ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ: 1 เดือนกับการซ่อมสร้าง แก้น้ำรอระบายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม “ขุดลอกท่อ-ซ่อมสถานีสูบ”

วาระซ่อมกรุงเทพฯ: 1 เดือนกับการซ่อมสร้าง แก้น้ำรอระบายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม “ขุดลอกท่อ-ซ่อมสถานีสูบ”

24 มิถุนายน 2022


ภารกิจเร่งด่วนแก้ปัญหาการระบายน้ำ ภายใต้แนวคิดซ่อมสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เดือนเดียวลุยแก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม ถนนสุขุมวิท คลองลาดพร้าว ห้วยขวาง เตรียมรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง

เกือบหนึ่งเดือนหลังได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจจะกล่าวทีมงานพร้อมปฏิบัติการ ลุยลงมือทำทันที เป็นผลจากการเก็บข้อมูลทำการบ้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ศึกษางาน จากสโลแกน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” โดยเฉพาะการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ที่นำทีมโดยนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) ซึ่งลาออกก่อนครบวาระ ได้กลับมาร่วมงานเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำอีกครั้ง สามารถสานงานต่อได้ทันที พร้อมรู้จุดแข็งจุดอ่อน และปัญหาต่างๆ ที่สะสมว่าจะต้องสะสางอย่างไร

ดังนั้น หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศในวันทำงานวันแรก คือ ปัญหาการระบายน้ำ ทำให้นับจากวันแรกของการทำงาน ทั้งชัชชาติและนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำกรุงเทพฯ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำรอระบาย น้ำหนุน น้ำเสีย เริ่มตะลุยทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน แข่งกับเวลาเพื่อเตรียมรับมือกับฤดูฝนที่เริ่มแล้ว

แนวทางการทำงานนายอรรถเศรษฐ์ ยังคงเน้นซ่อมสิ่งที่มีอยู่ก่อน ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ ตั้งแต่ตรวจสอบประสิทธิภาพสถานีระบายน้ำ ขุดลอกท่อระบายน้ำที่มีความยาวกว่า 6,000 กิโลเมตรและคูคลองอีกประมาณ 2,600 กิโลเมตร นี่คือเป้าหมายแรกของการแก้ปัญหาน้ำรอระบาย (นาน) หรือน้ำท่วมซ้ำซากใน กทม. เนื่องจากที่ผ่านมามีการลอกคลองประมาณ 10% ต่อปี ลอกท่อระบายน้ำได้ไม่มาก ดังนั้นจึงต้องเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยท่อระบายน้ำใน กทม. ควรลอกอย่างน้อยปีละ 3,000 กิโลเมตร

การก่อสร้างปรับปรุงสถานีสูบน้ำสุขุมวิท

ภารกิจแรกในการทำงานด้านการระบายน้ำ จึงเริ่มจากการตรวจสอบสถานีระบายน้ำว่าสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเริ่มจากจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 39, สุขุมวิท 49, สุขุมวิท 55, สุขุมวิท 71 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ต้องแก้ไขปัญหาการระบายน้ำชั่วคราว เพื่อลดปัญหาน้ำรอระบายในย่านสุขุมวิทซอยคี่ทั้งหมด ซึ่งสามารถช่วยไม่ให้น้ำท่วมขังได้

ลงพื้นที่แก้ไขจุดน้ำรอระบายที่ถนนรามคำแหง ตั้งแต่ซอย 21-39
นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี (เสื้อสีน้ำเงิน) ตรวจสอบการทำงานของสถานีสูบน้ำคลองจิกและคลองจิกมิตรมหาดไทย

ในช่วงที่ผ่านมานายอรรถเศรษฐ์ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ ลงพื้นที่แก้ไขจุดน้ำรอระบายที่ถนนรามคำแหง ตั้งแต่ซอย 21-39 พบปัญหาน้ำขังผิวจราจร ไม่ไหลลงท่อระบายน้ำ จากการตรวจสอบพบว่าระดับน้ำในคลองยังต่ำมาก จึงสันนิฐานได้ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าอาจทำให้ท่อระบายน้ำเสียหาย พร้อมตรวจสอบการทำงานของสถานีสูบน้ำคลองจิกและคลองจิกมิตรมหาดไทย ที่เป็นสถานีสำคัญในการระบายน้ำถนนรามคำแหง

ส่วนคลองลาดพร้าว ต้องปิดทางน้ำไหลคลองลาดพร้าวภายในหนึ่งสัปดาห์เพื่อขุดลอกคลอง โดยเริ่มปฏิบัติการขนเครื่องจักร เริ่มเปิดขุดลอกคลองทันที

ส่วนปัญหาการระบายน้ำในฝั่งแยกถนนจันทน์ เซ็นหลุยส์ซอย 3 ถนนสาธุประดิษฐ์ ตั้งแต่สถานีสูบน้ำลงเจ้าพระยาตอนคลองกรวย เจริญกรุง 66 ที่เป็นสถานีหลักที่สำคัญในการลำเลียงน้ำออกจากพื้นที่ ได้เปิดใช้งาน pipe jacking ถนนจันทน์ เพื่อเตรียมความพร้อมเร่งการระบายน้ำได้เร็วขึ้นจากเดิม

ส่วนบริเวณถนนพระราม 4 ตัดถนนเกษมราษฎร์ ที่จุดนี้จะรับน้ำจากซอยสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ 26 ถึงแยกกล้วยน้ำไทย ปัญหาที่ผ่านมาคือมวลน้ำทั้งหมดจะไหลไปรวมที่ลงคลองหัวลำโพง (คลองเตย) ขณะที่สถานีสูบน้ำคลองเตยที่มีกำลังการสูบที่ 30 ลบ.ม./วินาทีในการสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำงานมานานกว่า 30 ปี จึงได้เพิ่มการบายพาสระบายน้ำให้มากขึ้น โดยให้ผู้รับจ้างเร่งเปิดทางน้ำให้เร็วที่สุด

นายอรรถเศรษฐ์ให้ข้อมูลว่า “จุดคลองหัวลำโพงเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งเขตคลองเตยและเขตวัฒนา จึงได้สั่งผู้รับเหมาให้ทำบายพาส ระบายน้ำให้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ สั่งให้สำนักระบายน้ำเข้าดำเนินการดูดเลน ถนนช่างอากาศอุทิศ บริเวณซอย 16 เขตดอนเมือง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำตลอดทั้งเส้น รวมทั้งขุดลอกดินเลน ปากคลองคูน้ำวิภาวดี ขณะนี้หน้าสถานีสูบน้ำรัชวิภาดำเนินการแล้วเสร็จ

การติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก

ขณะที่กองเครื่องจักรกล ร่วมกับกองระบบท่อระบายน้ำ และสำนักงานเขตดอนเมือง ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิค ขนาด 16 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ที่บ่อสูบน้ำถนนช่างอากาศอุทิศ บริเวณสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ได้ดำเนินการติดตั้งพร้อมทดสอบการใช้งานเครื่องสูบน้ำแล้วเสร็จและเดินท่อส่งน้ำผ้าใบ เครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ลงคลองเปรมประชากรเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้กองเครื่องจักรกล ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิคขนาด 16 นิ้วจำนวน 1 เครื่อง ที่คลองวัดหลักสี่ วิภาวดีขาเข้า (ฝั่งใต้ ) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถนนวิภาวดีขาเข้า บริเวณปั๊ม ปตท. ถึงแยกถนนวิภาวดีตัดถนนแจ้งวัฒนะ ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ รวมทั้งได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ที่คูน้ำวิภาวดีขาออก บริเวณหน้าสนามกีฬากองทัพบก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนวิภาวดี ขาออก บริเวณหน้า ร.1 รอ. ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ

“ประตูระบายน้ำลาดพร้าว 56 ที่มีปัญหาเรื่องเครื่องสูบน้ำ ตอนนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 30 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการระบายน้ำคลองลาดพร้าวเรียบร้อยแล้ว” นายอรรถเศรษฐ์กล่าว

คลองเปรมประชากรหลังขุดลอกดินแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกันได้เร่งผู้รับจ้างนำเครื่องจักรลงพื้นที่วัดดอนเมือง เขตดอนเมือง เพื่อดำเนินการในส่วนสิ่งปลูกสร้างริมคลองเปรมประชากร บ้านรุกล้ำ หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจะนำเครื่องจักร เปิดร่องน้ำคลองเปรมประชากร และอีกจุดคือโครงการก่อสร้างเขื่อน คลองเปรมประชากรช่วงที่ 4 ได้ดำเนินการขุดลอกดินคลองเปรมประชากรช่วงบริษัทปตท. ก่อนถึงคลองบางเขน เพื่อเปิดทางน้ำไหล

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา”
  • เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?
  • ส่วนการขุดลอกท่อ ได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้ส่งผู้ต้องขังชั้นดีลงมาช่วยลอกท่อระยะทางรวม 3,390 กม. ที่ กทม. จะดำเนินงานภายในปีงบประมาณปี 2565 ซึ่งดำเนินการภายใน 2-3 เดือนนี้

    นายอรรถเศรษฐ์เล่าว่า “โดยวันแรกของการขุดลอกท่อระบายน้ำที่ตลาดห้วยขวาง พบว่ายังมีปัญหาขยะและไขมันอุดตัน โดยเฉพาะหน้าตลาดสดที่ทำให้น้ำระบายได้ไม่ดี หากมีมาตรการในการทำบ่อดักไขมัน เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังดีขึ้น”

    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ซ้าย) นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี (ขวา)

    “โดยสรุป ภารกิจ 1 เดือนในการแก้ปัญหาระบายน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากเป็นฤดูฝน หากไม่เร่งดำเนินการน้ำจะท่วมขัง หรือมีน้ำรอระบายนาน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ” นายอรรถเศรษฐกล่าว

    ภาพตอนสั่งให้รีบดำเนินการขยะหน้าสกรีนออก สถานีสูบน้ำห้วยขวาง
    ภาพหลังสั่งการ