ThaiPublica > สู่อาเซียน > “กระชับ” สายอำนาจรัฐบาลลาว เป้าหมายเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

“กระชับ” สายอำนาจรัฐบาลลาว เป้าหมายเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

12 กุมภาพันธ์ 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พันคำ วิพาวัน (กลาง) นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นสักขีพยานในพิธีมอบ-รับ ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ระหว่างสอนไซ สีพันดอน (ขวา) กับคำเจน วงโพสี (ซ้าย) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565

4 กุมภาพันธ์ 2565 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้เป็นสักขีพยานในพิธีมอบ-รับหน้าที่ รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ระหว่างสอนไซ สีพันดอน อดีตรัฐมนตรี กับคำเจน วงโพสี เจ้ากระทรวงคนใหม่

ก่อนหน้านี้ สอนไซนั่งควบ 2 ตำแหน่ง เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ตำแหน่งในรัฐบาลของสอนไซเหลือเพียงรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจเพียงตำแหน่งเดียว

ในพิธีมอบ-รับตำแหน่ง อดีตรัฐมนตรีสอนไซได้กล่าวถึงการทำงานกว่า 2 ปีในกระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 8 (2559-2563) กับครั้งที่ 9 (2564-2568) ว่า ได้ปรับปรุงกลไกการทำงานให้กะทัดรัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับแผนการลงทุนของรัฐ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจ

เขาบอกว่า ช่วงดำรงตำแหน่ง สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศได้มากกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียง, ทางรถไฟลาว-จีน, ศูนย์โลจิสติกส์และท่าบกท่านาแล้ง, โครงการเมืองทันสมัยที่นาเตย แขวงหลวงน้ำทา และในแขวงอุดมไซ, โครงการมหานทีสีทันดอน ฯลฯ

ส่วนรัฐมนตรีใหม่ คำเจน วงโพสี กล่าวว่า จะสืบต่อและขยายผลสำเร็จต่างๆ ที่อดีตรัฐมนตรีสอนไซได้ทำไว้

ขณะที่นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน กล่าวชื่นชมผลงานของอดีตรัฐมนตรีสอนไซและรัฐกรทุกคน ที่ต่างก็ช่วยกันทำงานด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีพันคำได้กำชับว่า เมื่อเปลี่ยนตัวเจ้ากระทรวงคนใหม่แล้ว ทั้งรัฐมนตรีและรัฐกรทุกคน ต้องยึดมั่นต่อดำรัสเลขที่ 636/นย. ที่กำหนดบทบาทและภารกิจของกระทรวงแผนการและการลงทุนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ กำหนดทิศทางและรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจน ปรับปรุงกลไกการลงทุนของรัฐ แก้ไขภาระหนี้สินอันเกิดจากโครงการลงทุนของรัฐ และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว

สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน
……

กระทรวงแผนการและการลงทุน เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทผสมผสานกันระหว่างงานด้านวิชาการ กับการวางยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ

เปรียบกับในประเทศไทย หน่วยงานนี้เป็นเหมือนการนำ “สภาพัฒน์” (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) มาผสมรวมเข้ากันกับ “บีโอไอ” (สำนักงานคณะกรรมกาส่งเสริมการลงทุน)

กระทรวงแผนการและการลงทุน จึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และการวางแผนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของลาว

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Vientiane Times ภาคภาษาลาว เสนอข่าว มีใจความว่า…

“คณะรัฐบาลชุดที่ 9 ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน เริ่มปรับยุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ในการทำงานของบางกระทรวง โดยสลับหน้าที่รัฐมนตรีให้เหมาะสมกับเนื้องานที่แท้จริง หรือเหมาะสมกับงานเฉพาะด้าน เพื่อนำพากระทรวง กรม กอง และแขนงอื่นๆ ให้มีการพัฒนาขึ้น หรือมีผลสำเร็จทีละก้าว”

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน ได้กล่าวต่อที่ประชุมสรุปการทำงานของแขนงแผนการและการลงทุน และแขนงการเงิน ประจำปี 2564 และทิศทางการทำงานปี 2565 มีใจความสำคัญบางตอนว่า…

“การรั่วไหลของงบประมาณในแขนงการต่างๆ ของรัฐ ถือว่ายังมีอยู่หลายจุดซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น จึงอยากให้แขนงแผนการและการลงทุนและแขนงการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมกลไกต่างๆ ให้โปร่งใส อุดการรั่วไหลของงบประมาณ

ให้ผู้นำกระทรวงแผนการและการลงทุน เพิ่มความเข้มข้นในการให้การศึกษา อบรมการเมือง-แนวคิด แก่รัฐกรและพนักงาน ให้มีความจงรักภักดี มีจรรยาบรรณ รักวิชาชีพ มีความอดทด เสียสละ มีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ให้เป็นเจ้าภาพประสานหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขยายผลวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน ให้เป็นรูปธรรม ใช้ทุกนโยบายและมาตรการเพื่อควบคุมพื้นฐานของเศรษฐกิจมหภาคให้มีเสถียรภาพ ลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจลงทีละก้าว เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวต่อเนื่องได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ให้เอาใจใส่ ปฏิบัติมาตรการเฝ้าระวัง สกัดกั้น ควบคุม และค้นคว้าหาทางแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของลาว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง

สรรหามาตรการเร่งด่วนในการควบคุมภาพรวมด้านการเงินและเงินตรา เพื่อสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการ

ปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ระบบการลงทุนของรัฐ จัดลำดับความสำคัญโดยให้เน้นโครงการที่จำเป็นและเร่งด่วน ไล่เรียงทุกโครงการลงทุนให้มีประสิทธิผล มีผลตอบแทนสูง สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว

ปรับปรุงแนวทางส่งเสริมและควบคุมการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศ เร่งสร้างกระบวนการทำงานแบบประตูเดียว (one stop service) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด”

……

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 สอนไซ สีพันดอน เมื่อครั้งยังควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ได้รายงานต่อที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ของสภาแห่งชาติลาวชุดที่ 9 ถึงการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม, แผนงบประมาณแห่งรัฐประจำปี 2564 และแผนงานประจำปีมีใจความว่า…

“ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของลาวคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% ต่ำกว่าความคาดหมายที่สภาแห่งชาติเคยให้การรับรองไว้ที่ 4% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค และการระบาดของโควิด-19

  • รายได้ต่อหัวของประชากรลาวขณะนี้ อยู่ที่ 2,649 ดอลลาร์
  • ภาคการเกษตรขยายตัว 2.5% คิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของยอดรวมผลิตภัณฑ์ภายใน
  • ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.9% คิดเป็นสัดส่วน 33.3% ของยอดรวมผลิตภัณฑ์ภายใน
  • ภาคบริการขยายตัว 1.2% คิดเป็นสัดส่วน 39.1% ของยอดรวมผลิตภัณฑ์ภายใน
  • รายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้น 2.8% คิดเป็นสัดส่วน 10.4% ของยอดรวมผลิตภัณฑ์ภายใน

ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจลาวขยายตัว ได้แก่ ภาคการก่อสร้าง การสื่อสาร ไฟฟ้า ค้าปลีก การซ่อมแซมยานพาหนะฯลฯ”

ในการประชุมครั้งเดียวกันนั้น บุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน กล่าวต่อที่ประชุมว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติ 5 ปี ครั้งที่ 9 และแผนงบประมาณแห่งรัฐ 5 ปี จากปี 2564-2568 เป็นแผนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ลาวต้องพบกับการระบาดของโควิด-19 มีการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ทำให้ธุรกิจ ห้างร้านหลายแห่ง ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ…

ต่อมา ในต้นเดือนมกราคม 2565 ภูเขาคำ วันนะวงไซ หัวหน้ากรมภาษี กระทรวงการเงิน ได้รายงานต่อที่ประชุมสรุปการทำงานด้านการควบคุมและต้านการรั่วไหลของรายรับในงบประมาณแห่งรัฐ ประจำปี 2564 ว่า ในปี 2564 กรมภาษีสามารถจัดเก็บรายได้คิดเป็นเงิน 6,982 พันล้านกีบ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 85.15% ของเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าต้องเก็บได้ 8,200 พันล้านกีบ

คำเจน วงโพสี เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2563

……

หลังรัฐบาลชุดที่ 9 ของลาว ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน เริ่มต้นการทำงานเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 ต้องพบกับอุปสรรคหลากหลายประการ ที่ต่างประเดประดังเข้ามาท้าทายรัฐบาลชุดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ

แบ็กกราวด์ของนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน มาจากภาคการศึกษา ไม่ใช่ภาคธุรกิจ ในเดือนมิถุนายน 2564 ได้มีการตั้งคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งผู้บริหารจากภาคเอกชน 7 คน ที่ได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจทั้งในลาวและต่างประเทศ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีพันคำ

  • เปิดชื่อ 7 นักธุรกิจชั้นนำลาว ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี
  • แต่ปมหนึ่งที่อาจเป็นคอขวดในการแก้ปัญหาคือเรื่องสายการบังคับบัญชา โดยเฉพาะตัวของสอนไซ สีพันดอน ซึ่งต้องแบกรับภาระหนักเพราะนั่งควบ 2 ตำแหน่ง เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน อาจทำให้ความคล่องตัวในการจี้สั่งงานลดน้อยลง

    จึงน่าเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีพันคำต้องตัดสินใจปรับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เพื่อกระชับสายการบังคับบัญชาให้เข้ามาใกล้กับตัวนายกรัฐมนตรีมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

    ……

    ระบบการปกครองของลาว มีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเพียงพรรคเดียว โดยรัฐบาล และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในรัฐมนตรี รวมถึงเจ้าแขวงต่างๆ ต้องผ่านการคัดเลือกจากกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค มีการกำหนดคุณสมบัติคร่าวๆ ของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง เช่น

    • ทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรค ที่ได้รับการยอมรับจนถูกเลือกเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการศูนย์กลางพรรค
    • ถ้าเป็นรัฐกร ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ จนได้รับการส่งเสริมให้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน
    • ถ้าไม่ใช่รัฐกร ต้องมีประสพการการทำงานในองค์กรมหาชนที่พรรครับรอง เช่น ศูนย์กลางซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว, สหพันธ์แม่หญิงลาว, สหพันธ์กรรมบาลลาว ฯลฯ
    • ตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งเจ้าแขวง เป็นตำแหน่งบริหารที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า มีการสลับตัวบุคคลระหว่างผู้ที่เป็นรัฐมนตรีกับเจ้าแขวงเกิดขึ้นเสมอ

    รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลลาวนับแต่อดีต หลายคนเคยผ่านการเป็นเจ้าแขวงมาก่อน เช่น นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน เคยเป็นเจ้าแขวงหัวพัน

    แม้แต่ 2 รัฐมนตรีในกระทรวงแผนการและการลงทุน ที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนใหม่ ก็เคยผ่านการเป็นเจ้าแขวง…

    “สอนไซ สีพันดอน” เป็นบุตรชายของคำไต สีพันดอน แกนนำต่อสู้ปฏิวัติลาวรุ่นแรก อดีตนายกรัฐมนตรี (2534-2541) และประธานประเทศลาว (2541-2549)

    สอนไซเป็นอดีตเจ้าแขวงจำปาสักที่มีอายุน้อยที่สุด และเคยถูกมองจากบุคคลภายนอกว่าเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 สมัย

    สอนไซดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุนต่อเนื่องมาแล้ว 2 รัฐบาล

    ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด (2559-2563) สอนไซเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียวในช่วงแรก โดยมีสุพัน แก้วมีไซ อดีตเจ้าแขวงสะหวันนะเขต เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน

    หลังจากสุพันเกษียณออกไปกินบำนาญเมื่อกลางปี 2562 สอนไซถูกแต่งตั้งเข้ามาแทน ทำให้เขาต้องควบ 2 ตำแหน่ง ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน

    ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน สอนไซได้นั่งควบ 2 ตำแหน่ง ตั้งแต่รัฐบาลเริ่มทำงานเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด

    การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เปิดโอกาสให้สอนไซ สามารถทำงานด้านภาพรวมได้อย่างเต็มที่ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพียงตำแหน่งเดียว…

    “คำเจน วงโพสี” เคยเป็นเจ้าแขวงผ้งสาลีอยู่หลายปี ก่อนถูกย้ายเข้ามาทำงานให้กับพรรคเมื่อปี 2562

    ผ้งสาลีเป็นแขวงที่ตั้งอยู่เหนือสุดของลาว อยู่บริเวณสามเหลี่ยมชายแดน 3 ประเทศ โดยมีพื้นที่ติดกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา และจังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ของจีน กับจังหวัดเดี่ยนเบียน ของเวียดนาม

    13 กันยายน 2562 คำเจนถูกย้ายจากเจ้าแขวงผ้งสาลี เข้ามาเป็นรองหัวหน้าคณะโฆษณาอบรม ศูนย์กลางพรรค

    30 ตุลาคม 2563 คำเจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด และยังดำรงทั้ง 2 ตำแหน่งต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน

    ทั้ง 2 ตำแหน่งในรัฐบาล ทำให้คำเจนเป็นผู้ที่มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีของลาวแล้ว 2 คน…

    อาลุนไซ สูนนะลาด อดีตเลขาคณะบริหารงานศูนย์กลาง ซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรี

    สำหรับผู้ที่มาแทนคำเจน วงโพสี ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ “อาลุนไซ สูนนะลาด”

    อาลุนไซถือเป็นเลือดใหม่ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เขาเป็นเลขาฯ คณะบริหารงานศูนย์กลาง ซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว…

    พิธีมอบ-รับ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าห้องว่าการ สำนักงานนายกรัฐมนตรี ระหว่างคำเจน วงโพสี (ขวา) กับอาลุนไซ สูนนะลาด (ซ้าย) โดยมีกิแก้ว ไขคำพิทูน รองนายกรัฐมนตรี (กลาง) เป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

    ทั้งสอนไซ สีพันดอน คำเจน วงโพสี และอาลุนไซ สูนนะลาด ล้วนมีตำแหน่งเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว