ThaiPublica > คนในข่าว > “ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.” กางแผนแก้ PM2.5 รับหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนแผ่เข้าไทยกลาง ต.ค.นี้

“ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.” กางแผนแก้ PM2.5 รับหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนแผ่เข้าไทยกลาง ต.ค.นี้

12 ตุลาคม 2019


นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

“ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.” กางแผนแก้ PM2.5 รับมือหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนแผ่เข้าไทยกลาง ต.ค.นี้

มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “PM2.5” ยังคงเป็นปัญหาคู่กับกรุงเทพมหานคร ล่าสุดในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดคุณภาพอากาศในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบหลายพื้นที่มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐานที่ Federal Reference Method กำหนด (เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) แม้สถานการณ์ขณะนี้ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลังจากที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน แต่จากคำพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในกลางเดือนตุลาคมนี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า ช่วงที่อิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยจะมีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงเหมือนในช่วงปีที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดงานเปิดตัวเครื่องกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของ กทม. ที่นำมาทดลองติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงไปสัมภาษณ์นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ กทม.ให้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ รวมไปถึงมาตรการแก้ปัญหา “PM2.5” ทั้งในระยะสั้น ปานกลางและระยะยาว ว่า กทม.ได้เตรียมแผนรับมือไว้อย่างไร

  • กทม.จับมือ ม.เกษตรฯ ทดสอบเครื่องฝุ่นพิษ PM2.5 หน้าลานศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
  • ต้นตอปัญหา PM2.5

    นายอรรถเศรษฐ์กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่ประเด็นคำถาม ขอทำความเข้าใจที่มาของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กก่อน จริงๆ ปัญหา PM2.5 มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเกิดปัญหาตอนนี้ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพภูมิกาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยนานกว่าปกติ ความกดอากาศกดลงมาในทิศทางเดียวกัน จนทำให้เกิดสภาวะอากาศปิด ทั้งๆ ที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งมีแสงแดดส่องลงมาเต็มที่ แต่ทำไม PM2.5 จึงมีปริมาณหนาแน่นมาก นักวิชาการหลายท่านเข้าใจว่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซลจะลอยขึ้นไปรวมกับโอโซนในชั้นบรรยากาศ โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฎิกริยา อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด PM2.5

    และถ้าไปดูข้อมูล Air Quality Index (AQI) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่ประกอบไปด้วย ก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ตะกั่ว (lead), ฝุ่นขนาดใหญ่ไม่เกิน 100 ไมครอน, ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ “PM10” และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ “PM2.5” ซึ่งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่บนตึกสูง 107 เมตร มีรัศมีทำการ 20 ตารางกิโลเมตร ได้มีการจัดเก็บสถิติข้อมูลของโอโซน และ PM2.5 พบว่าในช่วงที่อากาศปิด PM2.5 มีปริมาณสูงเกินมาตราฐาน โอโซนก็สูงเกินมาตรฐานด้วย โดยดูจากเส้นกราฟ AQI ของโอโซน และ PM2.5 ที่เดินคู่ขนานกันไป แต่ถ้าโอโซนลด PM2.5 ก็ลดลงด้วยเช่นกัน

    ภัยจากมลพิษฝุ่นละอองทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลดลงมากที่สุด ซึ่งฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากไอเสียดีเซลเป็นหลัก

    กรมควบคุมมลพิษชี้ 54% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซลเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

    จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะพบว่า PM2.5 เริ่มมีปริมาณสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงตี 5 ถึง 9 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์ที่คนออกไปทำงาน หรือไปส่งลูกที่โรงเรียน ช่วงเวลานี้ถือเป็นภาวะปกติไม่เกี่ยวข้องกับโอโซน แต่พอหลัง 10 โมงไปจนถึงบ่าย 2 แทนที่ปริมาณ PM2.5 ควรจะลดลง แต่กลับมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันโอโซนในอากาศก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตาม พอถึงช่วงบ่าย 3 ถึง 1 ทุ่ม ก็กลับเข้าสู่ช่วงเวลาไพรม์ไทม์อีก คนเดินทางกลับบ้าน เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ปริมาณ PM2.5 ก็เพิ่มขึ้นอีก นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 กทม.ประสบปัญหา PM2.5 ตลอดทั้งวัน ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มีปริมาณสูงถึง 54%

    ขณะนี้ ผู้ว่า ฯกทม. ก็ได้สั่งการให้รถเก็บขยะของ กทม.ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 3,000 คัน ต้องเร่งเก็บขยะให้เสร็จและรถเก็บขยะต้องเข้ามาจอดที่สำนักงานเขตฯ ก่อนตี 4 เพื่อลดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาไพรม์ไทม์

    ขอความร่วมมือเอกชนติดตั้ง-ปรับเครื่องพ่นละอองน้ำ ช่วยลดฝุ่น 30%

    นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อว่าที่ผ่านมา กทม.ทำอะไรไปบ้างเกี่ยวกับการแก้ปัญหา PM2.5 เรื่องแรก คือ การติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำให้เป็นฝอยขนาดเล็ก ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับให้มีขนาดของละอองน้ำเล็กลงกว่า 2.5 ไมโครกรัม เพื่อให้โมเลกุลของน้ำไปจับกับ PM2.5 ให้มันตกลงมาบนพื้นดิน จากนั้นในช่วงกลางคืน กทม.ก็จะนำรถบรรทุกน้ำออกไปล้างถนน ฉีดล้างใบไม้

    และในปีนี้ กทม.จะขอความร่วมมือภาคเอกชนที่มีกำลังทรัพย์ รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ ช่วยกันติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำ ในส่วนของ กทม.เองได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำที่สำนักงานเขตทั่วกรุงเทพมหานครไปแล้วทั้ง 50 เขต โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอีก 437 แห่ง ซึ่งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำนอกจากช่วยแก้ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กได้บ้างแล้วยังช่วยสร้างความชื้นให้กับอากาศ บริเวณที่มีการฉีดพ่นละอองน้ำจะมีอุณภูมิต่ำกว่าบริเวณที่ไม่มีการพ่นละอองน้ำ ตามหลักพลศาสตร์เมื่ออุณหภูมิแตกต่างกันอาจทำให้อากาศเกิดการหมุนเวียนได้บ้าง ซึ่ง กทม.พยายามรณรงค์ผู้ประกอบการที่เป็นภาคีเครือข่าย รวมทั้งคอนโดมิเนียมสูง ให้ช่วยติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำ ขอความร่วมมือกรมทางหลวงให้ช่วยติดตั้งตามสะพานลอย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งวิ่งผ่านใจกลางเมืองหลวงตลอดเส้นทาง

    ที่มาภาพ: https://www.estopolis.com

    “ใต้สถานีรถไฟฟ้าจะมีลักษณะเหมือนถ้ำ ไม่ต้องรอถึงหน้าหนาว สภาพอากาศปิด ลองคิดดูรถไปติดอยู่บริเวณนั้นคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปไหน สถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกที่ติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำ คือ สถานีสะพานควาย ติดตั้งมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่ง กทม.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มานานแล้ว ก่อนติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำได้ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และหลังติดตั้งไปแล้วได้มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นระยะๆ งานวิจัยได้ข้อสรุปว่าเครื่องพ่นละอองน้ำช่วยทำให้อากาศมีคุณภาพดีขึ้น 30% ซึ่งรวมถึง PM2.5 ด้วย ซึ่งตามแผนงานของ กทม.ทางบีทีเอสต้องติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำใต้สถานีรถไฟฟ้าให้ครบทั้งหมด 23 แห่งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งปรับขนาดละอองน้ำให้เล็กลงด้วย นี่คือมาตรการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงปีนี้”

    ในปีที่แล้ว กทม.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ นำอากาศยานไร้คนขับหรือ “โดรน” บินขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ และขอความร่วมมือจากกองทัพอากาศ นำเครื่องบิน BT-7 บรรทุกน้ำครั้งละ 3,000 ลิตร หรือ 3 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไปทิ้งน้ำลงมา

    นอกจากนี้ ทาง กทม.ยังได้นำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีจอ LED แจ้งสถานะคุณภาพอากาศไปติดตั้งตามสวนสาธารณะ โดยเริ่มติดตั้งแล้วที่สวนสาธารณะรามอินทรา เพื่อให้คนที่มาออกกำลังกายมีความมั่นใจว่ามาออกกำลังกายแล้วได้สุขภาพที่ดีกลับบ้าน ส่วนเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบไม่มีจอ LED ติดตั้งครบแล้วทั้ง 50 เขต ซึ่งมีทั้งเครื่องตรวจวัด PM 10 และ PM2.5 และกำลังจะติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 เพิ่มอีก 30 ตัวภายในสิ้นปีนี้

    นำร่องติดตั้งเครื่องกำจัด PM2.5 หน้า “เซ็นทรัลเวิลด์”

    สำหรับมาตรการแก้ปัญหา PM2.5 ในช่วงปลายปี 2562-2563 กทม.ยังคงดำเนินมาตรการดังกล่าวมาในข้างต้นต่อไป แต่จะมีมาตรการเสริม คือ โครงการนำร่องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 โดยนำมาทดลองใช้ที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

    ที่มาของโครงการนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่าง กทม., คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ช่วยกันคิดค้นพัฒนาและออกแบบเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ขึ้นมา ก่อนที่จะนำมาติดตั้งที่เซ็นทรัลเวิลด์ก็มีการทดสอบประสิทธิภาพภายในโรงงานแล้ว โดยเครื่องกรองฝุ่นรุ่นนี้มีประสิทธิภาพในการกรองอากาศได้สูงถึง 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ที่นำมาทดลองใช้ที่เซ็นทรัลเวิลด์จะมีขนาดความกว้าง 1.5 เมตร สูง 4 เมตร มีระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ กล่าวคือ เครื่องกรองฝุ่นรุ่นนี้จะติดตั้งควบคู่กับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เมื่อคุณภาพอากาศบริเวณที่ติดตั้งมีค่า PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร เครื่องกรองอากาศจะเริ่มทำงาน โดยอากาศจะถูกดูดเข้าทางด้านล่างของตัวเครื่องผ่านแผ่น pre-filter กรองฝุ่นหยาบ 2 ครั้ง คือ ชั้นที่ 1 ทำหน้าที่กรองฝุ่นละอองขนาดใหญ่ และชั้นที่ 2 กรองฝุ่น PM 10 หลังจากนั้นอากาศก็จะถูกส่งเข้าไปที่ไส้กรองหลักที่เรียกว่า “HEPA” (high-efficiency particulate air) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องนี้มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึง 1 ไมครอน เหตุที่ต้องมีแผ่นกรองฝุ่นหยาบ 2 ครั้งกรอง เพื่อป้องกันไม่ให้ HEPA ทำงานหนัก อุดตัน จากนั้นอากาศบริสุทธิ์ที่ผ่านไส้กรอง HEPA แล้วจะถูกปล่อยออกมาทางด้านบนพร้อมกับละอองน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและความเย็นให้กับพื้นที่บริเวณนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักพลศาสตร์ตามที่กล่าวข้างต้น ภายใน 1 ชั่วโมงสามารถฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ 17,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยทำให้ PM2.5 ในบริเวณนั้นเจือจางลง

    ก่อนเปิดใช้เครื่องฟอกอากาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ กทม.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันตรวจวัดค่า PM2.5 ได้ 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากที่เปิดเครื่องไปแล้วค่า PM2.5 ลดเหลือ 28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการประเมินผลการใช้งานนั้น พล.ต.อ. อัศวิน ให้สัมภาษณ์ไปแล้ว น่าจะใช้เวลาทดสอบประมาณ 2-3 เดือน จึงสามารถประเมินผลการใช้งานของเครื่องกรองอากาศได้ว่าจะช่วยลดปริมาณ PM2.5 ในอากาศได้มากน้อยแค่ไหน

    ส่วนการบำรุงรักษาตัวเครื่องกรองอากาศก็ไม่ยาก เพราะหลักในการทำงานก็เหมือนเครื่องดูดฝุ่น แค่เปลี่ยนไส้กรอง 3 ชุดตามระยะเวลาการใช้งาน ไส้กรองหยาบอาจจะนำไปล้างน้ำแล้วนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ส่วนกรอง HEPA คงต้องนำไปทำลายหรือฝังกลบ เพราะเป็นตัวดัก PM2.5 หากนำไปล้างน้ำ PM2.5 ไหลลงคลองหรือแม่น้ำ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์หรือไม่ อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ได้ข้อสรุป

    “ถามว่าเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ราคาเท่าไหร่ ต้องขอเรียนว่าขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดสอบประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5 ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างหรือใช้จ่ายเงินงบประมาณใดๆ ทั้งสิ้น เป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน แต่สุดท้ายเมื่อมีการประเมินผลแล้วผลงานออกมาดี เครื่องมีประสิทธิภาพในการกรอง PM2.5 ได้จริง ก็ต้องดูเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน และที่สำคัญจะต้องขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนชาว กทม.ด้วยว่าเห็นควรให้มีการขยายผล ติดตั้งเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปหรือไม่”

    จากผลการศึกษาในเบื้องต้น ควรจะมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศประมาณ 14 จุด บางพื้นที่ติดตั้ง 1 ตัว บางพื้นที่ 2 ตัว ขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในบริเวณนั้นมีความหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน ส่วนสถานที่ที่จะนำเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ไปติดตั้ง ตามที่ได้มีการออกแบบเอาไว้นั้นมีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง ติดตั้งบริเวณป้ายรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีทั้งชนิดตั้งอยู่บนพื้นดิน และชนิดที่แขวนอยู่บนผนังด้านหลังป้ายรถเมล์ ติดตั้งบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือศูนย์การค้าไอคอนสยาม ซึ่งได้รับการติดต่อเข้ามาแล้ว ส่วนที่จะนำไปติดตั้งตามสถานีขนส่งผู้โดยสาร โรงพยาบาล และสวนสาธารณะ จะมีต้นไม้ปกคลุมเพื่อให้กลมกลืนกับสถานที่ที่จะนำไปติดตั้ง ซึ่งเครื่องกรองอากาศทั้งหมดที่จะนำไปทดลองติดตั้งในสถานที่ต่างๆ กทม.กำลังออกแบบให้มีตัวอักษรวิ่งบนจอ LED แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณนั้นด้วย เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมาได้เห็นประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องฟอกอากาศว่าดีหรือไม่ดี ฟ้องกันตรงนั้นไปเลย ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน สำหรับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศนั้นภายใต้ตัวเครื่องก็มี เพราะต้องใช้เป็นตัวควบคุมระบบการทำงาน นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็นำมาติดตั้งเพิ่มเพื่อใช้ในงานวิจัยและประเมินผลการใช้งานก่อนและหลังการติดตั้ง

    นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อว่า เครื่องฟอกอากาศไม่ว่าจะนำเข้ามาจากประเทศจีนหรือประเทศไหนก็ตาม เทคโนโลยีส่วนใหญ่จะอยู่บนหลักการเดียวกันทั้งหมด คือ ต้องใช้ฟิลเตอร์เป็นตัวกรองอากาศ เครื่องกรองอากาศที่ใช้งานได้ดีในต่างประเทศ เมื่อนำเข้ามาใช้กับสภาพภูมิอากาศในเมืองไทยแล้วมันก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะมาบ่งชี้ได้ว่ามีประสิทธิภาพการใช้งานได้ดีเหมือนกับที่เคยใช้งานในต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้ HEPA เป็นหัวใจในการกรองอากาศอยู่ดี ถามว่าเราควรสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือสตาร์ทอัปคนไทย มาช่วยกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ขึ้นมาใช้งานในเมืองไทยหรือไม่ หากทำแล้วประสบความสำเร็จ สามารถช่วยกรองฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นที่ประจักษ์ วิกฤติก็อาจกลายเป็นโอกาส ในอนาคตผู้ประกอบการไทยอาจกลายเป็นผู้ส่งออกเครื่องกรองฝุ่นประเภทนี้ก็ได้

    “ถามว่าที่ กทม.ทำมาทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า ตรงนี้ก็คงต้องยอมรับว่าจริง แต่ก็ต้องทำ เท่าที่ทำได้ตามอำนาจหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของ กทม. นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องนโยบายระยะยาวหรือวาระแห่งชาติ ยกตัวอย่าง การสั่งห้ามรถควันดำที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เข้ามาในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อแก้ปัญหาต้นเหตุ ส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบก จะทำกันอย่างไรก็ต้องไปหารือกันในเวทีระดับนโยบายหรือวาระแห่งชาติ แต่ที่ กทม.ทำมาทั้งหมด ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว”