ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”

“ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”

21 มิถุนายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

วาลี เวดสะพง สมาชิกสภาแห่งชาติ เขตเลือกตั้งที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2565 สภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 ได้เปิดการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 3ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเงินที่กำลังโหมกระหน่ำ สร้างความตึงเครียดและยากลำบากแก่ประชาชนลาวอย่างถ้วนหน้า เนื้อหาที่พูดคุยกันในที่ประชุมรอบนี้ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

หนึ่งในเนื้อหาที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อและประชาชนลาว เป็นการอภิปรายของ “วาลี เวดสะพง” สมาชิกสภาแห่งชาติ(สสซ.) จากเขตเลือกตั้งที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ จนเธอได้รับการยกย่องจากสื่อในลาวให้เป็น สสซ.ดาวเด่นของการประชุมครั้งนี้

วาลีใช้เวลาอภิปราย 8 นาที เป็นการตั้งคำถามที่ตรงประเด็น ครอบคลุมทุกปัญหาที่ภาคการเงินของลาวกำลังเผชิญอยู่ คำพูดที่เธอใช้ กระชับ เข้าใจง่าย คนที่ได้ฟังแม้ไม่ค่อยมีพื้นฐานความรู้เรื่องเงินๆทองๆ ก็พอเห็นภาพได้

ที่สำคัญ คำอภิปรายของวาลี ทำให้คนที่เคยเข้าใจว่าระบอบการเมืองของลาวที่เป็นระบบพรรคเดียว คือพรรคประชาชนปฏิวัติลาว บทบาทของ สสซ.อาจมีไม่มากนัก…ต้องกลับมา “ทบทวน” ความเข้าใจนั้นเสียใหม่

ก่อนไปสู่เนื้อหาคำอภิปราย มาทำความรู้จักกับ“วาลี เวดสะพง”กันก่อน

คลิปคำอภิปรายของวาลี เวดสะพง ที่เผยแพร่ในเพจหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา

……

“วาลี เวดสะพง” เกิดวันที่ 29 สิงหาคม 2509 เป็นชาวนครหลวงเวียงจันทน์โดยกำเนิด บ้านเกิดอยู่บ้านสีไค เมืองสีโคดตะบอง แต่ครอบครัวย้ายภูมิลำเนามาอยู่บ้านหนองจัน เมื
องสีสัดตะนาก และเธออาศัยอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน

แม้ดำรงบทบาททางการเมืองเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ 2 สมัย แต่พื้นฐานของวาลีมาจากจากภาคธุรกิจ เธอเติบโตมากับธุรกิจของครอบครัวที่ทำด้านสาธารณสุข

“ปู่และพ่อของเป็นหมอ แม่เปิดร้านขายยา” เป็นคำอธิบายสั้นๆในคลิปการให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์“เศรษฐกิจ-การค้าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563

ร้านขายยาที่ว่า คือ “บริษัทกานยา มิดตะพาบ” บริษัทที่แม่ของวาลีก่อตั้งขึ้น และร่วมทุนกับกระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว โดยนำเข้ายาจากต่างประเทศมาขาย แม่ของวาลีมียศทางทหารเป็นพันตรี

ปี 2517 พ่อของวาลีเสียชีวิต ขณะที่เธอเพิ่งมีอายุได้เพียง 8 ขวบ และสถานการณ์ในลาวกำลังเขม็งตึงใกล้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง วาลีจึงเติบโตและถูกอบรมสั่งสอนจากแม่เป็นหลัก ซึ่งได้เลี้ยงดูเธอกับพี่น้องรวม 13 คน โดยตัวคนเดียว

วาลีเป็นคนเรียนดี หลังจบชั้นมัธยม คะแนนของเธอสามารถสอบเข้าแพทย์ได้ แต่เธอเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยสร้างครูดงโดก เธอบอกว่าเป้าหมายชีวิตในตอนนั้นอยากเป็นนักการทูต

หลังเรียนจบ เธอสามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศแคนาดาได้ แต่แม่ของเธอไม่ยอมให้ไป เพราะไม่มีคนรู้จักอยู่ที่นั่นเลย เธอจึงต้องเบนเข็มชีวิตมาทำงานกับครอบครัวที่บริษัทกานยา มิดตะพาบ

วาลีเริ่มต้นจากการเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับรองผู้อำนวยการ และพนักงานส่วนหนึ่งของบริษัท เนื่องจากตอนนั้น บริษัทกานยา มิดตะพาบ นำเข้ายามาจากประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาวาลีเริ่มเข้าไปบทบาทในส่วนงานอื่นเพิ่ม ตั้งแต่พนักงานต้อนรับ พนักงานขาย ฝ่ายติดต่อต่างประเทศ ฝ่ายการตลาด ก่อนขึ้นเป็นผู้บริหารบริษัทในปี 2538

ช่วงที่วาลีรับช่วงบริหารบริษัทกานยา มิดตะพาบ เป็นช่วงที่ลาวเปิดประเทศแล้ว บริษัทเริ่มมีคู่แข่ง วาลีจำเป็นต้องปฏิรูประบบการทำงานในบริษัทจากที่เคยเป็นกิจการครอบครัวให้เป็นแบบมืออาชีพ และขยายกิจการเพื่อต่อยอดธุรกิจ เริ่มจากการเป็นผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาได้เปิดคลินิกเวดสะพง รับรักษาผู้ป่วย

โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 บริษัทกานยา มิดตะพาบได้ร่วมทุนกับกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์จากประเทศไทย เปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ขึ้น เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 254 เตียง บนพื้นที่ 1.92 เฮคตาร์ หรือ 12 ไร่ ริมถนน 450 ปี ในเมืองสีสัดตะนาก โดยเปิดให้บริการเฟสแรกก่อน 110 เตียง

ตำแหน่งทางธุรกิจปัจจุบันของวาลี เป็นประธานบริษัทกานยา มิดตะพาบ ผู้อำนวยการคลินิกเวดสะพง และรองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว

วาลีได้เป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 ลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติสมัยแรกเมื่อปี 2559 สมัยที่ 2 ในปี 2564

ตามข้อตกลงฉบับที่ 50/นย. ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว วาลีเป็น 1 ใน 7 ที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยมีรายชื่ออยู่ในลำดับที่ 4 และเป็นที่ปรึกษาเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นผู้หญิง

……

เพื่อให้เข้าใจประเด็นการอภิปรายของวาลี ขอสรุปสถานการณ์ทางการเงินที่ลาวกำลังเผชิญอยู่พอสังเขป ดังนี้

  • ลาวเผชิญกับปัญหาค่าเงินกีบอ่อนตัวมาตั้งแต่ปี 2562 และเงินกีบยิ่งตกต่ำรุนแรงและรวดเร็วขึ้น หลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565
  • สงครามในยูเครนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในทุกประเทศทั่วโลก แต่ลาวได้รับผลกระทบมากกว่าหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าอุปโภค บริโภคจำเป็น ที่คนลาวใช้เป็นประจำ ลาวต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทบทั้งหมด เมื่อต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ค่าขนส่งสินค้าที่แพงขึ้น เงินกีบที่อ่อนค่าลง สบทบเข้าไปอีก ยิ่งทำให้สถานการณ์ของลาวจึงค่อนข้างรุนแรง
  • เงินกีบที่อ่อนตัวลงทำให้เกิดลาวภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลกระทบต่อเนื่องที่ตามมา เงินดอลลาร์ที่จะนำไปใช้ซื้อนำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเข้ามาสนองความต้องการใช้ในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ภาพการต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อน้ำมันบริเวณหน้าปั๊ม ได้ปรากฏขึ้นทั่วประเทศ
  • ต้นเดือนพฤษภาคม ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เริ่มมาตรการเข้มงวดกับร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่รับอนุญาต ซึ่งทั่วประเทศ มีอยู่กว่า 130 แห่ง โดยห้ามมิให้กักตุนเงินดอลลาร์เอาไว้อย่างเด็ดขาด
  • กลางเดือนพฤษภาคม แผนกโยธาธิการและขนส่ง นครหลวงเวียงจันทน์ ออกคำสั่งให้การซื้อขาย โอนชื่อผู้ครอบครองรถยนต์ในนครหลวงเวียงจันทน์ ต้องทำผ่านระบบธนาคารเท่านั้น เพื่อควบคุมให้ธุรกรรมทั้งหมด ทำโดยเงินกีบ เนื่องจากก่อนหน้านั้น คนลาวนิยมตั้งราคารถยนต์เป็นเงินดอลลาร์ และซื้อขายกันด้วยเงินดอลลาร์เป็นหลัก
  • ปลายเดือนพฤษภาคม มีภาพข่าวการประกาศขึ้นค่าตั๋วโดยสารรถไฟลาว-จีน ถูกเผยแพร่ไปตามสื่อออนไลน์หลายแห่งของลาว ในเอกสารระบุเหตุผลในการขึ้นราคาว่า เนื่องจากค่าเงินกีบเมื่อเทียบกับเงินหยวนเปลี่ยนแปลง โดยราคาใหม่ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 อิงตามค่าเงิน 2,200 กีบต่อ 1 หยวน อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกับเพจทางการของบริษัทรถไฟลาว-จีน ยังไม่มีประกาศนี้ โดยอัตราค่าโดยสารที่ระบุไว้ในเพจ ยังคงเป็นราคาเดิมที่อิงกับค่าเงิน 1,800 กีบต่อ 1 หยวน
  • วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ประกาศขายพันธบัตรเงินกีบวงเงิน 5 ล้านล้านกีบ(ประมาณ 335 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,875 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) เป็นพันธบัตรอายุ 6 เดือน ให้อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี โดยจะเริ่มขายให้กับบุคคล นิติบุคคล ทั้งภายในและต่างประเทศ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในลาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน แต่ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่รับฝากเงินในลาว ซื้อพันธบัตรล๊อตนี้
  • เปิดชื่อ 7 นักธุรกิจชั้นนำลาว ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี
  • สัปดาห์แห่งความ“โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • การ “ปรับตัว” ที่กำลังเป็นรูปธรรมของ “ลาว” … “ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
  • ลาวเปลี่ยนนโยบาย เริ่มทดลองใช้เงินคริปโต
  • ……

    การประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญ ครั้งที่ 3 ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

    เนื้อหาต่อจากนี้ เป็นคำอภิปรายโดยละเอียดของวาลี เวดสะพง ต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ถอดความจากคลิปที่นำเสนอทาง เพจหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ…

    ข้าพเจ้า วาลี เวดสะพง สมาชิกสภาแห่งชาติ เขต 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ขอมีความเห็นถึงบทบาทของกระทรวงการเงิน และธนาคารกลาง

    กระทรวงการเงินนี่ ท่านก็มีรายงานออกมาแล้ว ข้าพเจ้าอยากถามเพิ่มเติมถึงตัวเลขที่ขายไฟฟ้าให้กับเหมืองบิตคอยน์นั้น ได้มากน้อยเพียงใด อันนี้จะขอรู้ตัวเลขได้ไหม เพราะว่าการให้ทำบิตคอยน์นี่ เพราะว่าเราจะขายไฟ อยากรู้ว่าในปัจจุบันนี่ เราขายได้มากน้อยแค่ไหน

    ประการที่สอง ตามบทรายงานของกระทรวงการเงิน แสดงให้เห็นว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ได้ลดลงเลยนะท่านประธาน เพราะว่าบรรดาธุรกิจต่างๆที่อยู่ตามชายแดน เขาก็ยอมรับ และยังยอมรับอีกว่าทุกวันนี้ทำได้แนบเนียนกว่าเก่า เพราะฉะนั้น ตัวนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินตราของพวกเราขาด เนื่องจากการค้านอกระบบนั้น เขาไปรับ-จ่ายเงินกันอยู่ข้างนอก ไม่ได้นำเงินตราเข้ามาภายในระบบ

    ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ออกมาจากศูนย์สถิติแห่งชาติในปี 2020 ระบุว่ากว่า 70% เป็นการทำเศรษฐกิจนอกระบบ ฉะนั้นอยากฝากรัฐบาลว่า จะทำอย่างไรที่จะเอาเศรษฐกิจนอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้

    และจะทำอย่างไรที่จะมีมาตรการลงโทษ ในลักษณะเช่นเมื่อตรวจ KPI ได้เท่านั้น เท่านี้เปอร์เซ็นต์ อยากให้บอกไปเลยว่า ถ้าเราตรวจแล้วพบว่าเจตนาทำผิด เราไม่ต้องส่งไปศึกษาอบรมได้ไหม ให้ลงโทษไปเลยได้ไหม นี่ยกเป็นตัวอย่าง

    เนื่องจากแขนงการนี้ เป็นแขนงการที่สำคัญมาก การปลดจากตำแหน่งมันก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าท่านนายกฯเอง…อันนี้ก็ขอท้วงแทนประชาชนนะ…ท่านนายกฯเองก็ได้บอกว่า มีเข้าได้ ก็มีออก มีขึ้น มีลง ฉะนั้น ถ้ามาถึงเกือบครึ่งสมัยแล้ว ถ้าว่าท่านนายกฯหรือภาคส่วนของรัฐบาล สามารถปฏิบัติ เอาคุณภาพของบุคลากรเป็นหลัก เพราะว่าถ้าปรับตรงนี้ไม่ได้ กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้แต่บ่นไปเฉยๆ ฉะนั้นก็ให้แก้ที่คน ถ้าแก้ที่คนได้…ดูว่าจะกล้าทำหรือเปล่า เพราะว่าประชาชน หรือ สสซ.หลายท่านที่ติดตามดูอยู่

    อันนี่ก็เสนอด้วยเจตนา ด้วยความจริงใจ เสนอท่านประธาน เพราะไม่รู้ว่าจะเสนอทางใดแล้ว เพราะว่ากฎหมายพวกเราก็ทำออกมาหลายฉบับ กฎหมายแห่งชาตินี่ก็ค้นคว้ากันจนไม่รู้จะพูดยังไง และสุดท้าย การปฏิบัติตามกฏหมาย พวกเราก็ยังอ่อนแอมาก

    สำหรับธนาคารกลาง จากบทรายงานของธนาคารกลาง เห็นว่าท่านรู้ปัญหาหมด แต่ว่าเมื่อตรวจพบก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่พูดเรื่องกฎหมาย

    ยกตัวอย่าง นักลงทุนต่างประเทศนำเงินตราเข้ามามหาศาล จดแจ้งเท่านี้ แต่เมื่อไปตรวจพบจริง มีมากกว่า 4 เท่า ตามที่รองผู้ว่าฯได้รายงานอยู่ในที่สัมมนา เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราตรวจพบ เราก็ไม่รู้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน อันนี้มันแสดงถึงความอ่อนแอของการควบคุมเงินตราต่างประเทศของพวกเรา เพราะว่าแขนงการนี้ มันคือหนึ่งในเสาค้ำหลักของเศรษฐกิจมหภาค เพราะฉะนั้นตัวนี้ ถ้าเราไม่จริงใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย พวกเราก็ยังจะตกอยู่ในสภาพนี้ต่อไป การควบคุมเงินตราของพวกเรานี่ ก็จะอ่อนแอมาก

    สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแต่ธนาคารกลางผู้เดียว ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทั้งหมด พอเวลาที่เอาเงินเข้ามา บรรดาโครงการใหญ่ๆ โรงไฟฟ้า เหมืองต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามา แล้วมันไปไหน มีแต่บอกว่ามันไม่เข้าไปในระบบ มันไปไหน เรารู้อยู่ มันไม่เข้าระบบ มันผิดกฎหมายควบคุมเงินตรา แต่เราก็ไม่ทำอะไร อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่อยากถามต่อว่า เราจะแก้ไขแนวใด มาตรการตรงนี้จะจริงจังแนวใด ถ้าพวกเราจริงจังแก้ไขแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเราจะไม่ตกอยู่ในสภาพเหมือนทุกวันนี้

    ฉะนั้น ระบบ ความผิดพลาด หละหลวมที่ผ่านมานี่ ถ้าเราไม่จริงใจแก้จริงจังแล้วนี่ จะมีมาตรการใดมา ก็แก้ไขไม่ได้เลยท่านประธาน

    เราแก้ไข อย่างที่จะออกพันธบัตรมานี่ มันเป็นเครื่องมือที่ล่อแหลมมาก แต่ในเมื่อได้ทำไปแล้ว ก็อยากจะขอให้ทำคู่ขนานไปกับการปฏิบัติ บังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด อันนี้ข้าพเจ้าอยากขอฝากจริงๆ


    รายละเอียดพันธบัตรมูลค่า 5 ล้านล้านกีบ อัตราดอกเบี้ย 20% ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เริ่มนำออกมาจำหน่ายในวันที่ 15 มิถุนายน 2565

    เพราะระยะหลายปีที่ผ่านมานี่ บางระยะนี่พวกเราเกินดุลนะท่านประธาน ไม่ใช่ว่าพวกเราขาดดุลตลอดเวลา เกินดุลมี ไม่ใช่ไม่มี แต่เงินไม่เข้าระบบ นี่ก็อีกตัวหนึ่งที่อยากรู้ คือเงินเราไม่ได้ขาด แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมี

    เราดูดปริมาณ M2 เข้ามาอย่างนี้ อันนี้ก็ขอไม่พูดหมด เพราะว่ามันเป็นกลไกที่บางครั้งพวกเราพูดไม่ได้ ในเรื่องของการแก้ปัญหา เพราะว่ามันจะทำให้ค่าบางค่าลดลง ถ้ามีผู้ใดกำเงินตัวนี้ไว้ ก็กลัวเสียเปรียบ อันนี้ก็อยากให้ทุกคนเสียสละเพื่อประเทศชาติก่อนในตอนนี้

    ถ้าตัดสินใจใช้เครื่องมือนี้ไปแล้ว จริงแล้วตัวพันธบัตรนี่ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยหรอก แต่ว่าในเมื่อตัดสินใจใช้เครื่องมือนี้แล้ว ข้าพเจ้าอยากเห็น ขอให้ปฏิบัติกฎหมาย ขอเสนอว่าให้สั่งบรรดาร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ให้ระงับกิจการไว้ก่อนชั่วคราว ไม่ใช่ปิดไปเลยนะ ให้หยุดกิจการชั่วคราว แล้วตรวจตราดูให้หมด การไปมาของเงินเป็นอย่างไร ธนาคารกลางทำได้ เงินในประเทศนี้ พวกเราทำได้ เราตรวจสอบได้ว่ามันไปไหนบ้าง ใครเก็งกำไรบ้าง เรารู้หมด ท่านประธาน ถ้าเราไม่ทำคู่ขนานนี่แล้ว มีมาตรการใดมา ก็อย่างที่ข้าพเจ้าพูดนั่นแหล่ะ จะไม่ได้ผล

    วาลี เวดสะพง ขณะอภิปรายในสภาแห่งชาติ ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์

    เพราะว่ามันลำบากกันถ้วนหน้า ประชาชนนี่ มืดมน ไม่รู้ว่าอนาคตนี่จะไปต่อยังไง ทำธุรกิจนี่ นั่งอยู่เฉยๆก็ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ไม่ต้องถึงว่าไปขาย ไปซื้อเลย อันนี้มันหนักมาก ท่านประธาน อยากให้เอาใจใส่ตัวนี้ อยากถามคืนว่า เราจะทำยังไงเพื่อให้ผลกกระทบนี้ มันน้อยที่สุด

    ตัวที่สอง อยากเสนอให้ทำเฮดจิ้งน้ำมัน อันนี้พวกเราได้เสนอมาหลายครั้งแล้วเรื่องเฮดจิ้งน้ำมัน เครื่องมือตัวนี้ ในลาวไม่เคยใช้ แต่บริษัทใหญ่ระดับโลก เขาใช้กันนะท่านประธาน เขาเรียกว่าค้ำประกันราคาน้ำมัน ตอนนี้ปัญหามันไม่ใช่น้ำมันขาด แต่ว่าเงินตราที่จะไปซื้อน้ำมันนี่ ถูกเอามาปั่นกันภายในนี่

    ข้าพเจ้ายืนยันว่าเงินไม่ได้ขาด แต่มันอยู่นอกระบบ มันเคลื่อนไหวนอกระบบ ทำผิดกฎหมาย มาบอกว่า ดีมานด์ ซัพพลายนี่ เวลาจะปั่น อยากจะทำให้ดีมานด์ขึ้นเป็นสิบเท่าก็ทำได้ ท่านประธาน อันนี้คือวิธีปั่น

    ฉะนั้น ทำเฮดจิ้งน้ำมันนี่ หมายความว่าค้ำประกันน้ำมันล่วงหน้า 2 เดือน ข้าพเจ้าเชื่อมั่น และเพราะว่าได้แลกเปลี่ยนกับบรรดาธุรกิจใหญ่ๆระดับโลกที่เป็นเพื่อนกัน ทั่วโลกนี่เขาใช้เครื่องมือนี้อยู่แล้ว 2 เดือนนี่ ถ้าน้ำมันนิ่งนี่นะ จะกระจายได้ทั่ว…

    …ขออนุญาตอีก 1 นาที ท่านประธาน…

    ถ้าน้ำมันนิ่ง อัตราแลกเปลี่ยนก็จะนิ่ง ก็ไม่ปรารถนาให้ราคาน้ำมันมันลงมาหรอก มันลง แต่ว่าจะลงมาแค่ไหน อันนี้มันขึ้นกับว่าเกณฑ์เรา เซ็ทมันยังไง แขนงการวิชาการของเรานี่แข็งแค่ไหน

    ข้าพเจ้ามั่นใจเลย จะมีแต่เจ๊า กับกำไร ถ้าทำเฮดจิ้งน้ำมัน ที่จริงข้างบนท่านอนุมัติแล้ว แต่ว่าการทำนี่ ข้าพเจ้ายังเห็นว่ามันชักช้า ฉะนั้นตัวนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อยากฝากจริงๆท่านประธาน

    เอกสารปรับค่าโดยสารรถไฟลาวจีน ซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาตามสื่อออนไลน์หลายแห่งในลาวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565

    สุดท้าย ค่าตั๋วรถไฟ ตัวนี้เป็นการซ้ำเติมแขนงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพิ่มเข้าไปอีก เพราะว่าเขามารับสัมปทาน ใครจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม แต่รัฐบาลเราต้องเป็นคนกำหนดราคา ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยน ประกาศวันที่ 29 ให้มีผลวันที่ 1 มันเป็นไปไม่ได้ท่านประธาน เงินหยวนหรือเงินอะไร มันไม่เกี่ยว เพราะว่าสัมปทานนี้ รัฐบาลต้องควบคุมราคาของตั๋วรถ เพราะว่ามันกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และแขนงการท่องเที่ยว พวกเขาจะทำอะไรไม่ได้เลย กระโดดมาทำแบบนี้ มันอันตราย

    ก็ขอขอบพระคุณท่านประธานที่ให้โอกาส ต่อเวลาให้อีก 10 วินาที…