ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีคนรวยอุดรายได้ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีคนรวยอุดรายได้ฝ่าวิกฤติโควิด-19

20 มิถุนายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 มิถุนายน 2564

  • อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีคนรวยอุดรายได้ฝ่าวิกฤติโควิด-19
  • เวียดนามพร้อมเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ 1 ส.ค.
  • เวียดนามเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดน้ำตาลจากไทย
  • เวียดนามร่างนโยบายใหม่ส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร
  • กัมพูชาประกาศแผนเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลปี 2021-2035
  • FDI มาเลเซียลดต่ำสุดรอบ 11 ปี
  • สิงคโปร์เสียแชมป์ความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
  • ฟิลิปปินส์อันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกแย่สุดรอบ 5 ปี
  • อินโดนีเซียเล็งเก็บภาษีคนรวยอุดรายได้ฝ่าวิกฤติโควิด-19

    ที่มาภาพ: https://www.officeholidays.com/countries/indonesia/jakarta/2020

    อินโดนีเซียกำลัง วางแผนที่จะเก็บภาษีคนรวยมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐให้ผ่านพ้นวิกฤตสุขภาพและภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

    รัฐบาลกำลังเสนอเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 35% สำหรับบุคคลที่มีรายได้สูง โดยมีรายได้มากกว่า 5 พันล้านรูเปียะห์ (466,550 ดอลลาร์สิงคโปร์) ต่อปี

    อินโดนีเซีย เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีอัตราภาษี 4 ขั้นตั้งแต่ 5 – 30% สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 50 ล้านรูเปียะห์ถึงมากกว่า 500 ล้านรูเปียะห์

    นีลมาดริน นูร์ โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีจะช่วย “เสริมงบประมาณของรัฐ”ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้วย และกล่าวอีกว่า อัตราภาษีใหม่จะมีผลต่อชาวอินโดนีเซียที่ร่ำรวย รวมถึงผู้ที่พำนักในต่างประเทศที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอินโดนีเซีย นอกจากนี้รัฐบาลจะวางแผนกลยุทธ์การกำกับดูแลและจัดตั้งสำนักงานบริหารเพื่อดูแลการเลี่ยงภาษี

    อัตราภาษีใหม่เป็นหนึ่งในมาตรการส่วนหนึ่งที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องระบบภาษีครั้งใหญ่ โดยภาษีอื่นๆ ได้แก่ ภาษีคาร์บอนและการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น

    อินโดนีเซียประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณประมาณ 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีที่แล้ว จากการใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเยียวยา ทั้งการแจกเงินประกันสังคม และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19

    รัฐบาลต้องทะยอยลดการขาดดุลให้เหลือเพียง 3% ภายในปี 2023 นายนีลมาดรินกล่าวว่า ยังไม่มีการประมาณการว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากน้อยเพียงใดจากภาษีที่เสนอใหม่

    ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมกับสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า กลุ่มรายได้ที่เป็นเป้าหมายของอัตราภาษีที่สูงขึ้นจะครอบคลุม “คนจำนวนน้อยมาก

    ตัวชี้วัดการพัฒนาโลกของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ปี 2019 ชาวอินโดนีเซียกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้ มากกว่า 45% เพิ่มขึ้นจาก 38% เมื่อสองทศวรรษก่อน

    รายงานความมั่งคั่งทั่วโลกของเครดิต สวิส ปี 2019 ระบุว่า ประชากรประมาณ 1% มีรายได้ประจำปีระหว่าง 100,000 ดอลลาร์ และ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ 82% มีเงินน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์

    รายงานล่าสุดจากที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ไนท์ แฟรงค์ เปิดเผยว่า ปี 2020 ผู้ที่มีความมั่งคั่งกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีจำนวนกว่า 21,000 ราย และประมาณ 700 รายที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูงมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอินโดนีเซียซึ่งมีประชากร 270 ล้านคน

    นายฟาจรี อัคบาร์ นักวิเคราะห์ภาษีจาก Center for Indonesia Taxation Analysis (CITA) กล่าวถึงการจัดกลุ่มรายได้ใหม่และการใช้อัตราภาษีที่สูงขึ้นสำหรับเศรษฐีอินโดนีเซียว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมและจะทำให้ระบบภาษีก้าวหน้ายิ่งขึ้น

    อย่างไรก็ตาม คนรวยในอินโดนีเซียจำนวนมากพึ่งพารายได้แบบ passive income(รายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ หรือจากการลงทุน เช่น รายได้ค่าเช่า เงินปันผล) ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย (final income tax) อยู่แล้ว

    “หากรัฐบาลต้องการผลที่ดีที่สุด ก็จะต้องแก้ไขอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ด้วย”

    นายอาห์ มัฟตูชาน ผู้บริหารจากกลุ่มตัวแทนผู้สนับสนุนนโยบายสวัสดิการ กล่าวว่า ขั้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มี 4 ขั้นในปัจจุบันควรขยายเป็น 7 ขั้นแทนที่จะเป็นเพียง 5 ขั้น เพื่อสร้างระบบภาษีที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยรวมอัตราภาษี 40% สำหรับบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูงมาก (ultra-high-net-worth individuals) โดยมีรายได้ 50 พันล้านรูเปียะห์

    เวียดนามพร้อมเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ 1 ส.ค.

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-gets-set-to-tax-e-commerce-revenue-4295669.html

    เวียดนามวางแผนที่จะเก็บภาษีประจำปีในอัตรา 1.5% ของรายรับจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีรายได้ 100 ล้านด่อง (4,297ดอลลาร์) และสูงกว่านั้น ตามนโยบายสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมและร้านค้าปลีกออนไลน์

    พระราชกฤษฎีกาที่มีกฎระเบียบใหม่กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่ทางการกล่าวว่า อาจให้เวลาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้พร้อมรับกับการเก็บภาษี

    แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะต้องจัดทำรายงานรายเดือนเกี่ยวกับผู้ค้า รายได้ บัญชีธนาคาร และประเภทของสินค้าแก่เจ้าหน้าที่

    เจ้าหน้าที่สรรพากรระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ระบบการเก็บภาษีในปัจจุบันไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ขายแบบดั้งเดิมที่ต้องจ่ายค่าโสหุ้ยอื่นๆ ขณะที่ผู้ขายออนไลน์เลี่ยงภาษีได้หลายประเภท

    เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การเก็บภาษีผู้ขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะช่วยป้องกันการขายของเถื่อนและสินค้าปลอม

    สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม รายงานว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามขยายตัว 18% ในปีที่แล้วมีมูลค่า 11.8 พันล้านดอลลาร์ และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก ท่ามกลางการระบาดใหญ่

    เวียดนามเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดน้ำตาลจากไทย

    ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/anti-dumping-countervailing-duty-imposed-on-cane-sugar-from-thailand/203150.vnp

    หน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรการการค้า ของเวียดนาม (Trade Remedies Authority of Vietnam : TRAV) รายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ตัดสินใจที่จะใช้ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและต่อต้านการอุดหนุนอย่างเป็นทางการในอัตรา 47.64% กับ ผลิตภัณฑ์น้ำตาลอ้อยจำนวนหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564

    หน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรการการค้า ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เริ่มสอบสวนคดีน้ำตาลอ้อยไทยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 หลังจากพิจารณาคำขอจากผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ

    ผลการสอบสวนยืนยันว่า น้ำตาลอ้อยที่นำเข้าจากประเทศไทย รวมทั้งน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายดิบ ได้รับเงินอุดหนุนและทิ้งที่ร้อยละ 47.65 ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศเสียหายหนัก

    การสอบสวนแสดงให้เห็นว่าการขนส่งน้ำตาลที่ได้รับเงินอุดหนุนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น 330.4% เป็น 1.3 ล้านตันในปี 2563
    ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เรียกเก็บภาษีน้ำตาลไทยชั่วคราวร้อยละ 33.88 ในเดือนกุมภาพันธ์

    เวียดนามร่างนโยบายใหม่ส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/new-policies-drafted-to-encourage-investment-in-agriculture/203113.vnp

    กระทรวงการวางแผนและการลงทุน กำลังจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อสนับสนุนการพัฒนากิจการที่ลงทุนในการเกษตรและพื้นที่ชนบท เพื่อดึงการลงทุนเข้าสู่ภาคเกษตร

    กระทรวงฯระบุว่า จำเป็นต้องมีนโยบายใหม่เพื่อส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ลงทุนในการเกษตรและพื้นที่ชนบท และใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเวียดนามภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA)

    พระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ซึ่งจะนำมาใช้แทนพระราชกฤษฎีกา 57/2561 ว่าด้วยกลไกและนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลงทุนในการเกษตรและพื้นที่ชนบท มีเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ออกเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการลงทุนสาธารณะ 2019 กฎหมายว่าด้วยการลงทุนใน 2019 และกฎหมายสถานประกอบการ 2020

    นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาใหม่ทีเกิดขึ้นในการผลิตทางการเกษตร รวมถึงราคาเนื้อหมูในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (4-5 เท่าของราคาเนื้อหมูในสหรัฐฯ) และผลกระทบรุนแรงจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

    ในร่างกฎหมาย กระทรวงฯประมาณการว่า ความต้องการเงินลงทุนของอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2021-2025 อยู่ที่ 107 ล้านล้านด่อง (4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยที่ 8.6 ล้านล้านด่อง มาจากงบประมาณของรัฐในการดำเนินโครงการประมาณ 800 โครงการ เงินลงทุนจากงบประมาณของรัฐคาดว่าจะช่วยดึงการลงทุนต่อเนื่อง 9 ล้านล้านด่องจากองค์กรที่ลงทุนในการเกษตรและพื้นที่ชนบท

    กระทรวงฯยังคาดว่า ความช่วยเหลือจากงบประมาณของรัฐจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก หากกิจการทางการเกษตร 100 แห่งที่มีเงินลงทุนประมาณ 100 พันล้านด่องต่อปี อย่างน้อยก็จะมีการจ้างงานทางตรง 10,000 ตำแหน่ง และงานทางอ้อม 30,000 ตำแหน่ง

    คาดว่าโครงการต่างๆ จะช่วยให้มีการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการบำบัดของเสียในพื้นที่ชนบท เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และสร้างงานและรายได้ให้กับแรงงานในชนบท เพื่อพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน

    ในร่างพระราชกฤษฎีการะบุว่า ความช่วยเหลือจากรัฐจะมุ่งเน้นไปที่การเกษตรกรรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้และผลิตภัณฑ์ประมง การปลูกและปกป้องป่าไม้ ทำเกลือ ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ นโยบายจูงใจมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดเพื่อการบริโภคผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรได้เร็วขึ้น

    กัมพูชาประกาศแผนเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลปี 2021-2035

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/digital-policy-framework-launched

    กัมพูชาได้ประกาศกรอบนโยบาย เศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายสังคมของกัมพูชา ปี 2021-2035อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าภาคดิจิทัลเป็นรูปแบบใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนา และการค้าระหว่างประเทศ และเป็นกลไกใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    กรอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมของกัมพูชา 2021-2035 คาดว่าจะเพิ่มแรงผลักดันใหม่ให้กับภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกัมพูชา และยกระดับการพัฒนาเพื่อก้าวกระโดดสู่ยุคดิจิทัลในฐานะแหล่งโอกาสใหม่ เพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

    กรอบนโยบายจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้แก่ การสร้างงาน การพัฒนาทักษะ บรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น ส่งเสริมกิจกรรมการค้าและธุรกิจ ความเชื่อมโยงในการผลิตและห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคและระดับโลก และการบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นายอัน พรมณีโรท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกล่าวว่า กรอบนโยบายได้กำหนดวิสัยทัศน์ของ “การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมที่มีพลวัตร เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่และส่งเสริมสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานของการเข้าสู่ความปกติแบบใหม่”

    พร้อมเน้นว่าจะต้องบรรลุวิสัยทัศน์ภายในปี 2035 ด้วยหลักการ 3 ประการ ได้แก่ “การสร้างรากฐานทางดิจิทัล” “การใช้ดิจิทัล” และ “การพลิกโฉมทางดิจิทัล”

    ในบริบทของวิกฤติโควิด-19 กรอบเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายสังคมของกัมพูชา จะเป็นส่วนสำคัญของกรอบการวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ครอบคลุมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมสตาร์ทอัพใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ”

    โสเชฐ บิน ที่ปรึกษาผู้ก่อตั้งบริษัท Healthtech Startup Peth Yoeung และผู้จัดการประจำประเทศกัมพูชา Singapore mobile healthtech e-Health MyCLNQ กล่าวกรอบการทำงานนี้เป็นหนึ่งใน “กลยุทธ์ที่ถูกต้อง” ของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติ Covid-19

    กัมพูชาตามหลังอาเซียนในด้านเทคโนโลยี แต่นี่เป็นโอกาสในการเสริมศักยภาพและตามให้ทัน

    กรอบเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายสังคมของกัมพูชา มุ่งเน้นไปที่ความสำคัญหลัก 5 ด้าน ประกอบด้วยสองรากฐาน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และส่งเสริมความไว้วางใจและความเชื่อมั่นทางดิจิทัล และเสาหลัก 3 ประการ คืด การสร้างพลเมืองดิจิทัล การสร้างรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล

    แผนนโยบายนี้จัดทำขึ้นตามความต้องการ ศักยภาพ ทรัพยากร และความสามารถที่แท้จริงในภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและกระบวนการปฏิวัติดิจิทัลในกัมพูชาบนรากฐานที่มั่นคงของสันติภาพ บูรณภาพแห่งดินแดน ความสามัคคีของชาติและเสถียรภาพการเมือง ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กัมพูชาประสบความสำเร็จมานานกว่าสามทศวรรษ

    กัมพูชาได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “จะสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีพลวัตร โดยการวางรากฐานสำหรับการส่งเสริม การนำดิจิทัลมาใช้และวิวัฒนาการทางดิจิทัลในทุกภาคส่วนของสังคม รัฐ ประชาชน และชุมชนธุรกิจ”

    วิสัยทัศน์นี้ มีเป้าหมายเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่และการส่งเสริมสวัสดิการสังคมผ่าน “ความปกติใหม่” หลังการระบาดของโรค การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแหล่งใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศที่เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเป็นหนทางสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกัมพูชา

    FDI มาเลเซียลดต่ำสุดรอบ 11 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.invespoin.net/malaysia-regulatory-body-warns-of-fxtm-octafx-clones.html
    เงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเลเซียสุทธิลดลง 54.8% จาก 32.4 พันล้านริงกิตในปี 2019 มาที่ระดับ 14.6 พันล้านริงกิตปี 2020 ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009

    ณ สิ้นปี 2020 สำนักงานสถิติมาเลเซีย รายงานว่า FDI โดยรวมมีมูลค่า 698.8 พันล้านริงกิต

    ดาโต๊ะ ดร.โหมด อูซีร์ มาฮิดิน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติกล่าวว่า กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างหนักในปีที่แล้วจากการระบาดของโควิด-19 จึงส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลก

    UNCTAD คาดการณ์ว่า กระแส FDI ทั่วโลกลดลง 42% ในปี 2020 จากปี 2019

    “แม้กระแส FDI ลดลงในปี 2020 แต่ไม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในต้นปี 2021” ดร.มาฮิดินกล่าวและว่า กระแส FDI ในมาเลเซียฟื้นตัวขึ้นโดยมีมูลค่า 9.1 พันล้านริงกิตในไตรมาสแรกปี 2021 สูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส-19 ในมาเลเซีย โดย FDI เพิ่มขึ้นจากการกระแสเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นและกองทุน ในภาคการผลิตและภาคบริการ

    ในปีที่แล้ว FDI ในภาคการผลิตลดลงมากที่สุด โดยลดลง 60.5% จากปีก่อนหน้า มีมูลค่าเพียง 6.9 พันล้านริงกิต อย่างไรก็ตามภาคบริการยังมีสัดส่วน FDI มากที่สุด คือ 47% ของ FDI รวม โดยเฉพาะในภาคบริการทางการเงิน

    ภาคการผลิตครองสัดส่วน FDI สูงเป็นอันดับสอง จากการไหลเข้ามาลงทุนในหุ้น ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ อันดับสามคือภาคเหมืองแร่ จากการลงทุนในหุ้นกู้

    ในบรรดา 190 ประเทศคู่ค้า กลุ่มประเทศจากเอเชียยังเป็นแหล่ง FDI ใหญ่ของมาเลเซีย โดยมีมูลค่าสุทธิรวม 18.1 พันล้านริงกิตในปี ส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ ไทย และจีนซึ่ง 3 ประเทศมีมูลค่า FDI รวม 11.5 พันล้านริงกิต แต่ก็ลดลงจาก 26.9 พันล้านริงกิตในปีก่อนหน้า

    โดยรวม ยอด FDI สะสมเพิ่มขึ้น 11 พันล้านริงกิต มาที่ 698.8 พันล้านริงกิต โดยภาคบริการมีสัดส่วนสูงสุด 51.6% หรือ 360.4 พันล้านริงกิต และลงในภาคบริการทางการเงินและภาคค้าปลีกเป็นหลัก อันดับสองคือภาคการผลิต ในสัดส่วน 39.2% ของ FDI รวม

    ส่วนการลงทุนโดยตรงของมาเลเซียในต่างประเทศ(DIA)ลดลง 54% มีมูลค่า 11.9 พันล้านริงกิต เป็นการลดลงในภาคเหมืองแร่และภาคบริการ ซึ่งภาคบริการยังเป็นภาคธุรกิจหลักที่มีสัดส่วน DIA มากสุด 54% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคบริการทางการเงินและภาคเทเลคอม รองลงมาคือภาคการผลิต โดยเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

    สำหรับประเทศที่มาเลเซียไลปงทุนโดยตรงคือ แคนาดา สหราชอาณาจักรและอินโดนีเซีย

    ในไตรมาสแรกปีนี้ DIA เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยมีเงินไหลออกไปลงทุน 7.8 พันล้านริงกิต เพื่อลงทุนในหุ้นและกองทุน

    ยอดการลงทุนในต่างประเทศสะสมมีมูลค่า 518.8 พันล้านริงกิต ส่วนใหญ่ไปลงทุนในสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อันดับสามคือ สหราชอาณาจักรและเกาะเคย์แมน

    “แม้บริษัท FDI มีกำไรมากกว่าบริษัทที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุน(return on investment)ลดลงมาที่ 0.06 ริงกิตจาก 0.08 ริงกิตในปี 2019 สำหรับทุก 1 ริงกิตที่ลงทุน ขณะที่บริษัทมาเลเซียที่ออกไปลงทุนได้ผลตอบแทนเพียง 0.04 ริงกิตจากทุก 1 ริงกิตที่นำไปลงทุน

    ภาคการผลิตทำกำไรได้สูงสุดจาก FDI ส่วน กำไรของ DIA มาาจากภาคบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคบริการทางการเงิน

    “แม้การลงทุนจากต่างประเทศยังลดลงและน่ากังวล แต่ไตรมาสแรกก็เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ และยอดสะสมก็ยังสูง เป็นสัญญษนว่าการลงทุนในปีนี้จะดีขึ้น”

    สิงคโปร์เสียแชมป์ความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/jobs/singapore-moves-up-a-notch-to-rank-9th-in-world-talent-ranking

    สิงคโปร์ หลุดอันดับหนึ่งในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกโดยร่วงมาที่อันดับ 5

    สิงคโปร์ร่วงลงจากอันดับสูงสุดในฐานะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลกมาอยู่ที่อันดับ 5 แต่ยังคงเป็นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของเอเชีย

    ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโลกของสถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการ (Institute for Management Development :IMD)

    IMD มีสำนักงานในสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์

    ประเทศที่ติดอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่ไม่สามารถรักษาตำแหน่งสูงสุดในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้

    IMD กล่าวว่า “สิงคโปร์ยังคงติดอันดับต้นๆจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ปัจจัยในการจัดอันดับ แต่ ในด้านประสิทธิภาพของธุรกิจทั่วโลกลดลงมาอยู่ที่ 9 และอันดับที่ 11 ในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก

    “สิงคโปร์ประสบปัญหาคนตกงาน ขาดผลิตภาพ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ลดลง สิงคโปร์ประสบปัญหากิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบโตของการจ้างงานที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และด้านการเงินสาธารณะเลวร้ายลงอย่างมาก เนื่องมาจากการขาดดุลของรัฐบาลและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น”

    แต่สิงคโปร์ทำได้ดีในด้านการค้าระหว่างประเทศและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี โดย IMD ระบุว่า สิงคโปร์ได้ที่หนึ่งในทั้งสองด้าน นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับสูงในด้านการลงทุนระหว่างประเทศและกฎหมายธุรกิจ

    IMD กล่าวว่า ภูมิศาสตร์ทางกายภาพของสิงคโปร์เป็นอุปสรรคในการจัดอันดับปี 2021

    “ภูมิศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อบางประเทศ และขณะที่สิงคโปร์ทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง ภูมิศาสตร์ทางกายภาพทำให้ต้องทำงานหนักกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นการจัดอันดับจึงตกลง”

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/business/economy/singapore-loses-its-top-spot-in-global-competitiveness-study-now-ranks-5th

    นายกัน กิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวว่า “การจัดอันดับของ IMD แสดงให้เห็นว่าเรากำลังเผชิญกับการแข่งขันระดับโลกที่เพิ่มขึ้น และสิงคโปร์ไม่สามารถยืนหยัดหรือคิดว่ายังคงมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเราไว้ได้ตลอดไป เราต้องพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ธุรกิจสามารถเจริญเติบโตและสร้างงานที่ดีให้กับบุคลากรของเราได้ เราต้องยังคงเป็นศูนย์กลางที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงสำหรับธุรกิจและบุคลากรที่มีความสามารถระดับโลก

    “ธุรกิจในสิงคโปร์ต้องสามารถแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนได้ คนงานต้องเพิ่มทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มียังมีความสำคัญง รัฐบาลจะทบทวนรายงานของ IMD และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา”

    IMD World Competitiveness Ranking จัดอันดับ 64 ประเทศ โดยการวัดความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจผ่านข้อมูลทางสถิติและการตอบแบบสำรวจจากผู้บริหาร

    IMD กล่าวว่า “รายงานพบว่าเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงมีลักษณะของการลงทุนด้านนวัตกรรมที่แตกต่างกัน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และนโยบายสาธารณะที่สนับสนุน

    “ความแข็งแกร่งในด้านเหล่านี้ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ทำให้เศรษฐกิจเหล่านี้สามารถจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

    ในบรรดาเศรษฐกิจเอเชีย จีนก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดขึ้นมาอันดับที่ 16

    นายอาร์ตุโร บริส ผู้อำนวยการ World Competitiveness Center กล่าวว่า “จีนได้ดำเนินการลดความยากจนอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการจัดอันดับนี้”

    มาเลเซีย ติดอันดับที่ 25 ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการปรับปรุงประสิทธิภาพทางธุรกิจของภาคเอกชนและการเงินสาธารณะที่ค่อนข้างดี แม้จะมีการหยุดชะงักจากโควิด-19 ก็ตาม

    ฟิลิปปินส์อันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกแย่สุดรอบ 5 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2021/06/18/2106225/philippines-global-competitiveness-ranking-worst-five-years

    ฟิลิปปินส์ตกลงไป 7 อันดับในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เป็นลดลงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกและมีผลงานที่แย่ที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการรับมือโรคระบาดในระดับปานกลางของประเทศทำให้เศรษฐกิจถดถอย เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

    จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโลกปี 2021 ของสถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการในสวิตเซอร์แลนด์ (IMD) ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 52จาก 64 ประเทศโดยพิจารณาจากความเจริญก้าวหน้าและความสามารถในการแข่งขัน

    ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 45 การจัดอันดับในปี 2021เป็นผลงานที่แย่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ปี 2017 ในเอเชียแปซิฟิก ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 13 จาก 14 เขตเศรษฐกิจที่นำมาจัดอันดับ นอกจากนี้ยังเป็นการลดลงเร็วที่สุดในภูมิภาค

    ฟิลิปปินส์ตามหลังสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่นำหน้ามองโกเลีย

    การจัดอันดับวัดจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพทางธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

    นาย โฮเซ่ คาบาลเลโร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า การลดลงอย่างรวดเร็วของฟิลิปปินส์เป็นผลจากตัวชี้วัดหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ

    “อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากประมาณ 5% เป็นมากกว่า 10%” การใช้มาตรการล็อกดาวน์ทำให้การจ้างงานในประเทศตกต่ำอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ได้ลดการดำเนินการหรือปิดตัวลงโดยสิ้นเชิง และแม้เศรษฐกิจจะกลับมาเปิดอีกครั้ง อัตราจ้างงานก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างเต็มที่

    “ประเทศที่มีสวัสดิการสังคมที่แข็งแกร่งรวมถึงผลประโยชน์จากการว่างงาน มีการฟื้นตัวเร็วขึ้น บางประเทศได้เตรียมการด้านนี้มาหลายปีแล้ว ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้เพิ่งดำเนินการมาไม่นาน”

    จากหลักเกณฑ์การประเมิน 4 ข้อ อันดับของฟิลิปปินส์ตกไป 3 ข้อ ยกเว้นในข้อโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคงอยู่ที่อันดับ 59

    ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ลดลงมากที่สุดหลังจากที่ร่วงลง 13 ระดับมาอยู่ที่อันดับที่ 57 เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่ ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก และราคาสินค้าและบริการพื้นฐานที่สูงขึ้น
    ประสิทธิภาพของรัฐบาลฟิลิปปินส์ลดลง 3 ระดับมาอยู่ที่อันดับ 45 ท่ามกลางปัญหาด้านกรอบโครงสร้างสถาบันและการเงินสาธารณะ

    ในแง่ของประสิทธิภาพทางธุรกิจ ตกลงไป 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 37 อันเนื่องมาจากความเดือดร้อนของตลาดแรงงาน ผลผลิตและประสิทธิภาพ การเงินและแนวปฏิบัติด้านการจัดการ

    มองข้างหน้า ฟิลิปปินส์จะต้องทำให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม

    IMD กล่าวว่า ประเทศควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพและการศึกษา ลงทุนต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล และรักษาฐานะทางการคลัง ขณะเดียวกันก็ให้มาตรการกระตุ้นและการสนับสนุนอย่างเพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคส่วนที่มีความเปราะบาง

    IMD กล่าวว่า เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมีลักษณะที่แตกต่างกันของการลงทุนด้านนวัตกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และนโยบายสาธารณะที่สนับสนุน
    ความเข้มแข็งในด้านเหล่านี้ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ทำให้เศรษฐกิจเหล่านี้สามารถจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    “แนวโน้มทั่วโลกที่เห็นในการจัดอันดับแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรม การทำให้เศรษฐกิจเป็นดิจิทัล สวัสดิการ และความสามัคคีในสังคม ประเทศที่มีการแข่งขันสูงสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการเสริมสร้างกรอบโครงสร้างสถาบันและสังคมของพวกเขา” IMD ระบุ

    โดยเสริมว่าเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานแบบทางไกล ขณะที่มีพื้นฐานในการสนับสนุนการเรียนรู้ทางไกลและการแก้ปัญหาการว่างงาน

    “ประเทศที่มีประสิทธิผลของการใช้จ่ายสาธารณะที่สำคัญ เช่น การเงินสาธารณะ นโยบายภาษี และกฎหมายธุรกิจ ถูกมองว่าเป็นนโยบายที่จำเป็นในการบรรเทาแรงกดดันต่อเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” รายงานระบุ