ThaiPublica > เกาะกระแส > “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” สรุปบทเรียน “จัดการน้ำรอระบาย” ใช้นวัตกรรมคันกั้นน้ำ เร่งดันน้ำเข้าอุโมงค์ยักษ์

“อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” สรุปบทเรียน “จัดการน้ำรอระบาย” ใช้นวัตกรรมคันกั้นน้ำ เร่งดันน้ำเข้าอุโมงค์ยักษ์

4 พฤศจิกายน 2022


ที่มาภาพ : FB อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี

ที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สรุปบทเรียน “สยบน้ำรอระบาย กทม.” ยึดหลักบริหารเส้นเลือดฝอย-เส้นเลือดหลักด้วยนวัตกรรมคันกั้นน้ำ เชื่อมคลอง เพื่อเร่งน้ำไหลเข้าอุโมงค์ยักษ์

ความท้าทายของการแก้ปัญหาน้ำท่วมรอระบายของ กทม. ของทีมผู้ว่าฯ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คือเวลาในการเตรียมรับมือฝนมีไม่มาก หลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนมิถุนายนก็เข้าสู่ฤดูฝนที่มาพร้อมกับสถานการณ์ “ลานีญา” ทำให้ปริมาณฝนปีนี้หนักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

“เรามีเวลาเตรียมตัวไม่มากในการรับมือฝน”

อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกก่อนที่จะเริ่มต้นการสนทนาว่าด้วย “บทเรียนการบริหารจัดการน้ำ กทม.” ในช่วงที่ผ่านมา

“กลางเดือนมิถุนายนฝนเริ่มมาแล้ว ถึงจะยังไม่มากก็เถอะ แต่พอเข้าเดือนกรกฎาคม เริ่มตกหนักต่อเนื่องมาจนสิงหาคม และตกหนักสุดคือเดือนกันยายน”

เขาย้ำถึงค่าเฉลี่ยปริมาณฝน ด้วยข้อมูลฝนในเดือนกันยายนที่มีค่าเฉลี่ยรายเดือนสูงถึง 801.5 มิลลิเมตร หากเทียบกับปริมาณฝนเฉลี่ยในรอบ 30 ปีที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,675.6 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งหมายความว่าฝนตกในเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวมีปริมาณมากถึงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี

เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยฝนย้อนกลับไป 3 ปี พบว่าปี 2565 มีปริมาณฝนมากกว่าทุกปี ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2565 สูงถึง 2,170 มิลลิเมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยฝนสะสมปี 2563 อยู่ที่ 1,709 มิลลิเมตร และค่าเฉลี่ยฝนปี 2564 อยู่ 1,907 มิลลิเมตร

“ปีนี้ยังไม่ถึงสิ้นปี แค่เดือนตุลาคมปริมาณฝนสะสมก็สูงถึง 2,170 มิลลิเมตร ตัวเลขนี้ยืนยันว่าปริมาณฝนปีนี้มากกว่าทุกปี”

อรรถเศรษฐ์เห็นว่า ด้วยปริมาณฝนที่ตกมากขนาดนี้ การบริหารจัดการจึงต้องอาศัยความเข้าใจและใช้เทคนิค นวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยยึดหลักทำให้น้ำระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด

อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

 

  • ชัชชาติ’ ชี้ ปริมาณฝน กทม. ทุบสถิติรอบ 30 ปี สั่งสำนักระบายน้ำเร่งแผนรับมือพายุ ‘โนรู
  • ฝนตกหนักเกินระบบระบายน้ำ กทม. รองรับได้

    ด้วยปริมาณค่าเฉลี่ยฝนที่สูงกับระบบระบายน้ำของกทม.ที่ออกแบบรองรับปริมาณน้ำฝนที่ 60-80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และตกต่อเนื่องไม่เกิน 3 ชั่วโมง ทำให้ปัญหาน้ำท่วมรอระบายยังคงมีอยู่

    อรรถเศรษฐ์บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณฝนตกเฉลี่ยรายชั่วโมงสูงกว่าระบบระบายน้ำที่ กทม. ออกแบบไว้ โดยวันที่มีฝนตกในปริมาณมากที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมมาจนถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณฝนเฉลี่ยเกิน 100 มิลลิเมตรมากกว่า 10 ครั้ง และมีปริมาณฝนสูงสุด 178 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงในวันที่ 20 กรกฎาคม และวันที่ 21 กันยายน ปริมาณฝน 160 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง

    ด้วยค่าเฉลี่ยฝนตกรายชั่วโมงในเดือนกันยายน เกิน 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงมีถึง 5-6 ครั้ง ขณะที่ค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่มีฝนตกรายชั่วโมงประมาณ 90-80 มิลลิเมตรทำให้ระบบระบายน้ำที่ออกแบบไว้ไม่สามารถรองรับได้

    “ผมถือว่าการระบายน้ำทำได้เร็วขึ้น ไม่ถึงขนาดว่าท่วมข้ามวัน เรามีน้ำรอระบายสูงสุดประมาณ 5 ชั่วโมง 40 นาทีเพียงจุดเดียวคือสุขุมวิท 71 แต่ค่าเฉลี่ยการระบายน้ำส่วนใหญ่ในพื้นอื่นๆ อยู่ที่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น”

    นอกจากปริมาณฝนตกที่มีค่าเฉลี่ยเกินค่าระบบท่องระบายน้ำรองรับแล้ว ยังพบว่าในหลายพื้นที่สถานีระบายน้ำอยู่ระหว่างการปรับปรุง เช่น สถานีสูบน้ำบ้านกล้วยใต้ สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 40 สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 55 สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 71 และสถานีสูบน้ำสุขุมวิท 49 รวมถึงสุขุมวิท 39

    “จุดที่มีน้ำท่วมขังรอระบายไม่ได้มีทุกจุด มีบางจุด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานี และในช่วงระหว่างกรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน ที่มีปริมาณฝนจำนวนมากส่วนใหญ่ตกในเขตวัฒนา คลองเตย บางนา ซึ่งเป็นพื้นที่ปรับปรุงสถานีสูบน้ำทั้งหมด ทำให้มีน้ำท่วมขังรอระบาย”

    คำถามยอดฮิต มีอุโมงค์ยักษ์แต่น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์

    “น้ำไม่ไปก็ทำให้มันไป” อรรถเศรษฐ์อธิบายถึงความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่เห็นว่าการสร้างอุโมงค์ยักษ์ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเขายืนยันว่า ถ้าไม่มีอุโมงค์ยักษ์ กทม. จมน้ำ เพราะการมีอุโมงค์ช่วยการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัญหาคือจะระบายน้ำอย่างไรให้ลงสู่อุโมงค์และออกสู่เจ้าพระยาโดยเร็ว

    “โจทย์เราคือระบายน้ำให้เร็ว” โดยอุปสรรคของการระบายน้ำใน กทม. มีตั้งแต่ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน ปัญหาคลองตื้นเขิน และปัญหาขยะ

    “ทำอะไรได้ไม่มาก ด้วยระยะเวลาในการเตรียมตัวสั้น” อรรถเศรษฐ์บอกว่า เริ่มต้นด้วยการมองภาพใหญ่ก่อนคือการขุดลอกท่อระบายน้ำ งานแรกของเราคือจับมือกับกรมราชทัณฑ์ในการขุดลอกท่อระบายน้ำ และเลือกเอาถนนสายหลักในการขุดลอกก่อน ขุดลอกให้มากที่สุด

    “พอผู้ว่าฯ เข้ามารับตำแหน่งน่าจะประมาณ 2 สัปดาห์ก็มีฝนมาเลยตั้งแต่มิถุนายนก็มีฝนบ้าง เพราะฉะนั้น ตอนนั้นโจทย์ของเรามันสั้นมาก ทำให้เรื่องแรกที่เราทำคือ ขุดลอกท่อระบายน้ำ พยายามขุดลอกให้ได้มากที่สุด เลือกถนนที่มีปัญหาก่อน เช่น ตลาดห้วยขวาง”

    ส่วนโจทย์ที่ 2 คือ การบริหาร 4 คลองหลัก คือ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และคลองประเวศบุรีรมย์อยู่ด้านล่างสุดของ กทม. โดยหลักการง่ายๆ ในการบริหารจัดการน้ำให้ลง 4 คลองหลักให้เร็วที่สุดและหลังจากนั้นเร่งดันน้ำลงอุโมงค์ และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

    น้ำไม่ไหลลงอุโมงค์ ด้วยลักษณะของคลองที่มีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน แต่อรรถเศรษฐ์บอกว่า ถ้าน้ำไม่ลงอุโมงค์ง่ายๆ ก็ต้องทำให้น้ำลงอุโมงค์ให้ได้

    ในช่วงฝนที่ผ่านมา นวัตกรรมการสร้าง ”คันบังคับน้ำ” ชั่วคราวที่สร้างจากไม่ไผ่จึงเกิดขึ้นในคลองสายหลัก เพื่อเร่งน้ำให้ไหลลงอุโมงค์ยักษ์

    การบริหารจัดการน้ำในคลองลาดพร้าวที่มีความยาว 20 กิโลเมตร เพื่อให้น้ำไหลลงอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 มีระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งระยะทางดังกล่าวไกลและใช้เวลานานเกินไปในการผลักดันน้ำ

    เพื่อให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น จึงสร้าง “นวัตกรรมคันบังคับน้ำ”ในคลองลาดพร้าว เพื่อเปลี่ยนเส้นทางการไหลของน้ำไปใช้อุโมงค์บางซื่อที่ใช้ระยะทางผลักดันน้ำเพียง 1.5 กิโลเมตร

    “คลองลาดพร้าวจะต่ำกว่าคลองบางซื่อ และมีลักษณะที่ตั้งฉาก ทำให้น้ำไม่ไปที่อุโมงค์บางซื่อ แต่เมื่อเรามาดูแล้วเห็นว่าน้ำจากคลองลาดพร้าวไปอุโมงค์พระราม 9 ไกลกว่า จึงสร้างคันบังคับน้ำคุมทิศทางน้ำให้ไปที่คลองบางซื่อ ซึ่งมีอาคารรับน้ำรัชดา และอุโมงค์บางซื่อระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ทำให้น้ำจากคลองลาดพร้าวลดระดับได้เร็วลงสู่เจ้าพระยาได้เร็วขึ้น”

    อรรถเศรษฐ์บอกว่า ได้ใช้นวัตกรรมคันกันน้ำเพื่อบังคับน้ำให้ไหลลงอุโมงค์ทั้งคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ดีขึ้น และผลักดันน้ำลงสู่เจ้าพระยาได้เร็วขึ้น

    “เราใช้คันบังคับน้ำให้ลงอุโมงค์ ทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วจากเดิมน้ำ 1 ซม. ต้องใช้ลดน้ำ 1 ชั่วโมง แต่พอใช้นวัตกรรมคันบังคับน้ำในเวลา 1 ชม. เราสามารถลดน้ำในคลองได้ 2.5 ซม. พอลดน้ำในคลองได้เร็วก็ทำให้น้ำในพื้นที่ลดลงเร็วด้วยเช่นกัน”

    “ประสานงาน” หัวใจแก้ปัญหาระบายน้ำ

    สำหระบกรณีที่มีการพูดกันว่า กทม. ไม่ประสานงานกับใคร หรือมีความขัดแย้งกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ

    อรรถเศรษฐ์บอกว่า เป็นความเข้าใจผิด กทม. ประชุมร่วมกับกรมชลประทานทุกวันจันทร์ และในหลายพื้นที่แก้ปัญหาได้ด้วยการทำความเข้าและประสานงานกัน

    การบริหารจัดการคลองประเวศบุรีรมย์ คือ ตัวอย่างการประสานและการทำงานร่วมกัน เนื่องจากคลองประเวศบุรีรมย์อยู่ในพื้นที่ล่างสุดของ กทม. ติดจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ต้องใช้สถานีระบายน้ำพระขโนง และพระองค์เจ้าไชยานุชิต ที่บริหารจัดการน้ำโดยกรมชลประทาน

    การทำงานระหว่าง สถานีระบายน้ำของ กทม. และสถานีสูบน้ำของกรมชลประทานมีความแตกต่างกัน เนื่องจากหน้าที่ของกรมชลประทานคือจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้การคุมระดับน้ำอยู่ที่ระดับบวก 70

    ขณะที่สถานีระบายน้ำของ กทม. มีหน้าที่ในการระบายน้ำทำให้การคุมน้ำในสถานีอยู่ที่ระดับลบ 80 ฉะนั้น การทำงานจึงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร

    “ถ้าไม่ประสานงานกับกรมชลประทานก็แย่เลย เพราะกรมชลประทานกับ กทม. คุมระดับน้ำแตกต่างกัน พอประสานงานกัน ทำให้กรมชลฯ เห็นว่าการคุมน้ำระดับบวก 70 ยังมีช่องว่างที่จะช่วย กทม. ระบายน้ำออกได้ โดยไม่กระทบกับการเก็บน้ำเพื่อการเกษตร”

    อรรถเศรษฐ์บอกว่า ปีนี้ความร่วมมือและการประสานงานหน่วยงานถือเป็นหัวใจในการทำงาน มีการประสานงานกับกรมชลประทานและทำความเข้าใจกันมาก ในการระบายน้ำ นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ยังให้ยืมเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟลว์ (hydroflow) เพื่อระบายน้ำให้ได้เร็วที่สุด

    ไม่จริง กทม. ปล่อยน้ำท่วมจังหวัดอื่น

    มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ช่วย กทม. แต่ปล่อยจังหวัดรอบนอกน้ำท่วม เรื่องนี้อรรถเศรษฐ์บอกว่าไม่จริง ไม่ได้ป้องกันนำไม่ให้เข้า กทม. โดยที่ผ่านมาที่ประชุมร่วมกับ กรมชลประทานทุกวันจันทร์ ได้ขอน้ำผ่านเข้า กทม. เราก็ยอมให้ผ่านตลอด เพียงแต่ทุกครั้งที่ให้น้ำผ่านเข้ามากรมชลประทานต้องดึงออกในปริมาณเท่ากัน

    “กทม. ยินยอมให้น้ำผ่านทุกครั้ง เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ถ้าเอาน้ำเข้ามา 1 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานก็ดึงออกไป 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเราทำความเข้าใจร่วมกันอยู่แล้ว”

    นอกจากนี้ กรมชลประทานยังบริหารจัดการผันน้ำออกทางตะวันตก และทางตะวันออกผ่านคลองรพีพัฒน์ลงแม่น้ำนครนายก อีกส่วนหนึ่งมาลงที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เป็นแผนการผันน้ำปกติของกรมชลประทานอยู่แล้ว ไม่ใช่ปล่อยเข้าเจ้าพระยาอย่างเดียว

    อรรถเศรษฐ์ยังเห็นว่า กทม. มีเครื่องมือ อุปกรณ์ในการบริหารจัดการที่มีความพร้อมมากกว่าจังหวัดรอบนอก อีกทั้งมีสำนักระบายน้ำที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทำให้มีความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำฝนและน้ำเหนือ

    ปีหน้า พร้อม! รับมือ “ฝน-น้ำเหนือ-น้ำหนุน”ได้ดีกว่าปีนี้

    เมื่อถามว่า ปีนี้เจอลานีญา การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีหน้าเป็นอย่างไร แล้ว กทม. มีความพร้อมรับมือน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนมากน้อยแค่ไหน

    “เอาให้พร้อมที่สุด ปีหน้าผมเชื่อว่าดีกว่าปีนี้”

    อรรถเศรษฐ์บอกว่า แม้จะมีบางคนบอกว่า ปีหน้าไม่มีลานีญา และปริมาณฝนจะน้อยลง แต่เขาไม่ไว้ใจ เนื่องจากออสเตรเลียเจอลานีญา 3 ปีซ้อน เพราะฉะนั้นต้องเตรียมรับมือปริมาณฝนให้มากที่สุด โดยนำเอาบทเรียนของปีนี้มาใช้เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งเชื่อว่าปีหน้าจะบริหารจัดการน้ำได้ดีกว่าปีนี้

    “ปีนี้เวลาเตรียมตัวสั้น งบประมาณก็ยังไม่ใช่ของเรา เพราะเป็นงบประมาณที่ตั้งมาตั้งแต่ผู้ว่าฯ คนเก่า ทำให้ปีหน้ามั่นใจว่าจะดีกว่าปีนี้”

    แผนที่จะต้องทำเพื่อรับมือบริหารจัดการนำในปีหน้า ประกอบด้วย

      • 1. การทำนวัตกรรม คันบังคับน้ำที่ขณะนี้เป็นไม้ไผ่แบบชั่วคราว ก็จะทำแบบถาวร ซึ่งขณะนี้อยู่ในปีงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

    “คันบังคับน้ำที่เราทำชั่วคราว แบบเอาไม้ไผ่มาตีและทดลองทำเพื่อเอาน้ำเข้าอุโมงค์บางซื่อและอุโมงค์มักกะสัน แสดงให้เห็นแล้วว่าทำให้การระบายน้ำเร็วขึ้นและน้ำลงอุโมงค์ได้เร็ว หลังจากนี้เราจะทำแบบถาวร”

    2. การขุดลอกคูคลอง-ท่อระบาย คลองใน กทม. ที่มีหมดยาว 2,600 กิโลเมตรจากเดิมที่ตั้งเป้าหมานขุดลอก 6,000 กิโลเมตรปี ซึ่ง ปี 2566 ด้วยความร่วมมือกับราชทัณฑ์จะเพิ่มเป็น 8,000-10,000 กม. หรือขุดลอกให้ได้มากที่สุดในพื้นที่ถนนสำคัญและบริเวณหน้าตลาดที่มีปัญหา

    3. จัดซื้อเครื่องสูบน้ำเข้ามาทดแทนใน สถานีสูบน้ำทั้ง 199 สถานีสูบน้ำ ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำประมาณ 700-800 ตัว แต่ถูกยุบสภาพ ใช้งานไม่ได้ 112 ตัว นอกจากนี้จะซื้อเครื่องไฮโดริกปั๊มซึ่งมีกำลังการสูบค่อนข้างสูงที่เดิมยืมจกหน่วยงานอื่นเข้ามาเพื่อให้สามารถใช้และเคลื่อนย้ายได้

    4. นอกจากนี้จะจัดทำเครื่องผลักดันน้ำแบบโมาย ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อนำไปผลักดันน้ำในคลองขนาดเล็ก ซึ่งในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา เครื่องผลักดันน้ำสามารถช่วยการระบายน้ำลงคลองขนาดเล็กได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

    5. พัฒนาสถานีสูบน้ำให้มีความลาดชันบริเวณหน้าสถานี ด้วยการปรับลักษณะพื้นดินเพื่อเร่งน้ำเข้าสู่สถานีได้เร็วขึ้น โดยจะดำเนินการทั้ง 199 สถานี แต่ระยะทางในการทำความลาดชันขึ้นอยู่กับพื้นที่ของแต่ละสถานี

    6. สร้างระบบเครือข่ายคลองใน กทม. เพื่อเชื่อมการระบายน้ำ เนื่องจากลักษณะคลอง กทม. ที่มีประมาณ 1,900 คลอง แต่มีคลองบางพื้นที่ไม่เชื่อมต่อกัน หรือคลองตัน เช่น พื้นที่ห้วยขวางมีคลองบริเวณตลาดห้วยขวาง คลองไดสุ ไม่เชื่อมกับคลองยัยสุ่น ทำให้ไม่สามารถผลักดันน้ำออกไปเชื่อมคลองอื่นๆ ได้ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายเพื่อทำให้คลองเชื่อมกันได้จะช่วยการระบายน้ำได้ดีขึ้น

    คันกันน้ำ

    ส่วนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแผนที่จะก่อสร้างรองรับในพื้นที่รอบ กทม. ที่ยังมีจุดอ่อนในการระบายน้ำ เช่น โครงการที่วางแผนก่อสร้างอยู่แล้ว เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ประสิทธิภาพ 48 ลบ.ม.ต่อวินาที

    โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด ครอบคลุมเขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค ประสิทธิภาพ 32 ลบ.ม.ต่อวินาที และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด ครอบคลุมเขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค

    อรรถเศรษฐ์มั่นใจ ปีหน้ามีเวลาในการเตรียมตัว และมีบทเรียนจากปีนี้ จึงเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าปีนี้ โดยหัวใจหลักในการแก้ไขคือการพัฒนาเส้นเลือดฝอย ทั้งท่อระบายน้ำ คลองต่างๆ และพัฒนาเส้นเลือดหลักคือสถานีสูบน้ำ ที่ต้องเตรียมความพร้อมในการรับน้ำให้มากที่สุด

     

  • อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา
  •