ThaiPublica > เกาะกระแส > กว่าจะเป็น ‘คลองสวย’ แห่งเทศกาล ‘ลอยกระทง’ กับวิธีโยกน้ำของกรุงเทพมหานคร

กว่าจะเป็น ‘คลองสวย’ แห่งเทศกาล ‘ลอยกระทง’ กับวิธีโยกน้ำของกรุงเทพมหานคร

26 พฤศจิกายน 2023


กทม. เล่าวิธี ‘การบริหารคลอง’ ก่อนคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ระบบนิเวศที่ไม่ได้มีเพียงปัจจัยน้ำขึ้น-น้ำลง ข้างขึ้น-ข้างแรม แต่มาจากการบริหารจัดการของภาครัฐ

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

‘ลอยกระทง’ ประเพณีวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่ช้านาน ที่ตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจตั้งแต่หลักพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท และในปี 2566 ผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงลอยกระทง โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า เทศกาลลอยกระทงจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และสร้างเงินสะพัด 10,005 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2559

แม้รูปแบบของเทศกาลลอยกระทงจะเปลี่ยนไปตามบริบท โดยเฉพาะการสร้างบึงน้ำหรือบ่อน้ำปิด เพื่อความสะดวกต่อการจัดการขยะจากกระทงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทั่งการลอยกระทงออนไลน์ก็สะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต แต่ยังมีอีกหลายแห่ง-หลายอีเวนต์ ที่จัดเทศกาลโดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คูคลอง แม่น้ำ รวมไปถึงทะเล เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของเทศกาล

แต่กว่าจะถึงเทศกาล แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ จะต้องได้รับการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลและเหมาะสม จึงจะทำให้น้ำใส สวยงาม สะอาดตา พร้อมรับการมาถึงของเทศกาล

ควบคุมปริมาณน้ำ บริหารระดับคลอง

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่า กทม. มีหน้าที่บริหารจัดการ ‘การไหลเวียนของน้ำ’ ทั้งเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การใช้ประโยชน์ และการบริหารเพื่อทัศนียภาพ โดยการบริหารน้ำในช่วงเทศกาลลอยกระทงจะอยู่คาบเกี่ยวระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ดังนั้น น้ำในคูคลองสายต่างๆ จะต้องถูกเติมเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยา

นายอรรถเศรษฐ์ อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ กทม.จะต้องสูบน้ำออก (พร่องน้ำ) เพื่อให้แม่น้ำและคูคลองสามารถรองรับปริมาณน้ำฝน แต่พอถึงช่วงใกล้เทศกาล กทม.จะต้องผันน้ำเข้า เพื่อให้คูคลองมีระดับน้ำสำหรับลอยกระทงโดยเฉพาะ

หน้าที่ของเราคือ ค่อยๆ เติมปริมาณน้ำ เอาน้ำเข้าโดยวิธีเปิดประตูด้านเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น gravity มาตามคลองไหลลงมา…แต่จะเห็นว่าฤดูฝนคลองดำ เพราะมีแต่เลน น้ำเสีย มีกลิ่น เราเลยปล่อยน้ำไหลไปไล่น้ำเสีย คลองซอย-คลองย่อยที่เชื่อมต่อกับคลองสายหลักก็ได้รับอิทธิพลน้ำไปด้วย”

ภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานครเป็นรูปแบบ ‘แอ่งกระทะ’ กล่าวคือในแต่ละเขตพื้นที่จะมีร่องความลึกที่ไม่เท่ากัน กทม.จึงวิเคราะห์ข้อมูลการไหลของน้ำตามการขึ้นลงของน้ำทะเล ด้วยหลักการแรงโน้มถ่วงของน้ำ หรือที่เรียกว่า gravity โดยปล่อยให้น้ำจากตอนเหนือของพื้นที่ไหลลงพื้นที่ที่ต่ำกว่า

คลองในกรุงเทพฯ มีความลึกแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับลึก มีความลึกอยู่ที่ -2 เมตร ถึง -2.5 เมตรจากพื้นดิน ระดับปานกลาง มีความลึกที่ -1.5 เมตร ส่วนระดับต่ำจะมีความลึกน้อยกว่า 1.5 เมตร ทั้งนี้คลองหลักที่ใช้ลอยกระทงมักจะเป็นคลองที่มีระดับลึกและระดับปานกลาง

การบริหารคลองจะต้องปล่อยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่คลองลึก จากนั้นน้ำจากคลองลึกจะค่อยๆ ไหลลงคลองที่มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับตามหลักการแรงโน้มถ่วง

สร้างคลองสวย-ใสสะอาด ด้วยน้ำดีไปไล่น้ำเสีย

นอกจากประเด็นปริมาณน้ำแล้ว ยังมีเรื่องการทำ ‘คลองสวย’ โดยนายอรรถเศรษฐ์ อธิบายว่า ลำพังเพียงการสูบน้ำเข้า-ออกไม่สามารถทำให้คลองสวยได้ เนื่องจากมีการใช้คลองในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขยะ น้ำเสียจากครัวเรือน การสัญจรทางน้ำ ตลอดจนการก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำและทิ้งสิ่งปฏิกูลลงท่อ

ดังนั้น หัวใจหลักของการทำคลองสวยคือ การนำน้ำดีไปไล่น้ำเสีย (Circulate Water) โดยผ่านการบำบัดน้ำจากเครื่องสูบน้ำ แต่ปัจจุบันโรงบำบัดน้ำเสียของกทม. ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่กรุงเทพฯ ยิ่งกว่านั้นคือ โรงบำบัดน้ำเสียที่มีในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบำบัดได้เต็มประสิทธิภาพที่ 280,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรวบรวมน้ำเสียไม่สามารถดึงน้ำกลับคืนสู่ระบบน้ำเสียได้เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน

นอกจากนี้ ในแต่ละปี กทม.จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 400 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม.) สำหรับการบำบัดน้ำในแต่ละปี โดยปี 2566 กทม. มีสถานีสูบน้ำทั้งหมด 198 สถานี และบ่อสูบน้ำกว่า 370 จุด กำลังสูบทั้งหมด 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงฤดูฝนภายในระยะเวลา 4 – 5 เดือนของแต่ละปีเท่านั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าไฟ ค่าใช้จ่ายสูงมาก ทุกการบริหารจัดการน้ำมีต้นทุนมาเกี่ยวข้อง (cost)…เราพยายามบริหารรายจ่าย”

“ถ้าเราควบคุมน้ำได้ก็จะหลีกเลี่ยงการสูบ ใช้วิธีเปิด-ปิดประตูเพื่อขังน้ำเอาไว้ฝั่งหนึ่ง รออีกระยะเวลาหนึ่งค่อยเปิดประตูออก เราเปิดประตูสองฝั่งไม่ได้ ไม่อย่างนั้นน้ำเน่าไม่มีการไหลเวียน เราต้องปิดฝั่งหนึ่ง เปิดฝั่งหนึ่ง เอาน้ำเข้าตอนน้ำขึ้น เหมือนขังน้ำไว้แล้วปิดประตูในระดับที่ต้องการ”

“เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โรงบำบัดน้ำเสียมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถรวบรวมน้ำเสียจากครัวเรือนได้ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด แต่กทม.กำลังสร้างโรงบำบัดน้ำเสียธนบุรี และโรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย เพื่อให้บำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น”

สรุปแล้ว วิธีการที่ กทม. ใช้ในการสร้างคลองที่มีน้ำเพียงพอและคลองสวย มีอยู่ 4 วิธีคือ

    (1) ปล่อยให้น้ำไหลตามแรงโน้มถ่วง จากที่สูงลงที่ต่ำ
    (2) ใช้ประตูกั้นน้ำ เมื่อสูบเข้าหรือออกจากพื้นที่ หรือที่เรียกว่า ‘ระบบปิดล้อม’
    (3) ใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว มาไล่น้ำเสียในคลองจนทำให้คลองใสสะอาดมากขึ้น
    (4) พยายามรณรงค์และสร้างระบบไม่ให้ครัวเรือนทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงคลอง

ภาพรวมน้ำทั้งประเทศ

นายอรรถเศรษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะเอลนีโญ ทำให้ปี 2566 อาจมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อน อีกทั้งหน่วยงานที่ควบคุมการไหลเวียนของน้ำทั่วทั้งประเทศอย่างกรมชลประทาน ต้องปล่อยน้ำในปริมาณที่น้อยลง และทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายทางของน้ำยิ่งได้รับน้ำน้อยลง

กรมชลประทาน ประกาศว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณน้ำ 78% ของความจุใน 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ เทียบเท่าปริมาณน้ำ 14,000 – 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปี 2566 ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2565 โดยมีความจุที่ 63% ของความจุใน 4 เขื่อนหลัก เทียบเท่าปริมาณน้ำ 8,000 – 10,000 ลูกบาศก์เมตร นับว่าปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2565 ถึง 15%

นายอรรถเศรษฐ์ กล่าวต่อว่า ปกติแล้วการบริหารน้ำทั้งประเทศแบ่งเป็น 2 วัตถุประสงค์คือ น้ำเพื่อการเกษตรและน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ซึ่งการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจะมีปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 8,000 – 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี จากตัวเลขจะเห็นว่า ภาพรวมน้ำทั้งประเทศก็ไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรมชลฯ ต้องบริหารน้ำก้อนหนึ่งเพื่อใช้ในการรักษาระบบนิเวศด้วย

“ถ้าน้ำเยอะ คลองจะสวย แต่ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ต่ำกว่าค่าเกณฑ์มาตรฐาน กรมชลฯ เก็บน้ำ ไม่ค่อยปล่อย อย่างน้ำในคลองโอ่งอ่างก็อยู่ระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เราอาจมีปริมาณน้ำไม่มาก แต่เพียงพอให้ได้ลอยกระทง ทำให้บางพื้นที่ไม่สวยที่สุด”

‘เข็มหมุดปักกระทง’ ตัวร้ายเครื่องสูบน้ำ

ปัจจุบันเทศกาลลอยกระทงกำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้น ท่ามกลางประเด็นสิ่งแวดล้อม และเป้าหมาย Net Zero ที่ทำให้ กทม. รณรงค์ลดการใช้โฟม และชวนให้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายอรรถเศรษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ประเด็นที่กทม.กังวลคือ ‘เข็มหมุด’ กว่า 700,000 – 800,000 อัน ที่ปักกระทงจะหลุดลงในคลอง และเครื่องสูบน้ำมักดูดเข้าไปแล้วเข็มหมุดจะเล็ดลอดเข้าไปถึงใบพัดของเครื่องสูบน้ำ และทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหาย นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนไฟแช็คที่ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กทม. ยังไม่ได้เก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและมูลค่าความเสียหาย แต่นายอรรถเศรษฐ์ ย้ำว่า ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำมีอุปสรรคมากขึ้น

อีกประเด็นที่กทม. ทำในเทศกาลลอยกระทงคือ การเตรียมความปลอดภัยตามโป๊ะ-ท่าเรือจุดต่างๆ และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่เขต เทศกิจและรถพยาบาล ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอีเวนต์ลอยกระทง 3 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อ ได้แก่ คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษม และสะพานพระรามแปด