ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
สถานการณ์น้ำมันขาดตลาด ที่คนลาวบางคนเรียกเป็นวิกฤติ “น้ำมันหมดประเทศ” และได้สร้างความโกลาหลให้กับปั๊มน้ำมันหลายแห่งทั่วประเทศลาวตลอด 2 สัปดาห์มานี้ แม้ตอนนี้ได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้วระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ คือการที่ “ลาว” ต้องมีการ “ปรับตัว” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดกา ร“พึ่งพา” ในหลายๆด้าน
ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากในช่วง 2 สัปดาห์แห่งความโกลาหล คือการผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในลาวกันอย่างจริงจัง
แต่จริงๆแล้วในระดับชาวบ้านซึ่งเป็นกำลังซื้อที่แท้จริงของลาว มีขอบข่ายการปรับตัวกว้างไปกว่านั้น!
……
16 พฤษภาคม 2565 บริษัทโลก้า ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นในลาว ได้ประกาศเป็นเป้าหมายว่าก่อนปี 2573 โลก้าจะเปลี่ยนแท็กซี่ในเครือข่ายทุกคันให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหมดทั้ง 100%
จากปัจจุบัน ในเครือข่ายแท็กซี่ของโลก้าที่มีรถอยู่ 600 คัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 5 คัน โดยเบื้องต้นโลก้าคาดว่า ถึงสิ้นปีนี้(2565) จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 30 คัน
โลก้าไม่ใช่เพิ่งมาปรับตัวเป็นผู้เล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของลาว แค่ในช่วงที่ลาวต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำมันขาดตลาด 2 สัปดาห์นี้ แต่โลก้าวางแผนมุ่งสู่การเป็นเครือข่ายแท็กซี่ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าล้วน 100% มาก่อนหน้านั้นแล้ว
วันที่ 7 เมษายน 2565 โลก้าได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ให้เป็นผู้ติดตั้งตู้ชาร์จไฟ และให้บริการชาร์จไฟแก่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ จากนั้นได้เริ่มสร้างสถานีชาร์จไฟแห่งแรกในนครหลวงเวียงจันทน์ และตั้งเป้าว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2565 ต้องมีสถานีชาร์จไฟของโลก้า 12 สถานี โดยเน้นตามเส้นทางหมายเลข 13 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของลาวที่เชื่อมตั้งแต่ภาคเหนือสุดลงไปถึงใต้สุด
ปี 2566 โลก้าวางเป้าว่าทั่วประเทศลาว จะมีสถานีชาร์จไฟของโลก้า 25 สถานี และเพิ่มเป็น 40 สถานีในปี 2568
ตู้ชาร์จไฟที่โลก้านำเข้ามา เป็นตู้ชาร์จกระแสตรง(DC) ซึ่งสามารถใช้ได้กับรถยนต์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ ใช้เวลาในการชาร์จไฟได้เต็มใน 20-40 นาที
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 โลก้าเซ็นสัญญาความร่วมมือทางการตลาดกับบริษัท ทิวารา โอโต้ ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายหนึ่งของลาว โดยลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากทิวารา โอโต้ สามารถชาร์จไฟได้ฟรีที่สถานีชาร์จของโลก้าทั่วประเทศ
การประกาศแนวทางธุรกิจใหม่ของโลก้า เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลลาวที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2564 ที่ต้องการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อจะได้ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ลาวสามารถผลิตได้เองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด และเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งลาวต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้ง 100% โดยรัฐบาลลาวได้ประกาศเปิดเสรีธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศแบบครบวงจร…
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 CRI-FM-93 เพจสถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีนภาคภาษาลาว รายงานว่า ลาวเริ่มนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากขึ้น โดยปัจจุบัน มีรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนเป็นผู้ผลิตวิ่งอยู่ในลาวประมาณ 150 คัน และมีจุดให้บริการแก่รถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ทั่วประเทศลาวประมาณ 50 จุด
CRI-FM-93 บอกว่า จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าหลังจากนี้ ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของคนลาวจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
……
การปรับตัว “อย่างจริงจัง” ของ “ลาว” มิได้มีแค่เรื่องของการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพียงอย่างเดียว
แต่ยังหมายรวมถึงการลดการพึ่งพิงสินค้าอื่นๆที่ลาวจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในลาวช่วงที่ผ่านมา ต้นเหตุสำคัญคือ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าทุกชนิด โดยเฉพาะสิ่งของที่คนจำเป็นต้องกิน ต้องใช้ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น
ค่าเงินกีบเริ่มเห็นแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ปี 2561 จากบาทละ 250 กีบ ค่อยๆขยับเป็น 270 , 280 และ 300 กีบ ล่าสุด เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ค่าเงินกีบได้อ่อนจนทะลุ 400 กีบต่อ 1 บาทลงไปแล้ว!
1-2 ปีก่อนโควิด-19 ระบาด คนไทยที่เคยไปเที่ยวลาว มักคิด rate ค่าเงินแบบตัวเลขกลมๆ คือ 1,000 กีบ เท่ากับ 4 บาท เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบกับเงินบาทขณะนั้น อยู่ระหว่างบาทละ 240-260 กีบ
หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ ต่อไปคนที่เข้าไปเที่ยวลาวหลังเปิดประเทศคงต้องได้คิด rate ค่าเงินใหม่ เป็น 2 บาท แลกได้ 1,000 กีบ!…
หนังสือพิมพ์ลาวโพสต์ มีรายงานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 หัวข้อ“สินค้าหลายรายการที่นำเข้าจากไทย จะปรับราคาสูงขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม”
เนื้อหาคร่าวๆเขียนว่า ปัญหาเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากประเทศไทย ที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าในไทยได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565
บทความได้ยกตัวอย่างการปรับราคาสินค้าบางชนิด เช่น แก๊สหุงต้ม ขึ้นถังละ15 บาท บะหมี่มาม่า ขึ้นซองละ 50 สตางค์ถึง 1 บาท ซ๊อสปรุงรส ขึ้นขวดละ 10% ผงซักฟอก ขึ้นถังละ 10% เครื่องดื่มชูกำลัง ขึ้นลังละ 10 บาท น้ำพริกเผา ขึ้น 15 บาท ต่อ 500 กรัม น้ำปลาร้า ขึ้นขวดละ 2 บาท กะปิ ขึ้นกระปุกละ 3 บาท น้ำมันพืช ขึ้นขวดละ 3 บาท
นอกจากนี้ ยังมีอาหารกระป๋อง นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ ปูน เหล็ก กระดาษ ยารักษาโรคฯลฯ ที่ล้วนปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคของลาว จำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ราคาแพงขึ้น…
การอ่อนค่าของเงินกีบ ทำให้ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคตามท้องตลาดในลาว ได้รับความสนใจจากสื่อและคนลาว สื่อมวลชนลาวหลายแห่งมีรายงานราคาสินค้าแต่ละชนิดออกมาเป็นระยะ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เพจหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ มีรายงานอัพเดทราคาสินค้าบางรายการ เช่น ปลากระป๋องตรา 3 แม่ครัว ซึ่งเป็นสินค้านำเข้า ราคาที่เพิ่งปรับใหม่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 เป็นกระป๋องละ 11,000 กีบ หรือแพ็คละ 90,000 กีบ บะหมี่สำเร็จรูปไวไว ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าเช่นกัน ราคาซองละ 2,500 กีบ หรือแพ็คละ 68,000 กีบ
วันเดียวกัน(19 พฤษภาคม) เพจ Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz รายงานข้อมูลการนำเข้าสินค้าของลาวในเดือนเมษายน 2565 โดยอันดับ 1 เป็นการนำเข้าจากประเทศไทย มูลค่า 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นจีน 157 ล้านดอลลาร์ เวียดนาม 47 ล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา 18 ล้านดอลลาร์ และอันดับ 5 ญี่ปุ่น 12 ล้านดอลลาร์…
สื่อหลายแห่งเริ่มเผยแพร่เนื้อหาที่กระตุ้นให้ลาวจำเป็นต้องผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคบางชนิดออกมาใช้เอง และกระตุ้นให้คนลาวเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้สินค้าที่ผลิตในลาว
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพจ Laonews ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน ได้โพสต์เชิญชวนให้ผู้อ่านเพจได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยเขียนส่งเข้าไปว่า “มีผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ลาวเราผลิตได้ เพื่อทดแทนการนำเข้า” มีผู้อ่านส่งความคิดเห็นเข้าไปมากกว่า 130 ความคิดเห็น
วันเดียวกัน(20 พฤษภาคม) เพจผลิตภัณฑ์ลาว Lao Products ซึ่งมีผู้ติดตาม 2.5 แสนคน โพสต์ว่า “แต่ละวันท่านใช้สินค้าลาวชนิดใดบ้าง…เปิดโพสต์ขายสินค้าลาวในช่องคอมเม้นท์(เฉพาะสินค้าลาว)”มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้าไปเกือบ 600 ความคิดเห็น และมีผู้แชร์โพสต์ต่อไปอีกมากกว่า 50 ครั้ง
……
ความต้องการ “ลด” การพึ่งพิงสินค้าจากต่างประเทศของลาว มิใช่เพิ่งมาเกิดในช่วงนี้ ที่จริงแล้วความรู้สึกว่าลาวจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ขึ้นใช้เอง ได้เริ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้ อย่างน้อย 3 ปีแล้ว
วันที่ 27 มิถุนายน 2562 เพจหนังสือพิมพ์ลาวโพสต์ที่มีผู้ติดตาม 2 แสนคน มีบทรายงานในหัวข้อ“ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
เนื้อหาในโพสต์นี้เขียนว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนเกือบถึง 30,000 กีบ ต่อ 100 บาท ซึ่งกรณีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนลาวหลายด้าน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภคที่นำเข้าจากไทยที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่สินค้าของลาวก็มีคุณภาพเทียบเท่ากับของต่างประเทศ ทำไมคนลาวไม่หันมาใช้สินค้าของคนลาว ที่ผลิตโดยคนลาว ดังสโลแกนที่ว่า “ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
ในโพสต์ ได้ยกตัวอย่างสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน 8 รายการ ซึ่งลาวสามารถผลิตได้เอง เปรียบเทียบราคาขายปลีกกับสินค้าที่นำเข้าจากไทย ซึ่งเป็นราคา ณ ขณะนั้น ได้แก่
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ได้เสนอข่าวบทสัมภาษณ์สมจิด อินทะมิด รองรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม(ขณะนั้น) บอกว่า รัฐบาลลาวได้ตั้งคณะเฉพาะกิจเพื่อส่งเสริมการผลิตและใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภค หลังจากเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผล กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
คณะเฉพาะกิจชุดนี้ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย รองรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง…
ส่วนความเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น เพจหนังสือพิมพ์บ่อแก้วมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 คำแยง คอนไซยะกิด เจ้าเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้นำทีมงานเข้าเยี่ยมชมกิจการของเวียงไซ-ทองดี แสงวาลี สองสามี-ภรรยา ที่บ้านน้ำเกิ่งเก่า
ครอบครัวของเวียงไซและทองดี สามารถปลูกพืชผัก ปศุสัตว์ และเลี้ยงปลา ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากพอสำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดในท้องถิ่น ตามแนวทางส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ ถือเป็นครอบครัวเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถปฏิบัติได้ ตามหนังสือแจ้งการของสำนักว่าการเมืองต้นผึ้ง เลขที่ 083 เรื่องการระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาจากประเทศ “เพื่อนบ้าน” เป็นการชั่วคราว เนื่องจากเกษตรกรในเมืองต้นผึ้งเอง สามารถเลี้ยงปลาเพื่อตอบสนองความต้องการภายในพื้นที่ได้อย่างพอเพียง
ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งใกล้ที่สุดในการนำเข้าปลาของเมืองต้นผึ้ง คือประเทศไทย
……
ความตื่นตัวของสื่อและประชาชนลาว ที่ต้องการลดการพึ่งพาสินค้าจำเป็นซึ่งเคยต้องนำเข้าจากประเทศไทย ไม่ใช่เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตามกระแส หรือมาตรการชั่วคราวแบบไฟไหม้ฟาง ที่เมื่อวิกฤติคลี่คลาย ก็ยกเลิก
แต่เป็นการปรับตัวที่บ่มตัวมานาน จนเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้ การปรับตัวนี้เล็งถึงผลระยะยาว เพื่อหวังให้ลาวไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติแบบที่กำลังเจออยู่ในตอนนี้อีกในอนาคต…