำรพ.สนาม

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ไปยังผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยมีข้อความว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีบัญชาและห่วงใยในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ขยายเป็นวงกว้างและพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมการรองรับ หากมีการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก เป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีช้อจำกัดทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์และเตียงรับผู้ป่วย

กระทรวงกลาโหมพิจารณาแล้วเห็นว่า ชุมชนคลองเตยและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพแออัดและประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กรณีพบการติดเชื้อฯ หากไม่นำเข้าสู่ระบบสาธารณสุขโดยเร็วและทันเวลา จะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขดังนั้น จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการใช้อาคารโกดังสเตเดียมเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ศักยภาพและสถานที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม) จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการปฏิบัติ และสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป