ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวเดินหน้าแก้วิกฤติ ดึงดอลลาร์ที่ถูก “กักตุน” ไว้ กลับคืนสู่ระบบ

ลาวเดินหน้าแก้วิกฤติ ดึงดอลลาร์ที่ถูก “กักตุน” ไว้ กลับคืนสู่ระบบ

25 มกราคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2566 ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หรือแบงก์ชาติลาว ได้มีหนังสือแจ้งการฉบับที่ 01/ทหล. เรื่อง “ยุติการอนุญาตดำเนินธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราของร้านแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์”

เนื้อหาในหนังสือแจ้งการฉบับนี้ อ้างอิงข้อตกลงว่าด้วยบริการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับที่ 1026/ทหล. ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในลาวเท่านั้น จึงสามารถให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนิติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน…

1. ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จึงยุติการอนุญาตให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของร้านแลกเงินที่มีอยู่ทั่วประเทศ 113 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในลาว 6 แห่ง

2. ให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง หยุดการต่อสัญญาและยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับร้านแลกเงินทั้ง 113 แห่ง, ปิดบัญชีเงินฝากที่ออกในนามของร้านแลกเงินทั้ง 113 แห่ง และนำเอกสารหลักฐานการยกเลิกสัญญาเป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่แต่ละธนาคารทำกับร้านแลกเงินทั้ง 113 แห่ง รวมถึงหนังสืออนุญาตทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของร้านแลกเงินทั้ง 113 ร้าน ส่งคืนไปยังกรมนโยบายเงินตรา ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ภายในวันที่ 31 มกราคม 2566

3. ธนาคารพาณิชย์แห่งใดที่ต้องการจัดตั้งหน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของตนเอง ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงว่าด้วยบริการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับที่ 1026/ทหล. ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565…

เงื่อนไขการตั้งหน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามมาตราที่ 8 ของข้อตกลงว่าด้วยบริการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับที่ 1026/ทหล.

ตามมาตราที่ 8 ของข้อตกลงว่าด้วยบริการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับที่ 1026/ทหล. กำหนดเงื่อนไขการตั้งหน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไว้ดังนี้

1. เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ, ธนาคารพาณิชย์ที่รัฐร่วมทุน และธนาคารพาณิชย์เอกชน

2. มีระเบียบการควบคุมหน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตราที่สอดคล้องกับระเบียบการซึ่งกำหนดไว้ในมาตราที่ 7 ข้อที่ 1 ของข้อตกลงฉบับนี้…

เนื้อหาในข้อตกลงว่าด้วยบริการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับที่ 1026/ทหล. มาตราที่ 7 ข้อที่ 1 ระบุว่า“มีระเบียบการเกี่ยวกับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราที่สอดคล้องกับระเบียบการที่เกี่ยวข้อง, มีการบริหารความเสี่ยงด้านการตลาด และมีมาตรการปกป้องผู้ใช้บริการการเงิน”

3. มีหน่วยงานหรือบุคลากรเฉพาะ ที่จะมาควบคุมหน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตรา

4. มีระบบการรายงานข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน การซื้อ และ/หรือ ขาย เงินตราต่างประเทศ ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างธนาคารพาณิชย์และหน่วยแลกเปลี่ยนเงินตรา และรับประกันการรายงานข้อมูลให้แก่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว อย่างเป็นปกติตามระเบียบการ

5. มีการจัดฝึกอบรม และเผยแพร่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้หน่วยงานแลกเปลี่ยนเงินตรา สองครั้งต่อปี

……

ลาวเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าเป็นส่วนใหญ่ เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท จึงเป็นสกุลเงินที่มีความต้องการและมีการใช้มากในลาว

หลายปีมาแล้วที่การค้าขายในลาว ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป สามารถใช้เงินบาทซื้อขายได้ ไม่ว่าเป็นพื้นที่ชายแดน เมืองใหญ่ๆ หรือแม้แต่ในนครหลวงเวียงจันทน์

แต่หากเป็นสินค้าราคาสูง สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือรถยนต์ ทั้งหมดตั้งราคาและซื้อขายกันด้วยเงินสกุลดอลลาร์

แม้รัฐบาล โดยทั้งกระทรวงการเงินและธนาคารแห่ง สปป.ลาว พยายามรณรงค์ให้ทั่วประเทศใช้เงินกีบ แต่คนลาวจำนวนมากก็ยังนิยม และสะดวกใจในการใช้เงินบาท และโดยเฉพาะเงินดอลลาร์กันอยู่

การเปิดรับเงินลงทุนจากต่างประเทศและการท่องเที่ยว จึงเป็น 2 ช่องทางหลัก ที่จะได้มีเงินดอลลาร์ไหลเข้าไปในลาว

อย่างไรก็ตาม หลังเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ลาวจำเป็นต้องปิดประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินในลาว เพราะทำให้รายได้ที่เป็นเงินดอลลาร์จำนวนมากซึ่งเคยได้รับมาจากนักท่องเที่ยว ต้องหายไป

บริษัท ห้างร้าน กิจการที่มีการติดต่อกับต่างประเทศหลายแห่ง บุคคลหลายคน โดยเฉพาะบุคคลชั้นสูงในวงสังคม จึงจำเป็นต้องกักตุนเงินดอลลาร์ไว้กับมือให้มากที่สุด เพื่อความคล่องตัวในการค้าขาย ซื้อสินค้า หรือใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองธุรกิจ รวมถึงเพื่อแสดงสถานะ

เงินดอลลาร์ที่มีจำกัดอยู่แล้วในลาว จึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า เป็นที่ต้องการ และกดค่าเงินกีบให้ตกต่ำลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

เชื่อกันว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ข้อมูลที่แท้จริงว่าปริมาณเงินดอลลาร์ที่มีอยู่ในลาวนั้น มีเป็นจำนวนเท่าใด และจุดนี้เอง ที่เป็นต้นเหตุหลักของวิกฤติการเงินที่ลาวต้องเผชิญมาตลอดหลายปี จนมีหลายช่วงที่ในประเทศ ได้เกิดภาวะขาดแคลนเงินดอลลาร์ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือเหตุการณ์ในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 ที่บริษัทผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของลาวไม่มีเงินดอลลาร์เพียงพอสำหรับซื้อน้ำมันเข้ามาจากต่างประเทศ จนกลายเป็นวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงขาดตลาด ปั๊มน้ำมันหลายแห่งต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเพราะไม่มีน้ำมันขาย ผู้ใช้รถต้องไปต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมันในปั๊มที่ยังพอมีน้ำมันเหลืออยู่ จนเกิดเป็นภาพความโกลาหลตามหน้าปั๊มน้ำมันหลายแห่งทั่วประเทศมาแล้ว

วาลี เวดสะพง สมาชิกสภาแห่งชาติ เขตเลือกตั้งที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า

หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเงินในลาวเชื่อว่า สถานการณ์เงินดอลลาร์ขาดตลาด เพราะมีเงินดอลลาร์จำนวนมากที่ถูกกักตุนไว้นอกระบบ และหน่วยงานของรัฐไม่มีข้อมูล หรือเคยบันทึกข้อมูลปริมาณเงินดอลลาร์เหล่านี้เอาไว้เลย!!!

“ยกตัวอย่าง นักลงทุนต่างประเทศนำเงินตราเข้ามามหาศาล จดแจ้งเท่านี้ แต่เมื่อไปตรวจพบจริง มีมากกว่า 4 เท่า ตามที่รองผู้ว่าฯ ได้รายงานอยู่ในที่สัมมนา เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราตรวจพบ เราก็ไม่รู้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน อันนี้มันแสดงถึงความอ่อนแอของการควบคุมเงินตราต่างประเทศของพวกเรา เพราะว่าแขนงการนี้ มันคือหนึ่งในเสาค้ำหลักของเศรษฐกิจมหภาค เพราะฉะนั้นตัวนี้ ถ้าเราไม่จริงใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย พวกเราก็ยังจะตกอยู่ในสภาพนี้ต่อไป การควบคุมเงินตราของพวกเรานี่ ก็จะอ่อนแอมาก

สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแต่ธนาคารกลางผู้เดียว ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทั้งหมด พอเวลาที่เอาเงินเข้ามา บรรดาโครงการใหญ่ๆ โรงไฟฟ้า เหมืองต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามา แล้วมันไปไหน มีแต่บอกว่ามันไม่เข้าไปในระบบ มันไปไหน เรารู้อยู่ มันไม่เข้าระบบ มันผิดกฎหมายควบคุมเงินตรา แต่เราก็ไม่ทำอะไร อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่อยากถามต่อว่า เราจะแก้ไขแนวใด มาตรการตรงนี้จะจริงจังแนวใด ถ้าพวกเราจริงจังแก้ไขแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเราจะไม่ตกอยู่ในสภาพเหมือนทุกวันนี้

ฉะนั้น ระบบ ความผิดพลาด หละหลวมที่ผ่านมานี่ ถ้าเราไม่จริงใจแก้จริงจังแล้วนี่ จะมีมาตรการใดมา ก็แก้ไขไม่ได้เลย”

เป็นส่วนหนึ่งในคำอภิปรายอย่างดุเดือดของ “วาลี เวดสะพง” สมาชิกสภาแห่งชาติ จากเขตเลือกตั้งที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 3 สภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565

……

บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีน ภาคภาษาลาว

ตามเนื้อหาของหนังสือแจ้งการ ฉบับที่ 01/ทหล. ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ดูเหมือนมีเป้าหมายที่ต้องการจัดระเบียบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในลาว โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่สามารถให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราได้

เพราะหลังมีการยกเลิกร้านแลกเงิน 113 แห่ง ที่เคยตั้งอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว หรือศูนย์กลางธุรกิจต่างๆ ไปทั้งหมดแล้วนั้น ผู้ที่ต้องการแลกเงินตราต่างประเทศในลาว ต้องทำรายการกับธนาคารพาณิชย์ หรือบูธแลกเงินของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งต้องมีการรายงานข้อมูลธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต่อธนาคารแห่ง สปป.ลาว

แต่ในอีกนัยหนึ่ง หนังสือแจ้งการฉบับนี้ คือกลไกเพื่อใช้ดูดเงินดอลลาร์ซึ่งกระจัดกระจายอยู่นอกระบบ ให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลมีโอกาสรวบรวมข้อมูลและประเมินปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดเงินลาวได้ว่า แท้จริงแล้วมีอยู่ประมาณเท่าใด

ความจริง ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้เริ่มเข้มงวดกับร้านรับแลกเงินอย่างจริงจังมาตั้งแต่ค่าเงินกีบเริ่มแสดงแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังปิดประเทศในปี 2563 เพราะเชื่อว่าร้านแลกเงินเป็นช่องทางหนึ่งที่มีส่วนทำให้เงินดอลลาร์จำนวนมาก ไหลออกไปอยู่นอกระบบ

การรณรงค์ให้ใช้เงินกีบในลาว ซึ่งทำมาหลายปี แต่คนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะบุคคลที่มีฐานะทางสังคม ยังคงนิยมตีมูลค่าทรัพย์สินของตนและซื้อขายกันเป็นเงินดอลลาร์

เดือนกรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว มีหนังสือแจ้งการ ฉบับที่ 758/กนง. กำหนดให้ร้านแลกเงินอิสระที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ต้องแปรสภาพเป็นร้านตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายเข้าไปกำกับดูแลธุรกรรมของร้านแลกเงินเหล่านี้

วันที่ 17 กันยายน 2564 ห้องการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว มีหนังสือแจ้งการ ฉบับที่ 175/หก. แจ้งรายชื่อร้านแลกเงินทั่วประเทศ 419 แห่ง ที่ได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนธนาคารสำเร็จแล้ว โดยมีธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ที่มีตัวแทนร้านแลกเงินอยู่ในเครือ ประกอบด้วย

1. ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว
2. ธนาคารพัฒนาลาว
3. ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม
4. ธนาคารร่วมพัฒนา
5. ธนาคารเอสที
6. ธนาคารบีไอซี ลาว
7. ธนาคารเวียดติน ลาว
8. ธนาคารร่วมธุรกิจลาวเวียด
9. ธนาคารมารูฮาน แจแปน ลาว

3 ใน 9 แห่งนี้ เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ คือ ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว, ธนาคารพัฒนาลาว และธนาคารส่งเสริมกสิกรรม

ต่อมา วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว มีหนังสือแจ้งการฉบับที่ 340/หก. ระบุว่า มีร้านแลกเงิน 306 แห่ง ได้ขอหยุดทำธุรกิจแบบถาวร จึงคงเหลือร้านแลกเงินทั่วประเทศลาวอยู่เพียง 113 แห่ง ซึ่งทั้งหมด เป็นของธนาคารพาณิชย์เอกชน 6 แห่ง ได้แก่

1. ธนาคารร่วมพัฒนา
2. ธนาคารเอสที
3. ธนาคารบีไอซี ลาว
4. ธนาคารเวียดติน ลาว
5. ธนาคารร่วมธุรกิจลาวเวียด
6. ธนาคารมารูฮาน แจแปน ลาว

แต่ล่าสุด จากข้อตกลงว่าด้วยบริการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับที่ 1026/ทหล. ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 และหนังสือแจ้งการฉบับที่ 01/ทหล. ลงวันที่ 13 มกราคม 2566 ร้านแลกเงินทั้ง 113 แห่ง ก็ถูกยุติกิจการไปทั้งหมดแล้วด้วยเช่นกัน

……

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว ณ วันที่ 9 มกราคม 2566

นอกจากการจัดระเบียบธุรกิจบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ยังพยายามหาเครื่องมือมาดึงดูดให้มีการคายเงินดอลลาร์บางส่วนที่ถูกกักตุนไว้ ให้กลับคืนเข้าสู่ระบบ

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 ก่อนออกหนังสือแจ้งการฉบับที่ 01/ทหล.ไม่กี่วัน ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เปิดขายพันธบัตรสกุลเงินกีบ งวดที่ 2 วงเงิน 1 ล้านล้านกีบ ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20%

การขายพันธบัตรลอตนี้ เป็นการดำเนินมาตรการต่อเนื่อง หลังจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว เคยออกพันธบัตรลักษณะเดียวกันลอตแรก มาขายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 แต่พันธบัตรลอตแรก มีวงเงินสูงกว่า คือ 5 ล้านล้านกีบ

พันธบัตรทั้ง 2 ลอต มีอายุ 6 เดือน ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยครั้งเดียว เมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน

ทั้ง 2 ลอตเป็นพันธบัตรอิเลคทรอนิคส์ ไม่มีใบพันธบัตร (Script less) ผู้ซื้อจะได้รับใบรับรองการถือครองพันธบัตร (BOL Bill Certificate) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายออกให้

กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ซื้อพันธบัตร เป็นบุคคล นิติบุคคล ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในลาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินที่รับฝากเงินในลาว จะไม่มีสิทธิ์ซื้อพันธบัตรนี้

โดยผู้ที่มีสิทธิสามารถซื้อพันธบัตรได้ในวงเงินต่ำสุด 100,000 กีบ บุคคลธรรมดาสามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 2 พันล้านกีบ ส่วนนิติบุคคลซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 ล้านกีบ

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้แต่งตั้งธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรลอตที่ 2 ประกอบด้วย ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว, ธนาคารพัฒนาลาว, ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม, ธนาคารร่วมธุรกิจลาว-เวียด, ธนาคารร่วมพัฒนา, ธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าจีน (ICBC) สาขานครหลวงเวียงจันทน์ และธนาคารบีไอซี ลาว

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ให้เหตุผลในการเปิดขายพันธบัตรทั้ง 2 ลอต ว่า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินของลาว

มีหลายคนมองว่า ธนาคารแห่ง สปป.ลาว คงคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปีที่ให้ หรือ 10% ที่จะได้รับจริงตามอายุของพันธบัตร 6 เดือน อาจดึงดูดให้มีบางคนยอมปล่อยดอลลาร์ที่ตุนไว้บางส่วน เพื่อแลกเป็นกีบ แล้วนำมาซื้อพันธบัตร

แต่จากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารการค้าต่างประเทศ ณ วันที่ 9 มกราคม 2566 ค่าเงินดอลลาร์ที่ธนาคารรับซื้ออยู่ที่ 17,010 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์ เทียบกับวงเงินพันธบัตรลอตที่ 2 ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เปิดขาย 1 ล้านล้านกีบ เท่ากับ 59 ล้านดอลลาร์ เป็นวงเงินที่อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์กระเตื้องขึ้นมาได้มากนัก

วิกฤติการเงินในลาว ยังเป็นปมที่ต้องรอการคลี่คลายต่อไป…

  • สัปดาห์แห่งความ“โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • การ “ปรับตัว” ที่กำลังเป็นรูปธรรมของ “ลาว” … “ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
  • “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”
  • ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”
  • “มรดกลาว-มรดกโลก” อีกหนึ่งแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ “ลาว”
  • ลาวตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวน” ในช่วงวิกฤติค่าเงินกีบ