ThaiPublica > เกาะกระแส > ThaiPublica Survey : สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน

ThaiPublica Survey : สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน

25 มิถุนายน 2019


น้ำท่วมกรุงเทพฯ คนในกรุงเทพฯมักจะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้หน่วยงานกรุงเทพมหานครหรือที่เราเรียกกันว่ากทม.

คำถามว่าหน่วยงานกทม.ต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียวหรือ! หากน้ำท่วมกรุงเทพฯ

คนกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพต้องมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่

เพราะต้นตอของปัญหามีหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่การสูบน้ำเพื่อระบายให้เร็วที่สุดแล้วจะแก้ได้ทันที

เมื่อ “น้ำ(ท่วม)ในกรุงเทพ” ไม่สามารถไหลเองได้ ก็ต้องมาหาคำตอบว่าเกิดจากอะไร และจะแก้กันอย่างไร

โดยหลักการแก้ “น้ำท่วม” ด้วย ความเร็ว (การระบายน้ำที่ดี) กับพื้นที่ (แก้มลิงที่เพียงพอ)

ดังนั้นการแก้ไขจำเป็นต้องมีหลายๆ วิธีที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เพราะวิธีใดวิธีหนึ่งไม่สามารถทะลวงปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่อระบายน้ำที่เป็นอุปสรรค ตั้งแต่ขนาด ท่อระบายไม่ได้เป็นแนวตรง (คดเคี้ยวเพื่อหลบเสาเข็มของอาคาร/รถไฟฟ้า)

ปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ขยะไปอุดตันท่อ/ปากท่อ/ปากอุโมงค์ระบายน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลได้เร็ว

พื้นที่แก้มลิงที่มีไม่เพียงพอเพื่อหน่วงหรือชะลอน้ำก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำและทะเล ตามข้อมูลของ กทม.ระบุว่าปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงในรูปแบบต่างๆประมาณ 3 ล้านลูกบาสก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับสนามฟุตบอลราชมังคลากีฬาสถาน 5-6 สนามนั่นเอง แต่จะหาที่ไหน!

พื้นที่เป็นถนน พื้นที่เป็นอาคาร พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย น้ำไม่สามารถซึมซับลงใต้ดินได้ ต้องไหลลงท่อระบายเท่านั้น จึงมีนโยบายให้แต่ละบ้านรองน้ำฝนก็ช่วยกักเก็บน้ำไว้ชั่วคราว

นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่บางส่วนเป็นที่ของเอกชน แม้ กทม.พร้อมที่จะเข้าไปปรับปรุงเรื่องระบายน้ำแต่เอกชนไม่ยินยอม ก็มีน้ำท่วมขังทุกครั้ง ดังกรณีถนนเข้า อสมท/ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ ที่มีน้ำท่วมขังในระดับสูง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอๆ

ดังนั้นเมื่อน้ำในกรุงเทพฯ ไม่สามารถไหลได้ด้วยตัวเองก็ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ต้องมีอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งมีต้นทุนที่สูงมากในการแก้น้ำท่วม

แต่ถ้ามีพื้นที่แก้มลิงที่ช่วยหน่วงน้ำ/ชะลอน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่คลองในกรุงเทพฯ ที่มีมากมายกว่า 1,600 คลอง สามารถปรับปรุงขุดลอกให้คลองมีความลึกมากขึ้น อย่างน้อย 4-5 เมตร ก็รองรับน้ำได้มากขึ้น และก็จะไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากมายไปกับค่าใช้จ่ายต่างๆในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว เช่น ค่าใช้จ่ายในการสร้างอุโมงค์เพิ่มขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ต้องใช้สำหรับสูบน้ำ ยิ่งเครื่องสูบที่มีกำลังสูงๆ ต้องใช้ไฟฟ้าสูงและค่าไฟก็สูงตามไปด้วย เช่น การเดินเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่หนึ่งครั้งต้องจ่ายค่าไฟประมาณกว่า 1 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ “ไทยพับลิก้า” ได้สัมภาษณ์นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงความคืบหน้าในการวางแผนแก้ไขสภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ อ่านรายละเอียดที่นี่ “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”

คลองลาดพร้าว จากเดิมที่มีความกว้าง 35 เมตร วันนี้มีความกว้างประมาณ 10 เมตร จากการลงสำรวจภาพที่เห็นคือการสร้างบ้านเรือนอยู่ในคลอง ไม่ใช่อยู่บนฝั่งริมคลองแต่อย่างใด

เพื่อเกาะติดในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 “ไทยพับลิก้า” ได้ลงพื้นที่สำรวจคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่เอาคนขึ้นจากคลอง เพื่อให้คลองลาดพร้าวเป็นที่พื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำท่วม โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559

คลองลาดพร้าวมีผู้รุกล้ำปลูกสิ่งก่อสร้างในคลองกว่า 6,000 ครัวเรือน ขณะนี้กว่า 50% ยินยอมที่จะขึ้นมาอยู่ริมคลองในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดให้พร้อมบ้านหลังใหม่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่บางส่วนยังไม่ยินยอม ทั้งที่เป็นผู้รุกล้ำที่ของหลวงหรือพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์

จากข้อมูลของ นสพ.ไทยโพสต์ พ.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เดิมพื้นที่ริมคลองเป็นที่ดินราชพัสดุ ไม่อนุญาตให้ใครอยู่อาศัย แต่ตอนนี้รัฐบาลจะให้ประชาชนอยู่อย่างถูกกฎหมาย เสียค่าเช่าประมาณปีละ 100 บาท และมีเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 147,000 บาท เพื่อใช้ในการรื้อย้าย สร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว เป็นค่าเดินทางไปทำงาน และรัฐสร้างบ้านใหม่ โดยมีสินเชื่อให้กู้รายละ 300,000-360,000 บาท และผ่อนเดือนละ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ประชาชนมีบ้านใหม่ที่สวยงาม เป็นการสร้างอนาคตให้ลูกหลาน แต่ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือก็จะต้องเข้าร่วมโครงการ หากไม่เข้าร่วมก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย และจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

กองขยะที่สำนักระบายน้ำรวบรวมไว้บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 9 ก่อนขนขึ้นรถไปยังศูนย์กำจัดขยะ

อุโมงค์พระราม 9 เป็นสะดือในการระบายน้ำของกรุงเทพฯ โดยผ่านคลองลาดพร้าว ซึ่งมีความยาวกว่า 23 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขตของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตวังทองหลาง ห้วยขวาง ลาดพร้าว จตุจักร บางเขน ดอนเมือง และสายไหม

การสำรวจเริ่มที่คลองลาดพร้าว จากปลายคลอง ก่อนที่จะไหลลงอุโมงค์พระราม 9 ไล่ย้อนกลับขึ้นไปเรื่อยๆ

สัมผัสแรกก่อนลงเรือ ใต้ทางด่วนพระราม9 เลียบถนนรามอินทรา มีแพขยะที่เจ้าหน้าที่สำหรับพักขยะจากการใช้เรือตระเวนเก็บตลอดคลองมารวบรวมเพื่อตักขึ้นรถขนนำทิ้งยังศูนย์กำจัดขยะ เจ้าหน้าที่บอกว่าวันหนึ่งๆ มีขยะประมาณ 1-2 ตัน ที่เก็บได้จากคลองลาดพร้าว

จากสภาพที่พบเห็นนี่คลองหรือถังขยะขนาดยักษ์กันแน่ จากสายตาที่กวาดดู ขยะมีทั้งฟูก โซฟา ผักตบชวา ขวดพลาสติก ถุงพลาสติกหลากหลายประเภท กล่องโฟม และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นหมายความว่าผู้อาศัยในคลองลาดพร้าวต่างโยนสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่ต้องการลงในคลอง คลองกลายเป็นถังขยะใบใหญ่ ที่ทิ้งเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็ม

นายอรรถเศรษฐ์เล่าว่า “ขยะที่เราเห็นต่อวันของคลองลาดพร้าวไม่ต่ำกว่า 1-2 ตันต่อวัน บางครั้งสูงถึง 3 ตันต่อวัน คิดดูว่าปริมาณขยะเหล่านี้ ถ้ามันวิ่งไปแล้ว ไปอุดอยู่ที่ปากอุโมงค์ซึ่งอยู่ปลายทางคลองลาดพร้าว คืออุโมงค์พระราม 9 ตัดกับคลองแสนแสบ ขยะก็จะไปอุดตันหน้าอุโมงค์ พอขยะอุดตันหน้าอุโมงค์ก็ไม่สามารถที่จะเดินเครื่องระบายน้ำได้ อุโมงค์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เอ่อล้น… ทุกคนจะบอกว่า น้ำท่วม ก็บอกว่ามาจาก ขยะ… ขยะ ซึ่งความเป็นจริงเป็นอย่างงั้นจริงๆ กี่ยุคกี่สมัยแล้ว ก็พยายามที่จะแก้เรื่องขยะ แต่ยังแก้ไม่ได้”

จึงเป็นกิจวัตรประจำวันที่เจ้าหน้าที่ของสำนักระบายน้ำ กทม.ต้องออกเรือเพื่อกวาดต้อนขยะมารวมกันทุกวัน

และยิ่งปรากฏชัดขึ้นเมื่อนั่งเรือผ่านบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในคลอง บริเวณใต้ถุนบ้านที่อยู่ติดชายคลอง ในคลอง พบเห็นเศษขยะกองกันอยู่ตลอดเส้นทาง ที่เห็นชัดเจนมากสุดเป็นกล่องโฟมใส่อาหาร พลาสติกจากของใช้ประจำวันอาทิ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้านุ่ม ขวด ฯลฯ

อุโมงค์พระราม9
ขยะหน้าอุโมงค์
โซฟาใหญ่ลอยมาติดหน้าอุโมงค์

ขยะเหล่านี้หากเจ้าหน้าที่ไม่เก็บกวาดรวบรวมเอาขึ้นจากคลอง น้ำก็พัดพามาติดที่อุโมงค์พระราม 9 ซึ่งมีตะแกรงกักขยะ หากมีขยะจำนวนมากก็ปิดกั้นทางระบายน้ำ ซึ่งอุโมงค์พระราม 9 สามารถระบายน้ำได้ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที ไปยังสถานีสูบน้ำพระโขนงซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีกำลังสูบ 173 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

เจ้าหน้าที่บอกว่า บ่อยครั้งที่มีขยะชิ้นใหญ่ลอยมาขวางปากอุโมงค์ ซึ่งวันที่ลงไปสำรวจพบโซฟาขนาดใหญ่ ที่เจ้าหน้าที่ยกเก็บขึ้นมาวางไว้

การลงสำรวจครั้งนี้เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาของคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นแก้มลิงหรือพื้นที่รับน้ำสำคัญของกรุงเทพฯ อยู่ในสภาพแบบไหนอย่างไร

บ้านเรือนที่รุกล้ำปลูกอยู่ในคลองลาดพร้าว(ไม่ใช่ริมคลอง)
สภาพการทิ้งขยะ

คนเก็บขยะในคลองเพื่อขาย

คลองลาดพร้าวไม่ใช่คลองที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติสร้างมา แต่ขุดขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางเชื่อมการคมนาคมและระบายน้ำลงทะเล เหมือนคลองอื่นๆ ที่เป็นคลองที่ขุดขึ้น เช่น คลองแสนแสบ คลองหลอด คลองรอบกรุง คลองผดุงกรุงเกษม คลองประเวศบุรีรมย์ คลองเปรมประชากร คลองพระโขนง คลองมหานาค เป็นต้น ซึ่งการขุดคลองมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5

เมื่อเป็นคลองที่ขุดขึ้น นั่นหมายถึงพื้นที่เป็นของรัฐ เป็นที่ราชพัสดุ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ แต่ทำไมถึงมีปล่อยให้มีบุกรุก ให้มีการสร้างบ้านในคลองได้(ไม่ใช่ริมคลองแต่เป็นในคลอง)

เดิมคลองลาดพร้าวมีความกว้าง 35 เมตร แต่เมื่อมีบ้านมาอยู่ในคลองทั้งสองฝากฝั่ง ความกว้างของคลองแคบลง แถมมีเสาเข็มของแต่ละบ้านเต็มไปหมด และบางช่วงของคลองเหลือความกว้างไม่ถึง 10 เมตร

ขณะที่ความลึกของคลองในปัจจุบันประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งบางช่วงบางตอนขณะนั่งเรือไปก็ตื้นมากจนเรือแทบจะไปต่อไม่ได้ ต้องค่อยๆ ชะลอไปอย่างช้าๆ ยังไม่นับรวมขยะอีกมากมายที่มาติดใบพัดเรือ ทำให้ต้องมีเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคนนั่งประจำท้ายเรือเพื่อคอยดูว่ามีขยะมาติดใบพัดหรือไม่ และคอยจัดการเอาออก

ถามว่าโดยสภาพคลองเช่นนี้จะระบายน้ำอย่างรวดเร็วได้อย่างไร มีทั้งความตื้นเขิน บ้านเรือน สิ่งกีดขวางทางน้ำและขยะมากมาย เมื่อน้ำในกรุงเทพฯ มันไหลเองไม่ได้ และยิ่งหน้าอุโมงค์มีขยะมากมายที่ไปติดขวางทางน้ำด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงในการระบายน้ำ

นี่คือปัญหาการทิ้งขยะและปัญหาการรุกล้ำคลอง ต้นเหตุหลักที่ทำให้คลองซึ่งเป็นแก้มลิงในการระบายน้ำไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง

นายอรรถเศรษฐ์อธิบายว่า “น้ำในคลองไม่ได้ลึกอย่างที่เราคิด ถ้าท่อระบายน้ำที่ฝังใต้ดินเพื่อระบายน้ำ ลึกเพียง 1.2 เมตร ขณะที่คลองมีความลึก 1.5 เมตร เท่ากับมีพื้นที่รับน้ำเหลือแค่ 30 เซนติเมตร จึงมีความจำเป็นที่เราต้องบริหารจัดการคลองใหม่โดยขุดลอกให้มันลึกขึ้น แต่ถ้าวันนี้ กทม.ขุดลอกคลองให้ลึกขึ้น บ้านของผู้ที่รุกล้ำที่อยู่ริมคลอง/ในคลอง ก็จะสไลด์ลงมาทั้งหมด กทม.จึงต้องทำเขื่อนกั้นเป็นกำแพงตลอดริมคลอง ต้องเอาคนออกจากคลองไปอยู่นอกแนวเขื่อน เพื่อขุดลอกคลองให้ได้ความลึกตามที่ต้องการ 5-6 เมตร และขยายขนาดคลองให้เท่าของเดิม 35 เมตร”

พร้อมกล่าวเสริมว่า “คลองลาดพร้าวเป็นคลองขุดเดิม ซึ่งในอดีตก็มีความกว้าง 30 กว่าเมตรอยู่แล้ว อาจจะกว่าด้วยซ้ำไป บางพื้นที่อาจจะถึง 40 กว่าเมตรด้วย ดังนั้นคลองเป็นหัวใจสำคัญในการรับน้ำ คลองในกรุงเทพฯ มี 1,682 คลอง ฝั่งพระนครมี 855 คลอง คลองสายหลักทั้งหมด 9 คลอง ที่ กทม.มีแผนพัฒนาไปจนถึงปี 2569 ให้มีระดับลึกลงไป เมื่อไรที่คลองมีระดับลึกลงไป ผมเคยพูดอยู่สองเรื่องในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เราต้องการพื้นที่กับความเร็วน้ำ มีพื้นที่ก็คือขยายคลองไปให้เกิดพื้นที่ แล้วกดระดับลึกลงไป มันก็ได้ความเร็วน้ำเพิ่มขึ้นมา กทม.เอาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอามาบริหารจัดการน้ำ เพราะคลองเป็นแก้มลิงที่ดีที่สุด ขยายแล้วก็ได้พื้นที่รับน้ำ เป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว”

นายอรรถเศรษฐ์เล่าต่อว่า “ในแผนของ กทม.จะพัฒนา 9 คลองสายหลักให้เสร็จภายในปี 2569 แต่ได้เรียนรู้จากพัฒนาคลองลาดพร้าวซึ่งเป็นโครงการนำร่อง จึงมีการปรับแผน เพราะว่าคลองลาดพร้าวมีปัญหาเรื่องผู้รุกล้ำค่อนข้างเยอะกว่า 6 พันครัวเรือน ส่วนคลองเปรมประชากรมีผู้รุกล้ำอีก 4 พันกว่าครัวเรือน แค่สองคลองรวมกันหมื่นกว่าครัวเรือน แต่คลองอื่นๆ ไม่ได้มีผู้รุกล้ำเยอะขนาดนี้ สองคลองนี้ที่เป็นปัญหาที่ กทม.พยายามจะทำคลองลาดพร้าวซึ่งมีผู้รุกล้ำเยอะที่สุดก่อน แล้วมาคลองเปรมประชากร เนื่องจากสองคลองนี้เป็นคลองสายหลักของกรุงเทพฯ อยู่แล้ว”

พร้อมกล่าวว่าแก้มลิงเดิมที่ กทม.มีอยู่ประมาณ 3 ล้านลูกบาสก์เมตร ต้องการอีก 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าพัฒนา 9 คลองทั้งหมด จะได้พื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นมาอีกไม่ต่ำกว่า 2.5-3 ล้านลูกบาศก์เมตร

“การที่เราจะไปหาพื้นที่ขนาดใหญ่มาเป็นบึงเก็บน้ำ มันไม่มีและมันยากมาก กทม.คิดว่าคลองเป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติตามศาสตร์พระราชาจึงทำแผนพัฒนาคลอง ซึ่งเป็น floodway ที่ดีที่สุด”

walkway สร้างอยู่ในคลองลาดพร้าว
walkway ที่ถูกต้องต้องอยู่หลังแนวเขื่อน

การสำรวจ 2 ฝั่งริมคลองยังมีผู้รุกล้ำอาศัยอยู่เป็นระยะๆ สลับกับบ้านหลังใหม่ที่ดูสวยงามตามแบบบ้านที่แต่ละชุมชนเป็นผู้เลือก บ้างก็หันหน้าบ้านเข้าคลองหรือหันหลังให้คลองก็มีสลับกันไป นี่คือบ้านใหม่ของผู้ยินยอมออกจากคลอง ย้ายขึ้นบกมาอยู่นอกกำแพงเขื่อน

บ้านเรือนของผู้รุกล้ำ บ้างก็มีสภาพมีตั้งแต่บ้านที่แข็งแรง มีราคา มีกำแพงแน่นหนากลายเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรที่รุกล้ำคลอง จนถึงบ้านที่เป็นแค่เพิงหมาแหงน บางแห่งก็ทิ้งร้าง เป็นสภาพที่แตกต่างกันให้เห็นตลอด 2 ฝากฝั่ง

บางช่วงมีทางเดินริมน้ำ walkway ที่แข็งแรง แต่เป็น walkway ที่สร้างอยู่ในคลอง ไม่ใช่ walkway ที่อยู่บนบกริมคลองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมี walkway ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแนวเขต ผู้รุกล้ำก็มาสร้างบ้านชิดติด walkway ไปเรื่อยตามคลอง

จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ระบุว่า walkway เหล่านี้สร้างขึ้นโดยสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของกรุงเทพฯในสมัยก่อนหน้านี้ โดย ส.ข.มีหน้าที่ตามกฎหมายเพียง “ให้คำปรึกษาผู้อำนวยการเขต” แต่ “หน้าที่แฝง” มีอีกเยอะ ตั้งแต่หัวคะแนน บางสมัยที่นักการเมืองครองอำนาจมากมาย มีการจัดสรรงบประมาณให้ ส.ข.ไปทำโน่นทำนี่ ตั้งแต่ฉีดยุงไปจนถึงทำฟุตบาทใหม่ เพื่อหาเสียงให้พรรคในช่วงเลือกตั้ง

นอกจาก walkway ยังรวมถึงการออกเลขที่บ้านให้ผู้รุกล้ำ เพื่อสามารถขอน้ำประปาและขอไฟฟ้าได้ จึงทำให้การรุกล้ำเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บางส่วนผู้รุกล้ำทำเป็นห้องพักให้เช่า เป็นร้านอาหาร เป็นต้น

สันดอนที่เกิดจากการตอกเสาเข็ม

แนวเขื่อนที่ตอกเสาเข็มเรียบร้อย(ซ้าย) กับอีกด้านที่ยังคงรุกล้ำอยู่
โป๊ะที่ใช้ตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าว

นายอรรถเศรษฐ์เล่าว่า “ขณะนี้ได้ตอกเสาเข็มเพื่อทำเขื่อนไปแล้วกว่า 30,000 ต้น จากทั้งหมดประมาณ 60,000 ต้นตลอดสองฝั่งคลองลาดพร้าว และการตอกเสาเข็มเหล่านี้จะต้องใช้โป๊ะ ซึ่งโป๊ะไม่สามารถตั้งบนบกได้ เพราะมันติดบ้านเรือนผู้รุกล้ำ จึงต้องตั้งโป๊ะในน้ำหรือในคลอง ในเมื่อคลองมันตื้น โป๊ะตอกเสาเข็มก็เข้าไม่ได้ ก็ต้องเอารถแม็คโครมาตักดินในคลองออก ถึงจะเคลื่อนโป๊ะเข้าไปชิดริมคลองเพื่อตอกเสาเข็ม ดินที่ขุดมากองไว้มันก็เป็นสันดอน จนมีเอ็นจีโอมาร้องว่าทำให้คลองตื้นเขิน ระบายน้ำไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วม

“ผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงไปในพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ให้ตักดินที่สันดอนออก แต่จริงๆ ตามเงื่อนไขที่ กทม.จ้างผู้รับเหมามาตอกเสาเข็ม ในสัญญามีอยู่แล้วว่าเมื่อเขาทำเขื่อนเสร็จหมดแล้วขุดดินสันดอนเหล่านี้ออกทีเดียว หรือขุดเป็นช่วงๆ ไป แต่ช่วงในระหว่างที่เขาทำงานตอกเสาเข็มอยู่ ยังไม่ได้ขุดออก มันกลับกลายเป็นว่าเราต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อนสองครั้งด้วยซ้ำไป ทั้งที่พื้นที่รับน้ำเดิมก็ไม่ได้เสียหายอะไร ยังรับน้ำได้ตามปกติ ไม่ได้ขวางทางน้ำแต่อย่างใด” นายอรรเศรษฐ์กล่าว

นี่คือสภาพข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งของการลงมือแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร กทม.คงไม่ใช่มือวิเศษที่จะแก้ปัญหานี้เพียงลำพัง เพราะต้นตอมาจากหลากส่วนที่เกี่ยวข้อง หากจะให้ปัญหาน้ำท่วมถูกเยียวยาแก้ไข สังคมได้ประโยชน์ถ้วนหน้ากัน ชาวกทม.ทั้งที่เป็นคนกทม.โดยกำเนิด หรือผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย ผู้ประกอบการร้านค้า เจ้าของกิจการ ก็ต้องช่วยกัน

โลกนี้สวยได้ด้วยมือเรา ก็ยังเป็นจริงอยู่!!

สภาพการรื้อถอนเพื่อย้ายคนออกจากคลองลาดพร้าว

บ้านหลังใหม่ที่สร้างให้ผู้ยินยอมออกจากคลอง

คลองลาดพร้าว เป็นคลองในพื้นที่เขตห้วยขวางและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ มีจุดเริ่มต้นแยกจากคลองแสนแสบไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ตัดกับทางน้ำสำคัญ คือ ลำรางยมราช คลองพลับพลา คลองบางซื่อ คลองทรงกระเทียม คลองน้ำแก้ว และคลองเสือน้อย ไปสิ้นสุดบริเวณระหว่างสะพานถนนเสนานิคม 1 กับสะพานถนนประเสริฐมนูกิจ โดยมีแนวคลองที่ตรงต่อเนื่องไปคือคลองบางบัว ช่วงตั้งแต่วัดลาดพร้าวขึ้นไปจนถึงคลองบางบัวนั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า “คลองวังหิน” แต่ปัจจุบันทางการได้เรียกรวมเป็นส่วนหนึ่งของคลองลาดพร้าว

เมื่อหน้าฝนกำลังมาเยือน…สำรวจคลองลาดพร้าว…สภาพจริงเมื่อคลองไม่ใช่ทางระบายน้ำ แล้วน้ำ(ท่วม)กทม.จะไหลไปไหน..สภาพการรุกล้ำคลองลาดพร้าว ทำให้น้ำในคลองไม่ได้ลึกอย่างที่เราคิด ท่อระบายน้ำที่ฝังใต้ดินเพื่อระบายน้ำ ลึกเพียง 1.2 เมตร คลองมีความลึก 1.5 เมตร เท่ากับมีพื้นที่รับน้ำแค่ 30 ซม.จึงมีความจำเป็นที่ต้องขุดลอกให้มันลึกขึ้น แต่ถ้าวันนี้ กทม.ขุดลอกคลองให้ลึกขึ้น บ้านของผู้ที่รุกล้ำที่อยู่ริมคลอง/ในคลอง ก็จะสไลด์ลงมาทั้งหมด…กทม.มีพื้นที่รับน้ำอยู่ประมาณ 3 ล้านลูกบาสก์เมตร ต้องการอีก 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าพัฒนา 9 คลองหลักทั้งหมด จะได้พื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นมาอีกไม่ต่ำกว่า 2.5-3 ล้านลูกบาศก์เมตรอ่านรายละเอียดที่นี่ https://thaipublica.org/2019/06/bangkokpublica10/#สำรวจคลองลาดพร้าว #น้ำท่วม

Posted by ThaiPublica on Tuesday, June 25, 2019