ThaiPublica > สู่อาเซียน > ข้อมูลจำเพาะล่าสุด ของ “รถไฟลาว-จีน”

ข้อมูลจำเพาะล่าสุด ของ “รถไฟลาว-จีน”

20 ตุลาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

รถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J ขบวนแรก เดินทางมาถึงดินแดนลาว ในตอนเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ CRI-FM93

หลังมีการรับ-มอบ “ล้านช้าง” รถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารขบวนแรกของทางรถไฟลาวจีนเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถไฟขบวนนี้ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างหลากหลายในลาวและประเทศไทย

ข้อมูลที่ถูกพูดถึงมาก คืออัตราค่าโดยสาร สื่อออนไลน์ในลาวหลายแหล่งต่างคำนวณกันออกมาอย่างละเอียดว่าแต่ละสถานี คิดค่าตั๋วกันอย่างไร จากนั้นเพจข่าวในไทยก็ได้นำมาเผยแพร่ต่อ

อย่างไรก็ตาม จนถึง ณ วันพุธที่ 20 ตุลาคม เพจข่าวทางการของลาวทุกแห่งต่างออกมายืนยันว่า เรื่องค่าโดยสารรถไฟลาว-จีนยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน มีเพียงข้อกำหนดเบื้องต้นที่สำนักข่าวสารประเทศลาวเผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม ว่าระหว่างรถไฟขบวนรับ-ส่งผู้โดยสารกับขบวนขนส่งสินค้า คำนวณค่าโดยสารกันเช่นไร

เนื้อหาถัดจากนี้ เป็นข้อมูล “จำเพาะ” ของรถไฟลาว-จีน ซึ่งรวบรวมจากสื่อทางการของลาว ที่ได้มีการเผยแพร่ออกมาล่าสุด
……

เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ ที่คนลาวต่างตื่นตัวต้อนรับการมาถึงของรถไฟขบวน “ล้านช้าง” รถไฟขนส่งผู้โดยสารขบวนแรกของบริษัททางรถไฟลาว-จีน

ขบวนรถไฟ “ล้านช้าง” ได้ลอดอุโมงค์มิตรภาพข้ามชายแดนจากฝั่งจีน ที่เมืองบ่อหาน สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน มายังสถานีรถไฟบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ฝั่งลาว ในตอนเช้าของวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564

จากนั้น ช่วงบ่ายแก่ๆวันเดียวกัน เวลาประมาณ 16.30 น. รถไฟขบวนนี้ก็เคลื่อนตัวออกจากสถานีบ่อเต็น วิ่งลงมาตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน แวะพักตามสถานีรายทาง เพื่อปรากฏโฉมให้ประชาชนได้ชื่นชม ถ่ายภาพ ถ่ายคลิป ก่อนวิ่งมาถึงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ในตอนค่ำ

พิธีรับ-มอบ รถไฟขบวน“ล้านช้าง” ที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ในเช้าวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ CRI-FM93

พิธีรับมอบขบวนรถไฟ “ล้านช้าง” อย่างเป็นทางการ ถูกจัดขึ้นในตอนเช้าวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564 มี เวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เจียง จ้ายติง เอกอัคราชทูตจีนประจำลาว เซี่ยว เซียนเหวิน ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัททางรถไฟลาว-จีน รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

รถไฟขบวน “ล้านช้าง” เป็นรถไฟ Fuxing EMU รุ่น CR200J คำว่า EMU(Electric Mutiple Unit) หมายถึงรถรางไฟฟ้าที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ต้องใช้หัวรถจักรสำหรับลากขบวนรถ ส่วน Fuxing หมายถึงรถไฟขบวนนี้ใช้เทคโนโลยีรถไฟฟูซิ่งห่าวของจีน ซึ่งเหมาะสมกับสภาพเส้นทางในลาว

“ล้านช้าง” เป็นรถไฟความเร็ว “ปานกลาง” ทำความเร็วได้ 160-210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผลิตโดยบริษัทหุ้นส่วนรถไฟซื่อฝ่ายชิงเต่าและบริษัทรถไฟต้าเลี่ยน ซึ่งทั้งสองบริษัท ขึ้นกับบริษัทรถไฟแห่งชาติจีน

ทั้งขบวน “ล้านช้าง” มี 9 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้รวม 720 ที่นั่ง ประกอบด้วยหัวรถจักร 1 ตู้ ถัดมาเป็นตู้โดยสารชั้น 1 รองรับผู้โดยสารได้ 56 ที่นั่ง ต่อด้วยตู้เสบียง 1 ตู้ ที่เหลืออีก 6 ตู้ เป็นตู้โดยสารชั้น 2 รองรับผู้โดยสารได้ 662 ที่นั่ง และมีที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิการอีก 2 ที่นั่ง เฉพาะตู้โดยสารกว้าง 3.10 เมตร สูง 4.43 เมตร

เดือนเมษายน 2563 บริษัททางรถไฟลาว-จีนได้สั่งซื้อรถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J จากบริษัทรถไฟแห่งชาติจีน 2 ขบวน มูลค่ารวม 100 ล้านหยวน หรือ 127,000 ล้านกีบ หรือประมาณ 14.2 ล้านดอลลาร์

ภายในตู้เสบียง ตู้โดยสารชั้น 1 และ 2 รวมถึงห้องน้ำ ของขบวนรถไฟรับ-ส่ง ผู้โดยสาร“ล้านช้าง” ที่มาภาพ : บริษัททางรถไฟลาว-จีน

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 สำนักงานนายกรัฐมนตรี ลาว มีหนังสือแจ้งการ เลขที่ 1292/หสนย. ระบุว่า นายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน เห็นชอบการตั้งชื่อรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารทั้ง 2 ขบวน ตามจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของลาว โดยขบวนแรกใช้ชื่อขบวน “ล้านช้าง” และขบวนที่สองใช้ชื่อว่าขบวน “แคนลาว”

สีที่ถูกทาไว้ภายนอกหัวรถจักรและตู้โดยสารของทั้งขบวน“ล้านช้าง” และ“แคนลาว” มี 3 สี ยึดตามสีบนธงชาติลาว ได้แก่ สีแดง สีฟ้า และสีขาว

  • สีแดงหมายถึงเลือดเนื้อของนักรบปฏิวัติลาว
  • สีฟ้าหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
  • สีขาวหมายถึงความสามัคคีของคนลาว ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งเป็นดั่งดวงเดือน ตรงใจกลางธงชาติ

นอกจาก Fuxing EMU รุ่น CR200J ที่ใช้รับ-ส่งผู้โดยสารแล้ว บริษัทรถไฟลาว-จีน ยังมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ซึ่งใช้หัวรถจักรรุ่น HXD3CA(Harmony Power 3C) ซึ่งเป็นรุ่นที่กำลังได้รับความนิยมใช้งานอยู่ในจีนมากที่สุดรุ่นหนึ่งในขณะนี้ โดยรถไฟขนส่งสินค้าสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่กำลังไฟฟ้า 7,200 กิโลวัตต์

หัวรถจักร HXD3CA สำหรับใช้ลากรถไฟขบวนขนส่งสินค้า เคลื่อนตัวผ่านอุโมงค์มิตรภาพจากฝั่งจีน ข้ามชายแดนมายังฝั่งลาว เมื่อเย็นวันพุธที่ 13 ตุลาคม ที่มาภาพ : บริษัททางรถไฟลาว-จีน

เย็นวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2564 หัวรถจักร HXD3CA ได้เคลื่อนตัวลอดผ่านอุโมงค์มิตรภาพ ข้ามชายแดนจากจีนเข้าสู่ดินแดนลาว และวิ่งลงมาถึงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ก่อนหน้าขบวนรถไฟรับ-ส่งผู้โดยสาร CR200J ที่ตามลงมาถึงในเย็นวันศุกร์

เส้นทางรถไฟลาว-จีน ยาว 422.44 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 33 แห่ง เป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารที่อยู่รวมกับสถานีขนส่งสินค้าในที่เดียวกัน 11 แห่ง ประกอบด้วย

  • สถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้
  • สถานีนครหลวงเวียงจันทน์
  • สถานีโพนโฮง
  • สถานีวังเวียง
  • สถานีกาสี
  • สถานีหลวงพระบาง
  • สถานีเมืองงา
  • สถานีเมืองไซ
  • สถานีนาหม้อ
  • สถานีนาเตย
  • สถานีบ่อเต็น

ในนี้เป็นสถานีหลัก 5 แห่ง คือนครหลวงเวียงจันทน์ , วังเวียง , หลวงพระบาง , นาเตย และบ่อเต็น

ที่เหลือเป็นสถานีขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว 21 แห่ง และมีสถานีขนส่งสินค้าเฉพาะอีก 1 แห่งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์

ขบวนรถไฟลาว-จีน สามารถรองรับน้ำหนักการขนส่งได้ถึง 3,000 ตัน ในระยะเริ่มต้น และในอนาคตสามารถพัฒนาขึ้นไปให้รับน้ำหนักได้ถึง 4,000 ตัน

ทางรถไฟลาว-จีน กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เพื่อร่วมฉลองวันชาติครบรอบ 46 ปีของการสถาปนา สปป.ลาว โดยในช่วงแรก มีสถานีที่จะเปิดให้บริการก่อน 21 แห่ง ส่วนอีก 12 สถานี จะเปิดให้บริการในระยะถัดไป

ลักษณะภูมิประเทศตลอดเส้นทางรถไฟยาว 422.44 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางราบ ได้แก่ช่วงจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังสถานีวังเวียง รถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารสามารถวิ่งทำความเร็วได้สูงสุดถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ช่วงต่อมาจากสถานีวังเวียงขึ้นไปถึงสถานีบ่อเต็น เป็นเส้นทางบนเทือกเขาสูงชัน รถไฟรับ-ส่งผู้โดยสารวิ่งได้ด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนรถไฟขนส่งสินค้าวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง

ตลอดระยะทาง 422.44 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางรถไฟพาดผ่าน มีลักษณะเฉพาะประกอบด้วย

  • มีจุดหลีกและสลับรางทั้งหมด 284 แห่ง
  • มีรัศมีโค้งต่ำสุด 2,000 เมตรบนพื้นที่ลาดชัน และ 1,600 เมตร ช่วงทางราบ
  • ความลาดชันสูงสุด 1.2% ในเขตทางราบ และ 2.4% ในเขตที่เป็นเทือกเขา
  • สร้างเป็นทางรถไฟยกระดับยาว 179.59 กิโลเมตร หรือ 41.10% ของระยะทางทั้งหมด ที่เหลือเป็นการวางรางบนพื้นราบ
  • มีการสร้างสะพานข้ามหุบเหวและแม่น้ำทั้งหมด 170 แห่ง ความยาวเฉพาะตัวสะพานรวม 69.20 กิโลเมตร หรือ 15.80% ของทางทั้งหมด ในนี้รวมสะพานข้ามแม่น้ำโขง 2 แห่ง ที่อยู่ในแขวงหลวงพระบาง
  • มีการสร้างเป็นท่อลอดถนน 567 แห่ง ยาวรวม 21.60 กิโลเมตร และเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา 72 แห่ง ความยาวเฉพาะในอุโมงค์รวม 183.90 กิโลเมตร หรือ 43.07% ของระยะทางรวม มีอุโมงค์ที่ยาวเกิน 7 กิโลเมตร 7 แห่ง อุโมงค์ที่ยาวที่สุด ยาว 9.50 กิโลเมตร
  • ในนี้ ไม่รวมอุโมงค์มิตรภาพลอดข้ามชายแดน ซึ่งยาว 9.68 กิโลเมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อหาน สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ฝั่งจีน ลอดทะลุภูเขามาออกยังเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ในฝั่งลาว เส้นทางในอุโมงค์อยู่ทางฝั่งจีน 7.17 กิโลเมตร และฝั่งลาว 2.51 กิโลเมตร
  • ภายในอุโมงค์มิตรภาพ ยาว 9.68 กิโลเมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อหาน ฝั่งจีน ปลายอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อเต็น ฝั่งลาว ที่มาภาพ : บริษัททางรถไฟลาว-จีน

    รถไฟลาว-จีน มีทั้งสิ้น 18 ขบวน แบ่งเป็นขบวนรับ-ส่งผู้โดยสาร 4 ขบวน(ได้รับการตั้งชื่อแล้ว 2 ขบวน) และขบวนขนส่งสินค้าอีก 14 ขบวน

    การจัดสรรและควบคุมการเดินรถ ขบวนรับ-ส่งผู้โดยสารส่วนใหญ่จะวิ่งในเวลากลางวัน ส่วนขบวนขนส่งสินค้าจะวิ่งในเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม ในการจัดสรรการเดินรถจริงหลังเปิดให้บริการ จะยึดตามจำนวนผู้โดยสาร และปริมาณสินค้าที่ขนส่งในแต่ละช่วง

    การออกแบบเที่ยวการเดินรถ ไป-กลับ อิงตามจำนวนสถานีที่เปิดให้บริการในแต่ละระยะ โดยระยะแรกที่มีสถานีเปิดให้บริการ 21 แห่ง สามารถออกแบบจำนวนเที่ยวเดินรถที่ให้บริการได้สูงสุด 23 เที่ยวต่อวัน หลังจากนั้น เมื่อมีสถานีเปิดให้บริการครบ 33 แห่ง จะมีเที่ยวเดินรถที่เปิดให้บริการได้สูงสุดถึง 39 เที่ยวต่อวัน

    อัตราค่าโดยสารสำหรับขบวนรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ตู้โดยสารชั้น 2 กำหนดไว้ที่ 0.3 หยวน ต่อคน ต่อ 1 กิโลเมตร หรือ 350 กีบ ต่อคน ต่อ 1 กิโลเมตรคิดเป็นเงินบาทตกประมาณ 1 บาท ต่อคน ต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อรวมค่าโดยสารตั้งแต่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ถึงสถานีบ่อเต็น จะอยู่ที่ 140,000 กีบ หรือประมาณ 400 บาท เปรียบเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ จะถูกกว่าถึง 1 เท่าตัว และใช้เวลาเดินทางสั้นกว่าถึง 20 ชั่วโมง

    ส่วนอัตราค่าขนส่งสินค้า กำหนดไว้ที่ 0.5 หยวน ต่อตันต่อ 1 กิโลเมตร หรือ 600 กีบต่อตัน ต่อ 1 กิโลเมตร ถูกกว่าการขนส่งโดยรถยนต์ 2 เท่าตัว แต่ใช้เวลาสั้นกว่าถึง 45 ชั่วโมง

    วันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 AEROLAOS เพจซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการคมนาคมและการบิน ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในลาว มีผู้ติดตาม 1.46 แสนคน ได้คำนวณระยะทางจากพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 9 แห่ง โดยไม่ได้รวมสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ และสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้

    ระยะทางคร่าวๆ จากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงสถานีต่างๆ มีดังนี้

  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีโพนโฮง(แขวงเวียงจันทน์) 65 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีวังเวียง(แขวงเวียงจันทน์) 125 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีกาสี(แขวงเวียงจันทน์) 168 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีหลวงพระบาง(แขวงหลวงพระบาง) 238 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีเมืองงา(แขวงอุดมไซ) 293 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีเมืองไซ(แขวงอุดมไซ) 339 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีนาหม้อ(แขวงอุดมไซ) 375 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีนาเตย(แขวงหลวงน้ำทา) 393 กิโลเมตร
  • นครหลวงเวียงจันทน์-สถานีบ่อเต็น(แขวงหลวงน้ำทา) 400 กิโลเมตร
  • ……

    กว่า 1 สัปดาห์ที่คนลาวล้วนตื่นตัวต้อนรับการมาถึงของรถไฟขบวน “ล้านช้าง” รถไฟขนส่งผู้โดยสารขบวนแรกของบริษัททางรถไฟลาว-จีน

    นับแต่กำหนดการมาถึงของขบวนรถไฟถูกเผยแพร่ออกมา สื่อหลายแห่งในลาว ต่างนำเสนอเรื่องราวตำนานคำสาปของพระยาศรีโคตรบอง ที่ท่านได้ลั่นวาจาไว้ก่อนสิ้นชีวิตจากการถูกลอบปลงพระชนม์

    ตามตำนาน พระยาศรีโคตรบองได้กล่าวว่า ดินแดนลาวจะพบกับความเจริญได้เพียงช่วงสั้นๆ ชั่ว “ช้างพับหู งูแลบลิ้น” เท่านั้น

    แต่คำสาปนี้จะหมดสิ้นไป หากปรากฏ 3 สิ่งขึ้นในดินแดนลาว จากนั้น ลาวจึงจะได้พบกับความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง

    3 สิ่งที่ว่า ได้แก่ “หินฟู งูใหญ่ ช้างเผือก”

    “หินฟู” คือก้อนหินที่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ คนลาวเชื่อว่า ได้แก่สะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาสำเร็จแล้วหลายแห่ง เฉพาะที่เป็นสะพานมิตรภาพที่ข้ามจากไทยไปลาว ก็มีแล้ว 4 แห่ง และกำลังสร้างแห่งที่ 5 ที่บึงกาฬ-บอลิคำไซ

    “งูใหญ่” ก็คือรถไฟ ที่กำลังจะเริ่มวิ่งให้บริการในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้…

    อ้างอิงข้อมูล :
    เพจสำนักข่าวสารประเทศลาว
    เฟซบุ๊ก สุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
    เพจ AEROLAOS