ฝนตกทีไรก็น้ำท่วม… ฝนตกรถติดแน่ๆ… เป็นคำพูดที่คุ้นชินของคนกรุงเทพฯ
ด้วยความที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของ “กรุงเทพมหานคร” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วิถีชีวิตของคนและเมืองกรุงเทพฯ ต้องอยู่กับน้ำ ซึ่งในอดีตสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมืองเจริญขึ้น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม บ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมไปถึงผู้คนที่เข้ามาอยู่มากมาย จากวิถีชีวิตริมน้ำได้กลับกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังและสร้างความเสียหายอย่างมากในแต่ละปี ทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินและต้นทุนที่จับต้องไม่ได้อีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น “เวลา” “สุขภาพกาย” “สุขภาพจิต” ที่เผชิญกับภาวะน้ำท่วม รถติด
เมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทุกยุคสมัยการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ การขุดลอกคลอง ขุดลอกท่อระบายน้ำ ฯลฯ แต่น้ำท่วมยังเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญอยู่ของคนกรุงเทพฯ นำไปสู่คำถามสำคัญว่าแท้ที่จริงแล้วการบริหารจัดการน้ำของ กทม.ต้องทำอย่างไร และปัจจัยของความสำเร็จที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนคืออะไร?
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสัมภาษณ์ นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำที่เข้ามาบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมใน กทม.ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมของ กทม.ไปได้มากกว่าครึ่ง
ข้อมูลปี 2561 ที่ผ่านมามีฝนตกลงสู่ กทม.มากกว่าปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย แต่น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 2554
หลักการใหญ่ “ระบายน้ำให้เร็ว-มีพื้นที่รับน้ำ”
นายอรรถเศรษฐ์เริ่มต้นเหล่าถึงพื้นฐานทางภูมิศาสตร์และการระบายน้ำของ กทม.ว่า กทม.มีพื้นที่ 1,750 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ และประเด็นสำคัญคือเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นลักษณะแอ่งกะทะลงไป ฉะนั้นน้ำใน กทม.ไม่สามารถไหลตามแรงโน้มถ่วงได้ ต้องสูบออกเท่านั้น สูบไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนจะไหลออกไปทางอ่าวไทย อันนี้คือหลักการเอาน้ำออกจาก กทม.
ขณะที่แหล่งที่มาของน้ำจะมีอยู่ 3 แหล่ง น้ำฝน น้ำเหนือ น้ำหนุนจากทะเล น้ำที่คาดการณ์ได้คือการขึ้นลงของน้ำหนุน ตามกรมอุทกศาสตร์ของกองทัพเรือประกาศ เป็นสถิติรายปี รู้ว่าจะป้องกันอย่างไร อันนี้มีผลกระทบน้อย น้ำเหนือเหมือนกัน เราค่อนข้างคาดการณ์ได้ เพราะกว่าจะเดินทางมาถึง กทม.ใช้เวลา เรารู้ว่ามวลน้ำจะมาอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่คาดการณ์ได้ลำบากคือน้ำฝน ส่วนใหญ่ 80-90% ของน้ำท่วมเกิดจากน้ำฝน
“การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตามหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์คือต้องมีความเร็วกับมีพื้นที่ แค่นั้นเอง นั่นคือต้องมีระบบส่งน้ำให้เร็วที่สุด ทำอย่างไรให้น้ำเดินทางเร็วที่สุดและมีพื้นที่รับน้ำ ที่นี้ปัญหาว่า “น้ำในกทม.” มันเดินทางด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องสูบออก แล้วกำลังการสูบของเรา โรงสูบที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด เรามีกำลังการสูบอยู่ 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่เพียงพอ แต่ไม่ใช่อุปสรรค แต่เนื่องจากว่า เมื่อเมืองมันโตขึ้น เราไม่มีพื้นที่ที่จะสร้างโรงสูบน้ำเพิ่ม ขยายโรงสูบเดิมก็ขยายไม่ออก ที่ดินมันแพง เราก็ไม่มีที่ดิน และโรงสูบมันต้องอยู่ติดกับคลองที่จะระบายออก” นายอรรถเศรษฐ์กล่าว
สร้างพื้นที่แก้มลิงน้ำรับ – Waterbank ใต้สวนสาธารณะ
เมื่อสร้างโรงสูบไม่ได้ ทางออกแรกง่ายที่สุดคือทำแก้มลิง พักน้ำเอาไว้ก่อน หมายความว่าฝนตกลงมา ก็พักไว้ในแก้มลิงก่อนแล้วค่อยๆ สูบออกไป เราเพิ่มกำลังสูบไม่ได้ แต่มันต้องมีที่หน่วงน้ำเอาไว้ให้เรา ทีนี้ปัจจุบันใน กทม.มีแก้มลิงทั้งหมด 25 แห่ง ฝั่งพระนคร 23 แก้มลิง ฝั่งธนบุรี 2 แก้มลิง รวมกันสามารถรองรับน้ำได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความต้องการจริงๆ เราต้องการพื้นที่ที่รองรับน้ำ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร แปลว่าเรายังขาดอีก 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอดีต กทม.เองเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชุ่มน้ำอยู่แล้ว แต่เมื่อเมืองมันโต ที่ดินจากดินมันกลายเป็นปูน เป็นถนน เป็นอาคาร เวลาฝนตกลงมามันไม่สามารถซึมลงไปในผิวดินได้ มันก็ไม่ซับน้ำ น้ำต้องลงไปทางท่อระบายน้ำเท่านั้น
“สิ่งที่เราต้องการคือแก้มลิง แต่เนื่องจากมันต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีพื้นที่เท่ากับสนามราชมังคลากีฬาสถาน แปลว่าเราต้องการพื้นที่ 5 สนาม จะได้มองเห็นภาพว่ามันต้องใช้พื้นที่อีกขนาดนี้ มันก็ผุดโครงการของผู้ว่าราชการ กทม.ว่า ถ้ามันหาพื้นที่ใหญ่ๆ ไม่ได้ เราก็เอาพื้นที่เล็กๆ ก็ขอความร่วมมือ ไม่ว่าจะเอกชนหรือหน่วยงานราชการด้วยกันเอง เป็นสวนหรืออะไร ก็พัฒนาเป็นแก้มลิงขนาดเล็ก เราก็รณรงค์เรื่องนี้ ปีที่ผ่านมาก็ได้มาเพิ่มบ้าง แต่ไม่ถึงกับมากนัก ยังทำเรื่องนี้ต่อเนื่อง
ขั้นตอนต่อไป เมื่อเราเพิ่มพื้นที่แบบนี้ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่แล้ว เราก็คงต้องรณรงค์โครงการรองน้ำฝน ใน กทม.มีบ้าน 6-7 ล้านครัวเรือน ถ้า 1 หลังเก็บไป 1,000 ลิตร พักน้ำไว้ก่อนเหมือนเรารองน้ำฝนแบบในอดีต มันก็สามารถเก็บได้แล้ว 5 ล้านลูกบาศก์เมตร นายอรรถเศรษฐ์กล่าว
นอกจากนี้ โครงการหนึ่งที่ กทม.ผลักดันคือเรื่อง waterbank เหมือนตัวหน่วงน้ำหรือแก้มลิงเล็กๆ โดยริเริ่มจากปัญหาของวงเวียนบางเขนที่น้ำท่วมบ่อยๆ กทม.ก็เอาเข้าไปวางไว้ใต้พื้นดิน ประมาณ 10 ลูกบากศ์เมตร เพื่อจะเอาน้ำลงมาพักไว้ก่อนแล้วค่อยสูบออกลงคลองบางอ้อบางแก้ว ตรงถนนพหลโยธิน 63 ทำให้เครื่องสูบน้ำเราทำงานได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ที่ทำเสร็จไปแล้วก็มีวงเวียนบางเขน ซอยสุทธิพร
ทางออกต้องพัฒนาคลองรองรับน้ำ
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการพัฒนาแก้มลิงใหม่คือ การพัฒนาคลองที่มีอยู่เดิมกว่า 1,682 คลอง ซึ่งมีลักษณะเป็นแก้มลิงและทางระบายน้ำโดยธรรมชาติแล้ว ทั้งนี้ ใน กทม.จะมี 3 คลองหลักที่เป็นหัวใจของ กทม. คือคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองพระยาสุเรนทร์ 3 คลองนี้ จะวิ่งจากเหนือลงใต้และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดเลย รวมทั้งวิ่งผ่านเมืองทั้งหมด ทำให้ทั้ง 3 คลองนี้ทำหน้าที่รับทั้งน้ำเหนือและน้ำฝนโดยธรรมชาติ
“สำหรับคลอง ถ้าไม่พัฒนาคลอง มันก็จะตื้นเขิน อยากให้มองภาพว่าปัจจุบันนี้ความลึกของคลองลาดพร้าวหรือคลองเปรมประชากร ลึกประมาณ -1 เมตร คือต่ำลงไปจากระดับพื้น -1 เมตร หรือไม่เกิน -1.5 เมตร ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือท่อระบายน้ำ เวลาคนจะถามว่าทำไมระบายน้ำได้ช้า เพราะว่า กทม.มีท่อระบายน้ำรวม 21,000 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-80 เซนติเมตร ฝังลงไปอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6,500-7,000 กิโลเมตร คือเป็นท่อขนาดเล็ก รับน้ำได้น้อยมาก น้ำมันก็จะไปกองบนถนน แล้วคลองยังรับน้ำได้ -1.5 เมตรจากระดับพื้น ขณะที่ท่อระบายน้ำวิ่งมาก็ต่ำกว่าระดับพื้น 50-80 เซนติเมตร ยังมีพื้นที่รับน้ำ 70 เซนติเมตร ทำให้น้ำมันไปกองที่ถนนเยอะ เพราะท่อขนาดเล็กกว่าที่จะมาถึงคลองมันไม่ทัน”
ในช่วงที่ผ่านมากทม.ได้เปลี่ยนท่อระบายน้ำเกือบจะครบทุกพื้นที่จากท่อ 80 เซนติเมตร เป็นท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2-1.5 เมตร คำถามต่อไปคือว่าทำไมเราไม่เปลี่ยนเป็น 1.5 เมตรทั้งหมด บางพื้นที่อาจจะไม่เอื้ออำนวย แต่ว่าคนอาจจะถามว่าทำไมน้ำยังท่วม ประเด็นปัญหาสำคัญคือต่อให้เราเปลี่ยนทั้ง กทม.เป็น 1.5 เมตร แต่คลองก็ลึก 1.5 เมตร สุดท้ายน้ำระบายไปไม่ได้ เพราะมันลึกเท่ากัน ท่อระบายน้ำไปชนกับคลองระดับเท่ากัน ถนนอาจจะไม่ท่วมแล้วน้ำระบายทัน แต่บ้านที่อยู่ริมคลองท่วมแทน เพราะกำลังสูบที่เอาน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยายังมีเท่าเดิม
“ฉะนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมถ้าจะให้ยั่งยืนจริงๆ เราต้องมองว่าเราต้องกดคลองให้ลึกลงไปอีก ให้มีระดับที่ลึกกว่าท่อระบายน้ำ ผลการศึกษาเราต้องการความลึกระดับ -3 หรือ -4 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำ นี่คือหลักการในการแก้ไขของ กทม. แต่ปัจจุบันเมื่อฝนตกแล้วสูบน้ำออกจากคลองไม่ได้ และคลองลึกแค่ 1.5 เมตร เท่ากับท่อระบายน้ำลึก 1.5 เมตร แล้วมาเจอช่วงเวลาน้ำหนุนอีก ยิ่งไปไม่ได้ใหญ่”
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กทม.ได้ริเริ่มโครงการจากคลองลาดพร้าว ทำเป็นเขื่อนคลองเพื่อให้ผู้รุกล้ำขึ้นจากคลอง ด้วยคลองลาดพร้าวเป็นคลองขุด ไม่ใช่คลองธรรมชาติ ส่วนใหญ่คลองทั้ง กทม.เป็นคลองขุดหมดไม่ใช่ธรรมชาติ สำหรับคลองลาดพร้าว กว้างอยู่ 35 เมตร ปัจจุบันบางพื้นที่ก่อนจะดำเนินการมันมีความกว้างแค่ 10 กว่าเมตร พอเรากำหนดเป็นแผนแม่บทขึ้นมาว่าต้องการความกว้างให้ได้ 35 เมตร แล้วพื้นที่ทางเดินข้างคลองอีกฝั่งละ 1.5 เมตร เป็น 38 เมตร แล้วก็ยกคนที่อยู่ในคลองขึ้นมาบนบก
ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วม คลองเป็นหัวใจหลัก กทม.จึงต้องพัฒนาคลองก่อน
พร้อมกันนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาคลองหลักต่อไปคือคลองเปรมประชากร พร้อมทั้งทำอุโมงค์คลองเปรมประชากร เอาน้ำไปลงที่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสะพานพระราม 7 จนไปสิ้นสุดคลองเปรมประชากร ทำคู่ขนานกันไป อุโมงค์ก็อยู่ข้างล่าง คลองก็ทำคลองเขื่อน เอาชุมชนขึ้นไป พัฒนาใหม่ คลองต้องเป็นทางระบายน้ำ แล้วกดระดับคลองลงไปให้ต่ำ ทำคล้ายๆ กับคลองลาดพร้าว ก็จะเริ่มเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน
แจง “อุโมงค์ยักษ์” ไม่เท่ากับ “น้ำไม่ท่วม”
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคนอาจจะไม่เข้าใจ “อุโมงค์ยักษ์” เพราะให้ความคาดหวังกับอุโมงค์ระบายน้ำค่อนข้างสูงว่ามีอุโมงยักษ์แล้วน้ำจะไม่ท่วม แต่อุโมงค์ยักษ์มันรับไม่ได้ทุกพื้นที่ของ กทม.
กทม.มี 1,750 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีอุโมงค์ใหญ่อยู่ 7 แห่ง ความยาวอุโมงค์ประมาณ 19 กิโลเมตร ตามพื้นที่ต่างๆ ตามคลองต่างๆ ตั้งแต่คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ อุโมงค์มักกะสัน อุโมงค์ช่องนนทรี เป็นต้น อุโมงค์ขนาดใหญ่ คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกินกว่า 3-4 เมตรขึ้นไปจะเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่
ปัจจุบันเรามีอุโมงค์ขนาด 15 เมตร กำลังการสูบน้ำแต่ละอุโมงค์ประมาณ 60 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที เช่น อุโมงค์ของบางซื่อที่เปิดเต็มรูปแบบ รับน้ำได้ 56 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ อาทิ เขตบางซื่อ จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง ประมาณสัก 5-7 เขตที่อยู่ในแนวอุโมงค์
ขณะที่อุโมงค์มักกะสันมีกำลังสูบประมาณ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่อุโมงค์มักกะสันจะรับเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียดินแดง บริเวณบึงมักกะสันที่เป็นน้ำดีแล้ว กทม.ต้องปล่อยน้ำนี้ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พอมีน้าส่วนนี้ลงไป น้ำจากแหล่งอื่นก็ลงได้น้อย แม้ว่าจะมีอาคารรับน้ำระหว่างทางตรงคลองไผ่สิงโต ไปถึงช่องนนทรี พระราม 3 ก็ต้องบริหารจัดการเพราะว่ากำลังที่รับน้ำได้มันถูกลดทอนไป
ส่วนอุโมงค์พระรามเก้า มีกำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คนมักเข้าใจผิดกันมากว่าจะช่วยแก้น้ำท่วม แต่อุโมงค์นี้ไม่มีอาคารรับน้ำเลย เป็นอุโมงค์ที่เชื่อมระหว่างคลองแสนแสบกับคลองลาดพร้าวมาบรรจบกัน คือตัดยอดน้ำของคลองลาดพร้าว เพื่อไปควบคุมระดับน้ำและเติมเข้าคลองแสนแสบ ให้อยู่ในระดับน้ำคงที่ตลอดเวลาเพื่อให้เรือในคลองสัญจรได้ แล้วไปออกที่พระโขนงเป็นโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของ กทม.
ดังนั้น อุโมงค์แต่ละแห่งวัตถุประสงค์มันจะแตกต่างกันไป แต่มันจะเป็นตัวหนึ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหา อย่างเส้นหลักๆ ที่ไม่ค่อยท่วมในแนวทางของอุโมงค์มักกะสันคือเส้นสุขุมวิท 1 ตั้งแต่โรงงานยาสูบถึงอโศกไม่ค่อยท่วม เพราะอุโมงค์มักกะสัน มีอาคารรับน้ำ มีคลองไผ่สิงโตไปวิ่งออกคลองเตยได้ เป็นคู่ขนานกัน ไปลงช่องนนทรีพระราม 3
“การสร้างอุโมงค์ครั้งหนึ่งใช้เงินเยอะมาก ครั้งหนึ่งหลายพันล้านถึงหมื่นล้านบาท แล้วการใช้อุโมงค์มันมีค่าดำเนินการสูง การจะเดินเครื่องแต่ละครั้งมันมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว เราถึงให้ความสำคัญและยั่งยืน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่สร้างอุโมงค์ได้ ต้องพัฒนาคลองให้กลับมาใช้ได้ใหม่ เราพยายามจะทำให้ทุกคลองเป็นคลองเขื่อนหมด เพราะถ้าไม่เป็นเขื่อนเวลาขุดลอกบ้านชาวบ้านที่รุกล้ำหรืออยู่ริมคลองก็จะถล่มลงมาหมดเลย มันก็กดระดับคลองลงไปไม่ได้ เราพยายามคำนึงถึงการใช้งบประมาณไม่ให้ศูนย์เปล่า เราอยากให้ภาษีถูกใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องมาตอบคำถามว่าสร้างอุโมงค์แล้วมันได้อะไร”
ชี้มาถูกทาง…จุดเสี่ยงลดลงกว่าครึ่ง
แม้จะดำเนินการพัฒนาคลองได้แล้ว แต่การระบายน้ำใน กทม.ใช่ว่าจะหมดไป ด้วยสถิติปริมาณฝนตกที่ผ่านมา ปีที่หนักที่สุดคือปี 2561 มีปริมาณน้ำฝนทำลายทุกสถิติในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่ปี 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่
กรุงเทพฯมีจุดเสี่ยงในการระบายน้ำ 40-50 จุด เมื่อได้เข้ามาดำเนินการจริงๆ จังๆ ปี 2561 ทำให้จุดเสี่ยงเหลือ 17 จุด
“จริงๆเรื่องน้ำท่วม กทม.ก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ได้เปลี่ยนแปลงทางกายภาพเยอะ ตั้งแต่ขนาดของท่อระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่ลำเลียงน้ำออก กว่า 20 โครงการ ด้วยการทำอุโมงค์ขนาดเล็กตามถนนต่างๆ เนื่องจากมีจุดเสี่ยง จุดอ่อนเยอะมาก คาดว่ากลางปีนี้ถึงสิ้นปีนี้ จุดเสี่ยงที่ว่าเกือบทุกโครงการจะเสร็จหมด ปีนี้คาดว่าการแก้น้ำท่วมจะเห็นผล อาจจะมีบางโครงการช้าไปบ้างแต่ยังอยู่ตามแผน เพราะว่าการทำงานใน กทม. ต้องเข้าใจว่ามันมีผลกระทบกับการจราจรค่อนข้างมาก จะทำได้เฉพาะสี่ทุ่มถึงตีสี่ของแต่ละวัน เราก็ทำอยู่ทุกวัน แต่คนบอกว่าฝนตกนิดหน่อยท่วม แต่ “ไม่หน่อยหรอก” ถ้าดูจากรายงาน ถ้าฝนตกไม่ถึง 60 มิลลิเมตรไม่ท่วม แต่ถ้าเกินกว่าโอกาสที่จะท่วมขังก็สูง แต่เราก็มีเกณฑ์อีกว่า ถ้า 60-80 มิลลิเมตร ครึ่งชั่วโมงต้องแห้ง เพราะเราปรับระบบไปมากแล้ว ขยายท่อระบายน้ำไปแล้ว”
“แต่ถ้าตกแบบปี 2561 ที่บอกว่าฝนตกเยอะๆ ตกทีละ 150-160 มิลลิเมตร มันเกินกว่าโครงสร้างพื้นฐานของ กทม.ของท่อระบายน้ำจะรับได้ กรณีแบบนั้น การแก้ปัญหาอันดับแรกก็เอาถนนหลักไว้ก่อน คือถนนหลักต้องแห้งก่อน ถนน/ซอยค่อยตามมา เพราะมันจะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การเดินทางมากกว่า ถ้าน้ำท่วมแต่คนอยู่บ้านแล้ว ไม่หงุดหงิดเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าอยู่บนถนนมันจะหงุดหงิดมาก เราจึงต้องหาทางดึงน้ำออกมาจากถนนหลักให้มากที่สุด ซึ่งจากสถิติที่ฝนตกหนักเต็มที่ 180-190 มิลลิเมตร สูงสุดไม่เกิน 2 ชั่วโมงจะระบายออกจากถนหลักได้ แล้วเราค่อยพยายามจะไปสูบตามซอยอะไรออกมาให้เร็วที่สุดต่อไป”
3 อุปสรรคใหญ่ “ประสานหน่วยงาน-ความร่วมมือประชาชน-โลกร้อน”
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้จะมีการพัฒนาคลอง การสร้างอุโมงค์ แต่การบริหารจัดการน้ำของ กทม.ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคอีกหลายประการที่ควบคุมไม่ได้ เริ่มต้นจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ซอยแบริ่งหรือสุขุมวิท 107 คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็น กทม. แต่ในความเป็นจริงเป็นพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต้องสูบออกคลองสำโรง แต่ปัญหาคือกำลังทรัพยากรของจังหวัดสมุทรปราการอาจจะไม่ได้มีเทียบเท่ากับ กทม. แต่เวลาน้ำท่วมคนจะเข้าใจว่า กทม.น้ำท่วม
“คือมันเป็นรอยต่อระหว่างซอยลาซาล ตั้งแต่ซอย 105 107 แล้วก็ไปสมุทรปราการ ฝั่งของ กทม.มีคนทำงานตลอดเวลา น้ำไม่ท่วม แต่พอข้ามไปแบริ่ง ทุกครั้งที่ฝนตกก็บอกว่าเป็น กทม. เขาต้องดึงน้ำไปคลองสำโรง มันทำงาน 2 ฝั่ง ฝั่ง กทม.จะเอาน้ำลงคลองบางนา แต่ฝั่งสมุทรปราการต้องดึงเข้าคลองสำโรง แต่เราทำงานตลอดเวลา แยกบางนาถึงซอย 105 ไม่ท่วม หลังจากนั้นจะท่วม เพราะว่าด้านที่ต้องสูบเข้าคลองสำโรง เขาไม่เดินเครื่องสูบน้ำ ไม่มีคนทำงาน จะเป็นปัญหาแบบนี้ตลอดเวลา แต่คนไม่รู้เหมาเป็น กทม.หมด เพราะพื้นที่มันติดกัน ผมก็เข้าใจว่ามันซับซ้อน เราไม่อยากไปโทษกัน แต่เราก็พยายามประสานงานเขา เพราะเราก็มีเครื่องมือมากกว่า มีงบประมาณ เราก็ช่วยกันอยู่แล้ว คนทำงาน คนกทม.ก็น้อยใจเหมือนกันนะ อย่างคนในสำนักการระบายน้ำของ กทม.ก็บอกว่าไม่ใช่ครับนาย ตรงนี้มันสมุทรปราการ แต่ก็ไปพูดไม่ได้ เราก็ช่วยทำท่อลอด เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ เอามาลงที่คลองด่าน เราจะได้บริหารจัดการได้ด้วยตัว กทม.เอง เราก็ของบรัฐบาลไป เขาก็อุดหนุนมา อีกไม่นานนี้ก็จะเสร็จแล้ว”
หรืออีกตัวอย่างคือการประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวง เนื่องจาก กทม.ต้องการไฟฟ้ามาเดินเครื่องสูบน้ำ ซึ่งจะอยู่ตามโรงสูบหลักๆ แล้วพอไฟฟ้าดับก็ต้องรอ คือมีหน่วยงานอื่นที่มีผลกระทบผูกพันอยู่ ถามว่าทำไมไม่เก็บไฟฟ้าสำรอง ต้องบอกเครื่องสูบขนาดใหญ่อันหนึ่ง สำรองเท่าไหร่ก็ไม่พอ เครื่องสูบระดับ 10 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป สำรองไฟฟ้าขนาดไหนก็ไม่พอ มันใหญ่มาก มีกำลังมาก ก็กินไฟฟ้ามาก กทม.แจ้งแล้วก็รอ แล้วสิ่งที่ตามมาเมื่อฝนตกน้ำท่วม รถติดกว่าการไฟฟ้าฯ จะเข้าพื้นที่ได้ มันพันกันไปหมดอยู่แบบนี้
หรือการสร้างรถไฟฟ้า เดิมถนน กทม.จะเป็นหลังเต่า มีท่อระบายน้ำอยู่ 2 ข้าง แต่รถไฟฟ้าสร้างอยู่กลางหลังเต่า มันก็ขวางทางน้ำ น้ำไปไม่ได้ แล้วเวลาก่อสร้างก็มีเศษวัสดุที่ไปอุดตันท่อระบายน้ำค่อนข้างเยอะ หรือจุดขึ้นลงของรถไฟฟ้าที่สร้างมันก็ไปทำให้ทางเดินของน้ำ ความเร็วลดลง แทนที่ท่อระบายน้ำ เดิมวิ่งมาตรงๆ ก็ต้องไปหักหลบตอม่อ ซึ่งต้องมีเงื่อนไขกัน ว่าคุณทำให้ความเร็วน้ำไหลได้ลดลง ไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ เราก็พยายามต่อรองกับการก่อสร้างเกือบทุกสาย มาทำความเข้าใจกันว่าอยู่ๆ ไปสร้างตอม่อขวางทางน้ำ มันก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง มีอะไรก็ลง กทม.ก่อน แต่เราก็ไม่ได้ไปแก้ตัวว่าอุปสรรคมันมาจากอะไรบ้าง มีหน้าที่ทำก็ทำไปก่อน
อีกประเด็นที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชน คือมักมีคำถามที่คนชอบถามว่า กทม.ไม่ขุดลอกคลอง/ลอกท่อ ต้องบอกว่าไม่จริง กทม.มีแผนที่จะขุดลอกคูคลองอยู่แล้วทุกปี ซึ่งเราแยกเป็น 2 ส่วน อันแรกขุดลอก อันที่ 2 คือเปิดทางน้ำไหล การขุดลอกคลองซึ่งมีความยาวรวมกัน 6,500 กิโลเมตร จำนวน 1,682 คลอง เรามีกำหนดการขุดลอกแต่ละเส้นอยู่แล้ว สลับสับเปลี่ยนกันไป แล้วอยากให้สังเกตอันหนึ่งที่ทำแล้วได้ผลมากคือการเปิดทางน้ำไหล คือไม่มีผักตบชวา เหลือน้อยมาก กล้ารับประกันว่าไม่ค่อยมีเสียงแล้วว่ามีผักตบชวาใน กทม.หรือแม้แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เราทำมาต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนให้กับคลอง
“แต่อันหนึ่งที่เราเจอเวลาขุดลอกคือความที่ประชาชนยังทิ้งน้ำเสียตรงๆ เข้ากับท่อระบายน้ำโดยไม่ผ่านบ่อดักไขมัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการขายพวกอาหาร ทำให้เกิดไขมันอุดตันท่อระบายน้ำ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้น้ำระบายได้ช้า มันไปจับตัวแข็งในท่อ เราก็รณรงค์ให้ใช้บ่อดักไขมันก่อนทิ้งน้ำลง ไม่ได้พูดถึงว่าผู้ค้าขายริมทาง คลองขนาดเล็กของเรา อย่างคลองหัวลำโพง คลองนั้นคลองนี่ที่วิ่งผ่านร้านค้าสถานประกอบการขนาดใหญ่แล้วปล่อยน้ำตรงๆ ลงมา ก็เป็นหน้าที่ของ กทม.ที่ไปกำจัดพวกนี้ ในคลองมันยังพอเห็น แต่ในท่อระบายน้ำมันมองไม่เห็น ถ้าเขาไม่ให้ความร่วมมือ ต่อให้วางระบบเสร็จแล้ว สิ่งที่มันจะฟ้องขึ้นมาเลยมันก็เกิดน้ำท่วมในพื้นที่คุณนั้นแหละ”
กทม.ก็มีแผนงานเข้าไปขุดลอกไขมันออกเป็นประจำอยู่แล้ว เราก็กำชับเขตว่าตามตลาดหรืออาหารข้างทางอะไรพวกนี้ ต้องดูแลเป็นพิเศษ ต้องถี่ขึ้น ต้องดูแลการขุดลอกท่อระบายน้ำ มันเป็นจุดที่ง่ายต่อการเกิดไขมันอุดตัน แล้วเขตพวกนี้เราก็ต้องกำหนดขึ้นมาเป็นจุดพิเศษ แล้วเขตต้องมาดูเอง ไม่ต้องไปจัดซื้อจัดจ้างให้เอกชนมาขุดลอกแบบที่ทำเป็นตารางเวลาปกติช่วงๆ เขตก็ต้องใช้เจ้าหน้าที่เขต ใช้งบประมาณเขตไป
อีกตัวอย่างคือประชาชนไม่ยอมให้ กทม.เข้าไปช่วย ทั้งที่มันสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่รู้ว่าเหตุผลอะไร เช่น หมู่บ้านหนึ่งแถวถนนพัฒนาการ ตรงแยกกรุงเทพกรีฑา เป็นหมู่บ้านเก่า ถนนไม่ได้เป็นทางสาธารณะ ฝนตกเมื่อไหร่หมู่บ้านนี้จะน้ำท่วม กทม.ก็เข้าไปวางแผนเรียบร้อยหมดแล้วว่าจะเอา waterbank ไปใส่ไว้ใต้สวนสาธารณะเด็กเล่น ทำเป็นพื้นที่รับน้ำแก้มลิงก่อนจะทยอยสูบออกไป มันก็จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของหมู่บ้านได้ยั่งยืน
“เราใช้พื้นที่ใต้ดิน เขาก็ใช้พื้นที่ได้ปกติ สวนก็ยังมีเหมือนเดิม แต่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ จึงเป็นอุปสรรคของ กทม. แล้วทุกครั้งที่น้ำท่วมเราก็เอาเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วย แต่เราไม่ต้องการแบบนั้น เราอยากแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนมากกว่า”
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของโลกร้อนที่ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนได้ เพราะเกิดปรากฏการณ์ฝนก่อตัวเป็นบางพื้นที่แล้วตกมาทีเดียวเลย เช่นปี 2561 คือไม่มีกลุ่มเมฆเลยเกิดการก่อตัวบนพื้นที่บางพื้นที่แล้วตกมาทีเดียว 190 มิลลิเมตร เป็นต้น
“ถ้ามาแบบนั้นเรากลัวที่สุด เพราะเราคาดการณ์อะไรไม่ได้ เราไม่รู้จะไปพร่องน้ำรอตอนไหน แล้วการพร่องน้ำไม่ใช่เอะอะจะไปพร่องน้ำได้ มันก็ต้องดูว่าปริมาณน้ำในท่อมันเพียงพอหรือไม่ มีเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง การเดินเครื่องสูบครั้งหนึ่งมันแพงมาก ถ้าเราบริหารจัดการได้ มันก็ลดงบประมาณของการบริหารเมืองไปได้ ถ้าเราคาดการณ์ได้เราก็พร่องน้ำรอได้ พอมันคาดการณ์ไม่ได้เราก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือเราก็ต้องไปเร่งระบายให้เร็วที่สุด เราตั้งไว้ว่าครึ่งชั่วโมงต้องจบ”
ต้องฟื้นฟู กทม.เป็น “เวนิสตะวันออก” อีกครั้ง
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวสรุปว่า สุดท้ายคลองเป็นทางระบายน้ำที่ดีที่สุด คลองเป็นแก้มลิงที่ดีที่สุด ทุกอย่างมันต้องพัฒนาบนพื้นฐานเดิมคือคลอง สิ่งที่พอเราพัฒนาคลองได้ถึงจุดหนึ่ง ยกตัวอย่างให้ฟังว่าพัฒนาคลองแล้วไม่ใช้เป็นทางระบายน้ำอย่างเดียว แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของการคืนเวนิสตะวันออกให้ กทม.อีกครั้ง เราพิสูจน์มา 3 คลองตอนพระราชพิธีราชาภิเษก คลองหลอด คลองรอบเมือง คลองผดุงกรุงเกษม ที่ชื่นชมกันว่าทำไมถึงสวย นี่คือเรื่องของการพัฒนาคลอง พอเราพัฒนาได้มันก็สวยแล้วเป็นทางระบายน้ำที่ดีที่สุดอยู่แล้ว
ต่อไปคลองโอ่งอ่าง หรือคลองรอบเมือง ชื่อเดียวกันแค่เราจะไปวิ่งผ่านช่วงไหน ตอนนี้เราคิดหาทางกั้นน้ำจากคลองแสนแสบ มันก็มีปัญหาอีกว่ามันไม่มีจุดกลับเรือ คลองแสนแสบจะตัดกับคลองผดุงกรุงเกษมก่อน ผ่านคลองผดุงกรุงเกษมมาจะเรียกว่าคลองมหานาค ก็จะวิ่งมาชนคลองรอบเมืองตรงป้อมมหากาฬ ป้ายสุดท้ายของเรือจะเป็นที่กลับเรือด้วย เราก็จะหาวิธีว่าทำอย่างไร ที่ไม่ให้กลับเรือแล้วกั้นเป็นประตูน้ำจากคลองแสนแสบ ไม่ให้น้ำเข้ามาเติมจนดำอีก แล้วถ้าเราหาทางกั้นน้ำจากคลองแสนแสบได้ ต่อไปความยั่งยืนของ 3 คลองนี้ยังอยู่ จะไม่ดำอีกเลย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ จะลดลง ทุกวันนี้เรามีค่าใช้จ่ายที่ทำให้ 3 คลองนี้ไม่ดำสูง เพราะว่าเราต้องเอาน้ำดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาทุกวัน ล้างน้ำดำในคลองออกไป เพราะฉะนั้นถ้าเรากั้นได้ มันจะค่อยๆ พัฒนาคลองเป็นช่วงๆ ได้
“แต่เรารู้ว่ามาถูกทางแล้ว การพัฒนามันไม่ได้ทำให้เป็นทางระบายน้ำอย่างเดียว แต่ทำให้คลอง/บ้านเมืองสวยงามกลับมา”
สิ่งดีๆที่กำลังจะเกิด…ในการแก้น้ำท่วม กทม.
สิ่งดีๆที่กำลังจะเกิด…ในการแก้น้ำท่วม กทม.
Posted by ThaiPublica on Saturday, June 8, 2019