ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ถ้าเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ถูกเรียกให้เป็นดินแดนจีนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามไทยและรัฐฉาน เพราะเป็นที่ตั้งของ “เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ” แล้ว
อีกไม่กี่ปีนับแต่นี้ เมืองโขง แขวงจำปาสัก ในภาคใต้ของลาว ไม่พ้นที่ต้องถูกขนานนามให้เป็นดินแดนจีนที่อยู่ตรงข้ามประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน
“เมืองโขง” เป็นที่ตั้ง “เขตเศรฐกิจใหม่สีทันดอน” หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งก่อนหน้านี้ คือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดอน”
เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัทกวางตุ้งแม่น้ำเหลืองอุตสาหกรรม(Guangdong Yellow River Industrial Group) จากมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในนามบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นบนพื้นที่ 9,846 เฮคตา หรือประมาณ 61,537.5 ไร่(6.25 ไร่ = 1 เฮคตา) ใช้เงินลงทุนรวม 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุสัมปทาน 50 ปี
จากขนาดของวงเงินลงทุน เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนใช้เงินและใช้พื้นที่มากกว่าโครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่ลงทุน 6,800 ล้านดอลลาร์ ใช้พื้นที่ 3,058 เฮคต้า(19,112.5 ไร่) หรือเขตพัฒนากวมลวมไชเชดถา ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ใช้พื้นที่ 1,149 เฮคตา(7,181.25 ไร่) ใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์เสียอีก
…
เมืองโขงเป็นบ้านเกิดของ คำไต สีพันดอน แกนนำต่อสู้ปฏิวัติลาวรุ่นแรก อดีตนายกรัฐมนตรี(2534-2541) และประธานประเทศ สปป.ลาว(2541-2549)
ข้อมูลล่าสุดจากสำนักข่าวสารประเทศลาวเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เมืองโขงมีประชากรรวม 99,000 คน แบ่งเป็น 16,000 ครอบครัว จาก 114 บ้าน(พื้นที่ปกครองในระดับใกล้เคียงกับตำบล) ในจำนวนนี้ เป็นครอบครัวที่พ้นระดับความทุกข์ยากแล้ว 15,000 ครอบครัว หรือ 95.04% เป็นบ้านที่พ้นระดับความทุกข์ยากแล้ว 103 บ้าน หรือ 90.35% และเป็นบ้านพัฒนาที่ประชาชนอยู่ดีกินดี 10 บ้าน
เมื่อครั้งที่ สอนไซ สีพันดอน ลูกชายของลุงคำไต สีพันดอน ได้ขึ้นเป็นเจ้าแขวงจำปาสัก เมื่อปี 2549 เขาเคยประกาศอย่างหนักแน่นว่าจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในแขวงจำปาสัก พ้นระดับความยากจนให้ได้ภายในปี 2558 ตามเป้าหมายที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ตั้งไว้
สอนไซเกิดในเดือนมกราคม 2509 เขาได้ขึ้นเป็นเจ้าแขวงจำปาสักด้วยวัยเพียง 40 ปี สร้างสถิติเป็นเจ้าแขวงที่อายุน้อยที่สุดของลาว ปัจจุบัน สอนไซ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน
…
“…จากเมืองจำปาสัก เมืองปากเซ แยกเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 13 เพื่อลงใต้มายังเมืองโขงราว 130 กิโลเมตร การเดินทางบนถนนสายนี้กลายเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนต้องการเข้ามาจับจองสร้างฐานธุรกิจทางการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา
ที่คอนพะเพง รัฐบาลลาวมีแผนการสร้างสะพานความยาวประมาณ 2 กิโลเมตรเชื่อมสองฝั่งโขงที่บริเวณคอนพะเพง รับแผนพัฒนากับเวียดนามและกัมพูชา และต่อยอดทางหลวงสายใหม่ที่จีนสร้างเชื่อมเมืองคุนหมิงกับกรุงพนมเปญโดยผ่านลาว ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล คาดว่าจะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น ไทย จีน อเมริกัน เกาหลี รู้ข่าวเข้าจองพื้นที่ทั้งโรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ กาสิโนและสถานบริการท่องเที่ยวครบวงจร รวมทั้งสร้างสนามบินอีกแห่งหนึ่ง แม้แต่ “คำไต สีพันดอน” อดีตประธานประเทศลาวที่มีเกสต์เฮาส์และสนามกอล์ฟของตนเองที่บ้านเกิดนี้ด้วย นอกจากนี้ยัง มีการสร้างเกสต์เฮ้าส์และโรงแรมเล็กๆ ทั้งที่สร้างแบบง่ายๆ และหรูหราตามริมโขง และตามเกาะแก่งต่างๆมากมาย จนอาจจะจินตนาการถึงวังเวียงที่เปลี่ยนแปลงไปจนน่าตกใจ
เมืองโขงอยู่ติดต่อกับสตึงแตรง(Stung Treng) หรือที่เคยเรียกว่าเมืองเชียงแตง เมื่อคราวอยู่ภายใต้การปกครองของจำปาสักก่อนยุคสมัยของการเป็นอาณานิคม เพื่อเชื่อมเข้ากับทางหลวงเลข 7 ของกัมพูชา ช่วงจังหวัดกระแจ๊ะ(Kratie)กับสตึงแตรง ที่รัฐบาลจีนช่วยกัมพูชาสร้าง ตั้งแต่ปี 2545 เมืองโขงแห่งนี้คือที่ตั้งของมหานทีสี่พันดอน หรือบางที่เคยเรียกว่า “สีทันดร” เกาะกลางลำน้ำโขงที่มีจำนวนมากที่สุด บริเวณแม่น้ำโขงจุดนี้มีสภาพภูมิศาสตร์มีเกาะแก่งตามแม่น้ำโขงมากมาย ลำน้ำโขงแยกย่อยหลายสาย มีตาดคอนพะเพง ซึ่งเป็นแก่งหินขนาดใหญ่กั้นกลางแม่น้ำโขง และน้ำตกหลี่ผีหรือตาดโสมพะมิต ที่เกิดจากแม่น้ำโขงยุบตัวลงราว 15-20 เมตร ทำให้น้ำไหลตกลงมาเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกราก ชื่อหลี่ผีมาจากคำว่าหลี่ คือเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งคล้ายลอบ และผีก็คือศพคนตายที่ไหลตามน้ำ และถูกพัดพามาติดหลี่จับปลาของชาวบ้านที่มีอยู่มากมายบริเวณนี้
เกาะแก่งเหล่านี้ขนาดมหึมาทำให้เกิดการปะทะของสายน้ำกับแก่งหินกลายเป็นพลังน้ำยิ่งใหญ่ ฝอยฟุ้งน้ำสีขาวและดูสวยงามและเกรี้ยวกราด เกาะกลางน้ำโขงที่ใหญ่ที่สุดคือ “ดอนโขง” ส่วนกว้างที่สุดวัดได้ 6 กิโลเมตร ยาวราวๆ 12 กิโลเมตร มีถนนรอบเกาะระยะทางประมาณ ๓๕ กิโลเมตร…”
(ส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “ดอนคอน” ในสี่พันดอนแห่งแม่น้ำโขง เรียบเรียงโดยวลัยลักษณ์ ทรงสิริ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ )
…
พ.ศ.2558 รัฐบาลลาวอนุมัติแผนพัฒนาพื้นที่คอนพะเพ็งและบริเวณโดยรอบที่เรียกว่า “สีพันดอน” เพื่อสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ “สีพันดอน” มีความหมายถึงพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยเกาะแก่งใหญ่น้อย 4,000 แห่ง บริเวณชายแดนลาว-กัมพูชา
ช่วงแรกมีนักลงทุนจากหลายประเทศ ทั้งจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ฯลฯ แสดงความสนใจในโครงการนี้
30 มิถุนายน 2560 รัฐบาลลาวได้เซ็น MOU ให้ Guangdong Yellow River Industrial Group เป็นผู้สำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาและวางรูปแบบโครงการ
1 ปีถัดมา(30 มิ.ย.2561) สุพัน แก้วมีไช รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ในขณะนั้น เป็นตัวแทนรัฐบาลลาวเซ็นสัญญาให้สัมปทานแก่บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เป็นผู้พัฒนาสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนขึ้น
พิธีเซ็นสัญญาสัมปทานจัดที่โรงแรมแลนด์มาร์ค ริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์ ตัวแทนผู้รับสัมปทานที่ร่วมเซ็นสัญญา ได้แก่ เฉิง กวงฟาย ประธานบริษัทลาวมหานทีสีทันดอน(ฮ่องกง) และลาตี สีสุพันนะวง ประธานบริษัทแอลทีวี ก่อสร้างขัวทางและชลประทาน ผู้รับเหมาก่อสร้าง
สอนไช สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปร่วมในพิธีด้วยในฐานะสักขีพยาน
บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทลาวมหานทีสีทันดอน(ฮ่องกง) ที่ถือหุ้นโดย Guangdong Yellow River Industrial Group กับบริษัทแอลทีวี ก่อสร้างขัวทางและชลประทาน
หลังพิธีเซ็นสัญญาสัมปทาน โครงการนี้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เพราะตามแผนผัง ต้องมีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ 3 แห่ง ที่ถูกออกแบบตามเอกลักษณ์ของความเป็นลาว
2 อาคารแรก เป็นตึกสูงรูปทรงแคนลาว สร้างคู่กันคล้ายตึกแฝดปิโตรนาส ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อีก 1 อาคารหนึ่งอยู่ห่างไปเล็กน้อย ออกแบบเป็นรูปทรงกระติ๊บข้าวเหนียว(ดูภาพประกอบ)
บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เปิดเผยในวันเซ็นสัญญารับสัมปทานว่า วงเงินลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นการลงทุนของบริษัท 1,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อีก 7,700 ล้านดอลลาร์ จะเชิญชวนนักลงทุนรายย่อยให้มาร่วมลงทุน
เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนจะพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับรองรับการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากการท่องเที่ยว ภายในจะสร้างโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ สนามกอล์ฟ สวนสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าปลอดภาษี รวมถึงสนามบินฯลฯ
6 ตุลาคม 2561 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นก่อสร้างถนนคอนกรีตรอบเกาะดอนโขง ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 12 ล้านดอลลาร์ เป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากบริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน
สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี ได้มาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์
การก่อสร้างใช้เวลา 2 ปี 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ และได้มีพิธีเปิดใช้ถนนสายนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานตีฆ้องแสดงสัญลักษณ์การเริ่มเปิดใช้ถนน ร่วมด้วยวิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก
คำพู สิดทิสัก เจ้าเมืองโขง กล่าวถึงรายละเอียดของถนนสายนี้ว่า บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง ตลอดเส้นทางมีสะพาน 3 แห่ง สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว 1 แห่ง อีก 2 แห่ง จะสร้างเสร็จปีหน้า
ลาตี สีสุพันนะวง ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธาน บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “เศรษฐกิจ-สังคม” ว่า ถนนสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ระยะที่ 1 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2568
ในโครงการระยะที่ 1 ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนรวม 600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5,500 พันล้านกีบ นอกจากถนนรอบเกาะดอนโขง ระยะทาง 43.5 กิโลเมตร แล้ว ยังมีการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงสร้างโรงแรมสีทันดอน คอนติเนชั่นแนล ซึ่งประกอบด้วยอาคารห้องพัก 2 อาคาร จำนวนห้องพัก 68 ห้อง วิลลาส่วนตัว 6 หลัง ห้องสปา 6 ห้อง อาคารบริหารอีก 1 อาคาร และสร้างรีสอร์ทคอนพะเพ็ง ที่เป็นลักษณะวิลล่าสำหรับพักอาศัย 21 หลัง
สำหรับโครงการระยะต่อไป จะมีการสร้างเขตพักอาศัย โรงพยาบาลชุมชนขนาด 100 เตียง สนามกอล์ฟ พนังกั้นน้ำ และสนามบิน
รองประธาน บริษัทร่วมพัฒนาสีทันดอน เชื่อว่า เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และยกระดับการท่องเที่ยวของแขวงจำปาสักให้ดีขึ้น
…
เพจ Land Information Working Group มีรายงานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยอ้างข้อมูลจากแผนแม่บท “เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดอน” ว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายในยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง(Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน
โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้ของลาว แต่จะเป็นของทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างให้เป็นปลายทางด้านการท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เป็นศูนย์กลางการประชุม และการจัดเทศกาลระดับสูงของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากโรงแรมและอาคารต่างๆแล้ว เขตเศรษฐกิจแห่งนี้ยังจะมีการสร้างระบบคมนาคม เช่น สนามบิน ทางรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน ทางหลวงอีกด้วย
จากข้อมูลเบื้องต้น ประชาชนมากกว่า 150 ครอบครัวในเมืองโขง จะได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดอน แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
…
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 จำนวน 164 คน และเพิ่งมีการประกาศผลการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา
สภาแห่งชาติชุดใหม่ ได้กำหนดวันประชุมครั้งปฐมฤกษ์ในวันจันทร์ที่ 22 มีนาคมนี้
ในการประชุม จะมีการเลือกผู้ที่จะเป็นประธานสภาแห่งชาติ จากนั้น จะมีการรับรองตำแหน่งบริหารของประเทศ ได้แก่ ประธานประเทศ นายกรัฐมนตรี ประธานศาลประชาชนสูงสุดฯลฯ ที่ต้องทำหน้าที่ต่อไปอีก 5 ปี
“สอนไซ สีพันดอน” เป็นผู้ที่คนลาวส่วนใหญ่เชื่อว่า ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมนี้ เขาจะถูกเสนอชื่อให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ถัดจากทองลุน สีสุดลิด ที่จะขยับขึ้นเป็นประธานประเทศ สปป.ลาว