“อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประเมินสถานการณ์ลานีญา ช่วง 4 เดือนกันยายน -ธันวาคม ยอมรับฝนตกหนักต่อเนื่องบวกกับน้ำเหนือ -น้ำหนุน ส่งผลมีมวลน้ำจำนวนมากจ่อเข้ากรุงเทพ บูรณาการแผนมาแล้วกว่า 1 ปี มั่นใจรับมือไหว ย้ำไม่ซ้ำรอยปี 2554 เผยน้ำรอระบายไม่เกิน 3 ชั่วโมง
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือในหลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะพื้นที่รับน้ำต่างมีความกังวล โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “ลานีญา” ทำให้หลายคนห่วงว่าน้ำท่วมปีนี้ อาจจะรุนแรงไม่ต่างจากปี 2554
“สบายใจได้…ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี2554”
นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านมาได้เข้ามาดำเนินการรับมือเรื่องน้ำของกทม.ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหนุน บอกว่ากทม.เตรียมแผนฯรับมือ “ลานีญา” มากว่า 1 ปีแล้ว โดยย้ำว่าสถานการณ์ปี 2567 มีความแตกต่างจากในปี 2554 อย่างแน่นอน รวมทั้งบทเรียนปี 2554 ทำให้หน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำของประเทศและของกทม.บูรณาการเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบอย่างจริงจัง
พร้อมให้ข้อมูลความแตกต่างของสถานการณ์ฝนว่า ในปี 2554 ฝนเริ่มตกตั้งแต่ปลายปี 2553 และเริ่มตกสะสมต่อเนื่องมาจนกระทั่งมาถึงเดือนพฤษภาคม ไปถึงเดือนกันยายนปี 2554 ขณะที่ปริมาณฝนในปี 2567 ฝนเริ่มตกในเดือนพฤษภาคม 2567 และปริมาณฝนยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตั้งแต่มิถุนายนจนถึงสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อดูข้อมูลจากการพยากรณ์ของ ENSO หรือการพยากรณ์ผลกระทบจากปรากฎการณ์ “ลานีญา” จะเห็นปริมาณฝนในเดือนสิงหาคมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าเฉลี่ยฝนปกติอยู่ประมาณ 1,600 มิลลิเมตรต่อปีนั่นแสดงว่าความความรุนแรงของ “ลานีญา” ยังไม่เกิดขึ้น
“ปริมาณฝนที่เกิดขึ้นมากในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ได้มาจากความรุนแรงของลานีญาแต่มาจากร่องความกดอากาศต่ำ และหย่อมความกดอากาศ ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ค่อนข้างมากและตกแช่ต่อเนื่อง เพราะร่องความกดอากาศยังไม่ขยับไปพื้นที่อื่น ทำให้ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ที่ 200 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งปริมาณฝนขนาด 200 มิลลิเมตร ในเวลาปกติมันอาจจะมากเท่ากับฝนทั้งเดือน ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ”
จับตา 4 เดือนอันตราย “ลานีญา” รุนแรง
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อว่าความน่ากังวลที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและถือเป็น 4 เดือนอันตราย การพยากรณ์ ENSO หลังเดือนสิงหาคม 2567 นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปจนถึงเดือนธันวาคม ผลกระทบจาก “ลานีญา” รุนแรง ทำให้ค่าเฉลี่ยนฝนสูงมากใน 4 เดือน คือเดือนกันยายน -ตุลาคม-พฤศจิกายน -ธันวาคม
“ผลการพยากรณ์พบว่าปริมาณฝนสูงกว่าค่ากลาง หรือ ค่าปกติ (ดูภาพประกอบ) นั้นแสดงว่านับจากเดือนกันยายนเป็นต้นไปเราจะเจอฝนต่อเนื่องไป และรุนแรงมากที่สุดในช่วง 4 เดือน เราจะมีฝนยาวต่อเนื่องไปถึงเดือนมกราคมปี 2568 และเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน กุมภาพันธ์ ปี2568”
นายอรรถเศรษฐ์บอกว่าการที่ฝนตกต่อเนื่องรุนแรงในช่วง 4 เดือน ทำให้เราต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบกับในช่วงนั้น น้ำจากตอนเหนือจะไหลลงสู่ภาคกลางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและเข้าสู่กรุงเทพมหานครและอ่าวไทยต่อไป ซึ่งหัวใจหลักของการระบายน้ำคือ แม่น้ำเจ้าพระยาเพราะฉะนั้นเราต้องประเมินให้ได้ว่าน้ำก้อนสุดท้ายที่จะมาจากภาคเหนือมีปริมาณเท่าไหรที่จะเข้ามากรุงเทพมหานคร
โดยย้ำว่า “น้ำที่ไหลมาตามแม่น้ำไม่ได้น่ากลัว เพราะในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ไม่เคยน้ำท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยน้ำท่วมในปี2554 มาจากน้ำท่า ที่ท่วมจากฝั่งซ้าย ฝั่งขวา เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ให้ได้ว่า น้ำที่ล้นตลิ่งหรือเกินผนังกั้นน้ำออกไปมีจำนวนเท่าไหร โดยข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านในพื้นที่เกษตรภาคเหนือเกิดความเสียหายประมาณ 8 แสนไร่ เราต้องคำนวณปริมาณน้ำดังกล่าวให้ได้ เพราะปริมาณน้ำในพื้นที่เหล่านี้จะลดลงได้ก็ต่อเมื่อน้ำในแม่น้ำลดลง”
เสริมคันกั้นน้ำตลอดแนวเจ้าพระยารับมือน้ำทะเลหนุน
นายอรรถเศรษฐ์ บอกว่านอกจากปัจจัยเรื่องของน้ำท่าที่ล้นตลิ่งและไปขังอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องคำนวณปริมาณออกมาให้ชัดเจนเพื่อบริหารจัดการแล้ว อีกปัจจัยที่น่าห่วงคือน้ำทะเลหนุนซึ่งในวันที่ 20 ตุลาคม 2567 เป็นวันที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของประเทศทำให้ กรุงเทพมหานครต้องวางแผนรับมือในช่วง 4 เดือนอันตรายอย่างรอบคอบ
“ในช่วง 4 เดือนอันตราย จะมีหลายปัจจัยทั้งน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน แต่กรุงเทพมหานครได้วางแผนรับมือไว้แล้ว โดยประเมินจากระดับฐานของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 1.31 เมตร รทก. หรือระดับน้ำทะเลปานกลาง และศักยภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาที่รับน้ำได้ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เราเข้าไปเสริมคันกั้นน้ำออกไปทั้งหมด 3 ช่วงตั้งแต่ระดับความสูง 2.80 เมตร รทก., ระดับความสูง 3 เมตร รทก. และ สูงสุดคือ 3.50 เมตร รทก. โดยได้เสริมคันกั้นน้ำตั้งแต่ บริเวณสะพานพระราม 7 ไปถึงสะพานธนบุรี จากสะพานธนบุรีถึงสะพานปิ่นเกล้า และจากปากคลองตลาดไปถึงสะพานพุทธ และยาวไปถึงในช่วงบางนา”
นายอรรถเศรษฐ์ บอกว่าแม้ว่าศักยภาพการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแต่เราวางแผนรับมือเอาไว้ในระดับที่ปลอดภัยคือ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เราประเมินว่าในวันที่ 20 ตุลาคม ที่มีน้ำทะเลหนุนสูงบนฐานระดับน้ำ 1.31 เมตร รทก.เมื่อรวมกับน้ำเหนือที่ไหลลงมาในช่วงเวลาดังกล่าว เราเชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้
“ถ้าเกิดฝนตกต่อเนื่องทั้งเดือนกันยายน และอาจจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมจะสูงสุดในรอบปี เมื่อมาบวกกับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนตุลาคม ผมคิดว่าเรารับมือไหว”
นายอรรถเศรษฐ์บอกต่อว่การรับมือน้ำในช่วง 4 เดือนอันตรายได้เพราะบทเรียนในปี 2554 ทำให้การเสริมคันกั้นน้ำ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนั้น เสริมคันกั้นในระดับน้ำสูงสุดที่เรารับได้
“น้ำทะเลหนุนสูงยังไม่ใช่ปัญหาหลักของกรุงเทพ เพราะช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดอยู่แค่ 2 ชั่วโมง แต่ปัญหาคืออาจจะมีที่น้ำไหลลอดเข้ามาในพื้นที่บ้างของเอกชนซึ่งทำเขื่อนกั้นน้ำเอง หรือมีฟันหลอ ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลให้มีน้ำท่วมในช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมงก็จะสามารถระบายได้”
นายอรรถเศรษฐ์บอกอีกว่าสิ่งที่เราเป็นห่วงคือน้ำที่ล้นตลิ่งมาจากทางเหนือลงมา ซึ่งเราพบว่ามีน้ำล้นตลิ่งมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ขณะที่ปริมาณฝนยังตกต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม กันยายน น้ำที่ล้นตลิ่งออกไปมีปริมาณมวลน้ำค่อนข้างมาก โดยทิศทางในการล้นออกไปคือทางด้านตะวันตกและตะวันออกโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงกลาง ซึ่งหากเปรียบเทียบการระบายน้ำพบว่า ศักยภาพคลองต่างๆสู้แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้
หากประเมินศักยภาพคลองผ่านทิศทางน้ำหากไหลมาจากภาคเหนือพบว่า ด้านตะวันออก จะเข้าทางไหนก็เข้าไปแถวแม่น้ำป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์แล้วก็มาเจอคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และ ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯก็เจอตอลงหกคลองหกวาสายล่าง ซึ่งศักยภาพคลองพวกนี้มีนิดเดียว ไม่สูงอยู่ในระดับ 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เช่นคลองระพีพัฒน์
ขณะที่ด้านตะวันตก จะไหลลงมา แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อย ซึ่งมา ประจบกันขณะที่ด้านบนจะไปตัดกับ คลองพิมล และคลองยวง ก่อนจะมาถึงคลองมหาสวัสดิ์และเข้ากรุงเทพผ่านประตูน้ำระบายน้ำคลองทวีวัฒนา
“ปัญหามันอยู่ที่ว่าทั้งสองด้าน ฝั่งแม่น้ำท่าจีน จะระบายได้ลำบากเนื่องจากแม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยวใช้เวลาระบายนานกว่าจะออกอ่าวไทย แต่ผมเข้าใจว่าบทเรียน 13 ปีผ่านมา จากน้ำท่วมปี 2554 ทำให้กรมชลประทาน พัฒนาระบบการสูบน้ำออกเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำได้ดีขึ้นในหลายหลายจุด โดยสถานีกรมชลฯได้พัฒนาให้สามารถลำเลียงน้ำออกในพื้นที่ได้เร็วขึ้น”
‘กรมชลฯ-กทม.’ประสานร่วมมือระบายน้ำใกล้ชิด
นอกจาก กรมชลประทานมีบทเรียนการรับมือน้ำท่วมในปี 2554 โดยการปรับและพัฒนาการระบายน้ำให้ดีขึ้นแล้ว นายอรรถเศรษฐ์บอกว่า การทำงานของหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำยังประสานงานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการปรับความเข้าใจการระบายน้ำที่แตกต่างกันให้สอดคล้องและตรงกันมากขึ้น
“เราต้องเข้าใจว่าบ้านเราไม่มีกรมไหนที่ดูแลน้ำท่วม มีแต่ดูแลน้ำแล้ง โดยกรมชลฯไม่ได้มีหน้าที่หลักในการดูแลน้ำท่วม เพราะฉะนั้นสถานีของกรมชลฯจึงออกแบบมาเพื่อทำให้มีการคุมน้ำในระดับบวกเพื่อเก็บน้ำใช้ทำการเกษตร แตกต่างจากกรุงเทพฯที่สถานีจะเน้นเรื่องการระบายน้ำ ทำให้การควบคุมน้ำ หรือการพร่องน้ำในพื้นที่ สามารถกดน้ำลงไปในระดับติดลบ หรือเป็นศูนย์ คือเราสามารถกดน้ำได้ถึงก้นคลองจนแห้งสนิทได้ แต่บทเรียนในปี 2554 ทำให้ ทั้งกรมชลฯ และกทม. ต้องมาปรับความเข้าใจตรงนี้ให้ตรงกันในช่วงน้ำท่วมเพื่อบริหารจัดการน้ำ”
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อว่า “ถือเป็นข้อตกลงที่สวยงามในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างกรุงเทพฯกับกรมชลฯ เพราะบทเรียน 13 ปีของน้ำท่วมใหญ่ทำให้กรมชลฯพัฒนาสถานีสูบน้ำในเขตเมืองทั้งหมด ให้สามารถกดน้ำในระดับต่ำพอๆ กับกรุงเทพ โดยมีข้อตกลงกันว่าต้องคุมน้ำอยู่เท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมมืออย่างดี”
“เมื่อก่อนกรมชลฯคุมน้ำอยู่ที่ + 50 เมตร รทก. ระดับนี้กรุงเทพฯจมแล้ว เพราะเราต้องการคุมน้ำให้มันอยู่ที่ศูนย์ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร มีระดับสูงสุดอยู่ที่ +1.5 เมตร รทก.และระดับต่ำสุดอยู่ที่ถนนรามคำแหงอยู่ที่ -30 เมตร รทก. เพราะฉะนั้น ถ้า กรมชลฯ คุมน้ำอยู่ที่+50 เมตร รทก. กรุงเทพฯจมไปแล้วไม่ต้องสูบเลย”
นายอรรถเศรษฐ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การปรับความเข้าใจให้ตรงกัน ระหว่างกรมชลฯ กับ กรุงเทพฯ เพราะองค์ความรู้ในเรื่องของน้ำมีวัตถุประสงค์ต่างกัน กรุงเทพฯถนัดระบายออก ขณะที่กรมชลฯ ต้องเลี้ยงน้ำเพื่อการเกษตร พอเรามาปรับจูนตรงกัน ทำให้การควบคุมน้ำในรอบกรุงเทพ มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับน้ำฝนได้ หรือน้ำท่าได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ถือเป็นข้อที่คลายกังวลอีกข้อหนึ่ง
“มีหลายเสียงบอกว่ากรุงเทพมหานครระบายได้เร็วขึ้น เพราะว่าสถานีสูบน้ำของเราทำงานได้เร็วขึ้น ขณะที่สถานีสูบน้ำของกรมชลฯทำงานได้เร็วขึ้นไม่ต้องรอนานเหมือนในอดีต เพราะเราต้องทำงานประสานกัน กรุงเทพฯสามารถระบายน้ำออกเองได้แค่ฝั่งเดียวคือฝั่งเจ้าพระยา แต่การระบายน้ำฝั่งอื่น ทั้งบางปะกง, ท่าจีน ต้องอาศัยสถานีของกรมชลฯ เมื่อความเข้าใจมันตรงกันเราก็สามารถที่จะเอาน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วขึ้น การระบายก็ดีขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ในสมัยผู้ว่าฯชัชชาติ ซึ่งปรับปรุงไปเป็นจำนวนมาก ทำให้มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำเต็มที่ นี่คือข้อคลายกังวลอีกจุดหนึ่ง”
“อุด-เสริม” รูรั่วคันกั้นน้ำพระราชดำริ
นายอรรถเศรษฐ์กล่าวต่อว่า”ถือเป็นความโชคดีของคนกรุงเทพฯที่กระแสพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 ให้สร้าง แนวคันกั้นน้ำ ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2525 โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2526 เพื่อป้องกันกรุงเทพมหานครเอาไว้ และมาทำเสร็จในปี 2528 และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2554 คันกันน้ำพระราชดำริเกิดทรุดตัว มีน้ำลอดเข้ามาในพื้นที่ของกรุงเทพฯเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่
แต่หลังจากปี2554 ได้มีการเสริมและเพิ่มแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ ตลอดแนวตั้งแต่ตอนบน คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จะมีความสูงอยู่ที่ระดับ 3.95 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.) ต่อเนื่องจนถึงเขตในกรุงเทพฯชั้นใน ขณะที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มีความยาวของแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ 77 กิโลเมตร ทำให้มั่นใจได้ว่าตลอดแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริไม่มีรอยรั่วและทรุดตัวแน่นอน
“สำนักระบายน้ำกทม. กรมชลฯ กรมโยธาฯ และหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบได้ร่วมกันตรวจสอบตลอดแนว เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า แนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ ไม่มีรอยรั่วและเราได้ไปตรวจสอบมาแล้วเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ได้เลื่อนลอย คนกรุงเทพฯมั่นใจได้”
“ถ้ายังอยู่ในคันกั้นน้ำในพระราชดำริ เราไม่ได้วิตก แต่ถ้าส่วนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำจะมีลักษณะเป็นทุ่งรับน้ำ ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจไม่ใช่เขตเมือง ซึ่งอาจต้องยินยอมให้รับน้ำได้บ้าง”
5 อุโมงค์ระบายน้ำ ทำงานได้เต็มศักยภาพ
ส่วนข้อกังวลของพื้นที่รอบนอกหรือจังหวัดใกล้เคียง มักจะเข้าใจว่ากรุงเทพฯ ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านเมือง ในประเด็นนี้ นายอรรถเศรษฐ์ บอกว่า “ไม่จริง ที่ผานมากรุงเทพฯ ยอมให้น้ำไหลผ่านมาตลอด เมื่อกรมชลฯแจ้ง หรือประสานมาขอน้ำผ่านในพื้นที่ ซึ่งเราให้น้ำผ่านได้โดยมีหลักการว่าคลองที่เรามีอยู่สามารถรับน้ำได้ในปริมาณเท่าไร”
“หัวใจสำคัญในการระบายน้ำของเราต้องรู้ก่อนว่า คลองของเรารวมไปถึงคลองย่อย เหลือพื้นที่เท่าไหร่ ให้น้ำผ่าน ถ้าเหลือล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเข้ามาเป็นล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเหลือ 2ล้านลูกบาศก์เมตร เอาเข้ามา 2ล้านลูกบาศก์เมตรได้”
นายอรรถเศรษฐ์ย้ำว่าในประเด็นการรับมือน้ำได้ เพราะปี2567 แตกต่างจากปี 2554 เนื่องจากพลังในการสูบน้ำ หรือการระบายน้ำทำได้มากกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ยังรวมถึงความสมบูรณ์ของอุโมงค์ระบายที่สามารถทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น รวมไปถึงการจัดการพื้นที่ และสิ่งรุกล้ำริมคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการระบายน้ำกรุงเทพฯ”
“ปีนี้ กทม.มีอุโมงค์ที่สมบูรณ์มากกว่าปี2554 และจากการที่สามารถจัดการพื้นที่รุกล้ำคลองต่างๆ ตั้งแต่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากรออกไปเยอะ ฉะนั้นเรามีพื้นที่ที่สามารถทำให้น้ำระบายเพื่อไปสู่อุโมงค์ยักษ์ เพื่อระบายออกได้เร็วขึ้น”
นายอรรถเศรษฐ์ อธิบายต่อว่าในปี2554 ปัญหาของน้ำท่วมด้านบน ตั้งแต่ดอนเมือง สายไหม คลองสามวา จากอิทธิพลของน้ำในคลองลาดพร้าวที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางทางน้ำและมีผู้รุกล้ำจนเกือบจะเต็มคลอง แต่ในปีนี้ ตั้งแต่คลองลาดพร้าว จนถึงถนนพหลโยธินมีการสร้างเขื่อนเสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% เพราะฉะนั้นการขวางทางน้ำไม่เหมือนปี2554
นอกจากนี้ระหว่างทางของคลองลาดพร้าวยังมี 3 อุโมงค์ ที่เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ ประกอบด้วย อุโมงค์บางซื่อ สามารถระบายได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากอุโมงค์บางซื่อ ก็จะเข้าสู่อุโมงค์มักกะสัน สามารถระบายได้อีก 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และถัดจากอุโมงค์มักกะสัน ก็มาสู่อุโมงค์พระราม 9 สามารถระบายได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะฉะนั้นศักยภาพการระบายแตกต่างจากปี 2554
ขณะที่ ฝั่งอุดมสุข พัฒนาการ สวนหลวง ขณะนี้ได้เริ่มเปิดใช้งานอุโมงค์บึงหนองบอน บางส่วน จากทั้งหมด 9 กิโลเมตร เปิดใช้งานได้ 6 กิโลเมตร โดยมีจุดที่มีปัญหาทรุดตัวยังไม่เปิดใช้งาน การเปิดใช้งานอุโมงค์บึงหนองบอนบางส่วน ทำให้การระบายของฝั่งอุดมสุขดีขึ้นไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง
นายอรรถเศรษฐ์บอกว่าทางด้านคลองเปรมประชากร ปัจจุบันกทม.ได้ทำเขื่อนคลองเปรมประชากรและจัดการกับผู้บุกรุกที่อยู่จำนวนมากออก ขณะที่คลองเปรมประชากรมีอุโมงค์เปรมประชากรที่สามารถลำเลียงน้ำออกเจ้าพระยาทางด้านเกียกกายได้แม้ว่าปัจจุบันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ดำเนินการได้ดีกว่าปี2554
ไม่มี “อุโมงค์ยักษ์” กรุงเทพฯ จมน้ำ
ส่วนประเด็นที่หลายคนบอกว่า อุโมงค์ยักษ์ไม่สามารถทำงานได้จริง นายอรรถเศรษฐ์ยืนยันว่า….
“เป็นความเข้าใจผิด ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีอุโมงค์ยักษ์ การระบายน้ำของกรุงเทพฯ มีปัญหาและทำให้กรุงเทพฯจมน้ำได้”
“อย่างที่ได้บอกแล้วว่า กรุงเทพฯไม่สามารถขยายปริมาณการเอาน้ำออกจากพื้นที่ได้ แต่ทำให้ระบายน้ำเร็วขึ้นได้ เพราะเราขยายคลองไม่ได้แล้ว ฉะนั้นต้องสร้างอุโมงค์ให้อยู่ใต้พื้นที่ เพื่อให้มีการเร่งระบายน้ำได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก มีปริมาณฝนมากขึ้น ขณะที่สถานีระบายน้ำมีศักยภาพเพียง 1,200 ลูกบาศเมตรต่อวินาที แต่พอเรามีหลายอุโมงค์เราสามารถเพิ่มการระบายน้ำเพิ่มอีก 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถ้าไม่มีอุโมงค์ยักษ์ กรุงเทพฯจะเกิดอะไรขึ้น แต่อุโมงค์ จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น ขยะ แต่ปัจจุบันปริมาณขยะลดน้อยลงแล้ว หลังจากที่เราเอาชุมชนขึ้นจากคลอง”
คนกรุงเทพสบายใจได้ ไม่ซ้ำรอยปี 2554
นายอรรถเศรษฐ์บอกว่าแม้ปีนี้จะมีปริมาณน้ำจำนวนมาก แต่เชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้ จากการปรับปรุงสถานีระบายน้ำ และการมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น รวมไปถึงเรื่องของการสื่อสารและการตรวจสอบข้อมูลที่เห็นพร้อมกันจากระบบมอนิเตอร์ ภาพรวมทั้งหมด ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นปริมาณน้ำ และมวลน้ำไปพร้อมๆกัน
“ปัจจุบันเทคโนโลยีพวกนี้มีหมดแล้ว เรามีมอนิเตอร์ภาพรวมน้ำพร้อมกัน ทำให้เวลาสื่อสารและทำงานไม่ต้องอธิบายกันเยอะ และอาจจะไม่ต้องขับรถไปดูในสถานที่จริง สามารถสั่งการได้จากส่วนกลางได้ทันที”
กรุงเทพมหานครสามารถปิดจุดอ่อนได้เกือบทั้งหมด เช่น แจ้งวัฒนะซอย 14 ถนนพหลโยธิน ขณะนี้ฝนตกน้ำไม่ท่วมแล้วเนื่องจากการเข้าไปบริหารจัดการ และพัฒนาบึงสีกันให้เป็นแก้มลิงเพื่อรับน้ำได้
ขณะที่เขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯกับปทุมธานี ในพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตหลักสี่ ที่มีอนุสรณ์สถานธูปะเตมีย์ เป็นเขตปทุมธานี มักจะมีน้ำท่วมขังในบริเวณดังกล่าว แต่หลังจากที่มีการทำงานร่วมกัน ทำให้กรมชลฯช่วยติดตั้งเครื่องดึงน้ำในพื้นที่ดังกล่าวกลับไปที่คลอรังสิตประยูรศักดิ์ แทนการนำน้ำเข้าคลองเปรมประชากร การดึงน้ำผ่านคลองรังสิตประยูรศักดิ์ผ่านประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ผ่านสถานีสูบน้ำปากคลองออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยามีระยะทางสั้นกว่าการผ่านคลองเปรมประชากร
ส่วนการบริหารจัดการน้ำที่มาจากภาคเหนือตอนบน ก็สามารถคลายกังวลได้เช่นกัน เนื่องจากกรมชลฯได้ตั้งเครื่องสูบน้ำตั้งแต่คลองหนึ่ง ,คลองสอง คลองสาม และคลองสี่ เพื่อช่วยการระบายน้ำได้ดีขึ้นแล้ว
นายอรรถเศรษฐ์ ยังบอกอีกว่าถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อที่เคยมีปัญหาเรื่องของคลองธรรมชาติต้องมุดใต้คลองประปา ทำให้การระบายน้ำล่าช้า เช่น พื้นที่ กรุงเทพฯกับปทุมธานี ที่คลองบ้านใหม่มาชนคลองประปา ทำให้ระบายน้ำได้ล่าช้า ทำให้ อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สั่งให้ สทนช. และกรมชลฯการศึกษาจุดตัดระหว่างคลองธรรมชาติกับคลองประปาเพื่อแก้ปัญหา ตอนนี้จัดการให้คลองประปาลอดใต้คลองธรรมชาติ
“ปัญหามันคือคลองธรรมชาติต้องไปลอดคลองประปามันผิดหลักการ ตอนนี้เราก็พยยามเสนอให้คลองประปาต้องลอดใต้คลองธรรมชาติเพราะคลองประปาไม่ได้เป็นคลองระบายน้ำ แต่พอไปคลองธรรมชาติต้องลอดใต้คลองประปาก็ทำให้น้ำเดินทางได้ไม่ดี จึงต้องพัฒนาคลองธรรมชาติที่เป็นทางระบายน้ำให้ระบายออกสู่เจ้าพระยาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจุบัน คลองประปาที่ลอดใต้คลองธรรมชาติมีเพียงอันเดียวคือคลองบางเขน ตรงประชาชื่นเท่านั้น”
รับมือได้ “น้ำท่วมขัง” ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
แม้จะมีการเตรียมรับมือ “ลานีญา” มานานกว่า 1 ปี แต่ นายอรรถเศรษฐ์บอกว่า จะไม่ให้น้ำท่วมเลยคงไปไม่ได้ แต่จะพยายามทำให้ระยะเวลาการระบายสั้นมากที่สุด โดยจากการคำนวณหากฝนตก 60 มิลลิเมตรต่อวินาที น้ำไม่ท่วมแน่นอน แต่หากฝนกตก 80 มิลลิเมตรต่อวินาที สามารถระบายได้ภายใน 20 นาที แต่ถ้า 100 มิลิเมตรต่อวินาที จะมีน้ำท่วมขังไม่เกิน 2 ชั่วโมง
“ระยะเวลาการระบายขึ้นอยู่กับปัญหาเรื่องการก่อสร้างขวางทางน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาการก่อสร้างหลักๆ คือ รถไฟฟ้า แต่ขณะนี้ก็เสร็จไปค่อนข้างมากแล้ว ฉะนั้นรับรองได้ว่าจะไม่มีน้ำท่วมขังเกินหนึ่งวัน น้ำท่วมขังมากที่สุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง เราน่าจะเคลียร์ได้แล้ว”
นายอรรถเศรษฐ์ บอกว่า บทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้หน่วยงานจัดการน้ำทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างของหน่วยงานจัดการน้ำก็ชัดเจนและสามารถทำงานได้ดีขึ้น โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) เป็นหน่วยงานกลาง ประสานงานระหว่างหน่วยงาน
“เมื่อก่อนหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานครก็เป็นอิสระ กรมชลฯก็เป็นอิสระต่างคนต่างทำงาน ไม่มีหน่วยงานตรงกลาง พอมีตรงกลางการทำงานเรื่องน้ำก็ง่ายขึ้น เช่น กรณี คลองบ้านใหม่ พอมี สทนช. เป็นเจ้าภาพ การดำเนินงานทำงานร่วมกันก็ดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นายอรรถเศรษฐ์ ย้ำว่า ผ่านมา 13 ปี จากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่ได้มีการปรับปรุงจุดอ่อนของสถานีระบายน้ำ และการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมชลฯ กับ กทม. ที่ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้สถานการณ์น้ำปีนี้แตกต่างออกไป จึงสบายใจได้ว่า ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554แน่นอน