ThaiPublica > สู่อาเซียน > “มรดกลาว-มรดกโลก” อีกหนึ่งแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ “ลาว”

“มรดกลาว-มรดกโลก” อีกหนึ่งแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ “ลาว”

2 ธันวาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เตี้ยลง สาละวันเตี้ยลง
เตี้ยลง สาละวันเตี้ยลง
เตี้ยลงหน่อยสาละวันเอ้ย
เตี้ยลงแล้ว ฟังพี่สิเดี่ยวเพลง…

ครั้งหนึ่ง เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ท่อนแรกของเพลง “สาละวันรำวง” ข้างต้น ที่ครูเพลง “พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา” ได้มอบให้ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” นำไปร้องบันทึกเสียงจนดังเปรี้ยงปร้าง เคยเป็นท่อนร้องที่คุ้นหู คุ้นปากคนไทย หลายเพศ หลายวัย หลายคนชอบนำเพลงนี้ไปร้องในงานรื่นเริง สังสรรค์

เพลงนี้ มีการบันทึกไว้ว่าครูเพลงพงษ์ศักดิ์ได้ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองมาจากบท “ลำสาละวัน” วัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวลาวลุ่มในภาคใต้ของลาว โดยเฉพาะในแขวงสาละวัน ซึ่งก่อกำเนิดมาจากพิธีกรรมทรงผีไถ้ผีแถนตามความเชื่อดั้งเดิม ต่อมามีการเพิ่มเนื้อที่เป็นบทกลอนเข้าไป และปรับแต่งท่วงทำนองเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน

เมื่อบทลำสาละวันแพร่หลายข้ามมาสู่ภาคอิสานของไทย และถูกประยุกต์ต่อเป็นเพลง “สาละวันรำวง” วลี “สาละวันเตี้ยลง ลุกขึ้น เดินหน้า ถอยหลัง” กลายเป็นที่คุ้นชินของคนไทย คนไทยจำนวนมากได้รู้จักท่วงทำนองการฟ้อน ร้อง รำ สาละวัน และเรื่องราวของ “สาละวัน” ได้จากบทเพลงนี้

ทุกวันนี้ แขวงสาละวันยังบรรจุรำวงสาละวันไว้ในคำขวัญประจำแขวงที่ว่า

“หมากพ้าวนาไซ ปิ้งไก่นาป่ง เหล้าขาวเมืองคง รำวงสาละวัน”

การแสดงรำวงภายในงาน“แห่พระไตรปิฎก สืบสานวัฒนธรรม รำวงสาละวัน” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 แขวงสาละวันเพิ่งจัดงาน “แห่พระไตรปิฎก สืบสานวัฒนธรรม รำวงสาละวัน” ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองการที่กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ได้ประกาศรับรองหอพระไตรปิฏกวัดศรีมงคล(วัดกลาง) เมืองสาละวัน ให้เป็นมรดกแห่งชาติระดับท้องถิ่นแห่งแรกของแขวงสาละวัน

หอพระไตรปิฏกวัดศรีมงคล เป็นหอไตรกลางน้ำ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2327 สมัยการปกครองของเอกะราชาที่ 1 ชื่อ “ท้าวคำพิทูน” เดิมเป็นเพียงหอไตรขนาดเล็ก ต่อมาในปี 2402 สมัยเอกะราชาที่ 6 ชื่อ“ท้าวเหง้ากันยา” ท่านได้นำพุทธศาสนิกชนชาวสาละวันมาช่วยกันสร้างหอไตรหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บรักษาเอกสาร หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฏกจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ รวมถึงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจให้กับชาวพุทธในแขวงสาละวัน

หอพระไตรปิฎกหลังนี้สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็งที่ชาวบ้านร่วมกันนำมาถวาย ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยช่างฝีมือที่มีความชำนาญ หลังคาเป็นแบบหอปราสาท มุงด้วยแป้นไม้แดงแบบโบราณ ตั้งอยู่บนเสาไม้ 54 ต้น โครงสร้างอาคารหอไตรเชื่อมประสานเข้าด้วยกันโดยการเจาะรูแล้วตอกด้วยลิ่มไม้ ภายในมีการแกะสลักรูปภาพต่างๆที่เป็นศิลปะของท้องถิ่น

วันที่ 20 มิถุนายน 2513 ช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ส่งฝูงบิน T-28 มาโจมตีเมืองสาละวัน วัดศรีมงคลเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ถูกยิงถล่ม ทั่วบริเวณวัด ทั้งกุฏิ วิหาร รวมถึงหอไตรกลางน้ำ ได้รับความเสียหายชนิดที่ในเอกสารของลาวใช้คำว่า “ถูกเผาทำลายเกลี้ยง” สร้างความเสียใจแก่ชาวลาว โดยเฉพาะชาวสาละวันเป็นอย่างยิ่ง

หอพระไตรปิฎก วัดศรีมงคล(วัดกลาง) มรดกแห่งชาติระดับท้องถิ่นแห่งแรกของแขวงสาละวัน ที่มาภาพ หนังสือพิมพ์ Lao Post

ปี 2552 แขวงสาละวันได้ปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก วัดศรีมงคลให้กลับคืนมาใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 7 มิถุนายน 2552 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 7 ของลาว การปฏิสังขรณ์ยึดรูปแบบตามหอไตรหลังเก่า เพิ่มเสาไม้เป็น 57 ต้น ใช้ไม้กระจะทำเป็นเสา โครงหลังคาสร้างขึ้นจากไม้แคน มุงด้วยดินขอ พื้นกระดานไม้ ประตู หน้าต่าง ใช้ไม้ประดู่ แกะสลักด้วยศิลปะลาวโบราณ รูปแกะสลักแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวลาวและชาวสาละวัน

มูลค่าก่อสร้างหอพระไตรปิฎกหลังใหม่ ตกประมาณกว่า 7,000 ล้านกีบ หรือ 28 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น ในนี้เป็นเงินที่ประชาชนช่วยกันบริจาค 2,500 ล้านกีบ และเป็นเงินงบประมาณของรัฐอีก 4,500 ล้านกีบ

โพไซ ไซยะสอน เจ้าแขวงสาละวัน กล่าวว่า การรับรองหอพระไตรปิฎก วัดศรีมงคล เป็นมรดกแห่งชาติระดับท้องถิ่น เป็นเหตุการณ์ที่มีความหมายยิ่งต่อแขวงสาละวัน เป็นการอนุรักษ์ทรัพย์สินอันล้ำค่าของท้องถิ่นและของชาติไว้ให้ลูกหลาน และจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของแขวงสาละวันต่อไปในอนาคต

โพไซ ไซยะสอน เจ้าแขวงสาละวัน ที่มาภาพ : ข่าวสารประเทศลาว

เจ้าแขวงสาละวันบอกว่า หลังจากนี้ แขวงสาละวันจะเริ่มสำรวจแหล่งมรดกที่อยู่ภายในพื้นที่ ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความเป็นธรรมชาติ เพื่อจะได้บูรณะ ปกปักษ์รักษา พัฒนา สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากภายในลาวและจากต่างประเทศ ให้เดินทางมาเที่ยวแขวงสาละวัน
……

ก่อนหน้าแขวงสาละวัน 2 วัน ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่หอวัฒนธรรมแขวงหัวพัน ได้มีพิธีรับมอบใบประกาศรับรอง “ขับซำเหนือ” และภูมิปัญญาการทอ “ซิ่นไหมหม่อนหัวพัน” เป็นมรดกแห่งชาติทางวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น ของแขวงหัวพัน

“ขับซำเหนือ” เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าลาวในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ไม่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่ามีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด เป็นบทร้องของท้องถิ่นที่ถูกใช้ขับเป็นลำนำเพื่อความบันเทิงในงานบุญ ประเพณีต่างๆ

เดิมบทขับนี้ไม่มีชื่อเฉพาะ เพิ่งถูกเรียกเป็น “ขับซำเหนือ” ในช่วงการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเรียกตามชื่อถิ่นกำเนิด เอกลักษณ์ของขับซำเหนือคือการเริ่มต้นบทขับด้วยคำว่า “บัดนี้” เนื้อหาที่ขับออกมา เป็นการบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในสังคมแต่ละช่วงสมัย ทั้งเรื่องราวที่สนุกสนาน และโศกเศร้า

ผ้าซิ่นไหมหม่อนหัวพัน ถูกนำมาแสดงภายในพิธีประกาศรับรอง “ขับซำเหนือ” และภูมิปัญญาการทอ “ซิ่นไหมหม่อนหัวพัน” เป็นมรดกแห่งชาติทางวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น ของแขวงหัวพัน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : เพจ Media Laos

ส่วนผ้าซิ่นไหมหม่อนหัวพันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะท้องถิ่น มีความโดดเด่นที่ใช้วัตถุดิบทุกชนิดซึ่งผลิตขึ้นภายในแขวงหัวพัน เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวเป็นเส้นไหม จนนำไปทอเป็นผ้าผืน ซิ่นไหมหม่อนหัวพันมีความแน่นหนา แข็งแรง มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ถูกรักษาไว้มาแต่โบราณ เช่น ลายพญานาค ลายพระธาตุ พระราชวัง บรรพบุรุษ ภูเขา ป่าไม้ ดอกไม้ชนิดต่างๆ รวมถึงลายรูปสัตว์ เช่นลายช้าง รูปดาว เพชร

ก่อนหน้านี้ แขวงหัวพันได้มีการรับรอง “ถ้ำผู้นำเมืองเวียงไซ” ให้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ และมีการรับรอง “พระเจ้าองค์ตื้อ” วัดสีบุญเรือง ไชยาราม เป็นมรดกแห่งชาติระดับท้องถิ่น มาแล้ว 2 รายการ

การรับการรับรองขับซำเหนือและซิ่นไหมหม่อนหัวพันเพิ่มขึ้นอีก 2 รายการ ทำให้ภายในแขวงหัวพันในปัจจุบัน มีมรดกระดับชาติรวมแล้วถึง 4 รายการด้วยกัน

……

การรับรองสถานที่ วัตถุ หรือวัฒนธรรมใดๆให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ ถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้น

หากมรดกแห่งชาติรายการใดถูกพบว่ามีศักยภาพ จะมีการรวบรวมข้อมูลทำเป็นเอกสารยื่นเสนอต่อต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป

ปัจจุบัน ลาวมีรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดก” อย่างเป็นทางการจากองค์การยูเนสโกรวมแล้ว 4 รายการ ในนี้ 3 รายการเป็นสถานที่ ประกอบด้วย

    -เมืองหลวงพระบาง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในเดือนธันวาคม ปี 2538

    -ปราสาทหินวัดพู แขวงจำปาสัก ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2544

    -เสียงแคนลาว ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในเดือนธันวาคม ปี 2560

    -ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในเดือนกรกฎาคม ปี 2562

ทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวาง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562
ทุ่งไหหิน

เมืองหลวงพระบางและวัดพูจำปาสัก ถือว่าได้รับผลสำเร็จ เพราะทั้ง 2 แห่ง ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากหลายประเทศ เดินทางมาเที่ยว

แต่กรณีของทุ่งไหหินนั้นจังหวะไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะหลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ไม่กี่เดือน ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้ 3 ปีมานี้ ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไปเที่ยวชมทุ่งไหหิน

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 แขวงเชียงขวางร่วมกับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว เพิ่งจัดงานเฉลิมฉลองการได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้กับทุ่งไหหิน เพื่อเริ่มกระบวนการกระตุ้นการท่องเที่ยวทุ่งไหหิน หลังลาวเริ่มกลับมาเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อตอนกลางปี 2565

งานเฉลิมฉลองการได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้กับทุ่งไหหิน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว


……

25 พฤศจิกายน 2565 วันเดียวกับที่แขวงสาละวันได้จัดงาน “แห่พระไตรปิฎก สืบสานวัฒนธรรม รำวงสาละวัน” นั้น ที่นครหลวงเวียงจันทน์ กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ร่วมกับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว องค์การยูเนสโก ประจำลาว ได้จัด ประชุมระดับชาติเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งในการประเมินผลกระทบทางด้านมรดกใน สปป.ลาว

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางให้ภารกิจด้านการคุ้มครอง ปกปักษ์รักษา มรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ ของลาว มีความมั่นคง ยั่งยืน และสอดคล้องกับสภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคมของลาว ในอนาคต

พะขันไซ สีขันไซ หัวหน้ากรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว กล่าวว่า หลังมีการสถาปนา สปป.ลาว ขึ้นใน พ.ศ.2518 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว และรัฐบาลลาว ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครอง รักษามรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ ของประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง

การประชุมเรื่องการประเมินผลกระทบกับแหล่งมรดกในลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

จากก่อนหน้านั้น ลาวไม่เคยมีมรดกแห่งชาติเลยแม้แต่รายการเดียว แต่เมื่อถึงปี 2536 ลาวสามารถขึ้นบัญชีมรดกระดับชาติได้ถึง 15 รายการ จนถึงปัจจุบัน ลาวได้เสนอมรดกแห่งชาติทางด้านวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้สำเร็จแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง ในปี 2538 วัดพูจำปาสัก ในปี 2544 และทุ่งไหหินเชียงขวาง ในปี 2562 นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการนำเสนอขึ้นทะเบียนเสียงแคนลาวให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในปี 2560

พะขันไซบอกว่า ปัจจุบัน กรมมรดกอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำร้องต่อยูเนสโก เสนอภูมิปัญญาการทอผ้าลายพญานาค และรำวงลาว ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เพิ่มเติม และเตรียมยื่นคำร้องเสนออุทยานแห่งชาติหินหนามหม่อ เมืองบัวละพา แขวงคำม่วน ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมชายแดนแบบเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติฟ็องญา-แก๋บ่าง ในจังหวัดกว๋างบิ่ญของเวียดนาม ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปก่อนแล้วเมื่อปี 2546

คาดว่าการจัดเตรียมเอกสารทั้งหมด จะพร้อมสำหรับยื่นคำร้องต่อยูเนสโกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

หัวหน้ากรมมรดก กล่าวว่า เพื่อให้ภารกิจคุ้มครอง ปกปักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ ของลาวมีความมั่นคง ยั่งยืน และสอดคล้องกับสภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคมของชาติ กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ได้เสนอกฎหมายว่าด้วยมรดกแห่งชาติฉบับปรับปรุง และผ่านการรับรองจากสภาแห่งชาติแล้วเมื่อปลายปี 2564 เนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้ มีข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่อมรดกแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า

“ทุกโครงการพัฒนา หรือกิจกรรม ความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐาน อาจส่งผลกระทบโดยตรงหรือทางอ้อมต่อมรดกแห่งชาติทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ ต้องมีการประเมินผลกระทบต่อมรดกดังกล่าว พร้อมจัดทำบทรายงาน และแผนการเกี่ยวกับวิธีการควบคุม ติดตาม และตรวจตรา”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประเมินผลกระทบด้านมรดกยังไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และยังไม่มีนิติกรรมที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างอิง กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว จึงต้องขอความสนับสนุนจากยูเนสโกเพื่อช่วยวางแนวทางการและสร้างคู่มือสำหรับใช้ประเมินผลกระทบด้านมรดกของชาติในอนาคต

……

ทุกวันนี้ ลาวยังคงตกอยู่ในวงวนวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงิน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพประชาชนที่พุ่งสูงลิ่ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ลาวเป็นประเทศผู้นำเข้าเป็นส่วนใหญ่ การท่องเที่ยวจึงถือเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ ที่สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในลาว การแสวงหา พัฒนา เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว

การเฟ้นหามรดกลาว เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นมรดกโลก จึงมีความจำเป็น…

  • ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”