ThaiPublica > สู่อาเซียน > ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”

ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”

2 กันยายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ภาพมุมสูงจากเพจ “คนมักเที่ยว – Life is journey” เห็นความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่เดินจับจ่ายสินค้าในงานตลาดนัด “โละลาด” บนถนนกลางเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ชมภาพเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/LifeisJourney.LA

“การท่องเที่ยว” ดูเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะเหล่าประเทศภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยความหลากหลายของธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

ล่าสุด สปป.ลาว ที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินมาหลายเดือน จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ค่าเงินกีบที่ตกต่ำลงอย่างรุนแรง ก็เลือกแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และจาก “ประเทศเพื่อนบ้าน”

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ลาวใช้ “ความใหม่” ของรถไฟลาว-จีน การอ่อนค่าของเงินกีบ วัฒนธรรม-ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง” เป็นแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ “คนไทย”

ภาพความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่เดินจับจ่ายเต็มพื้นที่ถนนกลางเมืองในงานตลาดนัด “โละลาด” ภาพกองเชียร์ในการแข่งขันเจ็ตสกี และเรือยาว เต็ม 2 ฝั่งแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งบอกได้ว่า การเลือกแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวของลาวได้ผลตอบรับกลับมา “ดี” พอสมควร

……

ลาวกลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน 2565 หลังต้องปิดยาวมากว่า 2 ปี จากการระบาดของโควิด-19

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ห้องว่าการแขวงหลวงพระบาง มีหนังสือแจ้งการเลขที่ 563/หวข.หลบ. แจ้งมติที่ประชุมคณะประจำพรรคประชาชนปฏิวัติลาวแขวงหลวงพระบาง ประจำเดือน 5/2022 เรื่องการจัดงานบุญประเพณีห่อข้าวประดับดิน และการแข่งเรือยาวเดือน 9 มีรายละเอียดดังนี้

1. เห็นชอบให้เตรียมจัดงานบุญห่อข้าวประดับดินตามประเพณี และกิจกรรมประกอบในงานบุญนี้อย่างเต็มรูปแบบ เหมือนที่เคยจัดมาก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

2. เห็นชอบให้มีการจัดงานตลาดนัด “โละลาด” บนถนนใจกลางเมือง

3. เห็นชอบให้มีการจัดแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำคาน

4. โฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้แขกทั้งภายในและต่างประเทศรับรู้ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว สร้างรายรับให้แก่ประชาชน

5. การจัดงานบุญดังกล่าว ต้องรับประกันความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ความสงบ และความปลอดภัยภายในสังคม

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 เพจ “นครหลวงพระบาง” เสนอภาพการตักบาตรข้าวเหนียว ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เด่นของหลวงพระบาง ซึ่งเพิ่งเริ่มกลับมาจัดใหม่อีกครั้ง หลังต้องหยุดไปนานในช่วงปิดประเทศ

นักท่องเที่ยวร่วมประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวอันเป็นเอกลักษณ์ของหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 กว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มาจากประเทศไทย ที่มาภาพ: เพจ “นครหลวงพระบาง”

คำบรรยายเขียนเนื้อหาไว้น่าสนใจว่า…

…บรรยากาศตอนเช้าวันที่ 25/06/2022 ตามเส้นทางหลวงหน้าวัดสีบุนเรือง วัดสีมงคล วัดสิบ วัดแสน โรงเรียนหลวง มีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยมาใส่บาตรพระสงฆ์ สามเณร เป็นจำนวนมาก หลังจากลาวเราเปิดประเทศ แขวงหลวงพระบางก็เริ่มมีแขก โดยเฉพาะแขกจากพี่น้องเมืองไทย เดินทางมาโดยรถไฟลาว-จีน จากนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่ง 40-50% เป็นผู้โดยสารจากประเทศไทย ทำให้หลวงพระบางมีความครึกครื้น รวมถึงเมืองวังเวียง หนองเขียว เมืองงอบ ก็ครึกครื้นขึ้นกว่าเดิม

แต่คนเมืองหลวงพระบางเรา ก็ต้องเป็นเจ้าภาพในการปกปักรักษาฮีตคองประเพณี แนะนำแขก นักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามฮีตคองประเพณีของลาวเรา เช่น เวลาใส่บาตร ห้ามสวมรองเท้า ห้ามถืออาวุธ ถอดหมวก และสำรวม ผู้หญิงต้องนั่งพื้น หรือม้านั่งต่ำๆ นุ่งซิ่นหรือกระโปรงยาว (แต่งกายสุภาพ ไม่เซ็กซี่เกินควร) ใส่ผ้าเบี่ยงขวา…เพราะนักท่องเที่ยวบางคนก็ไม่รู้จักฮีตคองของบ้านเรา ดังนั้น พวกเราจึงต้องเป็นเจ้าภาพ บอกแขกทั้งหลายให้รู้จัก จึงจะทำให้วิถีชีวิตของบ้านเมืองเรายั่งยืนนานตลอดไป…

หลังลาวเปิดประเทศ ภาพความคึกคักที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือจำนวนผู้โดยสารรถไฟลาว-จีนที่เพิ่มสูงขึ้น

วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 บริษัทรถไฟลาว-จีน ประกาศเพิ่มเที่ยวรถที่วิ่งให้บริการระหว่างสถานีนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 อีกวันละ 1 เที่ยว (ไป-กลับ) ระบุว่า…

…บริษัทรถไฟลาว-จีน คำนึงถึงความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้มีรถไฟเพียงพอในการขนส่งผู้โดยสารภายใน และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวลาว ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 พวกเราจึงได้เปิดให้บริการรถไฟขนส่งผู้โดยสาร EMU ขบวนที่ C92/1 โดย

รถไฟ EMU ขบวน C92 ออกจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 08.30 น. ถึงสถานีหลวงพระบาง เวลา 10.20 น.

รถไฟ EMU ขบวน C91 ออกจากสถานีหลวงพระบาง เวลา 10.50 น. ถึงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 13.05 น….

ตามปกติ การเดินทางโดยรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังหลวงพระบาง มีรถไฟ EMU ขบวนที่ C84/3 วิ่งให้บริการอยู่แล้ว วันละ 1 เที่ยว โดยขบวนที่ C84 ออกจากนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 15.05 น. ถึงหลวงพระบาง เวลา 17.10 น. และขบวนที่ C83 ออกจากหลวงพระบาง เวลา 18.20 น. ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 20.13 น.

นอกจากนี้ ยังมีรถไฟ EMU ขบวนที่ C82/1 วิ่งระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น โดยแวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีหลวงพระบางด้วย อีกวันละ 1 เที่ยว โดยขบวนที่ C82 ออกจากนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 07.30 น. ถึงหลวงพระบาง เวลา 09.23 น. และเที่ยวกลับ ขบวนที่ 81 ออกจากบ่อเต็น เวลา 12.15 น. แวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่หลวงพระบาง เวลา 13.45 น. ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 15.45 น.

รวมถึงมีรถไฟธรรมดา ขบวนที่ K12/11 วิ่งระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น อีกวันละ 1 เที่ยว โดยขบวนนที่ K12 ออกจากนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 08.00 น. ถึงหลวงพระบาง เวลา 10.43 น. และเที่ยวกลับ ขบวนที่ K11 ออกจากบ่อเต็น เวลา 14.00 น. แวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่หลวงพระบาง เวลา 15.10 น. ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 19.10 น.

ก่อนหน้านั้น บริษัทรถไฟลาว-จีน เคยต้องเพิ่มขบวนรถในเส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง มาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงบุญปีใหม่ลาวหรือเทศกาลสงกรานต์ ที่เพิ่งอนุญาตให้มีการเล่นน้ำกันได้ใหม่อีกครั้งในปีนี้

ผู้ที่นั่งรถไฟไปเที่ยวหลวงพระบางช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่เป็นคนลาว กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในลาวอยู่แล้วอีกส่วนหนึ่ง เพราะในตอนนั้นลาวยังไม่เปิดประเทศ

การเพิ่มขบวนรถช่วงวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 จึงเป็นการเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะ ตามแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลลาว

หลังจากวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 บริษัทรถไฟลาว-จีน ยังมีการเพิ่มเที่ยวรถเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางในเส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบางที่สูงขึ้นอีก 3 ครั้ง ได้แก่

  • ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฏาคม 2565 ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดยาว 5 วัน ในประเทศไทย ในโอกาสวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา
  • ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดยาว 4 วัน ในประเทศไทย ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
  • ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2565 ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ในประเทศไทย ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ
  • การเพิ่มเที่ยวรถในเส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบางข้างต้น สะท้อนชัดเจนว่านักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่อยากนั่งรถไฟไปเที่ยวหลวงพระบาง มาจากประเทศใด

    ……

    พ่อค้า-แม่ค้า นำสินค้ามาวางเรียงราย ยาวตลอด 2 ฟากถนนสีสะหว่างวง กลางเมืองหลวงพระบาง ในงานตลาดนัด “โละลาด” ที่มาภาพ: เพจ Teng https://www.facebook.com/TengStories

    เช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2565 สมสะหวาด เล่งสะหวัด ที่ปรึกษาคณะบริหารศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว อดีตรองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นประธานเปิดงานตลาดนัด “โละลาด” เนื่องในเทศกาลบุญห่อข้าวประดับดิน และการแข่งเรือยาวเดือน 9 ประจำปี 2565

    “โละลาด” เป็นตลาดนัดมวลชนที่เคยถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ก่อนวันทำบุญห่อข้าวประดับดิน 1 วัน โดยมีพ่อค้าแม่ค้านำผลิตภัณฑ์ของตนมาวางจำหน่ายตลอดแนว 2 ฟากถนนสีสะหว่างวง หรือถนนกลางเมือง ตั้งแต่สามแยกบ้านจู้มค้องถึงสามแยกแผนกโยธาธิการและขนส่งแขวง

    ตลาดนัดโละลาดถูกงดจัดตั้งแต่ปี 2563 หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อกลับมาจัดอีกครั้งหลังหยุดไป 2 ปี จึงมีนักท่องเที่ยวมาเดินจับจ่าย หาซื้อสินค้ากันอย่างคึกคัก…

    อีกกิจกรรมหนึ่งที่ถูกเสริมเข้ามาในช่วงบุญห่อข้าวประดับดินที่เมืองหลวงพระบางปีนี้ คือการแข่งขันเจ็ตสกี ในแม่น้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นที่ ดอนทรายมงคล ฝั่งบ้านเชียงแมน เมืองจอมเพ็ด ตรงข้ามกับตัวเมืองหลวงพระบาง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 วันเดียวกับการจัดตลาดนัดโละลาด

    สมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี หลังจากได้เป็นประธานตีฆ้องเปิดตลาดนัดโละลาดแล้ว ก็ได้เดินทางไปชมการแข่งขันเจ็ตสกี ร่วมกับคำขัน จันทะวิสุก เจ้าแขวงหลวงพระบาง ด้วย

    สมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ตีฆ้องเป็นสัญลักษณ์เปิดงานตลาดนัด “โละลาด” ในตอนเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

    มีเจ็ตสกีเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ 10 ลำ แบ่งการแข่งขันเป็น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น 700 ซีซี, 1,100 ซีซี และ 1,800 ซีซี

    วัตถุประสงค์ที่มีการบรรจุการแข่งขันเจ็ตสกีไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยวช่วงบุญห่อข้าวประดับดินด้วยนั้น เพจ “ข่าวสารหลวงพระบาง” ระบุว่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเพิ่มกิจกรรมให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้ที่มาเที่ยวจะได้พบกับความสนุกสนาน “ม่วนซื่น” มากขึ้น…

    การแข่งขันเจ็ตสกีบนแม่น้ำโขง บริเวณดอนทรายมงคล บ้านเชียงแมน ฝั่งตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง อีกกิจกรรมหนึ่งในงานบุญห่อข้าวประดับดิน ในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Sourioudong Sundara รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา

    เช้าวันที่ 26 สิงหาคม 2565 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาว ประจำเดือน 9 ในแม่น้ำคาน โดยมีแขกรับเชิญระดับประเทศ เช่น กงสุลจีน กงสุลเวียดนาม เจ้าแขวงหลวงพระบาง เจ้าแขวงไซยะบูลี เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ฯลฯ รวมรับชมการแข่งขัน

    แม้ในวันนั้น ที่หลวงพระบางมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำคานซึ่งถูกจัดพื้นที่เป็นลักษณะอัฒจันทร์ มีนักท่องเที่ยวและกองเชียร์มานั่งชมอยู่เต็มทั้ง 2 ฟาก

    มีเรือยาวเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ 23 ลำ จัดการแข่งขันรวม 15 รอบ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศทางสถานีโทรทัศน์ลาวสตาร์ และยังมีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจากประเทศไทย ที่ส่งทีมงานไปทำข่าวและถ่ายทอดสดบางช่วงของการแข่งขันกลับมายังประเทศไทยด้วย

    ผลการแข่งขัน เรือของบริษัทแสงเพ็ด เก็บกู้วัตถุระเบิด จากนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นฝ่ายชนะเลิศ ได้รางวัลเป็นถ้วยและเงินสด 17 ล้านกีบ เรือของกลุ่มพันธมิตร จากแขวงไซยะบูลี เป็นอันดับ 2 ได้รางวัลเป็นถ้วยและเงินสด 16 ล้านกีบ เรือของธนาคารพัฒนาลาว เป็นอันดับที่ 3 ได้รางวัลเป็นถ้วยและเงินสด 15 ล้านกีบ

    นายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาว ประจำเดือน 9 ในแม่น้ำคาน โดยมีตัวแทนจากต่างประเทศร่วมรับชม ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์ประชาชน
    นักท่องเที่ยวให้ความสนใจชมการแข่งขันเรือยาว เต็ม 2 ฝั่งแม่น้ำคาน ที่มาภาพ: เพจ “คนมักเที่ยว – Life is journey”

    ……

    นับแต่โควิด-19 ระบาดเข้ามาในลาวในเดือนมีนาคม 2563 มาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่ลาว โดยเฉพาะแขวงหลวงพระบาง จำเป็นต้องงดการจัดงานประเพณีที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวแทบทุกประเภท เช่น งาน “แห่ช้างเรียงเกย” ในช่วงวันบุญปีใหม่ลาว หรือการเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงงานบุญห่อข้าวประดับดิน ตลาดนัดโละลาด และการแข่งเรือยาว ประจำเดือน 9 ฯลฯ

    การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้ประเพณีเหล่านี้ได้ถูกฟื้นขึ้นมาจัดกันใหม่อีกครั้ง

    จำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ขึ้นรถไฟไปเที่ยวหลวงพระบาง จนบริษัทรถไฟลาว-จีน ต้องเพิ่มขบวนรถที่ให้บริการ

    ภาพผู้คนจำนวนมากนั่งรอใส่บาตรพระสงฆ์ ตามประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวในตอนเช้าตรู่

    ล่าสุด ความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่ไปร่วมกิจกรรมอันหลากหลายในงานบุญห่อข้าวประดับดิน และการแข่งขันเรือยาวของหลวงพระบางในสัปดาห์ที่แล้ว

    สะท้อนผลตอบรับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของลาวด้วยการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ที่ดีในระดับหนึ่ง

    แต่จะยั่งยืนหรือยาวนานเพียงใด เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไปอีก…

  • สัปดาห์แห่งความ “โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • การ “ปรับตัว” ที่กำลังเป็นรูปธรรมของ “ลาว” …”ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
  • “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงจาก “วาลี เวดสะพง”