ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 45 ปี เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งซึ่งถูกเผยแพร่ในสื่อของลาวอย่างกว้างขวาง เป็นข่าวที่รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบให้ลาวเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจาก 20% ขึ้นเป็น 60% และได้เข้าบริหารท่าเทียบเรือ 1, 2 และ 3
ข่าวนี้มาจากให้สัมภาษณ์ของ “วิไลคำ โพสาลาด” รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ต่อหนังสือพิมพ์ประชาชน ที่บอกถึงพัฒนาการด้านโครงสร้างพื้นฐานในลาวที่เกิดขึ้นในช่วง 45 ปี นับแต่มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขึ้นมา และได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563
วิไลคำให้สัมภาษณ์หลายเรื่อง แต่มีช่วงหนึ่งที่รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กล่าวว่า…
“การพัฒนาด้านโยธาธิการทางน้ำที่โดดเด่น กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้รับการตกลงจากรัฐบาลให้เซ็นสัญญาว่าด้วยความร่วมมือ ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ 1, 2 และ 3 ของท่าเรือหวุงอ๋าง กับกระทรวงคมนาคมขนส่งของเวียดนาม และเวียดนามยังเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของลาวในท่าเรือแห่งนี้จาก 20% เป็น 60% โดยฝ่ายเวียดนามลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40% กำหนดเวลา 70 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก”
เธอไม่ได้ให้รายละเอียดมากไปกว่านี้ แต่สื่อลาวได้นำเนื้อหาไปขยายความ ทำให้ข่าวดูน่าสนใจมากขึ้น จนเห็นถึงบทบาทของท่าเรือหวุงอ๋าง ว่ามีความสำคัญกับลาวอย่างมาก ไม่แพ้เส้นทางรถไฟลาว-จีน
เพียงแต่ไม่มีรายงานความคืบหน้าให้เห็นเป็นระยะ ต่อเนื่อง แบบเดียวกับเส้นทางรถไฟ
“สปป.ลาว จะลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือออกสู่ทะเลในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” เป็นประเด็นที่สื่อส่วนใหญ่ในลาวนำมาใช้พาดหัว (โปรดดูภาพประกอบ)
ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง อยู่ในจังหวัดฮาติงห์ จังหวัดชายทะเลภาคกลางค่อนขึ้นมาทางเหนือของเวียดนาม อยู่ทางใต้ของกรุงฮานอย 340 กิโลเมตร และอยู่ทางเหนือของจังหวัดกว๋างบิ่ญ
พ.ศ. 2540 รัฐบาลเวียดนามได้วางแนวทางพัฒนาเมืองหวุงอ๋าง ตามแผน “เหนือกว๋างบิ่ญ ใต้ฮาติงห์” ด้วยการสร้างเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือนำลึกหวุงอ๋าง จากนั้นในปี 2549 ได้สถาปนา “เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง” ขึ้นบนพื้นที่ 227.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 142,400 ไร่ บริเวณเชิงเขาทางเหนือของเทือกเขาหว่าญเซิน ในอำเภอกี่อาญ
นอกเหนือจากที่ดินซึ่งเตรียมไว้สำหรับให้นักลงทุนมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีท่าเรือหวุงอ๋างที่เป็นแม่เหล็กสำคัญ สำหรับดึงดูดเม็ดเงินลงทุน
ท่าเรือหวุงอ๋างยาว 1.5 กิโลเมตร อยู่บนร่องน้ำลึก 9.5 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกได้ 46,000 เดทเวทตัน (ดูแผนที่ประกอบ)
บทรายงานจากทีมเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของไทย ที่เดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ ไทย-ลาว-เวียดนาม ตั้งแต่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขต ขึ้นไปจนถึงกรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2560 เขียนไว้ว่า ท่าเรือหวุงอ๋างประกอบด้วย
- ท่าเทียบเรือ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร
- ท่าเทียบเรือ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร
- ท่าเทียบเรือ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร
รายงานระบุว่า ท่าเรือหวุงอ๋างใช้เพื่อส่งออกสินค้าเป็นส่วนใหญ่ 80-90% นำเข้าเพียง 10-20% สินค้าที่ส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ เช่น เครื่องจักร ปูน หิน ทราย แร่ และถ่านหิน
สินค้าจากไทย ยังไม่เคยมีการส่งออกสินค้าผ่านทางท่าเรือหวุงอ๋าง
…
การที่ลาวไม่มีพื้นที่ติดทะเล เป็นข้อจำกัดหนึ่งในการวางแผนพัฒนาประเทศ
หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่ๆ ช่วงทศวรรษ 2530-2540 ลาวได้นำวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” มาใช้เพื่อวางยุทธศาสตร์ประเทศ
แผนยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง คือการเปลี่ยนสถานะจาก land lock คือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ให้เป็น land link คือพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาค
เมื่อรัฐบาลเวียดนามสร้างท่าเรือหวุงอ๋างขึ้นมา จึงเหมือนเป็นการเปิดช่องทางออกสู่ทะเลให้กับลาว เพราะจุดที่ตั้งของท่าเรือแห่งนี้ คือปลายทางของถนนหมายเลข 8 และ 12 เส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในแนวขวางของลาว และหากวัดจากจุดเริ่มต้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ จะเป็นปลายทางที่อยู่ใกล้ที่สุด ใกล้กว่าถนนหมายเลข 9 (เส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไป (ดูแผนที่ประกอบ)
เดือนเมษายน 2553 รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลลาวได้ร่วมลงนามจัดตั้งบริษัท Viet Nam-Laos Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 1,300 ล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ฝ่ายเวียดนามถือหุ้น 80% ลาว 20% เพื่อร่วมกันพัฒนาและบริหารท่าเรือหวุงอ๋างให้เป็นท่าเรือสำหรับส่งออกสินค้าที่ผลิตได้จากลาว
ปี 2558 หลังจากลาวได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยท่าเรือบก (dry port) รัฐบาลลาวได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งสินค้า ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง
หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจสังคม มีรายงานในเดือนเมษายน 2559 ว่า แผนนี้ได้ยกระดับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของลาว จาก land link ขึ้นเป็นศูนย์บริการทางผ่านด้านคมนาคมขนส่ง(transit services) หรือเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง รวบรวม และกระจายสินค้า (logistics hub)ให้กับภูมิภาค
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งสินค้า ได้กำหนดพื้นที่เพื่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์สากลขึ้นใน 9 จุดสำคัญทั่วประเทศ ได้แก่
1. เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และเป็นปลายทางของถนนสาย R3A
2. เมืองนาเตย แขวงหลวงน้ำทา อยู่ห่างจากชายแดนลาว-จีนที่บ่อเต็นประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นเมืองสามแพร่ง จุดบรรจบของถนนสาย R3A กับถนนสาย 13 เหนือ
3. เมืองไซ แขวงอุดมไซ ชุมทางในโครงข่ายถนนภาคเหนือ จุดเชื่อมชายแดนลาว-เวียดนาม ทางฝั่งตะวันออก เข้าหาชายแดนลาว-ไทย ทางฝั่งตะวันตก
4. หลวงพระบาง เมืองท่องเที่ยวชื่อดังในภาคเหนือ
5. ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ตั้งสถานีรถไฟแห่งแรกของลาว ปลายทางรถไฟลาว-จีน และจุดเชื่อมโครงข่ายรถไฟลาวกับโครงข่ายทางรถไฟไทย ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
6. เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ ห่างจากชายแดนลาว-เวียดนามประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นเมืองหลักบนถนนหมายเลข 8 ที่เริ่มต้นมาจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และมีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง
7. เมืองท่าแขก จุดเริ่มต้นของถนนหมายเลข 8 ที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม
8. เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขต ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ต้นทางของถนนหมายเลข 9 เส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) โดยมีปลายทางที่ท่าเรือดานัง เวียดนาม
9. เมืองวังเต่า แขวงจำปาสัก ตรงข้ามด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จุดเริ่มต้นโครงข่ายถนนที่เชื่อมระหว่างลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ศูนย์โลจิสติกส์ที่เมืองเซโน เป็นจุดแรกที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2559 จากนั้น เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เริ่มต้นก่อสร้างโครงการโลจิสติกส์ ปาร์ค ศูนย์โลจิสติกส์ที่ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์
…
เดือนสิงหาคม 2559 ลัดตะนะมะนี คูนนิวง รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ของลาว และเลดิ่งเถาะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมขนส่ง ของเวียดนาม นำคณะลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางก่อสร้างทางด่วนเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับกรุงฮานอย เมืองหลวงของ 2 ประเทศ ลาว-เวียดนาม
ทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย มีแผนสร้างเป็นถนน 6 เลน ยาว 707 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามเส้นทางหมายเลข 13 (ใต้) จนถึงเมืองปากซัน แขวงบ่อลิคำไซ จากนั้นเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านเมืองเวียงทอง จนถึงชายแดนลาว-เวียดนาม ที่ด่านน้ำออน-แทงถุย เมืองแทงเจือง จังหวัดเหงะอาน
ทางด่วนส่วนที่อยู่ในเขตลาวช่วงนี้ ยาว 365 กิโลเมตร
ส่วนที่อยู่ในเวียดนาม ยาว 342 กิโลเมตร เริ่มจากด่านแทงถุยไปตามทางหลวงหมายเลข 46 และเชื่อมต่อเข้ากับทางด่วนภาคเหนือตอนใต้ของเวียดนามไปจนถึงกรุงฮานอย
ทางด่วนสายนี้คาดว่าต้องใช้งบประมาณก่อสร้างสูงกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์
…
ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2560 นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม นำคณะเดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง
ช่วงอยู่ในลาว นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก กับนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ของลาว ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามข้อตกลงร่วม 2 ประเทศ รวม 9 ฉบับ มีข้อตกลงที่สำคัญ ได้แก่
…
นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก กับนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด เข้ารับตำแหน่งปีเดียวกัน
นายกรัฐมนตรีทองลุน รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ส่วนนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก รับตำแหน่งในวันที่ 7 เมษายน 2559
นายกรัฐมนตรีทองลุนเป็นชาวหัวพัน แขวงชายแดนติดกับเวียดนาม หลังเรียนจบในลาวเมื่อปี 2512 ได้ไปเรียนต่อทั้งในโซเวียตและในเวียดนาม ทำให้สามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งภาษาเวียดนาม และภาษารัสเซีย
…
6 สิงหาคม 2561 เวียงสะหวัด สีพันดอน รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว ได้ร่วมประชุมกับเหวียน ง๊อกดิ่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและขนส่ง เวียดนาม เรื่องการสร้างทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือหวุงอ๋าง
โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลี (Korea International Cooperation Agency: KOICA)
ข้อมูลเบื้องต้นจากที่ประชุม ทางรถไฟสายนี้ ยาว 555 กิโลเมตร อยู่ในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังแขวงบ่ลิคำไซ แขวงคำม่วน เลี้ยวไปทางตะวันออก เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสู่จังหวัดกว๋างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง
…
วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2562 หลังเสร็จสิ้นการประชุม “The Future of Asia” ครั้งที่ 25 ที่กรุงโตเกียว ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินกลับลาว นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ได้แวะพักที่กรุงฮานอย ช่วงสั้นๆ และได้เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก
การประชุมครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี 2 ประเทศ เห็นพ้องในการผลักดันแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่
- การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง
- การก่อสร้างทางรถไฟสายเวียงจันทน์-หวุงอ๋าง
- การสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย
หนังสือพิมพ์ Vientiane Times มีรายงานข่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายลาวต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Viet Nam-Laos Vung Ang Port Joint Stock Company จากเดิม 20% ขึ้นเป็น 60% เพราะท่าเรือหวุงอ๋างถือเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของลาว ส่วนเวียดนามจะลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40%
การตัดสินใจของรัฐบาลเวียดนาม ได้ถูกเปิดเผยขึ้นจากคำให้สัมภาษณ์ของรองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ในโอกาสวันชาติครบรอบ 45 ปี ครั้งนี้
…
เห็นได้ว่า ขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่โครงการทางรถไฟลาว-จีน แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการเป็นศูนยกลางโลจิสติกส์ให้กับภูมิภาค ลาวได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับประเทศของตน
ที่เล่ามาทั้งหมด เป็นการรวบรวมข้อมูลเฉพาะในส่วนของภาครัฐ
ยังมีเรื่องราวของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทไม่น้อย ในการผลักดันการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งจะนำมาเล่าต่อไปในคราวหน้า