ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์แจกเงินประชาชนครบรอบ 50 ปีก่อตั้งประเทศ มาเลเซียเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการต่างชาติ

ASEAN Roundup สิงคโปร์แจกเงินประชาชนครบรอบ 50 ปีก่อตั้งประเทศ มาเลเซียเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการต่างชาติ

27 ตุลาคม 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 ตุลาคม 2562

  • สิงคโปร์แจกเงินประชาชนครบรอบ 50 ปีก่อตั้งประเทศ
  • มาเลเซียเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการต่างชาติ
  • ประธานาธิบดีวิโดโดสั่งคณะรัฐมนตรีแก้กฎหมายดึงการลงทุนสร้างงาน
  • ธปท.เอ็มโอยูแบงก์ชาติเมียนมาหนุนใช้เงินบาทและจ๊าต

    สิงคโปร์แจกเงินประชาชนครบรอบ 50 ปีก่อตั้งประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/14-million-singaporeans-to-receive-bicentennial-bonus-benefits-in-november

    รัฐบาลสิงคโปร์จะแจกเงินประชาชนจำนวน 1.4 ล้านคนในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งประเทศในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยการแจกเงินจะครอบคลุมการจ่ายคืนเงินสดภายใต้โครงการบัตรกำนัลภาษีสินค้าและบริการ (GST Voucher Scheme) การเติมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund) และแจกโบนัสสำหรับแรงงานรายได้ต่ำ

    ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระหว่างการพิจารณางบประมาณประจำปี 2562 รัฐบาลได้ประกาศแพกเกจโบนัสวงเงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งประเทศ

    ประชาชนจำนวน 1.4 ล้านคนที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ในปีนี้และที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีรายได้พึงประเมิน 28,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2018 จะได้รับคืนเงินสดจากภาษี GST ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีตั้งแต่ 150-300 ดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นอยู่กับมูลค่าบ้าน

    จากการเปิดเผยของนาย เฮง สวี เคียต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แรงงานจำนวน 400,000 คนที่มีคุณสมบัติตามระบบสวัสดิการ (Workfare Income Supplement – WIS) จะได้รับโบนัส (Workfare Bicentennial Bonus) ในสิ้นเดือนตุลาคม และยังได้รายได้เพิ่มอีก 10% ของรายได้ 2018 ทั้งปี หรือขั้นต่ำ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อให้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

    สำหรับผู้พิการทุพพลภาพที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ในปี 2018 และผู้ที่มีคุณสมบัติตาม WIS จะได้รับเงินตั้งแต่ 100-150 ดอลลาร์สิงคโปร์จากฐานรายได้ในปีที่แล้ว

    ประชาชนที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับภาษีคืนและโบนัส รวมทั้งผู้ที่ได้ลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือไว้กับ SingPass จะได้รับ SMS แจ้งภายในสิ้นเดือนนี้ และรัฐบาลจะส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้ที่มีคุณสมบัติทุกราย

    สำหรับผู้ที่จะได้รับการเติมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวน 300,000 คน ซึ่งจะได้รับจดหมายแจ้งและการเติมเงินในเดือนพฤศจิกายน

    ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 50-64 ปีจะได้รับเงิน 300-1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ (Special Account หรือ Retirement Account) รวมกัน

    ผู้ที่มีสิทธิจะได้การเติมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องมีรายได้พึงประเมินปี 2018 ไม่เกิน 28,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ มีบ้านที่มีมูลค่าที่ประเมินในแต่ละปี ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2018 ไม่เกิน 21,000 ดอลลาร์ และจะต้องมีบ้านไม่เกิน 1 หลัง

    ส่วนการแจกโบนัสครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งประเทศ รัฐบาลได้แจกไปแล้วใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา

    การเติมเงินเข้าบัญชีเพื่อการศึกษา (Edusave Accounts) และบัญชีเพื่อการศึกษาหลังมัธยมศึกษา (Post-Secondary Education Accounts – PSEA) ได้ดำเนินการไปแล้วในเดือน มิถุนายน ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 570,000 คนได้รับประโยชน์ โดยนักเรียนประถมและมัธยมได้รับในบัญชี Edusave คนละ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนนักเรียนที่มีอายุ 17-20 ปีได้รับเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ใน PSEA

    ผู้ที่เสียภาษีจะได้รับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (personal income tax rebate) คืน 50% หรือไม่เกิน 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคน โดยจะได้ในปีประเมินภาษี 2019

    นาย เฮง สวี เคียต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะแบ่งปันส่วนเกินงบประมาณให้กับประชาชนเป็นระยะๆ และจะช่วยเหลือกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และหวังว่าการจ่ายเงินโบนัสครั้งนี้ ชาวสิงคโปร์ทุกคนไม่ว่าอยู่ในวัยไหนจะร่วมกันเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญของประวัติศาสตร์สิงคโปร์

    มาเลเซียเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการต่างชาติ


    ในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ ผู้ให้บริการดิจิทัลต่างชาติที่ได้ลงทะเบียนไว้จะต้องเสียภาษีบริการในอัตรา 6% จากการให้บริการดิจิทัลแก่ลูกค้าในมาเลเซีย

    รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดรับผู้ให้บริการดิจิทัลต่างชาติ (Foreign Service Provider – FSP) ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

    การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ให้บริการดิจิทัลต่างชาติเสียภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกและของภูมิภาคที่พยายามที่จะเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมาเลเซียได้ใช้แนวทางเก็บภาษีจากการให้บริการซึ่งเป็นภาษีด้านการบริโภคจากการให้บริการอิเล็กทรอนิคส์แก่ลูกค้ามาเลเซียของผู้ให้บริการต่างชาติแทนที่จะเก็บภาษีโดยตรง

    พระราชบัญญัติภาษีบริการ 2019 (Service Tax (Amendment) Act 2019) ฉบับแก้ไข ได้มีผลลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2019

    กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมการบังคับใช้ที่กว้างขึ้นมากกว่าการจดทะเบียนผู้ให้บริการต่างชาติภายใต้ข้อบังคับอื่น เพราะรวมการให้บริการดิจิทัลแก่ภาคธุรกิจด้วย ซึ่งผู้ให้บริการต่างชาติต้องตรวจสอบว่าการให้บริการนั้นเข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

    ขอบเขตการให้บริการดิจิทัลในกฎหมายกำหนดไว้ หมายถึง บริการใดๆ ที่ส่งมอบหรือผ่านการเป็นสมาชิกบนอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายระบบอิเล็กทรอนิคส์อื่น ซึ่งไม่สามารถจะใช้ได้หากไม่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT และการส่งมอบบริการต้องเป็นระบบอัตโนมัติ

    รายละเอียดบางส่วนจากข้อมูลของกรมศุลกากรระบุประเภทของการบริการ ได้แก่ 1) ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ออนไลน์ อัปเดต และโปรแกรมเสริมของเว็บไซต์ ตัวกรอง (filter) และไฟร์วอล 2) แอปพลิเคชันมือถือและวิดีโอเกม 3) การบริการดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เพลง อีบุ๊ก ภาพยนตร์ ภาพ ข้อความ และข้อมูล 4) แพลตฟอร์มโฆษณา เช่น การจัดให้มีพื้นที่โฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มสื่อที่ไม่มีตัวตน 5) แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เสนอแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าและบริการ 6) บริการซิร์ชเอนจิน 7) สังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก 8) ฐานข้อมูลและเก็บข้อมูล (host) เช่น บริการให้เช่าพื้นที่ในการนำเว็บไซต์มาฝาก คลังข้อมูลออนไลน์ ระบบแชร์ไฟล์ และการเก็บข้อมูลในคลาวด์ 9) โทรคมนาคมบนอินเทอร์เน็ต 10) การอบรมออนไลน์ เช่น การเรียนการสอนทางไกล อีเลิร์นนิง คอร์สอบรมออนไลน์และสัมมนาผ่านเว็บไซต์ 11) การให้บริการสมัครสมาชิกออนไลน์หนังสือพิมพ์และวารสาร 12) บริการประมวลผลการชำระเงิน

    เพื่อความชัดเจนว่าธุรกิจเข้าข่ายตามกฎหมายนี้หรือไม่ ข้อมูลกรมศุลกากรจึงกำหนดว่า บริการที่ต้องมีการส่งมอบนั้นผู้ให้บริการใช้คนน้อยที่สุดหรือไม่มีการจัดการโดยคนเลย ดังนั้นการส่งผ่านการบริการต้องผ่านอีเมล และหากการส่งมอบการบริการมีการดำเนินการส่วนหนึ่งโดยคนจากผู้ให้บริการก็จะไม่เข้าข่ายตามขอบเขตบริการดิจิทัลตามกฎหมายนี้

    อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรไม่ได้ระบุชัดเจนลงไปในเรื่องการจัดการที่ใช้คนน้อยที่สุดรวมทั้งเรื่องการส่งมอบบริการต้องเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งถือว่ายังไม่แน่นอน ผู้ให้บริการต่างชาติต้องสอบถามจากกรมศุลกากรโดยตรงเพื่อความชัดเจน

    ความหมายของผู้ให้บริการต่างชาติ
    ผู้ให้บริการต่างชาติหมายถึง บุคคลใดก็ตามที่อยู่นอกมาเลเซีย ที่ให้บริการดิจิทัลแก่ลูกค้ารวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่อยู่นอกมาเลเซียและดำเนินการในการให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการซื้อและขายสินค้าหรือบริการ และหมายถึงผู้ที่ทำธุรกรรมสำหรับการให้บริการดิจิทัลในนามบุคคลอื่น

    กรมศุลกากรให้แนวทางความหมายของผู้ให้บริการต่างชาติไว้ว่า 1) บุคคลใดก็ตามที่ขายสินค้าดิจิทัลแก่ลูกค้าโดยตรง 2) บุคคลใดก็ตามที่ขายสินค้าดิจิทัลทางอ้อมผ่านตัวกลาง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ และออกใบแจ้งหนี้ ใบเรียกเก็บเงินสำหรับการขายนั้น 3) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำรายการขายในนามตัวแทนผู้ให้บริการต่างประเทศ และออกใบแจ้งหนี้ในชื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

    ความหมายของผู้ให้บริการต่างชาติตามแนวทางกรมศุลกากรจึงครอบคลุมผู้ให้บริการต่างชาติ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่ขายสินค้าและบริการในฐานะตัวแทนผู้ให้บริการในประเทศจะเข้าข่ายต้องเสียภาษี 6% นี้หรือไม่

    ลูกค้าคือใคร
    ลูกค้าหมายถึงผู้ที่ดำเนินการใดก็ตาม 2 ด้านภายใต้ 3 แนวทางดังนี้ 1) ชำระเงินสำหรับบริการดิจิทัล ด้วยการใช้บริการสินเชื่อหรือหักเงินจากสถาบันการเงินหรือบริษัทในมาเลเซีย 2) รับบริการดิจิทัล โดยใช้หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่บนเครือข่าย (IP address) ที่จดทะเบียนในมาเลเซีย หรือรหัสประเทศของโทรศัพท์มือถือต่างประเทศที่กำหนดให้มาเลเซีย หรือ 3) พำนักอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งในข้อนี้การที่ระบุว่าพำนักอยู่ในมาเลเซียหรือไม่จะพิจารณาจากที่อยู่สำหรับการเรียกเก็บเงินของผู้รับบริการ ที่อยู่ที่บ้านของผู้รับบริการ หรือการเลือกประเทศของผู้รับบริการ

    ในกรณีที่ผู้ให้บริการต่างชาติประเมินแล้วว่าอยู่ในข่ายการเป็นผู้ให้บริการต่างชาติที่ให้บริการแก่ลูกค้าในมาเลเซีย ยังต้องประเมินอีกว่าเข้าเกณฑ์การลงทะเบียนเพื่อเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ให้บริการต่างชาติที่มีรายได้จากการให้บริการดิจิทัลแก่ลูกค้าในมาเลเซียถึง 500,000 ริงกิตต่อปี

    สำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องคำนวณรายได้ประจำปีที่ต้องรวม 1) มูลค่าบริการดิจิทัลที่ให้แก่ลูกค้าในมาเลเซีย 2) มูลค่าบริการดิจิทัลที่ผู้ให้บริการต่างชาติให้บริการแก่ลูกค้าในมาเลเซียบนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

    หากประเมินแล้วว่าเข้าข่าย FSP ต้องลงทะเบียนออนไลน์กับกรมศุลกากร ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และ FSP ที่ได้ลงทะเบียนแล้วจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภาษีบริการตามเงื่อนไขภายใต้ ภาษีบริการ 2018 (Service Tax Act 2018)

    โดย FSP ต้องเก็บภาษีบริการ 6% สำหรับการให้บริการดิจิทัลทุกประเภทจากลูกค้าในมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงลูกค้าธุรกิจด้วย

    FSP ต้องออกใบแจ้งหนี้หรือใบเรียกเก็บเงิน ซึ่งต้องมีรายละเอียดดังนี้ 1) วันที่ที่ออก 2) หมายเลข FSP ที่ได้ลงทะเบียนไว้ 3) รายละเอียดของการให้บริการ 4) จำนวนเงินที่ต้องชำระไม่รวมภาษี ซึ่งอัตราภาษีและมูลค่าภาษีที่เรียกเก็บต้องแยกต่างหาก

    ผู้ให้บริการต่างชาติสามารถใช้เงินตราต่างประเทศหรือเงินริงกิตมาเลเซียได้ในการระบุมูลค่าบริการในใบเรียกเก็บเงิน แต่ต้องยื่นแบบคืนภาษีกับการส่งเงินภาษีกับกรมศุลกากร โดยต้องยื่นแบบคืนภาษีเป็นรายไตรมาสด้วยการใช้แบบฟอร์ม DST-02 แต่มูลค่าของบริการดิจิทัลและมูลค่าภาษีต้องแสดงเป็นเงินริงกิต ต้องชำระภาษีเป็นเงินริงกิตเมื่อถึงกำหนดชำระ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านธนาคาร และสามารถจ่ายภาษีจากบัญชีธนาคารต่างประเทศได้

    ประธานาธิบดีวิโดโดสั่งคณะรัฐมนตรีแก้กฎหมายดึงการลงทุนสร้างงาน


    ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ซึ่งนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ประกอบด้วยนักวิชาการและตัวแทนจากพรรคการเมืองอย่างละครึ่ง ปฏิญานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ได้สั่งการให้ คณะรัฐมนตรีภายในเดือนแรกของการทำงานดำเนินการแก้กรอบกฎหมาย พร้อมย้ำว่าความสำคัญอันดับแรกในการบริหารประเทศคือการสร้างงาน

    ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า รัฐมนตรีต้องทำงานเป็นทีมเพื่อจัดการกับหลักเกณฑ์ของรัฐบาลและหลักเกณฑ์ระดับรัฐบาลท้องถิ่นที่ทับซ้อนกันและทำให้มีความซับซ้อนเกินไป

    โดยต้องแยกแยะออกมาให้ได้ว่า ด้านไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของธุรกิจชุมชน และต้องทำให้ได้ภายในหนึ่งเดือน ตลอดจนต้องทบทวนหรือยกเลิก

    “เป้าหมายหลักของเราคือ การสร้างงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและประชาชนต้องการ” ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวและเตือนคณะรัฐมนตรีว่า ไม่ควรแสดงความไม่เห็นด้วยต่อสาธารณะ แต่ควรนำมาหารือถกเถียงในที่ที่ประชุม ซึ่งสามารถทำได้อย่างเสรี

    ประธานาธิบดีวิโดโดได้สั่งให้ทบทวนกฎหมาย 74 ฉบับด้วยการใช้ประมวลกฎหมาย หรือกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายและประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง

    การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในอินโดนีเซียชะลอตัวในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยความไม่แน่นอนของกฎหมายและหลักเกณฑ์ รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ ซึ่งประธานาธิบดีวิโดโดเคยกล่าวไว้ว่า ประเทศไม่ดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตที่ย้ายฐานออกจากจีนได้มากเท่ากับประเทศอื่นในอาเซียน

    ธปท.เอ็มโอยูแบงก์ชาติเมียนมาหนุนใช้เงินบาทและจ๊าต

    ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางเมียนมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการใช้เงินจ๊าตและเงินบาทสำหรับการชำระธุรกรรมระหว่างไทยและเมียนมา และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน

    เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนาย จอ จอ หม่อง ผู้ว่าการ ธนาคารกลางเมียนมา ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ ได้แก่

    1) ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการใช้เงินจ๊าตและเงินบาทสำหรับการชำระธุรกรรมระหว่างไทยและเมียนมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบในการศึกษาแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมในการส่งเสริมการใช้เงินบาทและเงินจ๊าตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างสองประเทศ

    2) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงินและการชำระเงิน เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงบริการทางการเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

    โดยมีนาย อู โซ วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการคลัง (Ministry of Planning and Finance) ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้