ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup 5 ประเทศอาเซียนเชื่อมการชำระเงินด้วย QR Code เต็มรูปแบบปีหน้า

ASEAN Roundup 5 ประเทศอาเซียนเชื่อมการชำระเงินด้วย QR Code เต็มรูปแบบปีหน้า

9 ตุลาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 ตุลาคม 2565

  • 5 ประเทศอาเซียนเชื่อมการชำระเงินด้วย QR Code เต็มรูปแบบปีหน้า
  • มาเลเซียให้สัตยาบัน CPTPP เป็นสมาชิกรายที่ 9
  • ต่างชาติถือหุ้นโครงการพลังงานหมุนเวียนในฟิลิปปินส์ได้ 100%
  • การลงทุนด้านสุขภาพในฟิลิปปินส์มีข้อจำกัดมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
  • มาเลเซียกำหนดผู้บินเข้า-ออกต้องกรอกแบบฟอร์มศุลกากร
  • สิงคโปร์เผยยุทธศาสตร์ต่อต้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย
  • 5 ประเทศอาเซียนเชื่อมการชำระเงินด้วย QR Code เต็มรูปแบบปีหน้า


    นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เปิดเผยว่า ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่าง 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะเชื่อมโยงกันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า

    นายเพอร์รีกล่าวเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมว่า อินโดนีเซียได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับไทยแล้ว และจะเชื่อมโยงกับมาเลเซียและสิงคโปร์ในเร็วๆ นี้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงกับฟิลิปปินส์

    ในปลายเดือนสิงหาคม BI และ ธนาคารกลางของสิงคโปร์หรือ Monetary Authority of Singapore (MAS) ตกลงที่จะร่วมมือในการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อการชำระเงินในอาเซียน

    การเชื่อมโยงการชำระเงินที่เต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้แอปพลิเคชันการชำระเงินได้อย่างราบรื่นทั่วทั้ง 5 ประเทศถือว่า เป็นการพลิกโฉมการชำระเงินจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

    รายงานของ DealStreetAsia เมื่อเดือนกรกฎาคมระบุว่า อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ เตรียมลงนามข้อตกลงเพื่อรวมเครือข่ายการชำระเงินภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าใน 5ประเทศนี้สามารถซื้อสินค้าในประเทศอื่น ๆ ในเครือข่ายได้โดยการสแกนส QR Code

    ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในแผนการเชื่อมโยงการชำระเงินของอาเซียน ที่มีเป้าหมายที่จะขยายการเชื่อมต่อการชำระเงินค้าปลีกแบบเรียลไทม์ข้ามพรมแดนระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนภายในปี 2568

    “การเชื่อมต่อการชำระเงินของอาเซียนจะรวมโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงการชำระเงินที่รวดเร็ว APIแบบเปิด และรหัส QR Code ของการชำระเงินในสกุลเงินท้องถิ่น (LCS)”นายโดดี บูดี วาลุโย รองผู้ว่าการธนาคารอินโดนีเซียกล่าวกับ

    การชำระเงินจะอยู่ในรูปสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ซึ่งหมายความว่าผู้มีถิ่นพำนักในอินโดนีเซียสามารถซื้อสินค้าในสิงคโปร์โดยใช้แอป การชำระเงินในท้องถิ่น และชำระเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ที่คำนวณจากเงินรูเปียะห์ อินโดนีเซีย โดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวกลาง

    “ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้เกิดกลไกการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ใช้และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคาร บริษัทฟินเทค และผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน” นายวาลุโยกล่าว

    ธนาคารอินโดนีเซียได้ทดลองใช้การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนกับธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และกับธนาคารกลางมาเลเซีย(Bank Negara) ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้

    นายไนลุล ฮูดา จาก Institute for Development of Economics and Finance (INDEF) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาดังกล่าวว่า “ปัจจุบัน ลูกค้าสามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่มีโลโก้ VISA หรือ Mastercard หรือ Amex ได้เท่านั้น แต่ในเร็วๆนี้ก็จะใช้ GoPay, OVO และ DANA นอกอินโดนีเซียได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลในท้องถิ่น กับการทำธุรกรรมในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้”

    รายงานล่าสุดของ Research and Markets ระบุว่า การโอนเงินทั่วโลกและธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศจะสูงถึง 39.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2569 และมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากร 400 ล้านคนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

    “ด้วยการเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR ลูกค้าสามารถโอนเงินให้ญาติของพวกเขาผ่านแอปในแต่ละประเทศ ดังนั้นค่าใช้จ่ายจึงต่ำลงและการทำธุรกรรมก็โปร่งใสมากขึ้น และจะมีผลต่อการโอนเงิน ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคอาจเลือกที่จะส่งเงินผ่าน QRIS มากกว่า Western Union ” ภีมา ยุธิษฐิรา จากCenter of Economic and Law Studie ในกรุงจาการ์ตากล่าว

  • ไทย-มาเลเซียเปิดชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code
  • ธปท. จับมือธนาคารกลางอินโดนีเซีย เปิดบริการชำระเงินข้ามประเทศด้วย QR Code
  • “ไทย-สิงคโปร์” เปิดนวัตกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-time คู่แรกของโลก
  • มาเลเซียให้สัตยาบัน CPTPP เป็นสมาชิกรายที่ 9

    ที่มาภาพ:https://www.theedgesingapore.com/news/global-economy/malaysia-ratified-cptpp-singapore-chaired-meeting
    มาเลเซียได้รับการต้อนรับในฐานะสมาชิกรายที่ 9 หลังเสร็จสิ้น กระบวนการให้สัตยาบันความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกอย่างเป็นทางการ (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership:CPTPP)ในการประชุมที่สิงคโปร์เป็นประธาน

    นายกัน คิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ CPTPP ด้วยตนเองครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 กล่าวว่า การให้สัตยาบัน CPTPP ของมาเลเซียจะตอกย้ำประโยชน์ของข้อตกลงสำหรับประเทศที่ลงนามทั้งหมด

    “ผลลัพธ์เหล่านี้จะประกันได้ว่า CPTPP ยังคงเป็นข้อตกลงที่มีเป้าหมายสูงซึ่งนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ธุรกิจและผู้คนของเรา ความพยายามของเรามีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นซึ่งครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคน” นายกันกล่าวในการแถลงข่าว

    การประชุมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 และ 8 ตุลาคม ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP ประจำปีนี้

    การให้สัตยาบันข้อตกลง CPTPP ซึ่งมีสมาชิก 11 คนของมาเลเซียจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน

    “ผมยินดีที่เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันในการเป็นประธาน CPTPP(Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ของสิงคโปร์ เรามีความคืบหน้าในการดำเนินการตาม CPTPP และได้มีความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว” นายกันกล่าว และว่า CPTPP ไม่ใช่แค่ข้อตกลงทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็น “แพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกัน” ระหว่างสมาชิก CPTPP ในประเด็นเหล่านี้

    CPTPP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามโดย 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership) หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงในปี 2559

    ในระหว่างการกล่าวเปิดการแถลงข่าวของคณะกรรมาธิการ นายกันกล่าวว่า สมาชิกได้ชี้ไปถึงการสนับสนุนการดำเนินการเพิ่มเติมในการพัฒนาความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีผ่าน CPTPP สำหรับเศรษฐกิจสีเขียว

    ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สมาชิกได้พูดคุยถึงประเด็นต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกในการค้าดิจิทัล เทคโนโลยีและข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ ตลอดจนความร่วมมือในการรับหรือการทำให้เป็นดิจิทัลและเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในเศรษฐกิจดิจิทัล นายกันกล่าว และ เน้นว่าข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement:DEPA) ระหว่างชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์มีต้นกำเนิดมาจากในส่วนของอีคอมเมิร์ซของ CPTPP

    สำหรับคณะกรรมาธิการเอง ยังได้ประเมิน “ความก้าวหน้าที่ต่อเนื่อง” ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาในการดำเนินการตามข้อตกลง ตลอดจนทบทวนผลกระทบต่อการค้าและห่วงโซ่อุปทานในปีที่สามของ CPTPP หลังมีผลบังคับใช้

    ผลการวิจัยเบื้องต้นจากสถาบันต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค CPTPP พบว่า การค้าสินค้าภายในประเทศสมาชิก CPTPP ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2564 มีการเติบโตที่แข็งแกร่งในการค้าบริการดิจิทัลภายใน CPTPP และกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้นหลังบังคับใช้

    การค้าภายใน CPTPP เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% เป็น 467 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 448 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2553 ถึง 2561 ในขณะที่การค้าบริการดิจิทัลภายใน CPTPP เพิ่มขึ้น 46% เป็น 51.9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2562 เทียบกับค่าเฉลี่ย 35.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2553 ถึง 2561

    สมาชิก CPTPP ยังมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวนมาก (FDI) ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% จาก 267 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 294 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562

    ในงานแถลงข่าวเดียวกัน ดาโต๊ะ เสรี โมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวว่า คณะกรรมการชุดที่ 6 ถือเป็น “โอกาสสำคัญ” สำหรับมาเลเซีย “หลังจาก 5 ปีที่ยาวนาน ในที่สุดเราก็ได้ให้สัตยาบัน CPTPP [และกำลัง] เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการในฐานะผู้ที่ให้สัตยาบัน” นายอัซมินกล่าว

    นายอัซมินกล่าวอีกว่า มาเลเซีย “มุ่งมั่นอย่างเต็มที่” ในการบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นหุ้นส่วนในการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกยิ่งขึ้น และสร้างระบบการค้าพหุภาคีตามกฎ “เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า CPTPP จะเพิ่มแรงผลักดันให้กับความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันวาระการเติบโตที่ก้าวหน้า ยั่งยืน และทั่วถึง”

    แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรียังสนับสนุนให้ผู้ลงนามที่เหลือ เร่งการดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้สำหรับประเทศลงนามทั้งหมดโดยเร็วที่สุด บรูไนและชิลีเป็นสองประเทศที่เหลือซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบันข้อตกลงอย่างเป็นทางการ

    สำหรับหารือเกี่ยวกับการเข้าร่วม CPTPP ของสหราชอาณาจักรนั้น “กำลังดำเนินอยู่” นายกันกล่าว

    “เนื่องจากนี่เป็นการให้ภาคยานุวัติครั้งแรกโดยเศรษฐกิจที่มีความมุ่งหวัง สิ่งสำคัญคือเราต้องทำได้ดีและจัดวางกระบวนการที่เหมาะสม เพื่อรักษากฎและความมุ่งหวังที่มีมาตรฐานสูงของ CPTPP ในแง่ของความมุ่งมั่นในการเข้าถึงตลาด” นายกันกล่าว

    ไดชิโร ยามากิวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของญี่ปุ่น กล่าวว่า ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนในการดำเนินการยอมรับสหราชอาณาจักรเข้าร่วมข้อตกลงให้แล้วเสร็จ เนื่องจากมุ่งเน้นที่การรักษามาตรฐานระดับสูงสำหรับการให้ภาคยานุวัติและกำหนดแบบอย่างสำหรับการรับเข้า CPTPP

    ญี่ปุ่นเป็นประธานคณะทำงานพิจารณาการร่วม CPTPP ของสหราชอาณาจักร

    สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเศรษฐกิจที่อยู่นอกกลุ่มรายแรกที่ได้ลงนามเดิม 11 ราย ขณะที่ จีน คอสตาริกา เอกวาดอร์ และไต้หวันได้สมัครเข้าร่วม CPTPP ด้วย

    นายกันกล่าวต่อว่า ในขณะที่สมาชิก CPTPP เน้นไปที่การผลักดันกระบวนการเข้าเป็นภาคีของสหราชอาณาจักร ก็ยังคงจัดการกับการงานที่ตามมาจากตามกระบวนการเข้าเป็นภาคี CPTPP อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายข้อตกลงไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย และสามารถยืนได้มั่นใน “มาตรฐานที่สูง”

    เมื่อถามเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลออสเตรเลียในการขอเข้าร่วม CPTPP ต่อจีน วุฒิสมาชิกทิม แอร์เรส ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการผลิตของออสเตรเลีย ได้ย้ำถึงข้อกำหนดที่เข้มงวดสำหรับการภาคยานุวัติ

    “นี่เป็นข้อตกลงคุณภาพสูงที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ทุกฝ่าย และจะได้รับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งโดยการภาคยานุวัติของเศรษฐกิจที่แสดงเห็นแล้วว่ามีการปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดของ CPTPP” นายกันกล่าวและว่า ในการประชุมระหว่างสมาชิกเป็นครั้งแรกเพื่อหารือเกี่ยวกับการยื่นเข้า CPTPP ของสหราชอาณาจักรนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการและเพื่อให้แน่ใจว่ามีการพัฒนามาตรฐานที่สูงมากสำหรับการภาคยานุวัติ CPTPP

    การประชุมคณะกรรมาธิการ CPTPP ครั้งต่อไปจะมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ในปี 2566

    ต่างชาติถือหุ้นโครงการพลังงานหมุนเวียนในฟิลิปปินส์ได้ 100%

    ที่มาภาพ: https://solenergy.com.ph/filipino-invest-solar-energy/
    เป้าหมายของรัฐบาลมาร์กอสในการเพิ่มการใช้พลังงานพื้นเมืองและพลังงานหมุนเวียน (RE) ในฟิลิปปินส์เป็นจริงมากขึ้นหลังจากกระทรวงยุติธรรมให้ความเห็นว่า การลงทุนในภาคส่วนนี้ไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญว่าด้วยการจำกัดความเป็นเจ้าของธุรกิจของต่างชาติไว้ที่ 40%

    นอกจากนี้ เจตนาของข้อจำกัดความเป็นเจ้าของของต่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ คือ การปกป้องทรัพยากรที่จำกัดและใช้หมดไปของฟิลิปปินส์” DOJ กล่าว

    อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่ากระทรวงพลังงาน (DOE) จะต้องแก้ไขกฎและระเบียบที่ใช้บังคับที่ออกตาม กฎหมาย Republic Act No. 9513 (RA 9513)หรือพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนของปี 2551 (Renewable Energy Act of 2008) ก่อนที่จะให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในพลังหมุนเวียน

    ราฟาเอล ลอติลญ่า รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานกล่าวว่า กระทรวงกำลังแก้ไขแนวทางตามที่ออกภายใต้กฎหมาย RA 9513 ซึ่งส่งผลให้การสำรวจ พัฒนา การผลิต และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ภายใต้การควบคุมและการกำกับดูแลของรัฐบาล

    ภายใต้กฎเกณฑ์ปัจจุบัน ผู้พัฒนาต่างชาติอาจได้รับอนุญาตให้ดำเนินการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ผ่านบริการหรือสัญญาดำเนินงานกับรัฐบาล แต่สัดส่วนการถือหุ้นจำกัดไว้ที่ 40%

    กระทรวงยุติธรรมยังชี้ว่า “การจัดสรรน้ำโดยตรงจากแหล่งน้ำ จะยังคงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดความเป็นเจ้าของในต่างประเทศในประมวลกฎหมายน้ำ(Water Code) [อย่างไรก็ตาม] โรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังน้ำเพื่อผลิตพลังงาน [เปิด] ให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ”

    “การลงทุนของภาคเอกชนเป็นศูนย์กลาง [ในการ] บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนและวิสัยทัศน์สำหรับชาวฟิลิปปินส์ และนี่คือการปรับเปลี่ยนเพื่อนักลงทุนต่างชาติของเราที่จะลงทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศของเรา” ลอติลญ่ากล่าว

    รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็น 35%ภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2583

    ในปี 2564 สัดส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 22% ในทางกลับกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินมีสัดส่วน 58%

    ลอติลญากล่าวว่า กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุงนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นในพลังงานหมุนเวียน

    เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประกาศใช้นโยบายที่กำหนดให้ระบบจำหน่ายสาธารณูปโภค สหกรณ์ไฟฟ้า และซัพพลายเออร์ไฟฟ้ารายย่อย ต้องจัดหาแหล่งพลังงาน 2.52% ของความต้องการพลังงานประจำปีจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม

    ในปี 2563 รัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติเป็นเจ้าของโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพขนาดใหญ่ทั้งโครงการ ผ่านข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงินและทางเทคนิค ตราบใดที่การลงทุนขั้นต่ำมีมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์

    ตัวเลขจากระทรวงพลังงานแสดงให้เห็นว่า จนถึงขณะนี้มีการลงทุนประมาณ 270.8 ล้านเปโซในพลังงานหมุนเวียน โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์เกือบครึ่งหนึ่งมูลค่า 130.4 ล้านเปโซ รองลงมาคือลม 52.9 ล้านเปโซ ไฟฟ้าพลังน้ำ 38.7 ล้านเปโซ ชีวมวล 38.2 ล้านเปโซ และความร้อนใต้พิภพ 10.5 ล้านเปโซ

    เมื่อวันที่มิถุนายนปีนี้ กระทรวงพลังงานได้ลงนามในสัญญาพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 998 ฉบับ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 5,460.59 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตที่มีศักยภาพ 61,613.81 เมกะวัตต์

    การลงทุนด้านสุขภาพในฟิลิปปินส์มีข้อจำกัดมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

    ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน ประเทศที่มีนโยบายจำกัดการลงทุนในภาคสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก จากรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP)

    ในรายงานแนวโน้มการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Asia Pacific Trade and Investment Trends 2022/2023 ESCAP ระุบว่า ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เข้มงวดที่สุดสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคสุขภาพ โดยอ้างถึงการสำรวจที่ดำเนินการโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาครั้งล่าสุดในปีที่แล้ว

    ฟิลิปปินส์และอีก 9 ประเทศในภูมิภาค คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย มองโกเลีย ไทย เวียดนาม และเมียนมา จำกัดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

    สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ ข้อจำกัดอยู่ในรูปแบบของข้อกำหนดการเข้าประเทศแบบมีเงื่อนไข

    “ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพการส่งออกถูกกำหนดไว้สำหรับการถือครองของชาวต่างชาติในภาคสุขภาพในฟิลิปปินส์” ESCAP กล่าว

    แม้ว่าจะมีเงื่อนไขสำหรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในฟิลิปปินส์ นักลงทุนในภาคบริการด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม(healthcare and wellness services) ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งในด้านการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงินที่เสนอโดยรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ การนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ปลอดภาษี รวมถึงการจ้าง ชาวต่างชาติและได้รับวีซ่าเพื่อการพำนักแบบพิเศษ

    นอกเหนือจากฟิลิปปินส์แล้ว ESCAP ยังกล่าวอีกว่าเวียดนามยังได้กำหนดข้อกำหนดในการเข้าประเทศในภาคส่วนด้านสุขภาพโดยเฉพาะ

    ในทางกลับกัน อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย และเมียนมา ได้ห้ามการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในบางภูมิภาคหรือภาคส่วนย่อยของภาคสุขภาพ

    สำหรับอินเดีย อินโดนีเซีย สปป. ลาว เมียนมา และไทย ESCAP กล่าวว่า มีเพดานการเป็นเจ้าของในต่างประเทศและข้อกำหนดในการร่วมทุน

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโครงการใหม่(Greenfield) ในภาคสุขภาพในภูมิภาคลดลง 49% ในปี 2564 จากปี 2551

    จากข้อมูลของ ESCAP การลงทุนในภาคส่วนเริ่มลดลงหลังจากวิกฤติการเงินในปี 2552 แต่เริ่มฟื้นตัวในปี 2555 แต่ลดลงอีกครั้งในปี 2558 และ 2562

    “FDI ที่ลดลงโดยทั่วไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการลงทุนในโครงการใหม่ที่ลดลงอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ผลักดันให้ FDI เข้าสู่ภาคส่วนนี้” ESCAP กล่าว

    เพื่อเพิ่มการลงทุนที่ในภูมิภาคในภาคสุขภาพ ESCAP กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทาย เช่น ระบบนิเวศการลงทุนในระดับภูมิภาคและในประเทศที่ย่ำแย่ การขาดเงินทุน เทคโนโลยี ทักษะ ความสามารถด้านกฎระเบียบที่ต่ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี และบริการที่เกี่ยวข้อง

    “การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้เป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็น ในการสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ต้องมี และมีการป้องกันเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้จากการลงทุนในภาคสุขภาพ” ESCAP กล่าว

    แนะนำให้จัดทำนโยบายที่สอดคล้องกันและสถาบันกำกับดูแลที่โปร่งใส เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบและการดูแลให้การลงทุนยั่งยืน

    ESCAP กล่าวว่า รัฐบาลในภูมิภาคนี้จะต้องลงทุนในการพัฒนาทักษะ ความสามารถทางเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ เพื่อทำให้ประเทศน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการลงทุนด้านสุขภาพ

    นอกจากนี้ ESCAP ยังกล่าวอีกว่า มีความจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภาคสุขภาพ เภสัชกรรม และวัคซีนสำหรับทั้งภูมิภาค รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงจากต่างประเทศ

    ESCAP กล่าวว่า การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาคสุขภาพจะไม่เพียงช่วยให้ภูมิภาคสามารถจัดการกับความท้าทายจากการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าพร้อมที่จะตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต

    “โดยรวมแล้ว การลงทุนในภาคสาธารณสุขสามารถเป็นหลักได้ว่าประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ยังแข็งแกร่งขึ้นด้วย” ESCAP กล่าว

    มาเลเซียกำหนดผู้บินเข้า-ออกต้องกรอกแบบฟอร์มศุลกากร

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/asia/air-travellers-malaysia-customs-forms-2991131

    ผู้เดินทางที่เดินทางมาถึงหรือออกจากมาเลเซียโดยเครื่องบินจะต้องกรอกแบบฟอร์มสำแดงสิ่งของศุลกากร(customs declaration form) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งมาเลเซีย (CAAM) ประกาศ

    กัปตันเชสเตอร์ วู ชี ซอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CAAM กล่าวเมื่อวันอังคาร (4 ต.ค.) ว่า เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กำหนดโดยกรมศุลกากรของมาเลเซีย (RMCD) ที่ออกเมื่อวันที่ 5 กันยายน

    ในจดหมายถึง CAAM กรมศุลกากรระบุว่า แบบฟอร์มสำแดงศุลกากรหมายเลข 7 (K7) เป็นข้อกำหนดภายใต้บทบัญญัติทางกฎหมายหลายประการ ได้แก่ มาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2510 และระเบียบศุลกากรปี พ.ศ. 2562

    กัปตันวูกล่าวว่า ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย สายการบินทั้งหมดที่เข้าสู่มาเลเซียได้รับการร้องขอให้ประกาศให้ผู้โดยสารทุกคนทราบเกี่ยวกับข้อกำหนดในการกรอกแบบฟอร์ม

    “เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงมาเลเซียทางอากาศ RMCD ขอความร่วมมือจากทุกสายการบินที่เข้าสู่มาเลเซียเพื่อประกาศให้ผู้โดยสารทุกคนทราบถึงข้อกำหนดในการกรอกแบบฟอร์ม K7 และส่งไปยังเจ้าหน้าที่ศุลกากร ที่สนามบิน” กัปตันวู กล่าว

    จากแบบฟอร์ม ทุกคนที่เดินทางมาถึงหรือออกจากมาเลเซียจะต้องสำแดงสินค้าที่ต้องเสียภาษีหรือต้องห้าม เงินสด และ/หรือะตราสารเปลี่ยนมือผู้ถือ (Bearer Negotiated Instrument) ที่มีมูลค่าเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในการครอบครอง หากไม่สำแดงจะถือว่ามีความผิด

    โฆษกกรมศุลกากรกล่าวว่า ข้อกำหนดในการกรอกแบบฟอร์มนี้จะใช้กับผู้เดินทางทางอากาศเท่านั้น

    เดอะสตาร์รายงานว่า ก่อนที่คำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ในทันที ผู้โดยสารทุกคนต้องสำแดงสินค้าที่ต้องเสียภาษีสิ่งของต้องห้าม หรือจำนวนเงินใดๆ ที่สูงกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยวาจาต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น

    สิงคโปร์เผยยุทธศาสตร์ต่อต้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย

    ที่มาภาพ: https://www.mas.gov.sg/news/media-releases/2022/singapore-announces-five-pronged-strategy-to-counter-the-financing-of-terrorism
    เมื่อวันศุกร์ (7 ต.ค.)รัฐบาลสิงคโปร์ ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ต่อต้านการจัดหาเงินทุนจากการก่อการร้าย
    เอกสารข่าวที่ออกร่วมโดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสิงคโปร์ ระบุว่า ยุทธศาสตร์นี้ เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติเพื่อต่อต้านการให้เงินสนับสนุนการก่อการร้าย หรือ National Strategy for Countering the Financing of Terrorism (CFT) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วยการดำเนินการเพื่อป้องกัน ตรวจจับ ตรวจสอบ และบังคับใช้ด้านการเงินการก่อการร้าย

    ทางการระบุว่า ยุทธศาสตร์นี้จัดทำขึ้น จากข้อค้นพบที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงทางการเงินจากการก่อการร้ายที่ดำเนินการในปี 2563

    “ภัยคุกคามทางการเงินจากการก่อการร้ายที่สำคัญของสิงคโปร์เกิดจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมถึงบุคคลที่หัวรุนแรง เมื่อพวกเขาระดม โยกย้าย และใช้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อจุดประสงค์ในการก่อการร้าย” เอกสารข่าวระบุ

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้พบการจัดหาเงินทุนจากการก่อการร้ายหลายครั้ง รวมถึงชาวบังคลาเทศที่ทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในสิงคโปร์ ซึ่งบริจาคเงินให้กับการรณรงค์หาทุนเพื่อสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ส่วนกรณีอื่นๆ รวมถึงนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ที่มอบเงินให้ชายคนหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังซีเรียเพื่อเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย

    ในการประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ ทางการเน้นว่า ผู้ให้บริการชำระเงินและธนาคารที่ดำเนินการโอนเงินข้ามพรมแดนมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางการเงินจากการก่อการร้ายมากขึ้น เนื่องจาก “ความสะดวกและความเร็วในการใช้บริการ”

    ในเดือนกุมภาพันธ์ บริษัท SGCN Link ถูกยกเลิกการจดทะเบียนโดยหน่วยงานกำกับดูแลบัญชีและองค์กร Accounting and Corporate Regulatory Authority (ACRA) หลังจากล้มเหลวในการใช้มาตรการขั้นสูงเพื่อลดความเสี่ยงในการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนจากการก่อการร้ายเมื่อจัดตั้งบริษัท

    ทางการยังชี้ถึงสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินและการขนส่ง ที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศที่เสี่ยงต่อกิจกรรมการก่อการร้าย

    ยุทธศาสตร์ CFT ระดับชาติประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ การระบุความเสี่ยงที่มีการประสานงานและครอบคลุม กรอบกฎหมายและการลงโทษที่เข้มแข็ง ระบบการกำกับดูแลที่เข้มงวดและกรอบการกำกับดูแลที่กำหนดเป้าหมายความเสี่ยง การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด และความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือ

    โดยทั่วไปแล้ว สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐที่ประสานงานและคำนึงถึงเทคโนโลยี มาตรฐาน และข้อกำหนดสำหรับการดำเนินการด้วยข้อมูลจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา

    ยุทธศาสตร์นี้ยังครอบคลุม ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการตรวจจับและขัดขวางภัยคุกคามดังกล่าว ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์คือ กรอบการกำกับดูแลควรมีความครอบคลุมและแข็งแกร่ง เพื่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถดำเนินการกับผู้ก่อการร้ายและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว

    “สิงคโปร์ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างจริงจังและแน่วแน่ต่อ TF (การจัดหาเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย) เพื่อรักษาประเทศ ภูมิภาค และโลกของเราให้ปลอดภัยจากกิจกรรมการก่อการร้าย”

    โรงงานปิดตัวกว่า 220 แห่งในย่างกุ้งจากโควิด

    ที่มาภาพ: https://mizzima.com/article/garment-workers-face-dire-consequences-due-coup
    โรงงานในย่างกุ้งกว่า 220 แห่ง ได้ปิดตัวลงทั้งปิดถาวร ปิดชั่วคราว หรือเลิกจ้าง
    โม โม ซู จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่สอง โรงงานกว่า 220 แห่งในเขตย่างกุ้ง ได้ยื่นขอปิดกิจการทั้งถาวร ปิดชั่วคราว หรือเลิกจ้างตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน

    “มีโรงงาน 223 แห่ง ในบรรดาทั้งหมดมี 53 ปิดตัวลง 146 แห่งเลิกจ้างและที่เหลือปิดชั่วคราว ซึ่งเริ่มในปลายเดือนกัยายน” รัฐมนตรีกล่าว

    รัฐบาลจะมีการออกบัตรแรงงานให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างรวดเร็วและจะได้รับการพิจารณาก่อน หากโรงงานอื่นต้องการจ้างงาน

    “สำหรับจำนวนคนงานที่จะถูกเลิกจ้างบอกได้บาก คนงานต้องหางานทำทันทีเมื่อโรงงานปิดตัวลง บางคนได้งาน จากรายชื่อโรงงานทั้งหมด มีคนงานประมาณ 40,000 ถึง 50,000 คน” รัฐมนตรีกล่าว

    ในช่วงแรกของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 กรกฎาคม ในย่างกุ้งโรงงาน 173 แห่งได้รับผลกระทบ รวมถึงปิดตัวลง 56 แห่ง ทำให้มีผู้ว่างงาน 41,395 คน