เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา World Economic Forum ได้เผยแพร่ Travel & Tourism Competitiveness Report 2019 รายงานที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ โดยพิจารณาจากดัชนี 14 รายการทั้งในด้านนโยบายและหลายปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละประเทศ
ดัชนีชี้วัดทั้ง 14 ข้อซึ่งแต่ละข้อมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน ได้แก่ 1. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (Business Environment) 2. ความมั่นคงปลอดภัย (Safety and Security) 3. สุขภาพและอนามัย (Health and Hygiene) 4. ทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงาน (Human Resources and Labour Market) 5. ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Readiness) 6. การให้ความสำคัญกับการเดินทางและท่องเที่ยว (Prioritization of Travel and Tourism) 7. การเปิดรับนานาชาติ (International Openness) 8. การแข่งขันด้านราคา (Price Competitiveness) 9. ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) 10. โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ (Air Transport Infrastructure) 11. โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ (Ground and Port Infrastructure) 12. โครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว (Tourist Service Infrastructure) 13.ทรัพยากรธรรมชาติ(Natural Resources) 14. ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ (Cultural Resources and Business Travel)
รายงานประจำปี 2019 มีการจัดอันดับทั้งหมด 140 ประเทศ มี 8 ประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับใหม่ และมีประเทศที่มีข้อมูลไม่เพียงพอและไม่ได้จัดอันดับในครั้งนี้ 4 ประเทศ
รายงานได้วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวออกเป็นรายภูมิภาค พร้อมระบุว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับสองของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.8
เอเชียแปซิฟิกรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 290.86 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ 339.53 พันล้านดอลลาร์ โดยมีรายได้เฉลี่ยจากนักท่องเที่ยว 1,167.3 ดอลลาร์ต่อหัว ส่งผลให้จีดีพีภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวมีมูลค่า 874.55 พันล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 3% ของจีดีพี มีการจ้างงาน 76,735 คน หรือคิดเป็น 4.1% ของการจ้างงานรวม
โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ จากคะแนนนำในทุกดัชนีชี้วัด ขณะที่บังกลาเทศมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถมากที่สุด ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนผสมของทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ดีที่สุด รวมทั้งยังมีคะแนนสูงในด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศที่ดี ตลอดจนยังได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ ส่งผลให้มีคะแนนดีขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในระดับอนุภูมิภาคพบว่า ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกตะวันออกหรือ Eastern Asia-Pacific ซึ่งประกอบด้วย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน นิวซีแลนด์ มองโกเลียเป็นอนุภูมิภาคที่มีขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวสูงสุดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมีคะแนนนำระดับเฉลี่ยของโลกในทุกตัวชี้วัด ซึ่งกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พึ่งพาการเดินทางและการท่องเที่ยวมากกว่าอนุภูมิภาคอื่นในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ
สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากให้เข้ามาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือทรัพยากรธรรมชาติและมีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งปัจจัยหลังเป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีคะแนนนำมากกว่าระดับโลกและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวและการเปิดรับนานาชาติ นอกจากนี้ เอเชียแปซิฟิกยังมีคะแนนมากกว่าระดับเฉลี่ยในด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศ ซึ่งยังคงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแง่จำนวนสายการบินและเส้นทางการบิน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามหลังคะแนนเฉลี่ยของโลกและของภูมิภาคในด้านโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว และโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทุกประเทศ มีคะแนนน้อยในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรดำเนินการต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพและอนามัย เพื่อให้แข่งขันกับกลุ่ม Eastern Asia-Pacific ได้
ในบรรดา 9 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการจัดอันดับในปีนี้ ยกเว้นเมียนมา และมีการนำบรูไนเข้ามาจัดอันดับเป็นครั้งแรก สิงคโปร์ยังเป็นผู้นำของกลุ่ม โดยอยู่อันดับ 17 ของโลก แม้จะร่วงลงมา 4 อันดับเพราะมีคะแนนด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก มีคะแนนด้านทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงานในอันดับ 5 คะแนนด้านความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในอันดับ 15 ด้านความมั่นคงปลอดภัยอยู่ที่อันดับ 6 ด้านการให้ความสำคัญกับการเดินทางและท่องเที่ยวอยู่อันดับ 2 และโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมอยู่อันดับ 3
ส่วนด้านที่สิงคโปร์มีคะแนนถดถอยคือ ด้านการเปิดรับนานาชาติที่ถอยลงมาอยู่อันดับ 3 จากอันดับ 1 เนื่องจากมีข้อกำหนดด้านวีซ่าเพิ่มเติม และติดอันดับ 120 ในด้านทรัพยากรธรรมชาติจากที่เคยอยู่อันดับ 103
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 7 ประเทศมีขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวสูงขึ้น จากการจัดอันดับในครั้งก่อน โดยฟิลิปปินส์มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นสูงสุด ขยับขึ้น 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 75 ของโลก เป็นผลจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมซึ่งคะแนนด้านนี้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 80 จาก 90 ส่วนด้านความพร้อมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคะแนนอยู่ในอันดับ 82 จาก 86 และยังต้องทำอีกมากในด้านสุขภาพและสุขอนามัยเพราะติดดันดับที่ 135
ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีคะแนนต่ำสุดคือ กัมพูชาซึ่งอยู่ในอันดับที่ 98 ของโลก เนื่องจากคะแนนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอยู่อันดับ 106 และโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับ 101
สำหรับไทยอันดับเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่ 34 จาก 31 และเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่การเดินทางและการท่องเที่ยวมีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจสูงสุด ไทยมีคะแนนลดลงในด้านทรัพยากรธรรมชาติติดอันดับที่ 10 จาก 7 แต่ด้านโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวขยับขึ้นมาที่อันดับ 14 จาก 16
อาเซียนต้องสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืน
เอเชียแปซิฟิกมีจุดแข็งหลายด้าน แต่ก็เผชิญกับความท้าทายหลายด้านเช่นกัน และแม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการจะมีการพัฒนาอย่างมาก แต่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่กลุ่ม Eastern Asia-Pacific ก็สามารถที่จะปรับโครงสร้างพื้นฐานได้อีกมาก เพื่อยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล
ที่สำคัญ ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นข้อจำกัดหลักของภูมิภาคนี้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หลายประเทศยังประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ขาดแคลนน้ำ การบำบัดน้ำเสียที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ย ป่าไม้เหลือน้อยเต็มที และสัตว์ป่ากำลังจะสูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความคืบหน้าอยู่บ้าง เพราะได้ให้การรับรองข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยในข้อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือปริมาณปลาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัววัดคุณภาพน้ำทะเลในปัจจุบัน นอกจากนี้จากข้อมูลที่มีพบว่า โดยทั่วไปภูมิภาคไม่ได้คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติมากเท่าที่คาดไว้ หากภูมิภาคนี้บริหารจัดการความสมดุลระหว่างการขยายตัวของการท่องเที่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จะส่งผลให้ขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council) คาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจนถึง 2029 ประเทศในภูมิภาคที่เข้ามาอยู่ในการจัดอันดับปีนี้จะมีจีดีพีภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 80% มากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก
คะแนนเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกในข้อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 4.0 โดยนิวซีแลนด์มีคะแนนสูงสุด ติดอันดับ 24 ของโลก เพราะมีมลพิษทางอากาศต่ำ และมีกฎเกณฑ์การดูแลสิ่งแวดล้อมที่เข้มเข็ง ส่วนอินเดียมีการปรับปรุงด้านนี้มากที่สุด
สำหรับในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดอ่อนเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกคือความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายป่า สายพันธุ์ที่ถูกคุกคามมีจำนวนมากขึ้น และการบำบัดน้ำเสียที่มีไม่มากพอ ผลที่ตามมาคือทรัพยากรธรรมชาติจึงตกอยู่ในความเสี่ยง คะแนนด้านนี้จึงลดลงมา 2 ปีต่อเนื่องเพราะมีการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตน้อยกว่าที่คาด
คะแนนเฉลี่ยด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมกลุ่มเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 3.8 โดยสิงคโปร์มีคะแนนสูงสุดของกลุ่มที่ 4.3 รองลงมาคือบรูไนที่มีคะแนน 4.1 มาเลเซียกับฟิลิปปินส์มีคะแนนเท่ากันที่ 4.0 เวียดนามมีคะแนน 3.8 ลาว 3.7 ไทย 3.6 อินโดนีเซีย 3.5 และกัมพูชา 3.4