ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวน” ในช่วงวิกฤติค่าเงินกีบ

ลาวตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวน” ในช่วงวิกฤติค่าเงินกีบ

29 ธันวาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การสัมมนาเรื่อง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว” ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีน ภาคภาษาลาว

วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ร่วมกับธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าจีน(Industrial and Commercial Bank of China : ICBC) สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “The Renminbi Clearing Bank in Lao” หรือที่ในภาษาลาวเรียกว่า “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว”

ผู้ร่วมสัมมนา ประกอบด้วย บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ซุน เฟิ่งเหลีย ผู้อำนวยการธนาคาร ICBC สาขานครหลวงเวียงจันทน์ เซี่ยง ฟางเสียง ตัวแทนสถานทูตจีนประจำลาว พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานรัฐ ผู้บริหารกิจการ บุคคลในวงการธุรกิจและสถาบันการเงินในลาว รวมประมาณ 400 คน

บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีน ภาคภาษาลาว

บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า การตั้งธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว เป็นช่องทางและสะพานเชื่อมต่อในการชำระสะสาง(clearing) ข้ามแดนระหว่างลาวและจีนให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง สามารถควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินระหว่างลาวและจีนให้เป็นระบบมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นก้าวย่างใหม่สำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คือ “กีบ-หยวน” และ “หยวน-กีบ” ในการค้า การลงทุน เป็นการขยายผลต่อจากสัญญาว่าด้วย “ความร่วมมือส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างธนาคารกลางของ 2 ประเทศ” ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว และกับผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(People’s Bank of China : PBC) ได้เคยลงนามกันไว้

ทั้งเป็นการยืนยันความเป็นประเทศ “คู่ร่วมชะตากรรม” ที่ 2 พรรค(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนกับพรรคประชาชนปฏิวัติลาว) 2 รัฐ(รัฐบาลจีนกับรัฐบาลลาว) ยึดมั่นมาตลอด

การสัมมนาเรื่อง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว” ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีน ภาคภาษาลาว

……

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 หลังเริ่มสร้างทางรถไฟลาว-จีนไปแล้วแล้ว 2 ปี ธนาคารแห่ง สปป.ลาว โดยผู้ว่าการคนก่อน สอนไซ สิดพะไซ ได้เดินทางไปลงนามในสัญญาว่าด้วย “ความร่วมมือส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นระหว่างธนาคารกลางของ 2 ประเทศ” ร่วมกับ อี้ กัง ผู้ว่าการ ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

พิธีเซ็นสัญญาทำขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน โดยมีหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน

เนื้อหาในสัญญาเป็นการเพิ่มบทบาทให้เงินหยวนและเงินกีบสามารถใช้เป็นสื่อกลางโดยตรงในการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ เปิดช่องให้พ่อค้าและนักลงทุนจีนสามารถนำเงินหยวนเข้ามาจ่ายเป็นค่าสินค้าหรือลงทุนในลาวได้โดยไม่จำเป็นต้องแลกเป็นเงินกีบก่อน

สอนไซ สิดพะไซ(ซ้าย) สมัยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ลงนามในสัญญาว่าด้วย “ความร่วมมือส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นระหว่างธนาคารกลางของ 2 ประเทศ” กับ อี้ กัง(ขวา) ผู้ว่าการ ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 โดยมีหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และทองลุน สีสุลิด เมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีลาว ร่วมเป็นสักขีพยานที่มาภาพ : ธนาคารแห่ง สปป.ลาว

รวมถึงให้ธนาคารพาณิชย์ของลาวเพิ่มบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินหยวนขึ้นมาอีก 1 สกุล จากที่ก่อนหน้านั้น บัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในลาว แยกออกเป็น 3 ประเภทตามสกุลเงิน คือ บัญชีเงินกีบ บัญชีเงินบาท และบัญชีเงินดอลลาร์สหรัฐ

ต่อจากนั้นอีก 3 ปี ในวันที่ 7 กันยายน 2565 หลังรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการไปแล้ว 10 เดือน เว็บไซต์ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้เผยแพร่ข่าวการลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ในรูปแบบจดหมายเวียน ระหว่างบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว คนปัจจุบัน กับ อี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

เนื้อหาใน MOU ระบุว่าธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศ ตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวน” ขึ้นในลาว

เนื้อข่าวระบุสั้น ๆ เพียงว่า การลงนามใน MOU ครั้งนี้ จะเป็นพื้นฐานอันสำคัญให้แก่ความร่วมมือในการบริหารการเงินระหว่างลาวและจีน โดยเฉพาะการควบคุมการชำระบัญชีข้ามแดนของลาวกับจีน ซึ่งจะทำให้การชำระบัญชีข้ามแดนของทั้ง 2 ประเทศ ได้รับการติดตาม รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน

ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยผลักดันและส่งเสริมให้วิสาหกิจและสถาบันการเงินของสองประเทศ สามารถใช้เงินหยวนในการทำธุรกิจข้ามแดน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้า การลงทุนของทั้งสองประเทศในอนาคต

เอกสารข่าวธนาคารแห่ง สปป.ลาว เรื่องการตกลงร่วมกันของธนาคารกลางลาวและจีน เพื่อตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวน” ขึ้นในลาว

……

ในการสัมมนาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ซุน เฟิ่งเหลีย ผู้อำนวยการธนาคาร ICBC สาขานครหลวงเวียงจันทน์ กล่าวว่า ธนาคารแห่ง สปป.ลาว อนุญาตให้ ICBC เป็นตัวแทนในการชำระสะสางเงินหยวนมาตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2555 จนถึงปัจจุบัน ICBC ได้ชำระสะสางธุรกรรมที่เป็นเงินหยวนในลาวแล้ว คิดเป็นมูลค่ารวม 25,000 ล้านหยวน

แต่เฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การชำระสะสางธุรกรรมเงินหยวนในลาวมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 40%

ซุน เฟิ่งเหลีย กล่าวว่า หลังจากมีการจัดตั้งธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว ขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว การทำธุรกรรมที่เป็นเงินหยวนในลาวจะสะดวกยิ่งขึ้น สามารถชำระสะสางธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความปลอดภัย

ด้านเซี่ยง ฟางเสียง ตัวแทนสถานทูตจีนประจำลาว กล่าวว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและลาวอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เงินหยวนจึงเป็นเงินตราต่างประเทศที่สำคัญสกุลหนึ่งของลาว ในการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศ มีการใช้เงินหยวนมากขึ้น

ลาวเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนลำดับที่ 5 ที่มีการจัดตั้งธนาคารชำระสะสางเงินหยวน และหลังจาก “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว” ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว จะเป็นการส่งเสริมการใช้เงินหยวนข้ามประเทศ ซึ่งองค์กรธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศในลาว สามารถมาใช้บริการชำระสะสางธุรกรรมเงินหยวนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

ตัวแทนสถานทูตจีนประจำลาวกล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นหนึ่งในผลสำเร็จจากการเดินทางไปเยือนจีนครั้งล่าสุดของทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว ก่อนที่จะมีการสัมมนาครั้งนี้ เพียงประมาณ 2 สัปดาห์…

ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว เพิ่งพบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เมื่อครั้งเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565 ประธานประเทศลาว ทองลุน สีสุลิด ได้เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง

ในโอกาสนี้ ทองลุน สีสุลิด ได้มีโอกาสพบปะสนทนาสถานการณ์บ้านเมืองกับผู้นำคนสำคัญของจีนหลายคนในวันที่ 30 พฤศจิกายน เริ่มตั้งแต่ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง และลี่ จ้านซู ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน

ทองลุน สีสุลิด กับนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ก่อนเดินทางกลับ ในวันที่ 1 ธันวาคม มหาวิทยาลัยชนเผ่ากว่างสี ยังได้จัดพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านภาษาและวรรณคดีต่างประเทศ ให้กับ ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว อีกด้วย

มหาวิทยาลัยชนเผ่ากว่างสี จัดพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านภาษาและวรรณคดีต่างประเทศ ให้กับ ทองลุน สีสุลิด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
……

จีนเริ่มพัฒนาเงินหยวนให้ออกไปมีบทบาทเป็นสกุลเงินสากลตั้งแต่ประมาณปี 2552 จากนั้นในปี 2557 ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มมีความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีปริมาณการค้าขายกับจีนอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร จัดตั้ง Renminbi Clearing Bank ขึ้นในหลายประเทศ

ในประเทศไทย ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แต่งตั้งให้ธนาคาร ICBC(ไทย) เป็น Renminbi Clearing Bank และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558

วันที่ 5 พฤษภาคม 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Clearing Bank : ฟันเฟืองเงินหยวนสู่ภูมิภาค” เขียนโดยฐิติกร เทอดไทยแท้ และนลิน หนูขวัญ อธิบายถึงความสำคัญของการตั้ง Renminbi Clearing Bank เงินหยวนขึ้นในไทย

ในบทความ ผู้เขียนใช้คำเรียก Renminbi Clearing Bank ว่า “ธนาคารชำระดุลเงินหยวน” พร้อมอธิบายนิยามว่า Renminbi Clearing Bank คือธนาคารที่ได้รับการคัดเลือกจากโดยธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงิน(Settlement) และให้บริการทางการเงินอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเงินหยวน

ผู้เขียนบทความได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงบทบาทของ Renminbi Clearing Bank ว่า นอกจากจะเป็นช่องทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนของไทยในการเข้าถึงสภาพคล่องของเงินหยวนแล้ว การตั้ง Renminbi Clearing Bank ขึ้นในไทย ยังช่วยเสริมศักยภาพของประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมเงินหยวนกับประเทศอื่นๆในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม อีกด้วย

……

ลาวเป็นประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงรายล่าสุด ที่เพิ่งมีการจัดตั้ง Renminbi Clearing Bank ขึ้นอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ลาวได้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาเศรษฐกิจ นับแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2563

ยิ่งหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นต้นมา ลาวต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินอย่างรุนแรง ค่าเงินกีบตกต่ำลงอย่างหนัก อัตราเงินเฟ้อพุ่งสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องกันทุกเดือน และเกิดการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ จนไม่มีเงินดอลลาร์เพียงพอ สำหรับสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาใช้ในประเทศ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 ก่อนหน้าการสัมมนา 2 สัปดาห์ บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 4 ของสภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 ในโอกาสเสนอร่างแผนการเงินประจำปี 2566 โดยระบุว่าแนวทางหนึ่งสำหรับแก้วิกฤติการเงินที่ลาวกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินกีบ คือต้องสนับสนุนให้มีการใช้เงินกีบให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้เงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังต้องผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้ากับประเทศคู่ค้า รวมถึงมุ่งเชื่อมโยงการทำธุรกรรมกับระบบธนาคารในสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินทุน

ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้าหลักของลาว คือไทยและจีน

……

แม้การตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว” เป็นสิ่งที่ถูกวางแผนไว้แล้วอย่างเป็นขั้นตอนมาหลายปี เพราะตำแหน่งที่ตั้งของประเทศลาว อยู่ในจุดเชื่อมต่อสำคัญที่มีบทบาทสูงต่อยุทธศาสตร์การพัฒนา “1 แถบ 1 เส้นทาง” ของจีน เพื่อเชื่อมโครงข่ายคมนาคมของจีนเข้ากับประเทศบนภาคพื้นทวีปในกลุ่มอาเซียน

แต่จังหวะในการตั้ง “ธนาคารชำระสะสางเงินหยวนแห่ง สปป.ลาว” เป็นช่วงที่ลาวกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจการเงินอย่างหนัก

ความเคลื่อนไหวนี้จะมีผลต่อสถานการณ์ที่ลาวกำลังประสบอยู่อย่างไร จะมีบทบาทคลี่คลายวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อ…

  • สัปดาห์แห่งความ “โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • การ “ปรับตัว” ที่กำลังเป็นรูปธรรมของ “ลาว”…“ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
  • “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงจาก “วาลี เวดสะพง”
  • ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”
  • “มรดกลาว-มรดกโลก” อีกหนึ่งแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ “ลาว”