ThaiPublica > สู่อาเซียน > “4 เอกชนลาว” โชว์วิสัยทัศน์…เวทีประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งที่ 11

“4 เอกชนลาว” โชว์วิสัยทัศน์…เวทีประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งที่ 11

30 มกราคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สัปดาห์นี้ ยังคงอยู่ในเรื่องซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตอนหนึ่ง เพราะแม้ได้ผ่านพ้นการประชุมไปแล้วกว่าครึ่งเดือน แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และมีผู้กล่าวถึงอยู่ไม่มากนัก

  • สมดุล “อิทธิพล” ประเทศ “เพื่อนมิตร” ลาว
  • “ทองลุน สีสุลิด” ประธานประเทศลาวคนใหม่
  • ประเด็นที่ว่า…บทบาทของธุรกิจเอกชน กับการประชุมครั้งนี้

    บทบาทดังกล่าว ไม่เพียงเฉพาะการให้การสนับสนุนการประชุมทั้งในรูปของเงินทุนและวัตถุปัจจัย ซึ่งได้เคยเขียนถึงคร่าวๆ ไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้

    แต่เป็นเรื่องขององค์กรธุรกิจเอกชนกลุ่มหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอเรื่องราวธุรกิจของตนต่อที่ประชุม เพื่อให้คณะบริหาร และผู้แทนพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ได้รับรู้และ “ถอด” องค์ความรู้และเนื้อหาที่เจ้าของและผู้บริหารธุรกิจเหล่านี้ เล่าให้ฟัง

    ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า พรรคประชาชนปฏิวัติลาว มีเกณฑ์การคัดสรรองค์กรให้เข้าไปบอกเล่าองค์ความรู้ของตนต่อที่ประชุมครั้งนี้อย่างไร ตามข่าวที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อของทางการ มีผู้นำองค์กร 4 แห่ง ที่ถูกเชิญให้ขึ้นพูดในวันที่ 13 มกราคม ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม

    สรุปเนื้อหาเรื่องราวที่ทั้ง 4 องค์กรได้บอกเล่าออกมา พอสังเขปดังนี้…

    1. น้ำกัดยอละป่า

    การประชุมใหญ่ ผู้แทนทั่วประเทศพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 11 มีข้อกำหนดเรื่องการท่องเที่ยวไว้ว่า… “พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจร เป็นจุดแข็งบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชาติ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ สร้างเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างแข็งแรงต่อเนื่อง ตามทิศทางการพัฒนาแบบยืนยง มีความกลมเกลียวกับสังคม และสิ่งแวดล้อม”

    สมเพ็ด ม้าวปะเสิด ประธาน บริษัทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ น้ำกัดยอละป่า
    ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

    สมเพ็ด ม้าวปะเสิด ประธาน บริษัทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ น้ำกัดยอละป่า ได้ถูกเลือกให้เข้าบอกเล่าเรื่องราวธุรกิจของเขา ในหัวข้อ “การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยืนยง”

    “น้ำกัดยอละป่า” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณที่เป็นแอ่งกระทะ ในลุ่มแม่น้ำกัด บ้านแฟน เมืองไซ แขวงอุดมไซ ในภาคเหนือของลาว

    สถานที่แห่งนี้เปิดมาแล้วหลายปี ที่ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลเมืองไซประมาณ 14 กิโลเมตร มีน้ำตกน้ำกัด สูง 20 เมตร กว้าง 20-50 เมตร เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว

    จุดเด่นของที่นี่ คือการออกแบบสถานที่ให้กลมกลืน ไม่แปลกแยกไปจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของคนในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ขมุ จึงเท่ากับช่วยอนุรักษ์ ลดการบุกรุกทำลายป่า คงสภาพความสมบูรณ์ของผืนป่าเอาไว้

    “น้ำกัดยอละป่า” จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นคนลาวและชาวต่างประเทศ

    2. โลมาคำ

    เกีย อู๊สิดทิเดด เป็นผู้มาเล่าประวัติความเป็นมาของ “โลมาคำ” ซึ่งเป็นแบรนด์ของน้ำดื่มและน้ำแข็ง ที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือ บรรเทาความยากลำบากของชาวบ้านคำป่าแหน เมืองชนนะบูลี และบ้านป่าก้วย เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต ภาคกลางค่อนลงมาทางใต้ของลาว

    เกีย อู๊สิดทิเดด เจ้าของโรงงานผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง “โลมาคำ”
    ที่มาภาพ สำนักข่าวสารประเทศลาว

    ทั้ง 2 บ้าน เป็นพื้นที่ชนบท แห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำ มีประชากรอาศัยอยู่รวม 1,528 คน จาก 261 ครอบครัว ทั้งหมดมีฐานะยากจน ชาวบ้านหลายคนต้องประกอบอาชีพขอทาน

    ปี 2559 เจ้าแขวงสะหวันนะเขต ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจในประเทศ เกียจึงได้ใช้เงินทุนส่วนตัว 15,000 ล้านกีบ หรือประมาณ 45 ล้านบาท เข้าไปตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็งโดยใช้แบรนด์ “โลมาคำ” เริ่มว่าจ้างชาวบ้าน 27 ครอบครัว จาก 2 บ้านนี้ เป็นแรงงาน

    ผลการดำเนินงานปีแรกเป็นไปด้วยดี อีก 2 ปีต่อมาจึงได้ว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 50 ครอบครัว

    ปัจจุบัน มีแรงงานจาก 2 บ้าน ที่ทำงานให้กับโรงงาน “โลมาคำ” ทั้งสิ้น 482 คน จาก 77 ครอบครัว

    นอกจาก “โลมาคำ” ซึ่งเป็นกลุ่มทุนรายแรกที่เริ่มใส่เงินเข้าไปให้ความช่วยเหลือ 2 บ้านนี้ ยังมีองค์กรอื่นอีกหลายแห่งได้ส่งความช่วยเหลือตามเข้าไปอีก จนถึงขณะนี้ ประมาณเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปยัง 2 ชุมชนนี้ รวมได้กว่า 7 หมื่นล้านกีบ หรือประมาณ 210 ล้านบาท

    ทุกวันนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านคำป่าแหน เมืองชนนะบูลี กับบ้านป่าก้วย เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต ดีขึ้นอย่างมาก ผิดกับเมื่อกว่า 3 ปีก่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในชุมชนมีตลาด บ่อน้ำบาดาล ยุ้งข้าว โรงสีข้าว โรงเรียน โรงพยาบาลขนาดเล็ก รวมถึงมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพขึ้นในหมู่บ้าน ฯลฯ

    3. บริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร

    ด้วยจุดเด่นของสภาพภูมิอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน บนที่ราบสูงบอละเวน เมืองปากซ่อง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของลาว ทำให้ สมไซ ลุนทะปันยา ผู้อำนวยการ บริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร ได้ตัดสินใจเข้าไปลงทุนปลูกกาแฟ ทั้งสายพันธุ์อาราบิกา (Arabica) และโรบัสตา (Robusta) บนเนื้อที่ 125 เฮกตาร์ (781.25 ไร่) ที่บ้านกงตูน ในเดือนกรกฎาคม 2555

    สมไซ ลุนทะปันยา ผู้อำนวยการ บริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร
    ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

    ทั้งที่ขณะนั้น บนที่ราบสูงบอละเวน มีผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ ทั้งจากในลาวเอง จากเวียดนามและไทย เข้าไปครอบครองพื้นที่อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก

    ด้วยความมุ่งมั่นในการดูแลและบำรุงรักษา กาแฟของบริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่ 6 ที่ได้เข้าไปลงทุน โดยสามารถเกี่ยวเกี่ยวกาแฟเมล็ดแดงจากพื้นที่ปลูก 70 เฮกตาร์ (437.5 ไร่) ได้ 1,450 ตัน

    ผลผลิตของบริษัทมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2562 พื้นที่ปลูกซึ่งสามารถสร้างผลผลิตได้ เพิ่มขึ้นเป็น 80 เฮกตาร์ (500 ไร่) สามารถเก็บเกี่ยวกาแฟเมล็ดแดงได้ 1,750 ตัน

    ปีที่แล้ว พื้นที่ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟได้ เพิ่มขึ้นเป็น 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) คาดว่าผลผลิตกาแฟเมล็ดแดงที่เก็บเกี่ยวได้ จะสูงถึง 2,100 ตัน

    โดยภาพรวม ผลิตภัณฑ์กาแฟของบริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร มีผลผลิตเฉลี่ย 20 ตันต่อ 1 เฮกตาร์ (6.25 ไร่) สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 50-60 ล้านกีบ ต่อ 1 เฮกตาร์ ในราคารับซื้อกิโลกรัมละ 2,500 กีบ (ประมาณ 8 บาท)

    ไร่กาแฟของบริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร มีลูกจ้างประจำ 100 คน แต่ในช่วงเก็บเกี่ยว ยังมีลูกจ้างชั่วคราวที่เข้ามารับจ้างเป็นรายวันอีกวันละ 300-400 คน ได้ค่าแรงตกคนละ 70,000 กีบ (ประมาณ 220 บาท) ต่อวัน

    ทุกวันนี้ ผลผลิตการแฟของบริษัทสมไซเจริญ ส่งเสริมการเกษตร ไม่ได้ส่งออกโดยตรง เพราะยังมีปริมาณไม่เพียงพอ แต่มีบริษัทผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่หลายราย มารับซื้อผลผลิตถึงในบริเวณไร่ของบริษัท

    3 บริษัทข้างต้น เป็นเสมือนตัวแทนกลุ่มทุนขนาดกลาง ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของลาว ทั้งตอนเหนือ-กลาง-ใต้ ที่ได้มีโอกาสมาบอกเล่าเรื่องราวของตน เป็นองค์ความรู้ให้ผู้แทนทั่วประเทศของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้เรียนรู้กัน

    เนื้อหาของทั้ง 3 บริษัท มีโทนใกล้เคียงกัน ในประเด็นที่ว่า แม้เป็นเรื่องราวของ “ทุน” แต่ที่ทุกองค์กรกล่าวถึง ก็ไม่ละเลยในการมองเห็นประเด็นของ “สังคม” ตามแนวทางของพรรคประชาชาชนปฏิวัติลาว ที่ยึดหลักสังคมนิยม

    ความน่าสนใจอยู่ที่บริษัทที่ 4 ที่มีเรื่องราวค่อนข้างแตกต่างและแปลกแยกจาก 3 บริษัทข้างต้นเล็กน้อย…

    หัวข้อการนำเสนอของบริษัทที่ 4 ที่ประชุมครั้งนี้ ใช้ว่า…บทเรียนการพัฒนา “รัฐวิสาหกิจหุ้นส่วน” ที่สามารถแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของ “Unitel”

    พันเอก บี มัวไฟดาเยียจ่า รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสตาร์โทรคม
    ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

    โดยมี พันเอก บี มัวไฟดาเยียจ่า รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทสตาร์โทรคม เป็นผู้นำเสนอ

    บริษัทสตาร์โทรคม เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกองทัพประชาชนลาว กับบริษัทเวียดเทล โกลบอล (Viettel Global) เริ่มจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เครือข่าย Unitel เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 จากนั้นได้ขยายมาให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในแบรนด์ U-money ภายใต้บริษัทสตาร์ ฟินเทค ซึ่งเป็นบริษัทลูก

    Unitel เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมของลาว เช่นเดียวกับ U-money ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบบชำระเงินและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในลาวด้วยเช่นกัน

    เวียดเทล โกลบอล เป็นบริษัทสื่อสารรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ที่ถือหุ้นโดยกองทัพเวียดนาม และได้ขยายเครือข่ายออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก

    เฉพาะในอาเซียน นอกจาก Unitel ในลาวแล้ว เวียดเทค โกลบอล ยังมีบริษัทในเครือซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ Mytel ในเมียนมา แบรนด์ Metfone ในกัมพูชา และแบรนด์ Telemor ในติมอร์ ตะวันออก

    เนื้อหาของ Unitel ซึ่งถูกนำเสนอโดย พันเอก บี ในที่ประชุมผู้แทนทั่วประเทศ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ถอดความโดยละเอียด ได้ดังนี้

    …ตลอดเวลา 11 ปีแห่งการพัฒนา Unitel ได้ประสบผลสำเร็จ กลายเป็นเครือข่ายโทรคมชั้นนำในตลาดของลาว มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ Unitel มากกว่า 3.3 ล้านเลขหมาย และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีก 54,000 เลขหมาย สร้างงานให้ประชาชนลาวทั่วประเทศได้กว่า 27,000 คน

    จากการปฏิบัติงานจริงที่ผ่านมา สามารถเรียนรู้การพัฒนารัฐวิสาหกิจหุ้นส่วน ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ คือ

    บทเรียนที่ 1 “ทำหน้าที่รับใช้สังคมก่อน รับผลงานตามมาทีหลัง”

    หนึ่งในวิสัยทัศน์พื้นฐานของบริษัทสตาร์โทรคม คืองานด้านเทคนิคต้องมาก่อน การตลาดมาตามหลัง ต้องขยายระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กว้างขวาง ควบคุมพื้นที่ทั่วประเทศก่อน แล้วจึงค่อยทำด้านการตลาด กับขยายฐานลูกค้า ทำให้ผู้ใช้บริการของ Unitel ได้รับบริการที่ดีที่สุด

    บทเรียนที่ 2 “เปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตัลให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นกำลังแรงของการแข่งขัน”

    ในโลกยุคปัจจุบัน ได้ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างรวดเร็ว ต่อปัญหานี้ Unitel ก็ได้วางแผนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบรอบด้าน ในทุกขอบข่ายงานของบริษัท เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดดิจิทัลได้

    บทเรียนที่ 3 “ต้องบุกทะลุ นำหน้าทุกการเปลี่ยนแปลงใหม่”

    ในระยะที่บริการด้านโทรคมนาคมกำลังขยายตัวอย่างมาก Unitel ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะก้าวไปถึงระยะอิ่มตัวของการบริการโทรคมนาคม หลังจากมีผู้ใช้บริการมือถือครอบคลุม 100% เมื่อนั้น การขยายตัวจะช้าลง ทำให้การลงทุนไม่ได้รับประสิทธิผล ฉะนั้น ยูนิเทลจึงเร่งปรับปรุงตนเอง ขยายบริการด้านอื่น เช่น บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (U-money) โดยทำธุรกิจการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และเพิ่มบริการเสริมด้วยระบบดิจิทัล

    บทเรียนที่ 4 คือ “หนุนใช้ความแข็งแกร่งของผู้ร่วมธุรกิจจากต่างประเทศ”

    การเลือกบริษัทเวียดเทล โกลบอล (Viettel Global) ของเวียดนามเป็นคู่ร่วมธุรกิจของบริษัทสตาร์โทรคม เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด เพราะว่ากลุ่มบริษัทเวียดเทล เป็นกลุ่มบริษัทด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจโทรคมนาคม สามารถสนองตอบเทคโนโลยี่ที่ทันสมัย

    การมีคู่ร่วมธุรกิจที่มีประสบการณ์สูง และมีรากฐานความสัมพันธ์แบบพิเศษกับประเทศลาว ได้ช่วยให้บริษัทสตาร์โทรคม ได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าอันใหญ่หลวง รวมทั้งความรู้ วิธีการทำงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และแปรเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ซึ่งบทเรียนอันล้ำค่าดังกล่าว ได้ถูกนำมาหมุนเวียนใช้ในการทำงานจริงภายในบริษัทสตาร์โทรคม โดยเฉพาะในประเทศลาวของเรา…

    นี่คือเรื่องราวของทั้ง 4 บริษัท ที่ถูกเลือกขึ้นมาให้ผู้แทนทั่วประเทศของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เพื่อโชว์วิสัยทัศน์ครั้งนี้ ต้องมี “นัยสำคัญ” อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย

    “นัย” ที่ว่า น่าจะแสดงทิศทางออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น หลังการเลือกตั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ที่พอบ่งชี้หน้าตาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของลาวได้แล้วว่า จะมีใครบ้าง

    ข้อมูลช่วงท้ายนี้ ขอสรุปภาพรวม รายชื่อกลุ่มธุรกิจ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ได้ให้การสนับสนุนการประชุมผู้แทนทั่วประเทศ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 11 ซึ่งบุนโจม อุบนปะเสิด เลขาคณะบริหารงานพรรค กระทรวงการเงิน และหัวหน้าอนุกรรมการงบประมาณ ในการจัดประชุมใหญ่ครั้งนี้ ได้รวบรวมรายชื่อและตัวเลขไว้ครบถ้วนแล้วทั้งหมด(ดูกราฟิกประกอบ)

    โดยงบประมาณสำหรับจัดการประชุมครั้งนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพร้อมของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ จนถึงเสร็จสิ้นการประชุม คิดเป็นเงินกว่า 70,000 ล้านกีบ

    มีหน่วยงานของรัฐและเอกชน 34 แห่ง ให้การสนับสนุนในรูปเงินสดและวัตถุปัจจัย เป็นเงินรวม 14,530 ล้านกีบ ในนี้เป็นการสนับสนุนเงินสด 14,280 ล้านกีบ