ThaiPublica > สู่อาเซียน > “เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน” เดิมพันของนายกรัฐมนตรี “สายใต้” สอนไซ สีพันดอน

“เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน” เดิมพันของนายกรัฐมนตรี “สายใต้” สอนไซ สีพันดอน

2 มีนาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นก่อสร้างอาคารรูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว ภายในเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มาภาพ : บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เริ่มต้นการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ “แคนคู่” ระยะที่ 1 แลนด์มาร์คสำคัญของโครงการ “เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน” ที่บ้านท่าค้อ เมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของลาว

อาคารเอนกประสงค์ “แคนคู่” อยู่ในโซน A ของเขตเศรษกิจใหม่สีทันดอน ใช้พื้นที่ก่อสร้างรวม 366,923 ตารางเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 อาคารซึ่งถูกออกแบบเป็นรูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว ภาชนะจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนลาวมาแต่โบราณ จำนวน 2 ตึก แต่ละตึกมี 13 ชั้น ความสูงตึกละ 62 เมตร ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 6.7 เฮกตาร์ หรือประมาณ 42 ไร่ หรือ 67,132 ตารางเมตร งบประมาณก่อสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้เวลาสร้าง 3 ปี

ระยะที่ 2 ตึกแฝดรูปทรงแคน เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของลาว มีการวางตำแหน่งคล้ายตึกแฝดปิโตรนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อสร้างเสร็จ ตึกแฝดคู่นี้จะเป็นอาคารที่สูงที่สุดของลาว แต่ละตึกมี 63 ชั้น ความสูงตึกละ 238.98 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 800 ล้านดอลลาร์

จุดเด่นของตึกแฝดคู่นี้ คือจุดชมวิวที่อยู่ชั้นบนสุดของอาคาร สามารถมองเห็นสถานที่สำคัญต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งวิวแม่น้ำโขงและน้ำตกคอนพะเพ็ง ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร รวมถึงบริเวณเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างลาวกับกัมพูชา ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร

อาคารแฝดรูปแคน และอาคารกระติ๊บข้าวเหนียว ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ที่มาภาพ : บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน

ชายแดนลาว-กัมพูชาตรงจุดนี้ มีด่านสากล “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” เป็นช่องทางเข้าออกของผู้คนจากทั้ง 2 ประเทศ และกำลังถูกพัฒนาให้เป็นประตูหลักสำหรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ

ลาตี สีสุพันนะวง รองประธานสภาผู้ถือหุ้น บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เจ้าของสัมปทานเขตเศรษกิจใหม่สีทันดอนกล่าวรายงานในพิธีวางศิลาฤกษ์ว่า เมื่อการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะเสร็จสมบูรณ์ พื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยว สถานบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านค้า ร้านอาหาร และจะเป็นสัญลักษณ์ของเขตเศรษกิจใหม่สีทันดอน

เฉพาะอาคารรูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว ซึ่งเป็นระยะแรกของการก่อสร้างที่เพิ่งมีพิธีวางศิลาฤกษ์ไปนั้น เมื่อสร้างเสร็จ คาดว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่าวันละ 2,000 คน…

วิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก ทำพิธีมอบสิทธิในการพัฒนาอุทยานน้ำตกคอนพะเพ็ง และอุทยานน้ำตกสมพะมิด (หลี่ผี 8) ให้แก่บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เป็นผู้ดูแล ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 วิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก ได้ทำพิธีมอบสิทธิในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานน้ำตกคอนพะเพ็ง และอุทยานน้ำตกสมพะมิด (หลี่ผี 8) ให้แก่บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เป็นผู้ดูแลและปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 5,000 คนต่อวัน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มก่อสร้างอาคารรูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียวเพียง 2 สัปดาห์ บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวลาวสากล ใน เครือบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน ได้ทำพิธีลงนามข้อตกลงเช่าเหมาลำเครื่องบิน จากรัฐวิสาหกิจการบินลาว รวมถึงร่วมกันวางแผนเปิดเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายแห่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน มายังสนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก

มีการเปิดเผยในพิธีลงนามว่า รัฐวิสาหกิจการบินลาวมีแผนจะทยอยเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ เช่น ปากเซ-ฮ่องกง, ปากเซ-ไหโข่ว/ซานย่า มณฑลไหหลำ และปากเซ-เฉิงตู มณฑลเสฉวนฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมายังเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนโดยเฉพาะ

บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวลาวสากล ในเครือบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน ลงนามข้อตกลงเช่าเหมาลำเครื่องบิน และร่วมวางแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ กับรัฐวิสาหกิจการบินลาว ที่มาภาพ : บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน
เส้นทางบินที่รัฐวิสาหกิจการบินลาววางแผนเปิดใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนโดยเฉพาะ ที่มาภาพ : บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน

……

“เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน” เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองอุตสาหกรรม (Guangdong Yellow River Industrial Group) จากมณฑลกวางตุ้ง ของจีน ในนาม “บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน”

โดยบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทลาวมหานทีสีทันดอน (ฮ่องกง) การลงทุน บริษัทในกลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองอุตสาหกรรม

เขตเศรษกิจใหม่สีทันดอนเป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นบนพื้นที่ 9,846 เฮกตาร์ หรือประมาณ 61,537.5 ไร่ วงลงทุนรวม 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 315,000 ล้านบาท อายุสัมปทาน 50 ปี ภายในแบ่งเป็น 11 โซน และ 6 ระยะการพัฒนา

ความเป็นมาคร่าวๆ ของโครงการนี้ เริ่มจากวันที่ 30 มิถุนายน 2560 รัฐบาลลาวเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้กลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองเข้ามาสำรวจความเป็นไปได้ในพื้นที่ ก่อนเซ็นสัญญาให้สัมปทานพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561

วันที่ 6 ตุลาคม 2561 มีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มการก่อสร้างถนนคอนกรีตรอบเกาะดอนโขง ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 12 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มเดินหน้าโครงการ ถนนสายนี้ใช้เวลาสร้าง 2 ปี 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดใช้ถนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

กลางปี 2565 บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลลาว เริ่มสำรวจทางธรณีวิทยาและบินสำรวจทางอากาศ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคาร “แคนคู่” จนมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

……

หากมีบางคนมองว่า “สมสะหวาด เล่งสะหวัด” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้ประจำการรัฐบาลลาว เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการก่อกำเนิดและพัฒนาการของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองใหม่ของนักเสี่ยงโชคจากหลายประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในภาคเหนือ ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน

นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ก็อาจถูกมองได้ว่า เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนด้วยเช่นกัน

เพราะทุกขั้นตอนพัฒนาการของโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนตั้งแต่เริ่มต้น กระทั่งมีการวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นก่อสร้างอาคารกระติ๊บข้าวเหนียว ได้ปรากฏภาพของนายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง

สอนไซ สีพันดอน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มก่อสร้างถนนคอนกรีต ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร รอบเกาะดอนโขง มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ที่มาภาพ : วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
สอนไซ สีพันดอน เป็นประธานลั่นฆ้องสัญลักษณ์ เปิดใช้ถนนรอบเกาะดอนโขง ถือเป็นก้าวแรกของการเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

– วันที่ 30 มิถุนายน 2561 รัฐบาลลาวจัดพิธีเซ็นสัญญามอบสัมปทานพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ขึ้นที่โรงแรมแลนด์มาร์ค ริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ลงนามในสัญญา ได้แก่ สุพัน แก้วมีไซ รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ในขณะนั้น ในฐานะตัวแทนรัฐบาล, เฉิง กวงฟาย ประธานบริษัทลาวมหานทีสีทันดอน (ฮ่องกง) การลงทุน ผู้รับสัมปทาน และลาตี สีสุพันนะวง ประธานบริษัท แอลทีวี ก่อสร้างขัวทางและชลประทาน ผู้รับเหมาก่อสร้าง

สอนไซ สีพันดอน ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ได้มาร่วมพิธีในฐานะสักขีพยาน

– วันที่ 6 ตุลาคม 2561 สอนไซ สีพันดอน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เริ่มต้นก่อสร้างถนนนรอบเกาะดอนโขง ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอนเป็นผู้สนับสนุนทุนในการก่อสร้าง เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์

– วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 สอนไซ สีพันดอน เป็นประธานและเป็นผู้ลั่นฆ้องสัญลักษณ์เปิดใช้ถนนสร้างใหม่ระยะทาง 43.5 กิโลเมตรรอบเกาะดอนโขง เปรียบเสมือนก้าวแรกของการเริ่มเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน

การปรากฏตัวของสอนไซ สีพันดอน ในพิธีการต่างๆ เหล่านี้ หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด สอนไซดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ดูแลกระทรวงแผนการและการลงทุน มิหนำซ้ำ ในช่วงท้ายของรัฐบาล สอนไซยังได้นั่งควบ 2 ตำแหน่ง ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุนเองอีกด้วย

แต่ความเกี่ยวพันธ์ระหว่างโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน กับนายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน น่าจะต้องมีอะไรที่มากไปกว่านั้น!

ที่ตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน บริเวณจุดเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคม 4 ประเทศ ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนา

ที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน อยู่ที่เมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของลาว นอกจากอยู่ในจุดกึ่งกลางการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมของ 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม แล้ว

เมืองโขงยังเป็นบ้านเกิดของลุง “คำไต สีพันดอน” อดีตประธานพรรคประชาชนปฏิวัติลาว อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานประเทศลาว และยังเป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน

ลุงคำไต สีพันดอน (ขวา) ซึ่งขณะนั้นอายุ 97 ปี ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ที่หน่วยเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยจำปาสัก ที่มาภาพ : วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

แม้ปัจจุบัน ลุงคำไตมีอายุถึง 99 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นบุคคลที่มี “บารมี” มากที่สุดคนหนึ่ง ในประเทศลาว

มีการมองว่า การได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสอนไซ สีพันดอน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ต่อจากพันคำ วิพาวัน ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้แกนนำประเทศจากสายของคนทางภาคใต้ ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

เพราะหลังจากบัวสอน บุบผาวัน ซึ่งเกิดที่แขวงสาละวัน และเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดครอบครัวของลุงคำไต สีพันดอน ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 15 ของลาว เมื่อปลายปี 2553 แล้ว บุคคลที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลาวต่อจากบัวสอนอีก 3 คน ล้วนเป็นคนที่เกิดในแขวงหัวพัน ซึ่งอยู่ในภาคเหนือของลาวทั้งสิ้น ได้แก่

  • ทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 (2553-2559)
  • ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 (2559-2564)
  • พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี คนที่ 18 (2564-2565)
  • ส่วนตัวของสอนไซ สีพันดอนเอง เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าแขวงจำปาสักมาก่อนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2549 ขณะที่เขาเพิ่งมีอายุได้เพียง 40 ปี ถือเป็นเจ้าแขวงที่มีอายุน้อยที่สุด หลังจากก่อนหน้านั้น สอนไซเพิ่งขึ้นเป็นรองเจ้าแขวงจำปาสัก ในเดือนธันวาคม 2548

    ดังนั้น อนาคตและความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ในแขวงจำปาสัก และในเมืองบ้านเกิดของลุงคำไต สีพันดอน บิดาของสอนไซ จึงเป็นสิ่งที่สอนไซ สีพันดอน คงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง…

  • “เมืองโขง” เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน อีก 1 ดินแดน “จีน” ตรงข้าม “กัมพูชา”
  • วิสัยทัศน์ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ของลาว
  • “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” ช่องทางชายแดนที่กำลังถูกเพิ่มความสำคัญ