ThaiPublica > สู่อาเซียน > สัปดาห์แห่งความ “โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว

สัปดาห์แห่งความ “โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว

14 พฤษภาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ประชาชนลาวรอคิวเติมน้ำมัน เจ้าของภาพนี้ ได้คิวที่ 183 ที่มาภาพ : The Laotian Times

เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตะลึงได้ไม่น้อย สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของ สปป.ลาว เมื่อเกือบทั่วทั้งประเทศลาว ต้องตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอยากหนัก ต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์

  • ภาพปั๊มน้ำมันหลายแห่งขึ้นป้าย “น้ำมันหมด” จนต้องปิดให้บริการ
  • ภาพรถติดเป็นแถวยาวนับสิบกิโลเมตร เพื่อรอคิวเติมน้ำมันบริเวณใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์
  • ภาพผู้คนหิ้วภาชนะเท่าที่หาได้ ยืนรอคิวซื้อน้ำมัน
  • ภาพการแจกบัตรคิวของบางปั๊ม ตลอดจนภาพการนำน้ำมันมาแบ่งใส่ขวดขาย
  • ข่าวดราม่าที่บางปั๊มใช้กลยุทธการตลาด โดยตั้งเงื่อนไขให้ลูกค้าต้องซื้อกาแฟจากปั๊มก่อน จึงจะเติมน้ำมันให้
  • ข่าวที่สร้างความวิตกกังวล เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถขนส่งน้ำมันคันหนึ่ง แล้วชาวบ้านแถวนั้นรีบไปตักน้ำมันที่ไหลลงมาบนถนน
    ฯลฯ

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ปรากฏขึ้นภายในชั่วเวลาเพียงสัปดาห์เดียว และเชื่อได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน!

แอดซัง(เบนซิน) หมดแล้ว ที่มาภาพ : The Laotian Times

……

น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ในลาว ส่วนใหญ่กว่า 70% นำเข้าจากประเทศไทย ที่เหลือลาวนำเข้าโดยตรงจากสิงคโปร์(ผ่านไทย) เวียดนาม และจีนอีกบางส่วน ทิศทางราคาน้ำมันในลาวส่วนหนึ่ง จึงผันแปรหรือสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในประเทศไทย ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม ลาวก็เป็นเหมือนกับอีกหลายชาติ ที่หลังจากเกิดสงครามในยูเครน ลาวต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนหรือพูดง่ายๆคือเงินกีบอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ

เพื่อให้เห็นภาพความต่อเนื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ซึ่งคนลาวบางส่วนเรียกเป็นวิกฤติ “น้ำมันหมดประเทศ” ขอลำดับเหตุการณ์คร่าวๆที่เริ่มปรากฏสัญญานออกมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเอาไว้ดังนี้…

26-27 เมษายน 2565 ในกองประชุมรัฐบาลสมัยสามัญ ประจำเดือนเมษายน ได้กำหนด 7 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในเดือนพฤษภาคม ในภารกิจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ มี 2 วาระสำคัญที่ถูกระบุไว้ชัดเจน คือ

  • เร่งกำหนดมาตรการต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้มีเสถียรภาพ รวมถึงกำหนดกลไก วิธีการควบคุมให้ละเอียดและรัดกุม
  • เร่งกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการแก้ไขการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อราคาสินค้า หรืออัตราเงินเฟ้อ

  • คิวรอซื้อน้ำมันในจำปาสัก ที่มาภาพ : Champa Post
    การขายน้ำมันในจำปาสัก ที่มาภาพ : Champa Post

    30 เมษายน 2565 ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในลาว พุ่งขึ้นไปสร้างสถิติสูงสุดใหม่ ทะลุระดับลิตรละ 20,000 กีบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยราคาในนครหลวงเวียงจันทน์ น้ำมันเบนซินพิเศษ ลิตรละ 20,610 กีบ เบนซินธรรมดา ลิตรละ 18,060 กีบ และดีเซล ลิตรละ 18,000 กีบ

    การปรับราคาขายปลีกน้ำมันครั้งนี้ การปรับครั้งที่ 11 ของลาว ในเวลาเพียง 4 เดือน นับแต่เริ่มเข้าสู่ปี 2565 เป็นต้นมา

    4 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลลาว ทำหนังสือเลขที่ 29/ลบ. เสนอต่อสภาแห่งชาติลาว จ่อลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล จาก 21% เหลือ 11% และน้ำมันเบนซินธรรมดา จาก 31% เหลือ 16% เป็นเวลา 3 เดือน

    โพสีส้อย กุทิลาด กรรมการพรรคแขวง หัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมและการค้า แขวงสะหวันนะเขต ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นในแขวงสะหวันนะเขต โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน ทำให้หลายปั๊มต้องหยุดให้บริการ

    ด้านปะดิดสิน ราซะมนตี หัวหน้ารัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว สาขาแขวงสะหวันนะเขต เปิดเผยว่า ยอดนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา ลดลงโดยตลอด โดยเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ลาวนำเข้าน้ำมันลดลง 18% ส่วนยอดนำเข้าเดือนเมษายนลดลงจากเดือนมีนาคม 24%

    5 พฤษภาคม 2565 ค่าเงินกีบตกลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินบาท โดยอัตราแลกเปลี่ยน อ้างอิงจากธนาคารการค้าต่างประเทศลาว อัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 13,439 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์ อัตราขายเงินบาทอยู่ที่ 402.89 กีบ ต่อ 1 บาท จากช่วงต้นเดือนซึ่งอยู่ที่ 11,828 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์ และ 382.80 กีบ ต่อ 1 บาท

    6 พฤษภาคม 2565 หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์รายงานว่า เงินกีบที่อ่อนค่าลง ทำให้บริษัทผู้นำเข้าน้ำมันของลาวไม่สามารถหาเงินดอลลาร์ได้เพียงพอสำหรับการนำเข้าน้ำมัน โดยผู้นำเข้าน้ำมันในลาวที่มีอยู่ 13 บริษัท มีเพียง 4 บริษัทที่สามารถสั่งซื้อน้ำมันเข้าไปในลาวได้ ทำให้ปริมาณน้ำมันที่มีขายอยู่ในลาวไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ส่งผลถึงปั๊มน้ำมันของผู้ค้ารายย่อย จำเป็นต้องปิดให้บริการ

    7 พฤษภาคม 2565 มีการเผยแพร่หนังสือแจ้งการเลขที่ 621/หสนย. เรื่องมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ออกโดยห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี ลงนามโดยอาลุนไซ สูนนะลาด รัฐมนตรี หัวหน้าห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565

    ปั๊มที่สำนักงานใหญ่รัฐวิสาหกิจเชื้อไฟลาว หลัก 6 นครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : LAO STATE FUEL COMPANY

    เนื้อหาในหนังสือ ระบุถึงทิศชี้นำของนายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการเงิน ให้มีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่รวมศูนย์ในการแสวงหา นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เพื่อนำมากระจายต่อให้กับรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว และบริษัทน้ำมันเอกชนภายในประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และสามารถตรวจสอบ ติดตาม รายรับได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

    บริษัทน้ำมันแห่งชาติที่จะตั้งขึ้น มีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเป็นแกนนำ ร่วมกับกระทรวงการเงิน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

    ในหนังสือยังได้ระบุข้อความชัดเจนว่า ให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติที่จะตั้งขึ้น “เจรจาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงราคาย่อมเยาจากประเทศรัสเซีย เพื่อช่วยลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง”

    นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงการเงินประสานกับธนาคารแห่ง สปป.ลาว และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ค้นคว้ากลไกควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และสนองเงินตราต่างประเทศให้เพียงพอ เพื่อรับประกันว่าจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ พร้อมทั้งรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

    9 พฤษภาคม 2565 สีสังคม โคดโยทา ประธานสมาคมน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส แถลงว่า ประเทศลาวมีความต้องการใช้น้ำมันเดือนละ 120 ล้านลิตร แต่เดือนพฤษภาคมผู้นำเข้าสามารถซื้อน้ำมันเข้ามาได้เพียง 20 ล้านลิตร สาเหตุเนื่องจากผลผลิตน้ำมันในตลาดโลกไม่มีความแน่นอน ทำให้บริษัทผู้นำเข้าไม่สามารถซื้อน้ำมันเข้ามาได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากเงินกีบที่อ่อนค่าลง จึงมีบริษัทผู้นำเข้าบางแห่งหยุดนำเข้าน้ำมันไว้ก่อนชั่วคราว เพราะไม่สามารถทำกำไรได้

    ในหลวงพระบาง ที่มาภาพ : ข่าวสารหลวงพระบาง

    ด้านบริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตัวแทนจำหน่ายน้ำมันทั่วประเทศ บอกว่าสาเหตุที่บริษัทไม่สามารถส่งน้ำมันให้ได้อย่างทั่วถึง ตามความต้องการของตัวแทนทั้งหมดนั้น เนื่องจาก “ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินจากธนาคารของรัฐ ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนด เพื่อไปจ่ายซื้อน้ำมันจากต่างประเทศมาให้ได้” จึงขอให้ลูกค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรอ โดยบริษัทจะพยายามทุกวิธี เพื่อหาทางเรื่องนี้ให้ได้

    คณะประจำสภาแห่งชาติลาว ออกมติเลขที่ 103/คปจ. เห็นชอบตามข้อเสนอของรัฐบาล ให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จาก 21% เหลือ 11% และน้ำมันเบนซินธรรมดา จาก 31% เหลือ 16% เป็นเวลา 3 เดือน

    10 พฤษภาคม 2565 ผลจากการลดภาษีสรรพสามิตที่ได้รับอนุมัติจากสภาแห่งชาติ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซินธรรมดาลดลง มีผลตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป โดยในนครหลวงเวียงจันทน์ ราคาน้ำมันดีเซลลดลงลิตรละ 170 กีบ น้ำมันเบนซินธรรมดาลดลงลิตรละ 760 กีบ แต่น้ำมันเบนซินพิเศษ ราคาปรับขึ้นลิตรละ 1,850 กีบ

    สมาคมน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส จัดประชุมสมาชิกซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 60 บริษัท สรุปภาพรวมของธุรกิจในปี 2564 ว่า ปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2564 ลดลง 13.35% จากปี 2563 โดยมีการนำเข้าน้ำมันทุกชนิด 1,161 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 642.76 ล้านดอลลาร์ มีการนำเข้าแก๊ส LPG 1.79 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 202,227 ดอลลาร์ ด้านการขายปลีก มีการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด 1,166 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 8,166 พันล้านกีบ จำหน่ายแก๊ส LPG 1.89 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 3.25 พันล้านกีบ

    บัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Teng โพสต์ภาพชุดบริเวณใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เขียนบรรยายว่า “บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ประชาชนหลั่งไหลไปเติมน้ำมันตั้งแต่ 06.00 น. รถติดหนักทั้งขาเข้า-ขาออก”

    คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม แถลงถึงสถานการณ์น้ำมันภายในประเทศที่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ และราคาขายปลีกยังอยู่ในทิศทางเพิ่มสูงขึ้นว่า รัฐบาลโดยสำนักงานนายกรัฐมนตรี กระทรวงการเงิน และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กำลัง ร่วมกันหาวิธีการแก้ไข โดยระยะสั้น คือการให้ประชาชนได้มีน้ำมันใช้อย่างเพียงพอ โดยรัฐบาลจะสนองเงินตราต่างประเทศแก่บริษัทที่ได้มีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้มากกว่า 50% ขึ้นไป ส่วนระยะกลาง จะเจรจากับแหล่งน้ำมันอื่นที่สามารถสนองน้ำมันให้ได้ จากที่ผ่านมาลาวนำเข้าน้ำมันจากไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วนระยะยาว จะสนองเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทผู้นำเข้าน้ำมันทุกบริษัท ได้ครบ 100%

    11 พฤษภาคม 2565 บริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว เซ็นสัญญาซื้อน้ำมันดีเซลจากโรงกลั่นน้ำมันยอดงึม พาวเวอร์ เดือนละ 10 ล้านลิตร ผู้ลงนามในสัญญา ได้แก่ สีสังคม โคดโยทา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว สมหวัง คุลุรัด ผู้อำนวยการ โรงกลั่นน้ำมันยอดงึม พาวเวอร์ และมีคำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม คำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน เจ้าแขวงเชียงขวาง ร่วมเป็นสักขีพยาน

    โรงกลั่นน้ำมันยอมงึม พาวเวอร์ ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 พันล้านกีบ โรงกลั่นตั้งอยู่ที่บ้านยอดงึม เมืองแปก แขวงเชียงขวาง มีกำลังการผลิตน้ำมันดีเซลเดือนละ 10 ล้านลิตร และสามารถขยายเป็น 30 ล้านลิตร หากมีความต้องการเพิ่ม โดยตัวโรงกลั่นคาดว่าจะสร้างเสร็จ เริ่มกลั่นน้ำมันออกสู่ตลาดได้ภายในเดือนนี้(พฤษภาคม)

    กระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันยอดงึม พาวเวอร์ จะซื้อน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ผ่านทางท่าเรือ Nghi Son จังหวัดแท็งห์ฮว๋า ในภาคกลางของเวียดนาม ขนส่งเข้ามายังลาวผ่านด่านสากลน้ำกั่น แขวงเชียงขวาง ที่อยู่ห่างมาทางทิศตะวันตก 380 กิโลเมตร และใกล้กว่าการนำเข้าจากประเทศไทย

    โรงกลั่นน้ำมันยอดงึม พาวเวอร์ จะใช้แขวงหลวงพระบางเป็นจุดพักและกระจายน้ำมันไปยังพื้นที่ต่างๆในภาคเหนือให้กับบริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว และในเดือนกันยายนปีนี้ มีแผนจะกระจายน้ำมันไปสู่ภาคกลางและภาคใต้ของลาวเพิ่มขึ้น



    คิวยาวทั้งรถใหญ่ รถเล็ก หรือหิ้วถังมาเอง ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Houmphet Manisouk

    ……

    เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่าปั๊มน้ำมันที่ยังคงเปิดให้บริการ ต้องใช้วิธีแบ่งสรรปันส่วนน้ำมัน เพื่อให้สามารถกระจายน้ำมันให้กับผู้ที่มาเติมได้อย่างทั่วถึง โดย

  • รถเก๋ง กระบะ เติมน้ำมันได้สูงสุด 500,000 กีบ
  • รถจักรยานยนต์ เติมน้ำมันได้สูงสุด 50,000 กีบ
  • เดินหิ้วภาชนะมาเติมน้ำมันจากปั๊มได้สูงสุด 50,000 กีบ
  • หลากหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น และหลากหลายมาตรการที่ถูกเร่งนำออกมาใช้ จะช่วยบรรเทาวิกฤติ “น้ำมันหมดประเทศ” ที่กำลังดำเนินอยู่ในลาวได้เพียงใด