ThaiPublica > เกาะกระแส > กทม.เปิดตัวเครื่องกำจัด PM2.5 ตัวที่ 2 ติดตั้งหน้า สนง.เขตราชเทวี เดินเครื่องดักฝุ่น 0.5 ไมครอนสัปดาห์นี้

กทม.เปิดตัวเครื่องกำจัด PM2.5 ตัวที่ 2 ติดตั้งหน้า สนง.เขตราชเทวี เดินเครื่องดักฝุ่น 0.5 ไมครอนสัปดาห์นี้

28 ตุลาคม 2019


กทม.เปิดตัวเครื่องกำจัด PM2.5 ตัวที่ 2 ติดตั้งหน้า สนง.เขตราชเทวี – เดินเครื่องดักฝุ่น 0.5 ไมครอนสัปดาห์นี้

เครื่องกำจัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “PM2.5” ตัวที่ 2 ตัวกรองหรือ “filter” ใช้เทคโนโลยีจากประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท แคมฟิล (ประเทศไทย) จำกัด นำมาทดลองติดตั้งด้านหน้าของสำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ก่อนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน

  • “ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.” กางแผนแก้ PM2.5 รับหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนแผ่เข้าไทยกลาง ต.ค.นี้
  • ดูจากภายนอกแล้ว เครื่องกำจัดฝุ่น PM2.5 ชนิดนี้ มีรูปทรงค่อนข้างถึก ทนทาน เพราะปกติจะใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปริมาณฝุ่นละอองหนาแน่น อย่างเช่น โรงงานผลิตยา โรงงานแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ โรงหล่อ เชื่อม ขัด ตัดโลหะด้วยพลาสมาหรือเลเซอร์ เป็นต้น

    เครื่องกำจัด PM2.5 ของบริษัท แคมฟิล (ประเทศไทย) จำกัด
    Pre – Filter กรองฝุ่นหยาบ
    HemiPleat Gold Series filters

    นายจักริน คงวราดม ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท แคมฟิล (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายคุณสมบัติของเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ประเภทนี้ หัวใจสำคัญในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ที่ไส้กรอง “HemiPleat Gold Series filters” จำนวน 4 ชุด ติดตั้งอยู่ภายในเครื่อง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดของ บริษัท Camfil Air Pollution Control (APC) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ถึง 0.5 ไมครอน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน กรองได้ผลถึง 99.99% ซึ่งในทุกๆ ชั่วโมงจะสามารถผลิตอากาศดีที่ผ่านการกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ปกติเครื่องกรองฝุ่นชนิดนี้จะติดตั้งอยู่ภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปริมาณฝุ่นละอองฟุ้งกระจายหนาแน่นมาก หากนำมาติดตั้งในที่โล่ง ซึ่งมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กฟุ้งกระจายในอากาศน้อยกว่าในโรงงานอุตสาหกรรม มั่นใจว่าจะสามารถลดปริมาณ PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้อย่างแน่นอน

    เนื่องจากไส้กรองชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองขนาดถึง 0.5 ไมครอน ก่อนที่อากาศจะถูกดูดเข้าไปที่ไส้กรอง “HemiPleat” จึงต้องมีไส้กรองหยาบ (pre-filter) ดักจับกรองเศษใบไม้ ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน เอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้กรองอุดตัน

    ถามว่าไส้กรอง “HemiPleat” มีอายุการใช้งานนานแค่ไหน ราคาเท่าไหร่ นายจักรินตอบว่า เครื่องกำจัด PM2.5 ของบริษัท แคมฟิลฯ 1 ตัว จะใช้ไส้กรอง “HemiPleat” ทั้งหมด 4 ตัว ตัวละ 10,000 กว่าบาท เปลี่ยนไส้กรองแต่ละครั้งใช้งบประมาณไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนที่ถามว่าไส้กรองมีอายุการใช้งานนานแค่ไหน นายจักรินตอบว่า ตัวเครื่องกรองฝุ่นชนิดนี้ ทางบริษัทแคมฟิลฯ ได้ออกแบบระบบทำความสะอาดไส้กรองเอาไว้ด้วย ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของไส้กรองได้นานถึง 3 ปี โดยด้านบนของตัวเครื่องจะติดตั้งเครื่องอัดอากาศเพื่อปล่อยอากาศที่มีความดันและความเร็วสูง เป่าเข้าไปที่ด้านในของไส้กรอง “HemiPleat” ทำให้ฝุ่นละเอียดที่เกาะอยู่ที่ด้านนอกของไส้กรองหล่นลงไปที่ถังกักเก็บฝุ่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปกำจัดหรือฝังกลบต่อไป”

    ด้านนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ กทม.ให้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ กล่าวว่า สำหรับเครื่องกำจดฝุ่น PM2.5 ของบริษัท แคมฟิลฯ จะเริ่มทดลองเดินเครื่องในช่วงสัปดาห์นี้ โดยที่ด้านหน้าสำนักงานเขตราชเทวีจะมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ พร้อมจอ LED ทำการตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อประเมินผลการใช้งานของเครื่องกำจัดฝุ่น PM2.5 แบบเรียลไทม์ ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนและหลังการติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อนำไปใช้ประเมินผลการใช้งานและประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่น PM2.5 ต่อไป

    ส่วนเครื่องแรกที่ทดลองติดตั้งที่บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดส่งผลการศึกษาและประเมินผลการใช้งานในเบื้องต้นมาแล้ว ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง สามารถผลิตอากาศดีได้ประมาณ 17,000-20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ส่วนของเครื่องกรองฝุ่นของบริษัทแคมฟิลฯ คาดว่าจะสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 และผลิตอากาศดีได้ประมาณ 10,000 ลูบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีการประเมินผลการใช้งานอีก 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเคลื่อนปกคลุมประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้

    “ขณะนี้ทาง กทม.ยังไม่ได้มีการลงทุนจัดซื้อจัดจ้างใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าผลการประเมินออกมาดี ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนในอากาศได้จริง จากนั้นถึงจะมาพิจารณาในเรื่องของการลงทุน ซึ่งทาง กทม.ก็อาจลงทุนได้แค่ส่วนหนึ่ง ที่เหลืออาจจะต้องรณรงค์ หรือ ขอความร่วมมือภาคเอกชน บริษัท ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ให้ช่วยติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อลดมลพิษทางอากาศร่วมด้วย อย่างน้อยก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่าการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไม่กี่ตัวตามท้องถนนจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ ต้องขอเรียนว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง และเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กทม.ที่พอจะทำได้ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งผมคิดว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” นายอรรถเศรษฐ์กล่าว