ThaiPublica > สู่อาเซียน > “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” ช่องทางชายแดนที่กำลังถูกเพิ่มความสำคัญ

“หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” ช่องทางชายแดนที่กำลังถูกเพิ่มความสำคัญ

12 สิงหาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ภาพล่าสุดของด่านสากลหนองนกเขียน ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 โดยเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาและอบรม แขวงจำปาสัก ซึ่งเดินทางไปเก็บข้อมูลมาใช้ในการเขียนประวัติแขวงจำปาสัก ที่มาภาพ : วารสาร “ความสะหงบ”

ในวันนี้ “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” อาจเป็นชื่อด่านชายแดนที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไร แต่หลังจากนี้ไป ช่องทางชายแดนแห่งนี้จะถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งขึ้น

“หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” เป็นด่านชายแดนลาว-กัมพูชา “หนองนกเขียน” เป็นชื่อด่านในฝั่งลาว อยู่ในเขตเวินคาม เมืองโขง แขวงจำปาสัก ส่วนฝั่งตรงข้ามในเขตกัมพูชาเป็นด่าน “ตราเบียงเกรียน” ขึ้นกับเมืองสตรึงแตรง จังหวัดสตรึงแตรง

“หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” เป็นด่านสากลแห่งแรกของลาวและกัมพูชา เดิมช่องทางนี้เป็นเพียงด่านท้องถิ่น ที่เปิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ของลาวกับภาคเหนือของกัมพูชา สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้

ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2552 รัฐบาลลาวและกัมพูชาตกลงร่วมกันที่จะยกฐานะช่องทางนี้ขึ้นเป็นด่านสากล เพื่อสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยว โดยทั้ง 2 ประเทศได้ลงทุนปรับปรุงสถานที่ ก่อสร้างอาคารที่ทำการด่าน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ ขั้นตอน เอกสารผ่านแดน เพื่อให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรอย่างสมบูรณ์แบบ

วันที่ 10 มกราคม 2560 มีพิธีเปิดใช้อาคารที่ทำการด่านหนองนกเขียนและตราเบียงเกรียน อย่างเป็นทางการ โดยทองลุน สีสุลิด เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เดินทางมาเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดด้วยตนเอง

……

ลาวและกัมพูชามีพรมแดนติดกันยาว 533 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนรวม 145 จุด ณ วันที่มีพิธีเปิดอาคารที่ทำการด่านสากลหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน (10 มกราคม 2560) จุดผ่านแดน 121 จุด หรือ 83% ของจุดผ่านแดนทั้งหมดของ 2 ประเทศ ได้มีการปักปันกำหนดเขตแดนชัดเจนแล้ว ยังเหลืออีก 24 จุด หรือ 17% ที่อยู่ระหว่างการสำรวจและกำหนดเส้นเขตแดน

นอกจากด่านหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน ลาวกับกัมพูชายังมีแผนเปิดด่านสากลขึ้นอีก 3 จุด ได้แก่ ด่านหลัก 48-ห้วยโก๊, ด่านเวินคาม-โอสวาย และด่านเวินยาง-ท่าแก ซึ่งเป็นชายแดนระหว่างแขวงจำปาสัก กับจังหวัดสตึงแตรงและจังหวัดพระวิหาร

รวมถึงมีแผนสร้างด่านชายแดนและสะพานข้ามเซลำเพา ในแขวงอัตตะปือของลาว กับบึงโตนเลระปือ จังหวัดรัตนคีรีของกัมพูชา ซึ่งจุดนี้หากเปิดใช้งานแล้ว จะเป็นทางลัดที่ใกล้ที่สุดสำหรับการเดินทางไปยังภาคกลางของเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน แต่ก็มีบางครั้งที่ลาวและกัมพูชามีเรื่องระหองระแหงเกี่ยวกับพรมแดนระหว่างกันขึ้น โดยเฉพาะที่จุดเวินคาม-โอสวาย และจุดที่ยังปักปันเขตแดนกันไม่เรียบร้อย มีผลให้ทองลุน สีสุลิด เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องต่อสายตรงและบินตรงเพื่อไปคุยกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเท่าที่เคยปรากฏเป็นข่าว มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง…

หลังเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2560 บทบาทของด่าน “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” ยังไม่แสดงความโดดเด่นให้สาธารณะได้รับรู้สักเท่าไร นอกจากเป็นช่องทางขนส่งสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างลาวกับกัมพูชา และเป็นช่องทางเข้า-ออกของคน ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวลาวและกัมพูชานั่นเอง

พิธีส่งมอบวัคซีนซิโนแวกที่รัฐบาลกัมพูชาส่งมาช่วยลาว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่บริเวณพรมแดนด่านสากลหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน

ในช่วงที่ลาวกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 และ 3 รัฐบาลกัมพูชาได้ส่งวัคซีนซิโนแวกจำนวน 2 แสนโดสมาช่วยลาว เพื่อแสดงถึงสายสัมพันธ์และความห่วงใยระหว่างกันของ 2 ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่ต่างก็กำลังเผชิญกับความทุกข์ยากจากการระบาดของโรคนี้

พิธีส่งมอบวัคซีนจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่พรมแดนด่านหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน โดย อุช โบริธ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้ส่งมอบ บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รองหัวหน้าคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ของลาว ในขณะนั้น เป็นผู้รับมอบ

……

ตำแหน่งด่านสากล “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” ชายแดนลาว-กัมพูชา ที่กำลังเพิ่มบทบาทขึ้นเรื่อยๆ

ด่านหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน เป็นช่องทางบนบก ในฝั่งกัมพูชามีทางหลวงหมายเลข 7 ที่เชื่อมต่อขึ้นมาจากรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศ ข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดกัมปงจาม ต่อมายังจังหวัดกระแจะ ก่อนไปสิ้นสุดที่ด่านชายแดนตราเบียงเกรียน ในจังหวัดสตรึงแตรง

จากนั้นทางหลวงหมายเลข 7 ของกัมพูชา ก็เชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางสาย 13 ใต้ ของลาว ที่ด่านหนองนกเขียน

เส้นทางหมายเลข 13 เป็นถนนสายหลักของลาวที่เชื่อมภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เข้าด้วยกัน จากนครหลวงเวียงจันทน์ มีเส้นทางสาย 13 เหนือ ผ่านแขวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง อุดมไซ ขึ้นไปเหนือสุดที่ด่านชายแดนบ่อเต็น ในแขวงหลวงน้ำทา

ส่วนเส้นทางสาย 13 ใต้ เริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ มุ่งไปทางตะวันออกถึงแขวงบ่อลิคำไซ ต่อลงมาผ่านแขวงคำม่วน สะหวันนะเขต จำปาสัก และมาสิ้นสุดเมื่อเชื่อมเข้ากับทางหลวงหมายเลข 7 ของกัมพูชา ที่ด่านหนองนกเขียน

โครงการสำคัญที่อยู่ใกล้กับด่านสากลหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน

ในฝั่งลาว บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของด่านหนองนกเขียน มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อย่างน้อย 2 โครงการ

โครงการที่สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการแล้ว ได้แก่ “เขื่อนดอนสะโฮง” เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างกั้น “ฮูสะโฮง” ช่องทางน้ำธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณมหานทีสี่พันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก จุดที่ตั้งเขื่อนดอนสะโฮง อยู่ไม่ห่างจากด่านหนองนกเขียนไปทางทิศตะวันตก

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ซึ่งมีพิธีเปิดอาคารด่านชายแดนหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน หลังเสร็จพิธี นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นได้นำคณะข้ามเข้ามาในฝั่งลาว เพื่อเดินทางต่อไปดูการก่อสร้างเขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้าดอนสะโฮงด้วย

เขื่อนผลิตไฟฟ้าดอนสะโฮง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 260 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 723.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% คือ Mega First Corporation Berhad จากประเทศมาเลเซีย อีก 20% ถือโดยบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ 195 เมกะวัตต์ส่งขายให้กับกัมพูชา ที่เหลืออีก 65 เมกะวัตต์ป้อนให้กับ 4 แขวงภาคใต้ของลาว คือจำปาสัก สาละวัน เซกอง และอัตตะปือ

แผนผังโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ที่มาภาพ: เพจ Four Thousand Islands

การก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าดอนสะโฮงเริ่มในเดือนมกราคม 2559 แล้วเสร็จและเริ่มทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหน่วยแรก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 จากนั้นเดินเครื่องผลิตเต็มกำลังครบทั้ง 4 หน่วยในปลายปี 2562…

ถัดจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าดอนสะโฮงขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณเกาะดอนโขง เป็นสถานที่ก่อสร้างโครงการ “เขตเศรษกิจใหม่สีทันดอน”

โครงการนี้เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองอุตสาหกรรม (Guangdong Yellow River Industrial Group) จากมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในนาม “บริษัทร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน” ที่มี Guangdong Yellow River Industrial Group เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เขตเศรษกิจใหม่สีทันดอนเป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นบนพื้นที่ 9,846 เฮกตาร์ หรือประมาณ 61,537.5 ไร่ (1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่) ใช้เงินลงทุนรวม 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุสัมปทาน 50 ปี

ตึกแฝดรูปแคน ที่จะเป็นตึกสูงที่สุดของลาว และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ตึกที่เตี้ยกว่า 2 หลังที่อยู่ด้านข้าง คืออาคารรูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว ที่มาภาพ: เพจ Four Thousand Islands

จุดเด่นที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของโครงการนี้คือตึกแฝดรูปแคน เครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของลาว มีการวางตำแหน่งคล้ายตึกแฝดปิโตรนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อสร้างเสร็จ ทั้ง 2 ตึกจะกลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศลาว โดยมีความสูงถึง 238.98 เมตร

วันที่ 30 มิถุนายน 2560 รัฐบาลลาวลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้ Guangdong Yellow River Industrial Group มาสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการนี้ ถัดมาอีก 1 ปี วันที่ 30 มิถุนายน 2561 รัฐบาลลาวเซ็นสัญญาให้สัมปทานแก่บริษัทร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน

วันที่ 6 ตุลาคม 2561 มีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มการก่อสร้างถนนคอนกรีตรอบเกาะดอนโขง ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 12 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ถนนสายนี้ใช้เวลาสร้าง 2 ปี 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดใช้ถนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 บริษัทร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนได้จัดกิจกรรมทางธุรกิจ 2 รายการด้วยกัน

ช่วงเช้า ซื่อเหลี่ยง (XU LIANG) หัวหน้าแผนกก่อสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ได้แถลงข่าวความคืบหน้าการก่อสร้างตึกแฝดรูปแคนที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเขตเศรษฐกิจใหม่แห่งนี้ โดยระบุว่าจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างทั้ง 2 อาคาร หลังสิ้นสุดฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

เขาบอกว่า บริษัทร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลลาว ได้เริ่มการสำรวจทางธรณีวิทยาและบินสำรวจทางอากาศ เพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารแฝดทั้ง 2 หลัง โดยได้ใช้เวลาสำรวจมาแล้ว 45 วัน และคาดว่าการสำรวจจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจึงจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์

การสำรวจพื้นที่ก่อนเริ่มต้นก่อสร้างตึกแฝดรูปแคน ที่มาภาพ: เพจ Four Thousand Islands

หัวหน้าแผนกก่อสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน กล่าวว่า เมื่อสร้างเสร็จ ตึกแฝดรูปแคนจะสูงถึง 238.98 เมตร เป็นอาคารที่สูงที่สุดใน สปป.ลาว และจะเปิดเป็นโรงแรมให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่จะมาจากทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียน

จุดเด่นของตึกแฝดคู่นี้ คือจุดชมวิวที่อยู่ชั้นบนสุดของอาคาร ซึ่งเมื่อขึ้นไปแล้ว สามารถมองเห็นสถานที่สำคัญต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งวิวแม่น้ำโขง และน้ำตกคอนพะเพ็ง ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร รวมถึงบริเวณที่เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างลาวกับกัมพูชา ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร

ช่วงบ่าย เป็นพิธีเริ่มต้นก่อสร้างโครงการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าหนองนกเขียน ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน กับบริษัทจำปาอาเซียน การค้า

คลังและศูนย์กระจายสินค้าหนองนกเขียน อยู่ห่างจากชายแดนลาว-กัมพูชา 3 กิโลเมตร ใช้พื้นที่รวม 120,000 ตารางเมตร ในนี้ 22,000 ตารางเมตรจะใช้สร้างเป็นคลังสินค้า ห้องเย็น อาคารสำนักงาน ห้องทำงานของฝ่ายศุลกากร ฯลฯ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้ว คลังและศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างลาวและกัมพูชา กับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ที่สำคัญ เป็นการยกระดับการให้บริการโลจิสติกส์บนเส้นทางการค้าระหว่าง จีน ลาว และกัมพูชา ในอนาคต

……

คาราวานบิ๊กไบค์จากอินโดนิเซีย ที่เดินทางข้ามจากกัมพูชาเข้าลาวผ่านด่านสากลหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่มาภาพ: เพจ Media Laos

เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 วันเดียวกับที่บริษัทร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน จัดแถลงข่าวและจัดพิธีเริ่มต้นก่อสร้างคลังและศูนย์กระจายสินค้าหนองนกเขียน ด่านสากลหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน ได้ต้อนรับคาราวานบิ๊กไบก์กลุ่มใหญ่ ประมาณ 40 คัน ที่เดินทางมาจากประเทศอินโดนีเซีย

การเดินทางของคาราวานบิ๊กไบก์กลุ่มนี้ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างลาวและอินโดนีเซีย ที่จะมาถึงในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 และเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับลาวด้วยอีกทางหนึ่ง

คณะบิ๊กไบก์กว่า 40 คัน เริ่มออกเดินทางจากอินโดนีเซีย ผ่านมาเลเซีย ไทย กัมพูชา เข้าสู่ลาวผ่านด่านสากลหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 จากนั้นขับขึ้นไปนอนค้างที่แขวงคำม่วน 1 คืน ก่อนเดินทางต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565

คาราวานบิ๊กไบก์คณะนี้ น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่กลุ่มแรก ที่ใช้ช่องทางหนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน

ก่อนหน้านั้น ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2565 ตัวแทนจากสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชา(Combodia Logistics Association — CLA) ได้เดินทางมายังลาว เพื่อสำรวจช่องทางการเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างกัมพูชา ผ่านลาว ไปยังจีน โดยทางรถไฟ

Sin Chanthy ประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชา กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า การขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟระหว่าวจีนกับกัมพูชา จะใช้เวลาเพียง 4-5 วัน ซึ่งน้อยกว่ามากหากเทียบกับการขนส่งทางเรือ ที่ต้องใช้เวลาถึง 10-15 วัน

ข่าวตัวแทนสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชา เดินทางมาสำรวจเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีน-ลาว-กัมพูชา โดยทางรถไฟ ซึ่งเว็บไซต์ข่าว The Star นำเสนอไว้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565

อย่างไรก็ตาม เส้นทางโลจิสติกส์สายนี้ต้องขึ้นอยู่กับลาวว่า มีแผนจะสร้างเส้นทางรถไฟต่อจากนครหลวงเวียงจันทน์ ลงมาถึงชายแดนลาว-กัมพูชาเมื่อใด…

10 ปีที่แล้ว มีคนไทยไม่มากนักที่รู้จักด่านสากลบ่อเต็น ที่อยู่เหนือสุดของลาวที่แขวงหลวงน้ำทา แต่ทุกวันนี้ คนส่วนมากต่างคุ้นชินกับชื่อด่านชายแดนแห่งนี้ เพราะเป็นปลายทางเส้นทางรถไฟลาว-จีน

ในวันนี้ ด่านสากล “หนองนกเขียน-ตราเบียงเกรียน” อาจยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ช่องทางชายแดนระหว่างลาว-กัมพูชาแห่งนี้ กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • “เมืองโขง” เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน อีก 1 ดินแดน “จีน” ตรงข้าม “กัมพูชา”
  • วิสัยทัศน์ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ของลาว